เล่น ลวง รัก : การระรานทางไซเบอร์และการเติบโตทางความคิดของตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนอเมริกันร่วมสมัย

เนื่องจากทาง UNESCO ได้ประกาศให้วันพฤหัสบดีแรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านความรุนแรงและการกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยรวมถึงการกลั่นแกล้งหรือการระรานทางไซเบอร์ คณะอักษรศาสตร์จึงขอประชาสัมพันธ์งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร ศรีวรกานต์ จากภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวในโอกาสนี้

ใน เล่น ลวง รัก : การระรานทางไซเบอร์และการเติบโตทางความคิดของตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนอเมริกันร่วมสมัย ผู้วิจัยเลือกศึกษาวรรณกรรมเยาวชนที่มีประเด็นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในหมู่เด็กนักเรียน ตัวบทคัดสรรแสดงให้เห็นว่าสื่อสังคมเป็นช่องทางที่เหล่าเยาวชนใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างห้องสนทนาออนไลน์เฉพาะกลุ่ม หรือการสร้างเกมมาเล่นกัน หากการเล่นและการล้อเล่นนั้นสร้างความสนุกสนานให้กับทุกคนก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ในกรณีที่การเล่นและการล้อเล่นในโลกออนไลน์สร้างความสุขให้กับคนกลุ่มหนึ่งแต่กลับก่อความทุกข์ให้กับใครบางคน นั่นนับว่าเข้าข่ายการก่อเหตุรังแกผู้อื่น ขณะเดียวกัน เยาวชนบางคนมักจะอ้างว่าทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทว่าพวกเขามักจะมองข้ามการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น การเล่นและการล้อเล่นจะยังคงมอบความรื่นรมย์ให้กับทุกคนตราบใดที่เยาวชนมีความเคารพให้แก่กัน การล้อเล่นนั้นจะไม่กลายเป็นการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์

​ตัวบทคัดสรรยังเผยให้เห็นภัยจากการหลอกลวงในโลกออนไลน์ที่มีผลกระทบทั้งกับเหยื่อและผู้ก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุล่อลวงให้เหยื่อตกลงไปในเขาวงกตจนเหยื่ออาจจะไม่สามารถหาทางออกมาได้ แต่ในทางกลับกัน ผู้ก่อเหตุเองก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งซึ่งเป็นผลจากการกระทำของตน เองในวังวนของการใช้ความรุนแรงเป็นทอดๆ ต่อกันไปโดยไม่รู้จบ ทั้งนี้ ผู้ประพันธ์ให้ทางออกกับปัญหาดังกล่าว คือ การมอบความรัก ความปรารถนาดี และความจริงใจให้กับเพื่อนในสังคมออนไลน์และสังคมจริง ความรักรูปแบบนี้ถึงแม้จะเป็นความรักในอุดมคติ แต่หากเราทำได้ ความรักที่ไม่เป็นพิษเช่นนี้จะช่วยยับยั้งการเกิดเหตุระรานทางไซเบอร์ได้ ​

​ทั้งนี้ ประเด็นเกี่ยวกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนเป็นเรื่องที่เยาวชนให้ความสำคัญ ทว่าการมีเพื่อนสามารถก่อให้เกิดปัญหากับเยาวชนได้เช่นกัน บางครั้งเยาวชนส่วนหนึ่งแสวงหาการยอมรับจากเพื่อนจนขาดความเคารพตนเอง ในที่นี้ผู้ประพันธ์ชี้ให้เห็นว่าประเด็นสำคัญที่เยาวชนหลายคนมักจะมองข้าม นั่นคือ การรู้จักหรือการเข้าใจตนเอง โดยเฉพาะมิติด้านอารมณ์ ความรู้สึก และการให้เวลากับตนเองซึ่งจะช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง เพื่อไม่ต้องวิ่งตามเพื่อนจนนำพาตนเองไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ขณะเดียวกัน ในตัวบทกลุ่มนี้ยังสื่อสารอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเข้าใจผู้อื่น หมายถึงการเข้าใจวิธีคิดและอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น หรือการเป็นผู้ฟังที่ดีและรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อันจะส่งผลให้เราตระหนักถึงคุณค่าของผู้อื่นและเราจะไม่ทำการอันใดที่จะละเมิดความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างเรากับผู้อื่น

