ข่าววิจัย/บริการวิชาการ,  ภาพข่าวกิจกรรม

อักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “เล่นแร่แปรธาตุ: ศาสตร์และศิลป์แห่งวรรณคดีไทยในศตวรรษที่ 21”

     เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. กลุ่มภารกิจงานวิจัยและพัฒนาวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการบรรยายพิเศษอักษรศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เล่นแร่แปรธาตุ: ศาสตร์และศิลป์แห่งวรรณคดีไทยในศตวรรษที่ 21” ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัตถกาญจน์ อารีศิลป จากภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยาย ดำเนินรายการโดยอาจารย์ ดร.ชัยรัตน์ พลมุข

     อาจารย์หัตถกาญจน์กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญของการศึกษาวรรณคดีไทยในยุคปัจจุบันว่า มีที่มาจากทัศนะทางวรรณกรรมของคนยุคเก่าและคนยุคใหม่ที่ไม่ลงรอยกัน สอดคล้องกับที่รองศาสตราจารย์นพพร ประชากุลได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความเรื่อง “วรรณคดีไทย: วรรณกรรมทางเลือกใหม่แม้พลาดทางรถไฟสายฟองสบู่” คำว่า “ทัศนะทางวรรณกรรม” นี้ครอบคลุมถึงความนิยมรูปแบบร้อยแก้ว-ร้อยกรองของผู้อ่านในปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต ขนบทางการประพันธ์หรือสัญนิยมทางวรรณกรรม (literary convention) ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นบทพรรณนาเพื่อการขับหรือการแสดงในวรรณคดีไทยซึ่งไม่สอดรับกับวิถีชีวิตในโลกที่หมุนไวของเด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงเนื้อหาในวรรณคดีที่อาจมีข้อขัดแย้งเชิงค่านิยม เช่น มีประเด็นเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับชุดคุณค่าในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี เป็นต้น จากความรู้สึกคับข้องใจของผู้อ่านซึ่งเป็นนักเรียนวรรณคดีดังกล่าว ประกอบกับการเติบโตของคอนเทนต์ในสื่อใหม่ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา โครงการห้องปฏิบัติการทางวรรณคดีไทยในชื่อ “Thaiฤทธิ์” จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักเรียนวรรณคดีไทยที่เดิมมีสถานะเป็นเพียงนักอ่านวรรณคดีให้กลายเป็นผู้สร้างผลงานหรือคอนเทนต์ (content creator) โดยมีวรรณคดีไทยเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสื่อสารประเด็นร่วมสมัยและสนทนากับผู้อ่านยุคปัจจุบัน

     โครงการ “Thaiฤทธิ์” เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา “วรรณคดีไทย” ซึ่งเป็นรายวิชาพื้นฐานคณะอักษรศาสตร์ในความรับผิดชอบของภาควิชาภาษาไทยซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบ team teaching การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) นี้ นับเป็นการต่อยอดจากการเรียนการสอนวรรณคดีไทยในเชิงวิเคราะห์ตีความโดยคณาจารย์สายวรรณคดีไทยที่มีความเชี่ยวชาญในวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ ผลงานในโครงการ “Thaiฤทธิ์” ซึ่งมีที่มาจากการปะทะสังสรรค์ของมโนทัศน์หรือชุดคุณค่าที่แตกต่างกันระหว่างโลกวรรณคดีกับโลกความเป็นจริงที่ผู้เรียนเป็นสมาชิกอยู่นี้ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์วรรณคดีไทยอย่างสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และสร้างบทสนทนาที่เชื่อมต่อวรรณคดีไทยเข้ากับการสื่อสารประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมด้านความงาม วิถีชีวิตยุคโควิด-19 ปัญหาเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี ฯลฯ โดยนำเสนอสื่อร่วมสมัยในหลากหลายรูปแบบ เช่น เพลง ภาพยนตร์สั้น บทความที่มีกราฟิกประกอบ บอร์ดเกม ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าเป็น Youtube Facebook Instagram Twitter เป็นต้น

     ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมคือผู้สอนได้ยินเสียงของนักอ่านวรรณคดีรุ่นใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน นับเป็นการเปิดแนวทางการศึกษาวรรณคดีไทยในมิติใหม่ ได้เห็นทักษะของคนรุ่นใหม่ในการครุ่นคิดพินิจนึกและเชื่อมโยงประเด็นทางสังคมสมัยใหม่กับโลกวรรณคดีอย่างสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกันเป็นทีม การสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ เป็นต้น

     ภายหลังการบรรยายเป็นช่วงถาม-ตอบคำถามและแบ่งปันประสบการณ์ อาจารย์หัตถกาญจน์แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับวิธีจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนและแนะนำแนวทางการสร้างผลงานในโครงการร่วมกันกับผู้เรียน รวมถึงเชิญชวนให้บุคลากรสายมนุษยศาสตร์ร่วมสร้างนวัตกรรมผ่านการออกแบบชั้นเรียนวรรณคดีศึกษา เพื่อให้วรรณคดีไทยมีพลวัต สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยพลังทางความคิดและการลงมือทำของผู้สอน ผู้เรียนวรรณคดีไทยซึ่งเป็นทั้งผู้ศึกษาและผู้สร้างงาน รวมถึงผู้เสพซึ่งติดตามผลงานเชิงสร้างสรรค์ที่มีวรรณคดีเป็นวัตถุดิบตั้ง