การประชุมกับมูลนิธิไทย เรื่อง Soft Power

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 รศ. ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์อีก 9 คน ได้แก่ ผศ.ดร. นิรดา จิตรกร รองคณบดี ผศ.ดร.สุกิจ พู่พวง และ อ.ดร.อัคร เช้าฉ้อง ผู้ช่วยคณบดี อ. ดร. เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศเเละศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ รศ. ดร.มณฑิรา ราโท, ผศ. ดร. กมล บุษบรรณ์ และอ.ทิวารี โฆสิตธนะเกียรติ ภาควิชาภาษาตะวันออก ผศ. ดร.ประไพพรรณ พึ่งฉิม ภาควิชาภาษาไทย และ อ. ดร.นันทนา อนันต์โกศล ภาควิชาภาษาตะวันตก ได้รับเชิญจากมูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาระดมความคิดเรื่อง Soft Power ของไทย

โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาฝ่ายมูลนิธิไทยประกอบด้วยคุณธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย ดร.ไพฑูรย์ สงค์แก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิไทย คุณทยุต มงคลรัตน์ และคุณณศักต์ พงษ์ศรี เจ้าหน้าที่โครงการ Soft Power เป็นการให้ความสำคัญแก่สิ่งอันเป็นนามธรรม (intangible assets) เช่น คุณค่าและอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ เพื่อนำไปสู่สิ่งอันเป็นรูปธรรม (tangible assets) ได้แก่ สินค้า การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จุดประสงค์หลักของการสัมมนานี้จึงมุ่งแสวงหาแนวทางส่งเสริมและต่อยอดความนิยมไทยให้ยั่งยืนในหมู่ชาวต่างชาติ

การสัมมนาเริ่มด้วยการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ Korean Wave โดย ผศ. ดร.กมล บุษบรรณ์ สาขาวิชาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก ซึ่งนำเสนอว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญแก่การส่งออกวัฒนธรรมและวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมเกาหลีและสื่อความบันเทิงเกาหลีเป็นที่นิยมทั่วโลก ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากการยกเลิกกฎหมายการเซ็นเซอร์ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด นอกจากนั้น สื่อความบันเทิงของเกาหลียังส่งเสริมความเป็นนานาชาติโดยการรับศิลปินต่างชาติเข้าร่วมกลุ่มนักร้อง และไม่เพียงแต่ด้านความบันเทิงเท่านั้น รัฐบาลเกาหลียังส่งเสริมการศึกษาภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ บทเรียนภาษาเกาหลีเน้นการทำให้ภาษาเรียนง่าย ซึ่งดึงดูดผู้เรียนชาวต่างประเทศให้มาสนใจภาษาเกาหลี

ความสำเร็จข้างต้นนำไปสู่ทัศนคติทางด้านบวกเกี่ยวกับสิ่งที่มาจากเกาหลีและทำให้ความเป็นเกาหลีและวัฒนธรรมเกาหลีเป็นที่นิยมไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มูลนิธิไทยมุ่งเน้นไปยังวัฒนธรรมไทยที่โดดเด่นในสายตาของชาวโลกที่สามารถสร้างเป็น “จุดขาย” ได้ ผศ. ดร.ประไพพรรณ พึ่งฉิม ภาควิชาภาษาไทย แนะนำว่าหีบห่อสินค้าไทยที่เป็นของใช้เช่นเครื่องสำอางควรมีลวดลายไทยซึ่งดึงดูดชาวต่างชาติได้ ส่วนอัตลักษณ์ไทยในสายตาของนานาชาตินั้น อ. ดร.อัคร เช้าฉ้อง จากสาขาเยอรมันกล่าวว่าในประเทศเยอรมนี อาหารไทยเป็นที่นิยมถึงขนาดว่า คำว่า “ไทย” ใช้นำหน้าชื่ออาหารที่มีวัตถุดิบจากเอเชียเพื่อดึงดูดลูกค้า อ.ดร. อัคร ยังกล่าวถึงคนไทยในประเทศเยอรมนีที่ทำธุรกิจจัดชุดเครื่องปรุงอาหารไทยซึ่งกำลังขายดีมาก ส่วน อ. ดร.นันทนา อนันต์โกศล จากสาขาเยอรมันเช่นกันเล่าว่าในกรุงเบอร์ลินมีบริเวณที่ชาวไทยรวมกลุ่มกันขายอาหารไทย ซึ่งดึงดูดลูกค้าได้มาก ผศ.ดร. สุกิจ พู่พวง จากสาขาสเปนกล่าวว่าสำหรับชาวสเปน ประเทศไทยมีชื่อเสียงทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ในประเทศเอเชีย Soft Power ของไทยมีอิทธิพลมากเช่นกัน รศ. ดร.มนฑิรา ราโทและอ.ทิวารี โฆสิตธนะเกียรติ จากสาขาเวียดนามกล่าวว่าชาวเวียดนามนิยมใช้ยาหม่องของไทย เครื่องรางของขลังของไทยก็เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวเวียดนามและชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวจีนยังนิยมเช่าพระเครื่องไทยอย่างกว้างขวาง

นอกจากนั้นแล้วสื่อความบันเทิงรวมถึงโฆษณาไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนอย่างมาก เพราะเต็มไปด้วยความสนุกสนานและเข้าใจง่าย ซีรีส์วาย (Y series) ของไทยก็เป็นที่นิยมในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย “จุดขาย” ของไทยที่มีศักยภาพอีกอย่างหนึ่งคือวรรณกรรม ปัจจุบันนี้วรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ไม่ได้เกี่ยวกับชาวตะวันตกเป็นที่ต้องการของตลาด วรรณกรรมไทยที่เป็นภาษาอังกฤษหรือการแปลวรรณกรรมไทยให้เป็นภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่ควรพัฒนาต่อไป การนิยมสื่อความบันเทิงของไทยทำให้ชาวจีนหันมาสนใจเรียนภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจสื่อต่างๆ ที่มาจากประเทศไทย อ. ดร. เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศเเละศูนย์บริการวิชาการกล่าวว่านอกจากนักเรียนภาษาไทยที่มาจากจีนแล้วยังมีนักเรียนชาวอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เยอรมันและอเมริกาใต้อีกด้วย

การเรียนออนไลน์ในปัจจุบันทำให้การสอนภาษาไทยให้กับคนชาติสะดวกขึ้นอย่างมาก ผศ. ดร.นิรดา จิตรกร รองคณบดีกล่าวว่าความนิยมในวัฒนธรรมไทยทำให้มหาวิทยาลัยคู่สัญญาต่างๆ แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม Arts Chula Summer Program in Language and Culture ซึ่งจัดให้แก่นักศึกษาชาวญี่ปุ่นเป็นประจำทุกปี และเคยจัดให้แก่นักศึกษาชาวไต้หวันด้วย แม้ว่าปีที่ผ่านจะจัดรูปแบบ online แต่ผลประเมินที่ได้ก็อยู่ในระดับดีมาก เลขาธิการมูลนิธิกล่าวว่าประเทศไทยควรเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติโดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชาวต่างชาติที่มาตั้งรกรากในประเทศในอดีต เช่นชาวฮอลันดา ผศ. ดร.นิรดา เสริมว่า รศ. ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเกอเธ่ที่เมืองเเฟรงค์เฟิร์ตให้บรรยายเกี่ยวกับบริษัท บี กริมม์ ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวเยอรมันสนใจประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ มูลนิธิไทยยังจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ชาวต่างชาติในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมและความเป็นไทย โดยเชิญผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านต่างๆ ของไทยเข้าร่วมสัมมนา และร่วมรับประทานอาหารค่ำในร้านอาหารไทยชื่อดังระดับ Michelin Star การสัมมนาครั้งนี้เป็นการสัมมนาที่นำไปสู่ความคิดใหม่ๆ เพื่อส่งเสริม Soft Power ของไทย คณะอักษรศาสตร์ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งในการได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ทางมูลนิธิไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกับคณะฯ เพื่อพัฒนา Soft Power ของไทยต่อไปในอนาคต

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง