โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “ความโกรธและความไม่เป็นธรรมทางสังคมกับมุมมองพุทธปรัชญา”
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “ความโกรธและความไม่เป็นธรรมทางสังคมกับมุมมองพุทธปรัชญา” โดย อ.ดร.ทิพพาพันธุ์ เชื้อสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ รองคณบดีด้านการวิจัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ทิพพาพันธุ์เริ่มการบรรยายโดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความไม่ยุติธรรมและความโกรธของผู้คนยุคปัจจุบัน ที่นำไปสู่การตั้งคำถามต่อปัญหาเชิงสังคมและการดำเนินงานของรัฐ จนอาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับประเทศไทยในปัจจุบัน ความโกรธของผู้คนที่เริ่มตีวงกว้างจนก่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้อาจารย์คิดว่าเราควรนำประเด็นเรื่องความโกรธมาพูดถึงให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ในการบรรยาย อาจารย์ได้เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องความโกรธและความยุติธรรมของฝั่งตะวันตกกับแนวคิดทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะในประเทศไทยเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างกรอบแนวคิดทางตะวันตกกับแนวคิดทางพุทธศาสนา อาจารย์ได้ยกแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของอริสโตเติล ที่อธิบายว่า ความยุติธรรมคือการปฏิบัติต่อคนในแบบที่เขาสมควรจะได้รับ และยอมรับได้ว่าความโกรธเป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่ปฏิกิริยานี้ควรเกิดขึ้นอย่างพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไปจากความผิดที่อีกฝ่ายก่อ แนวคิดนี้แตกต่างจากศาสนาพุทธที่มองว่าความโกรธเป็นสิ่งที่เลวร้าย ควรกำจัดทิ้ง และท้ายที่สุดจะต้องไม่มีความโกรธเหลืออยู่ ขณะเดียวกันพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธวิธีการกล่อมเกลาความโกรธให้มีแต่พอดี
นอกจากนี้ จากแนวคิดทางพุทธศาสนาที่มองว่าความโกรธเป็นสิ่งชั่วร้าย และเราไม่ควรปล่อยให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น ศาสนาพุทธก็ได้ให้เหตุผลต่อแนวคิดดังกล่าวไว้ 3 ประการ คือ เหตุผลเชิงปฏิบัติหรือสังคม เหตุผลเชิงศีลธรรม และเหตุผลเชิงญาณวิทยา ซึ่ง 3 ข้ออ้างนี้ถูกมองว่าสมเหตุสมผลในขอบเขตของศาสนาพุทธ แต่เมื่อมองในบริบทของคนรุ่นปัจจุบันหรือคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดการยอมรับข้ออ้างนี้ได้ เพราะแนวคิดที่กล่าวว่าไม่ควรให้ความโกรธเกิดขึ้นนี้ หลายคนมองว่าไม่สามารถนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าศาสนาพุทธจะไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความยุติธรรมในแง่ที่เชื่อมโยงกับความโกรธ ก็ไม่ได้หมายความว่าศาสนาพุทธไม่เหมาะที่จะดำรงอยู่ในสังคมศีลธรรม อาจารย์จึงได้หยิบยกข้อเสนอทางศาสนาพุทธ 2 ประการพร้อมคำอธิบาย ที่แสดงให้เห็นว่ายังมีคำสอนทางศาสนาพุทธที่สามารถนำมาปรับใช้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้ คือ ข้อเสนอเชิงวิธีการรับมือความโกรธให้พอเหมาะ และความกรุณาในฐานะเครื่องมือที่สร้างความยุติธรรมในสังคม ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าความโกรธจะเป็นแรงกระตุ้นที่ช่วยให้เกิดการเรียกร้องต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่นอกเหนือจากความโกรธยังคงมีความรู้สึกอื่น ๆ เช่น ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ก็สามารถช่วยผลักดันให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
หากผู้ใดสนใจในประเด็นดังกล่าว อาจารย์ได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในการบรรยาย สามารถรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ทางด้านล่างนี้
https://www.facebook.com/watch/live/?v=420158549356420&ref=watch_permalink