อักษรจรัส รุ่น 58

กรรณจริยา สุขรุ่ง

   ครั้งหนึ่ง ในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิลาสวงศ์ พงศะบุตร เล่าถึง “เงินหางม้า” ที่ราษฎรในสมัยนั้นน้อมใจถวาย สมเด็จพระปิยมหาราช เพื่อร่วมสร้างพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งต่อมาได้นำมาสร้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างคนมาพัฒนาประเทศ อาจารย์วิลาสวงศ์ยังร้อยอดีตกับปัจจุบันด้วยว่า ค่าเล่าเรียนของนิสิตได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งก็คือภาษีของประชาชน

    “เธอรู้ใช่ไหมว่า การศึกษา เกียรติและโอกาสที่เธอจะได้รับในชีวิตเมื่อออกจากสถาบันแห่งนี้ ใครเป็นผู้ให้และจะต้องแทนคุณใคร?”

      อาจารย์วิลาสวงศ์ถามทิ้งท้าย 

     คำถามของอาจารย์กลายเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต อุ๊ กรรณจริยา ตลอดมา ผสานกับความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ที่ได้รับการบ่มเพาะจากการเรียนในคณะอักษรศาสตร์ ผ่านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เธอเลือกเส้นทางชีวิต ที่จะได้เดินตามความสนใจในหัวใจและมีโอกาสทำประโยชน์กลับคืนแก่ประชาชนและสังคม

     หลังจากสำเร็จการศึกษา อุ๊ เข้าสู่สายงานสื่ิอสารมวลชน ด้วยเห็นว่าเป็นงานที่เธอจะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมอย่างที่ตั้งใจ โดยเริ่มงานเป็นนักข่าวเชิงสารคดี กองบรรณาธิการ Outlook หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อุ๊เขียนสารคดีเชิงข่าวหลากหลายประเด็น อาทิ สิทธิผู้บริโภค การศึกษา เด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย สุขภาพ สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม เพศสภาพและเพศภาวะ ฯลฯ หนึ่งในคอลัมน์ที่เธอรับผิดชอบประจำคือ We Care ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นพื้นที่ “รดน้ำเมล็ดพันธุ์ความดีงามในใจคน” คอลัมน์นี้เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างผู้ต้องการความช่วยเหลือในสังคม และผู้ที่อยากหยิบยื่นน้ำใจให้ และยังสะท้อนปัญหาสังคมที่เรียกร้องให้ทุกคนใส่ใจและร่วมกันแก้ไขด้วย คอลัมน์นี้ได้รับการตอบรับอย่างดีและมีส่วนช่วยสร้างธารน้ำใจหลายต่อหลายครั้งในสังคม นอกจากนี้ อุ๊ ยังเป็นหนึ่งในนักเขียนคอลัมน์ In Spirit คอลัมน์ที่ชวนผู้อ่านค้นหาความหมายของชีวิต ให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่เกื้อกูลตนเองและ
ทุกชีวิตรอบตัว

      จากประสบการณ์ด้านงานสื่อสารและความสนใจในมิติด้านใน (spirituality) อุ๊ตัดสินใจออกจากงานประจำที่ทำมาสิบกว่าปี เพื่อเปิดพื้นที่งานอื่นๆ ที่ยังประโยชน์ให้สังคมได้ ทั้งด้านการสื่อสารสารธารณะให้กับองค์กรต่างๆ งานเขียนหนังสือ งานวิทยุ งานจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา (spirituality) เป็นต้น เธอเป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์และจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการสื่อสารให้แก่ทีมจิตอาสา โครงการทางสังคมต่างๆ และร่วมวางแผนและดำเนินงานสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ให้แก่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจในมาตรา 12 ที่ว่าด้วยเรื่อง หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต

    นอกจากนี้ เธอยังมีผลงานหนังสือที่พูดถึงการใช้ชีวิตโดยมีธรรมะนำใจ อาทิ

ดั่งกันและกัน : จากตาสู่ใจ ธรรมใกล้มือ และ หนังสือของเครือข่ายพุทธิกา อาทิ สุขสุดท้ายที่ปลายทาง เผชิญความตายอย่างสงบ เป็นต้น และหนังสือสำหรับการทำงนาภาคสังคมและการเมืองภาคประชาชน อาทิ เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ และ เล็กก็ล้มใหญ่ได้ถ้าใจถึง

     ปัจจุบัน อุ๊ ดำเนินรายการวิทยุ “ที่นี่มีลมหายใจ” ทางสถานีวิทยุไทยพีบีเอส และร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาภาวะผู้นำองค์กรเพื่อสังคมสุขภาวะและนักปฏิบัติการทางสังคม สนับสนุนโดย สสส. และยังทำงานจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง

 

ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์

     เพื่อนๆ อักษรฯ จะคุ้นเคยกับความสุภาพเรียบร้อย และนุ่มนวลของเต้ยตลอดระยะเวลาที่เรียนมาด้วยกัน เราตามหาตัวเต้ยพบในห้องดนตรีไทยที่คณะได้เสมอ ห้องดนตรีไทยที่คณะ  จะเป็นห้องเล็กๆ อยู่ภายในห้องคณะกรรมการนิสิตคณะอักษรศาสตร์อีกที ห้องสี่เหลี่ยมเล็กนั้นเต็มแน่นไปด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายประเภท มีงานการใดๆ ของคณะที่ต้องพี่งพาอาศัยการแสดงดนตรีไทย ประธานชมรมดนตรีไทยอย่างเต้ยไม่เคยขัด

    ในขณะเดียวกัน เต้ยยังเป็นประธานชมรมดนตรีไทยของสจม. หรือ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีโอกาสได้เรียนดนตรีไทยกับอาจารย์ชั้นบรมครูมากมาย   ซึ่งหลายท่านก็ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติในเวลาต่อมา อาทิ ครูอุทัย แก้วละเอียด   ครูเบญรงค์ ธนโกเศศ ทั้งยังได้ไปกราบฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์คุณยายชื้น สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง (หุ่นกระบอก) เพื่อสืบทอดศิลปะการเชิดหุ่นกระบอก ต่อมาได้ศึกษาวิธีเชิดหุ่นเพิ่มเติมจาก  อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และเรียนรู้วิธีทำหัวหุ่นกระบอกกับ อ. กฤษดากร สดประเสริฐ

     หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกเหนือจากงานประจำในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของบมจ. การบินไทย เต้ยได้ใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดอุทิศให้กับการอนุรักษ์ดูแลศิลปวัฒนธรรมไทยในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะด้านดนตรีไทยที่ตนถนัด เต้ยก่อตั้งวงดนตรีไทยชื่อ “วิเศษดนตรี” และเผยแพร่ผลงานของวงผ่านช่องทาง Youtube ในชื่อสถานีวิเศษดนตรีเช่นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เกิดความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ที่ไม่ได้เป็นไปตามกระแส หากแต่เกิดจากความรักในศิลปวัฒนธรรมของเต้ยโดยเนื้อแท้ กว่า 6 ปีที่ผ่านมา สถานีดนตรี มียอดผู้ติดตามเกือบ 6,000 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าชื่นใจไม่น้อยเลยทีเดียว

     เต้ยยังได้สร้างสรรค์ เสาะหา และซ่อมแซมครื่องดนตรีไทยที่โดดเด่นทั้งเสียงและรูปลักษณ์ และสะสมเก็บไว้มากมายที่เรือน “วิเศษดนตรี” จังหวัดสระบุรี เรือนไทยหลังงามบนเนื้อที่กว่า 4 ไร่นี้ยังเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับคนรักดนตรีไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย ที่จะรวมตัวกันเพื่อสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนะทางดนตรีกันในงานไหว้ครูประจำปี เต้ยได้ฟื้นฟู “กระจับปี่” เครื่องดนตรีไทยที่เกือบสูญหายไปแล้วให้กลับมาเป็นที่รู้จักกันอีกครั้งหนึ่ง

      นอกจากนั้น จากความรู้ด้านการทำหัวหุ่นกระบอก เต้ยได้พัฒนาประดิษฐ์เครื่องศิราภรณ์ขึ้นใหม่มากมายหลายชิ้น โดยเต้ยได้ศึกษาจากงานชั้นบรมครูในพิพิธภัณฑ์ และได้รับคำแนะนำจาก อ. วรวินัย หิรัญมาศ วิทยาลัยเพาะช่าง เครื่องศิราภรณ์ที่เต้นรังสรรค์ขึ้นแต่ละชิ้นนั้น ล้วนแล้วแต่งดงาม น่าตื่นตา และเต็มไปด้วยเสน่ห์เชิงช่างศิลป์ไทยอย่างแท้จริง

      อาจกล่าวได้ว่า เต้ย ณัฐพันธุ์ หรือในนามที่นักดนตรีไทยโดยทั่วไปรู้จักกันว่า ณพ วิเศษดนตรี นั้น มิได้เก็บงำความรู้ที่เหล่าครูบาสอนสั่งไว้กับตัว มิได้หวงแหนสมบัติที่เสาะหาและสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความชอบส่วนตัว หากเต็มใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่จะได้เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง เต็มใจที่จะสืบทอดส่งต่อแด่คนรุ่นต่อๆ ไปที่มีใจรักในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยเช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ “วิเศษดนตรี” ที่เรือนวิเศษดนตรีคืออีกหนึ่งความฝันของเต้ย ซึ่งใกล้จะเป็นความจริงอีกไม่ช้าไม่นานนี้


       พวกเราขอเอาใจช่วย และแอบร่วมภาคภูมิใจไปกับความจรัสแสงเรืองของเต้ยไปพร้อมๆ กัน...

