อักษรจรัส รุ่น 50

ณัฎฐกา เพ็ญชาติ หัตถโกศล

หากฉันบินบินไปได้ดั่งนก...ม่ำคงร้องเพลงนี้กล่อมตัวเองนอนทุกวัน ด้วยม่ำรักอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินยิ่งนัก ม่ำรู้ตัวว่าอยากเป็นแอร์ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมหรือมัธยมก็ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่า...มันใช่ ม่ำเริ่มโบยบินกับสายการบินแห่งชาติเมื่ออยู่ปีที่สี่เทอมที่สอง เวลาผ่านไป 30 กว่าปีแล้วแต่แอร์เครื่องนี้ยังเย็นฉ่ำเป็นที่ชื่นใจแก่ทุกคนที่อยู่ใกล้

 

ณัฎฐกา เพ็ญชาติ ( หัตถโกศล) ม่ำรักการเดินทางไปทั่วโลก สนุกและกระตือรือร้นที่จะผจญภัยไปกับอาชีพการบินอย่างมาก เป็นแอร์คนแรกของรุ่นที่สอบเลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการเที่ยวบิน เป็นคนแรกที่สอบผ่านเป็นผู้จัดการอาวุโสประจำเที่ยวบิน เป็นหนึ่งใน 10 คนแรกจากลูกเรือ 6000 คนที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทให้เป็นคณะทำงาน ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงการบริการรูปแบบใหม่ในชั้นธุรกิจ Special Beyond ของการบินไทย ม่ำปรับปรุงตัวเองให้สวยงาม น่าดู มีบุคลิกภาพงดงามและพัฒนาคุณภาพของตนให้สูงขึ้นตลอดเวลา หาเวลาไปเรียนต่อจนได้รับปริญญาโทเกียรตินิยมด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณการที่สถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ ล่าสุดม่ำเป็นคนแรก (อีกครั้ง) ของพนักต้อนรับบนเครื่องบินรุ่นเดียวกันที่ได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็น Chief (Specialist) กองประสานงานบริการพิเศษ ถูกยืมตัวมาให้รับผิดชอบงานบริการข้อมูลการบิน ป้อนข่าวสารให้แก่ลูกเรือทั้งหมด โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกเรือรับทราบ เป็นงานและความรับผิดชอบต่อคนหกพันคนที่ไม่ได้มาตามกาลเวลาหากมาตามความสามารถ

นอกจากการปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบินตามปกติแล้ว ม่ำยังรับผิดชอบเที่ยวบินพิเศษหลายไฟล์ท ได้ถวายงานพระราชวงศ์หลายพระองค์ ได้ดูแลบุคคลพิเศษอย่างสม่ำเสมอ เป็นตัวแทนบริษัทการบินไทยในหลากหลายรูปแบบ ล่าสุดนี้บริษัทซัมซุงเชิญให้ร่วมถ่ายทำวีดีโอในนามของบริษัทการบินไทยเพื่อแนะนำอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้แก่ผู้สนใจ

ม่ำรักคณะอักษรศาสตร์เพราะการเรียนอักษรฯ ทำให้โลกกว้าง มีเครือข่าย หลายครั้งเมื่อเอ่ยปากบอกใครว่าเป็นเด็กอักษรฯ เหมือนคำนี้มีมนต์ \"ละลาย\" ปัญหาได้ สายใยของความเป็นพี่น้องอักษรฯ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ด้วยบุคลิกกระฉับกระเฉงมั่นใจในตัวเอง ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและสเปนแคล่วคล่อง และการเติบโตในหน้าที่การงานอย่างน่านิยม นางฟ้าผู้ร่าเริงคนนี้ คือคำนิยามของ Beauty and Brain

ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์

ดอกเตอร์ จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ (อ้อย)     

อักษรจรัส อบ.50

อุดมคติคือดินที่ใส่ปุ๋ยชั้นดี ให้อาหารต้นกล้าแห่งการอนุรักษ์ในจิตวิญญาณของนิสิตอักษรฯ คนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นนักพัฒนาผู้มั่นคงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของเมืองไทยในวันนี้ ชีวิตที่มีแต่สาระของอ้อยก่อเกิดประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศไทย แก่คนในลุ่มน้ำโขง และมวลมนุษยชาติโดยรวม ถ้าเอาประวัติชีวิตของอ้อยไปสร้างหนัง คงต้องทำเป็นหนังซีรี่ส์ถึงจะจุใจ

ด้วยความรู้สึกผูกพันกับผืนน้ำและแนวป่า อ้อยออกค่ายอาสาร่วมกับชมรมชาวเขาตั้งแต่เทอมหนึ่งปีหนึ่งที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต่อด้วยการออกค่ายกับชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมพื้นที่เป้าหมายโครงการเขื่อนแม่วงก์รอยต่อระหว่างจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ในเทอมถัดมา แม้สองค่ายจะจัดในพื้นที่ซึ่งห่างไกลกันและเป็นที่อยู่ของคนต่างเผ่าพันธุ์ แต่ทั้งสองแห่งมีปัญหาร่วมกันคือการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย จุดนั้นทำให้อ้อยตระหนักว่าประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างวิกฤติ และเป็นแรงบันดาลใจให้อ้อยใฝ่หาความรู้เพื่อปกป้อง ชะลอและยุติปัญหาที่บังเกิดอยู่เบื้องหน้า คงไม่มีใครนอกจากอ้อยที่จะหยั่งรู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นการเดินทางบนถนนสายอนุรักษ์อันยาวไกลเส้นนี้

การเดินทางเริ่มจากการเก็บเกี่ยวความรู้ที่คณะอักษรฯ อ้อยเลือกอังกฤษเป็นวิชาเอก เรียนประวัติศาสตร์กับสเปนเป็นวิชาโท แม้เป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ไกลตัวเหมือนความฝัน จับต้องไม่ได้ แต่วิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานการคิด การเขียน วิชาประวัติศาสตร์คือการฝึกหาข้อมูล วิเคราะห์และนำเสนอ อักษรศาสตร์สอนการคิดอย่างมีขั้นตอน เหตุผล ที่สำคัญคือให้ฝึกคิดอย่างมีจินตนาการ

เมื่อเรียนจบอ้อยรับทุน Winrock International ไปเรียนปริญญาโทการวางแผนภาคและเมืองที่ Sydney University เมืองซิดนี่ย์ ออสเตรเลีย ตามด้วยปริญญาเอกสาขาวิชาดียวกันที่ University of New South Wales จากนั้นมาอ้อยก็เริ่มชีวิตการทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เกี่ยวเนื่องกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมในหลากหลายภูมิภาคในโลกใบนี้ อ้อยทำงานในออสเตรเลีย เขมร จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลซีย พม่า มาเก๊า ปากีสถาน ฟิลิปินส์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เวียตนาม ร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น United States Agency for International Development (USAID), Canadian International Development Agency (CIDA), Swedish International Development Agency (SIDA),สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนเพื่อแผ่นดินอันอุดมในภาคหน้า ภาระของการอนุรักษ์ที่หนักหนาไม่แพ้กันคือการจัดหางานหรือที่ทำกินให้คนในพื้นที่ เป็นการหาจุดสมดุลย์ระหว่างการสร้างและการทำลาย งานของอ้อยมีหลายแบบ เช่นศึกษาข้อมูล วางแผนพัฒนา และลงมือปฏิบัติงานกับชุมชน เรื่องที่ทำมักอยู่ในแวดวงของสิ่งแวดล้อม แหล่งพลังงาน สร้างศักยภาพให้แก่ชุมชน เพิ่มการผลิตโดยใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากโครงการระดับบิ๊กทั้งหลายแล้วอ้อยเคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงค์โปร์และประเทศไทย รวมๆ เวลาที่อยู่หน้าห้องเลคเชอร์ได้ประมาณ 10 ปี สอนวิชาเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ผังเมือง เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ การประเมินค่าผลกระทบทางสังคม ความยั่งยืนของชุมชนเมืองในประเทศไทย ภูมิทัศน์และสังคมของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ความยากจนในเขตเมืองของประเทศไทย

บทความทางวิชาการและรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมต่างๆ ที่ตีพิมพ์มีประมาณ 36 เรื่อง ได้รับทุนจากสถาบันต่างๆ มาแล้ว 9 ทุน วิทยานิพนธ์เรื่อง Dynamic of Cross Border Industrial Development in Mekong sub-Region:  A case Study of Thailand ที่มีความเด่นชัดด้วยเนื้อหาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือหลักสูตรนานาชาติของสถาบันธนาคารโลก (World Bank Institute) เรื่องการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับอบรมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาเมืองจากประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นประเทศในแถบลาตินอเมริกาหรืออัฟริกา หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือการศึกษาเรื่องการปรับตัวของชุมชนจากปัญหากรุงเทพทรุดตัวและระดับน้ำทะเลหนุนสูง และงานวิจัยเรื่องการค้าขายของเศรษฐกิจนอกระบบในกรุงเทพมหานครหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540

หลังจากทำงานมาแล้วเกือบทั่วโลก อ้อยพกพาความรู้ความสามารถและที่สำคัญเหนือทุกสิ่งคือความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ยืนยง ทุกวันนี้อ้อยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมทางสังคม ได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์ตตริตาภรณ์ช้างเผือกและตริตาภรณ์มงกุฎไทยเป็นเครื่องระลึกถึงความดีความชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รางวัลที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้นคือความอิ่มใจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้คนในชุมชนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และคำขอบคุณจากลูกศิษย์ที่บอกอ้อยเมื่อเรียนจบว่า “I want to be just like you.”

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์

ประวัติย่อๆ ของแป๊ดยาวประมาณหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คหนึ่งเล่ม ทุกคำและบรรทัดในหนังสือเล่มนี้มีความหมาย คมคายไปเสียสิ้น อัดเต็มด้วยสาระ ความรู้ ความปราดเปรื่อง แรงบันดาลใจ จิตอาสาที่จะเอื้อประโยชน์ต่อสังคมชุมชน ผู้หญิงคนนี้มีพลังที่จะเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งศึกษาต่อและค้นคว้าเรียนเอง เธอมีสี่ภาษาเป็นอาวุธ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เพื่อการเรียน อ่าน คิด วิเคราะห์ สำหรับก้าวกระโดดไปในโลกท้าทายใบนี้ ทุกโค้งทุกเลี้ยวในชีวิตคือแรงบันดาลใจให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้า

แป๊ดเริ่มงานแรกหลังจบอักษรฯ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่องานเข้าที่เข้าทางแล้วจึงสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่น ลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่งชอบใจหน่วยก้านจึงเชิญให้ไปเป็นผู้ประสานงานไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้พนักงานทุกระดับในบริษัทเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ให้เข้าใจวิธีคิดของอีกฝ่ายเพื่อเอื้อต่อการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น นอกจากงานบริษัทและสอนภาษาไทยแล้วยังร่วมกับ TV Asahi ผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับเมืองไทยอีกด้วย

อยู่ญี่ปุ่นหลายปีแป๊ดนึกอยากไปเรียนต่อปริญญาโท จึงเลือกเรียนสาขา Mass Communication ที่ Leicester University ประเทศอังกฤษ ได้ความรู้และเรียนรู้วิธีคิดของคนอีกสัญชาติในอีกซีกโลก ทำให้เข้าใจความคิดอันหลากหลายยิ่งขึ้นไป เมื่อกลับมาเมืองไทยเข้าร่วมงานกับบริษัท Post Publishing เป็นจุดเริ่มศึกษาเรื่องมาร์เกตติ้งและเขียนแผนทางธุรกิจอย่างจริงจังเพื่อใช้ในการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนจากบริษัท Warner มาต่อสู้กับการ์ตูนของค่าย The Nation ได้สำเร็จ แป๊ดอ่านหนังสือการตลาดทุกเล่มที่ขวางหน้า วิชาความรู้ที่เรียนที่คณะอักษรฯ นั้นทำให้มี “ภาษาเป็นเครื่องมือ” ในการอ่าน จับประเด็นและศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อได้มากมาย

แป๊ดเป็นคนที่มี “ไฟ” อยากทำงานเพื่อสังคมอย่างไม่หยุดหย่อน เริ่มตั้งแต่ร่วมงานกับชมรมค่ายที่จุฬาฯ สละเวลาช่วยงานที่ร้าน Oxfam ร้านของของเพื่อการกุศลเมื่อครั้งเรียนหนังสือที่อังกฤษ นำเสนอเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นติดเอดส์ผ่านการ์ตูนในหน้าหนังสือพิมพ์ของ Bangkok Post แปลหนังสือเรื่อง ต้นไผ่ จากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น หนังสือมีประโยชน์เล่มนี้ไม่ได้วางขายทั่วไป แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดซื้อเพื่อแจกโรงเรียนและบริจาคเข้าห้องสมุดหลายแห่ง

หนังสือเล่มนี้จุดประกายให้ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นของบริษัท Chuo Senko (PLC) บริษัทโฆษณาในประเทศไทยเชิญแป๊ดมาทำงานในตำแหน่ง Marketing Strategist เป็นงานที่ทำให้รู้จักงานสาขาอื่นเพิ่มอีกมากมายทั้ง Consumer Behavior, Marketing, Business Management, Consumer Research, Advertising ฯลฯ แป๊ดทำงานด้วยความสนุกจนได้เป็น Regional Marketing Director ดูแลการคิดกลยุทธ์โฆษณาให้ลูกค้าระดับภูมิภาค และสุดท้ายได้เป็น Managing Director ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายไทยของ Chuo Senko PLC ถือเป็นผู้หญิงคนไทยคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ ผลงานชิ้นใหญ่ได้ถ้วยอีกชิ้นคือผลักดันให้ Chuo Senko ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย แป๊ดมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ด้านการเงิน การลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ และการจดทะเบียนบริษัท รับผิดชอบงานทั้งก่อนหน้าและหลังการจดทะเบียน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เข้าใจกระบวนการและขั้นตอนการเตรียมบริษัทเพื่อยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ และการลงทุน โดยใช้ความรู้จากวิชาการบริหารธุรกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาใช้เป็นพื้นฐาน

นอกจาก ต้นไผ่ แป๊ดเขียนหนังสือทั้งหมดเจ็ดเล่ม หลายเล่มนำไปใช้เป็นหลักสูตรสอนผู้ประกอบการ OTOP หนังสือเรื่อง Celebrity Management ได้รับความสนใจจากคุณประชุม มาลีนนท์แห่งช่องสามอย่างมากถึงกระทั่งชวนแป๊ดมาเปิดบริษัท M-IV Co.,Ltd. ร่วมกับตระกูลมาลีนนท์ จากนั้นแป๊ดก้าวกระโดดไปทำงานกับกระทรวงคมนาคมดูแลเรื่องหลักๆ ในการเจรจากู้เงินจาก JBIC- Japan Bank for International Cooperation คู่กับดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์

