โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เดือนมกราคม เรื่อง “มิติทางจริยธรรม สังคม และศาสนาของปัญญาประดิษฐ์”

วันที่ 21 มกราคม 2564 เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “มิติทางจริยธรรม สังคม และศาสนาของปัญญาประดิษฐ์” โดย ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์โสรัจจ์กล่าวเริ่มการบรรยายโดยพูดถึงคำจำกัดความของคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เดิมทีแนวคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราว 70 ปีก่อน โดยแนวคิดของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ แม้ว่าปัจจุบัน คำว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีการให้คำนิยามที่แตกต่างกันออกไป แต่จะมีแนวคิดและความเข้าใจที่มีจุดร่วมกัน คือ เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมา (Artificial) และมีปัญญา (Intelligent) ต่อมาอาจารย์ได้อธิบายถึงประเภทของปัญญาประดิษฐ์ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ปัญญาประดิษฐ์ที่ดำเนินการตามคำสั่งที่มนุษย์วางโปรแกรมไว้ หรือเรียกว่า Narrow AI และ 2. ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดและวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง หรือเรียกว่า Artificial General Intelligence (AGI)  ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาได้

เมื่อเข้าใจภาพกว้างๆ ของปัญญาประดิษฐ์แล้ว ต่อมาอาจารย์โสรัจจ์ได้ยกตัวอย่างรูปแบบต่างๆ ของปัญญาประดิษฐ์ประเภทแรก ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น แผนที่ของกูเกิ้ล หรือ Google Map ที่เป็นเสมือนเข็มทิศคอยนำทางในโลกปัจจุบัน หุ่นยนต์นักอ่าน หรือ Robo-readers ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจข้อสอบอัตนัยและให้คะแนนได้ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นตัวตัดสินว่าใครสมควรจะได้รับสิทธิ์ในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้าแทรกซึมและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในประสิทธิภาพที่สูงกว่าและต้นทุนที่ต่ำกว่า แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีประโยชน์หลากหลายด้าน แต่ในบางครั้งที่ปัญญาประดิษฐ์เองก็ก่อความเสียหายขึ้น เช่น นำทางผิดจนทำให้ผู้ขับยานพาหนะเกิดอุบัติเหตุ หรือประเด็นด้านศีลธรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักปรัชญาต้องการรวมตัวกันเพื่อถกเถียงถึงประเด็นด้านจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ กำหนดขอบเขตการใช้งานและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ต้องร่วมมือกันเพื่อหาจุดกี่งกลางระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้ เช่น ประมวลจริยธรรมว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนี้ อาจารย์ได้ยกตัวอย่างถึงประเด็นด้านจริยธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับปัญญาประดิษฐ์ จากหนังสือ The Ethics of AI: A Buddhist Viewpoint เช่น ประเด็นเรื่องตัวแทนและความรับผิดชอบ ในกรณีที่มีการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ หากเกิดอุบัติเหตุใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือประเด็นเรื่องความลำเอียงและอัลกอริทึม ความลำเอียงที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบ และประเด็นนอกเหนือจากนี้ที่น่าสนใจอีกมากมาย

ในตอนท้าย อาจารย์ได้กล่าวถึงรายละเอียดของหนังสือ The Ethics of AI and Robotics หนังสือที่อาจารย์เขียนถึงประเด็นจริยศาสตร์เชิงพุทธในแนวคิดรากฐานของคนเอเชียและพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง AI โดยเฉพาะประเด็นที่เชื่อมโยงกับ AI และหุ่นยนต์ และประเด็นที่ยึดโยงกับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live คลิกเพื่อรับชมคลิปกิจกรรม

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองคณบดีฝ่ายวิชาการและคณะ ต้อนรับคณะผู้บริหารสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (กลุ่มที่ 1) ที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์