เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 31

นิสิตหนุ่มสาวสมัย 50 ปีก่อน มนันยา ธนะภูมิ

ผู้เขียนเข้าเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2506 รับพระราชทานปริญญาบัตรเดือนกรกฎาคม 2510 เป็นอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่น 31 ได้อยู่ทันงานฉลองจุฬาฯ 50 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 และได้มีงานฉลองปริญญาที่ศาลาพระเกี้ยวเป็นรุ่นแรกอีกด้วย
เรื่องราวเกี่ยวกับอักษรฯ รุ่น 31 นี้มีอะไรที่น่าสนใจสมควรเล่าสู่กันฟังหลายเรื่อง
คณะอักษรศาสตร์สมัยโน้นมีอาคารเรียนอยู่หลังเดียวคืออาคาร “มหาจุฬาลงกรณ์” กับอีกบางส่วนของชั้นล่างหอสมุดกลางหรืออาคาร “มหาวชิราวุธ” ในปัจจุบัน เพื่อนบ้านของคณะอักษรศาสตร์มีคณะเดียวคือคณะวิศวกรรมศาสตร์ หนุ่มวิศวะฯ เดินมาใช้หอสมุดโดยผ่านห้องโถงกลางของคณะอักษรศาสตร์เป็นเรื่องปกติ สาวอักษรฯ กับหนุ่มวิศวะฯ มองกันไปมองกันมาจนกระทั่งจบแล้วก็แต่งงานกันไปปีละหลายคู่ แต่ลือกันว่าสาวอักษรฯรุ่นที่แต่งงานกับหนุ่มวิศวะฯ มากที่สุดคืออักษรฯรุ่น 31 หรือรุ่นของผู้เขียนนั่นเอง ที่มาของเรื่องจะได้บรรยายให้ฟังในลำดับต่อไป
อักษรฯรุ่น 31 นี้พูดอย่างไม่เข้าข้างตัวเองแต่ก็ต้องเข้าข้างตัวเองได้ว่า เป็นรุ่นที่มีนิสิตหญิงสวย ๆ เป็นจำนวนมากจนสะดุดตาและน่าสะดุดใจ ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าผู้เขียนไม่ได้ยอพวกกันเองก็คือ อักษรฯรุ่น 31 นี้มีพี่สาวของนางสาวไทยถึง 2 คนด้วยกัน คือพี่สาวของอาภัสรา หงสกุล คนหนึ่ง และพี่สาวของอภันตรี ประยุทธเสนีย์ อีกคนหนึ่ง มีสาวสวยมากอย่างนั้นจึงช่วยไม่ได้ที่จะมีหนุ่มนิสิตต่างคณะมาด้อม ๆ มอง ๆ ซึ่งแน่ละว่าจะต้องมีหนุ่มวิศวะฯ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านรวมอยู่ด้วย
คณะวิศวะฯ ยุคนั้นมีแต่ผู้ชายเกือบจะทั้งหมด ในเมื่อยังเป็นเด็กหนุ่มก็ย่อมเลือดร้อนเป็นธรรมดา ดังนั้น วิศวะฯ จึงเกิดเรื่องวิวาทกับนิสิตคณะโน้นคณะนี้เป็นเนืองนิตย์ ตอนเรียนอยู่พวกนิสิตเราก็วิตกเดือดร้อนต่อเรื่องนี้ แต่พอจบไปแล้วก็เห็นเป็นเรื่องขบขันล้อเลียนกันได้ไม่รู้จบ เล่าลือกันว่าสาว ๆ สมัยผู้เขียนเพิ่งเรียนจบไปนั้น เวลาจะหว่านเสน่ห์หนุ่มวิศวะฯ ที่จบไปจากจุฬาฯ ด้วยกันก็จะใช้เรื่องนี้ เป็นสายเบ็ดตกปลา โดยจะทำตาหวาน ๆ ทำเสียงล้อ ๆ ถามหนุ่มวิศวะฯ ว่า
“พี่เป็นน้องใหม่ปีที่วิศวะฯ ตีกับคณะไหนคะ”
หนุ่มวิศวะฯ ก็จะขำแถมปลื้ม ติดเบ็ดสาวจุฬาฯ ผู้ถามชนิดไปไหนไม่รอดเลยทีเดียว
แต่ประโยคเด็ดที่ว่านั้นมีเว้นอยู่ปีเดียว คือปี 2506 ที่มีผู้เขียนเป็นน้องใหม่ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อหนุ่มวิศวะฯ กลุ่มหนึ่ง เข้ามาด้อม ๆ มอง ๆ สาวอักษรฯ ที่ห้องโถงของเทวาลัยในงานรับน้องใหม่ตอนกลางคืน รุ่มร่ามท่าไหนก็ไม่รู้เลยถูกรุ่นพี่อักษรฯ ผู้ชายปิดประตูตีแมวสั่งสอนซะนิดหน่อยพอหอมปากหอมคอ ทำให้เกิดคำพูดขัน ๆ อย่างใหม่ในแวดวงจุฬาฯ ยุคนั้นว่า “วิศวะฯ ปีที่ถูกอักษรฯ ตี”
เสียความเป็นพระเอกจริง ๆ
ความเสียหน้าและเสียใจนี่กระมังที่ทำให้หนุ่มวิศวะฯ ยุคนั้นพากันแต่งงานกับสาวอักษรฯ รุ่น 31 ไปหลายคู่มากมายทำลายสถิติเลยก็ว่าได้
ไม่รู้เหมือนกันว่าแต่งเพราะสาวอักษรฯ รุ่นนี้สวยอย่างที่เขาว่า ๆ กัน หรือเพราะพระเอกเขาต้องการจะแก้หน้าอยากจะถามเขาเหมือนกันแต่ก็กลัวเขาจะทำหน้าพิศวงแล้วร้องว่า อักษรฯรุ่น 31 นี่นะเร่อะสวย จำรุ่นผิดหรือเปล่า
ผู้เขียนก็จะต้องตกเป็นฝ่ายเสียหน้าเสียเอง อายเขาเปล่า ๆ


มนันยา ธนะภูมิ

กลับขึ้นด้านบน

อะฮ้า...แชมป์เนตบอลสามปีซ้อน ปี 2507 – 08 – 09 จินตนา ใบกาซูยี (จีน่า)

คณะอักษรฯ สมัยเรา (ปี 2506 – 2510) มีนิสิตแต่ละรุ่นร้อยกว่าคน น้อยกว่าทุกคณะยกเว้นคณะสถาปัตย์ฯ (ตอนนั้นมีแค่ 7 คณะ) แต่ถ้านับเฉพาะนิสิตหญิงก็น่าจะมากกว่าคณะอื่น ๆ เพียงแต่ไม่ห่างกันมากทั้งคณะบัญชีฯ วิทยาฯ ครุศาสตร์ และรัฐศาสตร์ กีฬายอดนิยมสำหรับนิสิตหญิงย่อมไม่พ้น “เนตบอล” ซึ่งอักษรฯ เราถึงขึ้นชื่อมีเรื่องประทับใจมาคุยได้เลยละ ก็เป็นแชมป์เนตบอล 3 ปีซ้อนไง !
ฤดูเล่นเนตบอลตรงกับหน้าฝนในเทอมแรก ฝนจึงตกบ่อย บางทีตกตอนบ่ายก่อนเล่นในตอนเย็นประมาณ 4 – 5 โมง บางทีตกหลังเลิกเล่น ตกระหว่างเล่นก็มี เล่นกันกลางฝนกลางโคลนเฉอะแฉะนั่นแหละ ไม่ถอยทั้งคนเชียร์ กรรมการและคนเล่น เปียกโชกมอมแมมกันถ้วนหน้า
เราเข้าเป็นน้องใหม่อักษรฯ ปี 2506 ก็เล่นเนตบอลเลยละ เล่นคู่กับหนูใหญ่ (วนิดา สุขุม) ... คนตัวสูง เพรียว ขาสวยมาก ก็คนที่เล่นบัลเล่ต์หน้าพระที่นั่งที่สวนอัมพรเป็นมโนราห์นางเอกคนแรกที่กำลังดังเปรี้ยงเป็นพลุตอนนั้นไง ปีนั้นทีมอักษรฯ เล่นได้แค่รอบรองก่อนชิงชนะเลิศ เราแพ้ทีมบัญชีฯ คณะที่มีผู้หญิงมาก เก่งและสวยไม่แพ้สาวอักษรฯ ทีมบัญชีฯเข้าชิงกับทีมวิทยาฯ แล้วก็ได้เป็นแชมป์
ปี 2507 เราอยู่ปี 2 มีพี่กฤษณ์ (ปี 3) เป็นประธานเนตบอลคณะ เราเล่นอยู่กับหนูติ๋ม รูปร่างสูงเพรียว สวยทีเดียวละคนนี้ตอนหลังเป็นภรรยาอดีตผู้ว่าราชการ กทม. คนหนึ่ง ส่วนเรา แหะ...แหะ...สูงใหญ่ ขาเหมือนกระบองยักษ์วัดแจ้ง ทีมอักษรฯได้เข้าชิงชนะเลิศกับทีมวิทยาฯ รองแชมป์ปีก่อนที่หมายมั่นปั้นมือจะเอาชนะทีมอักษรฯ อรชรอ้อนแอ้นเป็นแชมป์ให้ได้...ก็แน่ละ ทีมวิทยาฯ แข็งแกร่งทั้งผู้เล่นและกองเชียร์ชาย – หญิงจำนวนมากกว่ากันเกินครึ่ง เสียงเชียร์กระหน่ำ...หวีดกรีดแก้วหูลั่นเปรี๊ยะ ๆ ๆ
กระนั้นทีมอักษรฯ กลับเป็นฝ่ายชนะขาดลอย ทีมวิทยาฯ แพ้ได้อย่างไร...ไม่มีใครบอกได้
ปี 2508 ต่อมา พี่กฤษณ์ได้รับเลือกเป็นประธานเนตบอลสโมสร สจม. เราเป็นหัวหน้าทีมอักษรฯ ซึ่งผ่านคู่แข่งทีมรัฐศาสตร์ วิศวะฯ ครุศาสตร์ มาได้จนเข้าชิงชนะเลิศกับ...ทีมวิทยาฯ คู่ปรับเก่าเจอกันอีกครั้ง ฝ่ายวิทยาฯเป็นต่อตัวใหญ่กว่า เสียงดังกว่าคนเชียร์มากกว่าทั้งรุ่นซีเนียร์ จูเนียร์ ซอฟอมอร์และเฟรชชี่มาหมด! กระนั้นฝ่ายอักษรฯ ก็ (กัดฟัน) สู้ตาย คนเชียร์น้อยแต่เสียง (วี๊ด) สูงแหลมกว่า ร้อง (เพลง) ลูกอึดยาว...นานกว่า
ปรี๊ด...ปรี๊ด...เสียงนกหวีดเป่าหมดเวลาพร้อมฝนตกเม็ดหนาใหญ่พรูลงมา ผลการแข่งขันคะแนนเท่ากัน ไม่ต่อเวลาเพราะฝนลงหนัก คณะกรรมการตัดสินใจให้เป็นแชมป์ทั้งคู่ ผลัดกันครองถ้วยแชมป์ทีมละครึ่งปี
อีกปีต่อมา ปี 2509 เราเป็นประธานเชียร์หญิงของคณะ ไม่ได้เล่นในทีมเนตบอลอักษรฯ มีหนูเอื้อยเป็นประธานเนตบอลคณะ ผู้เล่นเดิมส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ครบ (ขาดเราและพี่กฤษณ์ที่เรียนจบไปแล้ว) จัดเป็นทีมอักษรฯ ฉบับพกพาที่เล็กพริกขี้หนูสวนแท้เพราะตัวเล็ก เอวบางร่างน้อยทั้งนั้น แต่ทว่า...แค่ได้แชมป์เนตบอลมาครอบครองอีกปีหนึ่งเต็ม ๆ
แชมป์เนตบอล 3 ปีซ้อน น่าภาคภูมิใจใช่ไหม...



\

เล่าโดย จินตนา ใบกาซูยี  ( จีน่า )

 

กลับขึ้นด้านบน

ภาพแห่งความหลัง จากอดีตถึงปัจจุบัน

มิถุนายน 2506   พวกเรา 149 ชีวิต (หญิง 138 ชาย 11) เข้าเป็นนิสิตใหม่คณะอักษรศาสตร์ด้วยความตื่นเต้นภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต และสีชมพูของจุฬาฯ ก็ดูจะย้อมชีวิตจิตใจโลกทัศน์ของเราให้เป็นสีชมพูสดใสตามไปด้วย สนุกนักชีวิต มิตรภาพช่างยิ่งใหญ่ “เทวาลัย” สุดรื่นรมย์ อนาคตน่าชื่นชมรอคอยอยู่เบื้องหน้า เจิดจ้าด้วยความหวังที่งดงามปานฝัน


ปีนั้นประทับใจไม่รู้ลืมในการผ่านวันรับน้องใหม่เดือนสิงหาคม 2506 ด้วยน้ำท่วมเจิ่งข้อเท้า บางตอนถึงหน้าแข้งก็มีแช่น้ำสนุกกันทั้งพี่เก่าน้องใหม่นั่นแหละ นั่นคือการรับน้องใหม่รวมของทุกคณะ (7 คณะตอนนั้น) ที่เข้าแถวเป็นขบวนตามลำดับชื่อคณะ แล้วเคลื่อนผ่านซุ้มและแถวของพี่เก่าคณะต่าง ๆ ที่เรียงรายกันไปตามถนนรอบในของจุฬาฯ จากคณะอักษรฯ ผ่านสามแยกวิศวะ ตึกจักรพงษ์ คณะวิทยาฯ คณะสถาปัตย์ฯ และตึกเภสัชฯ มาจบที่หอประชุม ส่วนตอนบ่ายเป็นการรับน้องใหม่ของแต่ละคณะแยกกันไป ค่ำกินเลี้ยงโต๊ะจีนที่สนามหน้าตึก ดูการแสดงทั้งของพี่เก่าและน้องใหม่ที่เวทีตรงหน้าระเบียง “เทวาลัย” แล้วปีนี้ ก็มีเหตุการณ์พิเศษ “วิศวะตีกับอักษร” ให้เป็นที่เล่าขานกันต่อมา เริ่มจากหนุ่มวิศวะฯบางกลุ่มที่มาดูการแสดงของสาวอักษรฯมีเหตุกระทบกระทั่งกับหนุ่มอักษรฯเจ้าของถิ่นจึงเกิดการตะลุมบอนแลกหมัดกันขึ้นมา ยังความขุ่นข้องหมองหมางระหว่าง 2 คณะคู่จิ้นกันไปพักใหญ่ปีนั้น

  

กิจกรรมในปีแรกแห่งการเป็นนิสิตแน่นเอี๊ยด ทั้งการเรียน การซ้อมเพลงเชียร์ การแข่งกีฬา การทำความคุ้นเคยกับสถานที่ทั้งในคณะนอกคณะและเพื่อนใหม่ แต่ละที่แต่ละวันแต่ละย่างก้าวผ่านไปไวดังพริบตาแต่ทว่าจดจำรำลึกกันข้ามยุคข้ามวัยมาจนบัดนี้

 

สมัยโน้น นิสิตทั้งชั้นต้องเรียนรวมกันในห้องบรรยายใหญ่สำหรับวิชาหลักพื้นฐาน แยกกลุ่มไปเรียนที่ห้องย่อยในบางวิชาหรือตามเกณฑ์คะแนน เวลาหมดชั่วโมงหรือเริ่มชั่วโมงเรียนใหม่มีการตีระฆัง (จากเสาระเบียงชั้นบน) ดังเหง่งหง่างเหมาะกับบรรยากาศอาคารทรงไทยอันสง่างามของตึกอักษรฯ มาก


ห้อง 10 คือห้องเรียนใหญ่ของน้องใหม่ปี 1 เป็นที่รู้จักของทุกคนแม้แต่นิสิตต่างคณะ เป็นห้องเรียนใหญ่ห้องเดียวที่อยู่ชั้นล่างตรงปลายตึกด้านหอประชุม จึงสามารถเมียงมองมาจากถนนหรือสนามข้างตึกได้เพราะประตูทุกบานเปิดโล่งสู่ระเบียงรายรอบโดยตลอดทั้ง 3 ด้าน ปิดไว้แต่บังตาไม้แค่ครึ่งตัวคน พวกเราหลายคนหลังจากนั่งประจำเก้าอี้เรียนให้คุณประดิษฐ์ (เจ้าหน้าที่ธุรการ) เช็คชื่อเข้าเรียน (เช็คหัวตามผังที่นั่งที่เรียงตามลำดับตัวอักษร) ก็จะแอบย่องหรือคลานมุดลอดบังตาออกนอกห้องได้ง่าย ๆ หรือไม่ก็ให้เพื่อน (ที่รักเรียน) ไปนั่งให้เช็คหัวตามผังที่นั่งแทน


