โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม ประจำเดือนสิงหาคม ในหัวข้อ “การเรียนการสอนภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศในยุคดิจิทัล”

ในวันที่ 23 สิงหาคม เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “การเรียนการสอนภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศในยุคดิจิทัล” โดย อ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข จากศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ                   ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในอดีตไม่ว่าสองสามปีหรือเป็นสิบปี หลายท่านมักจะมีภาพจำและความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกัน เช่น บรรยากาศการเรียนในห้องเรียน อุปกรณ์ในการเรียนที่มองเห็นและจำต้องได้ เช่น ปากกา กระดาษ หรือจะเป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในการเข้าถึงข้อมูลหรือทรัพยากรต่างๆ ที่ผู้ศึกษาจะต้องไปห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันที่เกิดเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลากหลายด้าน เป็นเหตุให้เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ซึ่งก็รวมไปถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่อการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน เริ่มมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น สร้างห้องเรียน จัดการชั้นเรียน สร้างสื่อการสอน ช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรความรู้และข้อมูลแขนงต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการศึกษาในปัจจุบันแล้วยังช่วยกระตุ้นความน่าสนใจให้กับผู้เรียน และช่วยพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างสื่อการเรียนรู้ของผู้สอนเองอีกด้วย

กระบวนการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนในปัจจุบันมีหลักๆ 4 กระบวนการด้วยกัน 1. เลือกเครื่องมือในการสร้างห้องเรียน ตัวอย่าง เช่น Zoom, Google Meets ซึ่งผู้สอนก็สามารถเลือกสรรได้ตามความถนัดหรือจุดประสงค์ของการใช้งาน แต่อีกสิ่งที่ต้องพึงระวังในการตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือในการสอน ก็คือ ความปลอดภัยของข้อมูล 2. เลือกระบบการจัดการเรียนรู้ (LMS) ควรเลือกเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนให้การเรียนมีประสิทธิภาพสูงสุด 3. เตรียมสื่อการสอนออนไลน์ ที่ผู้สอนจะต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนทำการสอน ฝึกความชำนาญการใช้คู่มือดังกล่าวให้คล่องแคล่ว และ  4. ออกแบบชั้นเรียน ที่ให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถมีส่วนร่วมในห้องเรียนให้ได้มากที่สุด สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สื่อสารและทำงานเป็นทีมมากขึ้น 

นอกจากนี้ เครื่องมือที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน (Engagement Platform) นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของการเรียนออนไลน์ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง ได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร และในด้านของผู้สอนเอง ก็จะช่วยให้การทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ 

สุดท้ายนี้ อาจารย์เกียรติในฐานะของผู้สอนได้เสนอว่า ผู้สอนนั้นก็ควรที่จะใช้เทคโนโลยีให้เป็น ให้คล่องและควรเลือกตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่จะทำให้การเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้สอนและตัวผู้เรียนเองด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเรียนการสอนโดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จะช่วยอำนวยความสะดวกหลากหลายด้าน แต่แน่นอนว่าการปรับรูปแบบการสอนก็ย่อมมีอุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่น การปรับตัวที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเรียนการสอน ปัญหาด้านความไม่พร้อมของอุปกรณ์ ความมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนผู้สอนลดลง หรือการวัดผลการเรียนอาจไม่เที่ยงตรง ซึ่งผู้สอนเองก็สามารถที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน อาจารย์เกียรติเองก็ได้มีการยกตัวอย่างและร่วมเสนอแนวทางแก้ไขกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม 

  • ตัวอย่างเครื่องมือที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสอนได้: Kahoot, Quizizz, Quizlet, Wordwall
  • เว็บไซต์ที่ช่วยในการพิมพ์ Phonetic สำหรับการสอนภาษาให้กับชาวต่างชาติ:
    ipa.typeit.org, pickers, thai2english.com 
  • เว็บไซต์สำหรับการหา collocation ของภาษาไทย: www.arts.chula.ac.th/~ling/tnc3 
  • เว็บไซต์สำหรับศึกษางานเขียนของผู้เรียนภาษาไทยชาวต่างประเทศ www.arts.chula.ac.th/CTFL/ctflcorpus

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่นี่

ภาพบรรยากาศการบรรยาย

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะอักษรศาสตร์ร่วมวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในวันอานันทมหิดล