คอลเลคชั่นเอกสารโบราณในสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย นอกจากเป็นแหล่งบันทึกความรู้ภูมิปัญญาแล้ว เอกสารโบราณยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศในอดีตอีกด้วย

บทความเรื่อง Traditional Manuscript Archives at the National Library of Thailand: Background, Metadata and Access Outlook (2021) โดย อาจารย์ ดร. นยา สุจฉายา ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ Globalisation of Cultural Heritage Issues, Impacts and Challenges โดย Universiti Teknologi MARA (UiTM) ประเทศมาเลเซีย ได้สำรวจคอลเลคชั่นเอกสารโบราณในหมวดจดหมายเหตุที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ โดยคัดเลือกเอกสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของไทยและมาเลเซียในช่วงสมัยอยุธยาและธนบุรีมาศึกษา การศึกษาครอบคลุมรูปแบบเอกสาร ลักษณะเนื้อหา และวิธีการจัดการทั้งการให้เมทาดาทา และการให้บริการที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ผลการศึกษาตัวอย่างเอกสารพบว่า การจัดการเอกสารโบราณในหมวดจดหมายเหตุใช้เมทาดาทาร่วมกับเอกสารโบราณในหมวดหมู่อื่น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปโดดเด่นในการบันทึกความรู้ ภูมิปัญญา บอกเล่าเรื่องราว ฯลฯ แต่ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเอกสารโบราณในกลุ่มจดหมายเหตุบางส่วนก็มีลักษณะเป็นเอกสารที่มีคุณค่าความเป็นหลักฐานอย่างเอกสารจดหมายเหตุ (Archival materials) อยู่มากเช่นกัน ดังที่หลายประเทศจัดเอกสารโบราณหมวดหมู่จดหมายเหตุให้เป็นคอลเลคชั่นจดหมายเหตุ เช่น ประเทศมาเลเซีย แต่ในหลายประเทศก็จัดให้เอกสารโบราณประเภทจดหมายเหตุอยู่กับหอสมุดแห่งชาติ เช่น ประเทศไทย ผู้วิจัยจึงทดลองเปรียบเทียบมาตรฐานการลงรายการทางจดหมายเหตุ คือ ISAD(G) ซึ่งมีเขตข้อมูลที่ระบุข้อมูลเชิงประวัติที่บ่งบอกแหล่งที่มา (Provenance) เช่น ผู้ผลิตเอกสาร (Creator) ความเป็นมาของเอกสาร (Archival history) โดยละเอียดกับเอกสารในกลุ่มตัวอย่าง พบว่าการเพิ่มบางเขตข้อมูลจะช่วยในการตรวจสอบคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และความน่าเชื่อถือของหลักฐานให้หนักแน่นยิ่งขึ้น

ในยุคแห่งการเปลี่ยนไปสู่โลกดิจิทัล ผู้วิจัยพบโอกาสที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยง (Interoperability) ของคอลเลคชั่นที่อาจก้าวข้ามรูปแบบทางกายภาพของสารสนเทศ (เอกสารโบราณ จดหมายเหตุ ฯลฯ) หรือข้ามขอบเขตของประเทศ ดังเช่นในการศึกษานี้ คือ เชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ในขณะที่หอสมุดแห่งชาติกำลังพัฒนาการให้บริการคอลเลคชั่นดิจิทัลเอกสารโบราณอยู่ในยุคดิจิทัลนี้ บทความจึงเสนอมุมมองความเป็นไปได้ในการพัฒนาการจัดการเอกสารโบราณของไทยต่อไปในอนาคต

แนะนำบทความ Traditional Manuscript Archives at the National Library of Thailand