อักษรศาสตร์ จุฬาฯ 100 ปี

ในวาระครบ 100 ปี ณ พ.ศ. 2560 คณะอักษรศาสตร์มีความแตกต่างจากเมื่อแรกก่อตั้งทั้งด้านสถานภาพ การจัดการเรียนสอน ตลอดจนที่ตั้ง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านสถานภาพ การจัดการเรียนสอน และที่ตั้ง เช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่กระจ่างแจ้งเกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ตั้งแต่แรกเริ่ม ในลำดับแรกจึงควรเข้าใจความเป็นมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงพิจารณาความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของคณะอักษรศาสตร์ในแต่ละทศวรรษ


จากสำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถึงแม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะก่อตั้งขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีความสืบเนื่องมาจากสถาบันอื่นก่อนหน้านั้นซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว  คือ มีวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน  โรงเรียนมหาดเล็ก  โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับ

มูลเหตุการก่อตั้งสำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนสืบเนื่องมาจากการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2435  ซึ่งส่งผลต่อความต้องการข้าราชการผู้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมมหาดเล็กจัดตั้งสำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนขึ้นใน พ.ศ. 2442 ที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการปกครอง  ตลอดจนความรู้ความชำนาญเพื่อการปฏิบัติราชการในกระทรวงต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย  ต่อมาใน พ.ศ. 2445 สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก  

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาใน พ.ศ. 2453    ซึ่งนอกจากโรงเรียนมหาดเล็กแล้วยังได้รวมโรงเรียนแห่งอื่นของกระทรวงต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นแล้ว  ตลอดจนโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่อีก 1 แห่งเข้ามาสมทบด้วย  และพระราชทานนามสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ว่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทั้งนี้เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนมหาดเล็กที่ผ่านมานี้สนองประโยชน์แก่การปกครองตามหัวเมืองเป็นหลัก  สมควรจะขยายการเรียนการสอนให้รองรับกิจการทางด้านพลเรือนด้านอื่นๆ แก่ทุกกระทรวงด้วย  ประกอบกับสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงมีพระราชปณิธานที่จะให้ไทยมีสถาบันการศึกษาระดับสูงถึงขั้นอุดมศึกษามาก่อนหน้านี้แล้ว  ดังที่ได้เคยมีโครงการจัดตั้ง “สากลวิทยาลัยรัตนโกสินทร์” ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 แต่ยังไม่ประสบผล   ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้ามาเป็นทุนในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ แห่งนี้  เพราะเงินเหล่านี้มาจากการเรี่ยไรของราษฎร  จึงสมควรนำมาทำการเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ตอบแทนแก่ราษฎรเช่นกัน  โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ที่จัดตั้งขึ้นนี้ประกอบด้วย 5 โรงเรียนย่อย  โดยได้จัดให้โรงเรียนมหาดเล็กเดิมเป็นโรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์   และรวมกับโรงเรียนแห่งอื่นๆ อีก 4 โรงเรียน  สถานที่ตั้งของแต่ละโรงเรียนก็คงอยู่ในที่เดิม  เพียงแต่รวบรวมระเบียบการมาไว้รวมกัน  ดังนั้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เมื่อจัดตั้งขึ้นจึงจัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน ได้แก่

1.  โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ (โรงเรียนมหาดเล็กเดิม) อยู่ที่พระบรมมหาราชวัง

2.  โรงเรียนฝึกหัดครู อยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ธนบุรี

3.  โรงเรียนราชแพทยาลัย อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

4.  โรงเรียนกฎหมาย อยู่ที่ห้างแบดแมนเดิม ใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา

5.  โรงเรียนยันตรศึกษา อยู่ที่วังวินด์เซอร์หรือวังใหม่ ปทุมวัน

ในบรรดา 5 โรงเรียนนี้  มีเพียงโรงเรียนยันตรศึกษาเท่านั้นที่ตั้งขึ้นใหม่  โดยตั้งขึ้นที่วังวินด์เซอร์หรือวังใหม่ หรือ วังกลางทุ่ง  ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเกษตรที่โอนมาสมทบกับโรงเรียนยันตรศึกษาของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ด้วยเช่นกัน  และเมื่อได้พื้นที่แห่งใหม่เพิ่มขึ้นนี้  ทำให้ในเวลาต่อมาโรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์และโรงเรียนฝึกหัดครูได้ย้ายมาอยู่ที่วังวินด์เซอร์ด้วย รวมเป็น 3 โรงเรียน  ถึงกระนั้นโรงเรียนทั้งหมดก็ยังไม่ได้มารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกันด้วยปัญหาเรื่องสถานที่และความเป็นมาแต่เดิม  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ที่ดินของพระคลังข้างที่เพิ่มขึ้นรวมจำนวน 1309 ไร่ด้วย   ทำให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้ขยายขอบเขตมากขึ้นกว่าพื้นที่ของวังวินด์เซอร์ที่มีอยู่เดิม  คือ ทิศตะวันออกจดถนนสนามม้า  ทิศตะวันตกจดคลองสวนหลวง  ทิศเหนือจดถนนสระปทุม ทิศใต้จดถนนหัวลำโพง   โดยเริ่มสร้างตึกแห่งแรก คือ ตึกบัญชาการซึ่งมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458   ต่อมาทรงมีพระราชดำริว่าสมควรจะขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขึ้น  คือ ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่จะเข้ารับราชการเท่านั้น  ผู้ใดที่มีความประสงค์จะศึกษาวิชาการขั้นสูงก็สามารถเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้ได้   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459  ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนในระยะแรกเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์เดิม) คณะแพทยศาสตร์ (โรงเรียนราชแพทยาลัยเดิม)  คณะวิศวกรรมศาสตร์ (โรงเรียนยันตรศึกษาเดิม) และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์   เท่ากับว่า 3 คณะแรกสืบเนื่องมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ  ส่วนคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้นได้ตั้งขึ้นใหม่เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานแก่คณะอื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการสอนชั้นเตรียมแพทย์เพื่อส่งนิสิตไปเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์  ทั้งนี้ โรงเรียนฝึกหัดครูย้ายกลับไปสังกัดกรมศึกษาธิการ  กระทรวงธรรมการ  โรงเรียนกฎหมายย้ายกลับไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมเช่นเดิม  ในด้านสถานที่ตั้งนั้น  มีเพียงคณะแพทยศาสตร์แห่งเดียวที่ตั้งอยู่ภายนอกพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน คือ ยังคงอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเช่นเดิม  ส่วนอีก 3 คณะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ คณะรัฐประศาสนศาสตร์กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ทำการสอนที่ตึกบัญชาการ  คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระยะแรกทำการสอนที่วังวินด์เซอร์

 

ทศวรรษแรก (พ.ศ. 2460-2470)

        ในระยะนี้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ยังรวมเป็นคณะเดียวกัน  และมีคณบดีคนแรก คือ ม.จ.พูนศรีเกษม  เกษมศรี อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกเริ่มนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมิได้จัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาบัณฑิต  เพราะในขณะนั้นมีผู้จบการศึกษาระดับมัธยมบริบูรณ์ หรือ มัธยมปีที่ 8 เป็นจำนวนน้อย  เมื่อผู้เข้ามาศึกษาส่วนมากจบมัธยมปีที่ 6 ซึ่งยังมีพื้นฐานความรู้ไม่เพียงพอ  ประกอบกับความพร้อมด้านอื่นๆ ก็ยังไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะนี้จึงจัดการเรียนการสอนเพียงระดับประกาศนียบัตรใน 3 คณะ คือ  คณะแพทยศาสตร์  คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ยังมิได้มีหลักสูตรทางด้านอักษรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์โดยตรง  แต่ได้จัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานให้แก่คณะอื่น  ซึ่งหมายความว่าขณะนี้ยังไม่มีนิสิตอักษรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์  วิชาที่จัดสอนในระยะแรก คือ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์  ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวิชารุ่นแรกทางด้านอักษรศาสตร์ที่จัดสอน คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์

เนื่องด้วยภารกิจหลักในระยะแรกคือการสอนวิชาพื้นฐานแก่คณะอื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะแพทยศาสตร์  ดังนั้นเมื่อมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ไปสู่ระดับปริญญาเป็นคณะแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2466   ความช่วยเหลือนี้จึงเกี่ยวข้องมาถึงคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งทำการสอนนิสิตเตรียมแพทยศาสตร์ด้วย  สำหรับทางด้านอักษรศาสตร์โดยตรงนั้น  ทางมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนการจ้างอาจารย์ภาษาอังกฤษ 1 คน  เงินเดือนๆ ละ 700 บาท เป็นเวลา 3 ปี

ในช่วงปลายทศวรรษแรกนี้ คือ พ.ศ. 2468  ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงพ้นจากตำแหน่งคณบดี  พระดรุณพยุหรักษ์ (บุญเย็น  ธนโกเสส) จึงได้รักษาการในตำแหน่งคณบดีเป็นเวลา 2 ปีจนถึง พ.ศ. 2470  จากนั้นพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แทน


ทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2471-2480)

พัฒนาการด้านการเรียนการสอนที่สำคัญในทศวรรษนี้ คือ  หลังจากที่ได้สอนวิชาพื้นฐานแก่คณะอื่นมาระยะหนึ่ง  คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรเฉพาะทางด้านอักษรศาสตร์ควบคู่กับหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ใน พ.ศ. 2471 เพื่อจะผลิตครูมัธยมสายอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคณะอื่น คือ ในระยะแรกเริ่มนี้ยังมิได้สอนถึงระดับปริญญาตรี  แต่เป็นหลักสูตร 3 ปีในระดับประกาศนียบัตร  สำหรับทางด้านอักษรศาสตร์นั้น ใน 2 ปีแรกได้จัดการเรียนการสอนวิชาเฉพาะอักษรศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรรมวิภาค และคณิตศาสตร์  หลังจากนั้นจึงเรียนวิชาครูอีก 1 ปี  ผู้จบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.)  และหลังจากที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้จัดการสอนในระดับประกาศนียบัตรหลักสูตร 3 ปีมาอีกระยะหนึ่ง  ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตใน พ.ศ. 2477  ส่งผลให้นิสิตอักษรศาสตร์ที่เรียนอยู่ในเวลานั้นได้ปรับเข้าสู่ระดับปริญญาและสำเร็จการศึกษาเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกใน พ.ศ. 2478 จำนวน 33 คน  ส่วนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) เปลี่ยนเป็นหลักสูตรอนุปริญญาอักษรศาสตร์ 


อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก พ.ศ. 2478


ส่วนงานด้านการบริหาร  พระยาภะรตราชาได้ดำรงตำแหน่งคณบดีจนถึง พ.ศ. 2475 และศาสตราจารย์ ม.จ.รัชฎาภิเษก โสณกุล ได้เข้าดำรงตำแหน่งแทน  แต่ใน พ.ศ. 2478 ได้ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ  ศาสตราจารย์หลวงพรตพิทยพยัต (พรต เดชา) จึงได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์คนต่อมา อีกทั้งใน พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะ  คณะอักษรศาสตร์แบ่งออกเป็นแผนกอักษรศาสตร์และแผนกฝึกหัดครู  คณะวิทยาศาสตร์ก็แบ่งออกเป็นแผนกวิทยาศาสตร์และแผนกฝึกหัดครูเช่นกัน  แต่ในปีเดียวกันนี้ก็ได้กลับมารวมกันอีกครั้ง  โดยแบ่งงานออกเป็น 9 แผนกคือ แผนกสารบรรณและหอสมุดของคณะ แผนกเคมี แผนกฟิสิกส์ แผนกชีววิทยา แผนกคณิตศาสตร์ แผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกภาษาปัจจุบัน แผนกภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และ แผนกฝึกหัดครู  การจัดแบ่งแผนกระยะนี้ทำให้มีการรวมบางสาขาวิชาให้อยู่ในแผนกเดียวกัน คือ ภาษาไทยและภาษาบาลีรวมอยู่ในแผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก  ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษจัดอยู่ในแผนกภาษาปัจจุบัน  รวมทั้งประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ซึ่งรวมอยู่ในแผนกเดียวกันด้วย

ในด้านสถานที่ตั้ง  คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ย้ายจากวังวินด์เซอร์มาจัดการเรียนการสอนที่ตึกวิทยาศาสตร์ ถนนพญาไท ในปลายปี พ.ศ. 2471  และเมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีนิสิตของตนโดยตรงแล้ว  ได้ใช้สถานที่เรียนทั้งที่วังวินด์เซอร์  ตึกวิทยาศาสตร์ และ ตึกบัญชาการ   สำหรับตึกบัญชาการนั้น  ด้วยเหตุที่ยังมีนิสิต 3 คณะ คือ คณะรัฐประศาสนศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์ และ อักษรศาสตร์ เรียนร่วมกันอยู่ นิสิตแต่ละคณะจึงเรียกตึกนี้ในชื่อคณะของตน ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ อดีตนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2473 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เรียนรวมกันอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกนี้ อย่างไรก็ตามอีกไม่กี่ปีต่อมาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ (ใน พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนเป็นคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์) ได้โอนไปรวมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2477 และตึกใหม่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ ตึกวิศวกรรมศาสตร์ 1 สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2478 แต่คณะอักษรศาสตร์ยังคงทำการเรียนการสอนอยู่ที่ตึกบัญชาการนี้สืบต่อมาเป็นเวลายาวนาน  ดังนั้นตึกนี้ต่อมาจึงได้ชื่อว่าตึกอักษรศาสตร์ 1 หรืออาจเรียกกันอีกชื่อหนึ่งอย่างไม่เป็นทางการว่า “เทวาลัย”


ตึกบัญชาการ (ตึกอักษรศาสตร์ 1 ในเวลาต่อมา) ในระยะแรกยังคงมุงหลังคาจาก

ตึกอักษรศาสตร์ 1


ทศวรรษที่ 3 (พ.ศ. 2481-2490)

ในทศวรรษนี้ คือ ระหว่าง พ.ศ. 2481-2490 ได้มีวิธีการรับนิสิตเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์แตกต่างจากช่วงเวลาอื่น  ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้มิได้เกิดกับคณะอักษรศาสตร์เท่านั้น  แต่รวมถึงทุกคณะและแผนกวิชาที่จัดการเรียนการสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเวลานั้น  ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479  มีนโยบายให้ยุบเลิกชั้นมัธยมปีที่ 7-8  และตั้งเป็นชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นแทน  โดยให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีในเวลานั้นจัดการสอนระดับเตรียมอุดมศึกษาของตนเอง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใน พ.ศ. 2480  และวิธีการรับนิสิตในระยะนี้ คือ นิสิตที่จะเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ ก่อน  สำหรับนิสิตอักษรศาสตร์ต้องเรียนแผนกเตรียมอักษรศาสตร์หลักสูตร 2 ปี แล้วจึงเข้ามาเรียนในคณะอักษรศาสตร์  อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ  ถ้าปีใดมีนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ จำนวนน้อย เช่น พ.ศ. 2483 และ 2485 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมถึงคณะอักษรศาสตร์ก็เปิดรับสมัครนิสิตเพิ่มเติม   แต่ต่อมารัฐบาลได้ยกเลิกนโยบายนี้ใน พ.ศ. 2490

ส่วนพัฒนาการทางวิชาการในระยะนี้ คือ ใน พ.ศ. 2485 ศาสตร์ทางด้านอักษรศาสตร์ได้พัฒนาไปถึงขั้นเปิดสอนระดับปริญญามหาบัณฑิตซึ่งนับเป็นคณะแรกที่เปิดสอนถึงระดับนี้ (ในระยะนี้มหาวิทยาลัยยังมิได้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นเพื่อจัดการศึกษาระดับปริญญาขั้นสูงโดยตรง)  ส่งผลให้มีผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตเป็นรุ่นแรกใน พ.ศ. 2487 จำนวน 2 คน คือ ร.ท.พร้อม พานิชภักดิ์ จากสาขาวิชาภูมิศาสตร์ กับ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และในเวลาใกล้เคียงกันนี้ได้เปิดสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น คือ ภาษาญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2488 เนื่องจากรัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา  โดยมีสถานะเป็นวิชาเลือก  แต่ได้ยกเลิกไปในปีเดียวกันเมื่อสงครามยุติลง

ในด้านการบริหาร เนื่องจากศาสตราจารย์หลวงพรตพิทยพยัตถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2483  ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ จึงรักษาการแทนคณบดีไปจนถึง พ.ศ. 2485 ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอาชีวศึกษา  และศาสตราจารย์หลวงประวัติวรวิชชุการี (ม.ล.ประวัติ อิศรางกูร) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ  พ.ศ. 2486 ได้มีการแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะอีกครั้งหนึ่ง  นับจากนี้ไปคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้แยกออกจากกันเป็น 2 คณะดังที่ปรากฏเช่นปัจจุบันนี้  แต่ในระยะแรกยังมีคณบดีคนเดียวร่วมกัน คือ ศาสตราจารย์หลวงประวัติวรวิชชุการี  ดังนั้นในทางปฏิบัติการบริหารงานจึงคงรวมกันอยู่

 

ทศวรรษที่ 4 (พ.ศ. 2491-2500)

ในทศวรรษนี้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ คือ ตึกอักษรศาสตร์ 3 ได้ก่อสร้างขึ้น  แต่ในระยะนั้นสร้างเพื่อเป็นตึกของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีซึ่งได้เปิดใช้ใน พ.ศ. 2491  ดังนั้นในระยะแรกนี้จึงมีชื่อว่าอาคารเภตราทิพย์ และด้วยเหตุนี้ตึกอักษรศาสตร์ 3 จึงสร้างก่อนตึกอักษรศาสตร์ 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายทศวรรษนี้  เพราะเมื่อแรกสร้าง  ตึกอักษรศาสตร์ 3 ยังมิได้เป็นตึกของคณะอักษรศาสตร์ 

ทศวรรษที่ 4 นี้มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริหารเป็นอย่างมากซึ่งสืบเนื่องจากทศวรรษที่ผ่านมา คือ หลังจากได้แยกกับคณะวิทยาศาสตร์ใน พ.ศ. 2486 และมีสถานะเป็นคณะอักษรศาสตร์อยู่ระยะหนึ่ง  ใน พ.ศ. 2491 ได้เปลี่ยนชื่อจากคณะอักษรศาสตร์เป็น “คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์” เพื่อรองรับการเปิดสอนปริญญาครุศาสตรบัณฑิตขึ้นด้วย  ในขณะนั้นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์มีแผนกวิชาต่างๆ รวม 4 แผนกวิชาคือ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และ แผนกวิชาครุศาสตร์  อีก 2 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2493  คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ได้แยกการบริหารงานจากคณะวิทยาศาสตร์  ตลอดจนมีคณบดีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของแต่ละคณะต่างหากจากกัน  คณบดีคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ คือ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์

ในระยะนี้  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2495-2501 ด้วย


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสอนภาษาฝรั่งเศส

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์


ในปลายทศวรรษนี้ คือ พ.ศ. 2498 ได้มีการจัดตั้งแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกแผนกวิชาหนึ่งในคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์  ทั้งนี้เนื่องจากศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ คณบดีในขณะนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “วิชาจัดห้องสมุด” จึงได้เปลี่ยนจากเดิมที่เปิดสอนวิชานี้ในภาคพิเศษตอนเย็นมาเป็นการสอนในภาคปกติ  รวมทั้พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ประทานชื่อให้ใหม่ว่า “วิชาบรรณารักษศาสตร์”  นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์อย่างเป็นทางการในประเทศไทย  หลักสูตรแรกที่เปิดสอนใน พ.ศ. 2498 คือ หลักสูตรระดับชั้นอนุปริญญาบรรณารักษศาสตร์ เป็นหลักสูตร 1 ปี ในปีแรกมีนิสิตจำนวน 8 คน

ในเวลาใกล้เคียงกันนี้  ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสร้างหอสมุดกลางแห่งใหม่ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทรงไทยแบบเดียวกับตึกอักษรศาสตร์ 1 และตั้งอยู่เคียงคู่กันโดยมีทางเดินเชื่อม  ตึกนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2499 หลังจากนั้นจึงย้ายหอสมุดกลางออกจากตึกอักษรศาสตร์ 1 มายังตึกใหม่นี้  และคณะอักษรศาสตร์ได้ใช้บางส่วนของตึกนี้ด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์  อีกทั้งการบริหารจัดการหอสมุดกลางในเวลานั้นเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของอาจารย์แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นตึกนี้นอกจากจะเป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยแล้วจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าตึกอักษรศาสตร์ 2

ครั้นถึง พ.ศ. 2500 แผนกวิชาครุศาสตร์ได้แยกไปตั้งเป็นคณะใหม่ คือ คณะครุศาสตร์ นับจากนี้ไปคณะอักษรศาสตร์ก็จะมีพัฒนาการทางด้านการบริหารในฐานะคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน  และศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ยังคงดำรงตำแหน่งคณบดีต่อมาจนถึง พ.ศ. 2514  ซึ่งจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งคณบดียาวนานที่สุดของคณะอักษรศาสตร์ คือ 21 ปี

        

ทศวรรษที่ 5 (พ.ศ. 2501-2510)

ในช่วงนี้ได้มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอีกครั้ง  เนื่องจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีซึ่งเดิมเคยมีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับคณะอักษรศาสตร์ได้ย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่เพราะมีนิสิตจำนวนมากขึ้น  โดยได้สร้างตึกไชยยศสมบัติ 1 2 และ 3 ขึ้นในบริเวณที่เป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในปัจจุบันตั้งแต่ พ.ศ. 2502  หลังจากนั้นจึงได้โอนตึกเรียนเดิมให้แก่คณะอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จึงได้ตึก 2 ชั้นเพิ่มขึ้นมาอีก 1 หลัง คือตึกอักษรศาสตร์ 3 


ตึกอักษรศาสตร์ 3


ส่วนทางด้านวิชาการนั้น  ใน พ.ศ. 2504 ได้มีการจัดแบ่งแผนกวิชาในคณะอักษรศาสตร์ใหม่ คือ แยกแผนกวิชาภาษาตะวันออกและภาษาไทยออกจากกัน  แยกภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันออกจากภาษาอังกฤษ  และตั้งเป็นแผนกวิชาภาษาตะวันตกและแผนกวิชาภาษาอังกฤษตามลำดับ  ส่งผลให้ระยะนี้คณะอักษรศาสตร์ประกอบด้วย 6 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาภาษาไทย ภาษาตะวันออก ภาษาอังกฤษ ภาษาตะวันตก ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และ บรรณารักษศาสตร์  นอกจากการจัดแบ่งแผนกวิชาใหม่แล้ว  ยังมีการจัดการเรียนการสอนทางด้านภาษาต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย คือ แผนกวิชาภาษาตะวันออกได้เปิดสอนวิชาภาษามลายู (ปัจจุบันเรียกว่าภาษามาเลย์) ใน พ.ศ. 2505  และเปิดสอนภาษาญี่ปุ่นอีกครั้งใน พ.ศ. 2509 ส่วนแผนกวิชาภาษาตะวันตกได้เริ่มเปิดสอนวิชาภาษาตะวันตกเพิ่มขึ้นอีก 2 ภาษา  โดยในระยะแรกนี้เพื่อบริการให้แก่บุคคลภายนอกก่อน ได้แก่ ภาษาอิตาเลียนใน พ.ศ. 2507 และภาษาสเปนใน พ.ศ. 2508 นอกจากงานด้านวิชาการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรงแล้ว  คณะอักษรศาสตร์ยังได้ออกวารสารอักษรศาสตร์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิชาการ  รวมทั้งส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยของคณาจารย์ด้วย  วารสารอักษรศาสตร์ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2505 

ในช่วงทศวรรษนี้  คณะอักษรศาสตร์ไม่เพียงแต่ขยายการสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่านั้น  ยังได้มีบทบาทสำคัญต่อการชี้นำสังคมทางด้านการใช้ภาษาไทยผ่านทางกิจกรรมของชุมนุมภาษาไทยด้วย  ชุมนุมภาษาไทยตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และมีกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง  เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุด คือ การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการประชุมของชุมนุมภาษาไทยและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 อันเป็นที่มาของ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ในเวลาต่อมา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้กำหนดวันที่  29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติเพื่อรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบด้วย


 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและทรงร่วมการประชุมของชุมนุมภาษาไทย


นอกจากด้านภาษาแล้ว  ศาสตร์สาขาอื่นได้มีการขยายตัวเช่นกัน คือ พ.ศ. 2509 แผนกวิชาที่ 7 ของคณะอักษรศาสตร์ในอนาคตได้ก่อตัวขึ้นในฐานะหน่วยวิชาปรัชญา  คือ ได้เปิดสอนวิชาปรัชญาสำหรับให้นิสิตชั้นปีที่ 3 เลือกเป็นหมวดวิชาหนึ่งใน 3 หมวดวิชาในคณะ  และต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ได้เปิดวิชาปรัชญาเบื้องต้นเป็นรายวิชาเลือกสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 

พัฒนาการที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งในทศวรรษนี้ คือ การบริการวิชาการสู่สังคม  การบริการวิชาการที่คณะอักษรศาสตร์ได้เป็นผู้บุกเบิกครั้งแรกในประเทศไทย คือ การจัดอบรมมัคคุเทศก์ร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) โดยเริ่มจัดอบรมรุ่นแรกใน พ.ศ. 2504 และจัดต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 40 ปี โครงการนี้นับว่าเป็นต้นแบบของการอบรมมัคคุเทศก์ในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ในเวลาต่อมา  และนอกจากการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมไทยแล้ว คณะอักษรศาสตร์ยังได้จัดโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยแก่ชาวต่างชาติด้วย โดยเริ่มใน พ.ศ. 2508 จากการสอนหลักสูตรพิเศษเกี่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทยและเอเชียแก่นักศึกษาวิทยาลัยเซนต์โอลาฟ มลรัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา  โครงการนี้ได้เป็นที่มาของโครงการ "Perspectives on Thailand" ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ได้ร่วมบริหารกับโครงการการศึกษาต่อเนื่องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา รวมทั้งโครงการ Intensive Thai ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศที่ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันด้วย [40]

 

ทศวรรษที่ 6 (พ.ศ. 2511-2520)

เหตุการณ์สำคัญในทศวรรษนี้ คือ ปีการศึกษา 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ทรงเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ โดยทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  ทรงจบการศึกษาด้วยผลการเรียนดีเด่นจนทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1  เหรียญทองสาขาวิชาประวัติศาสตร์ใน พ.ศ. 2520  และหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ยังได้ทรงศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาภาษาตะวันออก (ภาษาบาลี-สันสกฤต) จนจบหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตใน พ.ศ. 2524


วันปฐมนิเทศ  วันที่ 7 มิถุนายน 2516

ประทับนั่งกลางห้อง 28 ชั้นบนของตึกอักษรศาสตร์ 1 ซึ่งเป็นห้องเรียนของนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1

 ทรงรับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง

วันที่ 15 กรกฎาคม 2520

ที่บันไดนาคหลังจากทรงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว

ในด้านกายภาพ  ในช่วงนี้คณะอักษรศาสตร์ได้มีตึก 3 ชั้น เพิ่มมาอีก 1 หลัง คือ ตึกอักษรศาสตร์ 4 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ใน พ.ศ. 2516 


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ตึกอักษรศาสตร์ 4 วันที่ 25 มกราคม 2516

ตึกอักษรศาสตร์ 4


ในทศวรรษนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านผู้บริหารคณะด้วย  เพราะศาสตราจารย์รอง  ศยามานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 และเป็นคณบดีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดได้เกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2514  คณบดีท่านต่อมา คือ ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2514-2515  หลังจากนั้นศาสตราจารย์ไพฑูรย์  พงศะบุตร ได้เข้ารับตำแหน่งแทนระหว่าง พ.ศ. 2515-2519 และท่านสุดท้ายในทศวรรษนี้ คือ ศาสตราจารย์คุณหญิง เกื้อกูล เสถียรไทย ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. 2519     

พัฒนาการสำคัญทางวิชาการของคณะอักษรศาสตร์ในทศวรรษนี้ คือ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนมาเป็นระบบหน่วยกิตใน พ.ศ. 2514  รวมทั้งมีการเปิดสอนในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาภาษาไทยใน พ.ศ. 2517 ซึ่งนับเป็นหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาแรกของคณะอักษรศาสตร์และเป็นหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาภาษาไทยแห่งแรกของประเทศด้วย  ผู้สำเร็จการศึกษาคนแรกในปีการศึกษา 2521 คือ น.ส.กรรณิการ์  ชินะโชติ นอกจากนี้ยังได้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของแผนกวิชาครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง  เพราะใน พ.ศ. 2514 ได้มีแผนกวิชาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 แผนกวิชา คือ ปรัชญาและศิลปการละคร   รวมทั้งได้แยกแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกจากกัน  ดังนั้น ณ ทศวรรษนี้คณะอักษรศาสตร์จะประกอบด้วย 9 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาภาษาไทย ภาษาตะวันออก ภาษาอังกฤษ ภาษาตะวันตก ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์ ปรัชญา และ ศิลปการละคร 

ส่วนระดับสาขาวิชาก็มีความเปลี่ยนแปลงในเช่นเดียวกันในทั้งแผนกวิชาภาษาตะวันออกและภาษาตะวันตก  คือ รายวิชาภาษาบาลี-สันกฤตได้ย้ายมาสังกัดแผนกวิชาภาษาตะวันออก โดยจัดตั้งเป็นสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต  คู่กับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น  และจัดหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตวิชาเอกใน 2 สาขานี้ด้วย  ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรภาษาบาลี-สันสกฤต และภาษาญี่ปุ่นหลักสูตรแรกของประเทศไทย   นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสาขาวิชาภาษามาเลย์อย่างเป็นทางการขึ้นใน พ.ศ. 2516  รวมทั้งเปิดสอนภาษาจีนกลางเป็นวิชาเลือกภาษาต่างประเทศในปีเดียวกันก่อนที่จะก่อตั้งสาขาวิชาภาษาจีนขึ้นใน พ.ศ. 2520 ส่วนในแผนกวิชาภาษาตะวันตก ได้เริ่มเปิดสอนภาษาอิตาเลียนในระดับปริญญาตรีเป็นวิชาเลือกเสรีใน พ.ศ. 2517 และ เริ่มมีการเรียนการสอนภาษาสเปนในระดับปริญญาตรีเป็นวิชาเอกใน พ.ศ. 2518 

นอกจากแผนกวิชาต่างๆ จะมีพัฒนาการและขยายตัวขึ้นตามลำดับแล้ว  ในทศวรรษนี้คณะอักษรศาสตร์ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาขาใหม่ขึ้นอีก 2 สาขา คือ วรรณคดีเปรียบเทียบ และ ภาษาศาสตร์  วรรณคดีเปรียบเทียบเป็นศาสตร์สหวิทยาการที่ศึกษาเปรียบเทียบวรรณคดีที่มาจากภาษา วัฒนธรรม หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังรวมไปถึงการศึกษาเปรียบเทียบวรรณคดีแบบ "ข้ามศิลป์" หรือ "ข้ามศาสตร์" ด้วย  ในระยะแรกมีสถานะเป็นหน่วยวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิตตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ส่วนภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาลักษณะของภาษาโดยอาศัยหลักทฤษฎีและวิธีการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ นั้นได้จัดตั้งขึ้นเป็นแผนกวิชาใน พ.ศ. 2520


ทศวรรษที่ 7 (พ.ศ. 2521-2530)

ในทศวรรษนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2522 ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่  และส่งผลต่อการบริหารงานในระดับคณะด้วย คือ เปลี่ยนแปลงจาก “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา”    ดังนั้นแผนกวิชาต่างๆ ของคณะอักษรศาสตร์จึงเปลี่ยนเป็นภาควิชาตั้งแต่ พ.ศ. 2522  ในส่วนของคณบดี ในทศวรรษนี้ได้มีการเปลี่ยนคณบดี 3 ท่าน คือ ศาสตราจารย์คุณหญิง เกื้อกูล เสถียรไทย ได้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระใน พ.ศ. 2523 คณบดีท่านต่อมา คือ ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2523-2527 หลังจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงเดือน สุวัตถี ได้เข้าดำรงตำแหน่งแทนใน พ.ศ. 2527

ในระยะนี้ คณะอักษรศาสตร์ประกอบด้วยภาควิชา (หรือหน่วยงานที่มีจะมีสถานะเป็นภาควิชาในเวลาต่อมา) ครบทั้ง 11 ภาควิชาเท่าที่ปรากฏจนถึงปัจจุบันในวาระครบ 100 ปีของคณะอักษรศาสตร์แล้ว  แต่พัฒนาการด้านวิชาการของคณะอักษรศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไป  ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือดำเนินโครงการที่สนับสนุนพัฒนาการทางวิชาการเพิ่มขึ้นมาเป็นระยะๆ  ที่สำคัญ คือ สนับสนุนการวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการของคณาจารย์อย่างครบวงจรทั้งการผลิตและการเผยแพร่ คือ พ.ศ. 2524 ได้จัดสรรเงินทุนคณะอักษรศาสตร์มาตั้งเป็นเงินทุนวิจัยคณะอักษรศาสตร์  และต่อมาได้ก่อตั้งเงินทุนโครงการตำราคณะอักษรศาสตร์เพื่อส่งเสริมการผลิตตำราและเอกสารประกอบการสอนใน พ.ศ. 2526  อีกทั้งเนื่องด้วยคณะอักษรศาสตร์เป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยมาตั้งแต่อดีต   ในปีเดียวกันนี้จึงได้จัดตั้งศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทยขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า อนุรักษ์ และทำนุบำรุงภาษาและวรรณคดีไทยอย่างจริงจัง  รวมทั้งจัดทำวารสารภาษาและวรรณคดีไทยเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลทั่วไปด้วย  นอกจากนี้คณาจารย์จากภาควิชาภาษาไทยได้ร่วมผลิตรายการ “ภาษาไทยวันละคำ” เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยทางโทรทัศน์  ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำใน พ.ศ. 2530 ประกอบกับคณะอักษรศาสตร์ได้มีการสอนวิชาประเภทการแปลในระดับการศึกษาขั้นต่างๆ และในภาษาต่างๆ มาโดยตลอด   ดังนั้นคณะอักษรศาสตร์จึงได้จัดตั้งศูนย์การแปลคณะอักษรศาสตร์ขึ้นใน พ.ศ. 2529 เพื่อให้บริการวิชาการจนเป็นที่ยอมรับในหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

ในด้านกายภาพ  ในต้นทศวรรษนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มสร้างอาคารสถาบันวิทยบริการซึ่งหอสมุดกลางจะย้ายไปอยู่ ณ ตึกนี้เมื่อแล้วเสร็จ  ดังนั้นเมื่อตึกนี้ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่าอาคารมหาธีรราชานุสรณ์สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2523  มหาวิทยาลัยจึงได้มอบตึกหอสมุดกลางเดิม หรือ ตึกอักษรศาสตร์ 2 ที่คณะอักษรศาสตร์เคยใช้ส่วนหนึ่งมาตั้งแต่ต้นให้คณะอักษรศาสตร์ใช้งานได้ทั้งตึก  หลังจากนี้ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ซึ่งต่อมา คือ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ได้ย้ายจากตึกอักษรศาสตร์ 1 มาอยู่ที่ตึกนี้  รวมทั้งภาควิชาบางภาควิชาและห้องเรียนด้วย

ทศวรรษที่ 8 (พ.ศ. 2531-2540)

คณะอักษรศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงคณบดีอีก 3 ท่านในทศวรรษนี้  โดยใน พ.ศ. 2531 รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงเดือน สุวัตถี ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งคณบดี  รองศาสตราจารย์ ดร. ปราณี กุลละวณิชย์ จึงเข้ารับตำแหน่งแทนระหว่าง พ.ศ. 2531-2534  ติดตามมาด้วยรองศาสตราจารย์ ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ระหว่าง พ.ศ. 2535-2539 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. กัลยา ติงศภัทิย์ เข้าดำรงตำแหน่งใน พ.ศ. 2539

ในทศวรรษนี้สาขาวิชาภาษาต่างๆ ในทั้งภาควิชาภาษาตะวันออกและตะวันตกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก  เริ่มต้นจาก พ.ศ. 2531 เป็นปีที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้  ประกอบกับสังคมไทยได้ตื่นตัวสนใจในประเทศเกาหลีทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเป็นอย่างสูง  คณะอักษรศาสตร์จึงได้จัดตั้ง สาขาวิชาภาษาเกาหลีขึ้นในภาควิชาภาษาตะวันออก   โดยเริ่มด้วยการเปิดสอนเป็นวิชาเลือกเสรีใน พ.ศ. 2531  นับว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาเกาหลี ต่อมาใน พ.ศ. 2533 ภาควิชาภาษาตะวันตกได้เปิดสอนภาษาโปรตุเกสเป็นวิชาเลือกเสรีและภาควิชาภาษาตะวันออกเปิดรายวิชาภาษาเวียดนามเป็นวิชาเลือกในหลักสูตรปริญญาบัณฑิตตั้งแต่ พ.ศ. 2540

ในระยะนี้กระแสโลกาภิวัตน์ได้อยู่ในความสนใจของสังคมโลกอย่างกว้างขวาง   ดังนั้นนอกจากคณะอักษรศาสตร์จะขยายการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งภาษาตะวันออกและภาษาตะวันตกแล้ว  ยังได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เป็นการบูรณาการความรู้เรื่องของไทยให้แก่ผู้สนใจในสังคมนานาชาติด้วย  ด้วยเหตุนี้จึงได้เปิดสอนหลักสูตรไทยศึกษาเป็นหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญามหาบัณฑิตขึ้นใน พ.ศ.2534โดยเป็นความร่วมมือจากคณาจารย์ของภาควิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกือบทั้งคณะ  รวมทั้งบางสาขาจากนอกคณะด้วย  ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์ไทยศึกษา ซึ่งต่อมาได้ขยายถึงระดับดุษฎีบัณฑิต

ทางด้านกายภาพ  ในทศวรรษนี้ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอีกครั้งหนึ่ง  เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้สร้างตึกใหม่ 15 ชั้นในตำแหน่งเดิมของตึกอักษรศาสตร์ 3 ให้เป็นสถานที่เรียนของคณะหรือรายวิชาต่างๆ ทางด้านมนุษยศาสตร์  มิได้จำกัดเฉพาะคณะอักษรศาสตร์เท่านั้น  แต่ส่วนหนึ่งของตึกใหม่นี้ คือ ชั้น 8-13 ให้เป็นที่ตั้งของภาควิชาและหน่วยงานบางส่วนของคณะอักษรศาสตร์   ตึกใหม่หลังนี้ คือ อาคารบรมราชกุมารี  และในระหว่างการก่อสร้าง  ภาควิชาภาษาอังกฤษ  ศิลปการละคร  และ ภาษาศาสตร์ซึ่งอยู่ที่ตึกอักษรศาสตร์ 3 ต้องย้ายไปที่แห่งอื่น เช่น ภาควิชาภาษาอังกฤษต้องย้ายไปอยู่ที่อาคารจามจุรี 3 เป็นต้น  หลังจากอาคารบรมราชกุมารีสร้างเสร็จแล้ว   ภาควิชาทั้งหมดและบางหน่วยงานของคณะอักษรศาสตร์ได้ย้ายเข้ามาอาคารนี้ใน พ.ศ. 2537  แต่อาคารบรมราชกุมารีมิได้สังกัดคณะอักษรศาสตร์  และคณะอักษรศาสตร์ต้องมอบตึกอักษรศาสตร์ 1 ให้อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย  พร้อมกับย้ายสำนักคณบดีและหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ จากตึกอักษรศาสตร์ 1 มาอยู่ที่ตึกอักษรศาสตร์ 2 ซึ่งยังคงสังกัดคณะอักษรศาสตร์  หลังจากนี้ตึกอักษรศาสตร์ 1 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาคารมหาจุฬาลงกรณ์  และตึกอักษรศาสตร์ 2 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาคารมหาวชิราวุธ

ทศวรรษที่ 9 (พ.ศ.2541-2550)

เนื่องด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. กัลยา ติงศภัทิย์ ได้ดำรงตำแหน่งคณบดี 2 วาระ  ดังนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งจนถึง พ.ศ. 2547  และศาสตราจารย์ ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ดำรงตำแหน่งคณบดีแทนตั้งแต่ พ.ศ.2548 ส่วนพัฒนาการทางด้านวิชาการในทศวรรษนี้ คือ หน่วยวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบได้ปรับสถานะเป็นภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบใน พ.ศ. 2541  นับเป็นภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ในปีเดียวกันนี้คณะอักษรศาสตร์ได้จัดตั้งศูนย์การแปลและการล่ามซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โดยได้เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปลใน พ.ศ. 2542  และต่อมาได้เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการล่ามเป็นแห่งแรกในประเทศไทยใน พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ภาควิชาภาษาตะวันออกยังได้เปิดสอนภาษาพม่าเป็นวิชาเลือกเสรีใน พ.ศ. 2545  รวมทั้งก่อตั้งสาขาวิชาภาษาเวียดนามใน พ.ศ. 2547 และสาขาวิชาภาษาเกาหลีใน พ.ศ. 2548  ในส่วนของภาควิชาภาษาตะวันตกก็ได้เปิดสอนภาษาเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ ภาษารัสเซีย ใน พ.ศ. 2547

ในทศวรรษนี้  คณะอักษรศาสตร์ยังได้มีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงพุทธศาสนาและเผยแพร่ความรู้ทางด้านพระไตรปิฎกสู่สาธารณชนด้วย  เพราะได้ก่อตั้งหอพระไตรปิฎกนานาชาติขึ้น ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ใน พ.ศ. 2543  หอพระไตรปิฎกนานาชาติแห่งนี้ตั้งขึ้นจากกองทุนสนทนาธรรมนำสุขในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค อดีตผู้แทนนิสิตหญิงคณะอักษรศาสตร์และอักษรศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2490 ได้มอบเป็นธรรมบรรณาการแก่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกด้วยอักษรของชาติต่างๆ พร้อมพระคัมภีร์บริวารครบชุด  รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 เล่ม

เหตุการณ์สำคัญปิดท้ายทศวรรษนี้ คือ การยุติการใช้ตึกอักษรศาสตร์ 4 ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516และดำเนินการรื้อถอน  เพราะคณะอักษรศาสตร์ได้รับงบประมาณสำหรับการสร้างตึกใหม่ทดแทนใน พ.ศ. 2550 ซึ่งตรงกับวาระครบ 90 ปีของคณะอักษรศาสตร์ด้วย  ทั้งนี้เนื่องจาก ณ เวลานั้น ตึกเรียนและสถานที่จัดกิจกรรมที่สังกัดคณะอักษรศาสตร์โดยตรงมีเพียงตึกอักษรศาสตร์ 4 เท่านั้น  ซึ่งไม่พอเพียงที่จะใช้ในการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ  (ตึกอักษรศาสตร์ 1 สังกัดมหาวิทยาลัย ตึกอักษรศาสตร์ 2 ใช้เป็นห้องสมุดคณะและฝ่ายบริหาร  ตึกอักษรศาสตร์ 3 ถูกรื้อไปเพื่อสร้างอาคารบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นอาคารเรียนรวมมนุษยศาสตร์)   อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ได้รับนี้ เป็นงบก่อสร้างเฉพาะตัวอาคาร  ไม่รวมอุปกรณ์ภายในที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนการสอน  ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงต้องใช้เงินนอกงบประมาณซึ่งคณะอักษรศาสตร์ต้องหาเอง  รวมถึงค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและค่าบำรุงรักษาแต่ละปีในอนาคตด้วย   คณะอักษรศาสตร์จึงหารือสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ฯ เพื่อหาทุนทรัพย์จัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อให้การใช้อาคารดำเนินต่อไปได้  ทั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า  “มูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และมีพระมหากรุณาทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธินี้ด้วย

 

ทศวรรษที่ 10 (พ.ศ.2551-2560) 

ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษแรกเริ่มต้นด้วยการครบวาระคณบดีของศาสตราจารย์ ดร. ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ใน พ.ศ. 2551  ผู้เข้ารับตำแหน่งต่อมา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ หลังจากนี้ไม่นานตึกใหม่ซึ่งสร้างทดแทนตึกอักษรศาสตร์ 4 ก็แล้วเสร็จ  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าอาคารมหาจักรีสิรินธร  ดังนั้นเมื่อถึงวาระครบ 100 ปีคณะอักษรศาสตร์ใน พ.ศ. 2560 นี้  สภาวการณ์ทางด้านกายภาพของคณะอักษรศาสตร์ คือ มีอาคารมหาวชิราวุธและอาคารมหาจักรีสิรินธรเป็นอาคารทางด้านบริหารและอาคารเรียนของคณะโดยตรง  แต่มีส่วนในการใช้อาคารบรมราชกุมารีในด้านการเรียนการสอนในฐานะอาคารเรียนรวมทางด้านมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย  และเป็นที่ตั้งของภาควิชาต่างๆ  และบางหน่วยงานในพื้นที่ชั้น 8-13 ด้วย


อาคารมหาจักรีสิรินธร


ส่วนพัฒนาการทางด้านวิชาการที่โดดเด่น คือ ตั้งแต่หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2551 และ 2552  คณะอักษรศาสตร์ได้เริ่มมีโปรแกรมเกียรตินิยมในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสำหรับนิสิตที่มีความสามารถพิเศษ เพื่อให้สามารถศึกษาทางด้านการวิจัยได้อย่างลุ่มลึกมากกว่านิสิตในหลักสูตรปรกติ   ซึ่งจะทำให้สามารถต่อยอดการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกในระยะเวลาอันสั้น  โดยนิสิตที่มีผลการเรียนโดดเด่นตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเลือกเรียนโปรแกรมเกียรตินิยมในบางสาขาได้  ทั้งในฐานะวิชาเอกและวิชาโท  สาขาวิชาเอกประกอบด้วยภาษาไทย ประวัติศาสตร์ ศิลปการละคร ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอิตาเลียน  ส่วนสาขาวิชาโทประกอบด้วยศิลปการละคร ภาษาศาสตร์ และวรรณคดีเปรียบเทียบ  ทั้งนี้นิสิตหลักสูตรเกียรตินิยมต้องสอบได้แต้มเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.60  หากไม่สามารถสอบได้แต้มเฉลี่ยสะสม 3.60 ติดต่อกัน 2 ภาคการศึกษาต้องย้ายไปเรียนหลักสูตรปกติ

ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ คือ พ.ศ. 2551 คณะอักษรศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาบัณฑิตเช่นกัน คือ หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (Bachelor of Arts in Language and Culture หรือ BALAC)  หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีหลักสูตรแรกของประเทศที่เป็นแนว Cultural  Studies  การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและเรียนภาษาต่างประเทศอื่นอีกหนึ่งภาษา  ทั้งนี้นิสิตสามารถไปศึกษารายวิชาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีโครงการความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อโอนหน่วยกิตได้ด้วย

นอกจากนี้แล้วภาควิชาภาษาตะวันออกยังได้มีความเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก  เริ่มจากเปิดสอนภาษาอาหรับใน พ.ศ. 2552 และภาษามลายูอินโดนีเซียในสาขาวิชาภาษามาเลย์ใน พ.ศ. 2554  เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ส่งผลให้การเรียนการสอนในสาขาวิชาภาษามาเลย์ครอบคลุมทั้งภาษามลายูมาเลเซียและมลายูอินโดนีเซีย  จากนั้นได้แยกภาษาอาหรับออกจากสาขาวิชาภาษามาเลย์และจัดตั้งสาขาวิชาอาหรับขึ้นใน พ.ศ. 2556  ต่อมาใน พ.ศ. 2557 สาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตได้เพิ่มรายวิชาภาษาฮินดีด้วย  ส่งผลให้มีการเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต เป็นสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ใน พ.ศ. 2558 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดสอนภาษาในภูมิภาคเอเชียใต้อื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต

เมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งคณบดีมา 2 วาระได้เกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2558  รองศาสตราจารย์ ดร.กิ่งกาญจน์  เทพกาญจนา จึงได้เข้ารับตำแหน่งแทนใน พ.ศ. 2558  นับเป็นคณบดีท่านที่ 19 ของคณะอักษรศาสตร์ (นับตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์) ซึ่ง ณ ขณะนี้ประกอบด้วย 11 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์ ปรัชญา ศิลปการละคร ภาษาตะวันออก ภาษาตะวันตก ภาษาศาสตร์ และวรรณคดีเปรียบเทียบ  จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาบัณฑิต  มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตหลากหลายสาขาทั้งหลักสูตรปรกติและหลักสูตรนานาชาติ   ผลิตบัณฑิต  มหาบัณฑิต  และดุษฎีบัณฑิตออกไปทำประโยชน์แก่สังคมในหลากหลายวงการ  และพร้อมที่จะพัฒนาให้ก้าวไกลไปสู่ศตวรรษที่ 2 ต่อไป



สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University