พ.ศ. 2498 ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “วิชาจัดห้องสมุด” ซึ่งเปิดสอนภาคพิเศษในตอนเย็น ณ คณะอักษรศาสตร์ จึงได้รับมาเปิดสอนในภาคปกติ วิชาจัดห้องสมุดนี้ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ประทานชื่อให้ใหม่ว่า “วิชาบรรณารักษศาสตร์” นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

คณะอักษรศาสตร์ได้เสนอมหาวิทยาลัยขอจัดตั้งแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ และศาสตราจารย์ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออกในขณะนั้นได้ย้ายมาเป็นหัวหน้าแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ นอกเหนือจากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในระยะแรกคณาจารย์ของภาควิชาต้องรับผิดชอบทั้งงานสอนและงานหอสมุดกลาง จุฬาฯ สถานที่ทำงานจึงอยู่ที่ชั้น 2 ของหอสมุดซึ่งในปัจจุบัน คือ อาคารมหาวชิราวุธ ใน พ.ศ. 2518 ได้ย้ายมาอยู่ ณ ชั้นล่างของอาคารมหาวชิราวุธด้านตะวันออก และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2537 จึงย้ายมาที่ชั้น 8 ของอาคารบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ในปัจจุบัน

ในด้านการเรียนการสอน หลักสูตรแรกที่เปิดสอนใน พ.ศ. 2498 คือ หลักสูตรระดับชั้นอนุปริญญาบรรณารักษศาสตร์ เป็นหลักสูตร 1 ปี ในปีแรกมีนิสิตจำนวน 8 คน และต่อมาใน พ.ศ. 2502 ได้เปิดสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ในระดับปริญญาตรี เป็นวิชาเอกสำหรับนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 ส่วนหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์ ระดับปริญญาโท เริ่มเปิดใน พ.ศ. 2507 มินิสิตเข้าเรียน 7 คน หลักสูตรต่างๆที่เปิดสอน มีการปรับปรุงหลักสูตรเรื่อยมา

ในปี พ.ศ. 2522 แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์” ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 โดยจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสารนิเทศศึกษา และหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

ในช่วงปี 2553 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ได้จัดตั้งวิชาโท บรรณาธิการศึกษา ในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาร่วมกับอีกหลายภาควิชาในคณะอักษรศาสตร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้ปรับปรุงการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และขยายการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาเอก ปัจจุบันภาควิชารับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรใน 3 ระดับ ได้แก่

  1. หลักสูตรปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
  2. หลักสูตรปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา และ
  3. หลักสูตรปริญญาเอก อักษรศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา

ทั้งนี้หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหลักสูตร นับเป็นหลักสูตรทางด้านสารสนเทศศึกษาในประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

นอกจากนี้ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ยังได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ ร่วมกับภาควิชาภาษาศาสตร์ และวิชาโท มนุษยศาสตร์ดิจิทัล ในหลักสูตรปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2561 อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.