อักษรจรัส รุ่น 41

ดร. สันทนีย์ ผาสุข

อักษรจรัส ดร. สันทนีย์ ผาสุข

ครูผู้อุทิศตนและนักการศึกษาผู้ทุ่มเทจิตวิญญาณ

สันทนีย์ หรือ “ครูหมู” จบอักษรจุฬาฯ ปี 2519 (อบ 41) ด้วยใจรักในวิชาชีพครู และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หมูจึงมาเป็นครูผู้สอนที่โรงเรียนจิตรลดาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จนถึงระดับอุดมศึกษา ในระหว่างทาง หมูได้ขวนขวายเพิ่มพูนความรู้จนได้รับปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิตจากจุฬาฯ และปริญญาเอกสาขาภูมิศาสตร์จาก University of London (School of Oriental and African Studies – SOAS) สหราชอาณาจักร

อาชีพครูของหมูก้าวหน้าเป็นลำดับ ตั้งแต่หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนเป็นหัวหน้าแผนกมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในปี 2547 รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการปี 2556 และรองผู้อำนวยการระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพปี 2557 ในปีเดียวกัน ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาจนถึงปัจจุบัน 

นอกจากความโดดเด่นด้านวิชาชีพครูแล้ว ครูหมูยังอุทิศความรู้และสติปัญญาให้กับงานเพื่อพัฒนาการศึกษาและวัฒนธรรม อาทิ เป็นคณะทำงานโครงการวิจัยในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “A Study of Royal Siamese Maps: China (1) and China (2) กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสยามบรมราชกุมารีเพื่อโรงเรียนจิตรลดา กรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ และคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน ในคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คณะปัจจุบัน) 

ด้วยผลงานและคุณงามความดีอันเป็นที่ประจักษ์ ครูหมูจึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติต่าง ๆ เช่น ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้น 5 จตุตราดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 และทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (เป็นกรณีพิเศษ) จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

 

   

ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์

ศาสตราจารย์ ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ จบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต (ภูมิศาสตร์) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2520 การวางผังเมืองมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 และปริญญาเอกด้านการวางแผนภาคและเมือง มหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2535 ได้รับรางวัลวิจัยดีเยี่ยมจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2533, รางวัล UNESCO- Asia-Pacific Cultural Heritage Conservation พ.ศ.2551, รางวัลการเผยแพร่ผลงานดีเด่น ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมหรืออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2553 และรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขามนุษย์ศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2557


นันทิยา สว่างวุฒิธรรม

นันทิยา สว่างวุฒิธรรม หรือ 'นัน' หนึ่งในบัณทิตเกียรตินิยมอันดับ1ของรุ่น 41 เอกวิชาประวัติศาสตร์ ได้รับรางวัลรันซีแมน ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์เมื่อปี 2520 เป็นผู้มีบุคลิกนุ่มนวล อ่อนหวาน เรียบร้อยในแบบฉบับกุลสตรีไทย ที่แฝงความงามสง่าอยู่ในที สมกับเป็นผู้ทำงานด้านการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในเวลาต่อมา

นันเริ่มงานในตำแหน่งนักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรในปี 2520 จนถึงปี 2530 ในช่วงเวลาดังกล่าวนันได้มีบทบาทร่วมอย่างสำคัญในหลายโครงการที่เป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจ ได้แก่ โครงการรวบรวมและจัดหมวดหมู่เอกสารส่วนบุคคล(สำคัญ) เช่น เอกสารส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์  โครงการถวายพระราชสมัญญาอัครศิลปินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2529)

ต่อมาเมื่อมารับตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ( หน่วยงานใหม่ของกรมศิลปากร ซี่งต่อมา ย้ายสังกัดไปอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ก็ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์  โดยเป็นหัวหน้าโครงการก่อตั้ง "หอไทยนิทัศน์" ขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นับเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรแบบสื่อผสม( multi media ) แห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้สื่อเช่น Computer Interactive , แผนที่ optic fiber, หุ่นเคลื่อนไหว ในการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชนชาติไทย 5 เรื่อง(ห้อง) คือ ความเป็นมาของชนชาติไทย  ภาษาและวรรณคดีไทย  ข้าวในวิถีชีวิตไทย  ประเทศไทยกับโลก และเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ความเป็นไทย เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ภาษาไทยและวรรณคดีไทยและสังคมศึกษาในรูปแบบใหม่ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนานในการเรียนรู้  "หอไทยนิทัศน์" เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2534 และได้เป็นต้นแบบและตัวอย่างในการสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งใหม่ ที่ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย โดยนันได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาในการจัดสร้างด้วย "หอไทยนิทัศน์" นี้เป็นที่รู้จักในนาม "สวนสนุกทางประวัติศาสตร์" และ "พิพิธภัณฑ์ไฮเทค" ที่มีการปรับปรุงพัฒนาและเปิดบริการจนถึงปัจจุบัน

 ครั้นเมื่อมีการก่อตั้ง "หออัครศิลปิน" ขึ้นที่คลองห้า จังหวัดปทุมธานี นันก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรกเมื่อปี 2546.ซึ่งต้องบุกเบิกพื้นที่ สาธารณูปโภค ถนน สะพาน ฯลฯ ในการก่อสร้างและตกแต่งภายในให้เป็นห้องนิทรรศการถาวรเพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นอัครศิลปิน รวมทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติทุกท่าน  เป็นงานบริหารจัดการและ วิชาการที่ต้องริเริ่ม วางระบบและใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก ซึ่งนันก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆจนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี เป็นที่น่ายกย่องในความมุ่งมั่นและวิริยะอุตสาหะ หออัครศิลปินแห่งนี้ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่อเนื่องมาตลอด

 

ในส่วนงานส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมไทย นันก็มีผลงานที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชนท้องถิ่นทุกภูมิภาคในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  โดยเป็นผู้ต้นคิดโครงการแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเพื่อให้ชุมชนได้พัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเพื่อเพิ่มคุณค่า ความภาคภูมิใจ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเอง สังคมและประเทศ มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก11ชุมชนจาก11จังหวัดเข้าร่วมโครงการ โดยได้รับการเพิ่มศักยภาพและการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และบูรณาการความร่วมมือจากนักวิชาการ ปราชญ์ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนจนสามารถพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง นำรายได้เข้าชุมชนและยังเสริมสร้างการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนแก่ผู้มาเยือน โดยมี "น้ำใจ ไมตรีเป็นเจ้าบ้านที่ดี" ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว

หนึ่งในโครงการที่เป็นความประทับใจส่วนตัวจากการทำงานด้านวัฒนธรรมของนัน คือ "โครงการหนังสือเล่มโปรดของฉัน" ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 5 รอบ เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเขียนของเยาวชนไทย โดยให้นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเลือกหนังสือที่ตนชอบมาหนึ่งเล่มและเขียนเรียงความส่งประกวด มีเนื้อหาว่าเหตุใดจึงชอบหนังสือเล่มนั้นและหนังสือนั้นมีประโยชน์อย่างไร เป็นการส่งเสริมให้เกิดสังคมการเรียนรู้ จากการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน สนใจการใช้ห้องสมุด กระตุ้นการสนใจใฝ่รู้ ทั้งยังได้เรียนรู้และพัฒนาวิธีการเขียนเรียงความที่ดี  เรื่องน่าประทับจากโครงการนี้คือเด็กประถมคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน แม่มีอาชีพเก็บขยะขายและเก็บหนังสือจากกองขยะมาให้ลูกสาว ซึ่งลูกสาวก็ได้เลือกหนังสือการ์ตูนแนวเศรษฐกิจ (แปลจากภาษาเกาหลี)     เรื่อง "ครอบครัวตึ๋งหนืด" มาเขียนเรียงความถ่ายทอดความสนุกสนาน ความรู้และประโยชน์ที่มีต่อตนเองจากหนังสือเล่มนี้ จนได้รับรางวัล นี่เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้นันมีกำลังใจและมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสังคมต่อไป เรียงความที่ได้รับรางวัลจากโครงการนี้ทุกเรื่องได้รับการรวมเล่มและตีพิมพ์เพื่อแจกไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างของการเขียนเรียงความที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆรักการเขียนการอ่านมากขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นเตือนให้ครูและผู้ปกครองสนใจส่งเสริมการอ่านให้มากยิ่งขึ้นด้วย 

นันรับราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมมาตลอดชีวิตการทำงาน โดยตำแหน่งสุดท้ายที่ได้รับคือ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม( 1 ตุลาคม 2557- 30 กันยายน 2558) ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ(มวม.)เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554  และได้รับการยกย่องเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2544

ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อธำรงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ และเสริมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่องและภาคภูมิใจ เป็นอักษรฯที่จรัสประกายควรค่าแก่การจารึกไว้ในเกียรติประวัติของชาวอักษรฯสืบไป

แด่นันทิยา เพื่อนที่รักเสมอ

 

นางสาวปภาวี สุธาวิวัฒน์

นักธุรกิจ นักบริหาร และนักพัฒนา ที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติและนานาชาติ

ปภาวี  สุธาวิวัฒน์  หรือ “นง” ที่เพื่อนๆ รู้จัก จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2519 (อบ41)

ภายหลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดพืชผลทางเกษตรในฐานะลูกจ้างอยู่พักหนึ่งนงก็เริ่มตระหนักถึงปัญหา เรื้อรังของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ และเล็งเห็นช่องทางที่จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรยั่งยืนในแบบของตัวเอง จึงได้ก่อตั้งบริษัท สวิฟท์ จำกัด ขึ้นในปี 2529 เพื่อผลิตและส่งออกผักผลไม้สดและแช่แข็งที่มีคุณภาพดี และมาตรฐานความปลอดภัยสูง ตามมาตรฐานสากล โดยมีนโยบายที่สำคัญคือ ตลอดห่วงโซ่การผลิต ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับประโยชน์จากการทำธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระบบการเกษตร ที่เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ถือครองพื้นที่ปลูกเล็ก ทำให้ได้ผลผลิตปริมาณน้อย ไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้โดยตรง กล่าวคือ ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายต่อ  ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้และมักจะขาดทุน เนื่องจากราคาซื้อขายผัก ผลไม้สดของไทย ที่ตลาดขายส่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน ณ เวลานั้นๆ จึงไม่มีใครกำหนดราคาล่วงหน้าได้

กลยุทธ์อันเฉียบคมของบริษัทฯคือใช้วิธีทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะยาว โดยกำหนดราคารับซื้อร่วมกับเกษตรกร จากต้นทุนการผลิตจริงบวกกำไรที่เกษตรกรพึงพอใจ เพื่อตั้งเป็นราคาประกัน แต่ถ้าราคาตลาดขึ้นด้วยสาเหตุใดก็ตาม  (เช่น ดินฟ้าอากาศไม่ดี ทำให้ผลผลิตเสียหาย)  บริษัทฯจะรับซื้อตามราคาตลาด แต่ถ้าราคาตลาดตกต่ำ (เช่นผลผลิตล้นตลาด) บริษัทฯยังคงซื้อตามราคาประกัน ด้วยวิธีนี้ เกษตรกรจะไม่มีการขาดทุน หรือแม้กระทั่งบางครั้งภัยธรรมชาติ ดินถล่ม ลูกเห็บตก ทำให้ผลผลิตเสียหายหมด ทั้งที่ใกล้เวลาเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรไม่มีผลผลิตมาส่งให้บริษัทฯ บริษัทฯก็ยังคำนวณมูลค่าตามปริมาณที่ควรจะเป็นและจ่ายเงินช่วยเหลือไป

ด้วยระบบการจัดการสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบนี้ ทำให้สัญญาที่ทำร่วมกันยืนยาวอยู่ได้มากกว่า 20 ปี จนทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ได้ขอเป็นต้นแบบ ด้วยการสรุปแนวทางและวิธีการของบริษัทฯลงในเว็บไซต์ของ FAO รวมทั้งได้นำกลุ่มเกษตรกรจากประเทศกำลังพัฒนามาดูงานที่บริษัทฯทุกปี และด้วยมาตรฐานและระบบการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้บริษัทฯได้รับการรับรองระบบมาตรฐานมากมาย เรียกว่าแทบทุกมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็น การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานภาคเอกชนสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรของกลุ่มผู้ค้าปลีกในยุโรป (GlobalGAP) มาตรฐาน เกษตรอินทรีย์ (Organic) ทางด้านฟาร์ม มาตรฐานระบบการจัดการสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ (GMP) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) มาตรฐานความปลอดภัย ทางอาหารของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC) ระบบการจัดการความปลอดภัย ของอาหารตามมาตรฐาน (ISO22000) มาตรฐานแรงงานไทย (มรท) ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีจริยธรรมของผู้ขาย (SEDEX) มาตรฐานอาหาร “Field to Folk” และจรรยาบรรณด้านการผลิตของ Aeon Supplier เป็นต้น

 

บริษัทฯจึงได้รับความไว้วางใจจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรในการเป็นโรงงานต้นแบบ ในการตรวจรับรองผลไม้จากไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งดูงานและเยี่ยมชมขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ เช่น ITC, UNCTAD, WTO, USDA, MAF Biosecurity Authority จาก New Zealand, Canada  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี AIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

ปัจจุบันสินค้าของบริษัทส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆในประชาคมยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศในตะวันออกกลาง สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) สิงคโปร์ ฮ่องกง และรัสเซีย

นอกจากความสำเร็จที่น่าชื่นชมในการประกอบธุรกิจของตนเองแล้ว นงยังสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงการส่งออกผัก ผลไม้ไทยโดยรวม อีกมากมายด้วย อาทิ เป็นบริษัทฯแรกที่นำเสนอขายหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 มิลลิเมตร   ซึ่งเคยเป็นสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน (มาตรฐานสากลต้อง 8 มิลลิเมตรขึ้นไป)  ที่ปกติลูกค้าต่างประเทศไม่ซื้อ และผู้ส่งออกไม่รับซื้อจากเกษตรกร  แต่เมื่อบริษัทฯริเริ่มเสนอขาย ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในยุโรปและประเทศญี่ปุ่นโดยเรียกหน่อไม้ฝรั่งขนาดนี้ว่า “Baby Asparagus”  ทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ทั้งหมดในราคาที่ดี (ขนาดต่ำกว่า 8 มิลลิเมตรมีประมาณ 40-50 % ของผลผลิตทั้งหมด และเป็นขนาดที่ประเทศอย่างเปรู สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียไม่สามารถผลิตได้ ไทยจึงไม่มีคู่แข่ง) บริษัทฯยังเป็นรายแรกที่ส่งออกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และกำหนดและตรวจเช็คความแก่ของมะม่วงทุกลูก  ทำให้เมื่อสุกแล้วมีรสหวานชวนรับประทาน รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการจัดส่งให้ต้นทุนถูกลง ทำให้ปัจจุบันนี้ผู้ส่งออกทุกรายต้องหันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพ และทำให้ยอดส่งออกของทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

นอกจากนี้ นงยังได้อุทิศเวลาเพื่อกิจกรรมเชิงพัฒนาในหลายเวที ตัวอย่างเช่น กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปี 2553 ถึงปัจจุบัน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐมวาระปี 2551-2553 และคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าผลไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร  กระทรวงเกษตร   และสหกรณ์ เป็นต้น

ด้วยผลงานที่โดดเด่นดังกล่าว จึงไม่แปลกใจที่นงและบริษัทฯได้รับการเชิดชูเกียรติ์ด้วยรางวัลมากมาย อาทิ เกษตรอินทรีย์เพื่อเศรษฐกิจชุมชน ด้านสังคมปี 2548 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) CSR-DIW (Standard for Corporate Social Responsibility)  ปี 2555 กรมโรงงานอุตสาหกรรม SR Mark (Social Responsibility Mark) ปี 2552 กระทรวงพาณิชย์ SVN Award (ภาคธุรกิจ) ปี 2551 Social Venture Network Asia (Thailand)  Green Activity (อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 2) ปี2558 กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนรางวัล สตรีนักบริหารดีเด่น สาขาสตรีนักบริหารภาคเอกชนดีเด่นประจำปี 2553 และนักธุรกิจสตรีหอการค้าไทยดีเด่นปี 2549 เป็นต้น

   รางวัลSR Mark

 

 

 

 

 

 

   รางวัลสตรีสากล

 

 

บัญชา สุวรรณานนท์

สุนทรภู่บอกว่า รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล แต่บัญชา สุวรรณานนท์ หรือเต้ย ของพวกเราอักษรศาสตร์รุ่น 41 เป็นพวกผ่าคอก ไม่ยอมรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว จึงยากมากที่จะบอกว่าเต้ยเป็นเลิศในด้านหนึ่งด้านใด เพราะไม่ว่าเต้ยจะคิดทำอะไรก็เชี่ยวชาญไปถึงระดับเลิศทั้งสิ้น 

ที่ร้ายก็คือเต้ยมักเริ่มทำสิ่งนั้นๆช้ากว่าคนอื่น ประหนึ่งจะต่อให้ก่อน แต่ก็ถึงเส้นชัยเด่นเป็นสง่าทุกครั้ง

ล่าสุด เต้ยได้รับรางวัลสุรินทราชา สำหรับนักแปลและล่ามดีเด่นประจำปี 2558 จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ผลงานมีทั้งงานแปลวรรณกรรมระดับโลกเช่น  Animal Farm ของ George Orwell  ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านประกอบวิชาหน้าที่พลเมือง ระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ 4-5   “พม่ารำลึก” หรือ Burmese  Days ของ George Orwell เช่นกัน และ  Flowers for Mrs Harris ของ Paul Gallico ซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่ 9 แล้ว  

เต้ยยังมีงานแปลวรรณกรรมไทยทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย  งานวิชาการทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม ปรัชญาตะวันตก สถาปัตยกรรม และวิทยาศาสตร์ กล่าวสั้นๆว่า ของหินๆทั้งหลาย ต้องส่งมาที่เซียนเต้ย ซึ่งเต้ยบอกว่าถือเป็นการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆไปด้วย แปลไทย-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย ไม่หนำใจ แปลฝรั่งเศษเป็นอังกฤษก็ทำมาแล้วสำหรับงานนิทรรศการศิลปะของท่านหญิงมารศรี บริพัตร ส่วนการแปลบทภาพยนตร์ ตำรา ข่าว สารคดีต่างๆของหมูๆนั้นมีนับไม่ถ้วน

ไม่เพียงแค่นั้น เต้ยยังทั้งสอน ทั้งเขียนตำราการแปล ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ และเขียนหลักการวิจารณ์ให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทั้งหมดนี้เต้ยถือว่าเป็นการ “ให้”  ซึ่งเต้ยถือว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่ในชีวิต 

เต้ยชอบบ่นว่าต้องโตมากับระเบียบกฎเกณฑ์ที่น่าอึดอัด เพราะบ้านและโรงเรียนเป็นที่เดียวกัน ทั้งคุณป้าและคุณแม่เป็นครูและเจ้าของโรงเรียนสุวรรณวิทย์  พอเข้าสวนกุหลาบและอักษรฯ จึงฉลองอิสรภาพเต็มที่ กระนั้นเต้ยก็ต้องรู้อยู่แก่ใจว่า ความมุ่งมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาการ และความพอใจในการเป็นผู้ถ่ายถอดความรู้นี้ได้มาจากไหน 

เพื่อนๆจะรู้ว่า ที่เต้ยเริ่มไปทำงานแปลในวัยเริ่มกลางคนนี้ก็เพราะ เหนื่อยใจเหลือเกินแล้ว กับรักแท้รักแรกของตัวเอง นั่นคือคือบัลเลต์และนาฏศิลป์ตะวันตกร่วมสมัย 

ในยุคนั้นไม่มีใครในวงการนาฏศิลป์ตะวันตกที่ไม่รู้จักบัญชา สุวรรณานนท์ เต้ยเป็นนักเต้นบัลเลต์ชั้นนำระดับประเทศ เป็นผู้บุกเบิกวงการการนาฎศิลป์ตะวันตกร่วมสมัย เป็นศิลปินเอง และออกแบบท่าเต้นการแสดงเวทีและรายการโทรทัศน์มากมาย งานแสดงที่ทำเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เคย ได้รับเชิญให้นำผลงานไปแสดงยังต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง 

เต้ยใช้ศิลปะการแสดงที่ตนถนัดวิพากษ์สังคม พูดในเรื่องที่คนอื่นคิดไม่ถึง หรือไม่อยากคิด  เต้ยจึงไม่เป็นแค่ dancer หรือ dance choreographer แต่เป็น thinker ด้วย ความเป็นนักคิด นักวิชาการนี้ อยู่ในทุกอย่างที่เต้ยทำ แน่นอนศิลปะต้องงาม แต่ศิลปะสำหรับเต้ยต้องมีพลังเสทือนไปถึงความคิด ความเชื่อและหัวใจด้วย 

เรื่องน่าทึ่งในการเป็น dancer ของเต้ยก็คือ คนอื่นเขาเริ่มเรียนบัลเลต์ตั้งแต่เด็กๆ แต่เต้ยเริ่มเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ถือว่าช้ามาก แต่เอาจริงเอาจังจนเป็นนักบัลเลต์ชื่อดังของประเทศ เต้ยเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ทุนไปเรียนบัลเลต์ต่อที่ Krupskaya Cultural Institute in Leningrad สถาบันชั้นนำที่รัสเซีย และที่ The Royal Academy of Dancing ที่ลอนดอน เมื่อกลับมาได้บุกเบิก contemporary dance ในประเทศไทย เป็นทั้ง dancer, choreographer เป็นอาจารย์ นักวิจารณ์ศิลปะการแสดง นักวิชาการด้านบัลเลต์และ contemporary dance และมีส่วนสำคัญในการทำหลักสูตรและตำราด้านนาฏศิลป์ตะวันตก ให้คณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ตอนเริ่มก่อตั้ง 

แต่ถ้าถามเต้ยว่าภูมิใจอะไรที่สุดในชีวิตช่วงนี้ เต้ยบอกคือการค้นพบสิ่งสำคัญในประวัติศาสตร์บัลเลต์สมัยใหม่ ได้พบหลักฐานที่แสดงว่า ผู้บุกเบิก modern ballet ในโลกตะวันตกคือ Vaslav Nijinksy ชาวรัสเซีย ได้เคยรับแรงบันดาลใจจากท่ารำในนาฏศิลป์ไทย ได้นำท่ารำไทยไปปรับให้เป็นท่าบัลเลต์ในงานชิ้นแรกๆของเขา นิจินสกี้ได้เคยชมนาฏศิลป์ไทยเมื่อครั้งคณะละครพันทางของนายบุษย์มหินทร์ไปแสดงที่รัสเซีย ชัดเจนว่ารำไทยมีส่วนต่อการคิดค้นบัลเลต์สมัยใหม่ เต้ยเป็นคนแรกที่ศึกษาและค้นพบเรื่องนี้ ถ้าสนใจสามารถหาอ่านงานวิจัยเรื่อง “Some Influences of Siamese Dance on Modern Ballet” ของเต้ยได้ “ในหนังสือ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต” 

 

งานวิจัยของเต้ย และการค้นพบท่าเต้นต่างๆที่ Nijinsky  ได้รับแรงบันดาลใจจากนาฏศิลป์ไทย ในที่สุดได้กลายเป็นงานแสดงบนเวที ด้วยฝีมือของพิเชษฐ์ กลั่นชื่น  สำหรับการแสดงครั้งสุดท้ายของเต้ย คือการทำละครเดี่ยว เรื่องหวังฝู่ ศิลปินที่หนีสังคมหายไปในรูปภาพที่ตัวเองวาดไว้ 

จริงๆเต้ยตั้งใจจะเลิกทำงานนาฏศิลป์แล้วตอนนั้น แต่เรื่องนี้เต้ยบอกว่า “แทงใจมาก เลยยอมทำ เป็นละครแสดงเดี่ยวและสุดท้าย” 

งานวิจัยอีกอันหนึ่งที่เต้ยภูมิใจคือได้ร่วมทีมค้นคว้าตอนรัฐบาลจะหาสูตรตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ เต้ยค้นเรื่อง PBS และต่อมาก็เกิดสถานีโทรทัศน์ Thai PBS

ก่อนจะผันไปเป็นนักแปลอย่างจริงจัง เต้ยเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร และหนังสือหลายแห่ง รวมทั้งเป็น editor-in-chief ของบริษัทระดับโลกคือ Reader’s Digest ฝ่ายทำหนังสือปกแข็งในประเทศไทย ถึงจะเป็นระดับบรรณาธิการแล้ว แต่เมื่อคิดจะเป็นนักแปลเอง เต้ยก็ทำเหมือนตอนที่เรียนบัลเลต์ คือเริ่มจากการเป็นนักเรียน หาความรู้จากครูบาอาจารย์ เพื่อที่จะได้ผลิตงานที่มีคุณภาพ และเพื่อที่จะส่งความรู้ต่อให้คนรุ่นต่อไปได้ คือไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าบัลเลต์หรืองานแปล เต้ยก็ยังเป็นเต้ย ยังคงเป็นครู เป็นผู้ให้ ตัวเองทำงานหนักแสนเหนื่อย แต่เมื่อมีทุนหรือได้รับเชิญ ก็มักยกให้ผู้อื่น  เพราะคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อวงการในเวลานั้นมากกว่า หลายต่อหลายครั้งเพื่อนต้องบ่นว่า ทำไมต้องปิดทองหลังพระให้คนอื่นอยู่เรื่อย

 “ไม่เป็นไร เรารู้ตัวว่าเราไม่เสียชาติเกิดก็พอแล้ว ส่องกระจกทุกวัน ก็ไม่ละอายใจตัวเอง” เต้ยบอก

ดังนั้นเพื่อนๆจึงไชโยโห่ฮิ้วเมื่อเต้ยได้รับรางวัลสุรินทราชา ถึงแม้จะถ่อมตัวว่าไม่ได้เก่งกาจอันใด  แต่เชื่อว่ารางวัลนี้ คงนำความชุ่มชื่นมาให้หัวใจเต้ยไม่มากก็น้อย 

เต้ยบอกว่าแปลก คือพอจะรามือเรื่องที่เคยทำไปเริ่มเรื่องอื่น เกียรติยศหรือรางวัลในเรื่องนั้นๆถึงจะเดินทางมาถึงตนเอง เช่นพอเลิกงานนาฏศิลป์หันมาจับทำงานแปล ก็ได้ทุนต่างๆทางนาฏศิลป์ เลยตัดสินใจยกให้เด็กรุ่นใหม่ไปดีกว่า เป็นนักแปลมาแสนนาน พอจะหันมาจริงจังเรื่องอาหาร ก็มาได้รางวัลสำหรับนักแปล

สินค้ามีชื่อของเต้ยคือ sun-dried tomatoes กับตับบด ยี่ห้อ Thomakon ไม่ต้องงง แปลเป็นไทยง่ายๆว่าโทรมาก่อน ต้องโทรมาจอง ไม่ใช่จะได้ของเธอไปรับประทานง่ายๆ ถึงมีวิญญาณครู แต่สูตรลับนี่เต้ยปิดปากเงียบไม่ยอมแพร่งพรายให้ใคร ความภูมิใจที่สุดของเต้ยอีกอย่างในชีวิตคือได้ทราบทางอ้อมว่า ทั้งตับบดและมะเขือเทศแห้งของเต้ย เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา องค์ประธาน อ.บ. 41 เป็นอย่างมาก 

นิวาสถานของเต้ยหลังวัยเกษียณอยู่ที่แม่ริม เชียงใหม่ ยังทำงานแปลอย่างต่อเนื่องสลับกับการทำตับบดและมะเขือเทศแห้งแช่น้ำมันมะกอกตามคำเรียกร้องของแฟนๆ 

เต้ยมองตนเองอย่างไรตอนนี้ “เราทนตัวเองได้มากขึ้น” เต้ยบอก “ถึงแม้จะล้มเหลวด้านอื่นๆใดๆ เราก็ยังสบายใจว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อ “เอา” จากสังคม แต่ยาจกอย่างเราได้ contribute something เท่าที่เรามีกำลังจะทำได้ 

“ฉันเชื่อว่าคนเราทุกคนสามารถทำอะไรได้สารพัด ทำได้ดีหรือไม่แค่ไหน ก็ทำได้ก็แล้วกัน ถ้าพยายามและทุ่มเท และรักในสิ่งที่ทำ”

 

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ พีระพล คดบัว

ตอนเข้ามาเรียนปี 1 คณะอักษรศาสตร์ มีแต่คนถามว่าทำไมจึงเลือกคณาอักษรศาสตร์ ตอนนั้นจะตอบไปว่าไม่ได้ตั้งใจเลือกแต่เพราะคะแนนสูงและเพื่อนสนิทชวนก็เลยเลือก ตอนนั้นรู้สึกแบบนั้นจริงๆ เพราะตอนเรียนมัธยมปลาย เพื่อนๆ ก็จะรู้ว่าอยากเรียนนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ตั้งแต่เข้ามาจึงรู้สึกอยู่ตลอดว่าที่นี่ไม่เหมาะกับเรา เรียนอะไรไม่รู้โบร่ำโบราณ เรามาจากโรงเรียนวัดผู้ชายล้วน กลางวันก็เตะฟุตบอล เล่นบาส หรือไม่ก็เอานวมมาต่อยกัน อยู่ที่นี่ฟุตบอลไม่ต้องพูดถึง แค่ตะกร้อก็ยังหาคนเล่นแทบไม่ได้เพราะผู้ชายมีแค่ 12 คน แต่ผู้หญิงมี 200 กว่าคน จะพูดจาอะไรก็ไม่สนุกปากเพราะถ้าเอาภาษาแบบเด็กวัดมาใช้ที่นี่ก็จะกลายเป็นเรื่องหยาบคายเกินไป การปรับตัวจึงเป็นเรื่องใหญ่ วันหนึ่งเดินเข้ามาในขณะเห็นเพื่อนๆผู้หญิงถือดอกกุหลาบและสติ๊กเกอร์รูปหัวใจที่ปกเสื้อแทบจะทุกคน รู้สึกงงว่าเกิดอะไรขึ้น จนเพื่อนถามว่าเธอไม่มีดอกกุหลาบไปให้ใครบ้างหรือ เลยถามเพื่อนว่าจะให้เนื่องในโอกาสอะไร เพื่อนที่ถามก็หัวเราะและบอกว่า “วันวาเลนไทน์ไง” ก็เพิ่งรู้จักวันวาเลนไทน์เป็นครั้งแรกในชีวิต ปกติจะรู้จักแต่วันพระ วันโกน และชินกับการให้ดอกมะลิมากกว่าดอกกุหลาบ การเรียนก็หนักสองปีแรก เรียนจึงตกๆ หล่นๆ เกือบไม่รอด

ในที่สุดก็ค่อยๆ ปรับตัวในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต จนขึ้นปี 3 มีการแข่งขันกีฬาระหว่างอักษรศาสตร์จุฬาฯกับศิลปากรทำให้ได้เจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนประถม ที่ตอนนี้เรียนอยู่คณะโบราณคดี จำได้ว่านอกจากเล่นลูกหิน ลูกฟุตบอลแล้ว ยังมีเกมที่เล่นกับเพื่อนคนนี้คือพลัดกันบอกชื่อยักษ์ ชื่อลิง ในเรื่องรามเกียรติ์ ใครตอบไม่ได้ถือว่าแพ้ พอเรื่องรามเกียรติ์หมดก็หันไปทายตัวละครอื่นๆ ในวรรณคดี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอ่านมาจากหนังสือแจกของทีวีสีช่อง 4 ที่มักจะเอาวรรณกรรมมาลงเป็นตอนๆ หรือไม่ก็หาอ่านเพิ่มเติมที่อื่น  การเจอเพื่อนคนนี้ทำให้กลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่าการที่เลือกอักษรศาสตร์ มันคงไม่ใช่แค่ใจง่ายเลือกตามเพื่อน ส่วนหนึ่งคงมาจากความชื่นชอบประวัติวรรณคดีและวิชาสังคมที่มันแฝงอยู่แบบไม่รู้สึกตัวตลอดมา ช่วงปี 3 ปี 4 เมื่อเข้าสู่เมเจอร์คือวิชาประวัติศาสตร์ก็รู้สึกเรียนได้สนุกสนานขึ้น ส่วนตอนนั้นไมเนอร์ปรัชญาและการละคร พอจบปริญญาตรีก็เรียนต่อปริญญาโททางปรัชญาเพราะคิดว่าประวัติศาสตร์ เราพออ่านเองได้ แต่วิชาปรัชญา อ่านเองคงยาก อย่างไรก็ตามยังมี ความค้างคาใจที่อยากเรียนนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็เลยขวนขวายเรียนภายหลังจนได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กับปริญญาโทนิติศาสตร์อีกใบหนึ่ง รวมแล้ว 5 ปริญญา

            หลังจากจบก็ได้ใช้วิชาที่เรียนมาครบทุกปริญญา เริ่มจากการเป็นนักข่าวที่รับผิดชอบการแปลข่าวต่างประเทศ เป็นปลัดอำเภอ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย (Legal Consultant) ขององค์การผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จนมาลงเอยที่การเป็นอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากภาระงานสอนทางด้านปรัชญาแล้วก็ได้รับเชิญไปประชุมและฝึกอบรมต่างประเทศเช่น อบรม Migration study ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และ International Humanitarian law ที่ประเทศอิตาลี รวมทั้งเป็นอาจารย์ในโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัย St. Olaf ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัย Lille ประเทศฝรั่งเศส ส่วนในประเทศได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงชองทบวงมหาวิทยาลัย (นบม. รุ่นที่ 12)

            ระหว่างอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากงานสอนหนังสือก็ยังได้รับตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์ แต่ตำแหน่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุดคือ การได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสภาอาจารย์และประธานสภาพนักงาน (หลังจาก มช. ออกนอกระบบ) อย่างละ 1 สมัย ตำแหน่งนี้เป็นการเลือกตั้งจากการลงคะแนนของคณาจารย์จากทั้งมหาวิทยาลัย ต่างจากตำแหน่งอื่นในมหาวิทยาลัยที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา หน้าที่ของประธานสภาอาจารย์ทางนิตินัย คือให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี ตลอดจนสร้างความสามัคคีจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นกรรมการในชุดต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นแทบจะทุกชุด แต่ที่สำคัญคือเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่งซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สภามหาวิทยาลัยถือเป็นคณะกรรมการสูงสุดที่ดูแลนโยบายและการบริหารของมหาวิทยาลัย กรรมการส่วนใหญ่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มากไปด้วยประสบการณ์และความรู้ ในชุดที่เคยเป็นกรรมการมีทั้งอดีตรองนายกฯ ปลัดกระทรวง และนักธุรกิจใหญ่หลายท่าน สำหรับหน้าที่ทางพฤตินัยของตำแหน่งสภาอาจารย์ก็คือรับเรื่องราวร้องทุกข์ความไม่เป็นธรรมจากพนักงาน และเป็นตัวแทนเรียกร้องสวัสดิการให้พนักงาน ผู้ร้องเรียนมีตั้งแต่นักการภารโรงจนถึงศาสตราจารย์ จำได้ว่าวันหนึ่งกลับถึงบ้านก็เจอถุงแขวนไว้ที่หน้าประตู เปิดมามีกระหล่ำปลีสองลูกใหญ่และข้อความ “ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ” และลงท้ายว่า “กระหล่ำ ผมปลูกเองครับ ไม่ใส่สาร ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง” อีกกรณีหนึ่ง อาจารย์สองท่าน ท่านหนึ่งขอ รศ. อีกท่านหนึ่งขอ ศ. ตั้งแต่อายุยังน้อยถูกร้องเรียนในเรื่องเขาไม่ได้ทำผิด จากอาการหมั่นไส้ของคนอื่น ทำให้ทั้งสองคนหมดกำลังใจในการทำงาน คนหนึ่งลาออกไปอยู่มหาวิทยาลัยอื่น อีกคนหนึ่งไม่ทำวิจัยอีกต่อไป ทั้งสองท่านนี้มีผลงานทางวิชาการอันดับหนึ่งและอันดับสองของประเทศในสาขานี้ เรื่องนี้ถูกเตะถ่วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยห้าปี  หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ก็ได้ช่วยแนะนำขั้นตอนการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสภาและช่วยอภิปรายในสภามหาวิทยาลัยใช้เวลาต่อสู้อีกหนึ่งปี จนสภามหาวิทยาลัยเข้าใจและมีมติให้อาจารย์ทั้งสองท่านได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น รศ. และ ศ.(อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ) อาจารย์ท่านที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รศ. ตอนทราบผลการประชุมของสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ท่านนั้นกำลังประชุมอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้ขออนุญาตจากที่ประชุมออกมาก่อน และขับรถกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเพื่อไปบอกมารดาทันทีด้วยความดีใจ ภายหลังยังพาครอบครัวมาขอบคุณ ภรรยาของท่านเล่าให้ฟังว่าตลอดหกปี ครอบครัวมีแต่ความทุกข์จากข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม มีเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมมากมายขณะดำรงตำแหน่งนี้ ส่วนใหญ่ก็พอแก้ไขไปได้หรือไม่ก็บรรเทาปัญหาให้ลดลง ในด้านสวัสดิการ ได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยแก้ข้อบังคับให้พนักงานที่พ้นจากการทดลองปฏิบัติงานให้ต่อสัญญาจนอายุครบ 60 ปี ทำให้พนักงานรู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ส่วนอีกสองเรื่องที่ทำให้ประชากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดีใจก็คือผลักดันให้พนักงานที่เกษียณอายุงานได้รับเงินชดเชยเหมือนบริษัทเอกชนคือไม่เกินสิบเท่าของเงินเดือนสุดท้ายและข้าราชการที่เปลี่ยนเป็นพนักงานได้มีสิทธิเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ มหาวิทยาลัยให้เงินสมทบ 5% ของเงินสะสมที่พนักงานสะสม 5% ทำให้อย่างน้อยบั้นปลายชีวิตของพนักงานเหล่านี้ได้เงินไปดำรงชีพ ครั้งหนึ่งระหว่างเดินอยู่แถวสำนักงานสภาพนักงานมีพนักงานคนหนึ่งเดินเข้ามาหาและบอกว่าขอบคุณอาจารย์มากครับ ถ้าผมเกษียณ ผมจะได้รับเงินชดเชยพอที่จะไปใช้หนี้เขา ฟังแล้วทั้งดีใจและเศร้าใจเพราะข้าราชการชั้นผู้น้อยจะมีรถหรือบ้านก็ต้องเป็นหนี้ไปตลอดชีวิต สวัสดิการทั้งสองอย่างนี้ทำให้ชาว มช. ได้รับประโยชน์หลายพันคนและเป็นสวัสดิการที่ยั่งยืนสืบต่อไปถึงพนักงานที่จะเข้ามาใหม่ด้วย

            และด้วยการมีตำแหน่งประธานสภาก็ทำให้มีโอกาสทดแทนบุญคุณแผ่นดินเชียงใหม่เพราะได้รณรงค์ให้นักศึกษาที่อยู่หอพักโอนย้ายทะเบียนบ้านให้มาอยู่ในทะเบียนบ้านของ มช. เพราะนักศึกษาและคณาจารย์ที่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ได้มาใช้ทรัพยากรและสาธารณูปโภคต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ การย้ายทะเบียนบ้านมาทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นหัวละ 500 บาท และยังได้รับจัดสรรงบประมาณอื่นๆ ที่คิดตามหัวประชากรอีกหลายอย่าง ในขณะเดียวกันเป็นการปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษารับผิดชอบต่อหน้าที่ในการลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ส่วนใหญ่นักศึกษาไม่ค่อยกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนที่บ้านเกิดของตน โดยเฉพาะการเลือกตั้งในส่วนท้องถิ่น การย้ายทะเบียนบ้านทำให้นักศึกษาเกิดจิตสำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง ผลจากการย้ายทะเบียนบ้านนี้ทำให้มช. กลายเป็นกลุ่มที่มีคะแนนเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดในอำเภอเมืองเชียงใหม่ สามารถสร้างผลกระทบเชิงนโยบายต่อนักการเมืองได้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ได้ทยอยให้นักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านตามแบบอย่างของ มช. หลังเกษียณอายุราชการก็ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาสภาพนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิที่ประชุมประธานสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย และกรรมการอำนวยการคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ถ้าถามว่าเรียนอักษรศาสตร์แล้วได้อะไร ก็ต้องตอบว่านอกจากอาชีพสอนหนังสือที่ใช้เลี้ยงชีพแล้ว ทุกวิชาของอักษรศาสตร์ที่มุ่งอธิบายและทำเข้าใจความเป็นมนุษย์ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่าตลอดชีวิตตนเอง ตอนเรียนอยู่ไม่รู้ได้อะไรจากคณะอักษรศาสตร์ แต่พอจบมาทำงานแล้วรู้ว่าวิชาอักษรศาสตร์ที่ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ที่ได้รับการถ่ายทอดมายังไม่สามารถใช้ได้หมดเลย

 

 

พูนสุข วีระประเสริฐ

       บทความนี้เป็นงานชิ้นแรกที่ฉันเขียนหลังจากจบอักษรศาสตร์จุฬาฯ มา 40 ปี  จะว่าไปแล้วนี่เป็นงานเขียนภาษาไทยชิ้นเดียวที่เคยมี  ที่คิดว่าจำเป็นจะต้องเขียนครั้งนี้ เพราะเป็นโอกาสดีที่จะให้เพื่อนๆรู้ถึงคุณงามความดีของเพื่อนอักษรรุ่นเดียวกันและเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับอักษรฯรุ่นต่อๆไป

       พูนสุขกับฉันจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ รุ่น 41   เรามาตั้งรกรากที่อเมริกาในเวลาใกล้ๆกัน  ถึงแม้ว่าเราจะอยู่คนละรัฐ ระยะทางไม่ได้เป็นอุปสรรคให้มิตรภาพของเราทั้งสองลดน้อยลงไปแม้แต่น้อย  ในทางตรงกันข้าม เราสองคนติดต่อกันทางโทรศัพท์และส่งสารให้กันบ่อยกว่าเพื่อนๆหลายคนที่อยู่เมืองไทยด้วยกันเสียอีก

       พูนสุขได้รับประกาศนียบัตรครูแห่งชาติ (National Board Teacher Certification) ซึ่งเป็น

คุณวุฒิที่สูงที่สุดระดับหนึ่งที่ครูในประเทศสหรัฐอเมริกาจะพึงมีได้  ตลอดเวลาที่เป็นครู พูนสุขจะดัดแปลงวิธีการสอนให้เหมาะสมกับความพร้อมของนักเรียนแต่ละคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษ   พูนสุขให้ความสนใจเด็กนักเรียนทุกคนอย่างต่อเนื่องและมีความสุขุมในการควบคุมความประพฤติของนักเรียน  ยิ่งไปกว่านั้นพูนสุขยังสามารถมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของหลักสูตรโดยใช้ระบบการสอนที่ชัดเจนถูกต้องและตรวจตราพฤติกรรมของนักเรียนในขณะเดียวกับที่ทำการประเมินผลความตั้งใจเรียนและความคืบหน้าของนักเรียนทุกคน
       พูนสุขมักจะเล่าให้ฟังถึงเด็กๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของเธอว่า แทบทุกต้นปีการศึกษาเธอจะได้รับเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาใหญ่ทางด้านความประพฤติ  อย่างไรก็ตามพูนสุขสามารถที่จะเปลี่ยนความประพฤติของเด็กเหล่านั้นให้กลายเป็นดีได้ทุกครั้งไป  บางครั้งผู้ปกครองไม่พอใจในตอนแรก แต่หลังจากที่เด็กได้รับการอบรมสั่งสอนและได้รับการเอาใจใส่จากครูพูนสุข ความประพฤติของเด็กเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือจนผู้ปกครองบางคนแทบจะไม่เชื่อตาตัวเองว่าลูกจะเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดนั้น ผู้ปกครองที่มีเด็กมีปัญหาแล้วเปลี่ยนเป็นเด็กที่มีความประพฤติดีแถมยังมีผลการเรียนดีด้วยมักจะส่งจดหมายสรรเสริญคุณงามความดีของครูพูนสุขให้ครูใหญ่ทราบ ผู้ปก ครองที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนมักจะส่งเรื่องขอให้ลูกคนถัดไปได้อยู่ในชั้นของครูพูนสุข
       เนื่องจากผลงานอันดีเลิศ พูนสุขได้รับจดหมายยกย่องอย่างเป็นทางการจากผู้อำนวยการโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาว่า "พูนสุขเป็นบุคคลที่สมเกียรติความเป็นครูอย่างแท้จริง เธอทุ่มเทให้กับการสร้างรากฐานและรักษามาตรฐานการศึกษาให้อยู่ในระดับสูง"
       ด้วยความสามารถและความตั้งใจในการสอนของพูนสุข นักเรียนของเธอไม่เพียงก้าวหน้าทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นเด็กที่เจริญทางด้านจิตใจและความประพฤติในสังคม  ผู้ปกครองมักจะกล่าวว่า คำสอนและความรักของพูนสุขเปลี่ยนเด็กจากที่ไม่มีความมั่นใจให้กลายเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในการเรียนรู้และเข้าใจในความสำคัญของตนเองที่มีต่อสังคมในห้องเรียน

     พูนสุขเป็นที่รู้จักในหมู่ครูด้วยกันถึงความสามารถพิเศษในการช่วยเด็กที่มีปัญหาเรียนไม่ทันเพื่อนให้ประสบความสำเร็จได้  พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนจากชั้นอื่นบางคนถึงกับขอร้องให้

พูนสุขช่วยสอนพิเศษเด็กหลังโรงเรียนเลิก  แม้ว่าเธอจะยุ่งมากและมักเป็นครูที่กลับบ้านเป็นคนสุดท้าย  เธอก็ยังใช้เวลาส่วนตัวสอนเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือจากเธอจริงๆ

       พูนสุขเป็นครูคนเดียวในโรงเรียนที่มีประกาศนียบัตรในการสอนนักเรียนที่มีพรสวรรค์  เธอนำวิธีการสอนนักเรียนที่มีพรสวรรค์มาใช้ในชั้นเรียนของเธอเพราะเธอถือว่านักเรียนทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้  เป็นที่รู้กันในกลุ่มครูและเพื่อนร่วมงานว่านักเรียนในชั้นของพูนสุขสามารถอ่านและเขียนเกินความสามารถตามอายุ  นักเรียนที่ได้คะแนนสูงในชั้นของพูนสุขมักจะได้เลื่อนชั้นไปเรียนในห้องของเด็กที่มีพรสวรรค์  จากการประเมินผลงานครั้งล่าสุด ผู้บริหารของโรงเรียนชมเชยทักษะการสอนที่โดดเด่นของพูนสุขซึ่งเห็นผลสะท้อนได้อย่างชัดเจนจากผลการเรียนของนักเรียนของเธอ   

       อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสอนและการดูแลนักเรียนก็คือ พูนสุขและนักเรียนของเธอได้รับรางวัลสูงสุดจากการแข่งขันในนิทรรศการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ชั้นของพูนสุขชนะติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว  อีกทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนให้การรับรองว่า "พูนสุขเป็นที่ปรึกษาให้กับครูที่โรง เรียนของเธอเอง  กับนักศึกษาที่มาฝึกสอน   และแม้กระทั่งครูจากโรงเรียนอื่นๆ"

       ผู้ปกครองขอบคุณพูนสุขเสมอมาว่า เธอเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนกลายเป็นผู้ที่ใฝ่หาความรู้ตลอดชีวิต  ในขณะเดียวกัน พูนสุขเองก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ในฐานะของผู้สอน  เธอเข้าร่วมกลุ่มกับผู้เชี่ยวชาญทางอักษรศาตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อเสริมสร้างทักษะของเธอเองและเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญกับครูคนอื่น

       สิ่งที่น่าประทับใจมากอีกอย่างคือพูนสุขทำประโยชน์ให้ชุมชนไทยในท้องถิ่น  เธอช่วยคนไทยหลายคนที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมายหรือการแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษหรือจากภาษาอังกฤษเป็นไทย รวมทั้งช่วยแนะแนวแก่คนที่ต้องเตรียมสอบเพื่อขอสัญชาติอเมริกัน 

       ถ้าพูดถึงความเป็นคนมีใจเมตตาของพูนสุขก็ต้องเอ่ยถึงเวลาที่เธอสละเพื่อช่วยสอนเด็กไทยแม้ในเวลาว่างน้อยนิดที่มี  พูนสุขได้รับจดหมายหลายฉบับจากสมาชิกในชุมชนไทยที่เขียนมาขอบคุณ  และที่เธอประทับใจมากที่สุดก็คือครั้งที่มีหญิงไทยผู้หนึ่งเขียนว่าพูนสุขเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่คนไทยว่าเป็น "คุณครูที่พร้อมไปด้วยปัญญาและความมีจิตใจเมตตากรุณา"

       นอกจากนี้ พูนสุขยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนไทยในต่างแดนด้วยการแนะนำวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียนในโรงเรียนของเธอ  เธอเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยควบคู่ไปกับหลักสูตรการสอน พร้อมทั้งฝึกซ้อมนักเรียนของเธอให้รำไทยในงานฉลอง Holidays Around the World

       พูนสุขประสบความสำเร็จหลายอย่างที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ แต่ที่เธอภูมิใจมากที่สุดคือความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูกชายสองคนของเธอ  ลูกทั้งสองเป็นแหล่งที่มาของความสุขของพูนสุข การัณย์และการุญสำเร็จปริญญาเอกจาก University of Florida ขณะนี้การัณย์เป็นวิศวกรการผลิตระดับอาวุโสที่ Intel Corporation ส่วนการุญเป็น MD, PhD นายแพทย์-นักวิทยาศาสตร์ที่ University of Minnesota พูนสุขสั่งสอนการัณย์และการุญให้นึกถึงผู้อื่นเสมอเช่นเดียวกับการกระทำของเธอเอง เธอสอนลูกว่าความสำเร็จสูงสุดของชีวิตคือการอุทิศตนให้กับผู้อื่น พูนสุขเคยหวังอย่างยิ่งว่าลูกชายของเธอจะทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม แล้วลูกทั้งสองคนของเธอก็ใช้ชีวิตสมดังความหวังนั้นจริงๆ

       ถึงแม้ว่าพูนสุขและฉันจะอาศัยอยู่คนละรัฐ เรายังคงติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมา  เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในชีวิต  บ่อยครั้งที่ฉันปรึกษาพูนสุขเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวและปัญหาในที่ทำงาน ด้วยความเป็นเพื่อนแท้ พูนสุขไม่เพียงแต่จะให้คำแนะนำที่ดีเสมอ เธอไม่ลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถ้าเธอคิดว่าความคิดหรือการกระทำใดเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม  พูนสุขเกิดมาเพื่อเป็นครูและน่าเป็นที่ยกย่องในความมีน้ำใจที่ให้ด้วยน้ำใสใจจริง 
ฉันภาคภูมิใจมากที่ได้เรียกพูนสุขว่า "เพื่อน"

ผู้เขียน :  ณัฏฐิยา เจียรานนท์

 

 

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง

ยุวดี   ต้นสกุลรุ่งเรือง

            ตุ๊ก  เป็นนักเขียน  แต่เพื่อนๆ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตุ๊ก  มีผลงานด้านการขีดๆเขียนๆ มานานแล้ว  เพราะตุ๊กไม่เคยบอกว่าตัวเองเขียนนวนิยาย  หรือ  สารคดี ใดๆ เลย  มาเอะใจเมื่อตอนอ่านเรื่อง “ร้านหัวมุม”  ที่ลงในสกุลไทย  เมื่อถามตุ๊กถึงบอก

            ตุ๊กเริ่มงานเขียนตอนเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนดลวิทยา โดยเขียนเรื่องสั้นส่งอาจารย์สุวิทย์  สารวัตร ครูภาษาไทยที่สั่งให้นักเรียนเขียนอะไรก็ได้ไปส่ง  เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “สายน้ำที่ไหลกลับ” (พ.ศ.2513)  แต่ครูไม่เชื่อว่าเขียนเองเพราะมีความโดดเด่นมาก  หลังจากซักถามยืนยันกันแล้ว  ครูจึงนำไปส่งให้นิตยสารชัยพฤกษ์  ที่มีคุณโบตั๋น  (สุภา  สิริสิงห)  เป็นบรรณาธิการ  ได้เงินค่าเรื่องมา 200 บาท  จากจุดนี้เอง  เป็นกำลังใจให้เขียนเรื่องต่อๆ มา

            สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท  ตุ๊กรับอาสาทำการบ้านแทนเพื่อน  โดยเขียนเรื่องและแต่ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ให้เพื่อนหลังห้องเอาไปส่งครูทุกสัปดาห์  เมื่อเข้ามาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ได้หยุดการเขียนไปชั่วคราว  เพราะมีเรื่องสนุกในมหาวิทยาลัยมากมาย  หลังเรียนจบออกมาทำงานและแต่งงานมีครอบครัว ยิ่งไม่มีโอกาสเขียนหนังสืออีก  แต่ช่วงที่ติดตามสามี (นพ. เข็มชาติ  ต้นสกุลรุ่งเรือง) ไปใช้ทุนที่จังหวัดพะเยา  ได้เริ่มสั่งสมประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิต  สังเกตสิ่งรอบตัวด้วยสายตาของนักเขียน  ภายหลังเมื่อกลับมากรุงเทพฯ  ได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาเขียนเรื่องในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น 

            บันเทิงคดีเรื่องแรกที่เขียนลงในนิตยสารต่วยตูนพ็อกเกตบุ้ค  คือชุด “เมียพเนจร” ถือเป็นงานฝึกฝีมือ  หลังจากว่างเว้นการจับปากกาเขียนหนังสือ  จากนั้นได้เปิดร้านเบเกอรี่และได้นำประสบการณ์มาเขียนบันเทิงคดีชุด “ใครๆ ก็อยากมีร้านเบเกอรี่”  ใช้นามปากกา “ปังปอนด์” ตีพิมพ์ในต่วยตูน  และตามด้วยสารคดีมากมายหลายประเภท  รวมทั้งหนังสือเรื่อง “เราทั้งผอง อักษรา เทวาลัย” เป็นงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตสมัยเรียนอักษรศาสตร์ จุฬา ต่อมา ในปีแรกที่อมรินทร์พริ้นติ้ง จัดประกวดสารคดีรางวัลนายอินทร์  หนังสือเรื่อง “จากอาสำถึงหยำฉ่า สืบตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม” (พ.ศ. 2542)  ของยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เป็น 1 ใน 3 ของสารคดีที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด
            หลังงานเขียนครั้งนั้น  ส่งให้ชื่อ “ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง” เป็นที่รู้จัก  และมีหนังสือเกี่ยวกับคนกวางตุ้งตามมาอีกหลายชิ้น เช่น “กวางตุ้งเฮฮา”  (แพรวสำนักพิมพ์,พ.ศ. 2544) วาดภาพประกอบโดย ชัย ราชวัตร และ “ครัวอาสำ”  (ครัว บ้านและสวน,พ.ศ. 2545) หนังสือตำราอาหารกวางตุ้งแบบบ้านๆ  แต่งานเขียนที่ใจรักและใฝ่ฝันคือแนวนวนิยาย  จึงหันไปศึกษาการเขียนนวนิยายอย่างจริงจัง  ทั้งจากการเข้าฟังสัมมนาต่างๆ และศึกษาจากหนังสือแนะนำการเขียนทั้งไทยและเทศ  ที่สำคัญคือได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์ยิ่ง จากกองบรรณาธิการ Readers’Digest ซึ่งได้ชี้แนะวิธีการเขียนอย่างมีระบบ และละเอียดยิ่ง  เมื่อครั้งที่ตุ๊กส่งผลงานเรื่อง “โรงหนังของครอบครัว” ไปให้กับหนังสือ “สรรสาระ” ในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ (ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2543)   

            อีกผู้หนึ่งที่ต้องขอจารึกไว้คือ อ..นพพร ประชากุล ผู้ชี้ให้เห็นกลวิธีต่างๆ ในการเขียน  ด้วยเหตุนี้ หลังจากเรื่องสั้นหลายเรื่อง  ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำ “สกุลไทย” และได้รับรางวัลสุภาว์ เทวกุล  ในที่สุด นวนิยายขนาดสั้นเรื่องแรก “หวานนักรักนี้” ก็ได้รับการพิจารณาให้ลงเป็นตอนๆ ในสกุลไทยเช่นกัน ภายใต้นามปากกา “เข็มพลอย” นวนิยายเรื่องนี้มีขนาด 15 ตอน  และคุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ กรุณาติงว่าชื่อไม่ค่อยมีชั้นเชิง  ตุ๊กจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “หัวใจรักเกรดรีไฟน์” และได้รับการยอมรับจากบรรณาธิการ 

            นามปากกา “เข็มพลอย” จึงแจ้งเกิดนับแต่นั้น  และตามมาด้วยนวนิยายคุณภาพมากมาย  ที่ได้รับรางวัลหลายเวทีเกือบทุกเรื่อง  นั่นเพราะตุ๊กมีวิธีทำงานที่ละเอียด ประณีต และเขียนจนจบ ทบทวนจนเห็นว่าดีแล้ว จึงนำส่งให้ทางนิตยสารนำลงตีพิมพ์ต่อไป  เป็นเหตุให้มีงานออกสู่สายตาผู้อ่านน้อย  แต่งานเขียนสารคดีแนวบันเทิงแต่แน่นด้วยข้อมูล  ยังคงปรากฏอยู่ในนิตยสารต่วยตูนพ้อกเกตบุ้คอย่างสม่ำเสมอ  ด้วยนามปากกาหลายหลาก เช่น

ยุวดี  ต้นสกุลรุ่งเรือง  ( เขียนเรื่องทั่วๆ ไป และสารคดี )

อาสำ  (เขียนเกี่ยวกับเรื่องจีนกวางตุ้ง)

แคดดี้  69  ( เขียนเรื่องตลกๆเกี่ยวกับกอล์ฟ)

ตุหรัดตุเหร่, หนูตุ๊ก, โป๊ยเซียน, รหัส ๑๖ และ ฯลฯ 

ต. อักษรา  (เขียนนวนิยายกำลังภายใน)

 

ผลงานรวมเล่ม

  • เราทั้งผองอักษราเทวาลัย (สนพ. พี.วาทิน, 2541)
  • จากอาสำถึงหยำฉ่า สืบตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม (สนพ.นายอินทร์,พ.ศ. 2544)
    กรุ่นกลิ่นรัก (สนพ.เพื่อนดี, 2544) รวมเรื่องสั้น “เข็มพลอย”
  • กวางตุ้งเฮฮา (แพรวสำนักพิมพ์, 2545)
  • ครัวอาสำ (สนพ.ครัว บ้านและสวน, 2545)
  • ใครๆ ก็อยากมีร้านเบเกอรี่ (สนพ.วิริยะ,2545) Best Seller
  • ใครๆ ก็อยากมีร้านกาแฟ (สนพ.วิริยะ, 2546)
  • หัวใจรักเกรดรีไฟน์ (สนพ.วิริยะ, 2546) นวนิยาย “เข็มพลอย”
  • ใครๆ ก็อยากมีร้านดอกไม้ (สนพ.วิริยะ,2547)
  • ใครๆ ก็อยากส่งลูก (โก) อินเตอร์ (สนพ.วิริยะ,2547)
  • ละเลงครัว (นานมีบุ้คส์, 2547)
  • ครัวฟอร์คิดส์ English for You (สนพ.วิริยะ, 2548)
  • บ้านริมทะเลสาบ (สนพ.เพื่อนดี, 2548) นวนิยาย “เข็มพลอย”
  • หัวใจล่องหน กลรักเศรษฐศาสตร์ (สนพ.พิมคำ, 2549) นวนิยายแปล
  • เคหาสน์กุหลาบดำ (สนพ.เพื่อนดี, 2549) นวนิยายกำลังภายใน “ต.อักษรา
  • รอยวสันต์ (สนพ.Woman Publisher, 2551) นวนิยายรางวัลชมนาด ปีที่ 1
  • บุปผาพิทักษ์ (สนพ.เพื่อนดี, 2551) นวนิยายกำลังภายใน “ต.อักษรา”
  • ร้านหัวมุม (สนพ.เพื่อนดี, 2552) นวนิยาย “เข็มพลอย”
  • โถงสีเทา (สนพ.เพื่อนดี, 2554) นวนิยาย “เข็มพลอย”
  • เข้ม แรง แกร่ง รัก (สนพ.เพื่อนดี, 2556) นวนิยาย “เข็มพลอย”
  • ว้าวุ่นชุลมุนรัก (สนพ.เพื่อนดี, 2557)
  • ลมหายใจแห่งดวงดาว (สนพ.เพื่อนดี, 2558) นวนิยาย “เข็มพลอย”
  • ลำนำรักคลองเจ้าสาย (สนพ.เพื่อนดี, 2559) นวนิยาย “เข็มพลอย”


ตุ๊ก  เป็นนักเขียนที่ให้ความสำคัญกับ  “ข้อมูล”  ของเรื่องที่จะเขียนเป็นอันดับแรก  (สมกับที่จบเอกวิชาประวัติศาสตร์)  ตามมาด้วย  “จินตนาการ”  เมื่อได้  ข้อมูล  บวกกับ จินตนาการ  แล้วจึงคิดพล็อตเรื่อง  เรียบเรียง  และดำเนินการเขียนจนจบเรื่อง  จึงจะส่งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร

ผลงานที่ได้รับรางวัล

ปี พ.ศ. 2541   เรื่องสั้น “กล่องของแม่” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นของ  มูลนิธิสุภาว์  เทวกุล

ปี พ.ศ. 2544   เรื่องสั้น “ตายรัง” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นของ  มูลนิธิสุภาว์  เทวกุล

ปี พ.ศ.2544    สารคดี  “จากอาสำถึงหยำฉ่า สืบตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม” ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปีแรก

ปี พ.ศ. 2545   รวมเรื่องสั้น  10  เรื่อง “กรุ่นกลิ่นรัก” ได้รับรางวัลชมเชยรวมเรื่องสั้นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

