เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 55

Miss Universe Show งานรับน้องรุ่น 56

Miss Universe Show งานรับน้องรุ่น 56

ชนิดาภา ชูเวทย์ เล่าเรื่อง

ปี 2531 หรือ 1988 เป็นปีที่คนไทยได้มีนางงามจักรวาลคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ กระแสพี่ปุ๋ยฟีเวอร์แรงมาก เธอใส่ชุดไทยสีน้ำเงินเต้นบนเวทีตอนแนะนำตัว และได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมด้วย

ปีนั้นพวกเราขึ้นปี 2 ถึงเวลาต้อนรับน้องใหม่รหัส 31 ก็ต้องมีการแสดงสนุกๆ กันหน่อย บุสก้า (สรรควัฒน์) พร้อมเพื่อนๆ Arts men อาทิเช่น ดนัย ศักดิ์ ก็ออกมาเรียกเสียงกรี๊ดสนั่น ด้วยการแปลงตัวเป็นนางงาม บุสก้าเล่นเป็นพี่ปุ๋ยใส่ชุดราตรีสีน้ำเงินเต้นเตะขาท่าพี่ปุ๋ย ทำเอาเพื่อนๆ และรุ่นน้องฮาน้ำตาเล็ด เธอเต้นเสร็จก็เปลี่ยนซีนมาทำท่าจับมือกับเพื่อน Miss Korea ลุ้นตำแหน่ง Miss Universe แล้วประกาศผล เธอก็ดีใจไหว้สวมมงกุฎแบบนางงามมากๆ พอได้ตำแหน่งปั๊บไฟดับปุ๊บ ทุกคนคิดว่าจบการแสดงแล้ว แต่ไฟกลับสว่างพรึบขึ้นอีกครั้ง ยังมีภาคต่อ เปลี่ยนช็อตมาตอนพี่ปุ๋ยตอบคำถามนักข่าวจากเมืองไทยด้วยสำเนียงแบบพี่ปุ๋ย พร้อมหมุนแตงโมไปด้วย คำตอบคืออย่างฮา ขำกลิ้งกันไปทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง พวกเราหยุดหัวเราะกันไม่ได้ และ 30 ปีผ่านไป ยังจำภาพนั้นได้ไม่มีลืม

กลับขึ้นด้านบน

กระดานดำห้อง 116 รัตนสุดา ปุณณะหิตานนท์

กระดานดำห้อง 116

รัตนสุดา ปุณณะหิตานนท์ เล่าเรื่อง

ห้อง 116 ชั้นล่างตึกเทวาลัยที่ชาวอักษรฯ ทุกรุ่นรู้จักคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นห้อง lecture ขนาดใหญ่ที่น้องใหม่ปี 1 ต้องเข้าเรียนหลายวิชา ในชั่วโมงเรียนวิชาการละครของท่าน อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ก่อนหน้าชั่วโมงเรียนมี อาจารย์ท่านอื่นเขียนกระดานดำไว้เต็มพื้นที่ พออาจารย์สดใสมาถึงหน้าห้อง ก็มีนิสิตชายหุ่นสูงโปร่งไว้ผมค่อนข้างเกรียนคนหนึ่งชื่อเล่นว่าเล็ก (พงศภัค) มีน้ำใจเดินลุกจากที่นั่งไปลบกระดานดำจนสะอาด พร้อมให้ อาจารย์ใช้สอน พอ อาจารย์เห็นเช่นนั้นก็แสดงความชื่นชมและถามถึงชื่อนิสิตคนนี้ ทันใดนั้นเองก็เกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิด นั่นก็คือ เสียงตอบค่อนข้างดังที่เปล่งออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันจากทุกคนที่อยู่ในห้องด้วยโทนทุ้มต่ำเลียนแบบเวลาออกเสียงของเจ้าของชื่อว่า “เรืองศักดิ์” อาจารย์สดใสแสดงความแปลกใจที่ทุกคนในรุ่นรู้จักเพื่อนคนนี้เป็นอย่างดี แต่สำหรับพวกเราแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฮามากเรื่องหนึ่งของรุ่น แม้ปัจจุบันเล็กจะเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วเป็น “พงศภัค” แต่เหตุการณ์ที่เกิดในห้อง 116 นี้ก็ยังทำให้ชื่อเก่าของเล็กยังเป็นที่จดจำของคนในรุ่น 55 จนถึงทุกวันนี้

กลับขึ้นด้านบน

เบื้องหลังฝังใจ ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ (ชูศรี)

เบื้องหลังฝังใจ

ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ (ชูศรี) เล่าเรื่อง

สมัยเป็นสาวอักษรปี 3 เรื่องหนึ่งที่จำไม่ลืมคือวีรกรรมของเชอรี่ เสาวลักษณ์ (ซึ่งจริงๆ มีมากกว่า 1 เรื่อง) เชอรี่เป็นผู้กว้างขวาง ด้วยบุคคลิกห้าวๆ เสียงดัง มีความเฮฮาเป็นที่ตั้ง ไม่มีใครไม่รู้จักเธอ วันหนึ่งพวกเรารวมทั้งเชอรี่เข้าเรียนภาษาอังกฤษ  ผู้สอนคืออาจารย์ชายชาวต่างชาติที่ชาวอักษรฯ คุ้นเคย อาจารย์ปรากฎกายด้วยเสื้อสีอ่อนกางเกงขาวคุ้นตา  อาจารย์หันหลังเขียนกระดานปุ๊บ เชอรี่ก็เริ่มคุยด้วยระดับเสียงปกติ คือพูดลอยๆ ไม่ดังแต่ไม่เบา


เชอรี่: “เฮ้ยดูดิ จารย์ใส่กางเกงขาวอ่ะ ขาวจั๊วะเลย” 


เพื่อนร่วมชั้นเรียนเงียบกริบ อาจารย์ยังคงหันหลังเขียนกระดาน เชอรี่จึงพูดต่อ


เชอรี่: “โหย บางด้วย ชั้นว่าเห็นลางๆ นะ”


คราวนี้มีเสียงเพื่อนหัวเราะคิกคักเบาๆ เชอรี่ยังคงพิเคราะห์เบื้องหลังอาจารย์ แล้วพูดต่อด้วยเสียงอันดัง


เชอรี่: “จารย์ใส่กางเกงในลายว่ะ ชัดๆเลย เกงในลาย !!” 


จบเสียงเชอรี่ อาจารย์หันมามองแค่เสี้ยววินาทีและเริ่มสอน เชอรี่ยังคงพยักพเยิด หัวเราะคิกคักและพุ่งความสนใจไปเรื่องเดิม อาจารย์ก็สอนตามปกติ จนสิ้นชั่วโมง ทุกคนจึงเก็บของเตรียมไปเรียนวิชาต่อไป ก่อนออกจากห้องอาจารย์หันมาพูดภาษาอังกฤษว่า นิสิตช่วยรอซักครู่ ครูจะเขียนอะไรบนกระดาน อ่านแล้วอย่าลืม  อาจารย์หันไปเขียนกระดานและเดินออกจากห้องไปอย่างรวดเร็ว สายตาทุกคู่พุ่งไปยังกระดาน สิ่งที่เห็นคือ ตัวหนังสือภาษาไทยตัวเบ้ง เขียนว่า “ อย่าลืมส่งการบ้านวันจันทร์!!! “ส่วนเชอรี่ผู้ช่างสังเกตนั้นอยู่ในสภาพเข่าอ่อนฟุบหน้าอยู่กับโต๊ะเรียน เป็นภาพที่เพื่อนลืมไม่ลงแม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 30 ปี

กลับขึ้นด้านบน

รถเนรมิต ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ (ชูศรี)

รถเนรมิต

ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ (ชูศรี) เล่าเรื่อง

สมัยก่อนตอนอยู่ปี 1 ความที่เป็นเฟรชชี่จึงยังไม่มีโต๊ะเป็นของกลุ่มตน โรงอาหารอักษรจึงเป็นที่รวมตัว นอกเวลาเรียนพวกเราก็จะมานั่งรวมกลุ่มทานอาหารว่างของโปรด  พร้อมคุยกันเรื่องสัพเพเหระ เสียงหัวเราะดังอยู่เป็นระยะยามเราเล่าเรื่องขำขัน บางครั้งเด็กเก็บจานมายืนฟังด้วยยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไม่ยอมกลับร้านก็มี ความที่นั่งแช่กันอยู่ที่นั่น แน่นอน ความเป็นไปในโรงอาหารและพื้นที่ใกล้เคียงจึงอยู่ในความสนใจของพวกเราเสมอ สมัยนั้นข้างโรงอาหารอักษรด้านถนนอังรีดูนังต์มีพื้นที่จอดรถ นิสิตและบุคคลทั่วไปสามารถนำรถมาจอดได้เสรีเนื่องจากปริมาณรถยังไม่มาก  ลานจอดแสนร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่นี้จึงเป็นพื้นที่จอดรถยอดนิยมของทุกคนโดยเฉพาะหนุ่มๆต่างคณะ  มีหนุ่มเจ้าประจำคนหนึ่งขับรถมาจอดและนั่งทานข้าวกับกลุ่มเพื่อนบ่อยๆ จนพวกเราจำหน้าได้ วันหนึ่งหนุ่มถอยรถใหม่ จำแม่นว่าเป็นเปอโยต์สีขาวป้ายแดง (รุ่นอะไรนั้นคงต้องไปไล่กันเอาเอง ใหม่สุดของปี 2530) ขับมาจอดที่ลานข้างโรงอาหาร เดินขึ้นมาทานข้าวกลางวันกับเพื่อนเหมือนเดิม หลายคนที่เดินผ่านต่างมองรถคันโก้ ตัวรถสีขาว เบาะสีเข้มๆ มองไม่ชัดเท่าไหร่แต่ ส่วนตัวนั้นชมอยู่ในใจว่ารถสวยดีตามสไตล์เปอโยต์   

สองสามวันผ่านไป ขณะเดินผ่านลานจอดจะไปเรียนช่วงบ่ายเห็นรถของหนุ่มคนเดิม แต่วันนี้มีอย่างหนึ่งเปลี่ยนไป  เบาะรถสีเข้มถูกแทนที่ด้วยถูกเปลี่ยนด้วยเบาะใหม่มีแถบสีน้ำเงินกับแดงสลับกันดูแวววาว ในใจคิดว่าคุ้นๆ กับเบาะสีแบบนี้แต่จำไม่ได้ว่าเห็นที่ไหน  จบชั่วโมงเรียนเดินกลับมาที่โรงอาหาร เห็นคนเดินผ่านรถเปอโยต์คันเดิมแล้วหัวเราะกันคิกคัก จึงปรี่เข้าไปดู  สิ่งที่ปรากฎแก่สายตาคือ กระดาษแผ่นโตถูกเสียบไว้กับที่ปัดน้ำฝน มีตัวหนังสือเขียนด้วยมาร์คเกอร์เส้นโตสีดำ อ่านได้ความว่า "แด่เจ้าของรถ คุณเก่งมากที่สามารถเนรมิตเปอโยต์ให้กลายเป็นรถตุ๊กตุ๊กได้ในชั่วข้ามคืน!!!!"   ไม่รู้จริงๆ ว่าฝีมือใคร มองไปเห็นรุ่นพี่หลายคนยิ้มๆ แต่ที่รู้แน่ๆ พอจะนึกออกแล้วว่าเคยเห็นเบาะน้ำเงินแดงเงาแว๊บแบบนั้นที่ไหน 

คิดเรื่องนี้ทีไร ก็เรียกรอยยิ้มและความทรงจำอันสนุกสนานในร่มเทวาลัยและรั้วจามจุรีได้เสมอมา

 

กลับขึ้นด้านบน

ขนมถ้วยแม่เอ๊ย ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ (ชูศรี)

ขนมถ้วยแม่เอ๊ย

ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ (ชูศรี) เล่าเรื่อง

สมัยเป็นนิสิตอักษรฯ การมี "โต๊ะ" ประจำกลุ่มนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่ว่านอกเวลาเรียนจะได้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์เฉพาะกลุ่ม และจะได้ก็ต่อเมื่อพี่ๆ เจ้าของโต๊ะเรียนจบและน้องๆ จะได้รับทั้งโต๊ะและพื้นที่นั้นเป็นมรดกตกทอด กลุ่มพวกเราได้รับมรดกเป็นโต๊ะใต้ต้นหูกวาง อยู่ตรงสามแยกคณะอักษรฯ เยื้องกับตึกคณะศิลปกรรม ด้านข้างมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดยักษ์ตั้งอยู่ จึงมีชื่อเรียกกันตั้งแต่ในหมู่รุ่นพี่ว่า "โต๊ะไฟฟ้า" เมื่อแรกที่เล็งขอรับมรดกโต๊ะนี้ พวกเราแสนปลื้มใจด้วยว่ามีชัยภูมิรับแขกเป็นอย่างมาก รถสามารถวิ่งวนเวียนใกล้โต๊ะเราเพื่อจะมุ่งหน้าออกถนนอังรีดูนังต์ หรือแยกไปยังคณะอื่นๆ ได้ทั่วจุฬาฯ  ยามมีรถคนที่ถูกตาต้องใจผ่านมาก็จะเห็นโดยง่าย ทำใหัหัวใจสาวอักษรแสนจะสดชื่นเมื่อได้มานั่งพักผ่อนหลังจากชั่วโมงเรียนอันเข้มข้น พวกเราจึงคึกคักมากเมื่อรู้ว่าจะได้นั่งโต๊ะมรดกนั้น

วันเปิดเรียนปี 3 มาถึง เป็นวันแรกที่พวกเราได้ครอบครองโต๊ะเต็มๆ จึงมากันแต่เช้า สิ่งแรกที่พบคือ มีลูกกรงกั้นการจราจรห้ามรถผ่านตั้งแต่โต๊ะพวกเรายาวไปจนถึงหลังหอประชุมจรดแยกคณะวิศวะฯ ความหวังการชมวิวดับวูบลงตรงหน้า แต่ในสิ่งที่ผิดหวังก็มีความสมหวังเกิดขึ้น  ตำแหน่งของโต๊ะเรานั้นแสนจะร่มรื่น มีพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ วนเวียนเข้ามาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นโรตีสายไหม ไอสครีมรถเข็นแบบที่มีกระดาษเยื่อบางๆ พันรอบ เวลาจะทาน คนขายจะตัดเป็นท่อนเสียบไม้ยื่นให้ ผลไม้ดอง ขนมไทย แต่ที่เราโปรดปรานกันมากที่สุดคือขนมถ้วยในถ้วยป้านๆ สีขาวฟ้า มีไม้พายจิ๋วๆ ไว้ให้เป็นอุปกรณ์การทาน ขาประจำจะมี 2 คนซึ่งต้องนั่งคู่กันเสมอ คือ บุสก้า (สรรควัฒน์) และ นก (นัดดาเพ็ญ) เหตุที่ต้องนั่งคู่กันเพราะ 2 คนนี้ชอบทานขนมถ้วยคนละส่วน นกชอบทานแต่หน้ากะทิเค็มๆ แต่บุสก้าชอบเฉพาะตัวขนมถ้วยหวานๆ

