อักษรจรัส รุ่น 54

ดร.ปาริฉัตต์ ครองขันธ์ (เก๋)

ดร.ปาริฉัตต์ ครองขันธ์ (เก๋)

อักษรจรัส อบ.54

ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่ภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนทางธรรมชาติก่อให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรงนับครั้งไม่ถ้วน ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกและมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดร.ปาริฉัตต์ ครองขันธ์ หรือ ‘เก๋’ ของเพื่อนๆ ได้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าและเป็นที่ต้องการในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ” ที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนในประเทศ เก๋ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกงานลดความเสี่ยงภัยพิบัติเชิงสังคมศาสตร์คนแรกๆ ของไทย พูดง่ายๆ ว่าศักยภาพและความสามารถของเธอ คือส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยชีวิตผู้คนนับแสนนับล้านในโลกที่อาจต้องสูญเสียหากมิได้รับการฝึกอบรมหรือเรียนรู้การวางแผนป้องกันภัยตลอดจนช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติ

หลังจากจบอักษรฯ ชีวิตการงานของเก๋วนเวียนอยู่กับองค์กร NGO ด้านพัฒนาสังคมและสุขอนามัย (HIV/AIDS) เธอเริ่มจับงานด้านการจัดการภัยพิบัติที่ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียภายใต้โครงการ Program for Enhancement of Emergency Response  จึงสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านนี้เรื่อยมา ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่ทั่วทั้งทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติสูงอย่างอินเดีย เนปาล ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

งานลดความเสี่ยงภัยพิบัติที่เก๋ทำจะเน้นด้านการวางแผนป้องกันโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ระบบเตือนภัยสื่อสารในชุมชน และที่สำคัญคือการจัดการภัยพิบัติที่คนพิการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมีส่วนผลักดันนโยบายการลดความเสี่ยงภัยพิบัติของประเทศ รวมทั้งเขียนคู่มือการเตรียมความพร้อมในชุมชน และคู่มือกระบวนการจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐานซึ่งยังใช้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐปัจจุบัน

เก๋ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่ องค์กรของรัฐ NGO และองค์กรระหว่างประเทศอย่าง JICA, UNDP, Asia Pacific Injury Prevention Foundation, Save the Children และอื่นๆ ทั้งยังมีผลงานตีพิมพ์และฝึกอบรมอีกนับไม่ถ้วน และเมื่อใดที่เกิดเหตุภัยพิบัติ ณ จุดไหนของโลกไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวในเนปาล วาตภัยที่ฟิลิปปินส์ หรืออุทกภัยในเมียนมาร์ ซึ่งสร้างความเสียหายและคร่าชีวิตผู้คนนับหมื่น เก๋มักเป็นคนแรกๆ ที่สื่อไทยจะติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์หรือเชิญไปออกรายการเพื่ออรรถาธิบายและให้ความกระจ่างในเรื่องการป้องกันและจัดการภัยพิบัติเหล่านั้นเสมอ

เก๋เรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า และจบปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) ในสาขา Regional and Rural Development เธอมีงานอดิเรกหลายอย่าง เช่น ถ่ายภาพ วาดรูป ปลูกผัก และเป็นอาสาสมัครในโครงการช่วยเหลือสังคมหลายโครงการ

นับได้ว่าเธอเป็น “เด็กอักษรฯ” อีกคนหนึ่งที่เจิดจรัสในฐานะผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างมากทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เก๋ปวารณาตัวว่าจะทำหน้าที่ของตนในด้านการจัดการภัยพิบัติให้ดีที่สุดด้วยคติที่ว่า เราห้ามมิให้เกิดภัยพิบัติไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกัน และเตรียมความพร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของภัยพิบัติที่มีต่อโลกและมนุษยชาติได้

ดร.วรารัตน์ วริรักษ์ (อ้อย)

ดร.วรารัตน์ วริรักษ์ (อ้อย)

อักษรจรัส อบ.54

หากจะถามว่าทำไมเพื่อนจึงมอบตำแหน่งอักษรจรัสประจำรุ่นให้อ้อย คงจะตอบได้ว่าเหตุผลหลักคือการที่เธอเป็นคนแรกของโลก (และคนเดียวในขณะนี้) ที่สามารถสร้างสรรค์โน้ตสัญลักษณ์สากลแนวใหม่สำหรับการเรียนกลองทับบลา (Tabla Drum) อย่างเป็นระบบ กลองทับบลานั้นถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย เป็นกลองหนัง 2 ใบ มีเสียงแหลมและเสียงเบสคู่กัน สามารถสร้างเสียงได้หลากหลายจากการเล่นด้วยมือและนิ้วทั้งสิบ ได้รับการยกย่องว่าเป็น King of drums ในวงการดนตรีโลก

จริงๆแล้วอ้อยฉายแววเจิดจรัสมาตั้งแต่เป็นนิสิตอักษรฯ  ด้วยความที่เลือกวิชาเอกศิลปะการละคร โอกาสทำงานในแวดวงดนตรีจึงเปิดกว้างสำหรับเธอ  อ้อยมีโอกาสได้แต่งเพลงให้กับศิลปินชื่อดังของประเทศในขณะนั้นอย่าง คุณสุเทพ ประยูรพิทักษ์ และคนอื่นๆ ตั้งแต่เป็นนิสิตอักษรฯ ปี 2 ภายใต้นามปากกา “วิวัฒน์” และมีผลงานด้านดนตรีในหลากหลายวงการเรื่อยมานับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงประจำรายการโทรทัศน์ เพลงสำหรับเด็ก และบทเพลงประจำงานต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ล่าสุด อ้อยมีโอกาสได้ประพันธ์ดนตรีและเพลงธีมประกอบภาพยนตร์แนวแอ็กชั่นดราม่าเรื่อง “วานรคู่ฟัด” ที่เข้าฉายแล้วในปีนี้ (2559)

อ้อยจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยา จากนั้นจึงต่อปริญญาเอกที่ University of Delhi, India ด้านดนตรี (เอก: กลองทับบลา) เธอได้ทำงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับกลองทับบลา ซึ่งรวมทั้งผลงาน “การบันทึกโน้ตเพลงทับบลาขั้นสูงในทาง Banaras และ Faraukhabad Gharana ด้วยโน้ตทับบลาฉบับไทยประดิษฐ์” ผลงานการสร้างโน้ตทับบลาด้วยสัญลักษณ์สากลที่อ้อยคิดประดิษฐ์ขึ้นนี้ผ่านการทดสอบและรับรองจากนักดนตรีและนักศึกษาดนตรีชาวอินเดียแล้วว่าสามารถทดแทนเสียงและวิธีการบรรเลงได้จริง ใช้งานได้จริง และทำให้ชาวต่างประเทศผู้ไม่เคยเล่นกลองทับบลามาก่อน สามารถเรียนรู้และเล่นบทเพลงพื้นฐานกลองทับบลาได้ภายใน 1 ชั่วโมง แทนการฝึกหัดหรือเรียนเป็นปี ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางดนตรีชิ้นสำคัญจากการคิดค้นสร้างสรรค์โดยคนไทยเป็นครั้งแรก นวัตกรรมทางดนตรีชิ้นนี้อยู่ในระหว่างการต่อยอดงานวิจัยและนำเสนอเพื่อขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรต่อไป นอกจากนี้อ้อยยังเป็นคนไทยคนแรกที่ผ่านการสอบวัดระดับความสามารถกลองทับบลาและการขับร้องเพลงคลาสสิกในประเทศอินเดียร่วมกับชาวอินเดียเจ้าของวัฒนธรรม นับเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของเพื่อนร่วมรุ่นอักษรฯ 54 อย่างแท้จริง

ในเรื่องของหน้าที่การงาน อ้อยผ่านงานมาอย่างโชกโชนในหลากหลายสาขา ทั้งงานเบื้องหลังวงการบันเทิง copy writer และงานในแวดวงวิชาการ ปัจจุบันอ้อยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่สอนในสาขาวิชาดนตรีสากล ในยามว่างอ้อยมักจะไปขี่จักรยานเสือภูเขาตามที่ต่างๆ ในพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานและเลขานุการ ชมรมจักรยานเพื่อการแข่งขันจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย  

 

นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ (กุ้ง)

นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ (กุ้ง)

อักษรจรัส อบ.54

หลายคนใฝ่ฝันจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่คงมีไม่กี่คนที่จะไปได้ถึงจุดนั้นด้วยความสามารถของตัวเองล้วนๆ ‘กุ้ง’ เป็นความภูมิใจของเพื่อนร่วมรุ่นกับการที่ได้เป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับต้นของประเทศ และเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียว

กุ้งชื่นชอบการพบปะและพูดคุยกับผู้คนหลากหลายรูปแบบและเมื่อได้รับการบ่มเพาะจากคณะอักษรศาสตร์ในเรื่องของมนุษยศาสตร์อย่างรอบด้าน เธอจึงตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโททางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ณ มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ สหรัฐอเมริกา และกลับมาประกอบอาชีพในสายงานนี้ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน

กุ้งสั่งสมประสบการณ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์มากว่ายี่สิบปีในหลากหลายองค์กรซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนั้นๆที่มีพนักงานไม่ต่ำกว่าพันคน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชัยดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) ที่เธอทำทุกอย่างตั้งแต่การฝึกอบรม สรรหาพนักงานไปจนถึงดูแลในระดับภูมิภาค งานทรัพยากรบุคคลของบริษัทโนเกีย ประเทศไทย และ อินโดไชน่า (ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชาและลาว) และบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัดในตำแหน่ง VP Human Resources for Thailand, Cambodia, Laos, and Myanmar ซึ่งเธอมีส่วนช่วยพลิกฟื้นบริษัทให้กลับมามีกำไรยอดขายเติบโตและบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจด้วย ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบุคคล บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

การที่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งซึ่งบริหารคนนับพันนับหมื่นในแต่ละองค์กรที่ทำมา ทำให้กุ้งกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์เบอร์ต้นๆของประเทศ มีความเข้าใจสภาพแวดล้อมการตลาดและผู้บริโภคเป็นอย่างดีเยี่ยม เธอได้รับเชิญให้ไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรทั้งในมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการและเอกชนทั่วประเทศ อีกทั้งได้รับการขอสัมภาษณ์จากสื่อสิ่งพิมพ์หลายแขนงทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร นอกจากนี้ ความสามารถของกุ้งยังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติด้วยรางวัล Asian Human Capital Awards ที่บริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัดได้รับจากกระทรวงแรงงานแห่งประเทศสิงคโปร์ในปี 2014 ในฐานะบริษัทที่มีการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรบุคคลที่โดดเด่นที่สุดแห่งทวีปเอเชียในปีนั้น ซึ่งนับเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ทั้งนี้ด้วยฝีมือของศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯอย่างกุ้ง

การทำงานกับองค์กรใหญ่ทำให้กุ้งได้มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อสังคมหลายๆด้านผ่านกิจกรรมด้านบรรษัทบริบาล (Cooperative Social Responsibility) ล่าสุดในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบุคคลเธอเดินทางไปสอนให้ผู้สูงอายุตามหมู่บ้านในต่างจังหวัดได้รู้จักการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน

กุ้งเชื่อว่าการเป็น ‘เด็กอักษรฯ’ ทำให้เธอมาได้ไกลขนาดนี้ในสาขาอาชีพ ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ และความเก่งกาจของบุคลากร อาจารย์ และเพื่อนๆในคณะฯเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสามารถพัฒนาตัวเองในแบบที่ชอบ สิ่งที่เธอประทับใจที่สุดและนำมาปรับใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้ คือการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนหัวกะทิที่มิได้มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นหากแต่ช่วยเหลือและส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะบรรลุความสำเร็จร่วมกันในที่สุด

อุไร ปทุมมาวัฒนา (หมวย)

อุไร ปทุมมาวัฒนา

อักษรจรัส อบ.54

‘หมวย’ คือตัวอย่างของผู้ที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรและมุ่งมั่นไปในเส้นทางนั้นอย่างแน่วแน่จนประสบความสำเร็จในที่สุด

สำหรับผู้คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลในประเทศนี้ไม่ว่าหญิงหรือชาย แทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก “มาเฟียรี่” ผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์กีฬาอันดับหนึ่งของประเทศอย่างสยามกีฬา/สตาร์ซอคเก้อร์ และอีกหลายฉบับในเครือ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าเธอเป็นเพียงผู้หญิงร่างเล็ก ดูบอบบางอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหัวหน้าของชายฉกรรจ์ร่างใหญ่ (กว่ามาก) นับสิบนายในสำนักพิมพ์ และได้รับการยอมรับนับถือในวงการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ 

ด้วยความที่หมวยเป็นคนชอบดูมวยและฟุตบอลมาแต่เด็ก หลังจากที่เธอจบปริญญาตรี วิชาเอกภาษาฝรั่งเศสจากคณะอักษรศาสตร์ หมวยตั้งใจว่าจะยังไม่สมัครงานทันทีเนื่องจากใกล้จะถึงฟุตบอลโลกปี 1990 ที่ประเทศอิตาลีเป็นเจ้าภาพ เธอเกรงว่าการทำงานจะทำให้ไม่สามารถดูการถ่ายทอดฟุตบอลช่วงดึกๆ ถึงเกือบเช้าได้ แต่ปรากฏว่าสยามสปอร์ต หรือชื่อในปัจจุบันคือบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามกีฬาที่เธอเป็นแฟนประจำ เปิดรับผู้สื่อข่าวประจำฝ่ายต่างประเทศพอดี แม้จะมีการเน้นว่าต้องการผู้รู้ภาษาอิตาเลียนเท่านั้น แต่ก็ไม่ทำให้หมวยเสียความตั้งใจ เธอส่งใบสมัครไปอยู่ดี และได้รับโอกาสให้ร่วมงานกับสยามกีฬาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันหมวยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการฝ่ายข่าวต่างประเทศ และเป็นนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์สตาร์ ซอคเก้อร์ รายวันและคอลัมนิสต์สยามกีฬาในหลายโอกาส

แม้จะทำงานในสำนักพิมพ์ด้านกีฬา หมวยกลับเป็นเพียงคนเดียวในจำนวนนิสิตเอกฝรั่งเศสรุ่น 54 ที่ยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสทำมาหากินจนถึงทุกวันนี้ด้วยหน้าที่ที่ต้องแปลข่าวและสาระด้านกีฬาจากภาษาต้นฉบับ ทำให้อาจารย์ปณิธิ หุ่นแสวงจำเธอได้อย่างแม่นยำแม้วันเวลาที่ใช้ชีวิตในคณะอักษรศาสตร์จะล่วงเลยมาแล้วกว่ายี่สิบปี

ตลอดวันนั้นจนถึงวันนี้ หมวยผ่านงานด้านสื่อสารข่าวกีฬามาอย่างโชกโชนจนเรียกได้ว่าเป็นกูรูผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของวงการ และมีโอกาสได้เดินทางไปทำข่าวมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแรลลี่วิบากปารีส-ดาการ์ ช่วงปี 1992-1997 ซึ่งประสานงานร่วมกับทีมมิตซูบิชิไทย ฟุตบอลโลก 5 สมัยตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน (2016) ที่ฝรั่งเศส และอื่นๆ 

ไม่เพียงแค่ในประเทศ หากหมวยยังได้รับการยอมรับในแวดวงฟุตบอลต่างประเทศด้วยเช่นกัน เธอเป็นผู้สื่อข่าวไทยคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเชิญจากนิตยสารฟร้องซ์ ฟุตบอลของฝรั่งเศส ให้เป็นหนึ่งในกรรมการโหวตรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลก หรือบัลลง ดอร์ (Ballon d'Or) ที่เปิดโอกาสให้สื่อเฉพาะทางร่วมโหวตชาติละ 1 คน ซึ่งหมวยก็ได้ทำหน้าที่ตัวแทนผู้สื่อข่าวไทยในการนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเกียรติประวัติที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเจ้าตัวและทางสำนักพิมพ์เป็นอย่างยิ่ง

ด้วยอาชีพที่ต้องสื่อสารทางตัวอักษรกับผู้คนทุกวัน ทำให้หมวยถือโอกาสสอดแทรกความรู้และเรื่องราวดีๆ นอกเหนือไปจากกีฬาเพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน สิ่งที่เธอให้ความสำคัญและพยายามรณรงค์ผ่านคอลัมน์ของตัวเองมาโดยตลอด คือการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียน หมวยแสดงให้เราเห็นว่าไม่ว่าจะประกอบสาขาอาชีพใด ความรู้ที่คณะอักษรศาสตร์ให้มานั้นยังคงใช้ประโยชน์ได้ทั้งกับตนเองและสังคมตลอดจนชั่วชีวิต

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University