ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ นำเสนอผลงานหัวข้อ Describing Oral Tradition of Sea Gypsies in Thailand: From metadata modeling of digital archives to
tribal language preservation and revitalization ในกิจกรรมการอภิปรายโดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ (panel presentation) หัวข้อ Cultural Metadata – For What Entities Are We Creating Metadata? ในการประชุมนานาชาติ Dublin Core Metadata Initiative (DCMI) Virtual 2021 ในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 -16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
การนำเสนอในครั้งนี้เป็นการนำเสนอประสบการณ์และสะท้อนมุมมองที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาพจนานุกรมมอแกลน-ไทย-อังกฤษกับทีมนักวิจัยและนิสิตภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาแบบจำลองข้อมูลสำหรับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในบริบทสังคมที่ไม่มีตัวเขียนมีความท้าทายอย่างมาก การอธิบายมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการสงวนรักษาและการฟื้นฟู อาจจำเป็นจะต้องอาศัยอธิบายกลไกทางภาษาศาสตร์ไว้ในข้อมูลเหล่านั้นด้วย เช่น รูปแบบตัวอักษรเขียน วิธีการถอดเสียง วิธีการแปลหรือถอดความ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่ลดอคติของข้อมูลเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่การจัดการทางวัฒนธรรมต้องอาศัยคนจากภายนอกชุมชนเข้ามามีบทบาทในการสงวนรักษาและฟื้นฟู
การประชุม DCMI Virtual 2021 เป็นการประชุมทางวิชาการประจำปีของชุมชนนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานที่มีความสนใจเรื่องเมทาดาทาจากทั่วโลก เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดการประชุมอยู่ในรูปแบบออนไลน์ Panel Presentation ในครั้งนี้นำโดย Prof.Dr.Shigeo Sugimoto จาก University of Tsukuba และร่วมนำเสนอโดย 1) Dr.Akihiro Kameda จาก National Museum of Japanese History, Japan 2) Dr.Chiranthi Wijesundara จาก University of Colombo, Sri Lanka และ Dr.Tetsuya Mihara นักวิชาการอิสระ ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายข้อมูลการวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์ เมทาดาทาสำหรับการ์ตูน อนิเมชั่น และวิดีโอเกมส์ รวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และไม่ถาวรด้วย