สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงเกร็ดโขน ตอน ความโศกาของนางมณโฑ (Melancholy of Mandodari) ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์

วันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๘ เวลา ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงเกร็ดโขน ตอน ความโศกาของนางมณโฑ (Melancholy of Mandodari) ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ ชั้น ๖ อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ และหน่วยงานเครือข่าย ได้ร่วมดำเนินโครงการศิลปะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๐ พรรษา: การพัฒนาองค์ความรู้จากศิลปะการแสดงเกร็ดโขนและเกร็ดดนตรีหมอลำเพื่อการบำบัด ผ่านการแสดงร่วมสมัย ซึ่งเป็นการต่อยอดการดำเนินโครงการเผยแพร่องค์ความรู้เกร็ดโขนผ่านงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และหน่วยงานเครือข่าย มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ โดยมีท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เป็นที่ปรึกษาและภัณฑารักษ์ และ นายจิตติ ชมพี เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ

ขอขอบคุณภาพจากศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณบดีคณะอักษรศาสตร์พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล วางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เนื่องในวันอานันทมหิดล

คณะอักษรศาสตร์และศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทย วันที่ 18 มิถุนายน 2568