กิจกรรมวิชาการ,  ภาพข่าวกิจกรรม

งานเสวนาเรื่อง “รัฐมิตราภรณ์ สิรินธรราชไมตรี”

ในโอกาสที่สาธารณรัฐประชาชนจีนทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเฉลิมฉลองครบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการเสวนาเรื่อง “รัฐมิตราภรณ์ สิรินธรราชไมตรี” ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 เวลา 13:00-16:00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.สารสิน วีระผล ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ และคุณหยางหยาง ที่ปรึกษาแผนกการเมือง จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

เครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 ก่อนหน้านี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์นี้แก่บุคคลสำคัญต่าง ๆ อาทิ ประธานาธิบดีปูร์ตินของรัสเซีย เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สภาประชาชนจีนได้มีมติจากการประชุม และประธานาธิบดีจีนลงนามให้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์นี้แก่ชาวต่างประเทศจากทุกทวีปที่มีคุณูปการแก่จีนและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีน เพื่อเป็นการฉลองโอกาสฉลอง 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

เหรียญอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์เป็นรูปดอกบัวทำด้วยทองคำแท้ คำว่าดอกบัวในภาษาจีนออกเสียงว่า “เหอ” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าสันติภาพ ตรงกลางเหรียญยังมีสัญลักษณ์แห่งสันติภาพอีก ได้แก่ นกพิราบ และมือสองมือที่จับประสานกัน นอกจากนี้สายสร้อยของเครื่องอิสริยาภรณ์ก็ยังมีสัญลักษณ์และลวดลายมงคลจีนอีกหลายสิ่ง

ก่อนหน้านี้เมื่อสิบปีก่อน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการโหวตจากประชาชนชาวจีนให้เป็น “หนึ่งในสิบมิตรที่ดีที่สุดของจีน” ซึ่งเป็นรางวัลที่สื่อมวลชนของจีนจัดขึ้น การที่ทรงได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลจีนในครั้งนี้ จึงยิ่งยืนยันความเป็นมิตรอันแน่นแฟ้น ที่ทรงมีทั้งต่อประชาชนชาวจีนทั่วไปและระดับรัฐบาล

นับตั้งแต่ปี 2524 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนแล้วกว่า 40 ครั้ง ทรงเยือนทุกมณฑลของจีน ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของแต่ละที่อย่างแตกฉานรู้จริง หลายแห่งที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นสถานที่ห่างไกลแต่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ การเสด็จพระราชดำเนินหลายครั้งทำให้เกิดพระราชนิพนธ์บันทึกการเดินทางนับสิบเรื่อง เรื่องแรกคือ ย่ำแดนมังกร ต่อมามีการจัดทัวร์ท่องเที่ยวตามรอยเสด็จฯ ด้วย นับว่าทรงเป็นผู้บุกเบิกให้คนไทยสนใจไปเที่ยวจีน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระอักษรภาษาจีนจนทรงพระราชนิพนธ์แปลบทกวี นวนิยาย และเรื่องสั้นจีน แต่ละเรื่องที่ทรงแปลจะสะท้อนความคิดและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของจีนที่สนพระทัย ทรงมีความผูกพันกับพระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรภาษาจีนทุกท่าน โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ทุกครั้งที่เสด็จฯ เยือนจีน การที่ทรงศึกษาภาษาและวรรณกรรมจีนจึงเป็นมิติของมิตรภาพอันลึกซึ้ง ทั้งนี้ ทรงสนพระทัยเรื่องจีนไม่เพียงแต่ภาษาและวรรณคดี แต่ยังทรงให้ความสำคัญแก่การศึกษาวิทยาการ เทคโนโลยี นวัตกรรมของจีนด้วย ทรงส่งเสริมและพระราชทานทุนให้คนไทยได้ไปศึกษาเรียนรู้จากจีน

ในฐานะ “ปิยมิตร” ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนจีนในหลายด้าน ที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป คือการพระราชทานพระราชทรัพย์สร้างโรงเรียนที่พังถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สมัยก่อนชาวจีนอาจเรียกพระองค์ว่า “เจี่ยเจีย” – พี่สาว ต่อมาทรงเป็น “กูกู” – คุณอา ปัจจุบัน เด็กๆ ชาวจีนเรียกพระองค์ด้วยความเคารพรักเทิดทูนว่า “ไหน่ไน” – คุณย่าหรือคุณยาย การที่จีนทูลเกล้าฯ ถวายทั้งรางวัล “มิตรที่ดีที่สุดของจีน” และเครื่องราชอิสริยาภรณ์มิตราภรณ์ เป็นการแสดงให้เห็นสำนึกทางประวัติศาสตร์ของชนชาติจีน การให้ความสำคัญแก่มิตรภาพ และการเห็นคุณค่าในสิ่งที่มิตรมอบแก่มิตรโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน

พระราชดำรัส “จีน-ไทยใช่อื่นไกลแต่เป็นพี่น้องกัน” ที่พระราชทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนครั้งแรก สมัยนายเติ้งเสี่ยวผิงเป็นประธานาธิบดี จะดังก้องอยู่ในหัวใจทั้งคนจีนและคนไทยตราบนานเท่านาน