ชั้นหนังสือภาษาไทยในห้องสมุดประเทศออสเตรเลีย (ภาพ: ทรงพันธ์ เจิมประยงค์)
ทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในประเทศออสเตรเลีย (ภาพ: ทรงพันธ์​ เจิมประยงค์)

ความท้าทายในด้านเทคนิคและข้อจำกัดในด้านทรัพยากร ทำให้ห้องสมุดในประเทศไทยเพียงไม่กี่แห่งเข้าร่วมเครือข่ายการลงรายการ (cataloging) และฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมระดับนานาชาติอย่าง OCLC หรือที่หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ Worldcat.org นอกจากนี้การนำมาตรฐานการลงรายการมาใช้ก็มีความหลากหลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึง (accessibility) และการค้นพบ (discoverability) ของทรัพยากรภาษาไทย อย่างไรก็ตามห้องสมุดในต่างประเทศหลายแห่งมีการพัฒนาและจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง ห้องสมุดเหล่านี้ต่างก็สร้างและบริหารจัดการข้อมูลบรรณานุกรมทรัพยากรภาษาไทยในระบบสหบรรณานุกรมโลก คำถามที่สำคัญ คือ ห้องสมุดในต่างประเทศเหล่านี้มีแนวคิดการจัดการและการลงรายการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยอย่างไร ห้องสมุดในต่างประเทศเหล่านี้พึ่งพาข้อมูลบรรณานุกรมจากห้องสมุดของไทยมากน้อยเพียงใดเมื่อต้องจัดการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทย

บทความวิจัยล่าสุดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับ Dr. Hollie White จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย ชื่อ Dispersed Collections in Exile: Thai Collections in Libraries Outside of Thailand ตีพิมพ์ลงในวารสาร Library Resources & Technical Services ปีที่ 65 เล่มที่ 4 รายงานผลการสำรวจแนวปฏิบัติและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการลงรายการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผลการศึกษาที่สำคัญชี้ให้เห็นระบบนิเวศของของการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งได้รับผลกระทบที่สำคัญจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาและวิจัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดจำนวนมากพึ่งพาการบริจาคจากนักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับเมืองไทยมากกว่าการจัดหาทรัพยากรอย่างเป็นระบบ นักวิชาการเหล่านี้อาจสนใจในเรื่องที่นักวิชาการไทยอาจไม่สามารถศึกษาได้ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ทรัพยากรในห้องสมุดหลายแห่งมีความเฉพาะตัว แตกต่างจากทรัพยากรที่จัดเก็บในห้องสมุดของประเทศไทย

ผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรภาษาไทยในห้องสมุดต่างประเทศส่วนใหญ่มักเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นแต่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ แต่จะได้รับการฝึกอบรมในระหว่างการทำงาน บางแห่งใช้วิธีการจัดจ้างคนภายนอก (Outsourcing) ในการจัดการลงรายการแทนการมีผู้ปฏิบัติงานประจำองค์กร นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ว่า ห้องสมุดในต่างประเทศต้องการข้อมูลบรรณานุกรมรายการทรัพยากรภาษาไทยที่เชื่อถือได้จากห้องสมุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังมีขาดข้อมูลอีกจำนวนมาก ทำให้หลายห้องสมุดเลือกที่จะลงรายการเฉพาะรายการที่สามารถเข้าถึงได้เท่านั้น นอกจากนี้ถอดเสียงชื่อเรื่องให้เป็นภาษาอังกฤษก็เป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับห้องสมุดในต่างประเทศเช่นเดียวกัน ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำเกิดความแตกต่างหลากหลายของข้อมูลบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทย ซึ่งอาจส่งผลที่สำคัญต่อการค้นหาและการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในระดับนานาชาติ

การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นการศึกษาการจัดการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทย (ที่ไม่ใช่เอกสารต้นฉบับหรือ manuscript) ในมิติของการจัดการทรัพยากรในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการจัดการทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดในประเทศและผลกระทบต่อระบบนิเวศของการจัดการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดในต่างประเทศ การศึกษาในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการวิจัยที่ศึกษาแนวปฏิบัติและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงานด้านการลงรายการของห้องสมุดในประเทศไทยที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ [1] นอกจากนี้ผลการจากงานวิจัยในครั้งนี้ยังนำไปสู่โครงการวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมและข้อคิดเห็นของนักวิชาการทางด้านไทยศึกษาจากทั่วโลกที่มีต่อทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยที่มีในห้องสมุดทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2564 นี้

วารสาร Library Resources & Technical Services เป็นสิ่งตีพิมพ์ต่อเนื่องฉบับทางการของสมาคมสำหรับทรัพยากรห้องสมุดและบริการเทคนิค (Association for Library Collections and Technical Service – ALCTS) ภายใต้สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association – ALA) บทความในวารสารปรากฏในฐานข้อมูลชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Scopus, Web of Knowledge, Library and Information Science Abstract และ Library, Information Science and Technology Abstracts เป็นต้น

ผู้ที่สนใจอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถเข้าถึงได้ที่ https://doi.org/10.5860/lrts.65n4.142

[1] White, H. & Choemprayong, S. (2019). Thai catalogers’ use and perception of cataloging standards. Cataloging & Classification Quarterly, 57(7-8), 530-546, DOI: 10.1080/01639374.2019.1670767.

สำรวจทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดต่างประเทศ