การบรรยายพิเศษอักษรศาสตร์สู่สังคม หัวข้อ “อักษรศาสตร์สู่สังคม มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ในสื่อสะท้อนสังคมกับการต่อรองของชนชั้นกลางไทยผ่านวัฒนธรรมทัศนา (Visual Culture)” โดย อาจารย์ ดร.ตรีพล เกิดนาค อาจารย์ประจำหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม – BALAC (หลักสูตรนานาชาติ) วันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
—————————————-
มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ในสื่อสะท้อนสังคมกับการต่อรองของชนชั้นกลางไทยผ่านวัฒนธรรมทัศนา (Visual Culture) การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นในช่วงทศวรรษที่ 80 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การขยายตัวของคนชั้นกลาง อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่มิติทางเศรษฐกิจได้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ในช่วงทศวรรษดังกล่าว ศิลปินรุ่นใหม่บางกลุ่มเริ่มตระหนักถึงการใช้สื่อเพื่อสะท้อนปัญหาของการพัฒนา โดยมีกลุ่มคนชั้นกลางเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ภายใต้บริบทดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจว่าประเด็นปัญหาของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้มักถูกหยิบยกมาเป็นเนื้อหาของภาพยนต์สะท้อนสังคมและเพลงเพื่อชีวิต
การบรรยายในครั้งนี้มุ่งทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยผ่านทฤษฎีวัฒนธรรมทัศนา โดยมุ่งเน้นไปที่การเมืองของการ “มอง” ประเด็นปัญหาของมุสลิมในชนบทผ่านคนชั้นกลางในเมืองเพื่อต่อรองกับความหมายของ “การพัฒนา” ซึ่งในช่วงทศวรรษก่อนหน้าได้ถูกผูกขาดอยู่ในกลุ่มคนชั้นนำ