     

      

 

ดร.ศุภชัย อาชีวระงับโรค

     เพื่อนสนิทมิตรสหายที่คุ้นเคยต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ดร. ศุภชัย อาชีวระงับโรค จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และจัดระเบียบแบบแผนของชีวิตอย่างเป็นระบบอยู่เสมอ

     หนุ่มน้อยจากภูเก็ตก้าวสู่รั้วจามจุรีเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลังจากได้ทุนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสไปเรียนมัธยมปลายที่ออสเตรเลียหนึ่งปี  ระหว่างศึกษาใต้ร่มชงโค “ชัย” เป็นนักกิจกรรมตัวยงควบคู่ไปกับการเป็นนิสิตที่ขยันขันแข็งในวิชาการ และยังวางแผนจัดระเบียบทุกอย่างในชีวิตได้อย่างเกินวัย ว่ากันว่า แม้แต่พื้นที่ภายในล็อคเกอร์ที่นิสิตเช่าเก็บของในห้องกิจกรรมนิสิต (กอ.ศ) ล็อคเกอร์ของชัยยังเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าใครๆ ทั้งหมด

      ชัยมักจะเป็นผู้นำกลุ่มในการปฏิบัติงาน ทั้ง “งานเล่น” และ “งานเรียน” และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมแบบหาตัวจับยาก นับตั้งแต่เป็นตัวตั้งตัวตีคิดการแสดงในงานรับน้อง ขณะที่เพื่อนๆ ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ ไปจนถึงการเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอความคิดในการทำงานกลุ่มและงานส่วนร่วมในคณะ

      กิจกรรมระหว่างเรียนที่อักษรศาสตร์ทุกอย่าง ชัยมีส่วนร่วมแทบทั้งหมด ทั้งการเป็นหัวหน้าชมรมภาษาฝรั่งเศส พร้อมจัดค่ายภาษาเป็นครั้งแรก ทีมพาเหรด และการแสดงละครของภาคละครในงานจุฬาวิชาการ กิจกรรมโต้วาทีกับอาจารย์ต่างชาติของชมรมภาษาอังกฤษ งานฟุตบอลประเพณี งานกิจการนิสิต งานออกค่ายอาสาพัฒนาทั้งในฐานะชาวค่ายและในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการทั้งหมด ชัยยังได้ทุนเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ และทุน Gore-Texไปหาประสบการณ์เพิ่มเติมระหว่างเรียนอีกด้วย

       ชัยเรียนจบปริญญาตรีอักษรศาสตร์ เอกอังกฤษ โทฝรั่งเศส เกียรตินิยมอันดับสอง ก่อนจะเบนเข็มข้ามสายไปการบริหารธุรกิจจนคว้าปริญญามหาบัณฑิต จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  และสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตสาขา การจัดการโลจิสติกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา กลายเป็นด็อกเตอร์ประจำรุ่นไปอีกหนึ่งอย่างเต็มภาคภูมิ

       ในด้านหน้าที่การงาน ชัยเริ่มต้นทำงานที่สายการบินแอร์ฟรานซ์ ประจำประเทศไทย และผ่านงานในสายทรัพยากรบุคคล ฝึกอบรม งานส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต งานด้านการตลาด ในบริษัทและองค์กรชั้นนำ อาทิ สถาบันการเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสิงคโปร์แอร์ไลนส์ ก่อนจะมาปักหลักที่บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส โดยปัจจุบัน ชัยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการซัพพลายเชน ภูมิภาคเอเซีย ระหว่างปฏิบัติงาน ชัยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 14 คณะกรรมการอำนวยการสมาคม
วอลลอปเทค วาระดำเนินงาน 3 ปี ซึ่งสมาคมดังกล่าวมีหน้าที่ส่งเสริมธรรมาภิบาล และเป็นตัวแทนพนักงานสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัทเอสซีลอร์

         ดร. ศุภชัยแต่งงาน มีครอบครัวที่น่ารักและมีบุตรสองคน ซึ่งดำเนินรอยตามความเก่งกาจของผู้เป็นพ่อไม่มีผิดเพี้ยน

    

 

 

ธาริกา วงศ์สินศิริกุล

     ธาริกา หรือ มุก คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้สังคมระดับนานาชาติได้เห็นเด่นชัดว่าสาวอักษรฯ นั้น สามารถทำงานได้หลายบทบาทหน้าที่ และสามารถทำได้อย่างดียิ่งเสียด้วย

