“สถิติกับการปกปิดความจริง #savetruth“
เพราะไม่มีใครเข้าถึงข้อมูลหรือคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องทุกคน แล้วนำมาปะติดปะต่อเป็นภาพที่ครบถ้วนด้วยตัวเองได้ เราจึงต้องอาศัยสถิติให้ภาพแทนสถานการณ์หรือปัญหา
ภาพแทนข้อมูลของคนนับพันนับหมื่นที่ไร้ใบหน้า ไร้สายตาหรือน้ำเสียงที่บางทีอบอุ่น บางทีร้อนรน ยังบอกความจริงบางเรื่องได้ดีกว่าด้วย เมื่อเทียบกับโฆษณาแฝงในรูปคำบอกเล่าของอินฟลูฯ จำนวนหลักสิบหลักร้อย คุณต้องเหนื่อยหรือจ่ายแพงมากกว่าเพื่อให้คนเป็นพันเป็นหมื่นพูดในสิ่งที่คุณต้องการให้คนอื่นได้ยิน – นักการตลาดเข้าใจเรื่องนี้ดี
.
สถิติที่จัดเก็บและนำเสนออย่างถูกต้อง ใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดีกว่าตัวอย่างใกล้ตัวไม่กี่ตัวอย่างหรือจากเรื่องเล่าที่คุ้นชิน – นักลงทุนเข้าใจเรื่องนี้ดี
.
แต่สถิติบางครั้งไม่ตรงไปตรงมา ไม่นับสถิติปลอมที่ถูกปั้นแต่ง สถิติอาจจัดเก็บอย่างไม่ครอบคลุม ใช้กลุ่มตัวอย่างน้อยหรือไม่เป็นตัวแทน สถิติที่จัดเก็บอย่างดีก็อาจนำเสนออย่างบกพร่อง พูดเฉพาะบางแง่และปิดบังแง่มุมอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อสร้างข้อสรุปให้ดูงดงามหรืออัปลักษณ์เกินจริง สถิติชนิดนี้พาเราออกห่างจากความเชื่อที่เที่ยงตรง และการตัดสินใจที่มีเหตุผลซึ่งน่าจะให้ผลลัพธ์เป็นประโยชน์สำหรับตัวเราและคนอื่น
.
อุบัติเหตุ 25% เกิดใกล้บ้าน = ขับรถไกลบ้านอันตรายกว่า?
โฆษณาบน Google คลิกมากกว่า 4 เท่า = มองเห็นมากกว่า?
การลวนลามบนเรือมีอัตราที่ต่ำกว่าที่เกิดบนบก = เที่ยวเรือปลอดภัยกว่า?
.
ถ้าคุณอยากมีความเชื่อที่เที่ยงตรงและตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลซึ่งสถิติที่ดีช่วยได้ คุณก็เหมือนคนที่ทำของรักหล่นหายกลางที่มืด ที่ย่อมปรารถนาแสงไฟที่ช่วยส่องให้ที่มืดสว่างขึ้นเพื่อเห็นสิ่งที่ตามหา ไม่ใช่แสงไฟที่ส่องเฉพาะจุดที่ผู้ส่องไฟต้องการให้คุณมอง โดยไม่สนใจว่าคุณจะได้ของรักคืนหรือไม่
.
คอร์ส “WisArts: สถิติกับการปกปิดความจริง” ชวนคุณมาร่วมอ่านสถิติ เพื่อแยกแยะสถิติที่เหมือนเพื่อนช่วยส่องไฟ ออกจากสถิติที่เหมือนคนไม่คุ้นหน้าแต่พยายามชี้นำ ด้วยการตั้งคำถามกลับอย่างวิพากษ์และสร้างสรรค์
.
อาจไม่ใช่เราทุกคนที่เก็บสถิติขนาดใหญ่ได้ด้วยตัวเอง แต่เราทุกคนเป็นผู้ใช้สถิติอย่างรับผิดชอบได้ ด้วยการมีบทสนทนาเกี่ยวกับสถิติ และใช้สถิติที่จัดเก็บและนำเสนออย่างถูกต้องสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์และประเด็นทางสังคม เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของสังคมที่มีคุณภาพ
.
มาร่วม “อ่านสถิติแบบปรัชญา” เพื่อคิดอย่างเฉียบคม ถามอย่างสร้างสรรค์ และใช้สถิติเพื่อสังคมที่ดีขึ้นกันนะคะ
.
วิทยากร:
ผศ.ดร.ปิยฤดี ไชยพร
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
8 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 – 12.00 น.
.
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ค่าธรรมเนียม 500 บาท (ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและสามารถนำไปเทียบโอนเป็นรายวิชา 2200309
ทักษะมนุษยศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ได้ (เมื่อเรียนครบตามเงื่อนไขของรายวิชา)
ดูรายละเอียดและสมัครเรียนได้ที่ https://cascachula.com/detail_courses/260
————
* WisArts: Soft Skills Series คือชุดคอร์สการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริม soft skills อันเป็นหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบัน
#WisArts#SoftSkillsSeries#criticalthinking
