บทสัมภาษณ์ศิษย์เก่า

บทสัมภาษณ์ศิษย์เก่า คนดัง จาก รำแพนฉบับครบขวบ (ปี 2553) จัดทำโดย ฝ่ายสาราณียกร คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2547 นักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานชั้นครูภายใต้นามปากกาที่เลื่องชื่อ แก้วเก้า และ ว.วินิจฉัยกุล

“เข้าอักษรฯปี พ.ศ.2509 ค่ะ เป็นความต้องการของคุณแม่เพราะคุณแม่จบจากคณะอักษรฯเหมือนกัน คุณแม่เข้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 แล้วท่านก็อยากให้ลูกสาวเรียนอักษรศาสตร์ ก็เข้าไปตอนนั้นการเรียนวิชาเอกเค้าก็เลือกกันตอนปีสามปีสี่ ตอนปีหนึ่งปีสองก็เรียนเหมือนกัน ก็เลือกเอกภาษาอังกฤษค่ะ อังกฤษกับไทยเท่านั้น เค้าจะไม่เรียกเป็นเอกค่ะ เค้าเรียกเป็นอังกฤษ1 อังกฤษ2 แล้วก็ไทย1 ไทย2 วิชาเลือกอังกฤษ1 อังกฤษ2 แล้วก็เลือกไทย2 ซึ่งก็คือวรรณคดีค่ะ …

การเรียนในสมัยนั้นก็เรียนกันอย่างหัวปักหัวปำเลยนะค่ะ จำได้ว่าปีหนึ่งเรียนกันสัปดาห์ละ 33 ชั่วโมง ปีสองเรียนสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง คือไม่มีเวลาว่างเลย ส่วนปีสามรู้สึกจะประมาณ 28 ชั่วโมง ปีสี่ถึงจะเป็น 22 ชั่วโมง แล้วพวกอักษรฯก็จะเป็นพวกที่ไม่ทำกิจกรรมเพราะว่าแค่เรียนก็ไม่มีเวลาแล้วนี่ยังไม่รวมหนังสือนอกเวลาซึ่จะต้องอ่าน เช่นหนังสือนอกเวลาตอนปีหนึ่งคือเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนปีสามคือเรื่องขุนช้าขุนแผน แล้วอาจารย์สามารถที่จะตั้งคำถามอะไรก็ได้เวลาสอบ ไม่มีการบอกว่าจะเป็นเฉพาะด้านนี้ เช่นภาษาหรือว่าเฉพาะเนื้อเรื่อง คือสามารถถามอะไรก็ได้ เราต้องตอบให้ได้หมด แล้วจำได้ว่ามีข้อสอบอันหนึ่งของรามเกียรติ์ให้เขียนจากความทรงจำบทพรรณนาโวหาร

ช่วงที่เรียนอยู่ไม่ได้เขียนนวนิยายเลยค่ะ ไม่มีเวลาเลยเรียนกันหนักมาก อย่างเวลาจะไปกินข้าวก็ใช้เวลา 20 นาที ตอนสิบเอ็ดโมงเค้าจะมีพักให้ 10 นาที เราก็จะไปกินข้าวกันตอนนั้น แล้วเที่ยงเราก็จะเข้าห้องติวกัน จะมีเพื่อนซึ่งเก่งมากได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งชื่อ ดร.อรพรรณ เป็นคนติวให้ คือเพื่อนที่เรียนไม่ทันก็ต้องติวให้กัน ก็เรียนกันมาด้วยความสาหัสตลอดสี่ปี แล้วสมัยนั้นวิชาต่างๆเค้าแบ่งเป็นหมวด แต่ละหมวดต้องได้ไม่ต่ำกว่าหกสิบเปอร์เซ็นต์ มีคนตกประมาณหนึ่งในสามตอนขึ้นปีสาม

ดิฉันเขียนหนังสือได้ลงจรูญสารตั้งแต่อายุแปดขวบ พออายุเก้าขวบก็เขียนนิทานประกอบภาพ คือจรูญสารเค้าจะมีภาพระบายสีค่ะ ให้เราแต่งนิทานจากภาพที่เห็นเข่นเป็นภาพผู้หญิงทำกับข้าวหรือภาพนางฟ้า เราก็แต่งเป็นเรื่องก็ลงทุกที พออายุสิบเอ็ดปีได้ลงเรื่องสั้นเรื่องแรกในศรีสัปดาห์ ตอนอยู่โรงเรียนเตรียมฯ ปีหนึ่ง ก็ได้เขียนเรื่องสั้นลง สตรีสาร ในสมัยนั้นการเขียนหนังสือไม่ใช่ของยากแล้วก็ไม่มีสื่ออื่นมาดึงความสนใจ แล้วข้อสอบก็เป็นอัตนัยล้วนๆ เพราะฉะนั้นพวกเราก็จะเขียนหนังสือกันได้คล่อง เราเคยออกหนังสือกันตั้งแต่อยู่ ม.ต้น ตอนนั้นจะมีประถมสี่ จากประถมสี่ก็ไปถึง มศ.5 แค่มศ.หนึ่ง ซึ่งเทียบได้กับ ป.6 ในปัจจุบันนี้พวกเราก็ออกวารสารกันในห้องแล้ว

