ทรงเป็นเพื่อนที่ดี

พระเมตตาต่อพระสหายชาวอักษรฯ

บรรดานิสิตชั้นปีที่หนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2516  ต่างก็รู้ดีว่า ปีนี้เป็นปีพิเศษยิ่งกว่าปีใด เป็นหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ของคณะอักษรศาสตร์ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยอันเก่าแก่แห่งนี้ และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การอุดมศึกษาไทยด้วย แต่ที่หลายๆ คนอาจไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า ปีนี้จะเป็นการเริ่มต้นของมิตรภาพอันยาวนานระหว่าง “ฟ้า” กับ “ดิน”  ระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์กับพระสหายอักษรศาสตร์ร่วมรุ่น

น้องใหม่ในปีนั้นส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เพราะบ้างมาจากโรงเรียนมัธยมเดียวกัน บ้างก็เคยเรียนชั้นประถมมาด้วยกัน แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระสหายร่วมชั้นเรียนจากโรงเรียนจิตรลดาที่มาเข้าคณะอักษรศาสตร์เพียงสองคน คือ พาสินี (สารสิน) ลิ่มอติบูลย์  และธาริณี (โชติกเสถียร) นามศิริชัย ในตอนแรกๆ จึงแทบจะไม่ทรงรู้จักใครเลย  แต่ไม่นานนักก็ทรงรู้จักเพื่อนๆ หลายต่อหลายกลุ่ม เพราะพระอัธยาศัยร่าเริง ไม่ถือพระองค์ น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา เอื้ออารี  รวมทั้งความสนพระราชหฤทัยร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายอย่างไม่เกรงเหน็ดเหนื่อย  เช่น การแข่งขันกีฬาสี การซ้อมเชียร์ การแข่งฟุตบอล พิธีรับน้องใหม่ กิจกรรมแต่งกลอนแข่งขันประชันกลอนสดกวีวจนะสด  การเล่นดนตรีไทย และการทำวารสารวิชาการ ล้วนส่งเสริมให้ทรงมีโอกาสพบปะสังสรรค์กับทั้งเพื่อนร่วมรุ่น และเพื่อนรุ่นพี่ น้อมนำไปสู่ความคุ้นเคยและมิตรภาพที่ก่อเกิดอย่างรวดเร็ว

ทีมกลอนสดน้องใหม่เป็นที่จับตามองของนิสิตทั้งรุ่น  เพราะรับภาระหนักที่จะรักษาเกียรติภูมิของน้องใหม่อักษรฯ ที่ใครๆ ก็เชื่อว่า ต้องเป็นยอดฝีมือด้านโคลงฉันท์กาพย์กลอน  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในทีมดาวรุ่งนี้  พี่ๆ มอบหมายให้ทรงประชันด้านคำประพันธ์โคลง  พระราชนิพนธ์ กษัตริยานุสรณ์ ที่ทรงแต่งในช่วงก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นประจักษ์พยานถึงพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์โคลงได้อย่างดีเลิศ  เพื่อนอีกคนหนึ่งที่รุ่นพี่ให้เป็นกำลังสำคัญในการแข่งแต่งโคลง คือ ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นคณบดีสองสมัยของคณะอักษรศาสตร์

ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล หนึ่งในสมาชิก 11 คนของทีมกลอนสดน้องใหม่ เล่าว่า การแข่งขันแต่งกลอนสดระหว่างนิสิตใหม่คณะต่างๆ ในจุฬาฯ จัดตอนเย็นหลังเลิกเรียนที่ศาลาพระเกี้ยว “บรรยากาศการแข่งขันสนุกสนาน เฮฮามาก เพราะน้องใหม่แต่ละคณะก็มีลีลา สำนวนโวหาร แนวคิด การตีความกระทู้ แปลกๆ แตกต่างกันไป วันใดที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จและทรงลงแข่งขัน ผู้ชมผู้เชียร์แทบล้นทะลักศาลาพระเกี้ยว” (ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล, 2559, หน้า 126.) แน่นอนว่ารุ่นพี่รุ่นน้องชาวอักษรฯ พร้อมใจกันไปให้กำลังใจทีมกลอนสดน้องใหม่อย่างคับคั่ง  ผลการประชันกลอนสดนั้น ประเภททีม ทีมอักษร และทีมบัญชี “เฉือนกันไม่ลง ครองถ้วยชนะเลิศร่วมกัน” (ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล, 2559, หน้า 127.)

ยิ่งเวลาผ่านไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ยิ่งทรงเป็นที่รักของเพื่อนๆ ร่วมรุ่น  เพราะทรงเป็นกันเอง คุยสนุกและมีพระอารมณ์ขัน  น้ำพระราชหฤทัยกว้างขวาง ทรงอนุญาตให้เพื่อนๆ ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ครบถ้วนตามราชประเพณี มีรับสั่งว่า “พูดธรรมดาๆ ก็ได้” เพื่อนๆ จึงเลิกประหม่า กล้าเข้าไปพูดคุยกับพระองค์ แต่ก็พยายามใช้ราชาศัพท์ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  ถึงเพื่อนร่วมรุ่นจะมีมากมาย ก็ทรงจำชื่อเพื่อนๆ ได้ทั้งชื่อจริง นามสกุล และชื่อเล่น ในรุ่นเรา มีฝาแฝดคู่หนึ่ง  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าว่า วันแรกๆ ก็ทรงจำไม่ได้ ถ้ามาคนละทีก็ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร ส่วนฝาแฝดคนน้องเปิดเผยว่า ครั้งหนึ่งเคยนึกสนุกไปแกล้งหลอกพระองค์ท่าน ว่าเป็นแฝดคนพี่ แต่กลับไม่ทรงหลงกล ทรงจำได้ว่าใครเป็นใคร  ด้วยทรงพระเมตตา เป็นกันเองกับเพื่อนๆ  เพื่อนๆ ก็กล้าขนานพระนามอย่างไม่เป็นทางการว่า “ทูลกระหม่อม” ตามอย่างพระสหายจากโรงเรียนจิตรลดา

กลับขึ้นด้านบน

พระอัธยาศัยที่เป็นกันเองนี้ เพื่อนร่วมรุ่นเคยเขียนเล่าไว้ว่า

       มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งเอาพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์เมื่อยังทรงพระเยาว์มาดูกันที่คณะ  เมื่อทูลกระหม่อม(สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) เสด็จผ่านมา  เขาก็ชี้ชวนให้ทรงทอดพระเนตรพระอิริยาบถของพระองค์เอง และทูลว่า “ดูซิเพคะ น่าร้ากน่ารัก” ทูลกระหม่อมทรงพระสรวลแล้วเล่าว่า “ตอนที่ถ่ายรูปนี้เขาหลอกว่าเดี๋ยวมีลิงโผล่มาจากกล้อง” จึงทรงนั่งนิ่งๆ และเพ่งมองไปที่กล้องเพื่อดูลิง พวกเราเลยหัวเราะกันใหญ่”  (ศุภมา, 2521,หน้า 35-6) 

       ทูลกระหม่อม” ทรงชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ พระกระเป๋าใบใหญ่ หรือถุงย่าม ที่ทรงสะพายเป็นประจำจะมีของใช้ต่างๆ ให้เพื่อนๆ ขอยืมได้ เช่น กาว กรรไกร หรือแม้แต่ยาดม ยามเสด็จกลับจากต่างประเทศหรือเสด็จกลับจากตามเสด็จไปต่างจังหวัด มักมีขนม เช่น ชอกโกแล็ต มาพระราชทานเพื่อนๆ ให้แบ่งกัน  สมัยนั้นแครอตเพิ่งนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยไม่นานนัก พวกเราก็ได้ชิมส้มตำแครอตอย่างเอร็ดอร่อยเป็นครั้งแรกจากฝีมือ “คุณป้าจัน” คุณข้าหลวงผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จมาที่คณะ 

       เวลาใกล้สอบ  บางทีเพื่อนๆ จะแบ่งกันไปอ่านตำราเรียนแล้วมาติวกัน แต่เพราะทรงพระปรีชาสามารถด้านการเรียนและด้านภาษา ทำให้ทรงอ่านได้มากกว่าคนอื่นแล้วทรงนำมาสอนเพื่อนๆ อยู่เสมอ  บางทีก็ทรงเก็งข้อสอบให้ด้วย (ซึ่งแม่นมาก) ครั้งหนึ่งพวกเราไม่รู้ว่าจะตอบข้อสอบที่ทรงเก็งให้อย่างไรดี ก็ทูลขอให้ทรงช่วยถามอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียน อาจารย์ทำหน้าแปลกๆ แต่ก็อธิบายให้ฟัง ในวันสอบ เมื่อเห็นข้อสอบ พวกเราถึงได้เข้าใจ เพราะอาจารย์ออกข้อสอบไว้ล่วงหน้าอย่างนั้นจริงๆ    

กลับขึ้นด้านบน

อีกเรื่องหนึ่งที่เพื่อนๆ ชอบใจมาก คือ

       ทรงช่วยซักถามและตอบคำถามอาจารย์ในชั้นเรียนเป็นประจำ (คำถามอาจารย์ก็แสนยาก ใครจะไปตอบได้) ทำให้ห้องเรียนพ้นจากสภาพเงียบงันที่น่ากลัวไปได้  และช่วยให้เพื่อนๆ โล่งอก  มีหนหนึ่งเมอสิเออร์ปราดีน อาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสคงจะอ่อนใจกับนิสิตคนอื่นๆ ในกลุ่มที่ไม่ยอมตอบอะไร ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ “ทูลกระหม่อม” อาจารย์ถึงกับทูลว่า “เจ้าหญิงไม่ต้องตอบแล้ว ให้คนอื่นตอบบ้าง”

       ตอนปีสี่ มีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนวิชาเอกเดียวกับพระองค์ต้องเข้าโรงพยาบาลไปผ่าตัดเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนมาทับเส้นประสาทขาข้างซ้าย และต้องพักฟื้นอยู่นาน  มีพระเมตตาช่วยจดคำบรรยายเผื่อ เวลานั้นค่าถ่ายเอกสารยังแพงมาก หน้าละสามบาท (เท่ากับค่าก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ส่วนข้าวแกงที่โรงอาหารกรมประชาสงเคราะห์ในบริเวณคณะยังขายจานละบาทเดียว) จึงทรงใช้วิธีเขียนบนกระดาษที่มีแผ่นคาร์บอนหรือที่เรียกกันว่ากระดาษก๊อบปี้รองรับ วางทับอยู่บนสมุดโน้ต เป็นสำเนาพระราชทานให้เพื่อนได้อ่านและได้เรียนไปด้วย ทั้งยังทรงขอให้เพื่อนคนอื่นๆ ช่วยจดคำบรรยายวิชาอื่นๆ ให้เพื่อนคนนี้ด้วย  เมื่อเพื่อนคนนี้กลับมาเรียนได้แล้ว แต่ยังขึ้นบันไดไม่ได้ ก็ทรงขอให้อาจารย์ช่วยย้ายบางวิชาเท่าที่ทำได้มาสอนห้องชั้นล่าง เพื่อให้เพื่อนได้มีโอกาสเข้าชั้นเรียนบ้าง ทำให้เพื่อนคนนี้ได้จบการศึกษาพร้อมกับเพื่อนในรุ่นเดียวกัน

       ระหว่าง พ.ศ. 2516-2520 เมื่อทรงเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ เป็นช่วงที่นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก บางกลุ่มมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างสุดโต่ง ทรงปรับตัวได้ดีกับสภาพการณ์ขณะนั้น ทรงเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีตามหลักประชาธิปไตย มีน้ำพระราชหฤทัยกว้างขวาง เปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น ทรงแยกแยะความเป็นเพื่อนและความคิดที่ต่างกันทางการเมืองออกจากกัน  พระสหายคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า

“หลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มหาวิทยาลัยถูกปิดชั่วคราว เพื่อนๆ อบ. 41 ที่มีบทบาทเด่นทางการเมืองหลายคนหนีเข้าป่า หลายคน

ถูกเพื่อนทัดทานว่าอย่าเพิ่งหนี รอดูสถานการณ์ก่อน เมื่อรัฐบาลอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนได้ตามปกติ นิสิตนักศึกษากลับสู่มหาวิทยาลัย

ด้วยจิตใจหดหู่ สิ้นหวัง ผสานไปกับความตื่นกลัว เพื่อนๆ ที่คิดจะหนีเข้าป่าหลายคนได้มาที่คณะ เมื่อทรงพบเพื่อนพวกนี้ ได้ทรงเข้าไปทักทาย

ให้กำลังใจทรงห่วงใยอาทรเพื่อนเหล่านี้ด้วยน้ำพระราชหฤทัยแห่งความเป็นเพื่อน ทำให้พวกเขาซาบซึ้งและมีกำลังขวัญดีขึ้น”

กลับขึ้นด้านบน

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว

       ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปดำเนินชีวิตตามเส้นทางของตน กระนั้นเพื่อนๆ ก็ยังตระหนักถึงน้ำพระราชหฤทัยเมตตาต่อพระสหายร่วมรุ่นที่มิได้ลดน้อยจืดจางไปตามกาลเวลา  ยิ่งกว่านั้นพระมหากรุณาธิคุณยังได้แผ่ไปถึงคู่สมรส บิดามารดา ตลอดจนบุตรหลานของพระสหายเหล่านั้นด้วย  

       แม้จะมีพระราชกิจมากเหลือเกิน แต่ทรงแบ่งปันเวลาให้เพื่อนเสมอ  เพื่อนกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อแก่บุตรธิดา ก็ทรงตั้งให้  นับเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลยิ่งในการเริ่มต้นชีวิตของเด็กน้อย  บุตรธิดาเหล่านั้นหลายคนเมื่อเติบใหญ่ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณประกอบพิธีสมรสพระราชทาน เป็นมิ่งมหามงคลอีกวาระหนึ่งในชีวิต  ยามที่เพื่อน คู่สมรส หรือบุพการีเจ็บไข้ได้ป่วย เดือดร้อน ลำบาก เมื่อทรงทราบ ก็มิได้ทรงวางเฉย ทรงเป็นห่วงใยไต่ถามถึง และพระราชทานความช่วยเหลืออนุเคราะห์ตามสมควร  ยามที่บิดามารดาของพระสหายถึงแก่กรรม มีพระเมตตาพระราชทานพวงมาลาหรือเสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพตามแต่ที่โอกาสจะอำนวย  ในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่เพื่อนร่วมรุ่น อ.บ. 41  ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี  ณ วัดปทุมวนาราม “ทูลกระหม่อม” ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องสังฆทาน  มาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยทุกครั้ง

       เพื่อนบางคนที่เป็นครูอาจารย์ ดูเหมือนจะได้รับพระเมตตาเป็นพิเศษ  น่าจะเป็นเพราะทรงรับราชการเป็นครูเช่นกัน จึงทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่าควรพัฒนาความรู้ครูให้ก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์แก่ลูกศิษย์ได้ดีขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้เพื่อนบางคนที่เป็นครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ ได้ตามเสด็จไปในที่ต่างๆ เป็นครั้งคราว เพื่อเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่ และสถานที่ซึ่งเข้าถึงได้ยาก ได้นำความรู้มาปรับใช้ในการสอนหรือการค้นคว้าวิจัยต่อไป

       เพื่อนๆ ต่างตระหนักถึงพระปรีชาสามารถรอบรู้ในวิชาการต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ประกอบด้วยประสบการณ์กว้างไกล บางคนก็ได้พึ่งพระสติปัญญาพระปรีชาชาญแก้ปัญหาของตน  บางคนที่หนักใจเพราะได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของตนให้ดำเนินการงานสำคัญซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายสาขามาประยุกต์ใช้ มีข้อที่ต้องขบคิดหรืออุปสรรคที่ต้องแก้ไขไม่น้อย เมื่อมีโอกาสขอเข้าเฝ้าฯ นำความขึ้นกราบบังคมทูลข้อที่ติดใจสงสัย มักได้รับพระกรุณาพระราชทานคำปรึกษาแนะนำที่ทรงคุณค่า อีกทั้งพระราชทานความช่วยเหลือและกำลังใจ  จนสามารถคลี่คลายปัญหาอุปสรรค ทำกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดี

       เรื่องหนึ่งที่เพื่อนๆ ประทับใจยิ่งคือ ทรงจดจำเพื่อนร่วมรุ่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ไม่ได้พบกันนานแล้วก็ทรงจำได้  ถ้าทรงพบ ก็ทรงทักทายเสมอ  เช่น เพื่อนคนหนึ่งสอนหนังสืออยู่ที่จังหวัดเชียงราย  เวลามีโอกาสเข้าเฝ้าฯ  รับสั่งว่า “ที่นี่มี (เพื่อน) อยู่คนเดียวนี่แหละ” พร้อมแย้มพระสรวล  (พรรณราย จันทยศ, 2559 , หน้า 133) บางครั้งเสด็จไปสถานที่ซึ่งทรงทราบว่าพระสหายทำงานอยู่ แต่ไม่ทรงพบ ก็ยังทรงถามถึง น้ำพระราชหฤทัยใส่ใจอย่างที่นึกไม่ถึงนี้ ทำให้เพื่อนซึ่งรู้สึกว่าเป็นเพียงคนเล็กคนน้อย หัวใจพองโตด้วยความปลื้มปีติในพระกรุณาธิคุณ  เพื่อนคนหนึ่งแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศ หลายปีแล้วไม่ได้มาเฝ้าฯ  เมื่อกลับมาเมืองไทยได้เข้าเฝ้าฯ ก็ทรงทักทายอย่างดีพระทัย  รับสั่งถึงความหลังสมัยเป็นนิสิต ว่าในห้องแล็บภาษา  อาจารย์ให้ฟังเทปฝึกร้องเพลงภาษาฝรั่งเศส เธอผู้นั้นร้องเพลงเต็มเสียง ดังก้องทั้งห้อง  จึงทรงหยุดร้องมาฟังเพื่อนร้องเพลงแทน

       พระเมตตาต่อพระสหายร่วมรุ่นนั้นมีมากล้นพ้นพรรณนา สุดที่จะรวบรวมมากล่าวได้ครบถ้วน แม้จะเรียนจบกันมาหลายสิบปีแล้ว อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 41ยังรวมตัวกันเหนียวแน่น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ปกแผ่เหนือเกล้า  ทรงพระกรุณารับเป็นประธานคณะกรรมการอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 41  และทรงรับกองทุนอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 41 ไว้ในพระราชูปถัมภ์ กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเพื่อน อ.บ. 41 และครอบครัวที่ประสบเคราะห์กรรม อีกทั้งยังมุ่งสนับสนุนกิจกรรมของคณะอักษรศาสตร์หรือสังคมภายนอกตามแต่ที่จะเห็นสมควร  ดำเนินตามพระราชจริยาวัตรของ “ทูลกระหม่อมประธานรุ่น”  เพื่อนๆ ต่างมีใจคิดตรงกันว่า พวกเรานั้นล้วนมีวาสนายิ่งนักที่ได้มาเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ร่วมรุ่นกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระปัญญาและพระกรุณาธิคุณพร้อมสรรพ

 

เหมือนแดดอ่อนอุ่นเอื้อเมื่อยามหนาว

วันร้อนผ่าวเย็นสบายด้วยสายฝน

ร่มพระราชูปถัมภ์ฉ่ำชื่นกมล

ปิติล้นพระเมตตาและอาทร

 

(ประสิทธ์ รุ่งเรืองรัตนกุล ประพันธ์)

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University