ขอเชิญร่วมประชาพิจารณ์ “การพัฒนาระบบการประเมินคุณค่าเอกสารจดหมายเหตุ ภาครัฐ”

ขอเชิญร่วมประชาพิจารณ์ “การพัฒนาระบบการประเมินคุณค่าเอกสารจดหมายเหตุ ภาครัฐ”

ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการประเมินคุณค่าเอกสารจดหมายเหตุ ภาครัฐ” โดยอาจารย์ ดร. นยา สุจฉายา งานวิจัยนี้ได้รับทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การประชาพิจารณ์จะจัดผ่านทางแอปพลิเคชัน Zoom ในศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 9:30 – 11:30 น. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันระดมความห็นในการพัฒนาระบบการส่งมอบและประเมินคุณค่าเอกสารจดหมายเหตุที่เหมาะสมกับบริบทภาครัฐ ประเทศไทย

อาจารย์ ดร.นยา ได้รับรางวัลการนำเสนอโปสเตอร์จากการประชุม ICA 2022

อาจารย์ ดร.นยา ได้รับรางวัลการนำเสนอโปสเตอร์จากการประชุม ICA 2022

เมื่อวันที่ 19 – 23 กันยายนที่ผ่านมา อาจารย์ ดร. นยา สุจฉายาได้เข้าร่วมการประชุม the 9th Annual Conference of the International Council on Archives ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี จัดโดยสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ (The International Council on Archives – ICA) และได้นำเสนอโปสเตอร์ในหัวข้อ “Turning Theories into Reality: Considering New Archival Appraisal Strategies for Thai Public Sector” ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลโปสเตอร์ที่โดดเด่นเป็นอันดับที่ 2 สำหรับการประชุม ICA Roma 2022 จากโปสเตอร์ทั้งหมดจำนวน 67 ชิ้น การนำเสนอในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาระบบการประเมินคุณค่าเอกสารจดหมายเหตุภาครัฐ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

หนังสือใหม่ พื้นฐานการจัดระบบคอลเล็กชันดิจิทัล

หนังสือใหม่ พื้นฐานการจัดระบบคอลเล็กชันดิจิทัล

หนังสือใหม่โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล ชื่อ พื้นฐานการจัดระบบคอลเลกชันดิจิทัลสำหรับงานห้องสมุดและจดหมายเหตุ ได้ออกวางจำหน่ายแล้วทั้งในรูปแบบรูปเล่มและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (ebook)

หนังสือเล่มนี้ปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอลเล็กชันดิจิทัลในห้องสมุดและจดหมายเหตุ การบรรยายข้อมูลในระเบียนเมทาดาทา การควบคุมความถูกต้องของจุดเข้าถึงในระเบียนเมทาดาทา วิธีจัดระบบความรู้สำหรับคอลเล็กชันดิจิทัล รวมถึงการฉายภาพอนาคตของการจัดระบบคอลเล็กชันดิจิทัล

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและการสั่งซื้อได้ที่ ร้านหนังสือออนไลน์ของโครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ และศูนย์หนังสือจุฬาฯ

กระบวนการวนซ้ำในการออกแบบบริการสารสนเทศของห้องสมุด

กระบวนการวนซ้ำในการออกแบบบริการสารสนเทศของห้องสมุด

บทความเรื่อง Facilitating Iteration in Service Design in Libraries ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ในหนังสือ Assessment as Information Practice: Evaluating Collections and Services นำเสนอแนวทางในการส่งเสริมกระบวนการวนซ้ำในการออกแบบบริการสารสนเทศในห้องสมุด ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาต้นแบบ (prototype) ที่รวดเร็วและแนวทางและวิธีการประเมินทรัพยากรหรือบริการที่มีความเฉพาะเจาะจง เป็นประโยชน์ และเชื่อถือได้ นอกเหนือจากแนวคิดและวิธีการแล้ว บทความชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์ความท้าทายและนำเสนอกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

หนังสือ Assessment as Information Practice: Evaluating Collections and Services เป็นหนังสือ ebook รวมบทความที่บรรณาธิกรโดย Gaby Haddow และ Hollie White จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge เป็นหนึ่งในชุดหนังสือ Routledge Guides to Practice in Libraries, Archives and Information Science โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นบรรณารักษ์ นักสารสนเทศ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด กำหนดการวางแผนออกจำหน่ายเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 นี้เป็นต้นไป

ประเด็นความสามารถในการใช้งานได้ของแอปพลิเคชั่นระบบปรึกษาทางไกลระหว่างทีมแพทย์

ประเด็นความสามารถในการใช้งานได้ของแอปพลิเคชั่นระบบปรึกษาทางไกลระหว่างทีมแพทย์

การออกแบบระบบในบริบทการแพทย์คลินิกบนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ นับเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดของหน้าจอที่จำกัดอาจส่งผลต่อคุณภาพของข้อมูลที่และเกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารได้ ดังนั้น ในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตรงตามแบบจำลองทางความคิด (mental model) ของทีมแพทย์และผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ได้เข้าไปทำการทดสอบความสามารถในการใช้งานได้ (usability) ของระบบดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด PACMAD (People At the Centre of Mobile Application Development) (Harrison, Flood & Duce, 2013) มาในใช้การประเมินระบบปรึกษาทางไกลที่มีข้อมูลผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในคลินิกออร์โธปิดิกส์ ผลการศึกษานอกจากจะช่วยพัฒนาและปรับปรุงระบบ Medic ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ผลการศึกษาและการอภิปรายผลยังครอบคลุมข้อสังเกตและข้อพึงระวังในการออกแบบแอปพลิเคชั่นในบริบททางการแพทย์ในหลายมิติอีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในรูปแบบบทความวิจัยที่เข้าถึงได้อย่างเสรี (open access) ชื่อ Exploring usability issues of smartphone-based physician-to-physician teleconsultation application in an orthopaedic clinic: A mixed-method study ในวารสาร JMIR Human Factors ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ที่ https://doi.org/10.2196/31130

สำรวจทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดต่างประเทศ

สำรวจทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดต่างประเทศ

บทความวิจัยล่าสุดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับ Dr. Hollie White จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย ชื่อ Dispersed Collections in Exile: Thai Collections in Libraries Outside of Thailand ตีพิมพ์ลงในวารสาร Library Resources & Technical Services ปีที่ 65 เล่มที่ 4 รายงานผลการสำรวจแนวปฏิบัติและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการลงรายการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผลการศึกษาที่สำคัญชี้ให้เห็นระบบนิเวศของของการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งได้รับผลกระทบที่สำคัญจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาและวิจัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดจำนวนมากพึ่งพาการบริจาคจากนักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับเมืองไทยมากกว่าการจัดหาทรัพยากรอย่างเป็นระบบ นักวิชาการเหล่านี้อาจสนใจในเรื่องที่นักวิชาการไทยอาจไม่สามารถศึกษาได้ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ทรัพยากรในห้องสมุดหลายแห่งมีความเฉพาะตัว แตกต่างจากทรัพยากรที่จัดเก็บในห้องสมุดของประเทศไทย

ผู้ที่สนใจอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถเข้าถึงได้ที่ https://doi.org/10.5860/lrts.65n4.142