ในปัจจุบัน คณาจารย์และนิสิตภาควิชาบรรณารักษศาสตร์มีความสนใจทางด้านการวิจัยที่หลากหลายตามการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและศาสตร์ทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ โดยได้ผลิตผลงานทางวิชาการทั้งรูปของบทความวิจัย บทความทางวิชาการ รายงานการวิจัย โปสเตอร์ทางวิชาการ เอกสาร และวิทยานิพนธ์จำนวนมาก (ดู วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ (พ.ศ. 2512 – 2539) และ สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ (พ.ศ. 2509-2560))

โครงการวิจัยหลายชิ้นของภาควิชาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สภาวิจัยแห่งชาติ ศูนย์มานุษยวิทยาแห่งชาติสิรินธร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (เดิม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) เป็นต้น นอกจากนี้คณาจารย์และนิสิตของภาควิชาได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิจัยในต่างประเทศในการประชุมทางวิชาการชั้นนำทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ระดับนานาชาติ

หัวข้องานวิจัยที่เป็นที่สนใจสำหรับคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตของภาควิชาในปัจจุบัน ได้แก่

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสารสนเทศ

ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสารสนเทศ โดยพิจารณาพฤติกรรมสารสนเทศในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาสารสนเทศ ความต้องการสารสนเทศ การหลีกเลี่ยงสารสนเทศ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในบริบทของการค้นคืนสารสนเทศ โดยบูรณาการความรู้ทางด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา ปรัชญา ภาษาศาสตร์ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การใช้สารสนเทศที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

การจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร

ส่งเสริมแนวคิดการสร้างคุณค่าของเอกสารและจดหมายเหตุ และเสริมสร้างบทบาทของการจัดการจดหมายเหตุและเอกสารทั้งในบริบทขององค์กรและสังคม ตลอดจนพัฒนาแนวปฏิบัติ เครื่องมือ และแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการจดหมายเหตุและเอกสารที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

การออกแบบบริการสารสนเทศทางธุรกิจ

ออกแบบ พัฒนาและประเมินแนวทางการให้บริการสารสนเทศทางธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองกับตลาดผู้บริโภคและรูปแบบขององค์กรทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

การรู้ในโลกดิจิทัล

มุ่งค้นหาพลวัติของการรู้ในมิติต่าง ๆ สำหรับมนุษย์ในทุกระดับช่วงวัย เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาวิธีในการประเมินระดับการรู้ในมิติต่าง ๆ ร่วมค้นหาและพัฒนาแนวทางในการพัฒนาการรู้ทั้งในบริบทของการเรียนรู้และการทำงาน

ห้องสมุดดิจิทัลและการสงวนรักษาดิจิทัล

วิเคราะห์ วางแผน ออกแบบ และดำเนินการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลที่เหมาะสมกับรูปแบบทรัพยากรสารสนเทศของไทย ตลอดจนพัฒนาแนวทางในการสงวนรักษาทรัพยากรดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ ให้คงอยู่ได้นาน

นโยบายสารสนเทศ

พิจารณาแนวนโยบายที่มีเหมาะสมกับวงจรชีวิตและการไหลเวียนของสารสนเทศทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน สังคม ประเทศ และโลกที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี รวมถึงสำรวจผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติงานของสถาบันบริการสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างทางดิจิทัล ทรัพยสินทางปัญญา เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพในการเข้าถึงสารสนเทศ เป็นต้น

การประเมินผลการวิจัยและสังคมวิทยาความรู้

พัฒนาแนวทางในการประเมินศักยภาพการวิจัยทั้งในระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มนักวิจัย สาขาวิชา หรือในระดับสถาบัน โดยใช้วิธีการศึกษาเอกสารเชิงปริมาณ (ฺBibliometrics) ตลอดจนนำผลที่ได้จากการประเมินไปสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตของการสร้างความรู้ในบริบทของไทย

การจัดการความรู้ในองค์กร

มุ่งศึกษาแนวทางในการจัดเก็บ บริหารจัดการ รักษา เผยแพร่ และต่อยอดความรู้ในบริบทของการบริหารจัดการองค์กร อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้

สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศยุคใหม่และการศึกษาทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

พิจารณาและพัฒนาทักษะของผู้ปฏิบัติงานสารสนเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เพื่อให้ได้นิสิตที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนคุณลักษณะทางคุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

นอกจากนี้คณาจารย์ในภาควิชายังได้เข้าร่วมในหน่วยปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยภูมิทัศน์สารสนเทศ (Information Landscape Research Unit) หน่วยปฏิบัติการวิจัย The Arc of Memory และหน่วยปฏิบัติการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์และสนเทศศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ (Behavioral Research and Informatics in Social Science Research Unit) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ยังได้จัดทำ วารสารบรรณารักษศาสตร์ มาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2558 นับเป็นวารสารทางวิชาการชั้นนำฉบับหนึ่งทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ของไทย