สัญลักษณ์ประจำคณะ

พระสรัสวตี : เทวีอักษรศาสตร์

พระสรัสวตี

ในคัมภีร์ฤคเวท อันเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีข้อความหลายตอนกล่าวถึงเทวีสององค์ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมากคือ วาจฺ หรือ วาทฺ หรือ วาคฺเทวี กับ สรสฺวตีเทวี ซึ่งในสมัยต่อมาคือสมัยมหากาพย์และปุราณะได้กลายเป็นเทวีองค์เดียวกัน และมีตำแหน่งเป็น เทพเจ้าแห่งอักษรศาสตร์และวิชาดนตรี เป็นที่นับถือเคารพบูชาของชาวอินเดียตลอดมาจนทุกวันนี้

วาจ เป็นเทวีในแบบบุคลาธิษฐานคือเดิมเป็น “ เสียง” หรือ “ ถ้อยคำ” ตรงกับภาษากรีกว่า Vox และภาษาอังกฤษว่า Voice มีลักษณะเป็นธรรมชาติมีแต่ภาวะแต่ไม่มีรูปร่างเป็นตัวตน คัมภีร์พระเวทถือว่าเป็นพลังอำนาจทางธรรมชาติ อย่างหนึ่งที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่ง สามารถดลบันดาลให้เกิดความรู้ความฉลาดในหมู่มนุษย์ และเป็นราชินีแห่งทวยเทพผู้ทรงความฉลาดลึกล้ำเพราะเสียงหรือถ้อยคำนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งวิชาการทั้งปวง ซึ่งสมัยโบราณต้องท่องจำและถ่ายทอดสั่งสอนสืบกันมา และบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในคัมภีร์พระเวทนั้น ถือว่าเป็นยอดแห่งความรู้ทั้งมวล ซึ่งจะถ่ายทอดสืบกันมาได้ก็ด้วยการเปล่งเสียงให้ถูกต้องและมีจังหวะจะโคนที่ถูกต้อง โดยอาศัยการฝึกหัดอบรมกันมาอย่างเคร่งครัดเป็นรุ่นๆ สืบมาเป็นเวลาเกือบสี่พันปีแล้ว ฉะนั้น วาจ หรือ วาคเทวี จึงได้รับความนับถือยกย่องว่าเป็นแกนสำคัญอย่างหนึ่งในการธำรงไว้ซึ่งรากฐานแห่งอารยธรรมของอินเดียโบราณทั้งมวล

คัมภีร์ภาควตปุราณะ อ้างถึง วาจ ว่า “ เป็นผู้มีร่างกายบอบบางและเป็นธิดาผู้ทรงเสน่ห์ของพระพรหม” และมีเรื่องเล่า สืบไปว่า พระพรหมสร้างวาจขึ้นมาและเพราะเธอมีความงามพึงพิศหลายประการจึงให้ชื่อว่า “ ศตรูปา” (มีรูปร้อยแบบ)
และ พระพรหมมีความเสน่หาในตัวนาง พระพรหมจึงเอานางเป็นชายาสร้างกำเนิดเผ่าพันธ์มนุษย์สืบมา แต่คัมภีร์ปัทมปุราณะ มีข้อความต่างออกไปโดยกล่าวว่า วาจ เป็นลูกสาวของฤาษีกัศยป และเป็นมารดาของคนธรรพ์และนางอัปสรทั้งหลาย

ส่วนสรัสวตี เป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นจาก สรสฺ ( น้ำ ) + วตี ( เต็มไปด้วย ) หมายถึง “ เต็มไปด้วยน้ำ” คือแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ และเก่าแก่อันเป็นที่นับถืออย่างยอดยิ่งของคนอินเดียโบราณ เป็นแม่น้ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนพรหมาวรรต คืออาณาจักรรุ่นแรกๆของพวกอารยันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย แม่น้ำสรัสวตีเป็นแม่น้ำที่มีลักษณะเป็นแม่น้ำ หัวด้วนปลายด้วน กล่าวคือต้นน้ำอยู่ใต้ดินไหลไปบรรจบกับแม่น้ำคงคาและยมุนา ส่วนปลายน้ำหายลงไปในทะเลทรายธาระ ตรงที่เรียกว่า “ วินาศนะ” เพราะรังเกียจที่จะไหลต่อไปทางใต้อันเป็นที่อยู่ของพวกป่าเถื่อน แต่มหาภารตะกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ เกิดจากคำสาปของฤษีอุตัถยะ อย่างไรก็ดี มีร่องทรายเป็นแนวทางต่อไปทางตอนใต้ของแม่น้ำสินธุอันแสดงว่า แม่น้ำสรัสวตีเคยเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุ แต่ภายหลังสายน้ำเปลี่ยนทางเดินและตื้นเขินไปในที่สุด ถ้าเป็นไปตามหลักฐานนี้ แม่น้ำสรัสวตีโบราณก็คือสาขาหนึ่งของแม่น้ำสินธุทั้ง ๗ และมีชื่อเฉพาะว่า “ สรรสตุ” ( สรฺสฺตุ )

จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าต้นกำเนิดเดิมของ วาจ และ สรัสวตี ก็คือบุคลาธิษฐาน (personification) ของธรรมชาติคือ “ เสียง” กับ “ สายน้ำ” นั้นเอง ซึ่งสมมุติให้มีรูปร่างเป็นเทวีทั้งสององค์ และในที่สุดก็รวมเป็นองค์เดียวกัน ด้วยเหตุผลอันเหมาะสมอย่างยิ่ง กล่าวคือ เสียงหรือถ้อยคำของมนุษย์ ย่อมเกิดจากน้ำในร่างกาย เราจึงมีคำว่า “น้ำเสียง” แสดงว่า “ เสียง” กับ “ น้ำ” นั้นย่อมคู่กัน เมื่อมีน้ำ เสียงก็แจ่มใส เมื่อคอแห้งผาก เสียงก็แหบแห้ง หรือไม่มีเสียงในที่สุด ฉะนั้น วาจ หรือ วาคเทวี กับ สรัสวตี จึงผสมกลมกลืนเป็นเทวีองค์เดียวกันด้วยประการฉะนี้

สรัสวตีเทวี ปรากฏในรูปร่างหญิงงามผิวขาวผุดผ่อง บางทีเป็นรูป ๒ กร แต่ส่วนใหญ่มี ๔ กร พระหัตถ์ถือดอกไม้ ถือคัมภีร์ใบลาน ถือสร้อยไข่มุกชื่อศิวมาลา และถือกลองทมรุ หรือมิฉะนั้นก็ถือพิณ ถ้าเป็นรูปมี ๒ กรจะถือพิณอย่างเดียว ประทับบนพาหนะคือนกยูง แต่มีบางรูป มีพาหนะเป็นหงส์ ซึ่งเป็นพาหนะเเบบเดียวกับพาหนะของสวามีคือพระพรหม

โดยเหตุที่ สรัสวตี เป็นเทวีแห่งศิลปวิทยาการโดยเฉพาะวิชาการทางอักษรศาสตร์ จึงกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าเป็น เทวีอักษรศาสตร์ ในอินเดียถือกันว่าวันแรกของเดือนมาฆะ ( ราวเดือนกุมภาพันธ์ ) เป็นวันที่ระลึกถึงพระสรัสวตีเรียกว่า ศรีปัญจมีบูชา ในวันดังกล่าวผู้คนจะหยุดการขีดเขียนทั้งปวง และการให้สมุดหรือเครื่องเขียนแก่กัน ถือว่าเป็นการให้ของขวัญอันมีค่ายิ่ง คนที่บูชาสรัสวตีเทวีถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับพรให้เป็นนักอักษรศาสตร์ที่ฉลาดเฉลียว ปราดเปรื่อง สมตามบทสวดสำหรับวาคเทวีที่ว่า

“ ฉันโปรดใคร ฉันก็ทำให้ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นนักปราชญ์ แลกวีผู้ฉลาดหลักแหลม”

หมายเหตุ : ดูเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง วาจหรือสรัสวตี : เทวีอักษรศาสตร์ ในวรรณวิทยา รวมบทความทางวิชาการบางเรื่อง ของ รองศาสตราจารย์ ดร . ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในวาระการเกษียณอายุราชการ พ.ศ. ๒๕๓๔

ชงโค

IMG_1788

ต้นไม้ประจำคณะอักษรศาสตร์เป็นไม้ผลัดใบขนาดเล็ก ความสูงประมาณ ๕– ๑๐ เมตร มีถิ่นกำเนิด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าโปร่งผสมนิยมนำปลูกประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เพราะลำต้นมีลีลาที่งดงาม และดอกที่สวยงามคล้ายดอกกล้วยไม้ กลีบดอกสีชมพู ออกดอกหลังจากที่ใบใหม่ผลิแล้ว คือหลังเดือนเมษายน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจปลายทู่และเว้าลึกมองดูคล้ายใบแฝดติดกัน ผลัดใบในฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม แตกใบใหม่ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นชงโคเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วๆไป

ตราสัญลักษณ์หนึ่งร้อยปีอักษรศาสตร์

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2459 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการก่อตั้งให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย คณะอักษรศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นพร้อมๆ กับมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ เพื่อฉลองโอกาสสถาปนาครบรอบหนึ่งศตวรรษใน พ.ศ.2560 นี้ คณะอักษรศาสตร์จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาตราสัญลักษณ์หนึ่งร้อยปีอักษรศาสตร์ รศ.ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ได้มอบหมายให้คณะทำงานซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อ.ดังกมล ณ ป้อม-เพชร ผศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ และนายอรรถพล ปะมะโข ร่วมกันเสนอแนวคิดในการพัฒนาตราสัญลักษณ์ในโอกาสดังกล่าว โดยมีนายนักรบ มูลมานัส ศิษย์เก่าภาควิชาภาษาไทย เป็นผู้ออกแบบ

ที่มาของการพัฒนาตราสัญลักษณ์

ในการพัฒนาตราสัญลักษณ์ อ.ดร.เอกก์ ภัทรธนกุล ผู้อำนวย-การศูนย์บริหารและสื่อสารแบรนด์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรเพื่อช่วยค้นหาลักษณะสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนของความเป็นอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559 โดยคณะได้เชิญตัวแทนจากคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันมาร่วมเสวนาระดมความคิด ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร ผลจากการเสวนาพบว่าลักษณะสำคัญ 5 ลักษณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นพ้องว่าสอดคล้องกับความเป็นอักษรศาสตร์คือ (1) การมีฉันทะ มีความชอบในสิ่งที่เรียน เป็นการเรียนเพราะใจรัก (passion) (2) การมีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคนอื่น (creativity) (3) การมีวิสัยทัศน์ เป็นคนที่มีโลกทัศน์กว้างไกล มองสิ่งต่างๆ แตกต่างจากคนอื่น (vision) (4) ความช่ำชองเชี่ยวชาญ ใส่ใจและมีการอุทิศตนในการทำงานสูง เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ เป็นผู้ที่รู้ลึกในศาสตร์เฉพาะทาง (expertise) และ (5) การก้าวข้ามพรมแดน เป็นคนที่มีมุมมองแตกต่างและมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดอย่างอิสระ มองกว้างและเชื่อมโยงสาขาวิชาตนเองกับสาขาวิชาอื่นๆ หรือปรับใช้ทักษะของตนกับสาขาวิชาอื่นๆ ได้ (beyond boundaries)

คณะทำงานจึงเห็นพ้องว่ารูปที่ตรงกับลักษณะทั้งห้าและสื่อให้เห็นถึงความเป็นอักษรศาสตร์ได้นั้นคือ รูปหางนกยูง ดวงตาใจกลางของขนนกยูงหรือ “แวว” นั้นแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ แสดงให้เห็นถึงนัยของการมองซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการเรียนอักษรศาสตร์ เป็นการปลูกฝังให้นิสิตมีมุมมองที่แตก-ต่างและมีวิจารณญาณ ส่วนสีสันที่เหลือบลายแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การเหลื่อมซ้อนกันของขนนกยูงอย่างเป็นระบบระเบียบแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น ปลายขนซึ่งออกแบบให้แหลมนั้นเพื่อให้ขนนกยูงมีลักษณะคล้ายเปลวไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอุทิศตนและจิตใจที่มุ่งมั่นในการทำงานและการก้าวไปข้างหน้า ส่วนความโปร่งเบาแต่มีความหนักแน่นของขนนกยูงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และอิสรภาพในการคิดต่างอย่างสร้างสรรค์

ความหมายของตราสัญลักษณ์

การเลือกตราสัญลักษณ์เป็นหางนกยูงยังเป็นการสื่อถึงนกยูงซึ่งเป็นพาหนะของพระสุรัสวดี ชายาแห่งพระพรหม เทวีแห่งอักษรศาสตร์ ในตำนานเทพปกรณัมฮินดู พระสุรัสวดีนอกจากจะเป็นเทพแห่งการดนตรี การวาดเขียน และการเขียนหนังสือแล้ว ยังถือเป็นเทวีแห่งปัญญาความรู้ เป็นเทวีแห่งการศึกษา วิจัย การสร้างสรรค์ และศิลปะโดยรวม เป็นผู้ให้กำเนิดอักษรเทวนาครีและบทสวดมนต์บทแรกของจักรวาล พระสุรัสวดีจึงมีความเกี่ยวข้องกับสาขาอักษรศาสตร์โดยตรงและใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของคณะอักษรศาสตร์ในต่างกรรมต่างวาระ

ในแง่ความเป็นสากลของตราสัญลักษณ์นั้น นกยูงยังเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ความเป็นนิรันดร์ และความงาม ในคริสต์ศาสนา นกยูงเป็นตัวแทนของความเป็นอมตะ สำหรับชาวมุสลิม นกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาล และหางนกยูงที่แพนออกเป็นสัญลักษณ์แห่งจักรวาลที่สมบูรณ์ ในตำนานของลัทธิซูฟี พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างพระจิตในรูปของนกยูง อาจกล่าวได้ว่าหางนกยูงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่เชื่อมโยงความงามกับปัญญา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางสุนทรียะกับการสร้างสรรค์ทางปัญญาอย่างลึกซึ้ง

การออกแบบหางนกยูงนั้น ใช้สีสำคัญสองสีด้วยกัน ส่วนกรอบนอกและใจกลางใช้สีเทาซึ่งถือเป็นสีประจำคณะอักษรศาสตร์ สีเทาที่เลือกใช้เป็นสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสีขาวกับสีดำ นอกจากจะเป็นสีของศิลาจารึกหลักที่ 1 แล้ว ยังสื่อนัยของการไม่ตัดสินทุกอย่างเป็นขาวกับดำ หากพินิจให้เห็นถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างที่เป็นจริง ส่วนสีชมพูนั้นเป็นสีประจำวันอังคาร วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย

ใจกลางของหางนกยูงหรือแววหางนกยูงนั้น ทำให้เป็นรูปใบของต้นชงโค ต้นไม้ประจำคณะอักษรศาสตร์ ใบชงโคเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคณะและใช้เป็นแบบของตุ้งติ้งสำหรับนิสิตหญิง

ขั้นตอนการพัฒนา

นอกจากการเสวนาระดมสมองเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของความเป็นอักษรศาสตร์ คณะทำงานและผู้ออกแบบได้ประชุมกันหลายครั้งเพื่อพัฒนาตราสัญลักษณ์ ในระยะแรกของการพัฒนา คณะทำงานได้ทดลองเลือกรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการใช้รูปเทวาลัย พญานาค นกยูง ฯลฯ แต่พบว่ามีความซับซ้อนในลวดลายมากจนเกินไป ในขั้นตอนนี้ คณะทำงานได้เสนอตราสัญลักษณ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันในการประชุมกรรมการหลายคณะด้วยกัน อาทิ คณะกรรมการบริหารคณะอักษรศาสตร์ คณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ และในการประชุมประจำปีของคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ เพื่อรับความเห็นเพิ่มเติมและนำมาพัฒนาจนได้ตราสัญลักษณ์ตามที่ปรากฏ คณะทำงานขอขอบพระคุณคณะกรรมการทุกคณะที่ได้ไปขอความเห็นมา ณ ที่นี้

ทั้งนี้ คณะอักษรศาสตร์ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์หนึ่งร้อยปีอักษรศาสตร์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีสามลักษณะด้วยกันคือ แบบตั้ง แบบเอียง และแบบนอน เพื่อให้อาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเลือกนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสม

ในลำดับต่อไป คณะอักษรศาสตร์จะพัฒนาให้ตราสัญลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะ อาทิ เว็บไซต์และวิดีทัศน์แนะนำคณะ อีกทั้งจะจัดทำเป็นรูปพื้นหลังเพื่อที่คณาจารย์และนิสิตจะนำไปใช้ในการเสนอผลงานต่างๆ นอกจากนั้น ยังได้ใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวในการออกแบบสินค้าที่ระลึกเพื่อสร้างสำนึกองค์กรในโอกาสครบรอบหนึ่งศตวรรษ