โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “เรื่องเล่า เรื่องจำ เรื่องลืม(ไม่ลง) ในวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย ตัวอย่างจากอูเวอ ทิมม์”

โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เรื่อง “เรื่องเล่า เรื่องจำ เรื่องลืม(ไม่ลง) ในวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย ตัวอย่างจากอูเวอ ทิมม์”

วันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “เรื่องเล่า เรื่องจำ เรื่องลืม(ไม่ลง) ในวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย ตัวอย่างจากอูเวอ ทิมม์” โดย อ.ดร.นันทนา อนันต์โกศล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ อ.ดร.ชนันพร เหมสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษารัสเซีย ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์นันทนากล่าวเริ่มการบรรยายถึงคำในภาษาเยอรมัน 2 คำ ได้แก่ ความทรงจำ (Gedächtnis) และการจดจำ (Erinnerung) ที่มีความสำคัญต่อการศึกษางานวรรณกรรมเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบรรยายครั้งนี้ที่อาจารย์ขอให้ความสำคัญไปที่งานวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย ซึ่งก็คืองานวรรณกรรมที่ตีพิมพ์หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ในช่วงปี ค.ศ. 1989 และทำให้เยอรมนีตะวันออกและตะวันตกรวมเป็นหนึ่งเดียว เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเมือง และวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำของชาวเยอรมัน ส่งผลให้เกิดการรื้อสร้างความทรงจำผ่านสื่อประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทางวิชาการมากขึ้น ช่วยให้วาทกรรมบางเรื่องที่ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องต้องห้ามได้รับการกล่าวถึง และทำให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าที่เคยมีมา

“ความทรงจำ” ในวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย อาจารย์ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.วรรณกรรมที่นำเสนอภาพชาวเยอรมันในฐานะเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่ 2 2.นวนิยายพ่อ นวนิยายรุ่น และ 3.นวนิยายความทรงจำ นวนิยายการจดจำ ที่นำเสนอประเด็นเรื่องราวต่างๆ ในสังคมเยอรมนีผ่านการประพันธ์งานวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัย

อาจารย์ได้เลือกงานเขียนของอูเวอ ทิมม์ (Uwe Timm) นักเขียนชาวเยอรมันที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เนื่องจากชีวิตที่ผ่านมาของเขามีความเกี่ยวข้องกับทหารและประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพ่อและพี่ชายของเขาที่เป็นทหาร ตัวเขาเองที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากครอบครัว และการสูญเสียเพื่อนสนิทไปในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จนทำให้ทิมม์เลือกที่จะเข้าชุมนุมและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องเล่า เรื่องจำ เรื่องลืมเป็นอย่างมากจนมีการนำแนวคิดทฤษฎีเรื่องความทรงจำมาปรับใช้ในการประพันธ์งานวรรณกรรมของเขาด้วยเช่นกัน

ในตอนท้าย อาจารย์ได้อธิบายกลวิธีการประพันธ์ของทิมม์ ที่มีการประยุกต์นำแนวคิดและหลักการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเล่า การจำ และการลืม มาสะท้อนผ่านผลงานของเขาได้อย่างน่าสนใจและอาจารย์ยังได้ยกตัวอย่างงานเขียนนวนิยายของทิมม์ที่สะท้อนถึงประเด็นเรื่องความทรงจำและการจดจำ ทั้งหมด 4 เรื่อง พร้อมทั้งคำอธิบาย ได้แก่ Der Mann auf dem Hochrad (1984) Die Entdeckung der Currywurst (1993) Am Beispiel meines Bruders (2003) และ Der Freund und der Fremde (2005) ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวอย่างงานเขียนที่สะท้อนถึงแนวคิดเรื่องเล่า เรื่องจำ และเรื่องลืม ในวรรณกรรมเยอรมันร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live ทางด้านล่างนี้
https://www.facebook.com/arts.chulalongkorn/videos/311557480042343

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะอักษรศาสตร์ขอขอบพระคุณคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ (อ.บ. 47) ที่มอบเงินจากการจำหน่ายหนังสือ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์