อักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “พื้นที่ป่ากับผัสสารมณ์ในวรรณคดีลาว”
วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. กลุ่มภารกิจงานวิจัยและพัฒนาวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการบรรยายพิเศษอักษรศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 2 เรื่อง “พื้นที่ป่ากับผัสสารมณ์ในวรรณคดีลาว” ผ่านโปรแกรม Zoom โดย อาจารย์ ดร.ชัยรัตน์ พลมุข จากภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยาย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ ดร.ชัยรัตน์เกริ่นนำเกี่ยวกับความหมายของผัสสารมณ์ผ่านแนวคิดเรื่อง “บรรยากาศ” (atmosphere) ของเบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์วัฒนธรรมที่อธิบายว่าอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ผูกติดอยู่กับตัวตนของมนุษย์ตามความเข้าใจที่ว่ามนุษย์เป็น “เจ้าของ” ความรู้สึก หากแต่ไหลเวียนอยู่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรือนร่าง วัตถุ สภาพแวดล้อม ในการนำเสนอนี้ ดร. ชัยรัตน์นำแนวคิดดังกล่าวมาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ป่ากับการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในวรรณคดีลาว โดยอ้างอิงวรรณคดีลาวจาก 2 ยุคสมัย ที่ใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างผัสสารมณ์ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองลาว ดังนี้
1. ยุคอาณาจักรล้านช้างเสื่อมโทรม (ช่วงปลายคริตศตวรรษที่ 18-19)
วรรณกรรมลาวยุคนั้นแต่งขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และนำเสนออารมณ์ความรู้สึกแง่ความเศร้าโศก ทุกขเวทนา ความรุนแรง พื้นที่ป่ากลายเป็นแหล่งพักพิงหรือพื้นที่หลบภัยของคนลาวในช่วงเวลาแห่งสงครามและการกดขี่ ตัวอย่างวรรณกรรมเรื่อง “พื้นเวียง” ที่บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าอนุวงศ์ กวีพรรณนาเวียงจันทน์ที่กลายสภาพเป็นป่าจากการรุกรานของกองทัพสยามและป่าได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนลาวด้วยความโศกเศร้าและคั่งแค้น และเรื่อง “กาพย์เมืองพวน” ที่บันทึกความทุกขเวทนาของชาวลาวพวนหลังการรุกรานของเวียดนามและถูกสยามกวาดต้อนมาเป็นทาส กวีพรรณาธรรมชาติที่กลับตาลปัตรเมื่อบ้านเมืองล่มสลาย และใช้ป่าเป็นฉากเพื่อเชื่อมโยงกับความทุกข์ยากจากการพลัดพรากบ้านเมือง
2. ยุดต่อสู้กู้ชาติ (ค.ศ.1955-1985) หรือช่วงสงครามเย็น
นักเขียนสร้างวรรณกรรมประเภทสัจทัศน์สังคมนิยม โดยเฉพาะในเขตปลดปล่อยซึ่งเป็นเขตที่ขบวนการฝ่ายซ้ายเคลื่อนไหวอยู่ นักเขียนเหล่านี้นำเสนอภาพของป่าในฐานะดินแดนแห่งเสรีภาพทั้งในเชิงธรรมชาติและอุดมการณ์ อีกทั้งยังใช้ป่ามาถ่ายทอดความรู้สึกความแปลกแยกในระบบทุนนิยม ความรักของหนุ่มสาวในเขตปฏิวัติ และความรู้สึกโหยหาอดีตแบบสังคมนิยม (socialist nostalgia) ตัวอย่างนวนิยายเรื่อง “สองพี่น้อง” เล่าเรื่องฝาแฝดซึ่งเติบโตในพื้นที่และสังคมที่แตกต่างกัน ตัวละครเผชิญความรู้สึกแปลกแยกจากพื้นที่เมืองซึ่งเป็นผลจากการจัดระเบียบพื้นที่ในระบบทุนนิยมที่ปิดกั้นประสบการณ์ทางผัสสะของมนุษย์ และเรื่องสั้น “ค้างคืนในป่าลึก” กล่าวถึงความรักของหนุ่มสาวนักปฏิวัติต่างชาติพันธุ์ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าที่ไม่ถูกควบคุมหรือทำให้กลายเป็นสินค้า สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติในยุคสังคมนิยม
ภายหลังการบรรยาย อาจารย์ ดร.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าอยากให้ผู้ชมอ่านและสนใจภาษา วัฒนธรรม และวรรณกรรมลาวมากขึ้น เนื่องจากเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงร่วมกันทางประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้าน
ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนัง) ที่วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น เล่าเรื่องตอน "สินไชเดินดง" ซึ่งแสดงให้ความสำคัญของพื้นที่ป่าในวรรณคดีลาว-อีสาน