สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงชนะใจชาวจุฬาฯ ทุกคนนับตั้งแต่พระอาจารย์และพระสหายตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรร่วมชั้นด้วยพระจริยาวัตรอันงดงาม และทรงเข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มพระราชหฤทัยไม่ว่าจะเป็นการทรงดนตรี หรือการทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬา ส่วนทางด้านการเรียนนั้น ทรงมีผลการเรียนดีเด่นจนทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในปี  ๒๕๒๐ แล้ว ได้ทรงศึกษาต่อ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาภาษาตะวันออก (ภาษาบาลีและสันสกฤต) จนจบหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต

เมื่อพระองค์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี ๒๕๒๐ นั้น สภามหาวิทยาลัยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งกองทุนเพื่อเฉลิมฉลองศุภวาระนี้ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าบัณฑิตพระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงสำเร็จการศึกษาในประเทศไทย กองทุนนี้มีเงินทุนประเดิมจำนวน ๑ ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและสนับสนุนทางด้านอารยธรรมไทย

นับถึงวันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือนถิ่นศึกษาดั้งเดิมอยู่เป็นประจำในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และทุกครั้งจะทรงได้รับการยกย่องเทอดทูนจากดวงใจของชาวจุฬาฯ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย

บทพระราชนิพนธ์ "สายธารแห่งสำนึก"

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในราว พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕ ฉันได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในการเสด็จประพาสจังหวัดต่าง ๆ แต่ก่อนนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยไปไหน ก็ไปเหมือนกันแต่ไม่ได้มีหน้าที่พิเศษ เพียงแต่ถ้าไปที่ไหนนาน ๆ นอกกรุงเทพฯ เช่น ไปเชียงใหม่หรือหัวหิน จะมีครูมาสอนหนังสือ ถ้าไม่มีครู ก็มีการบ้านที่ครูให้ไว้ทำวันต่อวัน และก็มีหน้าที่รับผิดชอบให้การบ้านเหล่านี้เสร็จเรียบร้อย แต่เมื่อถึงช่วงปีที่กล่าวถึงข้างต้นได้ไปหลายจังหวัดในทุกภาคมีหน้าที่คอยซักถามเรื่องราวจากผู้ที่มารับเสด็จ เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนด้วยกรณีต่าง ๆ เช่น เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องการเล่าเรียนของเด็ก ๆ เรื่องปัญหาการทำมาหากินฝืดเคือง เพราะเพาะปลูกก็ขาดน้ำหรือน้ำท่วม แม้แต่เรื่องคดีความหรือความทุกข์ของผู้รู้น้อยที่ถูกผู้รู้มากกว่าหลอกลวง หรือถูกบีบบังคับโดยไม่มีทางเลือก จะต้องช่วยหอบของพระราชทานฝึกหัดกระทั่งเป็นผู้ช่วยหมอ การได้ย่ำไปในพื้นที่ต่าง ๆ เห็นภูมิประเทศแปลก ๆ ได้ฟังเรื่องราวชีวิตหลายรูปแบบจากคนเป็นพันเป็นหมื่นเป็นบทเรียนที่มีคุณค่ายิ่งกว่าตำราเรียนเล่มใดจะพึงบันทึกไว้ได้ ขณะเดียวกันก็วางแนวดำเนินชีวิตให้ฉันด้วย

นอกจากการเรียนหนังสือ หน้าที่ตามเสด็จ และทำงานแล้วแต่จะทรงใช้สอยแล้ว สิ่งที่ฉันชอบอย่างเอาเป็นเอาตายคือเรื่องการกีฬา เมื่อมีเวลาเช่นเปิดเทอม ก็จะวิ่งเช้าบ่าย เล่นเกมส์กีฬาเกือบทุกประเภท เช่น วอลเล่ย์บอล แบดมินตัน บาสเกตบอล ไปจนถึงฟุตบอล ฉันจะศึกษากติกา ติดตามข่าวนักฟุตบอลทุกสโมสร จะรู้จักหมด

ปีการศึกษา ๒๕๑๕ ฉันจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ อันเป็นชั้นสูงสุดในโรงเรียน ยอดปรารถนาของนักเรียนมัธยม คือการเข้ามหาวิทยาลัย และมักจะต้องเลือกคณะที่เหมาะสมกับคะแนนของตน สำหรับคนที่ได้คะแนนสูง ๆ ในแผนกศิลปะสมัยนั้นส่วนใหญ่จะต้องเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะว่าคะแนนสูง สำหรับฉันมีปัญหาที่ต้องขบคิดหลายแง่มุมด้วยกัน เป็นต้นว่า ฉันควรจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยเมืองไทยหรือไปต่างประเทศ หรือควรจะเริ่มต้น “ทำมาหากิน” สนองพระเดชพระคุณในราชการ การเรียนมหาวิทยาลัยจะเป็นประโยชน์สำหรับฉันเพียงไร

ในเมื่อต้องเดินทางไปเรียนไปฟังคำบรรยาย ไปทำกิจกรรมนานาประเภท ซึ่งล้วนแต่ต้องการเวลามาก ถ้าเชิญอาจารย์มาสอนพิเศษ จะทำให้ได้ความรู้เนื้อหาวิชาการดีกว่าไปเรียนเป็นหมู่หรือไม่ หรือถ้าคนที่มีความสามารถจริงแล้ว จะค้นคว้าด้วยตัวเองได้ดีเท่า ๆ กับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยหรือไม่

ในเวลานั้น ฉันรู้สึกไม่สบายใจนัก เป็นธรรมดาของเด็กวัยรุ่นที่ชอบทำตามเพื่อน (เป็นข้อหนึ่งที่ถูกโจมตีมาตลอด) เพื่อน ๆ ล้วนแต่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฉันก็มีผลการเรียนดีเด่นเสมอมา จะไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัยก็รู้สึกน้อยหน้าผู้อื่นโดยคิดว่าไม่ยุติธรรม จึงตัดสินใจซื้อใบสมัครมากรอกจนครบทุกอันดับ แต่เลือกคณะที่ต้องสอบน้อยที่สุด แล้วนึกในใจ เสี่ยงดวงดู เหมือนโยนหัวโยนก้อยว่า ถ้าสอบติดก็จะเรียน ฉันไม่ท่องหนังสือเลย แถมใช้เวลาว่างไปเล่นดนตรีไทยกับเพื่อนรุ่นน้องนักเรียนชั้นประถม ในระหว่างที่เพื่อนคนอื่นเขาไปเรียนพิเศษกัน

เมื่อประกาศผลสอบ ฉันสอบติดคณะอักษรศาสตร์ตามที่เลือกไว้เป็นอันดับแรก แม้จะไม่ได้ที่ ๑ จนหนังสือพิมพ์เอาไปลงว่า “ที่หนึ่งตกอันดับ” เรื่องนั้นไม่สำคัญอะไร ที่สำคัญก็คือจะต้องคำนึงว่าจะเรียนไปได้อย่างไร ที่ตกลงไว้คือ ถ้ามีงานอะไรก็ต้องทำต้องไป การเรียนเป็นงานนอกเวลา แทนการไปเที่ยวดูหนังดูละคร เวลาจริง ๆ ก็ไม่ได้เคร่งครัดเท่าที่กำหนดไว้ แต่ฉันมีข้อตกลงกับทางมหาวิทยาลัยว่าจะไม่นับเวลาเรียน ถ้าลาโดยมีเหตุผล มีใบลาระบุวันเวลาที่จะลา ผู้บริหารของจุฬาฯ ก็ยอมโอนอ่อนให้ นิสิตอื่น ๆ ก็ไม่มีใครข้องใจในเรื่องนี้ ทุก ๆ คนมีส่วนช่วยเหลือให้ฉันได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมที่จะมีส่วนร่วมทำประโยชน์แก่สังคมสืบไป ความลำบากเช่นนี้เป็นเหตุผลที่ฉันบ้าเรียนมาก ถึงเวลาที่ได้เรียนก็ต้องเอาเต็มที่ ตอนแรก ๆ กิจกรรมต่าง ๆ แม้แต่กีฬาซึ่งเป็นของชอบมากก็ยังต้องตัดใจเลิกและทำตนเป็นคนไม่แข็งแรงวิ่งไม่ไหว เพื่อให้มีเวลาเรียนมาก

บรรยากาศมหาวิทยาลัยขณะนั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง (พูดขึ้นอย่างนี้มีคนขัดคอ…ใคร ๆ ก็ว่าเวลาที่ตนอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดทั้งนั้นแหละ) ไม่อยากจะวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองหรือสังคมที่ส่งผลต่อ ๆ กัน เหตุการณ์ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ นั้นเป็นอย่างไร เข้าใจว่า เพื่อน ๆ หลายคนคงจะเขียนบรรยายไว้ในหนังสือเล่มนี้บ้างแล้ว

ช่วงนั้นนิสิตนักศึกษาสนใจความเป็นไปของชีวิตชาติบ้านเมือง ค่านิยมของกลุ่มในเวลานั้นไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยหรูหราหรือใครมีวัตถุมาก ๆ เป็นที่นับหน้าถือตาเหนือผู้อื่น แต่กลับถือว่าคนเก่งคนดีนั้น คือ ผู้ที่เสียสละ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์สมัยนั้นเริ่มต้นมุ่งพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยจะอบรมนิสิต รุ่นพี่ก็จะอบรมรุ่นน้องมีการเขียนหนังสือคำขวัญเผยแพร่อุดมการณ์แนวคิด บางทีก็มีการยกตัวเลขกล่าวว่า ประชาชนในประเทศมีเท่าไร ได้รับการศึกษาจบภาคบังคับเท่าไร ชั้นมัธยมเท่าไร จนถึงผู้ที่มีโอกาสศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเปรียบเทียบกับจำนวนประชาชนไทยนั้นเป็นส่วนน้อย อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องคำนึงอยู่เสมอคือ ค่าเล่าเรียนหรือค่าบำรุง ที่เราจ่ายไปนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย ทางราชการจะต้องลงทุนให้เราเรียนโดยใช้เงินอีกเป็นจำนวนมาก และคัดเลือกมาให้เราศึกษาเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม จะลืมข้อนี้ไปไม่ได้ฟังอย่างนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ในทางปฏิบัติก็ตีความต่างกันเล็กน้อยคือ บ้านเมืองมีปัญหามีเหตุไม่สงบหรือไม่ยุติธรรม นิสิตส่วนหนึ่งเห็นสมควรจะหยุดเรียนไปช่วยกันแสดงประชามติ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่อยู่เฉย ๆ ไม่คิดอะไรสักอย่าง หรือเห็นว่าหน้าที่ในปัจจุบันของเราก็คือเรียนให้ดีที่สุด ให้มีความรู้เต็มที่เสียก่อน เมื่อจบแล้วจึงจะสามารถใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ พวกแรกก็ว่าในสถานการณ์คับขันรอให้เรียนจบก็คงไม่ทันการ นอกจากตัวอย่างที่ยกมานี้ก็ยังมีข้อคิดอีกมากที่หาคำตอบที่ถูกต้องทางเดียวได้ลำบาก ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน ความคิดเห็นเหล่านี้เราจะได้รู้จากการไปฟังอภิปราย ปราศรัย หรือใบปลิว แต่ใบปลิวนี้ก็ต้องระวังหน่อย เพราะว่าบางทีคนคนเดียวเขียนใบปลิวหลาย ๆ ใบ และใส่ชื่อว่าเป็นกลุ่มต่าง ๆ ชื่อแปลก ๆ หลายกลุ่ม

ถ้าเรานึกดูทางด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้และแหล่งของผู้มีความรู้ มีภารกิจในการให้การศึกษาระดับสูง ค้นคว้าวิจัยและบริการชุมชนอยู่แล้ว พวกเรานิสิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยย่อมจะมีโอกาสร่วมปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย

ในจุฬาฯ ฉันได้เรียนวิชาความรู้ที่ได้นำมาใช้ปฏิบัติงานจนทุกวันนี้ สิ่งที่ได้ไปรู้เห็นจากจังหวัดต่าง ๆ นั้น เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาบางวิชา เช่น วิชาภูมิศาสตร์ ช่วยให้ตอบข้อสอบได้ดีขึ้น แม้ในปัจจุบันเมื่อต้องการความรู้เพิ่มเติมเพื่อไปทำงานใด ๆ ก็ยังได้ความเอื้อเฟื้อจากคณะอาจารย์และเพื่อน ๆ เป็นผลจากความเป็นไปในจุฬาฯ เมื่ออดีตที่เราอยู่กันเหมือนในครอบครัวใหญ่ มีรุ่นพี่รุ่นน้อง สนิทสนมและมีน้ำใจต่อกัน แม้บางครั้งจะมีความคิดที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาที่คนมีสมองจะคิดตามกันไปตลอดไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะคบหากัน เรื่องในจุฬาฯ ยังมีอีกมากมาย จะให้เล่าก็คงเล่าไม่ถูก หรือจะต้องพาดพิงถึงใครต่อใครอีกเยอะแยะ ไม่แน่ใจว่าผู้ที่ถูกล่าวถึงจะพอใจหรือไม่ ถึงแม้จะใช้นามแฝงสมมติชื่อก็คงจะจำกันได้ ที่เรื่องเยอะ เพราะพวกเราล้วนมีปัญหา และก่อปัญหาเหมือนกันด้วยสิ่งแวดล้อมบังคับ (สังเกตดูซิ เวลาเขาจะเขียนโครงการอะไรกัน ต้องเริ่มต้นด้วยอุปสรรคและปัญหา เราก็เลยอยู่ในแวดวงปัญหากันไปหมด)

นับเป็นเวลา ๑๐ กว่าปีแล้ว จากวันแรกที่ย่างเข้าสู่รั้วจุฬาฯ เหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านไปเปลี่ยนแปลงไป เมืองไทยวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ ๑๐ ปีก่อน จุฬาฯ วันนี้กับจุฬาฯ วันก่อนก็ไม่น่าจะเหมือนกัน แต่ฉัน “ผู้ได้ดีมาจากจุฬา” ก็ยังอยู่ ถึงจะเปลี่ยนไปบ้าง ว่าง ๆ ก็น่าคิดทบทวนดูว่า“สำนึกที่ถูกปลูกฝังมา ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับสายธารที่ไหลมาเรื่อยๆ บัดนี้เป็นอย่างไร และฉันได้ก่อกำไรให้แก่สังคมคุ้มกับที่สังคมลงทุนไปหรือเปล่า”


พิมพ์ครั้งที่ ๑ ใน ๗๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รำลึกอดีต กรุงเทพฯ : จุฬาฯ ๒๕๓๐
พิมพ์ครั้งที่ ๒ ใน เก็บฝันมาสรรค์สร้าง หนังสือสำหรับน้องใหม่ กรุงเทพฯ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒
พิมพ์ครั้งที่ ๓ ในนิตยสาร จามจุรี ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มีนาคม – มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ สำนักงานนิสิตเก่าสัมพันธ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๔๒