วันนั้นจำได้ว่านั่งกันอยู่ประมาณ 7-8 คน  แม่ค้าขนมถ้วยเจ้าเก่าก็หาบมาถึง  มีเวลาก่อนเข้าเรียนอีกแค่ 15 นาที รีบทานก็น่าจะทัน ฉันจึงบอกป้าว่า”เหมือนเดิม” คือทิ้งหาบไว้ ป้าจะไปไหนก็ได้ ส่วนพวกเราก็จะรุมทานขนมหาบของป้าและป้ากลับมาก็จะนับถ้วยคิดสตางค์กันซึ่งป้าชอบหนักหนา  ป้าทิ้งหาบไว้เดินหายไปอย่างรีบเร่ง พวกเราก็บุฟเฟ่ต์ขนมถ้วยกันอย่างสนุกสนาน จนถ้วยกองพะเนินเทินทึก จนอีก 5 นาทีวิชาเรียนจะเริ่ม พวกเราก็เริ่มมองหาป้า แต่ไม่มีวี่แวว  เราต้องเข้าเรียนกันแล้ว  เพื่อนบางคนห้องเรียนไกลจึงขอตัวไปก่อน สุดท้ายถึงเวลาเข้าเรียนแล้วยังคงไม่มีวี่แววของป้า ด้วยความรับผิดชอบว่าตัวเองเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการเรียกป้าจึงต้องอยู่รอแม้เลยเวลาเรียนแล้วก็ตาม จะทิ้งหาบป้าไปก็สงสาร ไม่รู้จะจ่ายเงินกันยังไง ทานกันกองเป็นภูเขาเลากาอีกต่างหาก รอจนเหงื่อตกได้สักพัก เห็นป้าเดินมาลิบๆ ดีใจจนเนื้อเต้น ป้าเดินเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที จึงได้เห็นว่าป้านั้นดูอ่อนเพลีย เหงื่อโทรมกายกลับมา จึงถามป้าด้วยความสงสัย


ฉัน:   “ป้าไปไหนมา หนูรอตั้งนาน นี่เลยเวลาเรียนหนูแล้ว คิดตังค์เร้ว!!!!!”

        (เร่งป้าสุดขีดแต่ก็อยากรู้ว่าเกิดอะไร ขึ้นกับป้าจึงกลับมาสภาพนี้)
ป้า:   “ก็หนูให้ป้าทิ้งหาบไว้ ป้าก็ทิ้ง พอดีปวดท้องเบา เลยไปเข้าส้วมที่ตึกโน้น” (ชี้มือ)

ฉัน: “แล้วไหงนานนักหละป้า” (บ่นพลางนับตังค์จะส่งให้ป้า)
ป้า: “ป้าเข้าส้วมแล้วใส่กลอน ก็ว่าประตูมันฝืด พอจะออกมาก็เปิดกลอนได้แต่ประตูน่ะเปิดเท่าไหร่ก็เปิดไม่ออกป้าดันแล้วดันอีก จะเรียกคนก็ไม่กล้า กลัวเขาว่ามาลักเข้าส้วม” ป้าเล่าเสียงแผ่ว 

ฉัน: “แล้วตกลงป้าออกมาไง ปีนเหรอ ?”
ป้า: (หน้ายังซีดอยู่) “เปล่า ป้าก็กระแทกแรงๆ กะจะดันประตูให้มันเปิดไง ใจนึกถึงพ่อแก้วแม่แก้ว ขอสมาอภัย อธิษฐานให้ท่านช่วย แล้วลูกจะไม่มาเข้าส้วมอีกแล้ว พอดีมีเสียงคนเข้ามาป้าเลยตัดสินใจเรียกเขา” 

ฉัน: “เขาเลยปีนเข้ามา?” (ถามแบบตื่นเต้นสุดขีด ต้องมีปีนแน่นอน)
ป้า: “ป้าเลยลองดันอีกที ปากก็ร้องให้เขาช่วย คนข้างนอกเขาเลยตะโกนว่า อย่าดันประตูสิ ต้องดึง ถึงจะเปิดได้ ป้าก็เลยดึง ดึงทีเดี๊ยว มันเปิดเลย!!!!!  เลยมาช้าหน่อย ขอโทษนะหนู  ทั้งหมด 30 จ้า ขอแบงค์ย่อยเน้อ ป้าไม่มีทอน (ถอนหายใจเฮือกใหญ่)


ฉันนับตังค์ส่งให้ป้าไป 40 บอกไม่ต้องทอน อยากหัวเราะสุดขีด แต่ก็กลั้นไว้ สงสารป้า 10 บาทที่เหลือนั่นค่าทำขวัญนะป้านะ!!!!!!    

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University