ปี พ.ศ. 2551   นวนิยายเรื่อง “รอยวสันต์” ได้รับรางวัลดีเด่น  และได้รับโล่พระราชทาน “ชมนาดบุ๊คไพร้ช” ครั้งที่ 1 และหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วย ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “ A Walk through Spring”

ปี พ.ศ. 2556   นวนิยายเรื่อง “โถงสีเทา” ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการหนังสือแห่งชาติ  และ “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด”

ปี พ.ศ. 2559   นวนิยายเรื่อง “ลมหายใจแห่งดวงดาว” ได้รับรางวัลชมเชย  จากกลุ่มหนังสือนวนิยายของ สพฐ. ปี 2559

ระรินทิพย์ ศิโรรัตน์

นางระรินทิพย์   ศิโรรัตน์

“เปี๊ยบ”  เป็นเพื่อนในกลุ่ม  “ ป.ปลา” (เพราะชื่อเล่นของเพื่อนๆ จะขึ้นต้นด้วย ป.ปลา)  มาเจอและมารวมกลุ่มกัน  เมื่อเข้าเรียนชั้นปีที่ 1  คณะอักษรศาสตร์  ปี พ.ศ. 2516   เพื่อนๆในกลุ่มนี้มาจากต่างโรงเรียน  เปี๊ยบ  มาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย  และพวกเราในกลุ่ม “ป.ปลา” ยังรวมกลุ่มกันจนปัจจุบัน ถ้านับเวลาก็  44  ปี เข้าไปแล้ว  ถ้าว่างตรงกัน ส่วนมากจะนัดทานข้าวเที่ยงกัน

 เปี๊ยบ  เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย  แม้จะมีตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ  เป็นถึง  อธิบดี  คนแรกของกรมกิจการเด็กและเยาวชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เป็นกรมใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่  6  มีนาคม  2558  เปี๊ยบ  เป็นคน ตรงไปตรงมา  สิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง  เปี๊ยบจะไม่มีวันทำเด็ดขาด  เปี๊ยบ  เป็นความภาคภูมิใจของเพื่อนๆ กลุ่ม “ป.ปลา”  และเพื่อนร่วมรุ่น  อ.บ. 41

 เปี๊ยบ  เริ่มชีวิตข้าราชการ  เมื่อ  11  พฤศจิกายน  2520   ในตำแหน่ง  เจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์  3  ฝ่ายพัฒนานิคม  กองนิคมสร้างตนเอง  กรมประชาสงเคราะห์  กระทรวงมหาดไทย  ชีวิตราชการของเปี๊ยบเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

 

2524               - หัวหน้างานโครงการเร่งรัดที่ดินในนิคมสร้างตนเอง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2536               - หัวหน้าฝ่ายแผนงานและโครงการ  กองวิชาการและแผนงาน

2537               - หัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์  กองวิชาการและแผนงาน กรมประชาสงเคราะห์

                          กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

2542               - ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโครงการ  ต่อต้านการค้าหญิงและเด็กในระดับอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง  และทำหน้าที่เป็น National Project Coordinator ของโครงการดังกล่าว  ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

2548               - ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

3 ต.ค. 2551    - รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว  (รองอธิบดี )

1 ต.ค. 2553    - ผู้ตรวจราชการกระทรวง

10 พ.ย. 2554   - รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

2 ต.ค.  2556   -  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส 

                          และผู้สูงอายุ (ซึ่งตำแหน่งนี้ เทียบเท่าอธิบดี)

6  มี.ค.  2558  - อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  และ  รักษาการอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (เป็นไปตาม  พ.ร.บ. ปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง  ทบวงกรม  พ.ศ. 2558  จึงแยกหน่วยงานเดิมที่ดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการสำนักงาน  ออกเป็น  กรมกิจการเด็กและเยาวชนกับ  กรมกิจการผู้สูงอายุ

 

ผลงานเด่น      

- เป็นข้าราชการคนแรกของกรมที่รับผิดชอบงานโครงการต่อต้านการค้าหญิงและเด็กในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง  ซึ่งเป็นโครงการภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติ  โดยทำหน้าที่เป็นNational Project Coordinator   และเมื่อประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  พ.ศ. 2551 ได้ทำหน้าที่เป็น  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการในระดับชาติ  มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาล  ตลอดจนการจัดทำแผนระดับชาติประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน  ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

- โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด  โดยให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิดที่อยู่นอกระบบประกันสังคม  ที่เกิดระหว่างวันที่  1  ตุลาคม  2558  -  วันที่  30  กันยายน  2559  ที่บิดาและมารดา  หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  มีสัญชาติไทยและอยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน  คนละ  400 บาทต่อเดือน  เป็นเวลา  12  เดือน และต่อมา  คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ขยายอายุของเด็ก  ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง  3  ขวบ  และเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นคนละ  600 บาทต่อเดือน

 

งานสำคัญด้านต่างประเทศ

  • ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสภายใต้คณะมนตรี ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน SOCA Leader-ASEAN Socio-Cultural Council
  • ทำหน้าที่เป็นประธานฝ่ายไทยของ COMMIT Tadkforce ( Coordinated Mekong Ministerial Initiative against Human Trafficking )
  • เป็นคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติ ได้แก่ Commission on Social Development และ Commission on the Status of Women
  • เป็นคณะผู้แทนไทย ในการรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนได้แก่

-     International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR

-     International Convention on Elimination of all Forms of Racial Discrimination – CERD

-     Convention on the Rights of the Child – CRC

-     Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against  Women - CEDAW

 

เกียรติประวัติ

2555       - รางวัล “นักเรียนเก่าดีเด่นโรงเรียนราชินีบน”

2557       - รางวัล “ศิษย์เกียรติยศโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย”

2557       - รางวัล “ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  ประจำปี  2557”

2558       - ได้รับเชิญจาก  องค์การ  Care for Children  ไปที่กรุงลอนดอนได้มีโอกาสเข้าเฝ้า HRH Prince Michael of Kent  , GCVO and Patron of Care for Children  ณ ที่ประทับ  Kensington Palace ทรงสอบถามถึงปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย  และการส่งเสริมงานด้านครอบครัวอุปถัมภ์ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนรับผิดชอบอยู่

2559          - รางวัล “สตรีไทยดีเด่น ประจำปี  2559”

                  - รางวัล “ศิษย์เกียรติยศ (Wattana Pride & Prime) ประจำปี 2559”

                                                                                                              

คนทั่วๆไป เมื่อประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน  มักจะไม่ประสบความสำเร็จด้านชีวิตครอบครัว  แต่สำหรับ  เปี๊ยบ  แล้ว  เปี๊ยบประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตรับราชการ

และชีวิตครอบครัว  มีครอบครัวที่อบอุ่น  ลูกสาวทั้ง  2  ประสบความสำเร็จในการศึกษาและการงาน

 

 

 

 

รัชนีกร สรสิริ

“ แป้น”  เป็นเพื่อนอีก  1  คน  ในกลุ่ม  “ ป.ปลา”   แป้น  จบ  ม.ศ.  5  จาก โรงเรียนมัธยมสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตั้งแต่เป็นเพื่อนกันมา  44  ปี  ไม่เคยเห็น  แป้น  โกรธ  เลย  แป้นเป็นคน  ใจเย็น  ยิ้มแย้ม  อารมณ์ดี  ชอบท่องเที่ยว  ชอบแต่งตัวสวยงามและทาปากสีแดงสด  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแป้น  แต่สิ่งหนึ่งที่เพื่อนๆทึ่งมาก  ก็คือ  แป้นขับรถได้ “เปรี้ยว”   มาก  ซึ่งขัดกับบุคลิกที่ดูเป็นคนเรียบร้อย  บ้านแป้น  เป็นที่พบปะชุมนุมเพื่อนๆในกลุ่มตั้งแต่เรียน ปี 1  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาฯ  จนกระทั่งปัจจุบัน  พวกเราจะรวมกลุ่มกันไปทานอาหารที่บ้านแป้น  อย่างน้อย ปีละครั้ง  เพื่อนๆเคยคิดว่า  เมื่อทุกคนเกษียณแล้ว  น่าจะได้พบปะกันบ่อยขึ้น  แต่ไม่ใช่เลย  เพราะหลังเกษียณอายุราชการ    แป้น  ได้รับการแต่งตั้งเป็น

 

               - ที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) 

               - ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

              -  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

 

ทำให้แป้นมีงานทำ งานประชุมมากขึ้น  บ่อยครั้งที่นัดทานข้าวกัน  นัดไปเที่ยวกัน  ต้องยกเลิกกะทันหัน  เพราะ แป้น  มีงานด่วนแทรกเข้ามา

 

แป้น  เริ่มเข้ารับราชการ  ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์  3  กองการต่างประเทศ  และแป้น  ทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  จนเกษียณอายุราชการ  เส้นทางชีวิตราชการของ  แป้น  เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ

2521                    เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์  3  กองการต่างประเทศ

2523                    เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน  4  ฝ่ายการต่างประเทศ  กองวิชาการและวางแผน

2525                    เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์  4  ฝ่ายการต่างประเทศ  กองวิชาการและวางแผน   

2543                    เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์  8 ว   กลุ่มวิชาการต่างประเทศ  กองการต่างประเทศ

2547                    ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ

2548 – 2556          ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ

2556 – 2558          รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

 

 

ผลงานดีเด่น

  • ริเริ่มโครงการสำนักงาน ป.ป.ส. อาเซียน (ASEAN – NARCO) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านยาเสพติด
  • ริเริ่มการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด เป็นครั้งแรก  ในเดือนสิงหาคม  2555  โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
  • เป็นผู้ผลักดันให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านยาเสพติด  เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำ  ณ  สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเพื่อนบ้าน
  • เป็นผู้ประสานงานกลางของประเทศไทยสำหรับการดำเนินความร่วมมือและโครงการภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7  ฝ่าย  ระหว่าง  กัมพูชา  จีน  ลาว  เมียนมา  ไทย  เวียดนาม  และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
  • มีส่วนร่วมในการผลักดันการเผยแพร่ความเชี่ยวชาญของไทยด้านการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development ) ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นของชุมชนบนพื้นที่สูง  เป็นการสนับสนุน  ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆแทนการปลูกฝิ่น  และนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อประชาคมโลก  ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ  โดยร่วมกับหน่วยงาน  และสถาบันที่เกี่ยวข้อง เช่น  มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ   มูลนิธิโครงการหลวงฯ  ในการจัดนิทรรศการและจัดการประชุมระหว่างประเทศด้านการพัฒนาทางเลือก (International Conference on Alternative Development  -ICAD)  เมื่อปี  2554    ทำให้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ  เห็นชอบให้ใช้เป็นแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก

 (United Nations Guiding Principles on Alternative Development )  เพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่นและพืชอื่นๆที่ให้สารเสพติด  ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ  ( Sustainable Development Goals – SDGs )

  • เป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการ Global SMART Programmer Advisory Board  ซึ่งจะมีผู้

แทนจากภูมิภาคต่างๆ ร่วมกับทีมงานของ UNODC  ในการให้ข้อแนะนำ  รวบรวม  ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล  เกี่ยวกับการแพร่ระบาด  การลักลอบค้ายาเสพติด

  • แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพ

ติดของสำนักงาน ป.ป.ส.  ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก จีน  และ สหรัฐอเมริกา

  • ร่วมในการเจรจาร่างบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทย /  สำนักงาน ป.ป.ส.  จะมีการลงนาม

บันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานต่างประเทศ 

  • ดำเนินโครงการร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศด้านยาเสพติด เพื่อให้ประเทศไทยคงสถานะ

ของความเป็นศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านการปราบปรามยาเสพติด

  • จัดทำเอกสารวิชาการเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านยาเสพติด

เพื่อใช้เผยแพร่ภายในสำนักงาน  ป.ป.ส. และใช้ในการฝึกอบรม  และยังได้เขียนบทความเพื่อเผยแพร่ต่อหน่วยงานต่างประเทศเพื่อให้มีความเข้าใจต่อการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย  เช่น”  War  on  Drugs” ( การประกาศสงครามกับยาเสพติด ) ในปี  2547  และ  “ความร่วมมืออาเซียนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด”

เกียรติประวัติ

2532               ข้าราชการพลเรือนดีเด่น  ประจำปี  2531  ของสำนักงาน  ป.ป.ส. 

 

 

   

ศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา สถาอานันท์

สุวรรณา สถาอานันท์ (อ.บ.41 นางสาว สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ) เกิดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2497 จบประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คอนแวนต์ และมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบได้เป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย สายศิลป์  จากนั้นจบอักษรศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาปรัชญา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับปริญญาเอกจาก University of Hawai’i (at Manoa)  ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านพุทธปรัชญาสายญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนและทำงานวิจัยด้านปรัชญาจีน จริยศาสตร์ขงจื่อ พุทธปรัชญา  ปรัชญาศาสนา และ ศาสนากับปัญหาสังคมร่วมสมัย

              

ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา มีงานเขียนทางวิชาการทั้งที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี และจีน มีผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่มทั้งในฐานะผู้เขียน ผู้แปลและเขียนบทนำ และเป็นบรรณาธิการในภาษาไทยกว่าสิบเล่ม งานชิ้นสำคัญได้แก่  คำ ร่องรอยความคิดความเชื่อไทย (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2535, 2537, 2542);   ศรัทธาและปัญญา : บทสนทนาทางปรัชญาว่าด้วยศาสนา (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545, 2550);   ความเรียงใหม่รื้อสร้างปรัชญาตะวันออก  (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547);  ความจริงในมนุษยศาสตร์   (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2549);   หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา  (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551, 2555);    อารมณ์กับชีวิตที่ดีในปรัชญาขงจื่อ (โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557) และ   จริยศาสตร์ต่างตอบแทนในปรัชญาขงจื่อ (โครงการปริญญาโท วัฒนธรรมจีนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557) ขณะนี้กำลังทำวิจัยเรื่อง  Buddhist-Christian Relations in Thailand  สำหรับ The European Network for Buddhist-Christian Studies และกำลังทำวิจัยเรื่อง “สวมรอยความดี ปัญหาจริยศาสตร์ในปรัชญาขงจื่อ”

 

งานวิจัยแปล หลุนอี่ว์ ของศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา นับว่าได้บุกเบิกการวิจัยด้านปรัชญาจีนในสังคมไทยอย่างสำคัญ เพราะได้ช่วยให้นักวิจัยสามารถอ่านคัมภีร์ขงขื๊อฉบับแปลเป็นภาษาไทยที่มีบทนำกว่า 150 หน้า  เป็นงานแปลที่มาการวิจัยและมีคุณภาพทางวิชาการ เป็นแหล่งอ้างอิงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา เป็นผู้ดำรงศาสตราจารย์ในสาขาวิชาปรัชญาที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย ในอดีตเคยเป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญา และรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะอักษรศาสตร์ ในด้านการทำงานส่งเสริมงานวิจัยมนุษยศาสตร์ในประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2557 เป็นผู้ประสานงานชุดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย (สกว.) ทำงานพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยทางมนุษยศาสตร์ทั้งระดับอาวุโส ระดับกลาง และอาจารย์รุ่นใหม่ รวมทั้งนิสิตบัณฑิตศึกษา ให้มีเวทีระดับชาติเพื่อเสนอผลงานวิจัยและเพื่อเปิดประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ทางมนุษยศาสตร์และปัญหาสังคมร่วม

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา เป็นอดีตนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย (2549-2551) และอดีตกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (2552-2556) เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ในการประชุม World Congress of Philosophy ครั้งที่ 23 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นนักปรัชญาสตรีคนแรกของไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการดำเนินงานของสมาพันธ์สมาคมปรัชญานานาชาติ (International Federation of Philosophical Societies) อันเป็นเครือข่ายสมาคมปรัชญานานาชาติที่กว้างขวางที่สุดในโลก  อีกทั้งเมื่อเดือนมกราคม 2559ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Program Committee ของ  World Humanities Conference, International Council of Philosophy and Human Sciences (UNESCO)  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านมนุษยศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเป็นกรรมการทุนอานันทมหิดล แผนกอักษรศาสตร์

 

ศาสตราจารย์ สุกัญญา สุจฉายา

เกิดวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2497  สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย  กรุงเทพฯ        ก่อนเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2516 ได้ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทย ปี พ.ศ. 2519  และจบปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย (วรรณคดีไทย) จากสถาบันเดียวกันในปีพ.ศ. 2522

แรกบรรจุเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่นในปีพ.ศ. 2523 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2528   ในปีพ.ศ. 2533 ได้ย้ายมาปฏิบัติราชการที่ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2542 เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างปีพ.ศ.2542-2544 และรับตำแหน่งเป็นเป็นผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2552-2557  ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง รุ่นที่ 9 ในปี พ.ศ.2554     และได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ A2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

                   ศาสตราจารย์ สุกัญญา สุจฉายาได้รับการยอมรับทางด้านวิชาการและการวิจัยทั้งทางด้านคติชนวิทยา ภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับด้านวรรณคดีไทยและวรรณคดีท้องถิ่น  หนังสือและตำราที่ได้รับการตีพิมพ์ดังเช่น เพลงพื้นบ้านศึกษา 2545 พิธีกรรม ตำนาน นิทาน เพลง : บทบาทของคติชนกับสังคมไทย 2548  วรรณคดีนิทานไทย 2556  วรรณกรรมมุขปาฐะ  2556 สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง ๑๕ เล่ม (พ.ศ.2544 )   นามานุกรมวรรณคดีไทยสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลางฉบับเพิ่มเติม 3 เล่ม (พ.ศ.2554) ฯลฯ     รายงานการวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยสหสาขาเพื่อตอบโจทย์ของประเทศในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การวิจัยภาคสนามการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยและ  การยกร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแผนพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ.2550  การศึกษาสถานภาพการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย พ.ศ.2555 โครงการวิจัย Human and Chicken Multi-Relationships Research Project (HCMR) ไทย-ญี่ปุ่น. ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าชายอากิฌิโน และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  2547-2552 งานวิจัยสารานุกรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย(ความงามด้วยภูมิปัญญาไทย)2557  ฯลฯ  กล่าวได้ว่าผลงานทั้งด้านหนังสือ ตำรา และงานวิจัยได้ถูกนำไปใช้อ้างอิง อย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ

 ศาสตราจารย์สุกัญญา  สุจฉายา ได้รับเชิญเป็นคณะกรรมการระดับชาติหลายชุด เช่น คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ  ช่วงระยะเวลาการรับราชการ ศาสตราจารย์สุกัญญา  สุจฉายาได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นจากหน่วยงานรัฐและองค์กรอื่นๆมากมาย ดังเช่น รางวัลครูภาษาไทยดีเด่นระดับอุดมศึกษา2546 รางวัลศิลปาธร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น พ.ศ.2558 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติดีเด่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2558 จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาต

 

 

ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง

ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุงหรือ “ครูอุ๋ย” ที่ลูกศิษย์ใช้เรียกขาน เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาศิลปการละครตั้งแต่ปี 2525. เกษียณอายุในปี 2558.  เป็นศาสตราจารย์วิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2561 ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส ในปี 2559 ของ สกว (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)  ให้สร้างทีมวิจัยรุ่นใหม่ อันเป็นทุนต่อเนื่อง (ปี 2559-61) บุกเบิก "วิจัยการแสดง"ที่เน้น"การลงมือปฏิบัติ" ได้รับเลือกเป็น"อาจารย์ดีเด่นสาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ "ในปี 2558 ของ ปอมท.อันเป็นรางวัลในระดับชาติ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะการแสดง จากมหาวิทยาลัยบูรพาในปี 2557

" ครูอุ๋ย"เริ่มเป็นครูด้วยการสอนวิชาหุ่นและการละครสำหรับเด็ก ฝึกฝนทักษะการเขียนบท ทำฉาก และเชิดหุ่นในรายการ ”หุ่นหรรษา” ของครูแอ๋ว รศ. อรชุมา ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นรายการหุ่นเชิดมือสำหรับเด็กยุคแรกๆของเมืองไทย “ครูอุ๋ย”สนใจเรื่องการทำละครในชนบท ละครชุมชน และเริ่มนำนิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเร่แสดงละครหุ่น ละครเยาวชนในภาคเหนือ ภาคอิสานตั้งแต่ปี 2526 ต่อมาสอนวิชา การแสดง การกำกับการแสดง การละครสำหรับเยาวชนและการละครประยุกต์ ทั้งในหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท จึงได้รับการอนุมัติจากคณะและมหาวิทยาลัยให้จ้างต่อหลังการเกษียณอายุราชการ ในเดือนตุลาคม 2558

“ครูอุ๋ย” มีผลงานวิจัย วิชาการ และสร้างสรรค์ด้านการละครร่วมสมัย การละครขนบนิยมใหม่ เป็นผู้บุกเบิกการทำงานละครนอกกรอบ ได้แก่ ละครเยาวชน ละครในการศึกษา ละครประยุกต์ และละครชุมชน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณามรดกทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย อุทยานการเรียนรู้และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ

ในวิถีการทำงานด้านวิชาการ ครูอุ๋ย เป็นทั้งผู้ริเริ่ม ทดลอง บุกเบิก พัฒนา เผยแพร่ เป็นต้นแบบ และเป็นตัวอย่างในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ งานวิชาการ งานวิจัย และตำรา ในศาสตร์ของการละครแขนงใหญ่ 4 แขนง
-งานด้านการละครสำหรับเด็ก ละครเยาวชน ละครหุ่นและหน้ากาก
-งานด้านการละครในการศึกษา การใช้ละครในห้องเรียน และหลักสูตรการละครระดับต่างๆ
-งานด้านการละครเพื่อการพัฒนา ละครเร่ ละครชุมชน และละคศาสตราจารย์รประยุกต์
-งานด้านการละครและการแสดงแนวขนบนิยมร่วมสมัย ละครแนวพหุวัฒนธรรม งานละครพื้นถิ่นร่วมสมัย งานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย การสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงร่วมสมัยจากรากวัฒนธรรม ด้วยนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย และศิลปะการละครไทย การทำงานสร้างสรรค์แบบcollaboration การสร้างงานแบบdevising การรื้อสร้างทางการละคร การละครหลังสมัยใหม่ และการละครร่วมสมัย

ในฐานะครู ครูอุ๋ยเป็นผู้บ่มเพาะและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ศิลปิน คณะละครโรงเล็ก กลุ่มละครชุมชน ละครเยาวชน ละครเพื่อการพัฒนา ที่สำคัญของไทย อาทิ ศิลปินศิลปาธร 4 คน คือ ประดิษฐ ประสาททอง พิเชษฐ กลั่นชื่น สินีนาฏ เกษประไพ และนิกร แซ่ตั้ง กลุ่มละครมะขามป้อม คณะเต้นรำ PichetKlunchun Dance Company คณะละคร8x8 คณะละครกะจิดริด กลุ่มละครบางเพลย์ กลุ่มละครมานีมานะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็น ที่ปรึกษาของกลุ่มศิลป์อาสา บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชน แมวขยันดี และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะเล่านิทาน “คิดแจ่ม”ที่สร้างสรรค์งานเล่านิทานเล็กๆสำหรับเยาวชน

ในช่วงบุกเบิกของการละครร่วมสมัย. ครูอุ๋ย เป็นผู้ประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างศิลปิน กลุ่มละคร และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดชุมชนการละครปรากฏการณ์ “โรงละครห้องแถว” เครือข่ายละครกรุงเทพฯ และเทศกาลละครกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงาน ศิลปะการแสดงร่วมสมัยระดับชาติ โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับเครือข่าย คณะละคร และผู้จัดเทศกาลละครทุกปี นอกจากนั้นยังเป็นผู้ผลักดันให้ศิลปิน นักวิชาการ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทางด้านการละครและ นาฏศิลป์ได้มีโอกาสนำผลงานวิชาการ วิจัย และผลงาน สร้างสรรค์ เผยแพร่ในการประชุม วิชาการ และเทศกาลศิลปะการแสดงระดับชาติและ นานาชาติอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังเป็นผู้นำความร่วมมือจากต่างประเทศ เข้ามาในวงการ การศึกษาศิลปะการละคร และนาฏศิลป์ไทย กระจายโอกาสให้กับคณาจารย์ในสถาบัน การศึกษาระดับอุดมศึกษาต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศิลปินระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจและกระจายความรู้วิชาการ นาฏศิลป์และศิลปะการแสดงไทย ตลอดจนผลักดันและประสานงานเชื่อมต่อให้เกิด ความร่วมมือของเครือข่ายอาจารย์ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักศึกษา และศิลปิน ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง เป็นครูของครู เพราะมีลูกศิษย์ทั้งในหลักสูตร ระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่จบการศึกษาไปเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค และศิษย์นอกหลักสูตร อันได้แก่ศิษย์จากการบรรยายอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านการละครชุมชน การละครเพื่อการพัฒนา ละครในการศึกษา ฯลฯ ตลอดจนศิษย์นักปฏิบัติ งานละครและศิลปินที่ฝึกฝนเรียนรู้การสร้างสรรค์ทดลอง งานละครแนวต่างๆ จากการทำงาน ร่วมกับศาสตราจารย์พรรัตน์ และนักเรียนหลายคนของศิษย์เหล่านี้ก็ได้ดำเนินรอยตาม โดยทำหน้าที่เป็นครูการละครสืบต่อมาเป็นรุ่นๆ

 

ศิราพร ณ ถลาง

ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง หรือ เจื้อย เป็นอักษรศาสตร์ 41 ที่จบปริญญาตรีและปริญญาโทจากภาควิชาภาษาไทยแล้วไปเรียนต่อปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม เคยเป็นอาจารย์ที่สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช แล้วย้ายมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนเกษียณอายุราชการ

เจื้อยสนใจวิชาคติชนวิทยา (Folklore) หรือเรื่องพื้นบ้านๆ เช่น นิทาน-ตำนานพื้นบ้าน ประเพณีพื้นบ้าน วิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชน และศึกษาคติชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อยู่นอกประเทศไทยด้วย วิถีชีวิตของเจื้อยตั้งแต่เรียนจบ ทำงาน จนเกษียณ ก็วนเวียนอยู่ในแวดวงวิชาการ เป็นทั้งครูบาอาจารย์และนักวิจัย

ช่วงที่สอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็สอนวิชาทางด้านคติชนวิทยา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และในหลักสูตรไทยศึกษานานาชาติ  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้นิสิตทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในหลายหลักสูตร จำนวนประมาณ 40 คน ซึ่งนับว่าได้ช่วย “สร้างคน” ให้ไปเป็นกำลังหลักให้แก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ หรือเรียกได้ว่าเจื้อยได้สร้าง “ลูกศิษย์” ให้ไปเป็น “อาจารย์” ในมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ

ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ศิราพรได้เขียนหนังสือและตำราเล่มหลักๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนทางคติชนวิทยาในจุฬาฯ และในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ทฤษฎีการแพร่กระจายของนิทาน, ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่น, ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน,  Thai Folklore: Insights into Thai Culture เป็นต้น

ทางด้านงานบริหาร ศิราพรได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยาคนแรกของคณะอักษรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2542 ซึ่งศูนย์คติชนวิทยาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายนักคติชนวิทยาในประเทศไทย  ในช่วง พ.ศ. 2550-2557  ได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา (Thai Studies Center) คณะอักษรศาสตร์ ดูแลนิสิตชาวไทยและชาวต่างชาติในหลักสูตรนานาชาติระดับ MA และ PhD in Thai Studies และสร้างเครือข่ายไทยศึกษานานาชาติ

เนื่องจากคติชนวิทยาเป็นศาสตร์ที่มีคนรู้ไม่มาก ตำราเรื่อง “ทฤษฎีคติชนวิทยา” ที่เจื้อยเขียนได้ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนคติชนวิทยาทั่วประเทศ และตำราเล่มนี้ทำให้เจื้อยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ศาสตราจารย์ ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2550 และ สืบเนื่องต่อมาใน พ.ศ. 2554 ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เชิญให้เจื้อยเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.”   เพื่อให้ช่วยพัฒนาการวิจัยทางคติชนวิทยาต่อ โดยให้เจื้อยเป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัยและให้ช่วยดึงนักวิจัยรุ่นเยาว์มาร่วมทีม ซึ่งเจื้อยได้เสนอชุดโครงการวิจัยเรื่อง ““คติชนสร้างสรรค์” : พลวัตและการนำคติชนไปใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย” โดยมีนักวิจัยรุ่นลูกศิษย์ร่วมทีมอีก 20 คน นับว่าเจื้อยได้ช่วยสร้าง “นักคติชน” เพิ่มให้วงวิชาการของประเทศไทย

ในช่วง พ.ศ. 2558-2559  ผลงานวิจัยจากชุดโครงการวิจัย “คติชนสร้างสรรค์ฯ” ได้รับการตีพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จำนวน 4 เล่ม เช่น “ประเพณีสร้างสรรค์” ในสังคมไทยร่วมสมัย, เรื่องเล่าพื้นบ้านไทย ในโลกที่เปลี่ยนแปลง, “คติชนสร้างสรรค์” : บทสังเคราะห์และทฤษฎี, พิมพ์โดยสำนักพิมพ์จุฬาฯ 1 เล่ม และโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ 1 เล่ม  ซึ่งในปัจจุบันนี้ หนังสือเหล่านี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนทางด้านคติชนวิทยาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ผลงานวิจัยของศิราพรในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้ “สร้างกระแสใหม่ทางวิชาการ” เพราะศิราพรได้สังเคราะห์ผลการวิจัยออกมาเป็น “ทฤษฎีคติชนสร้างสรรค์”  ทำให้เกิดการนำแนวคิดทฤษฎีนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์การนำคติชนในสังคมประเพณีมาปรับใช้ในปัจจุบันโดยเฉพาะในบริบททุนนิยมโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และบริบทการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา เจื้อยยังได้ทำงาน “บริการสังคม” โดยได้ช่วยประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนสถานภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ช่วยประเมินบทความวิชาการจำนวนมากให้วารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติ  เป็นประธานกรรมการคัดเลือกวรรณกรรมพื้นบ้านในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น

การที่ศิราพรเป็น “เสาหลัก” คนหนึ่งในวงวิชาการคติชนวิทยาและด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านคติชนวิทยาอันเป็นที่ประจักษ์ ทำให้หลังเกษียณแล้วศิราพรได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    

รางวัล เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

 

 รับพระราชทานโล่เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

 

     

สนิทสุดา เอกชัย

ที่ระเบียงตึกอักษรศาสตร์ครั้งกระโน้น เพื่อนสองคนยืนคุยกัน ชีวิตนิสิตจุฬากำลังจะสิ้นสุด อนาคตข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไรหนอ คนหนึ่งคือสุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ หรือโป้งของเพื่อนๆ อีกคนหนึ่งคือสนิทสุดา เอกชัย หรือจ๋า 

โป้งเรียนเก่งระดับเทพ แน่วแน่ว่าจะเรียนต่อและทำงานวิชาการ  จ๋าบอกว่าเป็นนักวิชาการเหนื่อยเกินไป เรียนก็หนัก ต้องทำวิจัยมากมายกว่าจะผลิตงานออกมาได้ แต่งานวิชาการดีๆคนก็ไม่รู้จัก อยู่บนหิ้งเสียมาก เอาแบบนี้แล้วกัน โป้งเป็นนักวิชาการไป เป็นคน“ค้น” ส่วนจ๋าจะเป็นคน“คว้า” เอาไปเขียนให้คนได้อ่านกันก็แล้วกัน ง่ายกว่ากันแยะเลย  และได้ประโยชน์ด้วย 

การพูดคุยเล่นๆวันนั้นกลายเป็นความจริง

 

โป้งเป็นศาสตราจารย์สาขาปรัชญา งานวิชาการของโป้งเป็นที่รุ้จักกันดีในระดับนานาชาติ งานทางพุทธศาสนาเล่มหนึ่งของโป้งนั้นเด่นในระดับที่ท่านพุทธทาสเขียนคำนำให้  ไม่ธรรมดาเลย

 

ส่วนจ๋านั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ และได้ “คว้า” งานที่โป้ง “ค้น” ไปเขียนหลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะเรื่องผู้หญิงในพระพุทธศาสนาที่โป้งเชี่ยวชาญ จ๋าบอกว่าการมีกัลยาณมิตรในแวดวงวิชาการช่วยมากในการมองปัญหาต่างๆให้ลึกกว่าระดับข้อมูล

จ๋ามาจากครอบครัวนักหนังสือพิมพ์ คุณพ่อคือคุณสนิท เอกชัย ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเจ้าของหนังสือพิมพ์เดลิไทม์ คุณแม่คือคุณเสริมศรี เอกชัย นามปากกา “สนทะเล”  อดีตนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่จ๋าเลือกเป็นนักหนังสือพิมพ์ตราบจนเกษียณเป็นเวลานานกว่าสามสิบปี 

หลังจากจบปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ก็เริ่มทำงานที่บางกอกโพสต์ทันที อักษรศาสตร์สอนให้มองโลกจากมุมของนักคิดนักเขียน สอนให้คิด ให้อ่าน ให้ฟัง ให้เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ รัฐศาสตร์สอนให้ดูปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์  จ๋าบอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการเป็นนักข่าว

 

จากนักข่าวหน้าสังคม หน้าผู้หญิง จ๋าเริ่มเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิในมุมต่าง เริ่มจากปัญหาและสิทธิของผู้หญิง ประชาชนในชนบท ศาสนาพุทธในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวพันกับระบบความเชื่อเรื่องอำนาจซึ่งกดทับผู้คนทุกระดับ จ๋าบอกว่าปัญหาของประเทศคือสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แต่ระบบความเชื่อไม่เปลี่ยน ลักลั่นแบบนี้ก็ยังคงจะต้องลำบากกันต่อไป

 

จ๋ามีผลงานเป็นหนังสือหลายเล่ม ที่ภูมิใจมากคือเล่มแรกคือ Beyond the Smile: Voices of Thailand เป็นการรวบรวมบทความที่ให้คนเล็กคนน้อยในภาคต่างๆได้เล่าถึงชีวิตและผลกระทบที่ได้รับจากการพัฒนาที่มุ่งการเติบโตทางตัวเลขเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้คน  

Seeds of Hope: Local Initiatives in Thailand เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความพยายามของประชาชนในพื้นที่ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จ๋าบอกว่าถ้ารัฐฟัง เคารพ และเรียนรู้จากประชาชนเหล่านี้ จะแก้ปัญหาไปได้มาก ส่วน Keeping the Faith: Thai Buddhism at the Crossroads รวบรวมงานเขียนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศไทย 

จากนักข่าวนักเขียนสารคดี ต่อมาได้ทำหน้าเป็นบรรณาธิการแผนกสารคดี Outlook ซึ่งเพื่อนรัก ม.ร.ว. อุษณิษา สุขสวัสดิ์ ได้มาร่วมงานและเป็นบรรณาธิการด้วยเช่นกัน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือบรรณาธิการหน้าบทความ ปัจจุบันจ๋ายังคงทำงานเขียนต่ออย่างต่อเนื่อง 

ระหว่างการทำงานจ๋าได้รับรางวัลต่างๆทั้งระดับนานาชาติและในประเทศไทย จ๋าบอกว่าชื่นใจที่มีคนอ่านและชอบงานที่เขียน แต่ไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จ เพราะปัญหาต่างๆที่เขียนถึงตลอดชีวิตการทำงานไม่ใช่แค่ไม่ดีขึ้น แต่ร้ายแรงขึ้นด้วยซ้ำ ถึงจะหมดหน้าที่การทำงานแบบทางการ แต่ก็คงต้องเขียนต่อไป “ทำอย่างไรได้เมื่อได้เลือกเดินทางสายนี้แล้ว” จ๋าบอก

สาโรจน์ เกษมถาวรศิลป์

ผมรู้จักนายสาโรจน์ เกษมถาวรศิลป์ มาตั้งแต่เรียนมัธยมที่วัดนวลวรดิศ  เขาถือฤกษ์เกิดตามสำเนาทะเบียนบ้านเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2498 แต่ถ้านับตามสูติบัตรเกิดเมื่อ 6 มิถุนายน 2498 ตามที่แม่เล่าให้ฟังบ่อยๆกับ “หมู” (ชื่อเล่นของเพื่อนผมครับ)  ฟังว่าว่า “เอ็ง” เกิดวันที่มีลิเกมาเล่นแถวบ้านย่านตรอกโรงหมู ตลาดพลู ธนบุรี เลยไม่รู้ว่าจริงๆเกิดวันที่เท่าไรแน่ ถ้าจะนับตามกฎหมายก็ต้องนับเอาวันที่ 1 มกราคม 2498 แต่ไม่ว่าจะเกิดวันไหนนับถึงวันนี้เขาอายุได้ 61 ปีเศษ

เขาเกิดในครอบครัวคนจีนฐานะยากจน พ่อ แม่ ประกอบอาชีพทำสิ่งประดิษฐ์จากหวายจำพวก เปลหวาย ตะกร้าหวาย เก้าอี้หวาย เมื่อโตพอจะเข้าโรงเรียนได้ก็จะเรียนที่โรงเรียนวัดใกล้บ้านรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร พอที่จะเดินไปโรงเรียนได้ จบ ป.4 ร.ร. วัดราชคฤห์ ป.7 ร.ร. วัดนาคปรก ม.ศ.5 ร.ร. วัดนวลนรดิศ

เขาชอบเรียนภาษามากกว่าคำนวณจึงเลือกเรียนสายศิลป์ภาษาฝรั่งเศสในชั้น ม.ปลาย จากนั้นจึงเข้าเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา เมื่อปีพ.ศ.2516 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำให้มีโอกาสไปค่ายต่างจังหวัดได้เห็นชีวิตชาวบ้านยากจน เป็นแรงผลักดันให้เขาเลือกไปเป็นครูที่ต่างจังหวัดที่จังหวัดตั้งใหม่ขณะนั้นคือจังหวัดพะเยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ทั้งที่สอบได้ที่ 1 ของที่ 1 ทุกสาขาวิชาเอกแต่เลือกไปบรรจุที่ ร.ร. ฟากกว๊านวิทยาคมซึ่งเป็น ร.ร. มัธยมประจำตำบลที่ไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา สาเหตุที่เลือก ร.ร. นี้เพราะเพื่อนผมเข้าใจผิดว่า ร.ร. ตั้งอยู่ติดกว๊านพะเยาตกเย็นจะได้เล่นน้ำแต่แท้จริง ร.ร. นี้ตั้งตามชื่อคืออยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยาเลยไม่ได้เป็นอย่างที่คิดที่จะได้ลงเล่นน้ำในกว๊าน

ผม นาย พีรพล คดบัว เป็นเพื่อนรักที่อักษรฯซึ่งเป็นเพื่อนเลิฟตั้งแต่ชั้นมัธยม กลัวว่าเพื่อนจะลำบากเลยชวนให้มาสอบเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ (ภาคบัณฑิต) มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในปี 2524 สัญญาว่าจะช่วยไปนั่งเรียนและคอยส่งเล็กเชอร์ให้ แต่พอเรียนได้ 2 เดือน   ผมดันสอบไปเป็นปลัดอำเภอได้ เพื่อนผมเลยต้องเรียนแบบช่วยตัวเองอาศัยอ่านตำราเก่าไปสอบจนสามารถเรียนจบได้ใน 3 ปีตามหลักสูตร และสอบเป็นเนติบัณฑิตได้ขณะเป็นครู

เพื่อนอักษรฯ ที่เรียนกฎหมาย ชื่อ น.ส. ดุษฎี หลีละเมียร ขณะนั้นเป็นนิติกรอยู่ สนง. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชวนให้โอนย้ายมาเป็นนิติกรด้วยกันในปี 2529 เพื่อเอาคุณสมบัตินิติกร จึงโอนมาเป็นนิติกรอยู่ 4 ปีก่อนสอบแข่งขันเป็นผู้พิพากษาได้ในปี 2533 ขณะนั้นเขาอายุได้ 35 ปี

 “โสภณ รัตนากร” ประธานศาลฎีกาขณะนั้นชี้ชวนว่าเมื่อเพื่อนผมมีพื้นความรู้ด้านภาษาดีควรสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศดังนั้นเมื่อเป็นผู้พิพากษาได้ 3 ปี มีคุณสมบัติครบสอบชิงทุนของกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลศาลในขณะนั้น จึงสอบได้ทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในระดับปริญญาโทสาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ

เมื่อจบกลับมาเขาได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่ผู้บริหารสำนักงานศาลในระดับรองอธิบดีแต่เขาตอบปฏิเสธเพราะชอบที่จะทำหน้าที่ผู้พิพากษาตัดสินคดีมากกว่า

 ส่วนตัวของเขามีความเห็นว่า “ภาษา กฎหมาย และความยุติธรรม” เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าหากมีความเข้าใจในภาษาย่อมเข้าใจกฎหมายและสามารถให้ความยุติธรรมได้ ตลอดชีวิตการทำงานเพื่อนผมจึงนำเอา 3 สิ่งนี้มาหลอมรวมเป็นปรัชญาในการทำงานของเขาเสมอมา

               ช่วงปี 2548-2550 เขาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดลำปาง แผนกคดีเยาวชน 1 ปีและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอีก 2 ปี ขณะดำรงตำแหน่งได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเช่นสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายขอแรงเมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย สิทธิได้รับการเยียวยาเมื่อตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม บทความต่างๆได้รวบรวมเป็นหนังสือชื่อ “บนเส้นทางสู่ผู้พิพากษา” ตีพิมพ์ครั้งละ 2,000 เล่ม รวม 5 ครั้ง นอกจากเป็นหนังสือที่รวบรวมสิทธิเบื้องต้นทางกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ ยังเป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกฎหมายที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นผู้พิพากษาอีกด้วย

  “ฟ้องหมอให้ติดคุกทำไม” เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เขาเขียนอธิบายเกี่ยวกับคดีที่ฟ้องกล่าวหาหมอว่ากระทำโดยประมาทโดยยกให้เห็นตัวอย่างว่ากรณีไหนบ้างที่หมอกระทำโดยประมาทจริง กรณีไหนบ้างที่เห็นว่าไม่น่าจะลงโทษหมอได้เพราะไม่ใช่การกระทำโดยประมาท ชี้ให้หมอได้ตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีความรอบคอบมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ช่วยชี้ทางให้วงการแพทย์หันมาตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขึ้นในโรงพยาบาลเพื่อเยียวยาความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์และคนไข้ตั้งแต่ต้นมือ ช่วยลดข้อพิพาทที่อาจนำขึ้นสู่ศาลลงได้ทางหนึ่ง

ปี 2555-2556 ขณะที่เพื่อนผมดำรงตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้ผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซี่ยนโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอันหนึ่งคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้จัดตั้งแผนกคดีแรงงานขึ้นในศาลประชาชนสูงสุดเป็นครั้งแรกในปี 2557

เอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ลูกจ้างชาวไทยที่ทำงานในสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทยไม่สามารถฟ้องนายจ้างได้ ทำให้ลูกจ้างชาวไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสัญญาจ้างไม่มีสิทธิใช้สิทธิทางศาลในประเทศไทยได้ ซึ่งศาลฎีกาไทยยึดแนววินิจฉัยตามแนวคิดนี้มาโดยตลอด แต่เมื่อได้ศึกษาแล้วเห็นว่าเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูตที่เคยเป็นแบบไม่มีขีดจำกัด (Absolute) ได้เปลี่ยนเป็นแบบมีขีดจำกัด (Restrictive) โดยเฉพาะเรื่องสัญญาจ้างแรงงานเป็นข้อยกเว้นอันสำคัญที่ประเทศทั่วโลกถือปฏิบัติจึงมีส่วนผลักดันแนวคิดใหม่นี้ ทำให้ลูกจ้างชาวไทยสามารถได้รับการเยียวยาในกรณีนี้ได้

“ภาษา กฎหมายและความยุติธรรม” คือเรื่องเดียวกัน เป็นปรัชญาและแนวคิดที่เพื่อนผมใช้สอนผู้พิพากษาใหม่ในหัวข้อ “การใช้ภาษากฎหมายไทย” ด้วยหวังว่าจะสามารถบ่มเพาะให้ผู้พิพากษาใหม่ได้ซึมซับการใช้กฎหมายให้ถูกต้องตรงตามภาษาเพื่อสร้างความยุติธรรมตลอดไป

ด้านครอบครัว นายสาโรจน์  เกษมถาวรศิลป์ สมรสกับนางประทุมภรณ์ เกษมถาวรศิลป์ ข้าราชการครูบำนาญ มีบุตร 2 คนคือ พ.ญ. ปุยเมฆ เกษมถาวรศิลป์ นิติเวชแพทย์ประจำโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ และนายเอกชน เกษมถาวรศิลป์ นิสิตปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอุทธรณ์ ทำหน้าที่ตัดสินคดีทั่วไปทั้งทางแพ่งและทางอาญาและเป็นผู้บรรยายหัวข้อการใช้ภาษากฎหมายไทยให้แก่ผู้พิพากษาใหม่ นอกเหนือจากหน้าที่วิทยากรหัวข้อแรงงานระหว่างประเทศ เหลืออายุราชการอีก 9 ปี ก่อนครบ 70 ปี ในพ.ศ. 2568

 โดย นายพีรพล  คดบัว  

สินนภา สารสาส

"มิ" เป็นเพื่อนที่ทุกคนรู้ว่าเป็นศิลปินที่มีความปัจเจก เป็นนักแต่งเพลง ได้รางวัลที่เป็นที่ประจักษ์เรื่องฝีมือการทำเพลงหลายรางวัล ทั้งเพลงประกอบละครโทรทัศน์ รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ ผลงานของสินนภา ทั้งการแต่งเพลงและการใช้ดนตรี หลายเพลงผสมผสานความเก่ากับดนตรีสากลได้อย่างสวยงาม เพลงที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่ว่า อาจไม่รู้ว่าเป็นเพลงของสินนภาน่าจะเป็นเพลงในชุด เอกรงค์1 ที่ตามสนามบินงานแสดงสินค้า งานการท่องเที่ยวเปิดให้เราฟังคือ เพลงขึ้นต้น (เพลงโหมโรงของบัลเลต์มโนราห์)

วันนี้เขียนถึง สินนภา สารสาส เพราะอยากเล่าอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ได้มีคนรู้จักนัก สินนภาบุกเบิกการเป็นนักแต่งเพลงผู้หญิง เป็นหญิงเดี่ยวในบริษัทบัตเตอร์ฟลายที่เริ่มทำเพลงโฆษณาและต่อมารับงานทำเพลงประกอบภาพยนต์ ละครโทรทัศน์ และเพลงประกอบการแสดงบนเวทีทุกรูปแบบ  ผู้แต่งเพลงที่เป็นผู้หญิงและเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนั้นยังเป็นนักดนตรีหญิงในยุคบุกเบิกของวงฟองน้ำ และยึดแนวสร้างเพลงทดลองค้นหา การประสมเพลงไทยกับแนวคิดแบบฝรั่ง มาตลอดชีวิต  สินนภาทำงานดนตรีที่สะท้อนความเป็นไทย ใช้เครื่องไทยด้วยการบรรเลงวิธีใหม่ ให้แคแรคเตอร์กับเครื่องดนตรี เพื่อให้ดนตรีไทยและนักดนตรีไทยสามารถแสดงเป็นตัวนำเป็นตัวแสดงความรู้สึก สื่อสารความคิด อารมณ์ต่างๆ สู่ผู้ชมในยุคปัจจุบัน เพลงไทยจึงมีสำเนียงที่ต่างออกไป

งานของสินนภาที่ทำกับละครเวทีล้วนเป็นชิ้นงานที่ค้นหาทดลอง เป็นดนตรีในงานวิจัยที่สำนักงานส่งเสริมงานวิจัย กระทรวงวัฒนธรรมให้ทุนสนับสนุน เช่น จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าไม่ขอข้าวขอแกง ลุยไฟ  \'Revitalizing Monkeys and Giants\'  สีดา-ศรีราม?  ลังกาสิบโห  แต่บแตบ ตะแล้บแตบแตบ  รวมทั้งงานอิสระ เช่น พระสังข์-อิฟิเกนี  นิพพานอิเล็คทริค  \'Love and Death\'   \'River of Kings (1)\'   ฉุยฉาย   ฉายกริช   พญาฉัททันต์  \'Transformation\'  ล่ามดี  \'Macbeth\'   \'Women of Asia\'   พระรามข้ามสมุทร เป็นต้น  สินนภาทำเพลงที่มีการผสมผสาน  ปะทะสู้กัน มีความเป็นไทย แต่วางเพลงและสร้างมูดและโทนที่เป็นสากล ทำให้เราได้ยินได้ฟังเพลงไทยที่ไพเราะ โดดเด่นกว่าการเป็นดนตรีแบบเล่นบรรเลงประกอบการแสดงทั่วไป

สินนภา เป็นลูกหลานราชสกุลบริพัตร อาจเป็นลูกหลานในสกุลนี้คนเดียวที่ยังเล่นดนตรีและทำงานดนตรีเต็มตัวอยู่  ทางเพลงที่เป็นทางผสมไทยและสากลของสินนภานั้นเป็นวิถีที่มีแก่นความคิดคล้ายกับเพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในแง่ของการสร้างจากของไทยแท้ๆ เป็นตัวหลัก  หากแต่จะต่างกันที่วิธีการในการประพันธ์และเรียบเรียง

สินนภา เป็นนักดนตรีคลาสสิก (เปียโน) ยังสร้างสรรค์เพลง ทำงานวิจัยเพื่อสร้างทิศทางดนตรีไทยร่วมสมัยที่ยังคงรากและรักษาความงามแบบไทย ทำงานคิดงานกับศิลปินท้องถิ่นหลายคนหลายชาติหลายภาษา เพื่อนำเสนอเสียงสำเนียงของดนตรีไทยให้โดดเด่น  นอกจากนี้ยังเป็นครูสอนวิชาประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์และละครเวทีที่คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

อักษรจรัส อบ.41

\"\"

 

 

สุมาลี บำรุงสุข

นักแปลนักเขียนวรรณกรรมเยาวชน

สุมาลี (อ้วน) เป็นนักแปลระดับรางวัลสุรินทราชา ของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2559)  เคยได้รับรางวัลทางด้านการแปลและการเขียนจากกระทรวงศึกษาธิการ รางวัลลูกรักอวอร์ด รางวัลเซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด  ผลงานแปลที่ทำให้สุมาลีเป็นที่รู้จัก คือ งานแปลชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ อันโด่งดัง (เล่ม 1, 2, 5, 6, 7 รวมทั้งเล่ม 8 ที่เพิ่งออกไม่นานมานี้)  ส่วนงานเขียนที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เรื่องของม่าเหมี่ยว  ม่าเหมี่ยวและเพื่อน  ม็อกซ์แมวมหัศจรรย์/Mox the Wonder Cat

สุมาลีไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะยึดอาชีพนักเขียนนักแปล  ตอนที่เรียนที่คณะอักษรศาสตร์  สุมาลีสนใจวิชาประวัติศาสตร์ และรักเดียวใจเดียวเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก ในสาขาวิชานี้   ในช่วงเรียนโทต่อนั้น สุมาลีเคยช่วยกับเพื่อนๆ แปลหนังสือสำหรับเยาวชนเล่มหนึ่ง  เธอเลือกแปลเรื่องที่สั้นที่สุด ตอนนั้นเธอบอกว่าไม่ชอบการแปลเลย  ชอบแต่งเรื่องเองมากกว่า  แต่กาลเวลาทำให้สุมาลีเปลี่ยนใจ กลับมารักการแปลวรรณกรรมสำหรับเยาวชน

การติดตามสามีไปพำนักในประเทศอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2539     และไม่ต้องทำงานประจำ ทำให้เธอมีเวลาและมีโอกาสอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมากกว่าที่อยู่เมืองไทย  ทั้งยังมีวรรณกรรมเยาวชนให้เลือกอ่านหลากหลาย สุมาลีจึงเริ่มงานแปลวรรณกรรมเยาวชนอย่างจริงจัง  ด้วยความหวังว่าเด็กไทยจะได้อ่านหนังสือดีๆ สนุกๆ เสริมสร้างจินตนาการและประสบการณ์ชีวิต  ผลงานที่สุมาลีภูมิใจยิ่งคือได้แปลงานพระราชนิพนธ์แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน เป็นภาษาอังกฤษ  Kaew the Playful และ Kaew the Naughty ( พ.ศ. 2557)

 สุมาลีเคยบอกว่า สิ่งหนึ่งที่พลาดไปคือ ไม่ได้เลือกเรียนวิชาภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์เป็นวิชาโทการที่เธอเขียนและแปลหนังสือได้ดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ที่สอนให้รู้จักค้นคว้าอย่างไม่ย่อท้อ สอนให้อ่านหนังสือเป็น ตีความเป็น และปลูกฝังการทำงานที่เป็นระบบ ระเบียบ

 ผลงานล่าสุดของเธอ คือ อยู่วังสระปทุม  (พ.ศ. 2559)  เป็นหนังสือสำหรับเด็ก(จากมุมมองของแมว) เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

    

เกษร จิตรถเวช

เกษร จิตรถเวช

             เรารู้จักพิงค์เพราะดนตรี  เมื่อพิงค์รับหน้าที่จัดร้องเพลงประสานเสียง  ให้กับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ และโบสถ์หลายแห่ง  แม้งานจะหนักแต่พิงค์ทำด้วยใจรัก  ภายใต้กิริยาสุขุมนุ่มนวล ใจเย็น มีมาตราฐานแต่รับฟังทีมงานเสมอ
            เรารู้ว่าพิงค์มีงานมากทั้งส่วนตัวและส่วนรวม  แต่เธอไม่เคยปฏิเสธคำร้องขอของใคร  หากมีเวลาจะทำให้ด้วยความเต็มใจ  และไม่เคยไปยืนแถวหน้าเพื่อให้คนเห็น  ยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อพวกเรา อบ. 41 ได้รับพระมหากรุณาให้เข้าเฝ้าฯ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพิงค์ได้รับการร้องขอให้จัดดนตรีให้เพื่อนๆ ได้ร้องเพลงถวาย  เมื่อพวกเราร้องเพลงถวายเรียบร้อยแล้ว  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จฯ เข้ามาทรงขอบพระทัยพิงค์  ตรัสว่า “ขอบใจมาก ขอบใจมาก”  ส่วนพิงค์ยังคงดีดเปียโนอยู่  เพื่อให้เพลงสมบูรณ์แบบที่สุด  ซึ่งนั่นทำให้เรารู้ว่าพิงค์เป็นคนถ่อมตนเพียงใด 

            ไม่มีงานดนตรีใดที่เพื่อนขอแล้วพิงค์ปฏิเสธ  และเมื่อพิงค์รับปากแล้วไม่มีงานใดที่พิงค์ไม่ทำเต็มฝีมือ 
            นอกจากงานแล้ว  พิงค์ยังป็นคริสตศาสนิกชนที่ดี   เพราะแต่งกายสุภาพเสมอด้วยเครื่องแต่งกายมิดชิดแต่สีสันสดใส  พูดจาเรียบร้อย และเป็นคนใช้ชีวิตพอเพียงอย่างแท้จริง  อันเป็นหลักการสำคัญของผู้มีศรัทธาในพระเจ้า       
            ฝีมือการเล่นเปียโนของพิงค์ไม่เป็นรองนักเปียโนชั้นครูผู้ใดในประเทศ  เคยแสดงหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์ทุกพระองค์อย่างสง่างามหลายวาระ  และยังมีความกตัญญูอย่างยิ่งต่อบุพการี  ด้วยการจัดตั้ง “กองทุนพันทิภา ตรีพูนผล”  เพื่อรำลึกถึงมารดาผู้เป็นครูเปียโน 
            เกษร จิตรถเวช  จึงสมควรเป็นอักษรจรัสผู้หนึ่งของชาวอักษรศาสตร์รุ่น 41

 

ผู้เขียน :   ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง    

 

 

    

รับดอกไม้พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

อัญเชิญดอกไม้พระราชทานโดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

 

เป็นผู้อํานวยเพลง คณะนักร้องประสานเสียง ผู้ต้องขังกรมราชทัณฑ์

ในงาน "ประสานเสียงเทิดพระเกียรติ ประสานใจวัฒนธรรมไทย " 

ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง

 

เกียรติสุดา ภิรมย์

เกียรติสุดา ภิรมย์  หรือ อ้าว อักษรศาตรบัณฑิตรุ่น 41 เอกศิลปการละคร

เมื่อจบการศึกษาแล้ว ใช้ชีวิตในการทำงานบุกเบิก งานละครเพื่อชุมชนและสังคมหลายแบบ เป็นผู้บุกเบิกการแสดงหุ่นเชิดมือ และสร้างสรรค์รายการหุ่นทางโทรทัศน์ "เจ้าขุนทอง" อันเป็นผลงานสร้างสรรค์ละครหุ่นสำหรับเยาวชน สอดแทรกการสอนคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างมีศิลปะ

เกียรติสุดา เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้สร้างสรรค์  สร้างเรื่อง แต่งเพลง ออกแบบ เป็นนักแสดง นักพากษ์ และผู้กำกับการแสดง  สร้างแบรนด์รายการ "เจ้าขุนทอง" จนเป็นทียอมรับในวงการศิลปการแสดงและวงการศึกษาของไทย ตลอดเวลา 4 ทศวรรษ ได้รับรางวัลด้านสื่อมากมาย อาทิ รางวัลโทรัทศน์ทองคำ 4 ครั้ง รางวัลรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กและเยาวชนดีเด่น จาก สยช. จำนวน 4 ครั้ง รางวัล รายการโทรทัศน์ จากสมาคมคาทอลิค 3 ครั้ง ซึ่งต่อมาได้ประกาศเกียรติคุณเป็น โกลเด้นจูบิลี 2547 รางวัลประกาศเกียรติคุณ ทูตพิทักษ์สิทธิเด็ก ปี 2552 จาก TFCT( Task Force for Children in Thailand คณะทำงานด้านเด็ก)   

งานของเกียรติสุดา ทำให้เด็กไทย ได้รู้จัก คุ้นเคยกับตัวละครไทยๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้านกขุนทองช่างพูด ควายและตระกูลควายในท้องนาหลายตัว ได้แก่ ฉงน ฉงาย ฉับ ฉไน ลุงมะตูม จระเข้ใจดีชื่อ ขอนลอย หมาไทยชื่อหางดาบ และ ค้างคาวชื่อ วอแว รายการเจ้าขุนทอง เป็นที่ยอมรับในวงการการศึกษา และเป็น สื่อการสอนที่ยาวนานกว่า 30 ปีในโรงเรียนไทย เด็กๆในวันก่อนเติบโตมากับบทเพลง และรายการ”เจ้าขุนทอง” ทุกเช้า  รายการเจ้าขุนทองมีอายุยืนนานจนปัจจุบัน  เป็นเวทีผลิตศิลปิน นักเล่าเรื่อง นักเชิดและนักพากย์หุ่นไทยหลายรุ่น หลายคนใช้ความรู้นี้ในการสอน ในการให้เสียงพิธีกร ในการทำงานของพวกเขาในเวลาต่อมา  เกียรติสุดายังคงเล่านิทาน แสดงหุ่น และทำงานเรื่องการแสดงต่อเนื่องเพื่อเด็กๆ และเยาวชน

สำหรับเพื่อนๆ อ้าวไม่เคยยอมแพ้ต่อ อ้าวก็เป็นผู้ริเริ่มการรวมกลุ่มเพื่อนๆ มาทำการแสดงในงานคืนสู่เหย้า งานเลี้ยงรุน เป็นต้นคิด ลงแรง ลงใจ ในการจัดการแสดง และขับเคลื่อนเพื่อนๆให้ออกมา ร้อง เล่น เต้นรำกัน เป็นเวลากว่า 10 ปี กลุ่มเพื่อนที่รักการเต้นรำกับอ้าว ทั้งที่เต้นได้บ้างและไม่ได้บ้าง เริ่มเรียกตนเองว่า "อักษรเกิลแก๊งค์" รับสมาชิกทั้งประจำและไปไปมามา ได้มาช่วยกันสร้างสรรค์ สีสัน ความสนุกให้กับผู้ชมที่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนร่วมวัย ร่วมรุ่น ร่วมสถาบัน งานแสดงที่อ้าวเลือกสรรมาล้วนท้าทายการใช้สมอง. การขยับร่างกาย และเป็นงานร่วมสมัยกับสังคมรอบตัวเรา กลุ่มเกิร์ลแก๊งค์ เป็นหน่วยเล็กๆ ของผู้หญิงที่นำเสนอบทบาทที่แตกต่างจากที่เธอทั้งหลายเคยเป็นที่บ้านและที่ทำงาน  การจะร้อง เล่น เต้นรำได้ ต้องการสมาธิ วินัย และเวลาในการฝึกฝน เกียรติสุดาเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่คุ้มค่า ได้ทำสิ่งที่ท้าทาย และสนุกกับสิ่งที่ทำ

ในวันนี้เกียรติสุดายังเป็นอาจารย์พิเศษ ศิลปิน/วิทยากร นักเล่านิทาน สอนการแสดงหุ่น เขียนเรื่อง แต่งเพลงและทำงานกับนักแสดงที่เยาว์วัยกว่า ไม่ได้เกษียณตามอายุ แต่โลดแล่นเจิดจรัสในเวทีนักเล่านิทาน ยังตระเวณแสดงหุ่น ทำงานเพื่อสิทธิของเด็กและเยาวชน สร้างเรื่องราวที่สนุกสนาน เฟื่องจินตนาการในโรงเรียน บนเวทีการแสดงหุ่นทุกภูมิภาคและในระดับนานาชาติ  เพื่อให้เห็นความดีงามของศิลปะการแสดงสาขานี้ เป็นตัวอย่างสำคัญของนักแสดง นักเล่านิทาน และนักเชิดหุ่นที่เปี่ยมพลังและมีชีวิตชีวา

   

       

 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University