ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการบรรยายพิเศษปรัชญาสู่สาธารณะครั้งที่ 3 หัวข้อ “มองให้ ‘เห็น’ จริยศาสตร์กับจริยศาสตร์แบบการมอง”

ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการบรรยายพิเศษปรัชญาสู่สาธารณะครั้งที่ 3 หัวข้อ “มองให้ ‘เห็น’ จริยศาสตร์กับจริยศาสตร์แบบการมอง” โดย อาจารย์ ดร.ปิยฤดี ไชยพร (ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬา) ซึ่งผู้ดำเนินรายการและร่วมอภิปรายคือ อาจารย์รชฏ สาตราวุธ (ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี) ในวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 20.00-22.00 น. ทาง Zoom Application และ Facebook Live เพจ Department of Philosophy, Chulalongkorn University

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการบรรยายพิเศษได้ที่ https://forms.gle/m4LipqBkHg2vu4jB7

——————————————————————————

คนจำนวนไม่น้อยไม่ชอบที่จะตัดสินทางจริยธรรมต่อผู้อื่น แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่านั่นคือสิ่งที่เราทำ อย่างน้อยก็ภายในใจ คำถามของอภิจริยศาสตร์เรียกร้องให้เราคิดมากขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินเหล่านี้ เมื่อเราตัดสิน เรามักใช้ทฤษฎีจริยธรรมแบบใดแบบหนึ่งเป็นกรอบ การเลือกใช้ทฤษฎีหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งนั้นมีอะไรเป็นเหตุผลสนับสนุน? ถ้าเป็นเพราะเราเชื่อว่าทฤษฎีดังกล่าวจริงหรือถูกต้องกว่า เราแน่ใจได้อย่างไรว่าความเชื่อนี้ถูกต้อง? ถ้าเป็นเพราะการตัดสินนี้เป็นเพียงการแสดงออกถึงทัศนคติภายในของเราที่เอนเอียงไปทางทฤษฎีหนึ่งมากกว่า หลายครั้งเราก็ใช้คำที่บอกถึงคุณสมบัติทางจริยธรรมในเชิงที่ไม่ใช่การตัดสินด้วย นี่เท่ากับว่าคำเหล่านั้นต้องมีความจริงภายนอกที่ตรงกับมันอยู่ก่อน เช่น ในรูปคุณสมบัติ “ดี” “เป็นพันธะทางศีลธรรมที่ต้องทำ” “เป็นสิ่งที่ห้ามทำ” ไม่ใช่หรือ เช่นนั้นแล้วเมื่อเราใช้คำเหล่านี้ นั่นจะเป็นแค่การแสดงออกทัศนคติที่เรามีไปได้อย่างไร? คนที่เชื่อในทฤษฎีจริยธรรมที่ต่างกันสองแบบและมีคำตัดสินทางจริยธรรมต่อการกระทำเดียวกันเป็นตรงข้ามกันนั้น เป็นไปได้ไหมว่าที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้พูดขัดกัน เพราะไม่ได้พูดถึงคุณสมบัติชนิดเดียวกันอยู่ตั้งแต่แรก และจึงอาจจะพูดถูกด้วยกันทั้งคู่ก็ได้? เป็นไปได้ไหมที่คุณสมบัติ “ดี” จะมีมากกว่าหนึ่งแบบหรือเอาเข้าจริงแล้วไม่มีอยู่เลยแม้แต่แบบเดียว? ถ้ามีคุณสมบัติทางจริยธรรมอยู่จริงที่ทฤษฎีจริยธรรมต่างๆ อ้างถึง คุณสมบัตินี้เป็นแค่ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติเหมือนข้อเท็จจริงเรื่องอื่นๆ หรือมีสถานะพิเศษกว่านั้น? และถ้ามีข้อเท็จจริงทางจริยธรรมที่ว่านี้อยู่ สิ่งนี้ขับเคลื่อนให้เราทำตาม เช่น ทำหรือไม่ทำการกระทำหนึ่งได้อย่างไร พลังโน้มน้าวของมันอยู่ที่ใด? ฯลฯ

