การร่วมเรียนรายวิชาของภาควิชาภาษาศาสตร์ ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2564

ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับบุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียนรายวิชาที่ภาควิชาเปิดสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2564 ดังต่อไปนี้ (นิสิตปัจจุบันสามารถลงทะเบียนเรียนผ่าน reg.chula.ac.th ได้โดยตรง)

รายวิชาระดับปริญญาตรี

  • 2209370 ภาษาและความคิด
  • 2209379 ภาษากับเพศ
  • 2296200 ภาษามนุษย์ (ประเมินผลแบบ S/U เท่านั้น)

วิชาระดับบัณฑิตศึกษา

  • 2209531 อรรถศาสตร์
  • 2209621 ทฤษฎีภาษาศาสตร์
  • 2209670 ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์

บุคคลภายนอกสามารถเข้าร่วมเรียนรายวิชาของภาควิชาภาษาศาสตร์ในแต่ละภาคการศึกษาได้ไม่เกิน 3 รายวิชาสำหรับระดับปริญญาตรี และไม่เกิน 2 รายวิชาสำหรับระดับบัณฑิตศึกษา (ดูคำอธิบายรายวิชา เวลาเรียน และวิธีการจัดการเรียนการสอนด้านล่าง ทั้งนี้ วิธีการจัดการเรียนการสอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามประกาศของมหาวิทยาลัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19)

การประเมินผล

สามารถประเมินผลการเรียนได้ 3 แบบ

  • แบบปกติ (A, B+, B, C+, C, D+, D, และ F) หรือ
  • แบบผ่านไม่ผ่าน (S/U) หรือ
  • แบบร่วมฟังบรรยายเท่านั้น (V/W)

รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาที่ได้ผลการประเมินตั้งแต่ B ขึ้นไป หรือได้ผลการประเมินเป็น S และศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี สามารถใช้ยกเว้นรายวิชาเมื่อเข้าเรียนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาภาษาศาสตร์ได้ เงื่อนไขเป็นไปตามข้อบังคับจุฬาฯ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561 และการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตและอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา

คิดค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่ายต่อภาคการศึกษา                                                                      ระดับปริญญาตรี 9,450 บาท และระดับบัณฑิตศึกษา 11,480 บาท 

กรณีที่ต้องลงทะเบียนเรียนสายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ผู้เข้าร่วมเรียนจะต้องชำระเงินค่าปรับให้สำนักทะเบียนในอัตราที่สำนักทะเบียนกำหนด

การสมัครเข้าร่วมเรียน

ผู้ประสงค์สมัครเข้าร่วมเรียนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2564 สามารถกรอกใบสมัครได้ที่ https://bit.ly/3lGbf1H ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โปรดเตรียมเอกสารต่อไปนี้สำหรับอัพโหลดเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

  • สำเนา Transcript แสดงผลการศึกษา
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • CV หรือ Resume

ภาควิชาฯ จะพิจารณาอนุมัติตามเกณฑ์ต่อไปนี้

  • ผู้สมัครส่งเอกสารการสมัครครบถ้วนภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564
  • ผู้สมัครสามารถเข้าเรียนในเวลาที่ภาควิชากำหนดได้
  • ผู้สมัครมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเรียนวิชาที่เลือก
  • ความสนใจของผู้เรียนสอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของรายวิชา
  • รายวิชาที่เลือกยังมีผู้เรียนไม่เต็มจำนวนที่กำหนดไว้

หลังจากปิดรับสมัครแล้ว ภาควิชาฯ จะแจ้งผลผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ทางอีเมลที่ผู้สมัครให้ไว้ และนัดสัมภาษณ์ออนไลน์ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 หลังจากนั้นจะแจ้งผลการพิจารณาภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

รายวิชาที่เปิดรับบุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2564

รายวิชาระดับปริญญาตรี

2209370 ภาษากับความคิด (Language and Mind)

ในวิชานี้เราจะพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับกระบวนการในการเรียนรู้ เข้าใจ และผลิตภาษาของมนุษย์ เราจะศึกษาว่าความสามารถทางภาษาของมนุษย์และสัตว์เหมือนและต่างกันอย่างไร เด็กเรียนรู้ภาษาได้อย่างไร เรารับรู้เสียงพูด เข้าใจภาษา และผลิตภาษาได้อย่างไร การเรียนรู้ภาษาที่สองมีกระบวนการอย่างไร และมีปัจจัยอะไรที่สำคัญบ้าง การทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับภาษามีธรรมชาติอย่างไร ภาษา ความคิด และวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ภาษาศาสตร์เบื้องต้นมาก่อน

เวลาเรียน: วันอังคาร  9.30 – 12.30 น.

วิธีการจัดการเรียนการสอน: ในห้องเรียน

ผู้สอน: ผศ.ดร.ธีราภรณ์ รติธรรมกุล

2209379 ภาษากับเพศ (Language and Sex)

มโนทัศน์สําคัญทางภาษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของภาษากับเพศทั้งเพศสรีระเพศสภาวะและเพศวิถี การแปรของภาษาตามเพศ การใช้ภาษาเพื่อบ่งชี้เพศ การสร้างและแสดงตัวตนทางเพศผ่านภาษา บทบาทของภาษาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศในสังคม

เวลาเรียน: วันพฤหัสบดี 9.30 – 12.30 น.

วิธีการจัดการเรียนการสอน: ในห้องเรียน

ผู้สอน: ผศ.ดร.ภาวดี สายสุวรรณ

2296200 ภาษามนุษย์ (Human Language)

นิยามของภาษาวิวัฒนาการของภาษา ลักษณะของภาษามนุษย์ มโนทัศน์พื้นฐานเกี่ยวกับเสียง ระบบเสียง ระบบคำ โครงสร้างประโยคและความหมาย การวิเคราะห์ภาษาตามแนวภาษาศาสตร์ ระบบการเขียน การเปลี่ยนแปลงของภาษา ภาษากับสังคม ภาษากับสมอง

เวลาเรียน: วันพุธ  13.00 – 16.00 น.

วิธีการจัดการเรียนการสอน: ออนไลน์

ผู้สอน: ผศ.ดร.ธีราภรณ์ รติธรรมกุล

รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษา

2209531 อรรถศาสตร์ (Semantics)

สัญญะและการสื่อสัญญะ ประเภทและระดับของความหมายและความกำกวม ความสัมพันธ์ระดับคำศัพท์และระดับประโยค เงื่อนไขความจริงและคำจำกัดความ การจัดประเภทและลำดับชั้นของประเภท ความหมายเชิงไวยากรณ์ ความหมายเชิงเปรียบเทียบ ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย

เวลาเรียน: วันจันทร์ 13.00 – 16.00 น.

วิธีการจัดการเรียนการสอน: ในห้องเรียน

ผู้สอน: อ.ดร.ณัฏฐนันท์ จันทร์เจ้าฉาย

2209621 ทฤษฎีภาษาศาสตร์ (Linguistic Theories)

พัฒนาการของทฤษฎีภาษาศาสตร์ มโนทัศน์และหลักการของสำนักคิดต่าง ๆ ปัจจัยที่นำไปสู่การเสนอทฤษฎีเหล่านี้

เวลาเรียน: วันจันทร์ 9.30 – 12.30 น.

วิธีการจัดการเรียนการสอน: ออนไลน์

ผู้สอน: รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล

2209670 ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computational Linguistics)

แนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ระบบการประมวลผลภาษาธรรมชาติแบบใช้กฎ แบบอิงสถิติ และแบบเครือข่ายนิวรอล การประยุกต์ใช้งานการประมวลผลภาษาธรรมชาติในงานต่าง ๆ

Prerequisite: ต้องสามารถเขียนโปรแกรมภาษาไพธอนได้

เวลาเรียน: วันศุกร์ 13.00 – 16.00 น.

วิธีการจัดการเรียนการสอน: ในห้องเรียนและออนไลน์ (blended learning)

ผู้สอน: ผศ.ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์