อักษรจรัส รุ่น 45

ณิยะดา จ่างตระกูล

พี่ๆเพื่อนๆน้องๆจะรู้จัก ณิยะดา ในชื่อเจน มากกว่า ด้วยความที่เจน จบการศึกษาระดับมัธยมตอนต้น และตอนปลายที่สาธิตจุฬาฯ และเตรียมอุดมฯ จึงทำให้มีเพื่อนหลากหลายโรงเรียน

สมัยเป็นนิสิตปี 1 เจน ได้เป็นตัวแทนนิสิตปี 1 กับกาจเกษม เวสสบุตร ถือพานธูปเทียน สักการะ พระบรมรูปที่ตึกเทวาลัย นอกจากนี้เป็นตัวแทนคณะแข่งขันวอลเล่ย์บอลหญิง ถึงจะไม่ชนะ แต่ก็ชนะใจคนดู เพราะแข่งกับครุศาสตร์ พลศึกษา ไม่น่าแปลกใจที่คนดูจะเห็นใจสาวคณะอักษรฯมากกว่า

เจน เอกภาษาไทย โท ภาษาอังกฤษ ซึ่งดูจะขัดกับบุคลิกอย่างแรง ที่ใครๆก็นึกว่าเอกวิชาการแสดงและละคร หรืออาจเป็นเพราะนั่งหน้าตึก 3 ที่ตั้งของภาควิชาการแสดงและละครในสมัยนั้น หรือมีเพื่อนสนิทหลายๆคนที่เอกวิชานี้ก็ไม่รู้ได้

หลังจากจบปริญญาตรี เจนเดินทางไปต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกา West Virginia University ด้าน Industrial Relations ได้รับปริญญาโทด้าน Master of Science และเมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานในด้านการดูแลทรัพยากรบุคคล ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด (มหาชน) และปัจจุบัน เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านทรัพยาบุคคล ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ และงาน CSR ของบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และเจนยังทำงาน เพื่อส่วนรวมในด้าน HR โดยดำรงตำแหน่ง ประธานชมรมทรัพยากรบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ เป็นสมัยที่สอง เป็นกรรมการชมรม Human Capital ของ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และเป็นกรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิ EDP (Executive Development Program)
ตั้งแต่จบมา

ด้วยความเป็นคนสนุกสนาน ชอบทำกิจกรรม เจนมักจะคอยช่วยประสานงานในการจัดกิจกรรมต่างๆของรุ่น ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงรุ่น งานประสานงานกับคณะอักษรศาสตร์ จึงได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นประธานของรุ่น แบบไม่มีการเลือกตั้งไปโดยปริยาย

ในช่วง 7-8 ปีหลัง จะเห็นเจนทำกิจกรรม CSR มากขึ้น เช่น ไปเป็นวิทยากร ในเรื่องของให้ความรู้ทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สาวอักษรคนนี้ ทำงานคลุกคลีมามากกว่า 20 ปี จนหลายๆคนนึกว่าเธอจบการเงิน ไม่นึกว่าจบอักษรศาสตร์

นอกจากนี้ เจนจะให้ความสำคัญในการทำ CSR ในเรื่องของการพัฒนาครู ส่งเสริมศักยภาพของครู ผ่านโครงการของมูลนิธิ EDP ที่ได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเธอมีความเชื่อว่าการให้ความรู้ ให้การศึกษา จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศไทยได้

ในปัจจุบันเจนได้กลับมาช่วยคณะอักษรศาสตร์ ด้วยการรับเป็นคณะกรรมการบริหารคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งแม้เธอจะมีภารกิจ และกิจกรรมต่างๆ รัดตัว แต่เธอก็เต็มใจที่จะช่วยคณะอย่างเต็มที่ คงต้องรอดูบทบาทของเธอในเรื่องนี้ต่อไป

บุรณี รัชไชยบุญ

บุรณี รัชไชยบุญ หรือ หนูเล็ก เป็นบุคคลที่โดดเด่นในวงการศิลปะการแสดงคนหนึ่งของไทย เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มละครเวทีที่มีชื่อเสียง คณะละคร’28 เป็นผู้กำกับและผู้กำกับเทคนิคการแสดง คอนเสิร์ต ละครเวที โอเปร่าและภาพยนตร์ และมีผลงานด้าน Acting Coach และผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ต่างประเทศชั้นนำได้แก่ Saigon, The Killing Fields, Air America และ Casualties of War

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาศิลปการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านศิลปการละครจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา

ด้วยความสามารถทางด้านเทคนิคและการออกแบบแสงที่โดดเด่น เธอจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแสงและผู้กำกับเทคนิคการแสดง ทั้งละครเวที คอนเสิร์ต และการแสดงต่างๆ ทั้งที่เป็นงานการกุศล และงานด้านบันเทิง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานของวงการมากมาย อาทิ
- Man of La Mancha ของ Wasserman ณ โรงละครแห่งชาติ และโรงละครรัชดาลัย
เธียเตอร์

- Madame Butterfly ของ Puccini ณ โรงละครแห่งชาติ
- Galileo ของ Brecht ณ โรงละครแห่งชาติ

- บัลเล่ต์ A Mid Summer Night’ s Dream, The Sleeping Beauty, The Nutcracker ของ Bangkok Ballet Society ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

- คอนเสิร์ตพระมหาชนก ผลงานประพันธ์ดนตรีของหม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

- มหาอุปรากร “มัทนา” ผลงานประพันธ์ดนตรีของสมเถาว สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

- Classical Concert ของวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ และชมรมคนรักพระราชวังพญาไท

- คอนเสิร์ต ของ GMM Grammy เช่น Babb Bird Bird

ในวงการโทรทัศน์ ผลงานของบุรณี ยังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางโดยมีหลายรางวัลเป็น
เครื่องรับประกันถึงความคิดสร้างสรรค์ และฝีมือการผลิต อาทิ สารคดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ชุด “ในดวงใจนิรันดร์” ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และสารคดีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถชุด “นฤมิต ไพสิฐศิลป์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นอกจากนั้นบุรณียังมีผลงานในด้านการออกแบบหอพิพิธนิทัศน์อุทยานแห่งชาติสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย ภายใต้การอำนวยการสร้างของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นิทรรศการถาวรหอเกียรติยศฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จังหวัดขอนแก่น

และการปรับปรุงห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9

ผลงานระดับประเทศของเธอที่ยังได้รับการกล่าวขานถึงจนปัจจุบันคือการเป็นผู้กำกับเทคนิคในพิธีเปิด – ปิด กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2541 และการเป็น Executive Producer ในการจัดงานเลี้ยงรับรอง “Gala Magnifique” และ “Gala Fantastique” ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2546
และ พ.ศ.2547
รวมทั้งการจัดงานนิทรรศการ “ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 4-” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในปีพ.ศ. 2547นิทรรศการ “ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5” ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรในปี
2551 งานเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

บุรณี รับผิดชอบการออกแบบแสงและเทคนิคเวทีในการแสดงโขนพระราชทาน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทุกครั้ง และยังเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ในการนำคณะนาฏศิลป์ไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้งในวาระสำคัญระดับชาติ

ปัจจุบันบุรณีดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารของ บริษัท โอเวชั่น สตูดิโอ จำกัด

บุษยา มาทแล็ง

เมื่อ 1 ตุลาคม 2559 เป็นที่กล่าวขาน ฮือฮา ไปทั่ว ว่า บุษยา หรือ บุษย์ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของ กระทรวงการต่างประเทศ
และน่าจะเป็นอักษรศาสตร์คนแรกอีกเช่นกัน ที่ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

บุษย์ เป็นคนเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง โดยเลือกเรียนสาขาฝรั่งเศสเป็นวิชาเอก และได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา University of Michigan โดยสำเร็จ
การศึกษา 2 สาขาวิชา คือ Master of Arts (Political Science) และ Master of Arts (Asian Studies)

เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา ในปี พ.ศ.2529 บุษย์ เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ สังกัด
กองยุโรป กรมการเมืองเป้นที่แรก ตลอด 30 ปีของการทำงาน บุษย์ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ตามลำดับ ได้รับมอบหมายให้เป็นอัครราชทูต และเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ และตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่บุษย์จะกลับมารับตำแหน่ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คือ
เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
นอกจากบุษย์จะเป็นคนเก่งแล้ว ยังมีความขยันอย่างหาตัวจับยาก ทราบว่าปัจจุบัน ยังทำงานอยู่ที่กระทรวงฯถึง 3 ทุ่ม 4 ทุ่มทุกวัน

ขยันด้วยเก่งด้วยอย่างนี้ คงต้องรอดูว่าบทบาทที่บุษย์จะได้รับมอบหมายต่อไปคืออะไร แต่มั่นใจว่าบุษย์ต้องทุ่มสุดความสามารถแน่นอนไม่ให้เสียชื่อเด็กอักษรฯจุฬาฯ

ล่าสุด บุษยา ได้รับเลือกเป็น อักษรศาสตร์ดีเด่น ปี 2560

ปฏิมา ตันติคมน์

ปฏิมา  ตันติคมน์

การศึกษา

ปริญญาโท  สื่อสารมวลชน สาขาวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์                                                           

                    มหาวิทยาลัยอลาบามา  สหรัฐอเมริกา

ปริญญาตรี  อักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)

                   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                                   

 ประสบการณ์การทำงาน 

ปัจจุบัน                     กรรมการผู้จัดการ

                                บริษัท กันตนา ออร์กาไนเซอร์ แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด

                                ในเครือ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

.ศ.2540 – 2545    รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ

                                 บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

.ศ.2538 - 2540     ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่     

                                สายงานบริหารงานองค์กรสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์ไอทีวี

.ศ.2536 – 2538    กรรมการผู้จัดการ

                                บริษัท กันตนา โปรเฟสชั่นแนล แอคคาเดมี่ ฟอร์ เทเลวิชชั่น จำกัด

.ศ.2532 – 2536   บรรณาธิการข่าวและควบคุมการผลิตข่าว

                                สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

 

สมาชิกภาพ  

- กรรมการอำนวยการ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

- กรรมการและเลขานุการ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไทย

- กรรมการ  สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

- อุปนายก สมาคมส่งเสริมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย

- KAPPA TAU ALPHA (NATIONAL JOURNALISM HONOR SOCIETY)    

  UNIVERSITY OF ALABAMA, USA

                - สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา

- สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

- สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- สตรีวิทยาสมาคม

 

การดูงานและการอบรมพิเศษ          

                - สถานีโทรทัศน์ NBC NEW YORK USA.

                - สถานีโทรทัศน์ NBC WASHINGTON DC USA.

- สถานีโทรทัศน์ CBS LOS ANGELES  USA.

- สถานีโทรทัศน์ CNN WASHINGTON  DC  USA.

- สถานีโทรทัศน์ CNN ATLANTA  USA.

- สถานีโทรทัศน์ PBS WASHINGTON  DC  USA.

- สถานีโทรทัศน์ NHK TOKYO       JAPAN

                - สถานีโทรทัศน์ ASAHI      TOKYO   JAPAN

งานด้านสังคม   

- คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การปฏิรูปการบริหารราชการ ฝ่ายรัฐสภา

- คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจิต

- คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์และนิทรรศการเตรียมการเป็น เจ้าภาพจัดการ

  ประชุมเครือข่ายผู้นำสตรีในกรอบเอเปค (WLN) ครั้งที่ 8 ปี 2546

  - กรรมการอำนวยการ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 -  กรรมการและเลขานุการ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

- กรรมการ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง(ประเทศไทย)

   - อุปนายก สมาคมส่งเสริมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย

- อนุกรรมาธิการเยาวชนในกรรมาธิการกิจกรรมสตรี ผู้สูงอายุ เยาวชน สภา

  ผู้แทนราษฎร

- อนุกรรมการร่างแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ

- คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

  - ประธานชมรมนักวิชาชีพโทรทัศน์

  - อาจารย์พิเศษ วิชาสื่อสารมวลชนและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

  มหาวิทยาลัย

- วิทยากรพิเศษวิชา สื่อสารมวลชนโทรทัศน์ และประชาสัมพันธ์

                  คณะวารสารศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                  คณะนิเทศศาสตร์      มหาวิทยาลัยศรีประทุม

                  คณะนิเทศศาสตร์      สภาบันราชภัฏสวนดุสิต

                  โครงการด้านสื่อมวลชน  สำนักข่าวสารอเมริกัน

          โครงการด้านสื่อมวลชน  มูลนิธิเอเชีย

 

รางวัลและเกียรติประวัติ

พ.ศ. 2530                 Outstanding Master’s Thesis

                        Department of Broadcast and Film Communication

                                University of Alabama

พ.ศ. 2530                 Outstanding Master’s Thesis

                                School of Communication

                                University of Alabama

พ.ศ. 2529                 Member of Kappa Tau Alpha

                                National Journalism Honor Society

                                University of Alabama

พ.ศ. 2524                 เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะอักษรศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2521                 ประธานชมรมละคร

สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2519                 ประธานนักเรียนสตรีวิทยา รุ่น 2519    

 

ล่าสุด ปฏิมา เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬา ชุดที่ 23  วาระทำงาน กุมภาพันธ์ 2561- มกราคม 2563

ปทมา สิงหรา ณ อยุธยา ( เปล่งวิทยา)

เพราะวิชาเอกภาษาสเปนที่ทำให้ ปทมา สิงหรา ณ อยุธยา (เปล่งวิทยา) หรือ ตุ๊ก เป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต หนึ่งในไม่กี่คนที่ได้เข้ารับราชการในกระทรวงพาณิชย์ โดยได้ทำหน้าที่ในกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จับงานด้านส่งออกมาตั้งแต่เข้ารับราชการ ด้วยความที่เป็นจังหวะที่มีการเปิดตลาดการค้ากับสเปนเพื่อการเจรจาการค้า

ปทมา สนับสนุนกิจกรรมสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับประเทศที่ใช้ภาษาสเปนในทุกด้าน รวมถึงได้ออกไปประจำการในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาสเปน และอิตาลีเป็นหลัก


ความรู้ด้านภาษาที่ได้จากการเรียนคณะอักษรศาสตร์ การได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสเปน และการศึกษาด้าน Latin American Studies ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประโยชน์ต่อการรับราชการเป็นอย่างมาก โดยที่มีโอกาสได้ออกไปประจำการในต่างประเทศหลายครั้ง เช่น ที่ประเทศสเปน (บาร์เซโลนา และมาดริด) ประเทศชิลี และประเทศอิตาลี ก่อนจะกลับมารับผิดชอบงานธุรกิจบริการด้านดิจิตัลคอนเทนท์ ที่ประเทศไทย


ปัจจุบันปทมา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งเป็นสถาบันการฝึกอบรมให้แก่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ในทุกระดับชั้น ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และในต่างประเทศ


ผลงานระหว่างอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการโครงการเข้าร่วมงาน Universal Exposition 1992 ที่เมืองเซวิญ่า ประเทศสเปน การเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดสินค้าอัญมณี และอาหารทะเลกับสเปน และ เครื่องดื่มชูกำลัง และ Trade Free Zone ระหว่างไทยกับชิลี รวมถึงการทำ FTA กับชิลีและเปรู และมีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับตลาดและสินค้าของประเทศที่เคยประจำการอยู่อีกมากมาย

ผศ.อนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์

อนุรัชนี หรือ เล็ก หลายๆท่านคงคุ้นเคยกับชื่อและหน้าตาของเล็กดี ในฐานะ ภรรยาของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะภรรยาของรองนายกรัฐมนตรีผู้นำที่สำคัญยิ่งผู้หนึ่งในคณะรัฐบาล
แต่พวกเราอาจไม่ทราบว่า เล็ก ได้ทำงานเพื่อสังคมและส่วนร่วมในนามของเธอเอง ในอีกหลายๆเรื่อง ได้แก่
• รองประธานคณะกรรมการจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์ศิปาชีพพิเศษสี่ภาค จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี
• รองประธานกรรมการฝ่ายระดมทุน โครงการแก้วตาดวงใจ ผ่าตัดต้อกระจก ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ
• รองประธานคณะคู่สมรสช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ จัดหาจิตแพทย์และเภสัชกรเยียวยาผู้ประสบภัย
• ประธานกรรมการฝ่ายจัดการแสดง งานกาล่าดินเนอร์ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
• ประธานกรรมการฝ่ายหาทุน ในการบูรณะอาคารสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี
• ประธานกรรมการฝ่ายจัดการแสดง งานกาล่าดินเนอร์ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
• ประธานกรรมการตัดสินสื่อและภาพยนต์สั้นเฉลิมพระเกียรติ รอบรองชนะเลิศ
• ประธานฝ่ายหาทุน การจัดแสดงละครเรื่อง แมคเบธ เพื่อเปิดศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
• จัดงานการกุศลหาทุนมอบแด่องค์กรก่รกุศลเช่น บ้านบางแค บ้านคนชราธรรมปกรณ์ บ้านนกขมิ้น

และด้วยความที่ เล็ก มีความชื่นชอบนาฏศิลป์ไทย มาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนราชินี และได้จบปริญญาโท ด้านศิลปการละคร
อีกแขนงหนึ่ง นอกจากปริญญาโท สาขา English Literature เล็ก จึงมีความชื่นชอบการแสดงเป็นพิเศษ ซึ่งบทบาทการ
แสดงของเธอมีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่นาฏศิลป์ไทย ละครดราม่า อุปรากรจีน(งิ้ว) ตัวอย่างการแสดงของเธอ เช่น

• แสดงนาฏศิลปไทยหน้าพระที่นั่ง ในหลายโอกาส
• แสดงละครเรื่อง แมคเบธ
• แสดงอุปรากรจีนพูดไทย แปดเซียนถวายพระพร เฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
ครบ60พรรษา
• แสดงอุปรากรจีน ตอนไหว้ครู รับพระบุตร ฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน 40 ปี

ในระยะหลัง เล็ก ได้ไปหัดเรียน การเต้น Zumba ซึ่งเธอชื่นชอบมาก และเห็นว่าเป็นการออกกำลัง
กายที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย และได้รับความสนุกสนานไปพร้อมกัน ด้วยความที่เป็นคนที่มุ่งมั่น
และต้องรู้จริงกับสิ่งที่ทำ เล็ก จึงไปสอบจนได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเป็นครูสอน Zumba
ในหลายๆประเภท และมีส่วนสำคัญที่ในการผลักดันให้ Zumba เป็นที่รู้จัก และ
ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ เล็กได้จัดงาน เต้น Zumba เพื่อระดมทุนเพื่อการกุศล อีกหลายงาน


เรียกได้ว่า เล็ก สร้างสีสัน ให้กับ คณะอักษรศาสตร์ ไม่ใช่น้อย ด้วยบทบาทที่หลากหลายหน้าที่
ของเธอ

ผุสชา โทณะวณิก สุขวัฒน์

ผุสชา โทณะวณิก หรือ ตุ้มผุส ของเพื่อนๆ อบ.45 เป็นผู้หญิงเสียงหวานที่ใช้เสียงสร้างสรรค์งานคุณภาพต่างๆมากมายในวงการบันเทิง ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เธอเป็นพิธีกรโทรทัศน์ เป็นนักร้องเสียงหวาน เป็นครูสอนการพูด เป็นจิตอาสาสร้างสรรค์งานดนตรีเพื่อเด็กและสังคมมายาวนาน และยังช่วยงานคณะอักษรฯ อย่างสม่ำเสมอ

ตุ้มเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เพราะร้องเพลงสากลออกทีวีเป็นประจำ เมื่อเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2520  ตุ้มก็ได้เป็นหนึ่งในวงดนตรีหญิงล้วนของอักษร คือ BellaDonna เปิดการแสดงดนตรีอย่างสนุกสนานเพื่อรับน้องใหม่ และแสดงตามงานต่างๆของจุฬาในช่วงเวลานั้น 

ตุ้มเลือกเรียน เอกศิลปะการละคร เพราะรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เหมาะกับตัวเธอ ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ใช้ภาษา ได้ใช้ดนตรีตามที่เธอชอบ ประกอบกับได้เรียนรู้ในความลุ่มลึกของมนุษย์

เมื่อคณะมีกิจกรรมละคร เธอจึงมักได้รับบทเป็นตัวแสดงที่ต้องร้องเพลง ทั้งบทคุณครูนกฮูก คุณพยาบาลฮิปโป และ ปีศาจนางรำกันตัน

เมื่อเรียนจบ ตุ้มเข้าทำงานในบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นทีมงานเบื้องหลัง สร้างสรรค์งานโทรทัศน์มากมาย และมีโอกาสได้เป็นพิธีกร เธอจึงได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนการละครมาใช้ในการทำงาน อาทิ รายการเพลง "น้ำแข็งใส่น้ำหวาน" / รายการประกวดเพลง "คอนเสิร์ตคอนเทสต์" /  รายการเกมเด็ก"ตะลุย" / และรายการที่ยังคงอยู่ในใจผู้ชมอย่างรายการ "จันทร์กะพริบ"   และด้วยบุคลิกที่มีเอกลักษณ์ กับความสามารถส่วนตัวที่โดดเด่น จึงทำให้ตุ้มเป็นพิธีกรที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ โดยได้รับรางวัลพิธีกรยอดเยี่ยมถึง 6 รางวัล

ตุ้มใช้เสียงในการทำงานอีกมากมาย ทั้งจัดรายการวิทยุ อ่านสปอต อ่านสารคดี เล่านิทาน ด้วยความที่เป็นคนพูดชัดถ้อยชัดคำ สมควรเป็นแบบอย่าง เธอจึงได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากกรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงวัฒนธรรม

แม้ว่าจะทำงานอย่างขมักเขม้น แต่ตุ้มไม่เคยทิ้งงานร้องเพลงที่เธอรัก เธอสานต่อความสามารถในการร้องเพลงด้วยการออกอัลบัมเพลงใหม่ กลายเป็นนักร้องเสียงหวานที่มีชื่อเสียง เพลงที่โด่งดังที่สุดก็คือ "ฝัน..ฝันหวาน"  "เพลง"  "เกิดมาร้องเพลง" แต่ตุ้มมีความคิดว่า ศิลปินควรสร้างสรรค์งานเพื่อสังคม ดังนั้น เธอ สามี และลูกชาย จึงเป็นครอบครัวจิตอาสาสร้างสรรค์งานดนตรีเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างสรรค์งานอัลบัมเพื่อจิตวิญญานให้แก่เสถียรธรรมสถาน โดยมีอัลบัมเพลงเพื่อเด็ก ในชุดชมสวน ชุดดอกไม้บาน ชุด25ปีเสถียรธรรมสถาน และเพลงของสถาบันวิมุตตยาลัย ทั้งยังเป็นจิตอาสาจัดงานคอนเสิร์ตมอบรายได้ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ  นอกจากนี้ยังก่อตั้งโครงการวงดนตรีจิตอาสา MusicGuru Band เปิดการแสดงดนตรีตามโรงพยาบาล สร้างความสุขความเบิกบานใจให้แก่ผู้ป่วยและผู้ชมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ตุ้มทำงานอิสระ ใช้เสียงเพื่องานสร้างสรรค์ ทั้งร้องเพลง  ลงเสียงสารคดี  และยังเป็นครูสอนคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจงานสื่อ สอนการเป็นพิธีกรที่ดีมีคุณภาพ เธอจึงมีลูกศิษย์ที่เติบโตเป็นพิธีกรในวงการต่างๆมากมาย ทั้งวงการบันเทิง และในแวดวงราชการ

และเพื่อตอบแทนพระคุณของแหล่งเรียนมา  ตุ้มได้ทำงานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะอักษรศาสตร์ โดยการร่วมแสดงและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง  อาทิ  ร้องเพลงและจัดงานคืนสู่เหย้าอักษรหลายต่อหลายปี  จัดงานชงโคปาร์ตี้  แสดงงิ้ว "แปดเซียนถวายพระพร งิ้วเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯราชสุดาสยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา "   ดูแลงานดนตรีของงาน "สดุดีมหาคีตราชัน" ซึ่งเธอยังเป็นพิธีกรและร่วมอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย

นอกจากนี้ ตุ้มยังได้เป็นกรรมการของสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ รุ่นที่ 21 และ รุ่นที่ 22

งานล่าสุดที่เธอรับผิดชอบอยู่คือ โครงการบันทึกบทเพลงประจำคณะอักษรศาสตร์ และผลิตบทเพลงใหม่ให้แก่คณะด้วย เพลงที่จัดทำแล้วคือ 1. มาร์ชอักษรศาสตร์   2. กลับบ้านสีเทา  3. นิสิตเทวาลัย 

นอกจากนี้ ตุ้มยังเป็นผู้ดูแลเวบไซต์อักษรศาสตร์ 100 ปี WWW.อักษรจุฬา100ปี.com  ที่มุ่งเน้นเก็บข้อมูลทะเบียนนิสิตเก่า รวบรวมความสุขและความทรงจำที่มีค่า รวมถึง เธอยังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มให้มีการมอบเกียรติให้แก่นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ที่โดดเด่น โดยเธอเป็นผู้ให้ชื่อเกียรตินี้ว่า "อักษรจรัส"

จากการทำงานที่มีคุณภาพ การอุทิศตนเพื่อสังคม การรักษาไว้ซึ่งคุณค่าแห่งความเป็นนักอักษรศาสตร์ เธอจึงสมควรได้รับเกียรติเป็น "อักษรจรัส แห่ง อบ.45 " เช่นกัน

รางวัลจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ
1. รางวัลพิธีกรยอดเยี่ยม โทรทัศน์ทองคำ รายการ เกมตะลุย 2529
2. รางวัลพิธีกรยอดเยี่ยม เมขลาทองคำ รายการ จันทร์กะพริบ 2531
3. รางวัลพิธีกรยอดเยี่ยม โทรทัศน์ทองคำ รายการ จันทร์กะพริบ 2531
4. รางวัลพิธีกรยอดเยี่ยม โทรทัศน์ทองคำ รายการ จันทร์กะพริบ 2535
5. รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม วิก07 ทองคำ ครั้งที่ 1 ปี 2532
6. รางวัลนักร้องยอดเยี่ยม Smiles Award จากอัลบัม “ วันและคืน “ 2539
7. รางวัลบุษบกทอง ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ปี 2547 จากกระทรวงวัฒนธรรม
8. รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ปี 2547 กรมประชาสัมพันธ์
9. รางวัล สตรีไทยดีเด่น ประจำปี 2555 สภาสตรีแห่งชาติ
10. รางวัลตาราอวอร์ด ครั้งที่ 1 ปี 2555

ในต้นปี 2561 ตุ้มยังคงทำงานเพื่อความสุขสนุกสนานให้แก่พี่ๆน้องๆสีเทา โดยดูแลงานแสดงในงานคืนสู่เหย้าอักษรจุฬาฯ 101 ปี ตามรอยพระบาทเป็นราชพลี และเธอยังรวบรวมเพื่อนๆมาแสดงดนตรีกันอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นการครบ 40 ปีของวงดนตรี BellaDonna 

 

พิไลวรรณ บุญล้น

" แหม่ม" เป็นบุตรีของพลอากาศโทสมบัติ บุญล้นและนางพรรณี บุญล้น
จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2520 รุ่น อบ.45 เอก ภาษาอังกฤษ โท ศิลปการละคร มีรหัสนิสิต 2010987 ได้รับปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต ปีการศึกษา 2523


ขณะที่ศึกษาได้มีโอกาสแสดงละครหุ่น เขียนบท แต่งเพลง ในรายการหุ่นหรรษา ของรศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ ออกอากาศทางช่อง 9


เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานเป็นพนักงานขายโฆษณาลงหนังสือ Where ซึ่งเป็นหนังสือแจกนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย จากนั้นได้เข้าทำงานในสายงานการท่องเที่ยว
กับบริษัททัวร์ 2 แห่งคือ บริษัท มงกุฎ ทราเวิล เซอร์วิส จำกัดและบริษัท โกลป อินเวสเม้นท์ จำกัด
พ.ศ. 2526 ได้เข้าทำงานในวงการบันเทิง โดยเริ่มจากเป็นผู้เขียนบทรายการน้ำแข็งใส่น้ำหวานของบริษัท เจเอสแอล จำกัด


ด้วยความมุ่งมั่นและมีความตั้งใจในการทำงาน ทำให้ได้รับมอบหมายให้สร้างสรรค์
รายการ กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตรายการของบริษัทฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการที่เป็นผู้คิดค้นขึ้น คือ รายการวิก 07 และรายการจันทร์กะพริบ

นอกจากนี้ยังกำกับการแสดง และควบคุมการผลิตโปรเจคพิเศษอีกมากมาย และได้รับความไว้วางใจให้เป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัท เจเอสแอล จำกัด


จากนั้น ได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือ คือบริษัท แมส มอนิเตอร์ จำกัด ผลิตรายการที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ได้รับรางวัลเอเซียน เทเลวิชั่น อวอร์ด เกมโชว์ยอดเยี่ยม คือรายการเกมโซน และรายการเกมพิศวงทางช่อง 7 สี ครองเรตติ้งอันดับ 1 ในช่วงเวลาที่ 2 รายการออกอากาศ เป็นเวลา 7 ปี

ต่อมา ได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ แท็ค ทีม จำกัด ในเครือ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผลิตละครเรื่อง เพื่อนนิรมิต และกำนันอี๊ด ออกอากาศทางช่อง 7 สี และละครเรื่องไฟอมตะ ได้รับรางวัลละครยอดเยี่ยม ไนน์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์อวอร์ด

และได้ทำธุรกิจส่วนตัวในนามบริษัท พลัส เบสิค อาร์ตทิส จำกัด รับผลิตรายการและละคร และรับผลิตละครให้กับต่างประเทศ และงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ Thailand Location เพื่อแจกผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วโลกของ Film Board ประเทศไทย รวมทั้งเปิดสอนการแสดง ในเวลาต่อมา


ปี พ.ศ. 2559 ได้ร่วมงานกับบริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด ในเครือช่อง 7 สี ในตำแหน่ง
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานรายการและละคร จนถึงปัจจุบัน

ผลงานสำคัญ
1.สร้างสรรค์ คิดค้น เขียนบท กำกับการแสดง ควบคุมการผลิตรายการวิก 07
2.สร้างสรรค์ คิดค้น เขียนบท กำกับการแสดง ควบคุมการผลิตรายการจันทร์กะพริบ
3.ร่วมสร้างสรรค์ กำกับ ควบคุมการผลิต บริหารรายการเกมโซน
4.สร้างสรรค์และบริหารรายการเกมพิศวง
5.กำกับการแสดงและความคุมการผลิตละครเรื่อง ไฟอมตะ
6.เขียนบท กำกับการแสดงและควบคุมการผลิตละครเวที เรื่อง โรสิตา ศึกรักประกาศิต

7. กำกับละครเวที สุนทราภรณ์ The Musical ครั้งแรก “กว่าจะรักกันได้”


8.งาน Event  เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกงานEvent โดยเป็นทั้ง Producer-เขียนบท-และกำกับ อาทิ

-งานน้ำมันเครื่อง Shell Helix ได้รับรางวัลเชลล์โลก
-Producer-เขียนบท-กำกับการแสดง งาน Event ที่ท้องสนามหลวง งานพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรที่มีการแสดงเต็มรูปแบบครั้งแรกของประเทศไทย

-Producer-เขียนบท-กำกับการแสดง โชว์ในการประกวด Miss Universe ปี 1992 จัดขึ้นที่ประเทศไทย ชุด Opening Show
และ Welcome to Thailand (ผู้เข้าประกวดร่วมแสดง)

-Producer Concert ยุคแรก บุกเบิก เช่น ตุ้ม ปู๊ ตู่ เบิร์ด คอนเสิร์ตตัว ต. คอนเสิร์ตการกุศลจำนวนมาก เพื่อถวายโดยเสด็จพระราชกุศล 


9.หนึ่งในผู้ผลิตรายการ The Incredible Tales ของ Media Corp. สิงคโปร์
ออกอากาศทางช่อง 5 ประเทศสิงคโปร์ ในหน้าที่ ผู้เขียนบทและกำกับการแสดง


10.เป็นกรรมการตัดสิน Asian Television Awards 4 ปี ที่ประเทศสิงคโปร์และไต้หวัน

พิไลวรรณได้รับรางวัลจากการมีส่วนในการทำงานมากมาย
1.รางวัลโทรทัศน์ทองคำ รายการวิก 07
2.รางวัลเมขลา รายการวิก 07
3.รางวัลเมขลา รายการจันทร์กะพริบ
4.รางวัลเมขลา รายการพลังจิตที่ 5
5.รางวัล Asian Television Awards รายการเกมโซน
6.รางวัลไตเติ้ลรายการยอดเยี่ยมจากญี่ปุ่น รายการเพชรตัดเพชร
7.รางวัลละครยอดเยี่ยม ไนท์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ละครเรื่อง ไฟอมตะ
8.ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนาฏราช ผู้กำกับยอดเยี่ยม 1 ใน 5 จากละครเรื่องไฟอมตะ

“การเป็นนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุด และเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุดช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เป็นชีวิตวัยรุ่นที่คุ้มค่า ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาภาษาอังกฤษ ที่เป็นวิชาเอก วิชาสายศิลปการละคร ที่เป็นวิชาโท และวิชาปรัชญาที่เป็นวิชาพื้นฐานที่หลงรักมากที่สุด แต่ไม่กล้าเรียนต่อเพราะได้ท้อปตอนเรียน วิชาสามสายนี้ได้หล่อหลอมรวมกัน อย่างวรรณคดีอังกฤษ ทำให้ได้เรียนบทละครของเช็คเสปียร์ และได้ตามหาบทประพันธ์ของเช็คเสปียร์มาอ่านแทบทุกเรื่อง จนเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนศิลปการละครเป็น
วิชาโท และนำคุณค่าทางปรัชญามาตั้งเป็นวิธีคิดสร้างสรรค์อะไรที่แปลกแตกต่าง และทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ทั้งหมดได้ซึมซับเข้าไปในเนื้อในโดยไม่รู้ตัว จนพาให้ก้าวสู่การทำงานในวงการบันเทิงต่อมา และทำให้รู้ว่า การให้รอบด้านของคณะอักษรศาสตร์นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน
การเรียนละครและถูกฝนให้เข้าใจจุดมุ่งหมายและเหตุผลของตัวละคร ทำให้เข้าใจผู้คนในชีวิตจริงได้มาก และสามารถอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข เพราะสามารถเขียนตอนจบของเรื่องที่เห็นในชีวิตจริงได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ซึ่งทำให้มีวิสัยทัศน์ในเรื่องอื่นๆ ด้วย สามารถคาดคะเนสถานการณ์ล่วงหน้าได้อย่างมีเหตุมีผล

กราบขอบพระคุณคณาจารย์ทุกท่าน ที่สร้าง
คนคนหนึ่งขึ้นมาค่ะ “

ล่าสุด แหม่มเป็นผู้ประพันธ์คำร้องให้แก่เพลงใหม่ของคณะ " นิสิตเทวาลัย" ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกในงานคืนสู่เหย้าอักษรศาสตร์ 101 ปี ในปลายเดือนมกราคม 2561 นี้

รวมถึงการกลับมารื้อฟื้นความสามารถในการเล่นกีตาร์ โดย กลับมารวมวงดนตรี BellaDonna  ร่วมกับเพื่อน อบ.45 เพื่อขึ้นแสดงในงานคืนสู่เหย้าด้วย 

รศ.ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา

คณบดีคณะอักษรศาสตร์ 

อาจารย์กิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ 2524 โดยได้คะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 วิชาเอกคือ ภาษาอังกฤษ และโทภาษาฝรั่งเศส หลังจากนั้นอาจารย์กิ่งได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan, Ann Arbor) ประเทศสหรัฐอเมริกา และต่อปริญญาเอกวิชาภาษาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในปี พ.ศ.2529

ขณะที่กำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ ภาควิชาภาษาศาสตร์แจ้งว่ามีตำแหน่งที่ภาควิชาว่างลง เมื่อสำเร็จปริญญาเอก ในปี 2529 อาจารย์กิ่งจึงกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ ที่ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

อาจารย์กิ่ง มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาวากยสัมพันธ์ (syntax) อรรถศาสตร์ (semantics) และภาษาศาสตร์ปริชาน (cognitive linguistics)เป็นพิเศษ
ในระหว่างที่ทำงานที่ภาควิชาภาษาศาสตร์ นั้น อาจารย์กิ่ง ได้ทำงานกับคณาจารย์ผู้ใหญ่หลายๆท่าน อาทิเช่น ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ ผ.ศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ ศ.ดร.ธีรพันธ์ เหลืองทองคำ จึงได้ซึมซับและเรียนรู้ในเรื่องการบริหารงาน และการทำงานวิจัย มาโดยตลอด อาจารย์กิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งบริหารในคณะหลายๆตำแหน่งด้วยกัน เช่น หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยทางภาษาศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และ ปัจจุบัน (พ.ศ.2559)เธอ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเพื่อนๆอักษรศาสตร์รุ่น 45
เป็นอย่างยิ่ง


ผลงานวิชาการ
* ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยส่วนใหญ่ในวารสารต่างประเทศและในหนังสือรวมบทความที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต่างประเทศ
* เคยได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์สอนภาษาศาสตร์ในสถาบันภาษาศาสตร์ภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัย University of California, Santa Barbara ที่สหรัฐอเมริกา
* เคยได้รับทุนนักวิจัยจากสถาบัน Havard-Yenching Institute ไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี
* เคยได้รับเชิญไปบรรยายที่การประชุมนานาชาติและที่สถาบันวิจัยที่ต่างประเทศหลายแห่ง
* ได้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยขนาดใหญ่หลายโครงการ อาทิเช่น โครงการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านภาษา ภาษาศาสตร์ และวรรณคดี ซึ่งได้รับงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 5 ปี
* เป็นหัวหน้าคลัสเตอร์วิจัยความมั่นคงของมนุษย์ โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน (ธันวาคม 2559)
* ตีพิมพ์หนังสือทางภาษาศาสตร์ 1 เล่ม ชื่อ “Grammaticalization กระบวนการกลายเป็นรูปไวยากรณ์”

ในวาระที่อาจารย์กิ่ง มารับบทบาทในฐานะหัวเรือใหญ่ของคณะอักษรศาสตร์นี้ เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และของคณะอักษรศาสตร์ ในหลายด้านๆ จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการทำงานที่ผู้มีความสามารถอย่างเธอจะผลักดันให้สำเร็จต่อไป

ฤทัยวรรณ ศรีศักดา วงษ์สิรสวัสดิ์

รอประวัติ

ศ.ดร. บุษบา บุษยามงคล กนกศิลปธรรม

เพื่อน ๆ เรียกว่า “เหรียญ” แต่ลูกศิษย์เรียกว่า “อาจารย์บีบี” ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เป็น “ครู” และ “ศาสตราจารย์ ดร. บุษบา กนกศิลปธรรม” ในฐานะที่เป็นวิทยากรบรรยายและนักวิจัยสาขาภาษาอังกฤษ

การศึกษาและการทำงาน
หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิตสาขาภาษาอังกฤษ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาภาษาศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ (Linguistics and EFL) ที่ Southern Illinois University at Carbondale (SIUC) ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปีพ.ศ. 2533 และรองศาสตราจารย์ในปีพ.ศ. 2540 ต่อมาได้ทุนศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกในปีพ.ศ. 2546 จาก Georgetown University ประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขาภาษาศาสตร์ เน้นภาษาศาสตร์ประยุกต์ ตำแหน่งสูงสุดคือได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ในฐานะที่เป็น “ครูสอนภาษาอังกฤษ”
นอกจากหน้าที่หลักในฐานะที่เป็น “ครูสอนภาษาอังกฤษ” ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศอีกด้วย จากการทุ่มเทและใส่ใจในการสอนอันเป็นหน้าที่หลักในสายงาน ผนวกกับประสบการณ์การเรียนและการสอนภาษาอังกฤษที่สั่งสม ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวในตำราภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เช่น Pronunciation in Action และ English Sociolinguistics at Work ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ในฐานะที่เป็น “วิทยากรบรรยาย”
นอกจากหน้าที่การสอนที่ต้นสังกัดแล้ว ยังเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับหน่วยงานการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในประเทศ รวมทั้งหน่วยงานการศึกษาของเอกชนเช่น บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในต่างประเทศ อาทิประเทศสหรัฐอเมริกา และไต้หวัน จากการดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องและโดยไม่ย่อท้อ เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของครูสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทยให้สามารถผลิตผู้เรียนและบัณฑิตภาษาอังกฤษที่พึงประสงค์และสามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้ในเวทีโลก จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น “สตรีตัวอย่าง” ประจำปีพุทธศักราช 2558 สาขาบริการวิชาการ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย รางวัลไทย และเส้นทางไทย และได้เข้ารับรางวัลจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ในฐานะที่เป็น “นักวิจัย”
การเป็นนักวิจัยอย่างจริงจังในปัจจุบันได้รับแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจขณะศึกษาระดับปริญญาเอกและโดยเฉพาะขณะทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก National Science Foundation (NSF, USA) และทุน TOEFL Grant for Doctoral Research in Second and Foreign Assessment Program จาก Education Testing Service (ETS, USA) เมื่อจบการศึกษาในระดับนี้ เส้นทางชีวิตการเป็นนักวิจัยเริ่มชัดเจนมากขึ้น ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัย ทั้งจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และจากแหล่งทุนจากต่างประเทศ เช่น กระทรวงศึกษาธิการของประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานวิชาการหลากหลายรูปแบบ การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเสนอผลงานวิจัย และการทำหน้าที่เป็นองค์ปาฐก (keynote speaker) มากกว่า 18 ครั้งในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในที่ประชุมวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แสดงถึงการเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการในวงกว้าง ทุนและรางวัลที่ได้รับสืบเนื่องจากการทำงานวิจัยและเผยแพร่งานวิจัย ได้แก่ ทุน Morley Scholarship จาก the English Language Institute (ELI), University of Michigan, Ann Arbor, USA. รางวัล Solidarity Award จาก World Congress of Applied Linguistics (AILA 2011) Beijing, China และรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม Best Paper Award of the session “Teaching and Education Science” ที่ฮ่องกงเมื่อ พ.ศ. 2557
ด้วยผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ข้างต้นดังกล่าว จึงได้รับการยกย่องจากสถานศึกษาให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี และจากสถาบันต้นสังกัด อาทิ “เกียรติบัตรศิลปากรสร้างสรรค์” ที่มอบให้กับผู้ได้รับรางวัลและทำชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และ “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในวาระวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีพุทธศักราช 2558 และ 2559
ความทุ่มเทในการสั่งสอนอบรมศิษย์ การบริการวิชาการ และการเป็นนักวิจัยข้างต้น ส่งผลให้เกิดผลงานวิชาการทั้งในรูปแบบของตำราและการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารระดับชาติและนานาชาติจำนวนมากที่มี journal impact factor สูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ English for Specific Purposes และ IEEE Transactions on Professional Communication จึงได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ดำรงตำแหน่ง “เมธีวิจัยอาวุโสสาขาภาษาอังกฤษ” ประจำปีพุทธศักราช 2558 นับเป็นบุคคลแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ในสาขาภาษาอังกฤษ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรับพระราชทานโล่เกียรติยศ ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 นอกจากนั้น ในฐานะนักวิจัยผู้มีผลงานดีเด่นในการขยายผลในวงกว้าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในจำนวนนักวิจัย 13 คนจากทั่วประเทศและจากทุกสาขาวิชา ให้สัมภาษณ์และนำเสนอผลการดำเนินการวิจัยผ่านรายการสารคดีโทรทัศน์ชื่อ “The Researcher” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ได้ในปีพ.ศ. 2560

ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์

ขอบคุณคณะอักษรศาสตร์และเพื่อนๆที่ให้เกียรติก้อยค่ะ

ก้อยโตมากับเสียงเพลงตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นอนุบาล จนเข้าโรงเรียนราชินีก็เป็นนักร้องนำของโรงเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ร้องเพลงไทยเดิมกับวงมโหรี ได้นำบทสวดมนต์ตั้งแต่ความสูงยังไม่ถึงโพเดี้ยม ต้องต่อลังขึ้นไปยืน นำร้องเพลงชาติ ร้องสดทุกเช้าโดยไม่มีดนตรี บ้านไกลมาสายรู้ทั้งโรงเรียน พอถึงมัธยมปลายก็รวมวงโฟล์คซองกับเพื่อนสี่ห้าคนชื่อวง SNACK เล่นกีตาร์และร้องนำ ไปเล่นตามงานต่างๆ และได้เล่นเป็นวงเปิดในคอนเสิร์ตของวง ISN'T ที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น

เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ ก็เข้าร่วมกับวงประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้องเสียง ALTO และได้ร่วมวงสตริงหญิงล้วนกับเพื่อนๆ ชื่อวง Belladonna ก้อยเล่นลีดกีตาร์และร้อง ได้แสดงในงานรับน้องใหม่ เราสนุกสนานกันมาก ได้เปลี่ยนภาพสาวอักษรดูเรียบร้อยนั่งเล่นดนตรีไทยมาเป็นสาวเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด เป็นที่ฮือฮาพอสมควรทีเดียว

เส้นทางแห่งเสียงเพลงยังคงไปต่อ เมื่อกลับจากต่างประเทศได้หกเดือน ได้พบกับพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ หลังจากพูดคุยกัน ได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในชื่อ "ศรัณย่า" สังกัด GMM GRAMMY ออกอัลบั้มแรก "แปลกตรงที่หัวใจ" ในปี 2532 เพลงที่ไพเราะติดหูในเวลานั้นจนมาถึงวันนี้ก็ยังคงความนิยมไม่จางหาย คือ เพลง "อยากหยุดเวลา" เพลงนี้ได้รับรางวัลนักร้องหญิงยอดเยี่ยมจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในปี 2534 และในปี 2539 ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทานจากเพลง "ฝากชีวิต"

ช่วงเวลายี่สิบกว่าปีในสังกัดแกรมมี่ จนมาเป็นนักร้องอิสระในวันนี้ ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงลงอัลบั้มมากกว่าสามร้อยเพลง ทั้งแนว Pop เพลงสากล เพลงประกอบละคร ประสานเสียง ลูกกรุง รวมทั้งเพลงพิเศษที่ได้ทำงานร่วมกับนักร้องหลายคน เพลงคู่ เพลงสถาบัน และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ มีโอกาสได้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ "สายฝน" และ "ยามเย็น" เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเพลงพระราชนิพนธ์ "กลางพนา" ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เชื่อว่าผู้หญิงอักษรฯมีลักษณะเฉพาะตัว การที่ได้ถูกหล่อหลอมจากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ จากวิชาความรู้ที่ได้รับ และสิ่งที่เพิ่มพูนขี้นตามมาคือความรับผิดชอบในหน้าที่ เราทุกคนจะทำหน้าที่ของผู้หญิงอักษรฯให้ดีที่สุด

ปัจจุบันก้อยได้พบความรักของพระเจ้า และเดินในทางของพระเยซูคริสต์อย่างเข้มแข็งและมั่นคง เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Maitrichit Agape Baptist Church รับใช้พระเจ้าอย่างสุดใจด้วยสิ่งที่พระเจ้าประทานให้คือ เสียงร้องที่ได้นำใจผู้คนให้เข้าใกล้และสัมผัสความรักของพระเจ้า รวมถึงการเขียนบทความ Love to Tell by Saranya ใน booklet และ Social Media ของคริสตจักรทุกสัปดาห์เพื่อเล่าถึงเรื่องราวของพระเจ้าให้คนทั่วไปได้รู้จักพระองค์

ชีวิต คือสิ่งทรงสร้างของพระเจ้า ขอบคุณพระเจ้าที่มอบชีวิตที่สวยงาม ได้ทำงานอย่างมีความสุข ได้รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆไม่มีที่สิ้นสุด พระเจ้ามีจุดประสงค์ในการสร้างชีวิตของเราทุกคน เราต้องหาให้เจอว่าสิ่งนั้นคืออะไร

ก้อยพบสิ่งนั้นแล้ว... การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อผู้อื่น ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตนี้ให้มีคุณค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุดตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์

 

 

ศันสนีย์ ชื่นกำไร

รอประวัติ

สุกิจจา วงษ์สวรรค์

ไก่ สุกิจจา วงษ์สวรรค์ ( วิทคอมบ์ )  

ไก่รักศิลปะการเต้น การรำ เป็นชีวิตจิตใจ  และเมื่อมีครอบครัวอยู่ที่แคนาดา  ไก่ก็เผยแพร่ศิลปะไทยที่งดงามนี้ให้ชาวต่างชาติได้ชม รวมถึงเปิดสถาบันสอนอย่างจริงจัง และที่น่าชื่นชมคือ ไก่สอนลูกสาวทั้งสองคนให้รำไทยได้อย่างงดงาม  ลองอ่านเรื่องของไก่ แล้วจะรู้ว่า ทำไมเพื่อนๆจึงชื่นชมเธอ และ ลงความเห็นว่า ไก่สมควรเป็น อักษรจรัสของ อบ.45

In 2009, “STEPS", a short documentary showcasing Kai’s role in the success of the Thai Dance Troupe of Ottawa was produced and directed by Phunthipa Bovornkiratikajorn with the supports of Canadian Broadcasting Cooperation Television, National Film Board of Canada, the Arts Court Theatre, and Dr Lee Percussionist.  “STEPS” was aired on Bold TV on December 5&10, 2009.

On January 10, 2013 Kai presented the Thai Dance Troupe of Ottawa’s 25th anniversary book to Her Royal Highness Princess Sirindhorn at Sala Dusidalai, Chitrlada Palace, Bangkok and informed her of the troupe’s activities and plans.

This year, the Thai Dance Troupe of Ottawa will celebrate its 30th anniversary.  To mark this auspicious occasion, the troupe will host our bi-annual  “Thai New Year Celebration 2017” on Saturday, April 22 from 10 am to 6 pm at Saint Brigid’s Centre for the Arts, featuring a Tribute to our late beloved King Rama IV.  The event is supported by the Royal Thai Embassy, the Thai Association of Ottawa, the Thai Volunteers Quebec, local Thai restaurants, and local communities. The event is open to the general public, and is free of charge.

In celebration of Canada 150th anniversary of Confederation in 2017, the troupe plans a cross Canada tour in July and August with “Thai One On”, a pop up style travelling road show promoting Thai-Canadian culture while closely engaging social media.  It is an integration of Thai culture and various cultures that have come together over the last 150 years to reflect Canada’s modern multicultural society. 

Kai is also the official coordinator for the “Experience Asia” celebration hosted by the Arts and Culture Services, City of Gatineau since 2013.  The event has now become one of the most popular events at Gatineau City Hall, and is extremely well received not only by its audience but also by its participants.

Kai is a perfect example of how studies in Faculty of Arts, namely English, French, Literature, History, and Drama, had an enormous on her family, hobbies and career.

For more information, please visit www.thaidancetroupeofottawa.com or https://www.facebook.com/groups/15109693395/

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University