
สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้เกิดภาวะกดดันในการสร้างครอบครัวยุคใหม่ เมื่อคิดจะสร้างครอบครัวจึงต้องคิดหนัก หนังสือ “#ราคาของการมีลูก: เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน” ผลงานชิ้นล่าสุดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอฉากทัศน์และมุมมองของพ่อและแม่ที่มีต่อการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตรในยุคปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์และการสัมภาษณ์เชิงลึก หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยในโครงการ “การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตร: การศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการ “การดูแลครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรและสังคมไทย” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
นอกจากเนื้อหาของหนังสือความยาว 200 หน้าที่สะท้อนสภาพและมุมมองที่น่าสนใจของครอบครัวในยุคปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ยังนำผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการศึกษาที่ผสมผสานระหว่างการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มพ่อแม่ที่เริ่มสร้างครอบครัวและการใช้วิธีทำเหมืองข้อมูล (Data mining) โดยดึงข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจากกระทู้เว็บไซต์พันทิปกว่า 1,800 กระทู้และเนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์ใช้เทคนิควิธีการประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing – NLP) เพื่อค้นหาประเด็นที่สำคัญ รวมไปถึงเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้การประมวลผลเนื้อหาจำนวนมากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นงานวิจัยทางประชากรศาสตร์งานแรก ๆ ที่นำเทคนิควิธีการทำเหมืองข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ นอกเหนือจากการทำความเข้าใจมุมมอง ทัศนคติ และภาพลักษณ์ของคนในปัจจุบันที่มีต่อการสร้างครอบครัวแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นแนวทางและข้อควรระวังในการนำเทคนิคการทำเหมืองข้อมูลและการประมวลผลภาษาธรรมชาติมาใช้ในการตีความปรากฎการณ์ทางสังคมด้วย
สารบัญ
17 ลูกและงาน: ทางแยกที่ต้องเลือก
20 ค่าของเวลากับการตัดสินใจทำงาน
22 ทางเลือกในการทำงานของผู้หญิงหลังมีบุตร25 โลกของแม่ผ่านภาษา: เสียงสะท้อนจากโลกออนไลน์
26 สารสกัดข้อมูลออนไลน์
30 ภาษาของแม่เต็มเวลากับแม่ทำงาน
32 ประเด็นตอกย้ำด้วยคำที่ใช้บ่อย
39 ความสัมพันธ์ของคำสำคัญ: ความซับซ้อนในโลกของแม่101 แม่เต็มเวลา: ความภูมิใจบนความเปราะบาง
102 เหตุแห่งการเลือกอยู่กับลูกเต็มเวลา
109 ผลกระทบจากการเป็นแม่เต็มเวลา: อารมณ์ ตัวตน และความมั่นคง123 แม่ทำงาน: ชีวิตที่ยากจะหาสมดุล
124 เมื่อต้องตัดสินใจมาเป็นแม่ทำงาน
138 “วิ่งวุ่น”: ผลกระทบของการเป็นแม่ทำงาน149 จากผู้หญิงเปราะบางสู่แนวนโยบาย: บทเรียนจากต่างประเทศ
150 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน
158 ผลกระทบโดยทั่วไปหลังการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน
166 นโยบายเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตรและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของครอบครัว175 เพื่อครอบครัวไทยรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง: ข้อเสนอแนวนโยบาย
มนสิการ กาญจนะจิตรา, ทรงพันธ์ เจิมประยงค์, กัญญาพัชร สุทธิเกษม, และรีนา ต๊ะดี. (2562). #ราคาของการมีลูก: เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
176 ความสมดุลของเวลาสู่ความเปราะบางของครอบครัว
182 นโยบายเพื่อการสร้างครอบครัว: มองปัจจุบันสู่อนาคต

ห้องสมุดหรือผู้ที่สนใจหนังสือ “#ราคาของการมีลูก: เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเดียวกัน” สามารถติดต่อไปยัง สถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 โทรศัพท์ 02-441-0201-4 อีเมล kanyapat.sut@mahidol.ac.th อนึ่งหนังสือเล่มนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถใช้งานโดยในรูปแบบเปิดเสรี
นอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ผู้ที่สนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามเนื้อหาที่ได้จากการวิจัยได้จากสื่ออื่น ๆ ได้แก่
- วิดีโองานบรรยาย “Put humanities in AI” โดย ผศ. ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์
- บทความ “เมื่อการเป็นผู้หญิง ไม่ได้ทำให้คนเสียเปรียบเท่าการเป็นแม่” สัมภาษณ์ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา หัวหน้าโครงการวิจัย ใน 101 เขียนโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล และ วิโรจน์ สุขพิศาล
- บทความ “เพราะกลับไปทำงานยาก ผู้หญิงจึงคิดมากเรื่อง ‘มีลูก’ คุยกับ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา” ใน The Matter โดย Thanet Ratanakul
- วิดีโองานเสวนา “งานเสวนาสาธารณะ “Work-ไร้-Balance : งาน-ครอบครัว เลือกได้ไม่ต้องแลก”