​นอกจากนี้ ในตัวบทยังมีการสื่อสารประเด็นคุณธรรมและจริยธรรม ตัวอย่างเช่น ในเรื่อง Random ของ Tom Leveen ตัวละครแม่ของเหยื่อได้ยื่นฟ้องร้องตัวละครผู้ก่อเหตุในข้อกล่าวหาการใช้ถ้อยคำในเชิงประทุษวาจาจนเป็นเหตุให้เขาทำอัตวินิบาตกรรม กลุ่มผู้ก่อเหตุเห็นว่าพวกตนเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับความตายของเหยื่อ การผูกเรื่องเช่นนี้เผยให้เห็นว่าเหล่าผู้ก่อเหตุไม่ได้เข้าใจความผิดในมิติของคุณธรรมและจริยธรรม จริงอยู่ที่พวกเขาไม่ได้ทำความผิดตามกฎหมาย แต่การที่พวกเขาทำร้ายจิตใจของเหยื่อ จนเขาประสบกับความบอบช้ำเกินกว่าที่จะมีพลังใจในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป นั่นเท่ากับว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ตามที่กล่าวอ้าง แม้ว่าพวกเขาไม่มีความผิดตามกฎหมายก็ตาม ทว่าไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายจิตใจของเหยื่อ การนำเสนอเช่นนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำความผิดมีหลากหลายแง่มุม มีทั้งมิติทางกฎหมายและมิติด้านคุณธรรม การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความผิดด้านคุณธรรมและจริยธรรมเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเยาวชนต้องการเน้นย้ำให้เยาวชนที่เป็นกลุ่มผู้อ่านได้ตระหนักรู้และเรียนรู้เรื่องนี้

​ยิ่งไปกว่านั้น ในตัวบทมีการสื่อสารถึงสังคมด้วยว่า ปัญหาการระรานทางไซเบอร์ไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจกบุคคลหรือปัญหาระหว่างผู้ก่อเหตุกับเหยื่อเท่านั้น ทั้งยังเป็นปัญหาในระดับสังคม ในตัวบทเผยให้เห็นว่าสังคมมีส่วนในการหล่อเลี้ยงความรุนแรงจากการก่อเหตุระรานทางไซเบอร์ ในที่นี้ คือ สังคมโรงเรียน สื่อมวลชนและกระบวนการยุติธรรม ครูและบุคลากรในโรงเรียนตามไม่ทันปัญหาการกลั่นแกล้งระหว่างนักเรียน และมักจะผลักปัญหานี้ออกไปจากพื้นที่โรงเรียนเมื่อการกลั่นแกล้งในหมู่เด็กเกิดขึ้นนอกรั้วโรงเรียน รวมทั้งการที่นักเรียนมักจะจับกลุ่มกันก่อเหตุรังแกเพื่อน ทั้งที่โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่แห่งการบ่มเพาะปัญญา แต่กลับกลายเป็นพื้นที่ซึ่งหล่อเลี้ยงความรุนแรง ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนควรจะใช้พื้นที่ของตนในการทำความเข้าใจประเด็นข้างต้น แต่กลับยั่วยุและเติมเชื้อไฟแห่งความโกรธและความเกลียดชังให้เกิดกับผู้ก่อเหตุ จนนำไปสู่การสร้างอคติและความรุนแรงต่อผู้ก่อเหตุด้วย นอกเหนือจากนั้น ยังมีมิติด้านกฎหมายที่เปิดช่องโหว่และเอื้อให้การระรานรังแกระหว่างเยาวชนดำเนินต่อไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ประพันธ์ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการระรานทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันระแวดระวังและป้องกันปัญหานี้

งานวิจัยนี้มีการเผยแพร่ในรูปแบบของ e-book โดยสามารถสั่งซื้อได้จากศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลิงก์นี้ https://www.chulabook.com/en/education/141324

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอเรียนเชิญผู้สนใจดาวน์โหลดหนังสือรวมข้อเขียนบันทึก “นานาสภาวะ ณ ขณะเขียน” ของนักเรียนเขียนเรื่อง “เมื่อฉันร้อยเศษทรายให้กลายเป็นแก้ว” ผลงานการเขียนและการทำหนังสือของนิสิตภาควิชาภาษาไทย