ดิฉันยังนึงถึงบุญคุณของคณะอักษรศาสตร์มาจนบัดนี้เพราะว่าวิชาความรู้ที่เอามาใช้ในทุกวันนี้ก็ได้มาจากพื้นฐานอักษรศาสตร์ รู้สึกว่าคนที่เข้าอักษรศาสตร์ได้ควรตระหนักถึงโชคดีของคนเองแล้วใช้เวลาสี่ปีให้คุ้มที่สุด เพราะถ้าทำอย่างเต็มที่มันจะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปกับคุณตลอดชีวิต แล้วถ้ามีโอกาสก็ทำกิจกรรม แต่วิชาความรู้ควรจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ให้ปรับตัวให้เต็มที่เพราะอาจารย์ที่นี่เป็นอาจารย์ที่ยินดีให้ความรู้กับทุกคนแล้วเรามีเวลาสี่ปีที่จะเรียนแต่เวลาที่จะทำงานที่จะพิสูจน์ตัวเอง ที่จะต่อยอดนี้มันมีตลอดชีวิต”

ประยอม ชองทอง

กวีผู้เป็นเจ้าของร้อยกลอนที่เปี่ยมไปด้วยถ้อยคำที่สวยงามสะเทือนอารมณ์ ผสมแนวคิดและมุมมองต่อสังคมถ่ายทอดสู่สาธารณชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ รุ่น อ.บ. 24 อีกทั้งยังได้รับ ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2548

“ที่เลือกอักษรศาสตร์เพราะว่าติดใจอาจารย์คนหนึ่งที่ท่านเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต แล้วไปสอนที่โรงเรียนตอน ม.5-ม.6 แล้วเราชอบท่านนี้มาก ท่านเล่าให้ฟังว่า ต้นจามจุรีที่จุฬาเนี่ย มียอดต้นไม้ประสานกัน เหมือนเวลาเราเดินเข้าไปแล้วต้นจามจุรีจะคอยต้อนรับเราอยู่ โห พูดซะจนเกิดความรู้สึก ทั้ง ๆ ที่ผมจบ ม.6 แล้วไม่ได้เรียนเตรียมฯ อ้อมไปเรียนฝึกหัดครู 3 ปี
แล้วค่อยกลับมาสอบ เสียเวลา 3 ปี ไม่ใช่ 2 ปี เหมือนคนอื่น ๆ …

ตอนที่เรียนสนุกสนานมาก เข้าห้องเรียนน้อยจนอาจารย์จำหน้าไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่ความที่เราทำกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 1 เข้าไปปี 1 ไปเป็นผู้ช่วยสาราณียกรเพราะว่าตอนเรียนฝึกหัดครูเป็นสาราณียากรของกลุ่ม แล้วปีที่ 2 ก็เป็นเอง เป็นสาราฯ ปีที่ 3 ก็นเป็นสาราณียากร ส.จ.ม (สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แล้วปี 4 ก็เป็นผู้แทนฯ พอเราจบออกมาไปทำงานแล้ว เขาก็ยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น

สิ่งที่ประทับใจคือ เราผู้ชายน้อยๆที่นั่นน่ะนะ เราจะเกาะกลุ่มดีมาก จะมีวันหนึ่งที่พี่เก่าที่จบไปแล้วเขาจะมานัดกันว่า วันนี้ชุมนุมนิสิตชายนะ มาสัมภาษณ์นิสิตชาย พี่เก่าๆที่อยู่ตามกระทรวงอะไรต่างๆ ที่มีงานไม่มีงานก็จะกลับมาหา แล้วก็จะมาสัมภาษณ์เราว่าทำไมเรามาเข้าคณะนี้ จะทำอะไรให้คณะได้บ้าง

พวกอาจารย์ อย่างอาจารย์จิตรเกษม ศรีบุญเรือง หรืออาจารย์จินตนา ยศสุนทร ก็จะบอกว่า “เธอเป็นผู้ชายอักษรเนี่ย ต้องเป็นผู้ชายให้เป็นแมนนะเธอ อย่างไปเดินค้อมๆ หลังโกง แล้วเดินกับสุภาพสตรีเนี่ย ต้องเดินด้านนอก ปล่อยให้ผู้หญิงเดินริมถนนแล้วรถเฉี่ยวไปไม่ได้” เน้นเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษมาก วันที่ 3 มกราคม เป็นวันเจนเทิลเมนมีทติ้ง วันเกิดคณะ เราต้องมา

ที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ก็เพราะเรียนอักษรนี่แหละ ความที่เราชอบภาษาไทย ชอบการแต่งร้อยกรอง ชอบเขียนตั้งแต่อยู่คณะ ไปเปิดดูในหนังสือเก่าๆ จะเจอชื่อบ้างนะ

ก็แนะนำว่า เราถนัดอะไรก็ให้ทำอย่างานั้น แต่ว่าไม่ทิ้งอย่างอื่น เมื่อเราทำอะไรได้ให้รีบทำ แล้วก็แสดงออกมาให้เพื่อนฝูงเห็นว่าในงานเหล่านั้นเราจะช่วยเค้าได้ ผู้ชายที่มีน้อยเนี่ย เราจะต้องจับมือกันเรื่อยๆ แล้วก็อย่างลืมผู้หญิงนะ เคยได้ข่าวรึเปล่าละว่าไปท้าตีกับพวกวิศวะ (หัวเราะ) เข้าก็ไม่ได้รุมไม่ได้อะไร เข้าก็ว่า เขาต้องมาจีบสาวพวกเราอ่ะ สาวๆอักษรสวยๆเขาก็ต้องมาจีบ เพราะฉะนั้นชืนมาตีกับพวกเราเนี่ยนะ ไม่ให้เข้าคณะ ไม่ให้เข้าตึก (หัวเราะ) พวกผู้หญิงอักษรฯกับผู้หญิงที่อื่นจะต่างกันแต่ผู้หญิงอักษรฯ จะต้องเป็นผู้หญิงและผู้ชาย แล้วผู้ชายก็เหมือนกันต้องเป็นผู้ชาย ต่อให้เป็น หน่อมแน้มยังไงรึ ยังไงอ่ะ เป็นพวก…แด๊ะๆ ก็ตามนะ แต่ว่าต้องเป็นผุ้ชายเวลามาเรียนแล้วเจอพี่ๆ เขาก็จะสอนกันอย่างงี้ว่าผู้ชายต้องเป็นผู้ชายให้เค้าพึ่งพาอาศัยได้

วิชาอักษรศาสตร์เป็นวิชาที่หากินได้ตลอดชีวิต คุณจะเป็นอะไรก็ตาม เขายกย่องคนอักษรฯ ว่าทำได้ทุกอย่างความสามารถจะต้องแสดงให้เขาเห็น ไม่ใช่ไปอวดตัวแต่ใครทำอะไรได้ ก็ต้องคิดช่วย วิชาอักษรฯ เป็นวิชาที่ผมภูมิใจมาก ที่เป็นตัวเป็นตนทุกวันนี้ได้ ก็เพราะเป็นผู้ชายอักษรฯ เรียนอักษรฯมา”

ผอูน จันทศิริ

ถ้ากล่าวถึง สมรศรี หรือพี่หมอน จาก “เป็นต่อ” ทุกคนต้องรู้จักกันอย่างดี แต่นี้คือบทบาทเพียงด้านเดียวของ “ผอูน จันทศิริ” เท่านั้น ผู้ที่บุคคลคุณภาพที่อยู่ เบื้อหน้าและหลังวงการบันเทิงไทยมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนบท ผู้กำกับละคร ผู้กำกับละครเวที และผู้กำกับภาพยนตร์ ผลงานที่โดดเด่นได้แก่ เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก, ดงดอกเหมย, อาทิตย์ชิงดวง เป็นต้น และหนึ่งในบทบาทที่รำแพนจะไปล้วงลึกก็คือ บทบาทการเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ รหัสรุ่น 23

“จริงๆ อยากเอกละคร แต่สมัยนั้นเนี้ย โห พูดแล้วแก่มาก (หัวเราะ) มันยากมากที่จะเข้าวงการบันเทิง ก็มีพวกสถาปัตย์ฯเข้ามาไม่กี่คน แล้วก็มีพี่จิ๊-อัจฉราพรรณ ไม่ใช่ว่าวงการบันเทิงนี่ไม่ดีแต่ว่าชีวิตนิสิตนักศึกษากับวงการบันเทิงมันห่างกันมาก ก็จะมีพี่ตา-ปัญญา แต่ก็มีมาประปราย พอรุ่นที่พี่ใกล้จบมันถึงได้มีพวกสถาปัตย์ฯแล้ว ก็พี่ๆอักษรฯ เข้ามาบูมๆ กันโชคดีที่เป็นช่วงรอยต่อของรุ่นพอดีพี่ก็เลยได้เข้ามา แต่จริงๆแล้วพอจะเอกละครแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ให้เรียนก็เป็นครั้งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ยุ่งเกี่ยวกับการศึกษา ธรรมดาเค้าจะตามใจ เค้าจะบอกว่าเรียนมาแล้วจะไปทำอะไร ก็เรียนเป็นโทก็แล้วกัน พี่ก็เรียนเอกภาษาอังกฤษ แต่บังเอิญพอจบมาแล้วเราได้ทำงานที่เป็นโทมากกว่า …

สมัยก่อนอย่างที่บอกว่าเด็กอักษรฯเป็นเด็กที่ค่อนข้างเรียนเก่ง ฐานะดี มันก็เลยดูเป็นไฮโซไปเลยโดยปริยายแต่รุ่นพี่เป็นจุดอับของอักษรฯ อย่างรุ่นพี่พี่อีกทีคือรุ่นคุณญาณีก็เป็นรุ่นที่สวยหมด จนมาถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังสวยงามกันอยู่ รุ่นน้องพี่ก็สวยงามกันเป็นสาวแพรวก็มี แต่รุ่นของพี่จะเฮฮาแล้วก็ดูแจ่มใสมีชีวิตชีวากว่ารุ่นอื่น คงเพราะมันไม่สวย มันก็เลยรักกัน (หัวเราะ) รุ่นพี่สามัคคีกันดี ใครๆก็ชอบว่ารุ่นของพี่น่ารักดี อย่างรุ่นก่อนๆ เค้าจะเป็นรุ่นที่ดูห่างไกลความเป็นจริงนะค่ะ ดูเป็นเจ้าหญิงๆกัน ตอนสมัยพี่อยู่เตรียมฯ เวลามากินข้าวที่โรงอาหารอักษรฯ แล้วจะรู้สึกแปลกๆ เพราะว่าเดินผ่านบางโต๊ะเค้าก็จะไม่พูดแบบธรรมดานะเค้าก็จะพูดเป็น ไบเล่ (พูดด้วยสำเนียงเจ้าของภาษาแท้) บางโต๊ะก็นั่งคุยเรื่องปรัชญาอะไรอย่างนี้ เราก็แบบว่าทำไมคนเรามันต้องกระแดะกันขนาดนี้ แต่พวกพี่เป็นพวกที่แบบว่าร่าเริงเชิงบ้องอะไรแบบนี้ พวกเรียนละครก็ไม่ค่อยเป็นติสต์เท่าไรก็บ้านนอกๆกันไป พี่อยู่กลุ่มของเพื่อนที่เรียนเก่งมากทุกคน ตัวพี่เป็นคนที่เรียนไม่เก่งมากที่สุดในกลุ่มเป็นคนที่สนใจแต่จะเกเรอะไรอย่างนี้ค่ะ หนีเรียนบ่อยมากแล้วไม่ได้ไปไหนด้วย ไปนั่งคุยก็โชคดีมีเพื่อนดีคอยช่วยเหลือ คอยดูแลโดดเรียนก็ไม่ได้ทำอะไรเลยนั่งคุย ดูผู้ชาย (หัวเราะ) สมัยก่อนเค้ายังให้นั่งที่ลานนนทรีตรงที่ติดกับวิศวะฯ ข้างหน้านึกหนึ่งนะค่ะ ซึ่งแต่ก่อนนี้มันเป็นลานที่นั่งกันได้แล้วสนุกมากเพราะเป็นเด็กที่ไม่เคยเจอผู้ชายไง ก็เลยนั่งดูผู้ชายตลอดทั้งวัน สนุกสนาน ผู้ชายก็เตะบอลอัดก็ไม่เป็นไรไม่เจ็บ ทนได้ๆ สนุก (หัวเราะ)