คนที่เชื่อทัศนะแบบสัจจนิยมทางจริยธรรม (moral realism) จะตอบคำถามเหล่านี้ว่า ทุกครั้งที่เราตัดสินทางจริยธรรมนั่นคือเรากำลังยืนยันความเชื่อบางอย่างว่าจริง เนื่องจากมีคุณสมบัติ หรือสิ่ง หรือความสัมพันธ์บางชนิดเป็นฐานให้แก่ความเชื่อนั้นอยู่ซึ่งไม่ขึ้นกับเรา แต่เราสามารถค้นพบได้ด้วยการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องโดยกระบวนการคิดแบบเดียวกับการใช้เหตุผลในวิทยาศาสตร์ (ถ้าเชื่อว่าคุณสมบัตินั้นคือข้อเท็จจริงตามธรรมชาติทั่วไป) หรือแบบเดียวกับการใช้เหตุผลในคณิตศาสตร์ (ถ้าเชื่อว่าคุณสมบัตินั้นมีสถานะพิเศษ)

คำตอบแบบนี้ดูจะไปได้ดีกับสามัญสำนึกของเราที่ว่าเราทำอะไรเมื่อเราตัดสินทางจริยธรรมกับการกระทำของผู้อื่น และให้เหตุผลสนับสนุนแก่การทำชนิดนี้ของเราได้ แต่คำตอบเหล่านี้ก็สร้างภาระเป็นคำถามอื่นตามมาด้วยเช่นกัน เช่น เหตุผลคืออะไร เราใช้เหตุผล “รู้” คุณสมบัติความดีได้อย่างไร สงสัยได้ไหมว่าที่จริงแล้วเราใช้เหตุผล “สร้าง” คุณสมบัตินั้นขึ้นมาเอง ถ้าเหตุผลเพียงพอแล้วทำไมคนจึงยังตัดสินว่าอะไรถูกผิด ควรหรือไม่ควรทำไม่เหมือนกัน เหตุผลที่เป็นภววิสัยขับเคลื่อนการกระทำได้อย่างไรถ้าไม่มีอารมณ์หรือความปรารถนาหนุนอยู่ด้วย? ฯลฯ คำตอบที่ให้แก่คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่จะตัดสินความน่าเชื่อถือของทัศนะแบบสัจจนิยมทางจริยธรรม และเพิ่มหรือลดความน่าดึงดูดใจของคำอธิบายทางเลือกอื่น เช่น ปฏิสัจจนิยมทางจริยธรรม (moral anti-realism) ที่เชื่อว่าไม่มีความจริงทางจริยธรรมที่ไม่ขึ้นกับมนุษย์อยู่ และการตัดสินของเราเป็นแค่การแสดงออกถึงทัศนคติที่เรามีในทางบวกและลบต่อการกระทำที่เราเห็น ซึ่งก็จะมีนัยยะตามมาว่าการตัดสินทางจริยธรรมของเราอาจเป็นแค่สิ่งที่ทำไปตามความเคยชิน และไม่มีน้ำหนักทางจริยธรรมใดๆ

การบรรยายครั้งนี้จะพาผู้ฟังเข้าสู่ข้อถกเถียงทางอภิจริยศาสตร์โดยผ่านวิธีการตอบคำถามเหล่านี้ของทัศนะแบบสัจจนิยมทางจริยธรรมรูปแบบที่กล่าวอ้างว่า เราสามารถค้นพบความจริงเชิงปทัสถาน (normative truth) ได้ด้วยการใช้เหตุผล และชี้ให้เห็นช่องโหว่บางประการในขั้นตอนของข้อกล่าวอ้างนี้ ซึ่งเมื่อนำแนวคิดจากจริยศาสตร์แบบการมองเข้ามาช่วยเสริมจะทำให้ได้ภาพที่ชัดและสามารถโน้มน้าวใจได้ดีขึ้นว่าการตัดสินทางจริยธรรมที่เราทำอยู่นั้นมีพื้นฐานอยู่ในความเป็นจริงได้อย่างไร และองค์ประกอบชนิดใดที่เมื่อมีในการตัดสินครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการกระทำหนึ่ง เราสามารถบอกได้้ว่านั่นคือการตัดสินอันที่ดีกว่า เหนือกว่าการตัดสินอันอื่นต่อการกระทำเดียวกันนั้น

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง