ภาพข่าวกิจกรรม

สัมมนาคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ประจำปี 2563

     วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 – 12.00 น. คณะอักษรศาสตร์จัดสัมมนาคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ประจำปี 2563 ผ่านโปรแกรม Zoom เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในช่วงโควิด-19 โดยมี อาจารย์ ดร.สรคม ดิสสะมาน ผู้ช่วยคณบดีด้านประกันคุณภาพการศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ

     ก่อนเข้าสู่การบรรยายของวิทยากร รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ให้เกียรติกล่าวเปิดงานสัมมนาและแนะวิธีการปรับตัวเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบผสม (blended learning) และแบบออนไลน์ (online learning) โดยคำนึงถึงการปรับรูปแบบการเรียนการสอนและการวัดผลอย่างเหมาะสม และการประสานงานหรือประชาสัมพันธ์ข่าวสารกับนิสิตผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น โปรแกรม Blackboard การสร้างกลุ่มบนแอปพลิเคชัน Line หรือแอปพลิเคชัน Facebook หรือการประกาศข่าวผ่านแอปพลิเคชัน CUNEX นอกจากนี้ คณบดีชี้แจงแนวทางการใช้อาคารและห้องเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาระยะห่าง และการอำนวยความสะดวกแก่นิสิตในด้านต่าง ๆ ที่คณะอักษรศาสตร์จัดเตรียมไว้ อาทิ การจัดสรรพื้นที่และอุปกรณ์รองรับนิสิตให้สามารถเรียนออนไลน์ภายในบริเวณคณะ การเพิ่มพื้นที่รับประทานอาหาร การจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัย การสนับสนุนทุนการศึกษา การลดค่าธรรมเนียมการศึกษา และการขยายระยะเวลาใช้งานซิมการ์ดอินเทอร์เน็ต อีกทั้งเน้นย้ำให้คณาจารย์วางแผนสำรองไว้เสมอหากต้องปรับการเรียนเป็นแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศระลอกที่สอง

     การสัมมนาเชิญวิทยากรภายนอกคณะ และคณาจารย์ของคณะ เป็นวิทยากรบรรยาย หรือร่วมการเสวนา 4 หัวข้อ ดังนี้

     รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “เคล็ดลับการสอนออนไลน์ : การปรับเข้าชีวิตวิถีใหม่ในช่วงโควิด-19” การบรรยายกล่าวถึงแนวคิด ข้อดี-ข้อจำกัดและการเปรียบเทียบการเรียนการสอนออนไลน์ 3 รูปแบบ ได้แก่ การสอนแบบออนไลน์ (online learning) การสอนแบบผสมผสาน (blended learning) และการสอนแบบกลับด้าน (flipped learning) วิทยากรอภิปรายจุดเด่นของการสอนแบบกลับด้านว่า เป็นวิธีที่ให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาล่วงหน้าทางออนไลน์ แต่เน้นทำกิจกรรมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในห้องเรียน เนื่องจากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนต้องการผู้สอนในคราวที่ต้องแก้ปัญหาหรือตอบข้อสงสัย การสอนแบบกลับด้านนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้ นอกจากนี้ วิทยากรกล่าวว่าวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอนเป็นปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ต้องพิจารณา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบไม่ประสานเวลา ผู้เรียนรับสารได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่เวลาเดียวกัน เข้าถึงได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา เช่น อีเมล กระดานข่าว และแบบประสานเวลา ผู้เรียนและผู้สอนจำเป็นต้องอยู่เวลาเดียวกัน เช่น การสอนหรือการบรรยายโดยใช้โปรแกรม Zoom เป็นต้น จากนั้น วิทยากรแนะนำเทคนิค เครื่องมือและกิจกรรมที่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์ รวมทั้งการเลือกใช้วิธีประเมินผลการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามสภาพจริง เช่น เน้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์เพื่อแสดงความคิดเห็น อ้างอิงจากการพัฒนาของผู้เรียน หรือจัดทำโครงงานกลุ่ม

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธิ์ อาจารย์เกษียณอายุราชการและอาจารย์พิเศษ จากภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ชื่นสุมน ธรรมนิตยกุล อาจารย์รุ่นใหม่ จากภาควิชาภาษาอังกฤษเสวนาร่วมกันในหัวข้อ “สู่โลกออนไลน์: จากทฤษฎีสู่การเรียนรู้ปฏิบัติจริง” วิทยากรทั้งสองท่านแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมื่อต้องปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา วิทยากรทั้งสองท่านกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากวิธีการเดิมเป็นแบบออนไลน์ไม่ลำบาก เพราะได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงคาดเดาได้ โดยพูดคุยกับนิสิตของรายวิชา เลือกใช้สื่อการสอน เช่น โปรแกรม Blackboard หรือโปรแกรม Google Classroom สำหรับติดต่อสื่อสารกับนิสิต อีกทั้งใช้โปรแกรม Zoom ในการประชุมสัมมนา ส่วนเนื้อหาเชิงบรรยายได้บันทึกเป็นวิดีโอประกอบการสอน เพื่อลดปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตของนิสิตขัดข้องระหว่างการบรรยาย ส่งผลให้นิสิตไม่สามารถเข้าร่วมชั้นเรียนออนไลน์ได้ จากการสอนที่ผ่านมาพบอุปสรรคหลายด้าน อาทิ ความพร้อมจากตัวผู้สอนและโปรแกรม ปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี รวมถึงความกังวลในการจัดสอบเพื่อประเมินผลการเรียน เนื่องจากการสอบออนไลน์มีช่องโหว่ในการทุจริตสูง อย่างไรก็ตาม แต่ละภาควิชาได้ร่วมมือกันหาวิธีแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ วิทยากรทั้งสองท่านเล่าถึงการเตรียมตัวเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยเรียนรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้ด้านโปรแกรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือ เข้าร่วมกลุ่มออนไลน์ที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงการเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Coursera เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการสอนแบบออนไลน์

     คุณธารีวรรณ เทียมเมฆ หัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต และนักจิตวิทยา บรรยายในหัวข้อ “การดูแลจิตใจผู้เรียนและผู้สอนในช่วงโควิด-19” กล่าวว่าในช่วงระบาดโควิด-19 นอกจากปัญหาเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าของนิสิต นิสิตเล่าปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นต้นตอของปัญหาการเรียนที่ปรับเปลี่ยนไป อาทิ การเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ปัญหาเกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น ผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดลูกจึงนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดวัน การสอนแบบออนไลน์ที่ส่งผลให้นิสิตไม่เกิดความกระตือรือร้น เนื่องจากนิสิตสามารถปิดกล้อง และทำกิจกรรมอื่นระหว่างการบรรยายได้ โดยผู้สอนไม่ทราบ ทำให้บางครั้งมีปัญหาตามเนื้อหาไม่ทัน เป็นต้น วิทยากรจึงสนับสนุนให้อาจารย์สอบถามนิสิตเพื่อทำความเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของนิสิตและความพร้อมด้านอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมในการเรียนออนไลน์ สร้างกลุ่มหรือช่องทางติดต่อกับนิสิตเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตเข้าปรึกษาได้อย่างสะดวกใจ ขณะเดียวกันก็ควรรักษาสมดุลในการพักผ่อนและสร้างพื้นที่ส่วนตัวของอาจารย์เองด้วย โดยใช้วิธีสร้างข้อตกลงร่วมกัน

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ บรรยายในหัวข้อ “การให้ทุนแบบใหม่ และ Google Scholar สำหรับนักวิจัยคณะอักษรศาสตร์” โดยอธิบายงบประมาณ เงื่อนไข และข้อจำกัดของการขอทุนวิจัยรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเบิกจ่ายทุนวิจัย เมื่อนักวิจัยดำเนินการวิจัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ วิทยากรแนะนำการจัดทำข้อมูลผลงานวิจัยบน Google Scholar ซึ่งรวบรวมผลงานตีพิมพ์ และบันทึกจำนวนการอ้างอิงถึงผลงานตีพิมพ์แต่ละชิ้น การสร้างข้อมูลผลงานวิจัยบน Google Scholar นี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้นักวิจัยคนอื่น ๆ สืบค้นพบผลงานวิจัยของนักวิจัยมากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มจำนวนการอ้างอิงถึงบทความวิจัย  

     หลังจากการบรรยายเสร็จสิ้น คณบดีคณะอักษรศาสตร์ขอบคุณคณาจารย์ที่เข้าร่วมการสัมมนาแบบออนไลน์ และกล่าวปิดการสัมมนาคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ในครั้งนี้