ราวกับงานที่ทำผ่านมายากไม่พอ แป๊ดจึงตอบรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ กลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์ของกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ สังกัดกระทรวงการคลัง แม้จะมีความรู้เรื่องการบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทและประสบการณ์ด้านอื่นๆ มาแล้วมากมาย แต่งานนี้เป็นงานใหม่จึงต้องศึกษาเรื่องบำเน็จบำนาญและการลงทุน เรียนรู้เพิ่มเติมให้เข้าใจทุกซอกทุกมุม งานที่ กบข.ให้ความรู้ สนุกและท้าทาย ต้องสื่อสารให้สมาชิกคือข้าราชการเจ้าของเงินตัวจริงเข้าใจและยอมรับในแผนการที่กบข.นำเสนอ แป๊ดสร้างทีมให้สื่อสารเป็น เพื่อถ่ายทอดความคิดให้สมาชิกเข้าใจ แต่ด้วยกำลังบุคลากรมีน้อยจึงจัดสร้างเครือข่ายสมาชิกข้าราชการเพื่อช่วยการสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผล ปัจจุบันแป๊ดเลื่อนขั้นความรับผิดชอบขึ้นมารับตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ กลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์ของกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ

แป๊ดเป็นคนสุดโต่ง ไม่มีครึ่งๆ กลางๆ ก่อนหน้านี้แป๊ดสู้งานแบบบ้าคลั่ง ทำงานจนถึงสองยามเป็นกิจวัตร กินน้อย นอนน้อย จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งที่มีนิสัยในการทำงานแบบเดียวกันจากไปด้วยโรคมะเร็ง เป็นจุดเรียกสติให้หันมาดูแลตัวเอง กินดี อยู่ดี นอนเป็นเวลา เริ่มเล่นโยคะอย่างจริงจัง ด้วยความสุดโต่ง เล่นโยคะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขอเป็นครูด้วย แล้วจับลูกน้อง เพื่อนฝูงมาเรียนฟรีแถมซื้ออุปกรณ์แจกให้ใช้ นอกจากดูแลตัวเองและคนใกล้เคียงแล้วยังมีจิตใจเผื่อแผ่นำเสนอโครงการสอนโยคะเพิ่มสุขภาพกายและใจที่ดีให้แก่นักโทษหญิงในคุกอีกด้วย

แป๊ดคือภาคหนึ่งของ Wonder Woman รวมบู๊และบุ๋นไว้อย่างเหมาะเจาะ นักเรียนตัวเล็กๆ จากโรงเรียนสตรีภูเก็ต เข้ามาเล่าเรียนเขียนอ่านที่อักษรฯ ข้ามไปสอนภาษาไทยในต่างแดน ทำการตลาด เขียนหนังสือ จับบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เซ็นสัญญาระดับรัฐบาลกับญี่ปุ่น ดูแลเงินเจ็ดแสนล้านบาทของข้าราชการไทยทั้งแผ่นดิน สอนโยคะ เล่นไวโอลิน จากหญิงห้าวใส่รองเท้าผ้าใบคอนเวิร์สแปลงโฉมเป็นนางแบบบนแคทวอล์คหน้าพระที่นั่งฯ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี (ม.ล. สราลี กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์) แต่ละบทตอนแสดงให้เห็นความแกร่ง ความสามารถอันหลากหลายและไม่หยุดนิ่งของผู้หญิงพลังบวกคนนี้

แป๊ดรวมความสามารถระดับสุดยอดของเด็กอักษรฯ สิบคนไว้ในร่างเดียว

ดวงกมล ลิ่มเจริญ

หากวันนี้อ้อมยังอยู่ หนังไทยอาจจะเปิดฉายแล้วที่โลกพระจันทร์ ชีวิต 39 ปีของผู้หญิงคนหนึ่งช่างเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ความสำเร็จ และความงดงาม

 อ้อมรักศิลปะการแสดงจากก้นบึ้งแห่งหัวใจ และรักทุกแขนงอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นลิเก ละคร หนังจอเงิน จอแก้ว โอเปร่า ละครใบ้ ฯลฯ เรียกว่าการแสดงคือทุกลมหายใจเข้าออก ด้วยความรักดั่งต้องมนต์ผสมกับพรสวรรค์และความรู้ที่อ้อมสะสมจากภาควิชาศิลปะการแสดงคณะอักษรศาสตร์ และภาควิชาการจัดการธุรกิจบันเทิงจาก UCLA ผนวกกับประสบการณ์จากการร่วมงานกับหลากหลายบริษัทตั้งแต่ JSL, Grammy, Exact, Concorde-New Horizons ของ Roger Corman และท้ายสุดร่วมก่อตั้ง Cinemasia กับนนทรีย์ นิมิบุตรในปี 2543 และบริษัทภาพยนตร์หรรษาเมื่อปี 2546
อ้อมทำงานทุกหน้าที่ เริ่มจากงานผลิตรายการโทรทัศน์ ทอล์คโชว์ เกมส์โชว์ วาไรตี้โชว์ รายการเพลง ละครเวที ละครโทรทัศน์ รับทุกตำแหน่ง จนกระทั่งเป็นผู้จัดการ ผู้สร้าง ผู้อำนวยการสร้าง บทบาทสำคัญที่สุดในวงการคือเป็นผู้บุกเบิกผลักดันให้หนังไทยโกอินเตอร์ จนประสบความสำเร็จอย่างสูงในต่างแดน ได้รับการยอมรับในระดับสากล ท้ายที่สุดได้รับเชิญให้ร่วมงาน Cannes Film Festival เทศกาลภาพยนตร์อันทรงเกียรติ และเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองอื่นๆ เช่น Seattle Film Festival เป็นต้น

อ้อมร่วมงานกับคนทำหนังมือฉมังมากหน้าหลายตาจากหลายประเทศ อาทิเช่น ถกลเกียรติ วีรวรรณ นนทรีย์ นิมิบุตร เป็นเอก รัตนเรือง อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผอูน ชัยศิริ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ประเทศไทย) หว่องกาไว ปีเตอร์ ชาน (ฮ่องกง) คิมจีวูน (เกาหลี) คริสโตเฟอร์ ดอลย์ (ออสเตรเลีย)

ผลงานการแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนต์ที่เธอสร้าง อำนวยการสร้างและแสดง ได้แก่ ไร่แสนสุข (2530) ยามเมื่อลมพัดหวน ((2536) มหัศจรรย์แห่งรัก (2537) รัก-ออกแบบไม่ได้ (2541) กำแพง (2542) In the Mood for Love (2542) A Fighter\'s Blue (2543) จันดารา (2543) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต - Three (2545) ความรักครั้งสุดท้าย (2546) เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล - Last Life in the Universe (2546) โอเค เบตง (2546) โหมโรง - Overture (2547) จดหมายรัก -The Letter (2547)

อ้อมได้รับการยกย่องจากแวดวงคนทำหนังอย่างสูง ได้รับรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล รวมทั้ง Producer of the Year (2546) จาก Cine Asia เพื่อตอบแทนความเข้มแข็งและการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ทำหนังในภูมิภาคเอเชีย นิตยสาร Bioscope มอบรางวัล \"ผู้มีบทบาทต่อวงการหนังไทย (2546) Fandango และ Rottentomato.com ต่างสดุดีความสามารถของโปรดิวเซอร์หญิงเหล็กคนนี้และลงบทความไว้อาลัยเมื่ออ้อมจากไปในปี 2546

แม้เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตจะมองเห็นอยู่รำไร อ้อมยังฟันฝ่าอุปสรรคต่อสู้สังขารที่เจ็บป่วย เดินทางไปเกาหลีกับทีมกองถ่าย จดหมายรัก - The Letter เพื่อให้แน่ใจว่างานจะออกมาได้คุณภาพที่เธอต้องการ

ถึงอ้อมจะจากเพื่อน ๆ ที่รักอ้อมและวงการที่อ้อมรักไปกว่าสิบปีแล้ว แต่อ้อมยังเป็นดาวที่จรัสในใจเพื่อน สุกสว่างบนฟ้าอักษรฯ ดาวดวงนี้ประกอบด้วยทั้งความดีและความเก่ง เป็นดาวแห่งความภูมิใจที่ไม่มีวันจะดับแสง

ดอกเตอร์กรองทิพย์ สังขปรีชา

กิ๊กเป็นเพื่อนตัวเล็กๆ กุ๊กกิ๊กสมชื่อ แต่คุณสมบัติในตัวขัดกับขนาดและบุคลิกอย่างสิ้นเชิง กิ๊กเป็นนักสู้ สู้งาน สู้ชีวิต สู้คน เพื่อความก้าวหน้าและเติบโตในหน้าที่การงานแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยความยากลำบากเพียงใดก็ตาม

กิ๊กเรียนเอกภูมิศาสตร์ โทภาษาเยอรมันและอังกฤษ ที่คณะอักษรฯ และเรียนปริญญาโทภาควิชาการวางแผนและผังภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมากิ๊กไปเรียนต่อปริญญาเอกที่คณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้รับทุนจากสถาบันอาฟริกา-อาเซียน (Afro-Asiatisches Institute) ระหว่างที่เรียน กิ๊กใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรียเป็นเวลานานกว่าห้าปี

เมื่อกลับมาประเทศไทยกิ๊กเริ่มงานกับองค์การความร่วมมือระหว่างไทยและเดนมาร์คทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาการใช้ที่ดินและคมนาคม (Danish Cooperation for Environment and Development, DANCED) ในตำแหน่งนักวางแผนและผังภาคและเมืองที่จังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่รับผิดชอบวางแผน นโยบายและผังเมืองของเทศบาลเมืองขอนแก่นและองค์การบริหารส่วนตำบล (อ.บ.ต) โดยรอบ

หลังจากแต่งงานกิ๊กย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ต้องเริ่มเรียนรู้ดินแดนและโลกใหม่อีกครั้ง ในระยะเริ่มต้นยังหางานไม่ได้ง่ายๆ ด้วยข้อจำกัดนานับปการของผู้ย้ายถิ่นฐาน แต่กิ๊กไม่เคยย่อท้อ มีจุดยืน มุ่งมั่นสมัครงานและสัมภาษณ์งานจนได้งานในสาขาผังเมืองตามที่เรียนมาและต้องการทำ กิ๊กทำงานเป็นนักวางแผนและผังเมืองกับกลุ่มเผ่ายูมาทิลล่า (Confederated Tribes of Umatilla) ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองแพนเดิลตั้น ในภาคตะวันออกสุดของรัฐโอเรกอน เป็นดินแดนชนบทอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ เป็นดินแดนว่างเปล่าที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ชีวิตที่มีรากฐานบนความเป็นไทยของกิ๊กพลัดหลงมาอยู่ท่ามกลางสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของชนผ่าอินเดียนแดงซึ่งเป็นชนชาติดั้งเดิมในอเมริกากับคาวบอยที่อยู่กับการเลี้ยงม้าและวัว บรรยากาศที่ยูมาทิลล่าเหมือนจำลองมาจากฉากในหนังที่มีคาวบอยอยู่ปะปนร่วมกับอินเดียนแดง กิ๊กย้ายไปอยู่ยูมาทิลล่าเพียงลำพัง ต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตที่แปลกแยก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี กิ๊กสามารถปรับตัวประสานสามวัฒนธรรมให้ไปกันได้อย่างกลมกลืน

หลังจากสี่ปีในชนบทกิ๊กย้ายมาอยู่เมืองใหญ่คือพอร์ตแลนด์ ของรัฐโอเรกอน ทำงานเป็นผู้ประสานงานติดต่อของโครงการทดสอบคุณภาพน้ำทะเล ให้กับกรมการสาธารณสุขของรัฐโอเรกอน ผลงานชิ้นสำคัญคือการเขียนแผนปฏิบัติการการสื่อสารและความสัมพันธ์กับชุมชนที่ตั้งอยู่ริมทะเลโอเรกอนเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนและชุมชนเกี่ยวกับการทดสอบและวัดค่าคุณภาพน้ำทะเล

จากนั้นกิ๊กย้ายมาอยู่รัฐวอชิงตันและทำงานกับเผ่าทูเลลิป (Tulalip Tribes) ซึ่งติดอันดับเผ่าอินเดียนที่มั่งคั่งอันดับต้นๆของรัฐวอชิงตัน กิ๊กบริหารและจัดการโครงการ วางแผนนโยบายและผังระยะสั้นและระยะยาว บริหารดูแลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในตำแหน่งต่างๆ ใช้ความรู้และประสบการณ์ทางด้านเทคนิคในการวางแผนได้แก่ การใช้ที่ดิน การคาดการณ์จำนวนประชากร การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การเคหะ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ผลงานที่กิ๊กทำร่วมกับผู้ร่วมงานในรัฐบาลทูเลลิปได้แก่วางแผน นโยบายและผังเมืองรวมของดินแดนทูเลลิป นโยบายการจัดการพื้นที่ทะเลของทูเลลิป การจัดการพื้นที่ริมฝั่งทะเล การเขียนกฏหมายควบคุมการใช้ที่ดินและป้องกันสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ ผลงานชิ้นโบว์แดงคือแผนและผังชุมชนเมืองใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างฉลาดและยั่งยืน อันเป็นโครงการที่ได้รับทุน 560,000 ดอลล่าสหรัฐจากองค์กรการป้องกันสิ่งแวดล้อม - U.S. Environmental Protection Agency (EPA) ตำแหน่งสุดท้ายที่ทูเลลิปคือผู้จัดการการวางแผนและผัง

หลังจากทำงานเป็นเวลา 12 ปีกับเผ่าทูเลลิปนักสู้ตัวเล็กคนนี้มองหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้ต่อไป และเริ่มงานท้าทายชิ้นใหม่ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผน นโยบายและผังของเผ่ามัคเคิ่ลชูด (Muckleshoot Tribe) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองซีแอตเทิล (Seattle) มัคเคิ่ลชูดเป็นอีกเผ่าหนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วิชาจากคณะอักษรศาสตร์ทำให้กิ๊กมีความสามารถในการปรับตัวและมองโลกเชิงบวกหรือในแง่ดี ความสามารถในการเข้าใจศักยภาพและสิ่งที่ควรปรับปรุงของแต่ละบุคคล รวมทั้งทักษะในการเห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดของงาน

ชีวิตและความรู้ความสามารถของกิ๊กเปรียบเหมือนเมล็ดข้าวเปลือก ไม่ว่าจะตกอยู่ที่ดินใดมีแต่จะงอกงามแตกรวงเป็นประโยชน์กับแผ่นดินนั้นๆ เมื่อบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ความเชื่อมั่น และความเชื่อที่ว่าชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดกิ๊กจะนำความอร่ามเรืองมาสู่ผืนดินที่กิ๊กใส่ใจ วางแผน พัฒนา สืบไป

ดาว วิบูลย์พานิช

อัครราชทูตดาว วิบูลย์พานิช

ดาวเป็นดาวสมชื่อ สุกใสสว่างเรือง ดาวกำหนดแนวทางชีวิตตนเองไว้อย่างชาญฉลาดตั้งแต่ต้น เมื่อจบอักษรฯ ดาวสอบเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศโดยเริ่มต้นอาชีพนักการทูตด้วยตำแหน่งเลขานุการตรีที่กรมพิธีการทูต หลังจากนั้น ดาวได้รับทุน Fulbright ไปเรียนต่อด้าน International Relations ที่ Fletcher School of Law and Diplomacy, Tuft University โดยเน้นการศึกษาด้านตะวันออกกลางและถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางคนหนึ่ง

ดาวทำงานในกระทรวงฯ มาหลายตำแหน่ง เช่น ผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง กรมเอเซียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ผู้อำนวยการกองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ กรมองค์การระหว่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลไทยหลายแห่งเริ่มที่กรุงโรม อิตาลี นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรุงย่างกุ้ง เมียนมาร์และ ล่าสุดดาวรับตำแหน่งอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา

ดาวฝากผลงานไว้มากมายในกระทรวงการต่างประเทศ เช่น เมื่อครั้งประจำการที่กรุงโรม ได้ติดตามเอกอัครราชทูตมนัสพาสน์ ชูโต เอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม เข้าพบอดีตนายกรัฐมนตรี Yitzhak Rabin ของอิสราเอลและนาย Shimon Peres (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอลในขณะนั้น) เตรียมการเยือนกาตาร์ บาห์เรนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เตรียมการเยือนไทยของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ จัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิหร่าน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกงสุลช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานไทยและคนไทยในนครดูไบเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ จัดการประชุม Asia-Middle East Dialogue ที่กรุงเทพฯ ปี 2013 เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม Asia-Pacific Regional Meeting on Peacekeeping ที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2015 จัดนิทรรศการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของไทยที่ตึก United Nations นิวยอร์ก ปี 2016 และล่าสุด ในฐานะอุปทูตฯ ร่วมกับคณะทูตอาเซียนเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา

แม้จะผ่านงานหนักท้าทายมามากมาย ดาวดวงนี้ยังจรัสฟ้าโดยไม่ท่าทีจะอ่อนล้า แต่จะเรืองรองเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงการการทูตของไทยสืบไป

ดุจดาว อภิชาตบุตร

ดุจดาว อภิชาตบุตร (ดุจดาว ฤชุตระกูล – เปิ้ล)

สาวอักษรอีกคนที่เรียบร้อย ไม่พูด ไม่เถียง เป็นคนจริงจัง โดดเด่นในโลกธุรกิจนอกวงจรอักษรฯ เติบใหญ่จนได้เป็น Chief Financial Officer ของบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน

เปิ้ลเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอกและฝรั่งเศสเป็นวิชาโท กระแสชีวิตพัดพาให้ได้ไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน 4 อันเป็นทั้งแรงบันดาลใจและจุดผลักดันให้ต้องเพิ่มเติมความรู้ในด้านธุรกิจเพื่อความก้าวหน้าในสายอาชีพ ด้วยเกียรตินิยมอันดับสองพร้อมคะแนน TOEFL 600 เป็นหลักประกันคุณภาพให้เปิ้ลสอบชิงทุนของ Canada International Development Agency (CIDA) ได้พร้อมๆ กับเป็นตัวสำรองของทุน Fulbright ในปีเดียวกัน สุดท้ายเปิ้ลเลือกรับทุน CIDA ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ University of Ottawa, Ontario Canada

ด้วยพื้นนิสัยเป็นคนเงียบๆ สงวนปากเก็บคำ เมื่อไปถึงแคนาดาใหม่ๆ เปิ้ลจึงเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง จะออกมาเมื่อหลังเที่ยงคืนไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องพูดคุยกับใคร แม้คะแนนโทเฟิลจะดูอลังการแต่การพูดและฟังมิใช่เรื่องถนัด ในช่วงสามปีที่ออตตาวากับชีวิตที่บีบคั้นเป็นความทุกข์กลับกลายเป็นเบ้าหลอมชั้นดี เหมือนถ่านโดนความร้อนและแรงกดดันจนกลายเป็นเพชรในที่สุด ฉันใดก็ฉันนั้น เปิ้ลเติบโต แข็งแกร่ง ฝึกใจ เรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียว ต่อสู้คนเดียว ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย มานะฝ่าฟันวิชาเรียนที่ใหม่เอี่ยมด้วยภาษาที่สอง และมีวิชาเลขซึ่งชิงชังกันมานานปีที่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ และที่สำคัญที่สุดคือต้องออกจากที่กำบังคือใจของตัวเอง หัดพูดคุย สนทนากับคนอื่นและแสดงความคิดเห็นในที่ชุมชน อันเป็นบทบาทที่ขัดกับบุคลิกตัวตนอย่างมาก

นาฬิกาปลุกเปิ้ลตื่นเมื่ออาจารย์ผู้สอนวิชา Organization Behavior ให้คะแนนการมีส่วนร่วมในห้องเรียนเป็นศูนย์ เพราะเปิ้ลหลบหลีกการพูด ไม่เคยตอบโต้ออกความคิดในชั้นเรียนตลอดเทอม วันนั้นเปิ้ลตระหนักว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กล้าพูดกล้าถาม แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ความสำเร็จของเปิ้ลและทุน CIDA จากการไปเรียนต่อไม่ใช่แค่ปริญญาแต่คือการเปลี่ยนวิธีคิดและการดำรงชีวิต

ชีวิตการทำงานของเปิ้ลหลังจบปริญญาโท เกี่ยวข้องกับแวดวงธุรกิจโทรคมนาคมเรื่อยมาตั้งแต่ต้น ร่วมงานกับบริษัท Siemens มาเป็นเวลา 19 ปีแล้วในวันนี้ รับผิดชอบร่วมกับฝ่ายเทคนิคทั้งในส่วนของงานขาย เช่น การกำหนดเงื่อนไขการซื้อขาย การประเมินความเสี่ยงของโครงการ การคำนวณต้นทุน การกำหนดราคาขายที่เหมาะสม การตรวจสอบสัญญาซื้อขาย เรื่อยไปจนถึงการทำงบประมาณประจำปี รายรับรายจ่ายทั้งหมดของแผนกและบริษัทฯ ตามลำดับ ผลงานที่เปิ้ลภูมิใจที่สุดคือการได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) ของบริษัท Siemens Business Communication Systems Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทซีเมนส์ ประเทศไทย ต่อมาเมื่อโครงสร้างของบริษัท Siemens Business Communication Systems Ltd. เปลี่ยนไป เปิ้ลจึงเลือกกลับมารับตำแหน่งรองประธานสายการเงิน ในบริษัทซีเมนส์อีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบในส่วนของธุรกิจกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหม่

แม้จะเป็นชีวิตการทำงานที่โลดแล่นอยู่บนเส้นทางธุรกิจและการเงิน แต่เปิ้ลยังตระหนักถึงความสำคัญของคณะอักษรฯ ที่ได้วางพื้นฐานภาษาอังกฤษและทักษะการสื่อสารที่แข็งแรงอันเป็นปัจจัยหลักที่นำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับเปิ้ล อักษรศาสตร์คือความสมดุลแห่งศาสตร์และศิลป์ที่ทำให้เห็นความสวยงามในปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ในคำตอบ และคงความไพเราะในการสื่อสาร สำหรับชาวอักษรฯ แล้วคำตอบของโจทย์ไม่ใช่เงินทองเพียงอย่างเดียว

วันนี้สาวอักษรฯ ขี้อายคนหนึ่งในวันวานกลายเป็นเพชรเม็ดงาม มีผลงานครึ่งชีวิตเป็นบทพิสูจน์ว่าเพชรบริลเลี่ยนคัทหลายกะรัตเม็ดนี้มีค่าคู่ควรแก่ความภาคภูมิใจ

นพีสี เรเยส

นพีสี เรเยส (กาดูก)

นพีสีมีชื่อเล่นที่เพื่อนตั้งให้ ซึ่งไม่ธรรมดาว่ากาดูก ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความไม่ธรรมดา แน่นอนที่สุดว่าวิชาศิลปการละครจะถูกจริตสาวอักษรหัวใจศิลปินคนนี้เป็นที่สุด ครั้งวัยเยาว์วันไหนฤกษ์ดีกาดูกจะเดี่ยวเปียโนให้เพื่อนๆ ฟังในโรงละครตึกสี่ ไพเราะมากจนพวกเราพากันเคลิ้ม อยากเล่นเปียโนได้เหมือนกาดูก สี่ปีในอักษรฯ กาดูกเน้นความสนใจไปในเรื่องละครเด็ก ละครเพื่อการศึกษา และละครเพลง ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมในแขนงที่เกี่ยวข้อง ความสนใจทางดนตรีชักนำให้ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ University of Illinois (Urbana-Champaign) ในสาขา Music Education พอจบกลับมาทำงานสอนด้านดนตรีและอื่น ๆ ดูใจตัวเองอยู่ประมาณ 3 ปีพบว่าความสนใจในละครยังมิได้จืดจาง นับแต่จะเพิ่มมากขึ้น จึงกลับไปเรียน Educational Theatre ที่ New York University

เมื่อได้ปริญญาโทแล้วจึงกลับมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาศิลปการละคอน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนก่อตั้งคณะศิลปกรรม จากนั้นก็ลาออกมาเป็นศิลปินอิสระอยู่พักหนึ่ง ทำงานหลากหลาย ทั้งแต่งเพลง แต่งเนื้อร้อง กำกับรายการโทรทัศน์ กำกับการแสดงละครเพลง เขียนบท ฯลฯ ก่อนจะหวนคืนสู่วงการศึกษาอีกครั้ง

ชีวิตกาดูกวนเวียนอยู่กับดนตรีและละคร สร้างสรรค์ผลงานมากมายหลายชิ้นเช่นแต่งเนื้อร้องและทำนอง ละครเวทีและละครเพลง โดยมากมักเป็นงานที่ทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ บุษบา – อุณากรรณ พิมพิลาไลย ระเด่นลันได ฉันรักกรุงเทพฯ Equus ราโชมอน จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ฉลามฟันหลอ พญาคันคาก ตัวฉันเป็นของฉัน ราโชมอนคอนโดมิเนียม เฮฮาป่าเขตร้อน ซั่งไห่ลิขิตฟ้าชะตาเลือด โตขึ้นผมจะขี่รุ้ง ดาวดวงใหม่ Dear Death ประทีปแห่งเจ้าพระยา ฯลฯ อีกทั้งประพันธ์และบรรเลงดนตรีประกอบภาพยนตร์เงียบ เช่นเรื่อง Nanook of the North, The Cabinet of Dr. Calihari, Tales of Horror

นอกจากแต่งเพลงแล้วกาดูกยังมีผลงานกำกับการแสดง เขียนบทและเนื้อร้องสำหรับใช้เล่นทั้งละครเพลงและโอเปร่า เช่น ละครเพลงเรื่อง ปลาฉลามฟันหลอ หมูอู๊ดอี๊ดกับกระปุกกายสิทธิ์ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าไม่ขอข้าวขอแกง หมูอู๊ดอี๊ดกับกระปุกกายสิทธิ ตอนหมูลืมออม อินจัน เดอะมิวสิคัล ฉบับ พศ. 2553 รัก รั่ว ชั่ว ดี ฯลฯ กาดูกมักจะรับผิดชอบในส่วนดนตรี ถ้าเรื่องไหนนึกครึ้มก็จะเขียนทั้งเนื้อและบทละครเพลง โดยส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับคุณกฤษดา เรเยส

กาดูกฝากฝีมือด้านโอเปร่าไว้หลายชิ้น เช่นกำกับการแสดง Der Freichutz และ The Marriage of Figaro ร่วมกับคณะ Bangkok Metropolitan of the Opera ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กำกับเรื่อง The Mikado, Hansel and Gretel, Bastien und Bastienne, The Impresario, Opera Gala, Cosi Fan Tutte, และ The Land of Smile ให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กาดูกและคุณกฤษดา เรเยสสร้างสรรค์โอเปราภาษาไทยเรื่องแรกๆ สรรพสัตว์ที่หายไป The Story of Long – Gone Animal รังสรรค์ทั้งบทและเนื้อเพลง กาดูกดัดแปลงบทละครเพลงเรื่อง Seasons Changed และเขียนบท อินจัน เดอะมิวสิคัล ในพศ. 2558 ผลงานล่าสุดคือเขียนบทละครเพลง มิสเตอร์ดิคชันนารี เดอะมิวสิคัล

นอกจากนี้กาดูกยังทำงานอีกมากมายหลายอย่างเช่น เป็นผู้กำกับและผลิตรายการดนตรีทางโทรทัศน์ เสียงใส ใจสะอาด สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เขียนสารคดีท่องเที่ยว แปลบทภาพยนตร์ เป็นต้น

ผลิตงานคุณภาพออกมาจนแทบจะนับชิ้นไม่ถ้วนแล้วกาดูกยังแบ่งที่ในฝันไว้สร้างงานด้านละครเพลงและโอเปร่าจากมันสมองและสองมือของตัวเองให้ประเทศไทย

เพื่อน ๆ ขอให้กาดูกฝันต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฝันของกาดูกดูสนุก มีคุณค่า

นพีสี เรเยส อบ. 50

นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ

เพื่อน ๆ ที่เรียนหนังสือด้วยกันมา รู้ดีว่านาคินทร์เป็นคนขี้อายมาแต่ไหนแต่ไร อะไรนิดอะไรหน่อยก็หน้าแดง ดังนั้น เพื่อนๆ จึงแปลกใจไม่น้อยที่จู่ๆ วันหนึ่งก็เห็นนาคินทร์โผล่หน้าออกทีวีเป็นผู้สื่อข่าวช่อง ๙ อสมท. ในการแข่งขัน กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๑๑ ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในด้านที่แม้จะขัดกับบุคลิกส่วนตัวเหลือเกิน แต่ก็เป็นงานที่นาคินทร์เห็นว่าท้าทาย และชอบมากตรงที่มีโอกาสได้ไปเมืองนอก (ฟรี!)

หลังจากนั้น ด้วยความที่สุ้มเสียงหล่อทุ้ม พอ อสมท. เปิดสถานีข่าวทางวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 หัวหน้าก็จับนาคินทร์ให้ร่วมอ่านข่าวและจัดรายการวิทยุด้วย นับเป็นการฝึกที่ทำให้นาคินทร์ได้พบกับโอกาสทองของชีวิต นั่นคือ การสอบไปทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำแผนกภาษาไทย สถานีวิทยุเรดิโอแจแปน ของเอ็นเอชเค ได้เดินทางไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างแดน คือที่โตเกียวเป็นเวลา ๔ ปีเต็ม ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ถึง ๒๕๔๓

ในช่วงนั้น ใครที่ฟังวิทยุคลื่นสั้นของเรดิโอแจแปน ก็จะได้ฟังเสียงนาคินทร์อ่านข่าวและจัดรายการเป็นประจำ ช่วงเวลาสี่ปีในญี่ปุ่น นาคินทร์บอกว่าเป็นสี่ปีทองของชีวิต ด้วยงานดี เงินดี ชีวิตดี ดีไปหมด แต่พอครบวาระก็ต้องกลับเมืองไทย

หลังจากกลับกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน นาคินทร์ก็ได้ทำงานที่รักที่สุด คือ งานหนังสือ ที่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) ซึ่งมีศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยู่หลายคน ตั้งแต่เจ้าของบริษัทเรื่อยลงมาถึงเพื่อนพนักงาน

ที่อมรินทร์ฯ นาคินทร์มีโอกาสได้ทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือหลายเล่มหลายชุดที่ทางสำนักพิมพ์นำมาจัดพิมพ์ ทั้งชุดบ้านเล็กของลอรา อิงกัลล์ ไวล์เดอร์ ชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ของเซอร์อาร์เทอร์ โคแนน ดอยล์ งานเขียนของอกาธา คริสตี้, ฮาร์เปอร์ ลี, แดน บราวน์, ซิดนีย์ เชลดอน, คาสึโอะ อิชิงุโระ, สตีฟ เบอร์รี, เคต มอร์ตัน ฯลฯ และล่าสุดที่ยังทำค้างอยู่ ไม่จบสักที เพราะคนเขียนยังเขียนไม่จบ คือ ชุด A Song of Ice and Fire หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ A Game of Thrones ของจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ซึ่งนำไปสร้างเป็นซีรี่ส์ที่ใครต่อใครติดใจนักหนานั่นเอง

นอกจากนี้ นาคินทร์ยังมีโอกาสได้เป็น บก. ตรวจแก้งานของอาจารย์อักษรฯ ที่เคยเป็นอาจารย์เป็นศิษย์กันมาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน คือ รองศาสตราจารย์นพมาส แววหงส์ ซึ่งแปลบทละครสี่เรื่องของวิลเลียม เช็กสเปียร์, Mythology ของเอดิท แฮมิลตัน และ The Once and Future King ของ ที. เอช. ไวต์

งานที่นาคินทร์ทำอย่างภาคภูมิใจและมีความสุขมากที่สุด คือ เรื่อง Gone with the Wind หรือ “วิมานลอย” ของมาร์กาเร็ต มิตเชลล์ ที่แปลโดยรอย โรจนานนท์ หรือคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รุ่นพี่อักษรฯ จุฬาฯ เพราะเป็นหนังสือที่รักที่สุดมาตั้งแต่สมัยเรียนเตรียมฯ และที่ภูมิใจมากก็เพราะกว่าจะได้รับอนุมัติให้ทำ ต้องทำเรื่องเสนอผู้บริหาร (ซึ่งจบอักษรฯ จุฬาฯ เช่นกัน) หลายต่อหลายครั้ง ต้องพยายามเกลี้ยกล่อมต่าง ๆ นานากว่าจะสำเร็จ

ผลงานของนาคินทร์ที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือการแปลเรื่อง “เทวากับซาตาน” หรือ Angels and Demons ของแดน บราวน์ ซึ่งนาคินทร์ได้ร่วมแปลกับ “อรดี สุวรรณโกมล” (คุณสุภาวดี โกมารทัต รุ่นพี่อักษรฯ จุฬาฯ อีกคน) โดยใช้นามปากกาว่า “อนุรักษ์ นครินทร์” ที่ต้องแปลร่วมก็เพราะคุณสุภาวดีแปลคนเดียวไม่ทันตามกำหนดของสำนักพิมพ์ จึงขอให้ช่วยแปล จากการแปลเรื่องนี้ทำให้นาคินทร์รู้ตัวว่าพอจะแปลนิยายได้ และแอบหวังว่าพอเกษียณจากอมรินทร์ฯ ในอีกไม่กี่ปี จะได้แปลงานขายประทังชีวิตต่อไป

บุญสิตา ทองอ่อน (บุญสม งามจรัสศรีวิชัย )

โป้ยเป็นคนเรียบร้อย เงียบๆ เหมือนกระบอกพลุที่วางไว้เฉยๆ ครั้นเมื่อถูกจุดโลกต้องตื่นตะลึงกับแสงสีเสียงที่บรรจุอยู่ภายใน โป้ยเรียนอักษรฯ เอกภาษาฝรั่งเศส โทประวัติศาสตร์ ฟังดูแล้วน่ามีชีวิตอยู่ในห้องสมุด แต่การหาเป็นเช่นนั้นไม่ ชีวิตของโป้ยเหมือนนั่งไทม์แมชชีน ออกจากโลกในอดีตแล้วปรูดปราดท่องไปในโลกแห่งเทคโนโลยีได้อย่างเจิดจรัส

เมื่อเรียนจบโป้ยเริ่มการผจญภัยที่บริษัทอิมพอร์ทเอ็กซ์พอร์ทแห่งหนึ่งโดยทำงานด้านการติดต่อต่างประเทศอยู่ 4-5 ปีก่อนย้ายไปสะสมประสบการณ์ด้านสินค้าเทคโนโลยีที่บริษัท Creatus Corporation มีโอกาสดูแลคู่ค้าฝ่ายต่างประเทศและแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไป และยังดูแลเรื่องนำสินค้า Office Automation & Banking Equipment จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย นั่งไทม์แมชชีนไปอีกประมาณ 10 ปี โป้ยมีจังหวะได้เข้าร่วมงาน Project Software Implement ดูแลลูกค้าในส่วนของอุปกรณ์ Auto ID ระบบ Barcode ที่ใช้ในคลังสินค้าและร้านค้าปลีก รับผิดชอบดูแลงานด้านนี้อยู่ประมาณ 7-8 ปีทำให้ได้เรียนรู้เรื่อง Project Management และสินค้าที่เกี่ยวกับ IT เช่น Server /Network / Security/ Mobile Computer /Software Support Helpdesk โป้ยไปไกลจากจุดตั้งต้นที่การเรียนอักษรศาสตร์หลายปีแสงทีเดียว
เทคโนโลยี

วันหนึ่งไทม์แมชชีนพาเลี้ยวออกนอกวงโคจรเดิมๆ ไปอีก โป้ยกลายเป็นเจ้าของกิจการเอง เมื่อเพื่อนนักธุรกิจชาวมาเลย์คนหนึ่งที่คุ้นเคยกันชวนออกมาเปิดบริษัท Verismart Technologies Co., Ltd. โดยมีเป้าหมายการทำธุกิจที่ดูแลลูกค้าด้านการบริหารงานขาย (Sales Force Automation System) และระบบจัดการคลังสินค้าด้วยบาร์โค้ด (Inventory Management System) ส่วนลูกค้าที่ไม่มีบุคลากรดูแลระบบเองโป้ยก็มอบทางเลือกบริการจัด Server ให้ลูกค้าไว้เช่าพื้นที่เก็บข้อมูลอีกด้วย ลูกค้าหลักๆ เป็นลูกค้าระดับข้ามชาติชื่อเสียงคุ้นเคยเช่น Pepsi Cola Thailand, Nestle –Thailand and Myanmar, Colgate Palm Olive Thailand and Cambodia. GlaxoSmithKline Consumer Healthcare (Thailand) Ltd., Mars Thailand, Malee, Friesland-Campina (Foremost), Nivea, NHK Spring เป็นต้น
Verismart Technologies เปรียบเป็นลูกคนที่สองที่โป้ยประคบประหงม ดูแลทุกอย่างครบวงจร ตั้งแต่การขาย การร่างสัญญา ข้อกฎหมาย การติดตั้งนำระบบไปให้ลูกค้าใช้งานได้จริง ตลอดไปจนถึงการให้บริการหลังการขายตามมาตรฐานบริการ (SLA-Service Level Agreement) ของสัญญาเพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตต่อเนื่องโดยใช้ระบบซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือให้ข้อมูลการบริหารงาน โป้ยมีทีมติดตั้ง และสอนการใช้งานระบบ (System Implement and Training) ทีมดูแลระบบให้ลูกค้า (Helpdesk Support) และ Software Developer รวม 35 คน เป็นทีมที่ดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพและรองรับการขยายตัวของบริษัทไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่า เขมร และลาวอีกด้วย
แม้คณะอักษรฯ จะไม่มีหลักสูตรใดไหนเลยที่จะเฉี่ยวใกล้สิ่งที่กำลังทำอยู่แต่ด้วยพื้นฐานวิชาภาษาอังกฤษที่มั่นคง(ทั้งๆ ที่ไม่ได้เอกอังกฤษ) ทำให้โป้ยสามารถตีโจทย์แตกเข้าใจซอฟต์แวร์แต่ละตัวว่ามีจุดด้อยจุดเด่นอย่างไร สามารถตั้งคำถามให้ถูกประเด็น สรุปเป็นทั้งหมดนี้เป็นข้อได้เปรียบในการนำเสนอสินค้าได้แจ่มชัดกว่าคนที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวการที่โป้ยเข้าใจคน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้า ก็เป็นเพราะพื้นฐานทางมนุษยศาสตร์ที่คณะอักษรศาสตร์ปูทางไว้ให้ อักษรศาสตร์จะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตบนไทม์แมชชีนของสาวไอทีผู้นี้ตลอดไป
ฉากชีวิตการทำงานของโป้ยเหมือนสคริปต์หนังสตาร์เทรค สร้างไม่ง่าย เหลือเชื่อ ดูสนุก แต่บอกเราว่าอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ซอฟต์แวร์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์

หลังจากได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญทอง) วิชาภาษาสเปนจากคณะอักษรศาสตร์แล้ว สว่างวันรับทุนจากรัฐบาลสเปนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทจบแล้วจึงกลับมารับราชการสอนภาษาสเปนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากทำงานด้านการแปลวรรณกรรม การสอนและจัดทำหลักสูตรศิลปศาสตร์ภาษาสเปนได้ระยะหนึ่งจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกด้านวรรณคดีที่ประเทศสเปน โดยได้รับทุนจากรัฐบาลไทย สว่างวันรักและเจนจบภาษาสเปนมากจนแทบจะฝันเป็นภาษาสเปนเลยทีเดียว

เมื่อครั้งเล่าเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ Universidad de Alicante สว่างวันเลือกอยู่บ้านในเมือง Alcala de Henares (อัลการา เด เอนาเรส) เพื่อหายใจอากาศเดียวกันกับมิเกล เด เซร์บันเตส เดินถนนซ้ำรอยกับนักประพันธ์เอกของสเปนและของโลก ด้วยว่าเมืองนี้เป็นเมืองบ้านเกิดของเซร์บันเตสฮีโร่ตัวจริงเสียงจริงของสว่างวัน

ความหลงใหลในวรรณคดีสเปนทำให้ได้เรียนเรื่องราวของอมตะนิยาย \"ดอนกิโฆเต้ฯ\" อันเป็นต้นแบบนวนิยายในโลกปัจจุบัน และผู้รังสรรค์คือเซร์บันเตสจนหมดจดทุกซอกมุม ยิ่งเรียน ยิ่งอ่าน ยิ่งเข้าใจและซาบซึ้งกับ \"ดอนกิโฆเต้ฯ\" อย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนนึกอยากแปลงานคลาสสิคจากยุคทองของสเปนนี้ให้ชาวไทยได้อ่าน แล้วสวรรค์ก็มีตา สถานเอกอัครราชทูตสเปนติดต่อสว่างวันให้แปล ดอนกิโฆเต้ฯ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง 400 ปีของหนังสือเล่มนี้ที่เวียนมาบรรจบในพ.ศ. 2548 ภาษาไทยจัดเป็นภาษาอันดับที่ 85 ของหนังสือเล่มนี้ เรียกได้ว่าช่างเลือกคนได้ถูกต้องยิ่งนัก สว่างวันอุทิศเวลาสามปีให้แก่การแปล ค้นคว้า เปรียบเทียบข้อมูลและภาษาในยุคสมัยของดอนกิโฆเต้ จนเกิดเป็นงานวรรณกรรมแปลชิ้นเอกในภาษาไทยอีกเล่มหนึ่งซึ่งสามารถถ่ายทอดอัจฉริยภาพและจินตนาการของผู้เขียนไว้เป็นภาษาไทยได้อย่างบรรเจิด รวมทั้งการให้ข้อมูลและใช้ภาษาที่ถูกต้องแม่นยำ

การได้รับเกียรติจากรัฐบาลสเปนให้แปล ดอนกิโฆเต้ฯ ถือเป็นเกียรติยศอันสูงสุดครั้งหนึ่งของอาจารย์สว่างวันและวงการวรรณกรรมไทย ผนวกกับความสำคัญที่รัฐบาลสเปนจัดพิมพ์หนังสือพิเศษเล่มนี้เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์ลอสที่ 1และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งราชอาณาจักรสเปนเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยแล้ว ความสำคัญของการแปลหนังสือเล่มนี้ยิ่งคงความขลังและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก

นอกจาก \"ดอนกิโฆเต้ฯ\" แล้วสว่างวันยังมีผลงานแปลหนังสือเรื่องอื่นๆ อีกเช่น หนิ่งงุ้นโน (Historias de Ninguno) โลกของเธอ บิเบียน่า (Bibiana y su mundo) โบนี่ มาร์ติน (เกือบจะ) โชคร้ายที่เกิดมารวย (La Leyenda de Boni Martin) ซึ่งล้วนแต่เป็นวรรณกรรมที่ควรค่าน่าอ่านทั้งสิ้น โดยเฉพาะโลกของเธอ บิเบียน่า นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมปลาย

สำหรับวรรณกรรมลาตินอเมริกัน สว่างวันได้รับการทาบทามจากสถานเอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาให้แปลเรื่องสั้น คือ จบเกม (Final del juego) ของปรมาจารย์เรื่องสั้นฆูลิโอ กอร์ตาซาร์ เนื่องในโอกาส 100 ปีชาตกาล ฆูลิโอ กอร์ตาซาร์

ผลงานด้านวิชาการ 7 เรื่องของสว่างวันได้แก่ คู่มือกระจายคำกิริยา (ร่วมกับเอ็ดดูอาร์โด ซูเรีย) ภาษาสเปนเรียนเร็ว ฉบับไทยเที่ยวสเปน (ร่วมกับรัศมี กฤษณมิษ และวิภาดา เพ็รชรักษ์) ภาษาสเปนพื้นฐาน 3 พจนานุกรมสเปน-ไทย (ร่วมกับรัศมี กฤษณมิษ และวิภาดา เพ็รชรักษ์) พจนานุกรมไทย-สเปน (ร่วมกับรัศมี กฤษณมิษ วิภาดา เพ็รชรักษ์และสถาพร ทิพยศักดิ์) และผลงานล่าสุด คือตำราเรื่อง ดอนกิโฆเต้ (Don Quixote) ซึ่งใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาดังกล่าว

ขณะนี้สว่างวันแปลดอนกิโฆเต้เล่มสองเสร็จแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการตรวจตราแก้ไขก่อนตีพิมพ์เป็นวรรณกรรมแปลชิ้นเอกเล่มต่อไป

รัฐบาลสเปนมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับ Isabel la Catolica (อิซาเบล ลา กาตอลิก้า) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแก่ผู้ทำคุณงามความดีในด้านวัฒนธรรมให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งไมตรีและคำขอบคุณที่สำหรับการเป็นผู้เชื่อมโยงโลกวรรณกรรมของสองชาตินี้ไว้ด้วยกันอย่างสำเร็จสวยงาม

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ลินจง ฉ. โรจน์ประเสริฐ

คณบดีสถาบันการศึกษาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญคนนี้ได้รับการศึกษาจาก 4 ประเทศ คือประเทศไทย สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และออสเตรเลีย โดยได้ทุนศึกษาระดับปริญญาโทจาก Pittsburg State University และทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวูลลองกองจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิ้ลเป็นคลังความรู้และวัฒนธรรมผู้บรรจงหยิบของดีจากทุกชาติภาษามาเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

เริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรโปรแกรมภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วางนโยบายการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาคณาจารย์ด้านการสอนภาษาอังกฤษ และการตีพิมพ์แบบเรียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการทำวิจัยและนำผลมาพัฒนาต่อยอดในทางปฏิบัติ เป็นผู้ดูแลหลักสูตรภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยมากว่า 20 ปี ปัจจุบันยังเป็นผู้ดูแลหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอกของบัณฑิตวิทยาลัยภาษาอังกฤษด้วย

เปิ้ลมีผลงานทางวิชาการมากมาย เป็นอาจารย์พิเศษในระดับปริญญาโทและเอกให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลและธรรมศาสตร์ ทำหลักสูตรและสอนร่วมในหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญรวมทั้งมหาวิทยาลัยในอังกฤษและออสเตรเลีย เป็นหัวหน้าโครงการในการพัฒนาหลักสูตร และอบรมคณาจารย์ รวมทั้งการประเมินและปรับปรุงแบบเรียนใน English Program ของโรงเรียนในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนรัฐระดับชั้นนำอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับโครงการเตรียมความพร้อมของนักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นโครงการอบรมที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเป็นวิทยากรอบรมทักษะการเขียนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนทุนที่ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ในเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาสอนนักเรียนทุนไปแล้วเป็นจำนวนนับพันคน

นอกจากความเด่นทางด้านการเรียนการสอนแล้ว เปิ้ลยังมีความสามารถในเชิงกวีอย่างมาก ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสองตัวแทนจากประเทศไทยให้เข้าร่วมสัมมนากวีร่วมสมัยอาเซียนครั้งที่สองที่ฟิลิปปินส์ หลังการสัมมนา เจ็ดประเทศสมาชิกเสนอชื่อให้เป็นบรรณาธิการของประเทศไทย จัดพิมพ์หนังสือ ASEANO รวมบทกวีและบทความจากตัวแทนทุกประเทศ เพื่อแจกจ่ายออกไปตามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการในประเทศสมาชิก และความสำเร็จที่ภูมิใจที่สุดคือบทกวี (ภาษาอังกฤษ) ที่เปิ้ลร้อยกรองในฐานะตัวแทนกวีจากประเทศไทยได้ถูกนำไปอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ด้านวรรณคดี และงานวิชาการมากมาย ทั้งระดับปริญญาตรี โทและเอกในหลายประเทศ

นอกจากผลงานที่ล้ำเลิศแล้ว เปิ้ลยังทำงานสาธารณกุศลและกิจกรรมทางสังคมมากมายร่วมกับหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมด้วยจิตอาสาและความจริงใจ ทำให้เปิ้ลได้รับรางวัลเกียรติยศเป็นเครื่องระลึกถึงความดีงามหลายรางวัล เช่นรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ออสเตรเลียในปี 2011 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมอบ St. Bernard Award (Special Merit Award) รางวัลเกียรติยศที่รับประกันความสามารถ ความมุ่งมั่นในวิชาชีพซึ่งสร้างคุณูปการต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติโดยรวมในปี 1996 รางวัล St. Montfort Award (Illustrious Service) ในปี 2014 และรางวัล St. Michael Award (Public Service) ในปี 2015 และรับเกียรติเป็นกีรตยาจารย์ (Fellow of the University) จากมหาวิทยาลัยวูลลองกองในปี 2014

คณะอักษรศาสตร์มอบความสามารถทางภาษา อุปนิสัยใฝ่รู้และเปิดกว้างในการพิจารณาความคิดที่แตกต่าง ไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ ให้เป็นรากของความเชื่อมั่นในการก้าวไปทำสิ่งใหม่ๆ แสวงหาประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเพิ่มพูนอยู่เสมอ อักษรจรัสผู้นี้เป็นเกียรติภูมิของชาวอักษรฯ ผู้มีความสำเร็จในวิชาชีพ และจิตวิญญาณที่ตั้งใจทุ่มเทเพื่อสร้างประโยชน์แก่องค์กร สังคมและประเทศอย่างแท้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นงค์นุช ศรีธนาอนันต์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นงค์นุช ศรีธนาอนันต์ (เล็ก)

นักร้องเสียงอัลโตของ C.U. Chorus คนนี้มุ่งเข็มทิศชีวิตไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้าน International Hotel Management ที่ University of Surrey ประเทศอังกฤษ เพิ่มเติมความรู้และเข้ารับการอบรมหลักสูตรการท่องเที่ยวและการโรงแรมหลายหลักสูตรอย่างต่อเนื่องเสมอมา ล่าสุดได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เข้าอบรม Centara Management Development Program หลักสูตรสามเดือนที่ Swiss College of Hospitality Management ที่ประเทศ Switzerland

เล็กเป็นนักวิชาการและหนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาด้านการท่องเที่ยว ผู้ศึกษา เข้าใจและถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นผ่านการสอน การเขียน และงานวิจัย หนึ่งในผลงานหลายชิ้นคือหนังสือ การโรงแรมเบื้องต้น อันเป็นหนังสือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

เล็กสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานรัฐหลายแห่ง เช่นได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่น ตอบรับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างนิยามอาชีพและอุตสาหกรรม สาขาการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและบริการอื่นๆ ร่วมพัฒนาหลักสูตร รวมถึงพิจารณามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาหลักสูตรสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากเล็กจะเป็นอาจารย์สอนหนังสือแล้วเล็กยังช่วยงานบริหารอื่นๆ ในหลายบทบาท เป็นหัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม รองคณบดีฝ่ายบริหาร จนกระทั่งปัจจุบันเล็กได้รับความไว้วางใจให้เป็นคณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เล็กเป็นนักบริหารการศึกษาที่ใฝ่เจริญคุณธรรมและจริยธรรม เล็กไม่เคยกล่าวร้ายใคร แก้ปัญหาใหญ่เล็กด้วยความสุขุม แม้ระดับคุณธรรมเป็นสิ่งที่วัดกันไม่ได้แต่ยืนยันได้ เล็กเป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์รักและซึ้งใจในความรักความเอาใจใส่กับทุกความสุขและความเดือดร้อนของศิษย์ แม้เรื่องนอกตำรา เวลานอกห้องเรียน ลูกศิษย์หลายคนที่จบไปแล้วยังติดต่อและไปมาหาสู่กับอาจารย์ท่านนี้อย่างสำนึกในพระคุณอย่างต่อเนื่อง เพื่อนและคนทุกคนที่เกี่ยวข้องรักและเคารพชีวิตที่มีธรรมะของเล็ก

ชีวิตของเล็กไม่โลดโผน แต่เป็นตัวอย่างและคำจำกัดความของ “ความดีงาม” ที่น่านิยม

 

รมิดา ( จินตนา) ก้อนฆ้อง

บริษัททราเวิล เทคโนโลยี่ที่ติ๋มเป็นผู้ก่อตั้งอาจฟังไม่คุ้นหู เพราะมิได้เป็นบริษัทท่องเที่ยวอย่างธรรมดา ถ้าใครได้ลิ้มลองท่องเที่ยวกับบริษัทนี้แม้เพียงครั้งเดียว จะไม่อาจถอนตัวเปลี่ยนใจไปร่วมทางกับใครอื่นได้อีก เนื่องจากระดับความสะดวก สบาย และอภิสิทธิ์ที่ทราเวล เทคฯ ประณีตบรรจงจัดให้นั้น ปานว่าได้ท่องเที่ยวอยู่บนวิมาน

ติ๋มเริ่มทำบริษัทนำเที่ยวแบบกิจการเล็กๆ ทั่วไป แต่ที่ไม่ทั่วไปคือการกล้าคิดนอกกรอบ ลูกทัวร์ของติ๋มจะได้สัมผัสฝรั่งเศสมากกว่าการได้เห็นแค่หอไอเฟิลหรือเมืองปารีสแบบทัวร์พื้นๆ แต่อาจเลือกเข้าไปจับจ่ายกระเป๋าเบอร์กินในร้านแอร์เมสราวกับเป็นลูกค้าคนเดียวทั้งพิภพผ่านการทำนัด Private Shopping Zone ซึ่งน้อยคนนักจะสามารถทำได้ หรือได้นั่ง Chef\'s Table ที่โรงแรมโฟร์ซีซันในมิลานพร้อมการคัดสรรเมนูอาหารอย่างดีและเมนูไวน์ชั้นยอดไว้คอยบริการ ติ๋มจะคัดสรรช่างภาพตามไปกับทริปเพื่อเก็บเกี่ยวเวลาแห่งความสุขกลับมาใส่สมุดภาพมอบให้ลูกค้าไว้เตือนความทรงจำในวันหน้า หรือการมีผู้ชำนาญการเฉพาะทาง นำคณะลูกค้าเดินทางไปดูงานในทุกด้าน ทุกทริปทุกฉากจัดเต็มร้อย ทุกทริปมีพนักงานท้องถิ่นมาดูแลลูกค้าอย่างเพียบพร้อม จัดเตรียมพนักงานคุณภาพไว้รับทุกสถานการณ์ กรณีตัวอย่างเมื่อลูกค้าเจ็บป่วยกระทันหันที่ญี่ปุ่น ผู้ดูแลคณะสามารถแจ้งชื่อ เลขหนังสือเดินทางและอาการไปยังโรงพยาบาลล่วงหน้าก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางไปรับการรักษา ไม่มีการล่าช้า ไม่มีปัญหาในการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ การบริการที่ราวกับพาลูกค้าไปเหยียบเมฆ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เกิดจากฟ้าดินบันดาล แต่เกิดจากวิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้านำความคิดบรรเจิดมาจัดให้เป็นความจริง การน้อมนำความอ่อนน้อมถ่อมตนและศิลปะการติดต่อสนทนามาใช้เพื่อความสุขเต็มพิกัดของลูกค้า

ทุกวันนี้ทราเวล เทคฯ ทำธุรกิจร่วมกันกับสายการบิน รีสอร์ทและเครือโรงแรมชั้นนำทั่วโลก เช่น Leading Hotels of the World, Four Seasons โดยเฉพาะเครือแมนดาริน โอเรียนเตลนั้นมีพันธะสัญญา (Mandarin Oriental Fan Club) ร่วมกับบริษัทของติ๋มแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย นับเป็นการยกระดับบริษัทนำเที่ยวของประเทศไทยให้สูงขึ้น ทราเวล เทคฯ ให้บริการลูกค้า สื่อมวลชน องค์กร หน่วยราชการและบริษัทแนวหน้าของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2537

หลักในการทำธุรกิจที่เน้นย้ำกับพนักงานหนักหนาคือการบริการที่เลอเลิศ การพัฒนาสินค้าและองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า ความจริงใจ เลือกของที่ดีคุ้มค่าที่สุดให้ลูกค้า

ดรรชนีชี้ความสำเร็จในมาตรฐานของติ๋มไม่ใช่เม็ดเงิน แต่เป็นความไว้วางใจที่ได้รับจากลูกค้า จากการแนะนำบอกต่อ จากการเสนองานและได้รับการตอบรับแบบร้อยเปอร์เซนต์ ความเติบโตไม่ได้อยู่ที่จำนวนพนักงานหรือตัวเลขเมื่อปิดบัญชีปลายปี แต่อยู่ที่จำนวนลูกค้าที่กลับมาใช้บริการครั้งแล้วครั้งเล่า

วันนี้อาจไม่สมบูรณ์เหมือนที่เป็นอยู่หากติ๋มไม่ได้จบอักษร สถาบันที่สร้างสามัญสำนึกที่ดีในตัวตนของเรา อักษรฯ สอนความมีรสนิยม สังคมอักษรฯ สร้างกัลยาณมิตรผู้ช่วยส่งเสริมผลักดันให้ติ๋มก้าวมาเป็นผู้หญิงแนวหน้าในวงการการท่องเที่ยวของไทย ติ๋มใส่ความเป็นอักษรฯ เข้าไปในทุกคุณสมบัติที่นำความสำเร็จมาวางไว้เบื้องหน้าในวันนี้

ติ๋มตอบแทนคณะฯ ด้วยการส่งต่อ มอบทุนให้แก่นิสิตอักษรผู้ด้อยโอกาสได้เล่าเรียนศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่งจนจบปีสี่ ติ๋มแอบใส่ใจเพื่อนที่ขัดสนโดยไม่โอ่อวดโฆษณาให้เอิกเกริก

แค่เป็นสุขที่ได้ให้

รศ.ปรีมา มัลลิกะมาส ทวีสิน

อักษรจรัส อบ.50
รองศาสตราจารย์ ปรีมา มัลลิกะมาส (ปรีมา ทวีสิน - เก๋)

เก๋เคยบอกว่า \"ชีวิตฉันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ละวันเรียบๆ เหมือนเส้นตรง\" ในความเป็นจริงชีวิตเก๋เป็นเส้นตรงที่พุ่งขึ้นฟ้า แตกกิ่งก้านสาขาให้คนอื่นนำไปต่อยอดนำความเจริญงอกงามสู่ชีวิต ผลงานของเก๋ยังประโยชน์ให้แก่ผู้คนมากมายในหลายบทบาทของสังคมไทย

นอกจากได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองจากภาคภาษาอังกฤษไปตามความคาดหมายของเพื่อนร่วมรุ่นแล้ว เก๋ยังครองตำแหน่งบัณฑิตผู้จบด้วยคะแนนสูงสุดของคณะอีกด้วย เก๋อยากเป็นอาจารย์จึงเลือกไปเรียนต่อวิชาภาษาอังกฤษประยุกต์ที่ University of Wisconsin-Madison เพื่อเตรียมหันเส้นตรงให้วกกลับมาที่จุดเริ่มต้นคือคณะอักษรศาสตร์ เก๋เริ่มงานสอนหนังสือที่ภาคภาษาอังกฤษ และในขณะเดียวกันนั้นก็ได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการหน่วยบริการงานแปลของศูนย์การแปล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำหน้าที่อื่นๆ เรื่อยมา เช่น กรรมการบริหารศูนย์การแปล ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านการแปลและล่าม และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ มาเป็นปีที่ 6 แล้วในวันนี้

เก๋ออกตัวว่าเพราะศูนย์การแปลฯ เริ่มจากรากฐานที่ดีจากอาจารย์ผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลและทุ่มเททำงานเพื่อความก้าวหน้าของศูนย์ฯ หน่วยบริการงานแปลและหลักสูตรจึงเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เก๋เพียงแค่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย เน้นการส่งเสริมงานวิชาการ สร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ร่วมทำ Journal ด้านแปลและล่ามกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมนักแปลแห่งประเทศไทย เป็นต้น ส่วนงานด้านล่าม ทางศูนย์ฯ พยายามตอบสนองความต้องการของสังคม โดยจัดอบรมล่ามทั่วไปและล่ามเฉพาะทาง เช่น ล่ามในโรงพยาบาล เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งวางนโยบายการทำงานให้สอดคล้องกับโจทย์ใหม่ๆ เช่น ในขณะนี้มีผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการการแพทย์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่มักมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร รัฐบาลจึงมอบทุนให้คณะอักษรศาสตร์จัดทำโครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรสายสนับสนุนในโรงพยาบาล ทางศูนย์ฯ ร่วมกับคณะอักษรศาสตร์จึงจัดทำ Applications เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลใช้ฝึกการสนทนาด้วยตนเอง โครงการนี้กำลังจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีเก๋เป็นหัวหน้าโครงการ ดูแลให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี

ผลงานทางด้านวิชาการของเก๋มีอยู่สามด้านหลักๆ คือการสอนภาษาอังกฤษ การแปล และภาษาศาสตร์คลังข้อมูล (Corpus Linguistics) โดยใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลภาษาจริงที่จัดเก็บในรูปอิเลกทรอนิก ซึ่งสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาใช้สอนหรือทำวิจัย เรื่องภาษาศาสตร์คลังข้อมูลนี้เป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทยสมัยเมื่อ 20 ปีก่อน เก๋ได้รับความช่วยเหลือชี้แนะจากรองศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์ อรุณมานะกุล เพื่อนอาจารย์จากภาควิชาภาษาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เก๋ใช้เวลาศึกษาอย่างทุ่มเทและจริงจังจนนำมาใช้สอนและทำวิจัยในด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และเปิดสอนวิชาในหลักสูตรปริญญาโทชื่อ Corpus Linguistics and English Language Teaching มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนใหม่ๆ รวมทั้งการใช้คลังข้อมูลภาษาในการแปล และการทำประมวลศัพท์ (Terminology) ซึ่งเปิดสอนในวิชาทรัพยากรการแปล หลักสูตรปริญญาโทการแปลที่คณะ จัดว่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้บุกเบิกเรื่องการใช้คลังข้อมูลภาษาในการแปล การทำวิจัยแปล และการทำประมวลศัพท์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยเก๋เป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่ช่วยสอนและเป็นที่ปรึกษาสารนิพนธ์ในด้านเหล่านี้มาโดยตลอด

เมื่อเก๋เริ่มงานการสอนที่คณะอักษรศาสตร์นั้น เป็นช่วงเวลาที่สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ได้ลิขสิทธิ์จาก Oxford University Press ให้จัดทำพจนานุกรมอังกฤษ ไทย 2 เล่ม ซึ่งหลักๆ แล้ว ใช้วิธีการแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นไทย เล่มแรกเป็นพจนานุกรมภาพและอีกเล่มหนึ่งเป็นพจนานุกรมทั่วไป Oxford-Pictorial Thai & English Dictionary มีจุดเด่นคือมีภาพที่เป็นเรื่องของไทยเช่น เรือนไทย พระพุทธรูปปางต่างๆ สถาปัตยกรรมไทย เสริมเข้าไปด้วย เก๋มีส่วนในการบริหารและประสานงาน หาผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาวิชาเพื่อทำงานนี้ การจัดทำพจนานุกรมเล่มนี้ใช้เวลาประมาณสองปี พจนานุกรมเล่มที่สองคือ Oxford River Books English Thai Dictionary เก๋เป็นหนึ่งในบรรณาธิการหลัก 3 คน พจนานุกรมเล่มนี้ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่คณะมากมายหลายท่านและใช้เวลา 12 ปี จึงแล้วเสร็จ นับเป็นจุดเริ่มของการทำงานเกี่ยวศัพท์และการศึกษาด้านการแปลที่เก๋ทำมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากการสอนและการทำงานที่ศูนย์การแปลแล้ว เก๋ยังมีผลงานวิชาการและงานวิจัยมากมาย มีหนังสือเรื่อง การแปลกับการสอนภาษาอังกฤษ เป็นตำราที่เป็นประโยชน์กับครูสอนภาษาอังกฤษ นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีคนแอบเอาไปชื่นชมแนะนำในห้องพันทิพย์อย่างเอิกเกริก

น่ายินดีเหลือเกินที่คนๆ หนึ่ง อุทิศกายและปัญญาผลิตผลงานออกมาให้คนอื่นเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้มากมายเช่นนี้ ผลงานของเก๋มีออกมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ถ้าเก๋เป็นดาว ต้องยกให้เป็นดาวฤกษ์ เพราะสวยงาม เรืองแสงจากคุณค่าภายในของตัวเอง
รองศาสตราจารย์ปรีมา มัลลิกะมาส อบ. 50Page 3

รศ.ศศี จันทร์ประพันธ์ ศศีวุฒิวัย

อ๋อเป็นศิษย์เก่าอักษรฯ และภาควิชาภาษาอังกฤษ ที่ Pittsburg State University

อ๋อเป็นอาจารย์ภาคภาษาอังกฤษที่ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ๋อเป็นอาจารย์อารมณ์ดี สำเนียงเป๊ะ

อ๋อสอนหนังสือให้ใครต่อใครไปทั่ว ไม่นับว่าต้องเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้น อ๋อจะตามไปสอนถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงบ้าง มหาวิทยาลัยนเรศวรบ้าง และยังมาช่วยสอนในหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาการล่าม ที่คณะอักษรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

อ๋อเขียนบทความน่าติดตามหลายเรื่องเช่น ปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษในบริบทของการแปล: ตัวอย่างจากการสอนแปลไทย – อังกฤษ และ The Non-Equivalence of Personal Pronouns

อ๋อเป็นไอดอลในใจใครต่อใครหลายๆ คน

อ๋อเป็นล่ามการประชุมอาชีพที่เก่งกาจหาตัวจับได้ยากมาก

อ๋อทั้งเป็นล่ามพูดตามและพูดพร้อม (Consecutive Interpretation and Simultaneous Interpretation) เห็นความสามารถแล้วได้แต่อัศจรรย์ใจ

อ๋อเป็นล่ามดีเด่นเจ้าของรางวัลสุรินทราชา ปี 2555

อ๋อเป็นสมาชิกของ AIIC (The International Association of Conference Interpreters) และสมาคมล่ามการประชุมไทย มีบทบาทเข้มแข็งผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพล่ามให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยการจัดอบรมอย่างสม่ำเสมอ หาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ โดยใช้เครือข่ายที่อ๋อมี มาให้ความรู้และเทคนิคการแปลและการล่ามให้แก่นักแปล ล่ามและบุคคลที่สนใจ อ๋อดูแลอาจารย์ที่มาช่วยสอนอย่างไม่มีบกพร่อง แต่หลายครั้งที่ส่วนตัวอ๋อทำไปโดยไม่มีค่าตอบแทน เพราะเป็น “a labor of love”

อ๋อบากบั่นพานักเรียนชุดแล้วชุดเล่าไปฝึกเป็นล่ามที่องค์การสหประชาชาติแถวราชดำเนิน

อ๋อเป็นผู้ให้ความรู้ที่ควรค่ากับคำว่า \"ครู\" อย่างยิ่ง

อ๋อบอกว่า \"อีกหน่อยเราอายุเยอะ ทำไม่ไหว ต้องรีบสร้างคน\"

อ๋อไม่มีกั๊กความรู้ ไม่มีแบ่งพรรคพวก มีแต่การให้และแบ่งปัน

อ๋อมีคุณสมบัติที่ควรค่าแก่การยกย่องตั้งมากมาย ขาดอย่างเดียว \"ความเห็นแก่ตัว\"

 

รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน

อ่านประวัติการทำงานจากเวปไซต์ของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ออกอาการวิงเวียนกับผลงานมากมายของจูน คล้ายทำงานแล้วไม่เหน็ดเหนื่อย อ่านจบให้นึกเป็นห่วงอย่างมากว่าเอาเวลาที่ไหนไปกินไปนอน

จูนจบอักษรฯ พร้อมเกียรตินิยม อันเป็นอาการของคนเก่งมากในคณะเรา น่าดีใจที่จูนตั้งใจจะนำความเก่งของตัวเองมาแบ่งปันให้คนอื่นเก่งตาม จูนเริ่มงานสอนภาษาอังกฤษที่ธรรมศาสตร์หลังจากได้ปริญญาเอกกลับมาจาก Nottingham University ประเทศอังกฤษ สาขาวิชา English Studies จูนไม่สอนหนังสือเฉยๆ เพราะง่ายเกินไป เลยรับเป็นเลขานุการสถาบันภาษาของธรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่งทันที ทำงานด้วยความฉลาดเฉลียว วิริยะ เข้มแข็งจนได้เป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษาฯ และดูแลหลักสูตรปริญญาเอก พร้อมทั้งเป็นหัวหน้าของศูนย์ทดสอบทางภาษา

ด้านการเขียนตำรับตำราจูนไม่เป็นสองรองใคร หากลงรายละเอียดแล้วไซร้คงกลายเป็นเขียนมหากาพย์มากกว่าการบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จของดาวอักษรฯ ที่เจิดจ้ามากดวงนี้ ดังนั้นจึงขอเพียงนำตัวเลขสถิติมาแบ่งปันพอให้เข้าใจถึงความมากล้นของเนื้องานที่จูนทำไว้

สรุปโดยรวมแล้วจูนเขียนตำรา 4 เล่ม บทความวิจัย 6 ชิ้น บทความทางวิชาการ 5 ชิ้น วิจารณ์หนังสือ 2 เล่ม วิจัยเพื่อเสนอในที่ประชุมระดับนานาชาติ 10 ชิ้น

จูนจัดทำวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของผลการสอบภาษาอังกฤษเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยกับผลสอบรากฐานภาษาอังกฤษของนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับรองศาสตราจารย์นพพร ศราพล

นอกจากนี้แล้ว จูนยังอยู่ในคณะบรรณาธิการหนังสือ 5 เล่ม ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิในงานต่างๆ อีก 26 คณะกรรมการ เป็นวิทยากรให้ 5 การประชุม แถมมีเวลาไปศึกษาดูงานและอบรมต่างกรรมต่างวาระอีก 6 ครั้ง

งานของจูนนอกจากจะยังประโยชน์ให้แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอกโดยตรงแล้ว ยังเป็นงานที่มีคุณูปการกับสังคมโดยรวมอย่างมาก ศูนย์ภาษาฯ เปิดให้บริการทดสอบความรู้แก่บุคคลทั่วไปผ่าน “TU-Steps” ซึ่งคือการวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษตามระดับมาตรฐานสากลเพื่อการทำงาน อีกทั้งยังเปิดหลักสูตรเพื่อสอนและพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในประเทศไทย รวมไปถึงการอบรมครูภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้ก้าวไกลไปอีกระดับหนึ่ง

บริการทางสังคมอื่นๆ ของสถาบันภาษาฯ ภายใต้การดูแลของจูนตอบโจทย์สังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก้าวหน้าทั้งเนื้อหาที่ใช้สอน หลักสูตรที่หลากหลาย และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาเป็นสื่อการสอนใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลไปสู่สังคมในวงกว้าง

ล่าสุดนี้ จูนเพิ่งรับรางวัลครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2558

ผลงานที่กล่าวมาอย่างย่นย่อแต่ยังยาวข้างบนนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น แต่เป็นงานที่ออกจากจิตวิญญาณและสมองของเพื่อนชาวอักษรฯ ผู้มีใจใฝ่ในการให้แก่ลูกศิษย์และสังคมโดยเสมอภาค จูนและผลงานของจูนเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ตามมาเบื้องหลังในการยังประโยชน์แก่ประเทศชาติของเราสืบไป

วงเดือน สิมะโชคดี เกิดชนะ

กุ้งเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความสามารถในการบริหารจัดการเป็นเลิศ ปรัชญาในการทำงานคือทำทุกวันให้ดีที่สุด ทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะเห็นผลสำเร็จของงานโดยไม่ย่อท้อกับความเหนื่อยยาก

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Hotel and Tourism Management ที่ Schiller International University ประเทศอังกฤษ กุ้งเริ่มงานที่โรงแรมรีเจนท์ กรุงเทพฯ ในตำแหน่ง Management Trainee อยู่หนึ่งปีก่อนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นลำดับไปจนถึงผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานโรงแรมอยู่ทั้งหมด 7 ปีจึงย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นับเป็นคนแรก ๆ ที่เข้ามาบริหารสาขาโรงแรมและท่องเที่ยวของสถาบัน และเป็นอาจารย์ในภาควิชาที่เรียนจบสาขานี้โดยตรง กุ้งจึงเป็นบุกเบิก รับผิดชอบเป็นหัวหน้าสาขา คัดสรรอาจารย์ รับรองหลักสูตร จัดทำห้องปฏิบัติการ ในขณะเดียวกันกุ้งทำงานงานด้านบริหารคู่ขนานไปกับงานด้านการศึกษา เป็นกรรมการและผู้ประสานงานหลักสูตรปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร ต่อมาเลื่อนชั้นความรับผิดชอบเป็นหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารธุรกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร ตามลำดับ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รับผิดชอบการเงินและบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีหน้าที่ประเมินและอนุมัติงบประมาณโครงการ เบิกจ่าย ส่วนงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้น ดูแลทั้งในส่วนวางแผนอัตรากำลัง โครงสร้างองค์กร วางแผน พัฒนาบุคลากร กำหนดเกณฑ์ การประเมินผลการปฎิบัติงานที่เป็นธรรม วางนโยบายบริหารงานบุคคลตลอดจนดูแลด้านสวัสดิการของพนักงานในมหาวิทยาลัย

นักบริหารมืออาชีพคนนี้รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มองโลกและคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ มีความละเอียดอ่อน มนุษยสัมพันธ์ดี ด้วยพื้นฐานความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ อันประโยชน์ในการทำงานอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะกับหน้าที่หลักในการดูแลด้านบุคลากรขององค์กร นอกจากนี้การเรียนอักษรฯ ยังให้เกิดความภาคภูมิใจ นับถือตัวเองแต่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนในขณะเดียวกันด้วยเพราะการอยู่ในหมู่คนเก่งมากความสามารถทำให้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

กุ้งมีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นและอนุชนรุ่นหลังอย่างครบถ้วน ทั้งความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ ความมุ่งมั่น ความกล้าที่จะเป็นผู้บุกเบิก และความรับผิดชอบให้งานสำเร็จเรียบร้อยด้วยความรวดเร็ว คืนฟ้าใสมักมีเดือนส่องสว่างกระจ่างฟ้าอยู่เพียงหนึ่งเดียว

วิธัญญา ภัทรวิมลพร นันทาภิวัฒน์

น้อตเป็นคนเรียนเก่ง มากความสามารถ จบอักษรฯ น้อตไปเรียนต่อที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) London University ได้ปริญญาโทด้าน Area Studies (Southeast Asia) น้อตเป็นอีกคนที่พิสูจน์ว่าจบอักษรฯ แล้วไปทำอะไรก็ได้ด้วยการไปทำงานด้านการธนาคาร โดยเริ่มจาก TDRI, IBM (Thailand), The World Bank (Washington, D.C.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และปัจจุบันรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหาร EXIM Bank
น้อตงามพร้อมด้วยธรรมทั้งปวง งามทั้งกาย วาจา และใจ มีความกตัญญูต่อบุพการีและครูบาอาจารย์ มีความเอื้ออารีกับทุกคนที่แผ้วพานผ่านเข้ามาในชีวิต มีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูง มารยาทงดงามดุจแม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดิน

น้อตใส่ใจในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ศึกษาธรรมะในระดับปริยัติปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งในปฏิเวธมาเป็นเวลาหลายปีน้อมนำธรรมะที่ศึกษาเล่าเรียนมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ใครอยากไปวัดให้บอกน้อต ถ้าไปด้วยไม่ได้น้อตจะจัดให้ไปถึงวัด ให้ได้รับความสงบสุขอย่างทั่วถึง งานส่งเสริมพระศาสนาที่น้อตทำเป็นประจำสม่ำเสมอในอดีตและเป็นงานที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนหมู่มากคือการแปลหนังสือธรรมะเป็นธรรมทาน

ผลงานการแปลของน้อตมีอาทิ การอบรมศีลเจริญภาวนาเบื้องต้น รู้แจ้งปรมัตถธรรมด้วยการอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า กองทัพทั้งสิบของมาร โพชฌงค์ วิปัสสนา ฌาน ราชรถสู่พระนิพพาน โดยพระกัมมัฏฐานาจารย์ อู ปัณฑิตาภิวงศ์ (อังกฤษ – ไทย แปลคู่กับดร. พิชิต ภัทรวิมลพร) ซึ่งต่อมารวมเล่มเป็นหนังสือแปลชื่อ รู้แจ้งในชาตินี้ (In This Very Life) ปัจจุบันน้อตได้รับมอบหมายให้เป็นประธานชมรมพุทธศาสน์ EXIM Bank
เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา น้อตได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

ใจอันงดงามของน้อตเป็นช้างเผือกที่มีค่าหายากยิ่งในสังคมทุกวันนี้

สาวิตรี จารุวนากุล ศรีไชยยันต์

ถ้าไม่รู้จักกัน คนทั่วไปคงคิดว่าสาวหน้าคมที่งามอย่างไทยคนนี้หลุดมาจากราชสำนักของล้นเกล้ารัชกาลที่หกหรือไร จนวันนี้เพื่อนๆ ยังตัดสินไม่ได้ว่าความสวยหรือความเก่งของปูอะไรเด่นกว่ากัน

เมื่อเรียนจบปูทำงานแรกที่บริษัทที่ปรึกษากฎหมายสากล รับหน้าที่ทำงานแปลเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคและการบินไทยอยู่ทั้งหมด 3 ปี ก่อนมาร่วมงานกับบริษัทลูกของ The Coca-Cola Company ในประเทศไทย เริ่มจากเป็นเลขานุการบริหารของผู้บริหารฝ่ายกฎหมายที่เป็นต่างชาติ ดูแลงานกฎหมายในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียตะวันตก ต่อจากนั้นได้ทำงานด้านกฎหมายมากขึ้นเป็นลำดับและได้รับการสนับสนุนให้ไปเรียนกฎหมายอย่างจริงจัง จึงเลือกไปเรียนปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานทางนิติศาสตร์มาก่อน เมื่อเรียนจบแล้วบริษัทฯ ยังผลักดันให้ไปเรียนนิติศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำงานด้านกฎหมายเต็มตัว จึงกลับมาเรียนนิติศาสตร์อีก 3 ปี จนได้วุฒินิติศาสตร์บัณฑิต และสอบได้ใบอนุญาตทนายความ สามารถว่าความในศาลได้ในที่สุด

บริษัทลูกในประเทศไทยของ The Coca-Cola Company มีบริษัทที่เป็นสำนักงานภูมิภาคที่ดูแลบริษัทในเครือใน 10 ประเทศในอาเซียน และบริษัทที่ดูแลรับผิดชอบเฉพาะตลาดในประเทศไทยและลาวของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า Coca-Cola และอื่นๆ ที่ The Coca-Cola Company เป็นเจ้าของและให้สิทธิกับบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยในการผลิตและจัดจำหน่าย ปัจจุบันปูในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย (Legal Counsel) เป็นกรรมการของทั้งสองบริษัทด้วย

ภาษาอังกฤษจากคณะอักษรศาสตร์โดยเฉพาะวิชา Grammar Structure ที่อาจารย์ปาริชาติ นาคะตะและอาจารย์ปรารมภ์รัตน์ โชติกเสถียร ประสิทธิประสาทวิชาให้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในชีวิตการทำงานในฐานะที่ปรึกษากฎหมายในบริษัทข้ามชาติเป็นอย่างมาก ทั้งในการเขียนและอ่านสัญญาและการตีความตัวบทกฎหมาย รวมทั้งวิชาวรรณคดีตะวันตกที่ได้จากคณะอักษรฯ ทำให้เราเข้าใจความเป็นคนและสามารถทำความเข้าใจตัวบทกฎหมายที่เขียนขึ้นมาก็เพื่อใช้บังคับคนในสังคมได้

กาลเวลาผ่านไปยี่สิบสี่ปีในบริษัทข้ามชาติที่ยึดแนวคิดแบบตะวันตก เคร่งครัดในเรื่องของจริยธรรม ความถูกต้อง และความสามารถของปัจเจกบุคคลมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล ความสำเร็จในวันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชงโคกิ่งนี้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ร่มเย็น และมั่นคง

สุนันทา ประสานสอน (สุนันท์ ทีปกร – นัน)

สุนันทาเติบโตกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เพียรปั้นฝันสวยหรูจนเป็นความจริง เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึษาและคณะอักษรศาสตร์ ระหว่างเรียนเฝ้าสงสัยว่าจะนำวิชาความรู้ของคณะอักษรฯ ไปประกอบอาชีพใดหนอ ด้วยว่ามันไม่ชัดเจนเหมือนคณะอื่น นันเลือกเรียนวิชาภาษาไทยเพราะรักการอ่านอย่างสุดหัวใจ ใฝ่ฝันอยากทำงานในวงการหนังสือ

ระหว่างเรียนที่คณะอักษรฯ นันใช้เวลาช่วงปิดเทอมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทในหลายพื้นที่ มักได้รับมอบหมายหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายการเตรียมการสอนเด็ก เมื่อเรียนจบไปสอบครูที่อุบลราชธานีตามคำขอของพ่อ และสอบได้ที่ ๑ แม้ไม่มีการเตรียมตัวสอบใดๆ จึงมีกำลังใจว่าความรู้อักษรศาสตร์นี้สามารถประยุกต์ใช้กับครุศาสตร์ได้เป็นอย่างดี นันเริ่มสอนหนังสือที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จังหวัดยโสธรเป็นแห่งแรก และได้ย้ายมาที่โรงเรียนนาส่วงวิทยา จังหวัดอุบลราชธานีในอีกสี่ปีถัดมา

นาส่วงวิทยาอยู่ห่างตัวเมืองประมาณ ๓๐ กิโลเมตรจัดเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก เอื้อต่อความสนิทสนมใกล้ชิดกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และระหว่างครูกับศิษย์ นักเรียนเป็นเด็กชนบทที่มีฐานะยากจน คนในละแวกที่มีเงินมักส่งลูกไปเรียนในตัวเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก นักเรียนนาส่วงบางส่วนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หรือการหย่าร้างกัน นักเรียนผู้ทั้งน่ารักและน่าสงสารผูกใจนันให้อยู่โรงเรียนนาส่วงวิทยามาเป็นเวลา ๒๖ ปี นันสอนหนังสือด้วยปณิธานและวิญญาณของความเป็นครู ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาเด็กในโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียง ที่ด้อยโอกาสให้มีความเชื่อมั่นในตนเองและความสามารถด้านภาษาไทยที่ดี นันมักจัดกิจกรรมเสริมในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะภาษา ให้เด็กกล้าแสดงออก เช่นให้เด็กจัดรายการเสียงตามสาย จัดแข่งขันโต้วาทีระหว่างห้อง ฝึกเป็นพิธีกรในงานต่างๆ และส่งเสริมนักเรียนร่วมการแข่งขันในระดับจังหวัด เช่น เขียนเรียงความ พูดสุนทรพจน์ โต้วาที นักเรียนของนันเคยได้รับรางวัลหลายรายการในเวทีระดับจังหวัด ช่วยสร้างความภาคภูมิใจและมั่นใจให้แก่นักเรียนและโรงเรียนเป็นอย่างมาก

ด้วยความจริงจังจริงใจต่อการทำงานและเพื่อนร่วมงาน จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และผู้บริหาร ร่วมกันพัฒนาโรงเรียนนาส่วงให้เป็นโรงเรียนที่ดีมีมาตรฐาน มีสื่อวัสดุอุปกรณ์พร้อม ตามบริบทโรงเรียนเช่นในปัจจุบัน ปัจจุบันนันย้ายมาสอนหนังสือที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี

นันได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่นจากคุรุสภา ปี ๒๕๕๑ เป็นวิทยากรแกนนำวิชาภาษาไทย ม.ปลาย โครงการพัฒนาครูทั้งระบบปี ๒๕๕๔ นันภูมิใจกับความเป็น ”ครูบ้านนอก” ผู้จบจากสถาบันสูงสุดของประเทศ ผู้นำความรักเอื้ออาทรมาเป็นแรงผลักดันเด็ก นันไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเงินเดือนหรือสอนหนังสือเพื่อยศตำแหน่งนำหน้าชื่อ ก้าวสั้นๆ แต่มั่นคงของเด็กๆ ที่ได้เดินไปในสังคมคือรางวัลตอบแทนที่นันแสวงหา ความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตการทำงานคือความรักความศรัทธาจากนักเรียน ชุมชนและเพื่อนร่วมงาน

แม้นันไม่ได้ทำงานในวงการหนังสือหรือในองค์กรเอ็นจีโออย่างที่วาดหวังเอาไว้ก่อนเรียนจบ มาวันนี้นันคงตระหนักแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นยิ่งใหญ่และมีค่าอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ นันเป็นครูที่ทุกคนจะเรียกได้ว่า “ครู” อย่างเต็มปาก

เลือดสีชมพูเทาของเราซึมลึกไปอยู่ทั่วแผ่นดินไทย...ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน

สุภาวดี ผลพิรุฬห์

ในสังคมเลขาเมืองไทยแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักสุ เพราะสุเป็นเลขาฯ เบอร์หนึ่งของประธานบริษัทระดับโลก สุเริ่มงานที่ซีพีหลังเรียนจบหกเดือน ท่านเจ้าสัวสัมภาษณ์สุด้วยตนเอง รับเข้าทำงานด้วยตนเอง และให้ทุนไปเรียนต่อด้านเลขานุการบริหารที่เบลเยียม จบแล้วจึงกลับมาเป็นเลขาฯ ท่านผู้อำนวยการ (ตำแหน่งของท่านเจ้าสัวในขณะนั้น) อย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้นมา

ท่านประธานผู้แหลมคมต้องดูออกอย่างปรุโปร่งตั้งแต่ต้นว่าสุเป็นทั้งคนเก่งและคนดีที่ท่านจะไว้และวางใจได้

งานเลขานุการ เปรียบเหมือนเงา เป็นเงาที่ต้องเงียบแต่มีพลังขับเคลื่อนและประสิทธิภาพสูง ความสำเร็จ ความราบรื่น ความพอใจและความสบายใจของนายคือเครื่องวัดความสำเร็จของเลขาฯ เมื่อแถมพกด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทซีพีซึ่งเติบโตขึ้นเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยแล้ว ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสุเป็นเงาหนึ่งที่มีอานุภาพที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตขององค์กรข้ามชาติองค์กรนี้

ทุกวันนี้สุยังเป็นเงาของท่านประธาน ยังคงเป็นผู้สนับสนุนนายด้วยความเคารพรักอย่างเต็มกำลัง ทั้งกาย ใจ และสมอง ทำงานด้วยสติ ปัญญา ความซื่อสัตย์ สุจริตและเทใจให้งานเกินร้อย ยากจะหาใครเทียบได้ สุมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและหน่วยงานให้มีศักยภาพสูงขึ้นไปเสมอ ๆ ระหว่างการทำงานที่แสนยุ่งเหยิง สุแยกร่างไปเรียนต่อจนได้ปริญญาโทด้านการจัดการภาครัฐและเอกชนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มาวันนี้สุทำงานและมีความรับผิดชอบมากขึ้นในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์

สุเป็นอักษรจรัสที่เพื่อน ๆ ภูมิใจนักหนา

เพราะสุเป็นที่รักของเพื่อนทุกคนทั้งนอกและในคณะ ตอนปีสี่สุเป็นอุปนายกองค์การนิสิตจุฬาฯ ฝ่ายกิจการภายใน เป็นหัวหน้าชั้นปีของเรามาตั้งแต่ปีหนึ่ง เป็นหัวหน้านิสิตตอนปีสาม สอดส่องดูแลเพื่อนอย่างสม่ำเสมอ แม้วันนี้งานจะยุ่งสักเพียงไร สุจะเสียสละเวลาพักผ่อนส่วนตัวทำเพื่อเพื่อนและรุ่นของเราอย่างเต็มใจ กระแสความห่วงใยของสุต่อเพื่อนอักษรฯ สองร้อยกว่าคนอบอุ่นและไม่เคยขาดสาย ไม่ว่าใครจะอยู่ใกล้หรือไกลสักเพียงใด

เพื่อนอักษร 50 ยังคบกัน รักกัน มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่น แม้จะแยกย้ายออกจากเรือนชงโคนี้ไปกว่าสามสิบปีแล้วเพราะเรามีสุคอยดึงให้เรากลับเข้าบ้าน ให้กลับมาเจอกัน ให้รู้ว่าเรามีกันและกัน สุเป็นโต้โผเฝ้าจัดงานรุ่นมาตลอดสามสิบกว่าปีไม่เคยขาด สุบอกว่าถึงจะมากันไม่กี่คนก็จะยังจัดต่อไป อย่างน้อยให้เพื่อนได้รู้ว่ามีเราอยู่ตรงนี้...น้ำตาจะไหล

ชงโคต้นที่ 50 ต้นนี้มีใบไม้ใบหนึ่งที่เรืองแสงได้ เป็นแสงนวลที่คอยให้พลังและกำลังใจแก่ใบไม้ร่วมต้นใบอื่นๆ อย่างเสมอมา

สุรพล สิทธิประสงค์

ในคณะอักษรฯ ตอนนั้น ไม่มีใครไม่รู้จักจิ๋ว ทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ครูอาจารย์ นักการ แม่ค้าในโรงอาหาร ด้วยจิ๋วเป็นคนมีความสามารถในหลาย ๆ ด้าน แต่ที่เด่นที่สุดคือน้ำใจที่กว้างกว่าเจ้าพระยาตอนที่กว้างที่สุด จิ๋วแจ่มจรัสในใจเด็กบนดอยและเด็กด้อยโอกาสในหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทย เพื่อน ๆ มักจะเจอจิ๋วเมื่อมารับของบริจาคใส่รถกระบะสีเขียวซิกเนเจอร์คันงาม ปุเลง ๆ ไปแจกเด็กครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นความดีความงามที่จิ๋วไม่เคยพีอาร์ ไม่เคยลงหนังสือพิมพ์หรือหวังการประกาศเกียรติคุณใด ๆ

อบ. 50 จึงกราบขอให้อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง รำลึกถึงอักษรจรัสคนพิเศษคนนี้ คนที่มีความเรืองรองในหลายๆ ด้าน ค่าที่จิ๋วกับครูช่างร่วมงาน ร่วมทุกข์และสุขกันมาเนิ่นนาน และล่าสุดผ่านโครงการบ้านมรดกใหม่ของครู ร่วมเลี้ยงดูและสนับสนุนเยาวชนของชาติ ที่หาไม่แล้วจะมีโอกาสเติบโตในสังคมได้ยากนัก

ครูบอกว่า...

ภาพจำของจิ๋วค่อนข้างโลดโผน เป็นภาพจิ๋วสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเสมอ อันดับแรกชื่อจริงกับชื่อเล่นก็แย้งกันแล้ว จิ๋ว กับ สุรพล สุรพลคือผู้ทรงพลังหาญกล้า กับ จิ๋ว วิเศษณ์แปลว่าเล็ก กระจ้อยร่อย จิ๋วผู้มีรูปกายเหมาะจะหากับระเบิดตามชายแดน มากกว่ามาเกลือกกลั้วกลมกลืนกับเหล่าสาวอักษร หรือภาพจิ๋วผู้คล้ายคลึงกับพระเจ้าชัยวรมันกับรายการเด็กในทีวี หรือภาพจิ๋วร่วมคณะละครหุ่นป้าชื้นศิลปินแห่งชาติสายหุ่นกระบอกไทย เห็นปั๊บให้นึกว่าเป็นคนทำฉากหรือพนักงานขับรถให้ป้าชื้น แต่ที่ไหนได้กลับเชิดหุ่นได้อย่างมีชีวิตจิตใจ ภาพจิ๋วกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อแลอย่างทะมัดทะแมง ช่างไม่เข้ากับบทกวีบรรยายภาพที่อ่อนโยน ที่สำคัญในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตของจิ๋วที่ผมจดจำไม่รู้ลืม เราจะมักคุยถึงโปรเจคหาเงินล้านกันบ่อยแล้วไม่เคยได้ลงมือ แต่สิ่งที่กลับมุ่งดูแลเด็ก ๆ ที่โรงเรียนมรดกใหม่ซึ่งไม่เคยทำเงินให้ใครแม้แต่บาท

ในช่วงที่อยู่อักษร ใครก็รู้ว่าคณะนี้ผู้หญิงเยอะ นั่งท่องนั่งทวนหนังสืออยู่ตามโต๊ะใต้ต้นจามจุรี รายรอบตึกที่แลดูขลังที่สุดในจุฬาฯ จิ๋วคือหนึ่งในความสนใจของผมเพราะคณะนี้หาผู้ชายทำยายาก สำหรับงานละครในคณะที่อุดมไปด้วยผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านเทคนิค แบกหาม ทาสี ต่อไฟ ทำเวที ยุคนั้นเมืองไทยไม่ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเช่นทุกวันนี้ เราพึ่งตัวเองและสิ่งที่มีเป็นหลัก และจิ๋วคือหลักที่สำคัญที่น่าจดจำ

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องได้เห็นจิ๋วในฐานะนักแสดงหน้าฉาก ในโปรดักชันส์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น แต่ที่บ่อยไปกว่าเป็นหนึ่งในนักแสดง เราจะเห็นจิ๋วโหนอยู่บนขื่อ ต่อไฟอยู่บนเพดาน ห้อยหัวต่อไฟ จิ๋วมักจะขลุกอยู่กับงานหลังฉาก อันได้แก่งานสร้างพร็อพ ทำไฟ ทาสี แบกหาม โรยสาย เย็บผ้า กวาดโรงละคร ไปจนถึงเปิดปิดโรงละครด้วยซ้ำ การจะเปิดโรงละครได้แปลว่าจิ๋วต้องมาก่อนใคร และการปิดโรงละครก็แปลว่าจิ๋วกลับหลังใครเพื่อน แค่นี้ก็บอกอะไรได้เยอะ บ่อยครั้งที่ผมต้องขอให้จิ๋วเปิดห้องให้นอกเวลาทำงานโดยไม่ต้องรอนักการ จิ๋วคือสะพานเชื่อมที่ดีที่สุดระหว่างงานละครกับระบบราชการ

ช่วงแรกของวัยทำงานเป็นห้วงเวลานั้นผมทำรายการทีวีชื่อมรดกใหม่ เป็นรายการเชิงสารคดี การที่ได้เนื้อหาของรายการดีๆ ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ในยามที่มองไม่เห็นแสงตะวัน เหนือคำอฐิษฐานก็คือจิ๋ว ผู้ส่งเรื่องราวของป้าชื้น ชีวิตและงานอย่างละเอียดมาให้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าใครโชคดีกว่าใคร จะว่าจิ๋วโชคดีที่ได้ไปอยู่กับป้าชื้น หรือป้าชื้นโชคดีที่มีจิ๋ว ที่แน่ๆ ผมโชคดีที่สุด เพราะมีจิ๋วที่มีทุนของความเป็นเด็กอักษรฯ บวกวิชาการละครทั้งหน้าฉากหลังฉาก แถมด้วยประสบการณ์ที่ทำงานทีวีมาเป็นแกนนำในการตีความ เล่าเรื่องหุ่นกระบอกไทยผ่านทางชีวิตและงานของป้าชื้นอย่างละเอียดปราณีตละมุนมีเชิงชั้นเป็นที่สุด งานชิ้นนั้นมิได้มีแค่งานโปรดักชั่นหากช่วยวางงานปรีโปร วางซีเนริโอ ช่วยวางทรีทเมนท์สารคดี จัดตารางให้ทำงานได้ นับเป็นงานชิ้นที่ดีมากที่สุดชิ้นหนึ่ง

ช่วงสิบกว่าปีให้หลังของชีวิตเมื่อรายการสารคดี\" มรดกใหม่\" แปรมาเป็น \" คณะละครมรดกใหม่\" ชุมชนละครมรดกใหม่\" และ\" บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" จิ๋วก็ยังคงมาพัวพันวนเวียนอยู่ให้เห็น ภาพจำของเด็ก ๆมรดกใหม่ที่ชัดที่สุดน่าจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เมื่อน้ำที่มรดกใหม่คลองหกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดจะหนีไม่พ้นต้องอพยพลูกเล็กเด็กแดงขึ้นเมืองเลย ไอ้เขียวของจิ๋วเป็นยานพาหนะคันแรกที่เต็มใจพาเราทะยานออกจากท้องทุ่งรังสิตหนีไปตายเอาดาบหน้า จิ๋วและนุกูลร่วมหักร้างถางป่า ก่อไฟ กางเต็นท์ เป็นจุดเริ่มของการปักหมุดหมายของดินแดนยูโทเปียมรดกใหม่-กุมุทาลัย จังหวัดเลยในโอกาสนั้น

จิ๋วเป็นส่วนในการพลิกดินผันป่า ด้วยความดินแดนใหม่ที่เราไปยึดเป็นที่พำนักรกร้างว่างเปล่า หญ้าท่วมสูง ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ เราก่อกองไฟนั่งล้อมรอบแหงนมองดูดาวอยู่กับความเงียบร่วมสองเดือน จนกระทั่งค่อยๆ มีเสียงสีไวโอลิน เสียงกีตาร์ ขลุ่ย ระนาดดีดสีทีละเล็กละน้อยทุกวันทุกคืนจนกลายเป็นวงมรดกใหม่ในทุกวันนี้ จิ๋วสนับสนุน \"มรดกใหม่\" ในทางที่จิ๋วถนัด ไม่ว่าจะทำสารคดีตอนที่เรามีผู้กำกับชาวอเมริกันมากำกับมาสร้างละครกับเด็ก ๆ จิ๋วใช้ความรู้ของเด็กอักษรฯ สอนเด็กร้องเพลงภาษาอังกฤษ พาเพื่อนมาช่วยทำฝายทดน้ำ ช่วยทำสารคดีงานครบร้อยปีเกิดคุณปู่กุมุท จันทร์เรือง จิ๋วทำตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ พาเด็กไปเลี้ยงไก่ทอด จนถึงผจญภัยกับเรื่องโลดโผนด้วยพยายามที่จะให้มรดกใหม่มีรถโรงเรียนจนได้รถมา ผมว่าจิ๋วมีความสุขที่ได้ทำเพื่อคนอื่นโดยเฉพาะเด็ก ๆ แม้แต่ในบั้นปลายที่เจ็บหนักแล้ว จิ๋วยังสู้อุตส่าห์ร่วมกับอุ๋ย (รศ. พรรัตน์ ดำรุง) ซื้อตั๋วละครให้เด็ก ๆ ไปดูละครที่อักษรฯ แถมยังหอบสังขารไปถ่ายรูปยิ้มแฉ่งกับเด็ก ๆ โดยไม่ปริปากบอกสักคำว่าป่วย

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าจิ๋วทุ่มเทกับงานขนาดไหน ไม่มีทิ้งงาน สถิตอยู่กับงานด้วยฉันทะ ตามด้วยจิตตะจดจ่อ ห่วงว่าคนดูจะได้รับอะไร โดยที่ไม่ได้ผลตอบแทนใด ๆ เพราะผมก็ไม่ได้ให้อะไรเพราะไม่มีจะให้ ป้าชื้นก็ไม่น่าให้อะไรได้ เพราะแกคงไม่ต่างจากผมเท่าไหร่ ยิ่งเด็กตาดำ ๆ ที่จิ๋วอุปถัมภ์โดยไม่รู้ว่าเป็นลูกเขาลูกใครด้วยแล้ว จิ๋วไม่เคยได้รับอะไรตอบแทน นี่คือตัวอย่างของคนที่ทำเพื่อคนอื่นจริง ๆ

ยากที่จะมีใครลืมจิ๋ว จิ๋วจึงเป็นจิ๋ว- สุรพล
จิ๋วผู้อยู่กับความตรงกันข้าม
จิ๋วผู้จากไปแล้ว แต่มีแต่คนจดจำ

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University