โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เดือนมีนาคม เรื่อง“การพึ่งพากันระหว่างมนุษยศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล: บริบทของมนุษยศาสตร์ดิจิทัลไทย”

ในวันที่ 17 มีนาคม เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง“การพึ่งพากันระหว่างมนุษยศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล: บริบทของมนุษยศาสตร์ดิจิทัลไทย” โดย ผศ.ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

แรกเริ่มการบรรยายอาจารย์ได้กล่าวถึงขอบเขตความเข้าใจของแนวคิดทางด้านมนุษย์ศาสตร์ที่ให้ความสำคัญของการเป็นมนุษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ การตีความ การวิพากษ์ การประเมินคุณค่า และการถ่ายทอด ที่มนุษย์ปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่รู้จบ ทำให้เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนกว่ามากเมื่อเทียบกับระบบการทำงานของดิจิทัล อีกทั้งยังมีลักษณะของการเป็นมนุษย์บางประการที่เกิดขึ้นจากตัวมนุษย์เอง เช่น ความจำสั้น ไม่ชอบความจำเจ ไม่ชอบออกแรง ไม่แม่นยำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์พยายามจะพัฒนาเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาหรือข้อจำกัดเหล่านี้ จนทำให้เห็นว่าปัจจุบันแล้วมนุษย์แทบจะไม่สามารถแยกออกจากเทคโนโลยีได้เลย

“มนุษยศาสตร์ดิจิทัล” หรือ “Digital Humanities” มีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลทางด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities Computing) และการนำความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับงานด้านดิจิทัล อาจารย์ได้มีการยกตัวอย่างความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานของมนุษยศาสตร์ดิจิทัล แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เรื่องการที่เทคโนโลยีจะมาแย่งงานเราหรือไม่ แต่มันไปไกลถึงประเด็นที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถคิดเองได้ เราในฐานะมนุษย์ที่เป็นคนพัฒนาจะสามารถควบคุม คาดการณ์ และไว้ใจการทำงานของอุปกรณ์ได้มากแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านมนุษยศาสตร์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกันและยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ต่อยอด คุณธรรม จริยธรรม จารีต ความเป็นมิตรและการต่อรอง จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีการศึกษาถึงกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ต่างไปจากการทำงานด้านมนุษยศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อทำให้การทำงานร่วมกันของมนุษยศาสตร์ดิจิทัลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ อาจารย์ได้กล่าวเสริมถึงบริบทของมนุษยศาสตร์ดิจิทัลในประเทศไทยในปัจจุบันที่แม้ว่าจะมีให้เห็นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในบางองค์กร เช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กลุ่มวิจัยมนุษยศาสตร์ดิจิทัลที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ห้องสมุดวชิรญาณ NECTEC ที่มีการนำความรู้และความสามารถทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในทางมนุษยศาสตร์ เช่น ภาษาศาสตร์ สถาปัตยกรรม โบราณคดี เป็นต้น แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังมีอยู่อย่างกระจัดกระจายในประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการวางแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน

ในตอนท้าย อาจารย์ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการวิจัย “วิถีดิจิทัลในมนุษยศาสตร์สู่กรพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างคน สร้างทีม และความร่วมมือจากหลากหลายสถาบัน แบ่งย่อยเป็น 3 โครงการหลัก 15 โครงการย่อย โดยส่วนของอาจารย์ทรงพันธ์ที่ได้ทำงานร่วมกับ ผศ.ดร.ทิพยา จินตโกวิท โครงการวิถีมนุษยศาสตร์ดิจิทัลไทย ในประเด็นเรื่อง พรมแดนมนุษยศาสตร์ดิจิทัลไทย: แกะรอยชุมชนและผลงานทางวิชาการแบบสหสาขาวิชา และยังมีอีก 2 โครงการที่ได้กล่าวถึงด้วยเช่นกันคือ นวัตวิธีในมนุษยศาสตร์ดิจิทัล และสะท้อนย้อนคิดวิถีชีวิตดิจิทัล

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านการรับฟังและรับชมคลิปกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านลิงก์ของ Facebook Live คลิกเพื่อรับชมคลิปกิจกรรม และติดตามรายละเอียดโครงการได้จากเพจเฟซบุ๊ก วิถีดิจิทัลในมนุษยศาสตร์

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง