โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “ชีวิตผกผันของเฉาจื๋อ (โจสิด) แห่งยุคสามก๊ก”

โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “ชีวิตผกผันของเฉาจื๋อ (โจสิด) แห่งยุคสามก๊ก”

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00 – 15.30 น. คณะอักษรศาสตร์จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อ “ชีวิตผกผันของเฉาจื๋อ (โจสิด) แห่งยุคสามก๊ก” โดย อ.ดร.พิชญา วิภาวีนุกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ รองคณบดีด้านการวิจัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

เนื้อหาในการบรรยายครั้งนี้อ้างอิงจากหนังสือประวัติศาสตร์ ที่ชื่อว่า “ซานกั๋วจื้อ” (จีน: 三國志) ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างจากเนื้อหาในสามก๊กบางส่วน เนื้อหาในการบรรยายแบ่งออกเป็น ประวัติพื้นฐานของเฉาจื๋อ เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต และบทกวีที่เฉาจื๋อได้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตน “เฉาจื๋อ” หรือ “โจสิด” เป็นกวีที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุควรรณกรรมเจี้ยนอัน (196-232) ซึ่งเฉาจื๋อได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเซียนวรรณกรรม ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการวรรณกรรมทั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

แรกเริ่มอาจารย์กล่าวย้อนถึงประวัติของเฉาจื๋อ เขาเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของโจโฉ กับ อู๋เซวียนเปี่ยน -หวงโฮ่ว ซึ่งในปลายรัชสมัยของราชวงศ์ฮั่น ตระกูลโจมีอิทธิพลอย่างมาก เฉาจื๋อเติบโตมาด้วยความเพียบพร้อมในด้านต่าง ๆ หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่มีความสามารถประกอบกับมีปณิธานที่อยากจะรับใช้ชาติ แต่ด้วยอุปนิสัยของเขาที่รักความอิสระตามความเชื่อของลัทธิเต๋า ชอบดื่มเหล้าจนเมามาย จึงเป็นเหตุให้ชีวิตอันราบรื่นของเขาที่เคยเป็นมา เกิดจุดพลิกผันและเต็มไปด้วยอุปสรรคตั้งแต่โจโฉเสียชีวิตไป

อาจารย์แบ่งช่วงชีวิตอันผกผันของเฉาจื๋อ เป็น 2 ช่วงหลัก คือ ช่วงที่โจโฉยังมีชีวิตอยู่ และช่วงหลังที่โจโฉเสียชีวิตลงแล้วและ “เฉาพี” พี่ชายของเฉาจื๋อขึ้นครองราชย์แทน ในช่วงแรกที่โจโฉยังคงมีชีวิตอยู่ เฉาจื๋อดำเนินชีวิตไปด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะดำเนินตามปณิธานของตน แต่ด้วยอุปนิสัยที่ชอบเมามายของเขา ทำให้เกิดเรื่องขึ้นถึง 2 ครั้ง จนทำให้โจโฉไม่เชื่อมั่นในตัวของเฉาจื๋ออีกต่อไป และเมื่อโจโฉเสียชีวิตลง เฉาพี ซึ่งเป็นพี่ชายของเฉาจื๋อ ขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดผกผันของเฉาจื๋อเลยทีเดียว เพราะเขาถูกเฉาพีกีดกันอำนาจในด้านต่าง ๆ ลดบทบาททางการปกครองลง จนทำให้ชีวิตของเฉาจื๋อเริ่มตกต่ำ เขาเริ่มตัดพ้อต่อความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องระหว่างเขาและเฉาพี ในเวลาต่อมาที่เฉาพีเสียชีวิตลงและหลานของเฉาจื๋อขึ้นครองราชย์ เฉาจื๋อที่เคยมีหวังว่าจะได้รับโอกาสทางการเมืองอีกครั้งก็ต้องผิดหวังและดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความสิ้นหวัง จนท้ายที่สุดเฉาจื๋อก็เสียชีวิตลงคาดว่าเพราะตรอมใจตายในวัยเพียง 41 ปี

ในตลอดช่วงชีวิตอันผกผันของเฉาจื๋อ เขาได้บรรยายเปรียบเทียบความรู้ที่ตนเองมีในช่วงเวลาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อชาวบ้าน นักรบ ความรู้สึกสิ้นหวังในความรัก การตัดพ้อต่อพี่ชายของตน และความรู้สึกสิ้นหวังต่อช่วงชีวิตของเขา ผ่านบทกวีอันไพเราะต่างๆ ซึ่งอาจารย์ได้ยกตัวอย่างไว้ในการบรรยายพร้อมคำแปลและการอธิบายที่เข้าใจง่าย ตัวอย่างบทกวีอันโด่งดัง เช่น บทเทพแม่น้ำลั่ว บทกระเรียนขาว กลอนเจ็ดก้าว ฎีกาขอโอกาส ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของภาษา อุปนิสัยของเฉาจื๋อ และความสามารถทางด้านวรรณกรรมที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หากผู้ใดสนใจในประเด็นดังกล่าว ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถรับฟังและรับชมกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ที่ลิงก์
https://www.facebook.com/watch/live/?v=2796425443960491&ref=search

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะอักษรศาสตร์ขอขอบพระคุณคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ (อ.บ. 47) ที่มอบเงินจากการจำหน่ายหนังสือ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์