การเรียนในคณะอักษรฯ ยุคนั้นไม่เหมือนปัจจุบัน ปี 1 และ ปี 2 เป็นภาคบังคับต้องเรียนครบ 4 หมวด คือ ไทย อังกฤษ สังคม (ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์) และเลือกหมวดภาษาตะวันตก (ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน) หรือคำนวณ ฉะนั้นตารางเรียนจึงเต็มเหยียดตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นทุกวัน ไม่มีชั่วโมงว่าง เว้นแต่ใครจะทำให้ว่างกันเอง โดยมาสายบ้าง โดดร่มบ้าง ทำกิจกรรมอื่นบ้าง ระวังแต่การเช็คชื่อเพราะหากเวลาเรียนไม่ถึง 80% จะหมดสิทธิสอบ คะแนนสอบผ่านถือเกณฑ์ 60% ในแต่ละหมวด ใครสอบผ่าน 2 ปีแรกที่แสนเข็ญนี้ขึ้นปี 3 ได้ก็จะเบาหน่อยเพราะสามารถเลือกทิ้งไม่เรียนได้ 1 หมวด ปี 4 จะยิ่งว่างเพิ่มขึ้นเพราะเลือกทิ้งได้อีกหมวด เรียนเจาะจงเฉพาะวิชาเอกและโทล้วน ๆ ไม่มีวิชาอื่นอีก


การเรียนภาษานั้นนิสิตอักษรฯ มีพื้นฐานอยู่แล้วไม่ว่าจะวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน แต่ภาษาไทยนี่ซิ! ทุกคนเพิ่งเรียนภาษาบาลี (เป็นส่วนหนึ่งในหมวดภาษาไทย) แล้วโดยที่พื้นฐานของภาษาบาลีเป็นวิชาที่ยากมาก ๆ จึงไม่น่าประหลาดใจที่พวกเราจะสอบตกกันเกือบทั้งชั้น นับเป็นวิชาที่ก่อให้เกิดความประทับใจไปอีกแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับอาจารย์บางท่านที่ดุมาก ๆ ก็ทำให้ประทับใจไม่รู้ลืมเหมือนกัน จึงไม่น่าประหลาดใจอีกนั่นแหละที่พอขึ้นปี 3 พวกเราส่วนใหญ่พากันทิ้งภาษาไทยไปโดยดุษฎีภาพ เหลือหน่วยกล้าตายจำนวนหนึ่งที่ยัง (แข็งใจ) เลือกเรียนหมวดภาษาไทยต่อซึ่งปรากฏว่ามีการเรียนภาษาสันสกฤตและขอมเพิ่มให้ยุ่งสมองหนักขึ้นมาอีกวิชาด้วย

ช่วงเวลาทั้ง 4 ปีที่จุฬาฯ วันที่ สุดประทับใจทุกคนทุกรอบปีคือวันที่ 20 กันยายน “วันทรงดนตรี” เป็นวันรวมน้ำใจชาวจุฬาฯ ที่หลั่งไหลกันมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท “ในหลวง” และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอย่างใกล้ชิดแน่นขนัดหอประชุม คือวันแห่งความผูกพันระหว่างสถาบันและพสกนิกรที่เต็มตื้นซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงออกด้วยจงรักภักดีจากห้วงหัวใจ

เสร็จสิ้นการสอบกลางปีมีการจัดงาน “ชมพูบอล” เต้นรำลีลาศของ ชาวจุฬาฯ กันที่สวนอัมพรฯ ในคืนวันที่ 22 ตุลาคม ยุคนั้นชาวจุฬาฯ ไปกันคับคั่ง บางคนเต้นรำกันจนเกือบสว่างจึงกลับบ้านอาบน้ำแต่งตัวมาใหม่ในชุดเต็มยศนิสิต (เครื่องแบบนิสิตชาย – หญิง) เพื่อเดินแถวเข้าขบวนกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ร่วมงานวางพวงมาลากราบถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในวัน “ปิยมหาราช” 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นความสวยงามศักดิ์สิทธิ์และซาบซึ้งใจยิ่งนักที่ได้หมอบกราบถวายบังคมพร้อมเพรียงกันลงกับพื้นถนนโดยสงบสำรวมด้วยใจรำลึกรู้และศรัทธาภาคภูมิใจในพระนามแห่งสถาบันเป็นที่ยิ่ง


กิจกรรมใหญ่ปลายปีคืองานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ที่เป็นงานใหญ่ที่สนุกจนไม่มีใครยอมพลาด สำหรับน้องใหม่ยิ่งแล้วใหญ่เพราะเป็นกิจกรรมภาคบังคับ (โดยเต็มใจ) เลยที่จะต้องซ้อมเดินพาเหรดเตรียมงานในช่วงเย็นและวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ แล้วเมื่อเช้าตรู่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2506 ข่าวออกวิทยุเรื่องประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ แห่งสหรัฐอเมริกาถูกยิงถึงแก่อสัญกรรม จำได้ว่าพวกเราบางคนถึงน้ำตาซึม ก็ยุคนั้นเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ช็อคโลกโศกเสียดายกันไปทุกหนแห่ง ยุคสมัยนั้นจะมีใครเป็น idol คนหนุ่มสาวทั่วโลกได้เท่าท่านประธานาธิบดีหนุ่มหล่อเท่เก่งสมาร์ทท่านนี้กันล่ะ

ฟุตบอลประเพณีสมัยโน้นเป็นงานใหญ่ ช่วงเช้านิสิตนักศึกษาทั้ง 2 มหาวิทยาลัยขึ้นรถ (จิ๊ปหรือกระบะเปิดประทุน) ตระเวนกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยร้องเพลงเชียร์เพลงมหาวิทยาลัยไปทั่วเมืองโดยตำรวจจราจร คนขับรถอื่น ๆ ตลอดจนชาวบ้านร้านค้า ไม่มีใครถือสารำคาญ ปล่อยให้พวกเราระเริงโลดกันเต็มที่ อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นรถรายังไม่มาก การจราจรไม่ติดหนึบให้ทุกคนอารมณ์เสียอย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้ ช่วงบ่ายในหลวงและสมเด็จฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขัน มีถ่ายทอดสดทางทีวี ขบวนพาเหรดเกรียงไกรสวยงาม ในปี 2507 เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอล่าแห่งเบลเยี่ยมเสด็จเยือนประเทศไทยยังได้โดยเสด็จในหลวงของเรามาทอดพระเนตร งานฟุตบอลนี้ ซึ่งชาวจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ฯ ต่างก็ได้แปรอักษรถวายพระพรบนอัฒจันทร์ด้วย

สอบปลายปีเสร็จ เปิดเทอมการศึกษาใหม่พวกเราที่ได้ขึ้นปี 2 ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่ตึกชั้นบนด้วย โดยย้ายปีกไปอยู่ห้อง 28 ริมสุดด้านรั้วถนนอังรีดูนังต์ ขึ้นปี 3 ย้ายมาห้อง 24 มุมตึกด้านตรงข้ามคณะวิศวะฯ แล้วปี 4 ก็มาอยู่ห้อง 20 ด้านหอประชุม พิกัดเดียวกับห้อง 10 ของปี 1 นั่นแหละเพียงแต่อยู่ชั้นบน ดู ๆ ก็คล้ายจะมีนัยยะสะท้อนวงจรชีวิตยังไงอยู่

  


...”โอ้ถึงวัยใกล้วันเป็นบัณฑิตสิทธิ์นิสิตเลือนลางจวนจางหาย
ปริญญาหยัดเด่นเห็นท้าทายให้มุ่งหมายไขว่คว้าเอามาครอง...”

(ขิง ม.ร.ว.ประกายฉัตร สุขสวัสดิ์ แต่ง)

 
พวกเราได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 13 ก.ค. 2510 สำหรับงานฉลองปริญญาที่ปีก่อน ๆ เคยจัดกันที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีนั้น มาปี 2510 ศาลาพระเกี้ยวเพิ่งสร้างเสร็จ พวกเราจึงเป็นบัณฑิตรุ่นแรกที่ได้ ฉลองปริญญาที่นั่นซึ่งไม่ได้ติดแอร์จึงร้อนจนเหงื่อชุ่มชุดราตรีสโมสรโก้หร่านของฝ่ายชายและชุดราตรียาวสีขาวหรูเริ่ดของเหล่าบัณฑิตหญิง




แล้วพวกเราก็พ้นจากรั้วจามจุรีสีชมพู แยกย้ายกันไปตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน นี่ก็ผ่านมาถึง 49 ปี ทุกข์สุขล้วนผ่านพ้น บ้างประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหลากหลายสาขาอาชีพทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับวิชาอักษรศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา บ้างจางหายจากสังคมเพื่อนฝูง บ้างภารกิจติดพันแม้จนปัจจุบัน บ้างสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจได้ตลอดมา และบ้างก็ได้อำลาโลกจากพวกเรากันไปแล้ว ทว่าในทุกกรณีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน พี่น้อง ร่วม “สปิริต” จุฬาฯ ยังคงอยู่ ความรักความรำลึกจดจำสำนึกในพระคุณของแหล่งเรียนมาตลอดจนครูอาจารย์ทั้งปวง ยังตราตรึง เหนืออื่นใดใจตระหนักภาคภูมิที่จะเทิดทูนพระนาม “จุฬาลงกรณ์” คู่พระบรมราชวงศ์และประเทศไทย ไปชั่วนิรันดร์

อักษรฯ อบ.31

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University