ขอเชิญฟังเสวนาในโครงการอักษรศาสตร์สู่สังคมเรื่อง “เมโสอเมริกา: ความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ สีสัน และมุมมองเพศสภาพ”

กลุ่มภารกิจงานวิจัยและพัฒนางานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญฟังเสวนาในโครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม

เรื่อง “เมโสอเมริกา: ความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ สีสัน และมุมมองเพศสภาพ”

นำเสวนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสุรี ลือสกุล

สาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

————————————————————————–

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16.00-17.30 น. ณ ศูนย์มนุษยศาสตร์ดิจิทัล อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ ในรูปแบบ On site และ Live ทางเฟซบุ๊กคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนฟรีด้วยการสแกน QR code หรือ

https://forms.gle/sg5uCZba6EtjKbWy8

———————————————————————–

“เมโสอเมริกา: ความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ สีสัน และมุมมองเพศสภาพ” เป็นการนำเสนอผลงานของนิสิตเอกภาษาสเปน ชั้นปีที่ 4 จากรายวิชา “การศึกษาอิสระ” ซึ่งมีรศ.ดร.ภาสุรี ลือสกุล และอ.ดร.อันเดร์ซง โลปิส ดา ซิววา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เนื้อหาครอบคลุมการสำรวจ “เมโสอเมริกา” หรือพื้นที่ตั้งแต่ประเทศเม็กซิโกไปจนถึงตอนบนของอเมริกากลาง อันเป็นอาณาบริเวณของกลุ่มอารยธรรมโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอซเท็กและมายา ผ่านมุมมองบูรณาการ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ คติชน และเพศสภาพ สะท้อนวิวัฒนาการผูกพันเชื่อมโยงทางความคิดความเชื่อของผู้คนตั้งแต่ยุคอารยธรรมโบราณ สู่ยุคอาณานิคมของจักรวรรดิสเปน สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

วิทยากร คุณศิรดา เรืองทรัพย์เอนก

เสวนาเรื่อง “ชาวมายากับความงามบนเรือนกาย: ภาพสะท้อนความเชื่อทางศาสนาและโครงสร้างทางสังคม”

เป็นการศึกษาแนวคิดเรื่องความงามของชาวมายาในบริเวณประเทศเม็กซิโกและกัวเตมาลาในปัจจุบัน ที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อทางศาสนา โครงสร้างทางสังคม และบทบาทของเพศหญิงและชาย การสร้างความงามบนเรือนกาย เช่น การปรับเปลี่ยนรูปทรงกะโหลก การปรับแต่งฟัน การเจาะตามร่างกาย และการสัก สะท้อนถึงความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ของอำนาจ และความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในจักรวาล

วิทยากร คุณอัจจิมา เอสทานา

เสวนาเรื่อง “สุขอนามัยของชาวแอซเท็ก: ความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ และสมุนไพร”

มุ่งเน้นความสำคัญของการรักษาสุขอนามัยในอารยธรรมแอซเท็กผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและ “สปา” ดั้งเดิมของชาวแอซเท็กที่เรียกว่า “temazcal” ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อทางศาสนาและการรักษาสุขอนามัยซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตและมุมมองทางโลกทัศน์ของชาวแอซเท็ก โดยความสะอาดในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงการดูแลร่างกายเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าอีกด้วย

วิทยากร คุณสริตา ชอบสอาด

เสวนาเรื่อง “ตามรอย “สีชมพูแบบเม็กซิกัน”: อัตลักษณ์และมรดกสถาปัตยกรรมในกรุงเม็กซิโกซิตี้”

มุ่งวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของสี “Rosa Mexicano” หรือสีชมพูแบบเม็กซิกันในฐานะองค์ประกอบสำคัญในสถาปัตยกรรมของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ตั้งแต่ต้นกำเนิดในยุคอารยธรรมชนพื้นเมือง ยุคอาณานิคมสเปน ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ในศิลปะสมัยใหม่สะท้อนความผสมผสานของขนบดั้งเดิมและความร่วมสมัยของสังคมเม็กซิกัน โดยเฉพาะในงานของสถาปนิกชื่อดังอย่าง ลุยส์ บาร์รากัน

วิทยากร คุณศาตนันท์ นิลดำ

เสวนาเรื่อง ““เสียง” ผีผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตยเม็กซิโกและไทย: La Llorona และแม่นาก”

ศึกษาเปรียบเทียบผีผู้หญิง 2 ตำนาน ได้แก่ La Llorona จากเม็กซิโก และแม่นาก ของไทย แม้ทั้ง 2 ประเทศจะ “ห่างไกลกัน” ทั้งเชิงภูมิศาสตร์และบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่กลับมีความ “ใกล้ชิด” ในเชิงโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย ตำนานทั้ง 2 เรื่องจึงสะท้อนกรอบของบรรทัดฐานที่กำหนดพฤติกรรมและชะตากรรมของสตรีในสังคม แม้ในยามที่พวกเธอสิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม

[post-views]