การร่วมเรียนในรายวิชาของภาควิชาภาษาศาสตร์ ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2563

ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับบุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียนในรายวิชาที่ภาควิชาเปิดสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2563 ดังต่อไปนี้

รายวิชาระดับปริญญาตรี

  • 2209305 ความหมายในภาษา (Meaning in language)
  • 2209371 ภาษาศาสตร์ภาษาโรมานซ์เบื้องต้น (Introduction to Romance linguistics)
  • 2296200 ภาษามนุษย์ (Human language)

รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษา

  • 2209531  อรรถศาสตร์ (Semantics)
  • 2209611  ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical linguistics)
  • 2209621  ทฤษฎีภาษาศาสตร์ (Linguistic theories)
  • 2209631  กลสัทศาสตร์ (Acoustic phonetics)
  • 2209653  ภาษาศาสตร์สังคม (Sociolinguistics)
  • 2209670  ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computational linguistics)
  • 2209678  ระบบการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing systems)

บุคคลภายนอกสามารถเข้าร่วมเรียนในรายวิชาที่เปิดในหลักสูตรปกติของภาควิชาภาษาศาสตร์ได้ ภาคการศึกษาละไม่เกิน 3 รายวิชาสำหรับระดับปริญญาตรี และไม่เกิน 2 รายวิชาสำหรับระดับบัณฑิตศึกษา (ดูคำอธิบายรายวิชาด้านล่าง)

ดูตารางเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนได้ที่

https://www.facebook.com/LingChula/photos/2849645941984561 (รายวิชาระดับปริญญาบัณฑิต)

https://www.facebook.com/LingChula/photos/2849650891984066 (รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษา)

การประเมินผล

สามารถประเมินผลการเรียนได้ 3 แบบ

  • แบบปกติ (A, B+, B, C+, C, D+, D, และ F) หรือ
  • แบบผ่านไม่ผ่าน (S/U) หรือ
  • แบบร่วมฟังบรรยายเท่านั้น (V/W)

รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาที่ได้ผลการประเมินตั้งแต่ B ขึ้นไป หรือได้ผลการประเมินเป็น S และศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี สามารถใช้ยกเว้นรายวิชาเมื่อเข้าเรียนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาภาษาศาสตร์ได้ เงื่อนไขเป็นไปตามข้อบังคับจุฬาฯ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561 และการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตและอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา

คิดค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่ายต่อภาคการศึกษา                                                 

ระดับปริญญาตรี 9,450 บาท และ

ระดับบัณฑิตศึกษา 11,480 บาท 

กรณีที่ต้องลงทะเบียนเรียนสายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ผู้เข้าร่วมเรียนจะต้องชำระเงินค่าปรับให้สำนักทะเบียนในอัตราที่สำนักทะเบียนกำหนด

การสมัครเข้าร่วมเรียน

ผู้ประสงค์สมัครเข้าร่วมเรียนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2563 สามารถกรอกใบสมัครได้ที่ https://bit.ly/3m8ZgXQ ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 โปรดเตรียมเอกสารต่อไปนี้สำหรับอัพโหลดเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

  • สำเนา Transcript แสดงผลการศึกษา
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • CV หรือ Resume

ภาควิชาฯ จะพิจารณาอนุมัติตามเกณฑ์ต่อไปนี้

  • ผู้สมัครสามารถมาเรียนในเวลาที่ภาควิชากำหนดได้
  • ผู้สมัครมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเรียนวิชาที่เลือก
  • ความสนใจของผู้เรียนสอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของรายวิชา
  • รายวิชาที่เลือกยังมีผู้เรียนไม่เต็มจำนวนที่กำหนดไว้

หลังจากปิดรับสมัครแล้ว ภาควิชาฯ จะแจ้งผลผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ นัดสอบสัมภาษณ์ออนไลน์ระหว่างวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2563 และแจ้งผลการพิจารณาให้ท่านทราบภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2563

รายวิชาที่เปิดรับบุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2563

รายวิชาระดับปริญญาตรี

2209305 ความหมายในภาษา

นิยามของความหมายในภาษา ความหมายประเภทต่างๆในระดับคำแนวทางการกำหนดความหมายของคำ วงความหมาย ความหมายเหมือน ความหมายตรงกันข้ามและการพ้องรูปพ้องเสียง

2209371 ภาษาศาสตร์ภาษาโรมานซ์เบื้องต้น

นิยามกลุ่มภาษาโรมานซ์ ความหลากหลายของภาษาในกลุ่มโรมานซ์ ลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มโรมานซ์ พัฒนาการของภาษากลุ่มโรมานซ์จากภาษาละติน สถานการณ์ทางภาษาของภาษากลุ่มโรมานซ์ในโลกปัจจุบัน

2296200 ภาษามนุษย์

นิยามของภาษาวิวัฒนาการของภาษา ลักษณะของภาษามนุษย์ มโนทัศน์พื้นฐานเกี่ยวกับเสียง ระบบเสียง ระบบคำ โครงสร้างประโยคและความหมาย การวิเคราะห์ภาษาตามแนวภาษาศาสตร์ ระบบการเขียน การเปลี่ยนแปลงของภาษา ภาษากับสังคม ภาษากับสมอง

รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษา

2209531  อรรถศาสตร์

สัญญะและการสื่อสัญญะ ประเภทและระดับของความหมายและความกำกวม ความสัมพันธ์ระดับคำศัพท์และระดับประโยค เงื่อนไขความจริงและคำจำกัดความ การจัดประเภทและลำดับชั้นของประเภท ความหมายเชิงไวยากรณ์ ความหมายเชิงเปรียบเทียบ ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย

2209611  ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ 

คำอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางภาษา วิธีการทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางภาษา ประเด็นคัดสรรทางทฤษฎีภาษาศาสตร์เชิงประวัติ

2209621  ทฤษฎีภาษาศาสตร์

พัฒนาการของทฤษฎีภาษาศาสตร์ มโนทัศน์และหลักการของสำนักคิดต่างๆ ปัจจัยที่นำไปสู่การเสนอทฤษฎีเหล่านี้

2209631  กลสัทศาสตร์

คลื่นเสียงในลักษณะองค์ประกอบเชิงกลของระดับเสียงสูงต่ำ ความดังค่อย ความสั้นยาว และสัทสมบัติอื่นๆที่ได้ยิน ความสัมพันธ์ระหว่างกลสัทศาสตร์กับกลไกในการเปล่งเสียงและการรับรู้เสียงพูด

2209653  ภาษาศาสตร์สังคม

การแปรของภาษาตามเงื่อนไขทางสังคม ภาษากับการบ่งชี้วัจนลีลา ภาวะหลายภาษา การสัมผัสภาษา การเลือกภาษา นโยบายภาษาและการวางแผนภาษา

2209670  ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์

แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ระบบการประมวลผลภาษาธรรมชาติแบบใช้กฎ แบบอิงสถิติ และแบบเครือข่ายนิวรอล การประยุกต์ใช้งานการประมวลผลภาษาธรรมชาติในงานต่าง ๆ

2209678  ระบบการประมวลผลภาษาธรรมชาติ

พื้นฐานการพัฒนาระบบการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ปัญหาที่พบบ่อยในการพัฒนาระบบ การสกัดความสัมพันธ์และการสร้างกราฟความรู้ หุ่นนักสนทนา และระบบการถามตอบอัตโนมัติ

Prerequisite: ทักษะการเขียนโปรแกรม และความรู้ทางด้าน NLP หรือ Machine Learning พื้นฐาน