โครงการอักษรศาสตร์สู่สังคม เดือนกุมภาพันธ์ “การสร้างความเป็นอื่น (ส่วนหนึ่งหรือส่วนเกิน?): กรณีแรงงานจากเมียนมาในสมุทรสาคร”

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00-15.30 น. คณะอักษรศาสตร์ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษ อักษรศาสตร์สู่สังคม ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ในหัวข้อเรื่อง “การสร้างความเป็นอื่น (ส่วนหนึ่งหรือส่วนเกิน?): กรณีแรงงานจากเมียนมาในสมุทรสาคร” โดย อ.ดร.พุทธพร อารีประชากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และ ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

งานวิจัยนี้รวบรวมข้อมูลเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล 1 ปี จากการลงพื้นที่จริง คุลกคลี และทำงานร่วมกับแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครเป็นเวลา 3 เดือน จึงได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลในมุมมองของคนพื้นที่โดยตรงในโรงงานทอผ้าและโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่จังหวัดสมุทรสาคร

มหาชัย หรือจังหวัดสมุทรสาครตั้งอยู่ทางตะวันตกของภาคกลางตอนล่าง ของประเทศไทย คำว่ามหาชัย มีความหมายที่หลากหลายขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียก โดยทั่วไปมักหมายถึง พื้นที่ที่มีชุมชนแรงงานจากเมียนมา เป็นพื้นที่ที่โด่งดังในเรื่องการค้าขายวัตถุดิบทางทะเล เป็น borderland เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ที่มีความทับซ้อนกันของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม แรงงานข้ามชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่ในสังคมไทย เดิมทีชาวเมียนมามีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ในมหาชัยมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักประมาณ 3 ชาติพันธุ์ ได้แก่ มน เคอเรน แล้วก็เมียนมา

ประเด็นปัญหาของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาเรื่องสำคัญ คือ การขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนมีความซับซ้อนยุ่งยาก การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลไทยไม่ทั่วถึง แรงงานข้ามชาติจากเมียนมาในประเทศไทยมีจำนวนมาก ที่มหาชัยน่าจะมีประมาณ 4 แสนคน และเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 1.6 แสนคน

การวิจัยได้ศึกษาจุดเริ่มต้นของชุมชนมหาชัย ชุมชนเมียนมาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (รองจากกรุงเทพฯ) ในจังหวัดสมุทรสาคร จากหลายเหตุผลที่ทำให้กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุด อาจารย์ได้แบ่งเป็น 5 เหตุผล ได้แก่ 1) เหตุผลทางเศรษฐกิจ ในปี 1990 เศรษฐกิจไทยเติบโตมาก จังหวัดสมุทรสาครต้องการแรงงานจำนวนมาก ทั้งการประมงและงานโรงงาน อีกทั้งค่าจ้างในประเทศไทยก็สูงกว่าในเมียนมาด้วย มีการเชิญชวนญาติพี่น้องจากเมียนมาเข้ามาทำงานมากขึ้น ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ 2) เหตุผลทางการเมืองและกฎหมาย ในอดีต การเมืองและการปกครองภายใต้พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า เป็นแรงผลักดันให้เกิดการอพยพหนีมาประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้มีแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย แต่จำกัดสถานที่บางจังหวัด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท เช่น การประมง การก่อสร้าง เป็นต้น 3) เครือข่ายของแรงงาน หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการขยายตัวของชุมชนแรงงานจากเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร แรงงานจากเมียนมาเชื่อมต่อกันผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนายจ้างและการจ้างงานในจังหวัดสมุทรสาคร 4) ความชื่นชอบทางสังคมและวัฒนธรรม แรงงานเมียนมาชอบมหาชัยมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับชาวเมียนมามากกว่า 5) การเข้าถึงและการจ้างนายหน้า แม้ว่ามหาชัยจะไม่ได้ติดกับชายแดนพม่า แต่การเข้ามาไม่ได้ลำบาก ชาวเมียนมาสามารถเข้ามาได้ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และการเข้าเมืองผ่านการจ้างนายหน้า

อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องราวการเดินทางเข้ามาประเทศไทยจากประสบการณ์ของแรงงานที่เคยทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่มหาชัย แรงงานคนนี้เดินทางเข้ามาประเทศไทยผ่านการติดต่อนายหน้าโดยจ่ายค่าจ้างประมาณ 7,000-8,000 บาทในตอนนั้น และเข้ามาทางพรมแดนระนอง-เกาะเต่า แรงงานคนนี้ใช้เวลาเดินทางหลายวันมายังกรุงเทพฯ ด้วยการเดินทางโดยรถ เรือ และเดินเท้า เพื่อเข้ามาที่กรุงเทพฯ เรื่องเล่านี้เป็นประสบการณ์ของแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายในสมัยนั้น

สำหรับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานชาวเมียนมา แรงงานในโรงงานทำงานหนัก ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น และทำงานล่วงเวลา (โอที) ตั้งแต่ 5 โมงครึ่งถึง 3-4 ทุ่ม เนื่องจากเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ สภาพแวดล้อมในโรงงานมีฝุ่นปริมาณมาก แรงพักอาศัยอยู่อย่างแออัดในแต่ละห้องพักและแบ่งปันอาหารให้กับทุกคนในหอพัก ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานชาวไทยกับแรงงานชาวเมียนมา แรงงานชาวไทยชอบออกคำสั่ง แม้แรงงานชาวเมียนมาจะทำตาม แต่อาจชักสีหน้า หรือโต้เถียงกัน นอกจากนี้ แรงงานไทยจำนวนหนึ่งไม่ชอบเรียกชื่อแรงงานเมียนมา อาจเป็นเพราะการออกเสียงทำได้ยาก แต่กลับเรียกพวกเขาโดยใช้รูปลักษณ์แทน เช่น อ้วน ดำ ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นอื่นในรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ยังมองแรงงานจากเมียนมาในเชิงลบ เช่น มองเป็นศัตรู เมื่อมองย้อนกลับไป สาเหตุเริ่มต้นอาจมาจากการศึกษาของไทยที่ปลูกฝังแนวคิดที่มีต่อชาวพม่าที่เป็นศัตรูกับคนไทย เข้ามาทำลายอยุธยา ทำให้คนไทยมีอคติต่อคนเมียนมา และมองเขาในเชิงลบ การปลูกฝังแนวคิดที่มองชาวพม่าเป็นศัตรูนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างชาติของรัฐไทยในอดีต อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้แม้จะพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสื่อของไทยยังคงผลิตซ้ำภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อชาวเมียนมา ปลูกฝังแนวคิดที่ชาวเมียนมาเป็นคนอื่น เป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรอยู่ในสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ

ในทางภูมิศาสตร์ ในประเด็นการสร้างความเป็นอื่นผ่านทางพื้นที่ มีคำกล่าวว่า “race makes place and place makes race” กล่าวคือ ชาติพันธุ์เป็นคนเปลี่ยนพื้นที่ที่เขาอาศัยให้เกิดอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่เปลี่ยนไปก็ทำให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ขึ้นด้วย เนื่องจากเมื่อเรามองภาพรวมของพื้นที่หนึ่ง เรามักเหมารวมว่าคนภายในพื้นที่นั้นทุกคนมีลักษณะเหมือนกัน เช่น เรามองว่าภาพลักษณ์ของมหาชัยเป็นชุมชนชาวเมียนมา และเรามีมุมมองว่าชาวเมียนมาเป็นคนอื่น หรือเป็นศัตรู ทำให้เรามองว่าพื้นที่มหาชัยเป็นพื้นที่ที่อันตราย หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรไป ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นอื่นที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ รูปแบบที่สะท้อนว่ามองแรงงานชาวเมียนมาเป็นคนอื่น อาทิ การเอารัดเอาเปรียบแรงงานในพื้นที่มหาชัย ทั้งจากนายจ้างหรือแม้กระทั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วยซ้ำ การเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนที่แรงงานได้รับ หรือการที่คนไทยส่วนหนึ่งมองว่าเขาสมควรได้รับการเอารัดเอาเปรียบเพราะเขามาพึ่งพิงเรา

ในการบรรยายครั้งนี้ อาจารย์ ดร.พุทธพร กล่าวถึง ปัจจัยต่างๆ ที่ผลักดันให้ชาวเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทย สภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงาน และการสร้างความเป็นอื่นในพื้นที่มหาชัย สาเหตุที่ทำไมเรามองเขาเป็นคนอื่น ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เราปฏิบัติต่อเขา อาจารย์เสนอว่าเราควรสร้างความเป็นส่วนหนึ่งมากกว่าเป็นส่วนอื่น เช่น พยายามทำให้แรงงานชาวเมียนมาถูกกฎหมาย รับฟังและหาแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย เช่น ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป และควรมีการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพื้นที่มหาชัย อาจใช้วิธีเดียวกับที่เราสร้างภาพลักษณ์ของพวกเขามาในอดีต เช่น การศึกษา การผลิตซ้ำของสื่อ เป็นต้น อีกแนวทางหนึ่ง คือ การสร้างเมียนมาทาวน์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมของชาวเมียนมา เพื่อช่วยให้เราเข้าใจพวกเขามากขึ้น ลดความเกลียดชัง เลิกเพิกเฉยต่อปัญหาและเลิกการเอารัดเอาเปรียบ ที่สำคัญควรมองว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพราะหากเกิดอะไรขึ้นในสังคมแรงงานข้ามชาติจากเมียนมา จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในภาพรวมด้วยเช่นกัน

โดยสรุป ชุมชนมหาชัยเริ่มก่อตัวและขยายขึ้นภายในระยะเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว แรกเริ่มตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 ที่เศรษฐกิจไทยกำลังรุ่งเรือง อุตสาหกรรมหลายภาคส่วนต้องการแรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มเปิดรับแรงงานชาวต่างชาติอย่างถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ประเด็นอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการขยายตัวของชุมชนแรงงานในพื้นที่มหาชัย ได้แก่ เหตุผลด้านการเมืองและกฎหมาย ในอดีตการเมืองประเทศพม่าที่ดำเนินโดยพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ชาวเมียนมาหลายคนจึงตัดสินใจที่จะอพยพหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่มีค่าแรงในอัตราที่สูงกว่า ประเด็นเรื่องเครือข่ายของแรงงานเองก็นับว่าเป็นอีกประเด็นที่สำคัญอย่างมากต่อการขยายตัวของชุมชน โดยแรงงานจากเมียนมาสื่อสารติดต่อผ่านทางเครือข่ายแรงงาน กรณีที่นายจ้างต้องการแรงงานเพิ่ม สามารถติดต่อหาญาติพี่น้องที่เมียนมาเพื่อให้ย้ายมาเป็นแรงงานเพิ่มเติมได้ ทำให้มีแรงงานจากเมียนมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นถัดมาคือเรื่องความชื่นชอบทางวัฒนธรรม จากการสัมภาษณ์แรงงานจากเมียนมา เห็นพ้องกันว่าบริเวณพื้นที่มหาชัยมีสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเดิมของเขา แรงงานจากเมียนมาส่วนใหญ่จึงตัดสินใจที่จะมาทำงาน ณ ที่แห่งนี้ และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการเข้าถึงการจ้างนายหน้า ที่แม้ว่ามหาชัยจะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ติดกับชายแดน แต่การย้ายเข้ามานั้นไม่ได้มีความลำบากมากนัก สามารถทำได้ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

คลิกเพื่อรับชมวิดีโ

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง