The Social Question (1) มิติทางจริยศาสตร์และญาณวิทยาจากความขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์

The Social Question (1) มิติทางจริยศาสตร์และญาณวิทยาจากความขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์

ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ The Social Question: จริยศาสตร์กับโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ในหัวข้อ “มิติทางจริยศาสตร์และญาณวิทยาจากความขัดแย้งในสื่อสังคมออนไลน์” โดยเรียนเชิญ ผศ.ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มาเป็นวิทยากร

จากการเสวนา อาจารย์ได้กล่าวถึงที่มาของประเด็นดังกล่าวว่า โดยปกติมุนษย์เรามักมีอคติในเชิงยืนยัน (confirmational bias) หรือเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เรายึดถือนั้นมีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าสิ่งที่ผู้อื่นยึดถือ อีกทั้งในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือค้นหาอย่าง Google ที่มีการทำงานโดยการแสดงผลการค้นหาที่มีลักษณะเป็น personalization นั่นคือจะแสดงแต่เนื้อหาที่เว็บคาดว่าเราสนใจและจะกรองสิ่งที่เราไม่สนใจหรือไม่เชื่อออกไป ซึ่งอาจส่งผลทำให้อคติในตัวเองที่มีอยู่ก่อนแล้วเพิ่มมากขึ้นจนหลายครั้งกลายเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในโซเชียลมีเดียและชีวิตจริง

ด้วยเหตุนี้อาจารย์จึงสนใจที่จะศึกษาวิจัยถึงหลักเกณฑ์ที่ฝังอยู่เบื้องหลังข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ โดยศึกษาจากการแสดงความคิดเห็นในเพจเฟสบุ๊ก เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้มากที่สุดและมีความหลากหลายของกลุ่มผู้ใช้งานมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งหลังจากการสังเกตการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้เฟสบุ๊ก อาจารย์พบข้อสังเกตที่เกิดขึ้น สรุปรวมได้เป็น 6 ข้อสังเกตทางญาณวิทยาและ 4 ข้อสังเกตทางจริยศาสตร์ ซึ่งจะช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใดเขาถึงแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น มันมีความคิดทัศนคติอะไรแฝงอยู่ และมันก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนี้ อาจารย์ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่าในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมของคนก็ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เสมอไป แต่การพยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผลหรือแนวคิดต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกระทำสามารถช่วยให้เราเข้าถึงการกระทำของคน ๆ นั้นมากขึ้น ทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าความขัดแย้งไม่ได้ไม่ดีในตัวเอง บางครั้งความขัดแย้งก็ทำให้คนฉุกคิดเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ความขัดแย้งบางเรื่องก็ไม่ควรเกิดขึ้น หรือหมายความว่าบางเรื่องเราสามารถแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าแก้ที่ตัวเราแล้วมันจะจบ ทุก ๆ ภาคส่วนควรรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็นสื่อที่ผลิตเนื้อหาต่าง ๆ จนไปถึงบทบาทของรัฐบาลที่มีส่วนให้คนเกิดความเชื่อฝังหัว มันควรแก้ตั้งแต่บนลงมาล่างนอกเหนือไปจากแก้ที่เกณฑ์การสร้างความเชื่อของปัจเจกบุคคล เพราะทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำอธิบาย 6 ข้อสังเกตทางญาณวิทยาและ 4 ข้อสังเกตทางจริยศาสตร์ และประเด็นอื่น ๆ ที่อาจารย์ได้นำเสนอไว้ จากลิงก์วีดิโอของเพจภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ https://fb.watch/2eVqf8prlo/ หรือลิงก์ข่าวประชาไทที่ได้มีการถอดและเรียบเรียงการเสวนาเอาไว้ https://prachatai.com/journal/2020/11/90542

[post-views]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะอักษรศาสตร์ขอขอบพระคุณคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ (อ.บ. 47) ที่มอบเงินจากการจำหน่ายหนังสือ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์