     มุกเลือกเรียนเอกวิชาภาษาญี่ปุ่นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาตรี เพราะความสนใจในภาษาที่สามนอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่มุกถนัดอยู่แล้ว หลังจากจบจากจุฬาฯ มุกเริ่มชีวิตการทำงานที่ JICA หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ซึ่งได้เปิดโลกการประสานงานภาครัฐให้กับเธอ แต่โดยเนื้องานแล้ว มุกรู้สึกว่า
ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นดังที่คาดไว้ เธอจึงย้ายมาทำงานด้านเทรดดิ้งของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ก่อนที่จะสอบชิงทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ทุน กพ. ได้ โดยมุกได้ศึกษาต่อ
ในสาขาวิชา Public Policy - Environmental and Resource Policy ที่มหาวิทยาลัย The George Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา

      เมื่อกลับมายังประเทศไทย มุกได้เข้ารับราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัดที่ให้ทุนกพ. รวมทั้งยังได้รับทุนระยะสั้นในระหว่างรับราชการ  ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านการใช้ภาษาญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ประเทศญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่มุกทำงานที่ กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มุกได้อยู่เบื้องหลังโครงการระดับชาติมากมาย เช่น การริเริ่มจัดทำแผนยุทธศาตร์ของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนเข้มแข็ง ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต่างๆ ยืมตัวไปช่วยราชการหลายต่อหลายแห่ง เช่น คณะทำงานรมช.คมนาคมเพื่อการประสานงานเชิงนโยบาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานให้กับมุก

       หลังจากรับราชการจนพ้นระยะเวลาการใช้ทุน มุกได้ลาออกจากชีวิตข้าราชการ และเริ่มงานด้านการประสานงานในระดับนานาชาติ โดยเริ่มจากงานพัฒนาองค์กรกาชาด ที่สหพันธ์สภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ผลงานที่ผ่านมาได้แก่ การจัดตั้งอาสายุวกาชาดให้กาแดงลาว การวิเคราะห์เชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาองค์กร การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศและการเจรจาเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำแม่น้ำโขง รวมถึงการจัดเวทีประชุมสุดยอดผู้นำต่างๆ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานในระบบราชการมาก่อน ทำให้มุกเข้าใจหลักการ ตลอดจนวัฒนธรรมการทำงานกับบุคลากรภาครัฐ และได้นำมาปรับใช้เพื่อที่จะให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีที่สุด

      ปัจจุบัน มุกดำรงตำแหน่ง Assistant Director, Political Cooperation Division ของ ASEAN Secretariat หรือสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ดูแลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของประชาคมอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ

 

เรียกได้ว่า ถ้าพูดถึงงานด้านการพัฒนาองค์กร และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว สาวอักษรฯ นาม มุก ธาริกา ผู้ร่าเริงและเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาคนนี้ พรั่งพร้อมไปด้วยประสบการณ์แทบทุกด้านจริงๆ มุกภูมิใจและบอกกับใครๆ เสมอว่า ที่เธอได้รับโอกาสทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพราะเธอคือบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยแท้...

                

นุสบา ปุณณกันต์ (วานิชอังกูร)

      ทันทีที่ละครเรื่อง “รักในรอยแค้น” ออกอากาศได้ไม่นาน วงการบันเทิงได้นางเอกคนใหม่เจ้าของบท “อิงอร” ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน ปีนั้นขวัญใจคอละครเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ และมีชื่อที่คุ้นเคยกันดีในเวลาต่อมาว่า นุสบา วานิชอังกูร

2_7

      “นุส” เป็นที่พูดถึงตั้งแต่ก่อนจะเป็นดาราดังด้วยรูปโฉมและบุคลิกสะดุดตา สมัยนุสเรียนมัธยมและมาเรียนพิเศษที่จุฬาฯ  นักเรียนชายต่างโรงเรียนพากันไปคุยเขื่องว่าได้พบสาวน้อยหน้าตาคมคายจนหลายคนพากันตามไปชะเง้อชะแง้ชมความงามของนักเรียนเซนต์โยเซฟคนนี้

 

และยิ่งเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเมื่อเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แม้จุฬาฯ ในยุคนั้นจะไม่มีการจัดประกวดประขันความโดดเด่นของนิสิตแบบที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งในปัจจุบันมักกระทำ แต่แน่นอนว่านุสบาถือเป็นดาวคณะ ดาวจุฬาฯ ประจำรุ่นไปแบบไร้ข้อกังขา โดยเพื่อนฝูงร่วมรุ่นจะเห็นนิสิตรุ่นหลัง ๆ แอบมาขอลายเซ็นดาวดังแห่งวงการบันเทิงคนนี้เป็นประจำ

        ระหว่างเรียนที่อักษรศาสตร์ นุสบามีส่วนร่วมในกิจกรรมเท่าที่เวลาจะอำนวย อาทิ งานรับน้อง จุฬาวิชาการ เป็นตัวแทนนิสิตหญิงถือพานไหว้ครู ฯลฯ

        แม้เมื่อเป็นนางเอกละครยอดนิยม นางสาวนุสบาก็ไม่ทิ้งการเล่าเรียน และแบกภาระทั้งการงานและการท่องตำราในวิชาหิน ๆ ของภาคอังกฤษอย่าง Mythology บวกกับการข้ามสายไปลงวิชา Fun Act หรือพื้นฐานการแสดงของภาคละคร เพื่อฝึกทักษะที่จะนำมาปรับใช้ในอาชีพในวงการบนเทิง แถมยังคว้า A ให้นิสิตภาคละครอิจฉาเล่น ก่อนจะสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทฝรั่งเศส ในปีพ.ศ. 2537 พร้อมเพื่อนร่วมรุ่น และศึกษาต่อจนได้ปริญญามหาบัณฑิต สาขาบริหารจัดการทางวัฒนธรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

 

        นุสบาประสบความสำเร็จในอาชีพการแสดงและสร้างชื่อเสียงให้กับคณะอักษรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิต  และมีผลงานการแสดงมากมายที่ยังเป็นที่พูดถึง อาทิ คุณหญิงนอกทำเนียบ เคหาสน์ดาว รักหลอก ๆ อย่าบอกใคร เป็นต้น

       นอกจากผลงานทางด้านการแสดง นุสบายังมีผลงานด้านการเขียนพ็อคเก็ตบุกส์  เป็นพิธีกรและผลิตสารคดีท่องเที่ยวต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลเทพทอง บุคคลดีเด่นด้านวิทยุโทรทัศน์ 2545 รางวัลราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะนักแสดงนำหญิงผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น พ.ศ. 2557 และรางวัลนักแสดงสมทบหญิง รางวัลเอเชียน เทเลวิชัน อะวอร์ด พ.ศ. 2558 จากประเทศสิงคโปร์ จากเรื่อง ลีลาวดีเพลิง

        ปัจจุบัน นุสบาดูแลธุรกิจควบคู่ไปกับงานการแสดง และสมรสกับพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ มีบุตรชายที่น่ารักสองคน

   

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งภัทร เริงพิทยา

     “ถ้าเรายังมีลมหายใจ เราต้องทำความดี ทำตนให้เป็นประโยชน์”

      สำหรับเพื่อนๆ แล้ว เรานึกภาพภัทรออกพร้อมๆ กับรอยยิ้มของภัทร รอยยิ้มที่กว้างขวาง บริสุทธิ์ใส เราจะคิดถึงภัทร  ที่พร้อมจะทำอะไรๆ ให้กับเพื่อนๆ ได้อยู่เสมอ...

      ครอบครัวของภัทรเป็นครอบครัวที่โดดเด่นในวงการการศึกษา ภัทรสนใจในด้านการออกเสียงภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม ด้วยความที่คุณแม่ของภัทรมักจะใช้เวลาว่างระหว่างการขับรถไปส่งภัทรที่โรงเรียนด้วยการเปิดเพลงภาษาอังกฤษน่ารักๆ ให้ลูกฟังแทบทุกวัน ภัทรได้ซึมซับสำเนียงภาษาอันไพเราะ การออกเสียงที่น่าฟังของคุณแม่เข้าไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อจบจากโรงเรียนเตรียมอุดม ภัทรได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คุณแม่กนิษฐาได้สอนอยู่ แน่นอนว่าภัทรย่อมเลือกเอกภาษาอังกฤษ และความหลงใหลในด้านเสียง และภาษาอังกฤษยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อภัทรได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ปรารมภ์รัตน์ ภัทรเคยเล่าให้ฟังว่า “อาจารย์สวยเหมือนนางฟ้า พูดภาษาอังกฤษออกมาแต่ละที เพราะจนเก็บไปฝัน” ภัทรคงไม่รู้ตัวหรอกว่าเสียงหวานใสของภัทรเมื่อพูดภาษาอังกฤษนั้น ก็น่ารักน่าฟังมากมายแค่ไหน

     หลังจากจบปริญญาตรีที่อักษรฯ ภัทรเลือกเรียนทางด้าน Linguistics โดยไม่ลังเล ภัทรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และเอก ที่ University of California at Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้น ภัทรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จไปเยือนมหาวิทยาลัยแห่งนั้น เมื่อเห็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงงานหนักแม้อยู่ต่างถิ่นต่างแดน ภัทรซึ่งจริงๆ แล้วถือสัญชาติอเมริกัน และเคยคิดที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ก็เปลี่ยนใจและตั้งปณิธานว่า จะกลับมารับใช้ประเทศชาติอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด

      ภัทรกลับมาสอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ช่วงหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสอนที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปัจจุบัน ภัทรมีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายในทุกด้านอย่างเต็มที่ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนรอบข้าง ตั้งมั่นที่จะดำเนินรอยตามแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า

“....ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง...”

      ประกอบกับที่ภัทรมีแนวความคิดในเรื่องของ “การให้” อยู่ในใจอยู่แล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการ “ศิลปศาสตร์สู่สังคม” และโครงการ “ภาคศิลป์ฯ สอนน้อง” โดยจัดกิจกรรมนำนักศึกษาในคณะลงพื้นที่สอนภาษาอังกฤษในชุมชนใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการให้แก่บุคลากรของชาติรุ่นต่อๆ ไป โครงการนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งทุกครั้งที่ภัทรได้ลงพื้นที่ ทั้งภัทร ทีมงาน และเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการต่างก็ได้รับความสุขใจด้วยกันทั้งสิ้น ภัทรเคยเล่าว่า นี่คือการลงจากหอคอยงาช้างที่พวกเรามักโดนเปรียบเทียบเช่นนั้น สู่สภาพสังคมจริง ได้บำเพ็ญตนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม แม้จะเป็นส่วนเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

      ภัทรบอกเสมอว่าความสำเร็จในชีวิตทุกวันนี้ เพราะมีพ่อแม่ มีครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูงและทีมงานที่ดี แต่เราอยากบอกรุ่งภัทรว่า ภัทรเป็นทั้งเครื่องรับและเครื่องส่งชั้นเลิศ ภัทรเติบโตในสังคมที่ดี มีคุณภาพ และไม่ดูดายแม้แต่น้อยที่จะส่งต่อสิ่งดีๆ นี้แด่ผู้คนรอบข้าง และเด็กๆ ที่ภัทรดูแล... สมแล้วที่ภัทรได้รางวัลบุคคลต้นแบบจากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

     

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรองค์ ชาคร

อรองค์ หรือ “โอ๋” หรือ “ออร่า” ของเพื่อนร่วมรุ่นเป็นสาวอ่อนโยน อ่อนหวาน แต่ไม่อ่อนแอ และถ้าว่าด้วยผลงานด้านวิชาการ เธอมีความแข็งแกร่งเป็นเลิศ  โดยคว้าปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศส (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ต่อด้วยการรับทุนปริญญาตรีสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Studies) จาก International Pacific College ประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนจะคว้าทุนทบวงมหาวิทยาลัยบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปสำเร็จปริญญาโทสาขาภาษาอังกฤษศึกษา (English Language Studies) ณ มหาวิทยาลัยวอร์ริค ที่สหราชอาณาจักร และสำเร็จปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในสาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Linguistics) ด้านวาทกรรมวิเคราะห์ (Discourse Analysis)

 

ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยวอริค อรองค์เป็นตัวแทนนักศึกษาไทยในการทำกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด มีการตีพิมพ์ภาพและเรื่องราว รวมถึงบทสัมภาษณ์ลงใน Prospectus ซึ่งเป็นเอกสารเผยแพร่หลักของมหาวิทยาลัยประจำปี 2541 และ 2542 

ปัจจุบัน ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร เป็นอาจารย์ประจำคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สอนภาษาศาสตร์ประยุกต์ วาทกรรมวิเคราะห์ การแปล การสื่อสารทางธุรกิจและ CSR  เป็นต้น โดยรับราชการมาทั้งหมด 19 ปี มีงานสอน วิจัย และบริการวิชาการมากมาย  ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร โดยมีผลงานวิจัยและงานบรรณาธิการหนังสือระดับชาติและนานาชาติเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยืมตัวไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหาร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นเวลาหนึ่งปี (2554-2555) ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านต่างประเทศของประธานวุฒิสภา (2555-2557)  

 ในด้านวิชาการ อรองค์เป็นกรรมการออกข้อสอบภาษาอังกฤษให้สำนักงาน ก.พ. และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการพิจารณาบทความ สอบวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์และวิพากษ์หลักสูตร รวมทั้งมีการนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมสัมมนาการทางวิชาการระดับนานาชาติอยู่เป็นประจำ อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความเข้มแข็งทางความรู้และวิชาการของสาวอ่อนหวานคนนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากงานด้านวิชาการ อรองค์ยังมีความสนใจใคร่รู้ด้านวัฒนธรรม วรรณกรรมและศิลปบันเทิงหลากแขนง โดยได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นนักแปลและบรรณาธิการรับเชิญด้านการแปลวรรณกรรมไทยออกสู่อาเซียน มีผลงานแปลที่ได้รับการตีพิมพ์ อาทิ การแปลเรื่องสั้นนักเขียนไทยเป็นภาษาอังกฤษ ในโครงการวรรณกรรมไทย-เวียดนาม Lotus Bloom in the Stream of Literature (2556) พร้อมกับเป็นบรรณาธิการ การแปลบทกวีไทยเป็นภาษาอังกฤษ ในโครงการร้อยมาลัยร้อยใจไทย-ลาว (2557)  รวมทั้งผลงานแปลบทกวีและเรื่องสั้นนักเขียนไทยในโครงการวรรณกรรมไทย-อินโดนีเซีย บุหลันวรรณกรรม (2559) ของกระทรวงวัฒนธรรม

