การจัดหมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดช่วยให้บรรณารักษ์จัดกลุ่มทรัพยากรที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญช่วยให้ผู้ใช้สามารถการเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับห้องสมุดเฉพาะอย่างห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย การจัดหมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อสารภารกิจขององค์กรแม่ เพื่อให้ผู้ใช้ที่เป็นบุคคลภายนอกได้ทำความรู้จักและเข้าใจขอบเขต ภารกิจและความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย ดังค่านิยมของธนาคารฯ ที่ว่า “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน”

บทความใหม่ล่าสุดตีพิมพ์ในวารสาร Knowledge Organization เรื่อง Work centered classification as communication: Representing a central bank’s missions with the library classification ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพจากศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดยคุณจิราภรณ์ ศิริธร (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในการนำแนวคิดและกระบวนการพัฒนาบริการห้องสมุดตามแนวทางการออกแบบบริการหรือ service design มาปรับปรุงและพัฒนาออกแบบการให้บริการของห้องสมุดจากห้องสมุดที่ให้บริการเฉพาะผู้บริหารและพนักงานในองค์กรไปสู่การให้บริการสาธารณะ

หนึ่งในผลผลิตสำคัญที่ได้จากกระบวนการออกแบบคือการพัฒนาระบบหมวดหมู่ BOT Classification ที่เชื่อมโยงระหว่างภารกิจขององค์กร ระบบการจัดการความรู้เฉพาะสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์อย่าง JEL Classification Codes และระบบการจัดหมวดหมู่แบบดั้งเดิมอย่าง Library of Congress Classification Number (LCCN) และ Library of Congress Subject Headings (LCSH)

การจัดหมวดหมู่ในระบบ BOT Classification ถือเป็นความท้าทายของการจัดระบบทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการจะตอบโจทย์ในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสนับสนุนการเข้าถึงของผู้ใช้ การจัดการพื้นที่ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ใช้และประชาชนทั่วไปที่ต้องการทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของธนาคารผ่านการเรียนรู้จากทำความเข้าใจระบบการหมวดหมู่ที่ตอบสนองกับภารกิจขององค์กร ทั้งนี้การพัฒนาระบบการจัดหมวดหมู่ BOT Classification ในครั้งนี้ได้ประยุกต์ใช้แนวคิด Work-centered classification ที่ให้ความสำคัญกับการจัดกลุ่มเนื้อหาของงานมากกว่าการพิจารณาความรู้ทั่วไป และแนวคิดที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการจัดหมวดหมู่มีพลังในฐานะเครื่องมือในการสื่อสาร (Classification as communication)

วารสาร Knowledge Organization เป็นวารสารอย่างเป็นทางการราย 2 เดือนของสมาคม International Society of Knowledge Organization (ISKO) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Nomos Verlag ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับในฐานข้อมูล Scimago ในกลุ่ม Q2 ในสาขาวิชา Library and Information Sciences

ท่านที่สนใจสามารถเข้าถึงบทความได้ที่ https://doi.org/10.5771/0943-7444-2021-1-42 หรือ https://www.ergon-verlag.de/isko_ko/downloads/knowledge-organization-journal/ko-48-2021/ko-48-2021—1.html

ผลงานใหม่: Work centered classification as communication