กิจกรรมวิชาการ,  ภาพข่าวกิจกรรม

โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 5 เรื่อง Devised Theatre สร้างสรรค์ละครเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. กลุ่มภารกิจงานวิจัยและพัฒนาวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการบรรยายพิเศษอักษรศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 5 เรื่อง “Devised Theatre สร้างสรรค์ละครเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ : สนุก เปิดใจ ได้มีส่วนร่วม” ผ่านโปรแกรม Zoom โดยอาจารย์ภัสสร์ศุภางค์ คงบำรุง จากภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยาย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์ภัสสร์ศุภางค์กล่าวถึงหัวข้อเรื่อง Devised Theatre ที่นำมาพูดในครั้งนี้ว่า เป็นศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ไม่เพียงแต่ในแวดวงการแสดงเท่านั้น รวมถึงแง่มุมของการพัฒนาการเรียนรู้ ทั้งฝั่งของผู้เรียนและผู้สอนอีกด้วย ความหมายของ Devised Theatre โดยทั่วไป คือ กระบวนการสร้างละคร ซึ่งอาจมีคำนิยามต่างไปในแต่ละโรงละคร เช่น John Walton ตำแหน่ง Artistic Director จากประเทศอังกฤษ กล่าวว่าเป็นกระบวนการที่สมาชิกทั้งทีมได้มีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันทุกขั้นตอน ไม่แบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน และมีความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

แนวคิดของ Devised Theatre แพร่หลายมาจากทางยุโรปและอเมริกา เป็นละครเชิงทดลอง (Experimental Theatre) เพื่อสร้างสรรค์การเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากละครกระแสหลัก นำไปสู่การสร้างงานที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น กระทั่งมีการวางแนวคิดชัดเจนยิ่งขึ้น และได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงปี 1960 มาจนปัจจุบัน ศิลปินมักใช้เป็นแนวทางสร้างชิ้นงานที่ท้าทายขนบการทำงานละครทั่วไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบชนชั้น ความไม่เท่าเทียม รวมถึงข้อจำกัดในการสร้างศิลปะ

Devised Theatre จึงเป็นกระบวนการที่ทุกคนมีหน้าที่ในการสร้างสรรค์งานเท่า ๆ กัน ไม่มีใครเป็นผู้นำผู้ตามชัดเจน และร่วมกันสร้างงานใหม่ (Original Work) ผ่านประเด็นหนึ่ง ๆ ที่สมาชิกต้องการสื่อสารและอภิปราย เป็นประเด็นเล็ก ๆ ที่คนมองข้าม หรือต้องการหยิบยกปัญหาเหล่านั้นเล่าสู่สังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน หลักการของ Devised Theatre จึงถูกนำไปปรับใช้กับโรงละครรูปแบบต่างๆ เช่น ละครเร่ ละครเด็ก เพื่อสร้างจุดเด่นของคณะ ผ่านบทละครและประเด็นใหม่ ๆ ในสังคม นอกจากนี้ หลักการของ Devised Theatre ยังมีจุดเด่นผ่านกระบวนการทำงาน ดังนี้

