คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ร่วมกันแปลเอกสาร “โควิด-19 และวงการห้องสมุดโลก” (COVID-19 and the Global Library Field) ที่จัดทำโดยสมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติเป็นภาษาไทย ท่านที่สนใจสามารถเข้าถึงเอกสารฉบับแปลได้ที่ bit.ly/iflacovid19th หรืออ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ ได้ที่ www.ifla.org/covid-19-and-libraries (ฉบับแปลภาษาไทยจะนำเข้าไปรวมในเพจดังกล่าวด้วยเร็ว ๆ นี้)
เอกสารดังกล่าวเป็นการสรุปความคืบหน้าในการรับมือต่อการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ของห้องสมุดจากทั่วโลก มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องข้อจำกัด มาตรการ ขั้นตอน และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินงานของห้องสมุดทุกประเภท รวมไปถึงการแนะนำข้อมูลทรัพยากรและข้อแนะนำทางการที่อาจเป็นประโยชน์ไปใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินงานของห้องสมุดสำหรับมาตรการในขั้นต่าง ๆ และครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ทำความเข้าใจไวรัสโควิด-19 และการแพร่ระบาด
- การปิดทำการห้องสมุดทั่วโลก
- การบริหารแนวทางในการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมาตรการข้อจำกัด
- อยู่บ้านและที่ทำงานอย่างปลอดภัย
- การให้บริการทางไกล
- การบริหารการทำงานทางไกล
- การปรับเปลี่ยนบทบาทของทรัพยากรต่าง ๆ ของห้องสมุด
- การเปิดห้องสมุดอีกครั้ง
- ความเคลื่อนไหวของสมาคมวิชาชีพ หอสมุดแห่งชาติ และพันธมิตรของห้องสมุด
- การสื่อสารกับผู้ใช้ในภาษาต่าง ๆ
- ประเด็นปัญหาต่อเนื่อง
- กิจกรรมต่าง ๆ ของ IFLA
รายละเอียดปลีกย่อยในเอกสารนี้ ยังรวมไปถึงการจัดการเวลาปฏิบัติงาน รูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมและครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลาก รวมไปถึงแนวทางในการจัดการกับทรัพยากรที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเอกสารชิ้นนี้มิได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสั่งการหรือชี้ชัดว่าห้องสมุดควรดำเนินการอย่างไร หากแต่การรวบรวมทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้การตัดสินใจการบริหารจัดการห้องสมุดในช่วงวิกฤตเช่นนี้อยู่บนพื้นฐานของความรอบรู้และมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่รอบด้าน เอกสารต้นฉบับที่อยู่บนเว็บไซต์ของ IFLA มีการปรับปรุงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการหรือความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ เกิดขึ้น คณะผู้แปล ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตรา ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพยา จินตโกวิท รองศาสตราจารย์จินดารัตน์ เบอร์พันธุ์ อาจารย์ ดร.วชิรภรณ์ คลังธนบูรณ์ และอาจารย์ ดร.เสาวภา หลิมวิจิตร วางแผนที่จะปรับปรุงเอกสารฉบับแปลนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ผู้บริหารห้องสมุด ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ รวมถึงผู้ที่สนใจได้ข้อมูลที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีการผ่อนคลายมาตรการและเริ่มอนุญาตให้ห้องสมุดและหน่วยงานสาธารณะเปิดทำการได้ แต่การเปิดทำการที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้และผู้ปฏิบัติงานยังเป็นสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในช่วงเวลานี้ คณะผู้แปลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารชิ้นนี้จะช่วยให้ห้องสมุดในประเทศไทยเป็นเสาหลักสำคัญในการเสริมสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่เข้มแข็งในช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายต่อภาวะสุขภาพอนามัย รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้
อนึ่งหากท่านพบข้อผิดพลาด หรือมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเอกสารฉบับแปลนี้ สามารถส่งข้อเสนอแนะมาได้