Closely Watched Trains : ‘วีรบุรุษ’ ที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง

เพื่อเป็นเกียรติแก่ ยิชี เม็นเซ็ล (Jiří Menzel) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเช็กผู้มีผลงานอันเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทยจัดงาน A Tribute to Jiří Menzel เพื่อรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่าของเขาผ่านการฉายภาพยนตร์ Closely Watched Trains (1966) และปิดท้ายด้วยการเสวนาโดยอาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์

Closely Watched Trains (1966) ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อปี ค.ศ. 1968  ภาพยนตร์ชีวิตซึ่งดัดแปลงจากงานวรรณกรรมในชื่อเดียวกันของ Bohumil Hrabal บอกเล่าเรื่องราวของชาวชนบทในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของเด็กหนุ่มชาวเช็กคนหนึ่ง

Miloš – พนักงานรถไฟฝึกหัดธรรมดาสามัญ แต่สำหรับเมืองเล็ก ๆ ที่เขาอาศัยอยู่ เครื่องแบบของเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ และเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ครอบครัว

ในสังคมที่การแสวงหาความสุขส่วนตัวในแต่ละวันเป็นเรื่องธรรมชาติ (โดยเฉพาะผ่านการมีสัมพันธ์ทางเพศ)  Miloš กลับพบปัญหาน่าหนักใจกับชีวิตรักของเขา  เขาเป็นชายที่ไม่สามารถพิสูจน์ ‘ความเป็นชาย’ ของตนต่อแฟนสาวได้ 

แม้โครงเรื่องอาจไม่ได้มีจุดหักมุมมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแสดงที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง การสอดแทรกอารมณ์ขันแบบฉบับชาวเช็ก ร่วมกับเนื้อหาและนัยยะที่ร่วมสมัย ส่งผลให้ผลงานชิ้นนี้มีเสน่ห์และชวนให้ผู้ชมฉุกคิดในหลากหลายประเด็น

ในยุคสงครามซึ่งพรุ่งนี้อาจไม่มีวันมาถึง ตัวละครในเรื่องเพียงอยากมีความสุขกับปัจจุบัน  แต่ถึงจะไม่ต้องการร่วมรบในสงครามและต่อสู้เพื่อชาติ ท้ายที่สุดแล้วสงครามก็ใกล้ตัวและมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้  ในบทสรุป Miloš กลับกลายเป็นวีรบุรุษที่แสดงให้เห็นความพยายามในการต่อกรกับระบบที่กดขี่ และทิ้งเรื่องราวของเขาไว้ให้คนรุ่นหลังได้นึกถึง

ปัญหาชีวิตและความเรียบเรื่อยของเรื่อง สร้างตัวละครของ Miloš ในแบบที่ต่างจากซูเปอร์ฮีโรหรือวีรบุรุษที่เห็นได้โดยทั่วไป  เขาสู้เพื่อความสุขส่วนตัว เขาไม่สนใจสงคราม และพอใจกับการสังเกตเรื่องของคนรอบตัวเพื่อเป็นการฆ่าเวลารอรถไฟ  แต่ท้ายที่สุด เขากลับกลายเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนเล็ก ๆ ของความพยายามเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้เขาจะเพิกเฉยต่อมันในช่วงแรกก็ตาม

ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงด้วยคำถามปลายเปิด : สิ่งใดคือความเป็นวีรบุรุษ  ผลลัพธ์แบบใดจึงจะถูกมองว่าควรค่าแก่ความพยายาม

ในช่วงเสวนาหลังภาพยนตร์ฉายจบ นำโดยอาจารย์​และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ผู้ร่วมงานจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย และสาธารณชนที่เข้าร่วม ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาคือ หากประชาชนตัวเล็ก ๆ ลุกขึ้นต่อกรกับระบบที่กดขี่ พวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้หรือไม่

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งได้เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะชาวเช็กว่า ความสวยงามและสมบูรณ์ของสังคมเช็กในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นผลจากการไม่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การกระทำเช่นนั้นกลับทิ้งคำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจของพวกเขา  หากในตอนนั้นพวกเขาลงมือต่อสู้เพื่อตนเองหรือเพื่อสังคมของพวกเขา

ผลลัพธ์จะออกมาแตกต่างจากปัจจุบันหรือไม่ ความสมบูรณ์ที่เห็นอยู่จะมีได้มากกว่านี้ไหม

หรือจุดมุ่งหมายของการต่อสู้อาจไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแพ้หรือชนะ แต่เป็นความภาคภูมิใจที่ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาได้ลงมือทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่า  หรือวีรบุรุษอาจไม่ใช่คนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ แต่คือคนทั่วไปที่ ‘พยายาม’ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

พริม ตันติลีปิกร
11/11/2563
ภาพจาก: https://www.britannica.com/topic/Closely-Watched-Trains-film-by-Menzel

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะอักษรศาสตร์ขอขอบพระคุณคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ (อ.บ. 47) ที่มอบเงินจากการจำหน่ายหนังสือ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์