  1. สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อย่างเท่าเทียมและมีอิสระทางความคิดในการเลือกประเด็นการเล่าเรื่อง
  2. ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิด พัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเองและเพื่อนร่วมทีม ยอมรับความหลากหลาย
  3. เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมพูดถึงประเด็นปัญหาอย่างอิสระ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงและช่วยกันแก้ปัญหา
  4. ได้ศึกษาประเด็นที่ต้องการสื่อสารได้ลึกซึ้งและกว้างขวางขึ้นจากกลุ่มคนที่มีความรู้หรือประสบการณ์ ทำให้ตระหนักและสื่อสารสู่สาธารณะได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ตัวอย่างงานด้าน Devised Theatre ที่จัดแสดงในคณะอักษรศาสตร์
  1. “กิน อยู่ คือ” ผลงานจาก Pascal Rambert ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส นำประสบการณ์ชีวิตหรือทัศนคติของนักแสดงมาใช้ในละคร เช่น กิจวัตรส่วนตัว ชีวิตประจำวัน ทำอะไรบ้าง ให้แสดงออกผ่านร่างกาย เพื่อบอกเล่าประเด็นเศรษฐศาสตร์และชีวิตประจำวัน ด้วยแนวความคิด (concept) ที่เข้าใจง่าย (เครดิตภาพประกอบ: www.facebook.com/dramaartschula/posts/729095007194107)
  2. “Level with Me” กิจกรรมในโครงการความร่วมมือขององค์กรศิลปะภายในภูมิภาคเอเชีย จัดร่วมกับ School of Theatre Arts ของ Taipei National University of the Arts ซึ่งมีโอกาสจัดแสดงที่คณะอักษรศาสตร์ ละครเรื่องนี้พูดถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยนำประเด็นทางสังคมของแต่ละประเทศมาแสดง เช่น ประเทศไทยหยิบยกประเด็นถ้ำหลวง ส่วนไต้หวันหยิบยกประเด็นกฎเกณฑ์ในประเทศที่ส่งผลต่อเยาวชนในสังคมร่วมสมัย
  3. “The Dream Response” กิจกรรมในโครงการความร่วมมือขององค์กรศิลปะภายในภูมิภาคเอเชียซึ่งนำตัวบทวรรณกรรมของ Shakespeare มาเป็นแรงบันดาลใจ ตีความ และเล่าเรื่องใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน (เครดิตภาพประกอบ: www.facebook.com/dramaartschula/photos/a.154378727999074/724272614343013/?type=3&theater)
  4. “No Man Lives Here” กิจกรรมในโครงการความร่วมมือขององค์กรศิลปะภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเล่าประเด็นผี วิญญาณและความเชื่อด้านจิตวิญญาณในสังคมไทย ชี้ให้เห็นว่าบางประเด็นไมใช่เรื่องยิ่งใหญ่ อาจเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน (เครดิตภาพประกอบ: www.dramaartschula.com/portfolio/การแสดงเรื่อง-บ้านนี้ไ/)
  5. “Be/Role” ละครกำกับโดยอาจารย์ภัสสร์ศุภางค์ จัดแสดงในงาน APB (ความร่วมมือขององค์กรศิลปะภายในภูมิภาคเอเชีย) ครั้งที่ 12 การจัดละครเรื่องนี้เริ่มต้นจากที่นิสิตเห็นตรงกันว่าจะเล่าประเด็นด้านคุณค่า ตัวตน ค่านิยม ละครสะท้อนว่าการพยายามเป็นในสิ่งที่สังคมให้คุณค่า เสมือนการสวมบทบาทที่สังคมสร้างให้ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาวะต่อเยาวชนหรือบุคคลทั่วไป ละครพูดถึงความคาดหวังที่คนในสังคมสร้างขึ้นต่อกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น ผู้นำ ดารา กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เมื่อจัดแสดงจริงพบปัญหาทางพื้นที่หรือกระบวนการบางส่วน แต่ Devised Theatre สามารถทำลายข้อจำกัดในการแสดง ยืดหยุ่นและปรับใช้ได้ตามสถานการณ์หรือพื้นที่จัดแสดง หลังจากการแสดง ค้นพบความรู้สึกร่วมในประเด็นปัญหาจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของ Devised Theatre
  1. ผู้สร้างสรรค์งาน เช่น ศิลปิน นักวิจัย ผู้เรียน ผู้มีส่วนร่วมการอบรม
  2. ผู้ชม (ต้องการสื่อสารกับใคร คนกลุ่มไหน) เช่น กลุ่มนิสิต คนในองค์กร ชุมชน บุคคลทั่วไป
  3. พื้นที่จัดแสดง มักพิจารณาจากโจทย์หรือข้อจำกัดต่างๆ ในการจัดการพื้นที่จัดแสดง แบ่งทั่วไปได้ 3 รูปแบบ คือ
    • Proscenium Theatre ผู้ชมฝั่งเดียวตรงข้ามกับเวที คุ้นเคยจากภาพละครเวทีทั่วไป
    • Thrust Stage มีการใช้อย่างแพร่หลาย ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้มากขึ้น
    • Arena Stage ผู้ชมจะมีส่วนร่วมกับการแสดงอย่างแนบเนียน ได้เห็นสีหน้าท่าทาง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกันเองและนักแสดง เป็นรูปแบบที่ Devised Theatre เลือกใช้มากที่สุด
ขั้นตอนการสร้างสรรค์ในกระบวนการ Devised Theatre
  1. เลือกประเด็นการศึกษาร่วมกันในกลุ่ม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มสมาชิก
  2. ค้นคว้าหาข้อมูล หาความรู้หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน
  3. กำหนดขอบเขตและเป้าหมายในการนำเสนอ เช่น สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนัก หรือสะท้อนความคิดเห็น
  4. ทดลองลงมือทำด้วยใจเปิดกว้าง เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์ เพื่ออภิปรายและแสดงความคิดเห็นที่อาจตรงกันหรือขัดแย้งกัน โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การระดมสมองและการอภิปรายกลุ่ม การด้นสดและการสวมบทบาทสมมติ หรือเกมทางการละคร (Theatre Game)
  5. เชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างเรื่องราว (storyline)
  6. ทดลองสร้างภาพบนเวทีโดยใช้องค์ประกอบต่างๆ เช่น การใช้ฉาก ใช้อุปกรณ์ประกอบ
  7. ซ้อมขัดเกลาและพัฒนาตัวบทในพื้นที่แสดงร่วมกัน
  8. จัดแสดง เสวนา อภิปรายผลร่วมกับผู้ชมและผู้ร่วมกระบวนงานเพื่อสรุปงาน

จากนั้น อาจารย์ภัสสร์ศุภางค์กล่าวถึงข้อดีในการนำหลักของ Devised Theatre ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีพัฒนาการเรียนรู้ศาสตร์อื่น ๆ โดยมีจุดเด่น 3 ประการตามหัวข้อการเสวนาครั้งนี้ คือ สนุก เปิดใจ ได้มีส่วนร่วม

สนุก: เมื่อผู้เข้าร่วมได้สนุกสนานผ่อนคลาย ขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้แง่มุมใหม่ ๆ และเกิดการไหลเวียนทางทัศนคติ ผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเปิดกว้างอิสระ ไม่กดดัน และสร้างความตระหนักด้วยตัวเอง หากนำไปใช้กับกลุ่มนิสิตจะช่วยให้สร้างกระบวนการคิดแบบตัวเองและทลายกรอบจำกัดทางความคิด

เปิดใจ: เป็นกระบวนการคิดที่ได้สื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต้องเปิดใจและเชื่อใจ เป็นทักษะจำเป็นในการสื่อสารและอยู่ร่วมกันในสังคม เรียนรู้การเคารพซึ่งกันและกัน

มีส่วนร่วม: เป็นส่วนในการเสริมสร้างความมั่นใจ ได้เห็นศักยภาพของตัวเอง เกิดความยอมรับในตัวเองและเพื่อนสมาชิก ฝึกการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนางานและบุคลากรด้านศิลปะ อีกทั้งบ่มเพาะผู้ชมให้เกิดความรู้สึกร่วม

ภายหลังการบรรยายเป็นช่วงถาม-ตอบและแบ่งปันประสบการณ์ อาจารย์ภัสสร์ศุภางค์ได้ฝากผลงานวิจัยชิ้นใหม่ของอาจารย์ เรื่อง “Acting out : สร้างสรรค์ละครแบบมีส่วนร่วม (Devised Theatre) เพื่อสื่อความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถี” ซึ่งจะจัดแสดงละครในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2563

ที่มาและเครดิตภาพประกอบ:

-ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-สีดา ศรีราม

www.thperformance-research.com/post/grow-your-blog-community

positioningmag.com/24397

-โปสเตอร์กินอยู่คือ

www.facebook.com/dramaartschula/posts/729095007194107

-โปสเตอร์ Dream Response

www.facebook.com/dramaartschula/photos/a.154378727999074/724272614343013/?type=3&theater

-โปสเตอร์ No Man Lives Here

www.dramaartschula.com/portfolio/การแสดงเรื่อง-บ้านนี้ไ/