กิจกรรมที่ประทับใจมากก็ตอนรับน้องที่พี่อยู่ปีสอง กลุ่มพี่ในฐานะที่ใหญ่ที่สุด มี 22 คน น่ากลัวมากนั่งกันยั๊วเยี้ยเต็มโต๊ะไปหมด พวกวิศวะฯแถวๆนั้นเค้าเรียกว่าถ้ำเสือน่ากลัวมาก (หัวเราะ) นั่นแหละ ต้องรับผิดชอบการแสดงของชั้นปี พี่เลยบอกว่าโอเคงั้น เดี๋ยวชั้นไปเขียนบทละครมาแล้วกันแล้วช่วยๆกันเล่น เดี๋ยวชั้นกำกับเอง เขียนบทแล้วกำกับเอง อันนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาชีพนะค่ะ ออกมาก็กลายเป็นละครตลกนะค่ะ เป็นละครที่ตลกมากโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ไอ้พวกเล่นก็เล่นไป พวกที่พากย์ก็พากย์ไป ไอ้คนที่เป็นดาวของรุ่นมันก็ยอมเล่นให้มาเป็นนางเอกซินเดอเรลล่า อุบาทจ์มากยังไงมันก็เล่นคือละครเรื่องนี้เป็นละครที่มีการกล่าวขวัญถึงว่าสนุกมาก อะไรอย่างนี้นะคะ ที่ประทับใจคืออาจารย์อำภา โอตระกูล ท่านรองคณบดี เป็นอาจารย์ที่ดุมากแล้วก็ไม่ค่อยยิ้ม แต่อาจารย์ชอบละครเรื่องนี้มากจนขอไปแปลเป็นภาษาเยอรมันไปเล่นที่สถานทูต อีกอย่างคือมันเป็นละครภายในอยู่แล้ว คนมันก็ขำกันเองด้วย พอหลังจากนั้นคนที่เป็นซินเดอเรลล่าที่สวยๆก็แต่งงานกับอาจารย์ที่ตอนหลังออกมาทำรายการโทรทัศน์ แล้วก็เหมือนคนนี้มันจะบอกอาจารย์ว่าพี่เขียนบทได้ดี อาจารย์เค้าก็เลยตามมาอยากให้ทำงาน แล้วละครเรื่องนี้ก็ทำให้คนในรุ่น เวลานึกถึงว่าใครมีหัวทางนี้เค้าก็จะนึกถึงเรา มันก็เป็นการเปิดตัว บังเอิญคนเราถ้ามีโอกาสมันก็ต้องทำ แต่จริงๆ พี่ไม่ได้คิดอะไรอย่างนั้นเลยนะ พี่กลัวโดนรุ่นพี่ด่า พี่ก็เลยทำ แค่นั้นเอง แล้วก็รู้ว่าทำได้ก็ทำไม่ได้คิดอะไรเลย สิ่งที่พี่ประทับใจมากๆก็คือความร่วมมือของเพื่อนๆ แล้วมันสนุกมาก”

คณะอักษรฯ ให้อะไรมากกว่าแค่วิชาชีพ นอกจากให้ความรู้ทางด้านละคร ก็ให้ทุกอย่างเพื่อประกอบวิชาชีพ ด้วยแวดวง เพื่อนฝูง โอกาสเยอะมากที่เราได้แล้วอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของวิธีการมองโลกและรสนิยมมันอยู่ที่การศึกษาจริงๆ คือวิชาที่เราเรียนมาจากคณะนี้มันจะทำให้เราวิเคราะห์เป็น มองคนเป็น แล้วก็รับรู้ความรู้สึกของคนรอบข้างตลอดเวลา ที่เป็นมากๆ คือการวิเคราะห์คนซึ่งมันก็ได้มาจากคณะมากจากการศึกษาโดยตรง รวมทั้งรสนิยมด้วย มันเป็นความละเมียดที่ถูกบ่มเพาะมาก ถึงแม้ว่าเราไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ถึงแม้ว่าเราไม่ค่อยรู้ตัว แต่ว่าทุกอย่างมันค่อยๆ ซึมเข้ามาที่ตัวเรา”

นุสบา ปุณณกัณต์

นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์รหัส 33 และนักแสดงเจ้าบทบาทผู้ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องการเรียนและการงานเพราะสำหรับเธอแล้ว ทั้งสองสิ่งต้องสามารถทำเคียงคู่ไปด้วยกันได้และที่พิเศษสุดก็คือ เธอ สามารถทำมันได้ดีมากด้วยค่ะ

ถ้ากล่าวถึงชื่อ นุสบา ปุณณกัณต์(วาณิชอังกูร) ทุกคนจะต้องนึกถึงนางเอกชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ อาทิ รักในรอยแค้น, เมืองมายา ภาพยนตร์ อาทิ เรืองมยุรา หรือผลงานล่าสุดอย่าง แม่หญิง และ ฮีโร่ 1000 รัก

ทำไมถึงเลือกอักษรศาสตร์
“ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.5 ที่โรงเรียนเซนต์โอเซฟคอนแวน แล้วสมัยก่อนยังมีสอบเทียบอยู่พี่ก็เลยสอบเทียบคือไม่ได้เรียน ม.6 ที่อยากเข้าคณะนี้ก็มีหลายสาเหตุ ลาเหตุแรกก็คือว่าคุณแม่พี่ท่านจบคณะนี้แล้วคุณแม่ก็ชอบพูดถึงกิจกรรม พูดถึงชีวิตในคณะให้ฟังตั้งแต่เด็ก เราก็ได้ยินมาแล้วเราก็รู้สึกว่าเรามีความภาคภูมิใจ แล้วคุณแม่พี่ท่านก็เป็นดรัมเมเยอร์ของจุฬาฯด้วย เค้าก็จะมีรูปสมัยเรียนติดข้างฝาที่บ้านเต็มไปหมด มันยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากเหมือนเค้า แต่คุณแม่พี่ก็คุยกับพี่ว่าอย่าเข้าเพราะทำตาม คือเข้าไปแล้วเรียนหนักนะ ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็อาจจะไม่มีความสุข ก็เลยถามตัวเองกอีกครั้งก่อน แล้วก็ตัดสินใจจะไปสอบเทียบ เพราะเป็นการสอบเทียบเลยไม่ค่อยกดดันตัวเองเท่าไร แต่ก็ดูหนังสือหนัก เนื่องจากว่าโม้กับเพื่อนไว้เยอะ ว่าชั้นจะไปแล้วนะ เราไม่ได้เจอกันตอน ม.6 แล้ว ก็เลยคิดว่าเดี๋ยวไม่ได้แล้ว เสียหน้าเพื่อนเพราะเราไปโม้ไว้เยอะ ก็เลยฮึดมากแล้วก็ดูหนังสือหนัก จนกระทั่งสอบเข้าได้ …

พี่เลือกเอกภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศส เพราะว่าชอบด้านภาษา พี่ชอบเรียนภาษา แล้วตอนที่อยู่มัฐยมปลายพี่ก็เรียนภาษาฝรั่งเศสมาก็รู้สึกว่าทำได้ดี ก็อยู่ในระดับ top ของห้องมาตลอด ก็เลยคิดว่าก็ควรจะเรียนมันต่อเนื่องเพราะว่าเราทำสิ่งนี้ได้ดี อาจจะชอบหรือเปล่าไม่รู้เนอะ

บรรยากาศสมัยอยู่อักษรฯ
สมัยที่พี่เรียนนะ คณะเราเป็นคณะที่เด็กเรียนหนังสือหนักแล้วก็มีกิจกรรมน้อย เนื่องจากว่าเวลาส่วนใหญ่ต้องใช้กับการเรียนและต้องดูหนังสือสอบ ยิ่งพวกเอกภาษาต่างๆ เราต้องอ่าน Textbook เยอะมากเลย
ทุกคนก้มหน้าก้มตาทำงาน ทุกคนก็พยายามที่จะทำคณะให้ได้โดยเฉพาะพี่ เรียนเอกภาษาอังกฤษก็มีเด็กเรียนเยอะที่สุดในบรรดาเอกต่างๆ พอคนเรียนเยอะการแข่งขันมันก็สูง แล้วพี่เป็นคนที่ไม่ยอมด้วยเรื่องเรียนพี่ไม่ของแพ้ใคร พี่สู้ตาย คือแบบพี่ต้องได้ A อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) มีความมุมานะมาก ก็เลยยิ่งเรียนหนักขึ้นไปอีก จำได้ว่าตอนเรียนมีเพื่อนน้อยมากเพราะมัวแต่เรียน มีหนุ่มมาแอบดูบ้างแต่ว่าไม่มีแฟน ไม่คบใครเลย ไม่มีแฟนเลย (เสียงเน้นย้ำ) อยู่จุฬาฯตั้ง 4 ปี (หัวเราะ)

พี่ได้เกียรตินิยมอันดับสอง ตอนแรกพี่ตั้งใจจะเอาเกียรตินิยมอันดับ 1 ไง แต่พี่มัวแต่ไปเล่นละคร ก็เลยไม่สามารถทำได้ (หัวเราะ) เผอิญว่าพอพี่เข้าไปปีหนึ่งแล้วพี่ก็เริ่มโดนชวนเข้าวงการ แล้วก็เริ่มเล่นละครต่อเนื่องมา วิ่งรอกไปถ่ายละครแล้วก็วิ่งไปเรียน ชุดบางทีก็ต้องมาเปลี่ยนในรถเพื่อที่จะเข้าห้องเรียนให้ทัน บางครั้งเข้าห้องช้าด้วย บางทีไปสอบไม่ทันก็มี เพราะฉะนั้นความฝันที่เราจะได้เกียรตินิยม อันดับหนึ่งมันก็เลยสลายไป

ด้านกิจกรรม พี่อยู่ชมรมวาทศิลป์ของจุฬาฯใหญ่ ตอนเย็นเลิกเรียนก็มีการรวมกลุ่มของสมาชิกในชมรมทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม รูปแบบของงานถ้าเป็นจุฬาฯส่วนใหญ่พี่จะช่วยในงานละครเวที ของคณะ ก็มีละครของนลินี สีตะสุวรรณ ท่านเขียนบทเก่งมาก อาจารย์ก็นำพี่ไปเล่นละครการกุศลบ้าง ละครเวทีเทิดพระเกียรติบ้าง ในนามของจุฬาฯนะ

คนทั่วไปมองนิสิตอักษรฯว่าต้อง สวย เก่ง ไฮโซ พี่มีมุมมองอย่างไรกับความคิดนี้
พี่ก็แปลกใจนะ ก็ไม่รู้ว่าทำไม อย่างตั้งแต่รุ่นคุณแม่พี่ก็เป็นเหมือนกัน ทุกคนอาจจะมีความรู้สึกเหมือนพี่ คือเห็นแม่เรา หรือเค้าอาจจะเห็นแม่หรือญาติหรือใครสักคนเรียนที่อักษรฯ แล้วสวยจัง อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง มันก็เป็นไปได้เหมือนกันถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ แต่พี่ว่าเด็กอักษรจะมี Character ที่คล้ายๆกันคือจะมีความสุขุม ไม่โฉ่งฉ่าง โหวกเหวก โวยวายมากเกิน แต่กับเพื่อนนี่ก็โอเค พี่เอกกับเพื่อนก็เฮฮาปาร์ตี้กันแต่พออยู่ในสังคมก็รู้จักวางตัว ถ้าไม่สนิทก็จะดูเป็นคนมีมาดเหมือนนักวิชาการเล็กๆ ดูมีภูมิอะไรบางอย่าง พี่ไม่เคยเห็นรุ่นพี่รุ่นน้องคนไหนที่พูดจาเยิ่นเย้อ เลอะเทอะ แล้วเวลาทำงานเด็กอักษรฯก็ทำหลายอาชีพมาก บางทีถามว่าจบแล้วไปเป็นอะไร ก็มึนๆไม่รู้จะตอบว่าอะไร แต่ขอบอกว่าทำได้ทุกอย่างและทำได้ดีด้วย”

วราภรณ์ สมพงษ์

หากใครได้ชมรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ หรือ รายการ แจ๋ว คงจะต้องคุ้นหน้าคุ้นตาผู้ประกาศข่าวสาวคนเก่งประจำรายการอย่าง กระเต็น-วราภรณ์ สมพงษ์ นอกจากการเล่าข่าวสารประจำวันแล้ว คราวนี้พี่กระเต็นศิษย์เก่าอักษรศาสตร์จะขอมาเล่าเรื่องราวสมัยเรียนที่น่าประทับใจ

“จริงๆแล้วพี่เป็นเด็กสายวิทย์ ตอนเรียนชอบทำกิจกรรมเขียนเรียงความ แต่งกลอน แล้วรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ทำแต่เรียนฟิสิกส์เคมีชีวะนี่รู้สึกไม่ค่อยรุ่ง เลยเริ่มคิดว่าถ้าเราเรียนจบแล้วเราต้องทำงานเกี่ยวกับวิชาพวกนี้เราจะมีความสุขไหม เราน่าจะเรียนในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขแล้วพอจบไปเราก็จะได้อยู่กับสิ่งที่เรามีความสุข มันคงจะเป็นชีวิตที่แฮปปี้มาก เลยตัดสินใจมาเรียนด้านนี้ดีกว่า แต่เราเป็นเด็กสายวิทย์คงไปสอบสู้กับเด็กสายศิลป์ไม่ได้ อาจารย์เลยแนะนำโครงการภาษาและวรรณคดี (ช้างเผือก) ก็เลยมาสอบ แล้วสอบได้ เลยได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะนี้ค่ะ พี่เรียนเอกภาษาไทย โทศิลปะการละคร …

พอมาเรียนก็ตรงกับที่เราชอบ อย่างเรียนกวีนิพนธ์ ก็ได้อ่านกวีนิพนธ์ คือได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างตอนม.ปลาย ตอนเรียนถ้าเราจะอ่านนิยายสักเล่มหนึ่งมันคือ นอกเวลา แต่อันนี้คือได้อ่านนิยายแต่เป็นนิยายที่อ่านแล้วเอามาตอบข้อสอบ มันเลยเอ็นจอยมาก เท่ากับเราอ่านตำรา ได้วิเคราะห์ และยังได้อ่านงานของนักเขียน ศิลปินที่เราชอบ และเวลามาเขียนบันทึกนู่นนี่ถ้าเราเรียนแผนวิทย์มันจะเป็นนอกเวลาเรียน รู้สึกว่ายังไม่ได้อ่านตำราที่เราต้องสอบ

แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจบมาจะเป็นอะไร แต่รู้ว่าชอบอย่างทำวารสาร รู้ว่าถ้าเราแฮปปี้กับสิ่งที่เราเรียนเราจะเอาไปทำงานได้ อย่างวิชาเขียนบทเราชอบ เราก็คิดว่าอนาคตอาจจะทำงานเป็นคนเขียนบทได้ พอเรียนแล้วเห็นว่าเอาไปใช้เป็นวิชาชีพได้ ทำให้มีแรงกระตุ้นในการเรียน แล้วยังรู้สึกสนุกด้วย อย่างตอนเรียนเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ เราจะมองไม่ออกว่ามันจะเอาไปใช้อะไรได้ อย่างเรียนวิชาการออกเสียงของภาคละคร เราก็รู้สึกว่ามันต้องเอาไปใช้ในอาชีพอะไรได้ซักอย่าง มันค่อนข้างเป็นวิชาที่เป็นชิ้นเป็นอัน

ภาพลักษณ์เด็กอักษรฯ สมัยก่อนต้องสวย อยู่บนหอคอยงาช้าง สวยเป็นคุณหนู ถือกระเป๋า มัดผมผูกโบใหญ่ๆ ใส่ตุ้มหูใหญ่ๆ ใส่รองเท้าส้นสูงสีขาว แต่พวกพี่จะเป็นพวกใส่รองเท้าผ้าใบสะพายย่าม กลุ่มพี่จะเป็นเด็กต่างจังหวัดก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่โดยรวมที่มองจะเป็นคุณหนู ตอนแรกพี่ก็มองแบบนี้ แต่ว่าพอเข้ามาเรียนก็รู้สึกว่าทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน เรียนด้วยทำกิจกรรมด้วย ไม่เห็นจะเป็นอย่างที่เรากลัว แล้วสมัยนั้นผู้ชายก็มีน้อย ผู้ชายจะเป็นของรักของหวงที่เราต้องดูแล ซึ่งบางที ก็ไม่ใช่ผู้ชาย

ตอนที่พี่เข้าไปจะมีรุ่นพี่ที่เรียนจบแล้วกลับมาสอน มีอาจารย์บุสก้า ก็สนุกสนาน มีครูป้อม ครูเฟียต อาจารย์ก็เหมือนกับว่าเพิ่งผ่านรั้วมหาวิทยาลัยแล้วกลับมาสอน ก็จะเข้าใจเด็กๆ แล้วก็จะมีอาจารย์รุ่นขึ้นหิ้ง อันนั้นก็จะอีกแบบหนึ่ง อาจารย์จะเจ้าระเบียบ มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่อยู่ปี 1 ก็โดนให้ทำนู่นทำนี่ ตอนลอยกระทงให้พี่ร้องลำตัด เป็นประวัติของพี่เลย แล้วพี่เป็นหัวหน้าฝ่ายหญิงร้องโต้กับฝ่ายชาย เป็นการแสดงของคณะอักษรฯ แล้วร้องแบบลามก อาจารย์บอกเลยว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร ให้ไปตามตัวมาเดี๋ยวนี้ รุ่นพี่บอกให้เราหลบหน้าอาจารย์ท่านนี้ไปเลยครึ่งปี อาจารย์โกธรมาก เพราะเราเป็นผู้หญิงแล้วไม่ควรมาร้องอะไรอย่างนี้

หากจะบอกว่าทำงานไม่ตรงสายไม่จริงเลยค่ะ เพราะคนที่ทำงานในนี้มีทั้งคนที่ จบรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็มี คือถ้าจบในสาขาเฉพาะทางยิ่งดีเลย แต่ว่าจริงๆ แล้วอาชีพแบบนี้พี่ว่าใครก็ได้ที่ฟัง พูด อ่าน เขียน เล่า สามารถถ่ายทอดได้ดี ก็สามารถทำงานนี้ได้ทั้งนั้น เพียงแต่พอเริ่มต้นแล้วต้องพัฒนาศักยาภาพให้ดี ถ่ายทอดได้ก็ทำงานได้ แต่ทำได้ดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละครด้วยว่าได้รับโอกาสมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่เสมอไปว่าต้องจบนิเทศเท่านั้น แค่ถ่ายทอดให้เป็นแล้วจะทำได้ เพราะมันเป็นอาชีพของนักสื่อสาร การเรียนอักษรฯ มีส่วนช่วยโดยตรงเลยค่ะ เพราะเราเรียนฝึกการพูด อ่าน เขียน ฝึกคิดให้เป็นระบบ เพียงแต่เราไม่ได้รู้วิธีการว่ามุมกล้องมันเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง เราไม่ได้รู้โครงสร้างของหัวใจของนิเทศศาสตร์เราก็ได้เรียนนะ เรื่องฟังพูดอ่านเขียน ซึ่งเราได้ฝึกมาตลอด 4 ปี ที่เรียนมา”

พัณณิดา ภูมิวัฒน์

นักเขียนมือรางวัลรุ่นใหม่ นิสิตอักษรศาสตร์รหัส 42 เจ้าของนิยายแนวแฟนตาซี และไซ-ไฟ อาทิ ไมรอน มาโอ เซรีญา ซึ่งรู้จักกันดีในโลกอินเตอร์เน็ต ว่า ลวิตร์(เคียว)

“พี่ไม่มีความตั้งใจจะเข้าอักษร การที่พี่สอบเข้าอักษรศาสตร์เพราะอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็กๆ แต่พี่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นนักเขียนได้ ไม่มีใครบอก พี่ก็เลยคิดมาตลอดว่ารู้สึกต้องเข้าอักษร จริงๆ แล้วมันเป็นความคิดแบบเด็กๆ ว่าเออนี่แหละวิธีการ ความมุ่งมั่นอยากเป็นนักเขียนของพี่ ดูได้จากเรียงความตั้งแต่ ป.1-6 ที่พี่กลับไปเปิดดู มีอยู่ 2 ปีเท่านั้นเอกที่บอกว่าไม่อยากเป็นนักเขียน พี่เป็นคนอ่านหนังสือเยอะบางทีตอนเขียนหนังสือ พี่ก็ไม่รู้ว่าพี่เขียนหนังสือหรือเล่าเรื่องนะ เพราะตอนเด็กๆ แม่พี่ชอบเล่านิทาน แม่พี่ก็อ่านหนังสือเยอะแล้วแม่ก็จะเล่านิทานตลอดเวลา บาทีแม่พี่คิดนิทานไม่ออกเรื่องอะไรอ่านมาก็เล่าให้ฟังหมดทุกเรื่อง พี่อยากเล่าเรื่อง อยากแต่งเรื่องของตัวเอง ก็บางทีอ่านหนังสือหลายเรื่องก็ยังไม่เจอเรื่องที่พี่อยากอ่านจริงๆ สักที เลยเขียนเองก็ได้ …

เรื่องที่เขียนตอนรอผล Ent’ ชื่อ ฯพณฯ แห่งกาลเวลา อยู่ที่นายอินทร์ ลงถนนนักเขียน สมัยนั้นยังไม่มีเด็กดี และเป็นบอร์ดแห่งแรกที่คนจะลงเรื่องได้ พี่ก็ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพราะพี่เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ พี่กลัวว่าถ้ารู้ว่าพี่เป็นผู้หญิงแล้วคนจะไม่อ่าน มันเป็นความคิดของเด็กๆ ก็แบบว่าเออถ้าฉันเป็นผู้หญิงฉันจะเขียนเรื่องรักหรือเปล่า เค้าจะคิดว่าฉันแปลกหรือเปล่า เรื่องที่พี่เขียนส่วนใหญ่เป็น Soft sci-fi คือพี่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาก แต่คือ Science-Fiction มันเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามบางอย่าง แล้วมันพยายามตามไปเรื่อยเพื่อจะตอบได้ไหม อย่างเช่น ถ้าคนเราไม่แก่ ไม่ตาย เพราะ Science-Fiction มันเขียนแล้วจะเห็นชัดกว่า

หลังจากหนังสือออก พี่ก็ค้นพบว่าพี่ไม่ใช่นักเขียนตลาด พี่ไม่ได้หวังเลยนะ อย่างตอนเด็กๆ พี่ไม่ได้หวังว่าพี่จะดัง พี่เขียนอย่างเดียว แล้วทีนี้เมื่อสิ่งที่เขียนไปถึงคนอ่านแล้วเนี่ย คนที่ชอบก็ชอบ คนที่ไม่อ่านก็ไม่อ่าน คือ คนอ่านก็จะมีอยู่กลุ่มหนึ่ง อะไรอย่างนี้แล้วพี่ก็จะแบบว่า มันก็มีบางช่วงเหมือนกัน รู้สึกว่าไม่ยักกะดังแบบว่าทะลุฟ้าเหมือนชาวบ้านเค้าเลย เศร้าจัง อะไรอย่างเนี้ย คือ มีหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ ค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาวนักเดินทางคนหนึ่ง (เรื่องที่ใช้บุรุษที่ 2 เขียน) สนุกๆเพราะว่ามันกัดทุกอย่างในวงการหนังสือ เค้าก็เล่าว่า มีนักเขียน 2 คน คนหนึ่งเป็นนักเขียนตลาด คนอ่านเยอะแยะ รวย อีกคนหนึ่งเป็นนักเขียนแนวความคิดซึ่งมีคนยกย่องเยอะ แต่ไม่รวย แล้วทั้งสองคนก็อิจฉากันเอง แล้ววันหนึ่งทั้งสองคนพยายามเขียนอีกแบบที่ไม่ใช่ตัวเอง แล้วนักอ่านก็แบบว่าอะไรของพวกแก อะไรอย่างนี้  เออ..

กิจกรรมพี่อยู่ชมรมวรรณศิลป์ก็จริงนะ แต่ส่วนใหญ่ไปยุ่งชมรมภาษาจีนมากกว่า รุ่นพี่มีจุฬาวิชาการ 2 ปี พี่ก็ทำ มีจัดค่างพวกเอกจีนไปกันเอง แล้วก็มีค่ายปี 1 พี่ควรไปขึ้นดอยซักหนหนึ่ง แต่เพื่อนพี่มันไม่ยอมไป บอกว่าไปกับแกแล้วเดียวแกตายอยู่บนดอยแล้วลากลงมาไม่ได้ (ฮา) ชมรมวรรณศิลป์ไม่ค่อยเข้า อย่างไงดี บางทีพี่ออกแนวหมาป่าโดดเดี่ยวหน่อยๆ เพราะไม่รู้จะคุยอะไรกับใครพี่คุยเรื่องหนังสือเยอะ แต่บางทีมันอ่านหนังสือไม่เหมือนกัน ไม่รู้จะคุยอะไร พี่อ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเยอะมาก ถ้าเขาอ่านเรื่องแบบว่า เรื่องสูงๆ พี่ก็จะรู้สึกว่า ฉันอ่านอะไรผิดหรือเปล่า แต่ตอนนี้คิดว่าอ่านอะไรก็เหมือนกันแล้ว

ตั้งแต่เข้ามหาลัยช่วงแรกๆเลย พี่รู้สึกว่าโตมาอีกขั้นหนึ่ง เหมือนกับว่าความคิดอยู่ๆ มันก็เปิดกว้างขึ้น เพราะเราเห็นคนมากขึ้น เห็นคนหลากหลายได้เรียนหลายๆอย่าง วิธีคิด วิธีค้น วิธีเข้าใจ วิธีเขียนหนังสือ วิธีคุยกับผู้ใหญ่ พี่ไม่ได้มองตัววิชาการแต่พี่มองว่ามันมีบางอย่างมากกว่าวิชาการที่พี่ได้ เดี๋ยวนี้เพื่อนๆก็ยังคบเป็นเพื่อนกันอยู่และมันก็เป็นเพื่อนที่ดี อย่างอาจารย์เค้าอาจรู้สึกว่าเค้าสอนพี่สำเร็จรึเปล่า ได้ยัดวิชาเข้าไปในกบาลของพี่แต่พี่นับถือเขานะ นับถือในความพยายามของเค้าคือพี่ respect มนุษย์ในฐานะ มนุษย์มากกว่าก็เหมือนพี่เป็นนักเขียน บางคนเค้าอาจจะไม่อ่านหนังสือพี่ แต่ถ้าพี่ดูเป็นคน OK ในสายตาเค้าพี่ก็ OK ได้บอกอะไรเค้าบ้าง แต่อยู่อักษรก็ดีนะ การที่อยู่อักษรมันไม่บังคับ มันไม่ต้องทำให้เรารู้สึกว่าจบออกมาชั้นต้องเป็นหมอ ถ้าชั้นไม่เป็นหมอจะต้องเกิดโลกโลกาวินาศ มันให้บรรยากาศแบบที่จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ในอนาคตเยอะดีเหมือนกัน”