อรองค์ยังมีผลงานด้านบรรณาธิการงานแปล โดยรับผิดชอบโครงการ รวมบทกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ “แม่น้ำรำลึก” (Reminiscence of the River) ฉบับสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ แปลโดย รศ. มาลิทัต พรหมทัตตเวที และรวมเรื่องสั้น Nick Adams ของ Ernest Hemingway แปลโดยดลสิทธิ์ บางคมบาง   โดยเจ้าตัวใช้ประสบการณ์การเป็นนักแปลและบรรณาธิการต้นฉบับแปลมาถ่ายทอดในการสอนวิชาทฤษฎีการแปลและการปฏิบัติที่นิด้า รวมทั้งรับเชิญไปบรรยายด้านการแปลที่ธรรมศาสตร์และรามคำแหงอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความหลงใหลในการอ่านและงานวรรณกรรม อรองค์จึงได้มีส่วนร่วมเป็นบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์ในดวงใจ ผลิตงานวรรณกรรมคุณภาพป้อนตลาดในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือกำลังถดถอย ด้วยความมุ่งหวังเล็ก ๆ ว่า ถ้าการอ่านคือรากฐานแห่งปัญญา การสร้างสรรค์วรรณกรรมในนามสำนักพิมพ์ขนาดจิ๋วคงมีส่วนช่วยผลักดันให้วัฒนธรรมการอ่านของไทยเติบโต งอกเงย เข้มแข็ง และยืนหยัดอย่างองอาจสง่าผ่าเผยได้ในที่สุด

    

\"\"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรัยยา สุไลมาน

การเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่รักการอ่านและมีชีวิตในวัยเยาว์ที่รายล้อมไปด้วยหนังสือหลากหลายประเภท ทำให้เมื่อจบการศึกษาวิชาเอก ภาษาอังกฤษ และวิชาโทภาษาไทย สุได้เลือกเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาถึงลักษณะที่หลากหลายของวรรณกรรมทั้งของไทยและของต่างประเทศ รวมทั้งปูมหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างและโดดเด่นของแต่ละชาติ หากแต่ในความแตกต่างนั้นกลับปรากฏลักษณะร่วมของมนุษยชาติ อันเปรียบได้กับความเชื่อของแต่ละศาสนาที่เมื่อมองโดยผิวเผินอาจแตกต่างกัน แต่ครั้นได้ศึกษาถึงแก่นแท้ของแต่ละศาสนาแล้ว จะพบว่าทุกศาสนาล้วนมีธรรมะอันเป็นสากลซึ่งเป็นคุณลักษณะร่วมกันของมนุษยชาติทั้งมวล

ในปี 2545 ได้เกิดเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สุมีโอกาสได้เดินทางในฐานะตัวแทนของมุสลิมไทยไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาบทบาทขององค์กรด้านศาสนาในสหรัฐฯ  ประสบการณ์ในครั้งนั้นและความสนใจดั้งเดิมเรื่องการแสวงหาและรักษาอัตลักษณ์ ทำให้เมื่อมีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สุได้เลือกศึกษาวรรณกรรมซึ่งเขียนโดยนักเขียนมุสลิมที่อพยพไปตั้งรกรากในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในอังกฤษและอเมริกา วรรณกรรมเหล่านี้เป็นวรรณกรรมขายดีในช่วงทศวรรษหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน และแสดงให้เห็นความพยายามของนักเขียนที่จะถ่ายทอดลักษณะที่หลากหลายของมุสลิมตะวันตก ตั้งแต่กลุ่มที่ยังยึดถือความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมเดิมอย่างเหนียวแน่น  ไปจนถึงกลุ่มที่ผสมผสานอัตลักษณ์ทางศาสนาของตนเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างลงตัว  และกลุ่มที่ถูกผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมโดยได้ละทิ้งอัตลักษณ์ของตนไปโดยสิ้นเชิง  การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านงานวรรณกรรมที่ตนเองสนใจทำให้สุมีโอกาสเผยแพร่เรื่องราวของวิถีชีวิต ศาสนา และวัฒนธรรมของมุสลิมในโลกตะวันตกผ่านมุมมองของนักวิชาการที่มีความรู้ทั้งทางด้านวรรณกรรมและทางศาสนาในบุคคลเดียวกัน อันจะช่วยสร้างความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้างต่อไป  

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์ประจำที่แผนกวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงหลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แล้ว สุยังเปิดอบรมการสอนภาษาอังกฤษให้กับพ่อแม่ที่ต้องการสอนภาษาอังกฤษให้ลูกตั้งแต่ในวัยเด็ก และเปิดสอนภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมให้เด็กปฐมวัย  โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิบัติที่เกิดผลได้จริงด้วยการสอนลูกของตนเอง และความมุ่งหวังที่จะสร้างเยาวชนให้สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเตรียมเยาวชนไทยให้เข้าสู่สังคมที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

การเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่รักการอ่านและมีชีวิตในวัยเยาว์ที่รายล้อมไปด้วยหนังสือหลากหลายประเภท ทำให้เมื่อจบการศึกษาวิชาเอก ภาษาอังกฤษ และวิชาโทภาษาไทย สุได้เลือกเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาถึงลักษณะที่หลากหลายของวรรณกรรมทั้งของไทยและของต่างประเทศ รวมทั้งปูมหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างและโดดเด่นของแต่ละชาติ หากแต่ในความแตกต่างนั้นกลับปรากฏลักษณะร่วมของมนุษยชาติ อันเปรียบได้กับความเชื่อของแต่ละศาสนาที่เมื่อมองโดยผิวเผินอาจแตกต่างกัน แต่ครั้นได้ศึกษาถึงแก่นแท้ของแต่ละศาสนาแล้ว จะพบว่าทุกศาสนาล้วนมีธรรมะอันเป็นสากลซึ่งเป็นคุณลักษณะร่วมกันของมนุษยชาติทั้งมวล

ในปี 2545 ได้เกิดเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สุมีโอกาสได้เดินทางในฐานะตัวแทนของมุสลิมไทยไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาบทบาทขององค์กรด้านศาสนาในสหรัฐฯ  ประสบการณ์ในครั้งนั้นและความสนใจดั้งเดิมเรื่องการแสวงหาและรักษาอัตลักษณ์ ทำให้เมื่อมีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สุได้เลือกศึกษาวรรณกรรมซึ่งเขียนโดยนักเขียนมุสลิมที่อพยพไปตั้งรกรากในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในอังกฤษและอเมริกา วรรณกรรมเหล่านี้เป็นวรรณกรรมขายดีในช่วงทศวรรษหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน และแสดงให้เห็นความพยายามของนักเขียนที่จะถ่ายทอดลักษณะที่หลากหลายของมุสลิมตะวันตก ตั้งแต่กลุ่มที่ยังยึดถือความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมเดิมอย่างเหนียวแน่น  ไปจนถึงกลุ่มที่ผสมผสานอัตลักษณ์ทางศาสนาของตนเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างลงตัว  และกลุ่มที่ถูกผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมโดยได้ละทิ้งอัตลักษณ์ของตนไปโดยสิ้นเชิง  การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านงานวรรณกรรมที่ตนเองสนใจทำให้สุมีโอกาสเผยแพร่เรื่องราวของวิถีชีวิต ศาสนา และวัฒนธรรมของมุสลิมในโลกตะวันตกผ่านมุมมองของนักวิชาการที่มีความรู้ทั้งทางด้านวรรณกรรมและทางศาสนาในบุคคลเดียวกัน อันจะช่วยสร้างความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้างต่อไป  

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์ประจำที่แผนกวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงหลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แล้ว สุยังเปิดอบรมการสอนภาษาอังกฤษให้กับพ่อแม่ที่ต้องการสอนภาษาอังกฤษให้ลูกตั้งแต่ในวัยเด็ก และเปิดสอนภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมให้เด็กปฐมวัย  โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิบัติที่เกิดผลได้จริงด้วยการสอนลูกของตนเอง และความมุ่งหวังที่จะสร้างเยาวชนให้สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเตรียมเยาวชนไทยให้เข้าสู่สังคมที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

    

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพอุษา ศรีเพริศ

     อุษา หรือ ทิพอุษาในชื่อใหม่ เรียนจบศิลป์-เยอรมัน จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 50 และสอบเข้าเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์ เลือกภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในสายวิชาการ

     ขณะเป็นนิสิตชั้นปีที่สาม “เอ๋” เริ่มต้นเป็นผู้แปลจุลสารเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งเผยแพร่โดยภาควิชาโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแปลจุลสารนี้ต่อเนื่องอยู่หลายปี

     หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทิพอุษาสอบเข้าทำงานที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ในส่วนงานการตลาดต่างประเทศ และซึ่งว่ากันว่าเป็นตำแหน่งที่บริษัทฯ เปิดสอบมาแล้ว
สามครั้งโดยไม่มีผู้สอบได้ เมื่อทำงานที่วิทยุการบินประมาณครึ่งปี ได้ลาออกเพื่อเรียนต่อปริญญาโททางภาษาและการสื่อสาร (ภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจและเทคโนโลยี) ที่สถาบันภาษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และระหว่างเรียน ทิพอุษาทำงานแปลให้บริษัทพฤกษ์วารี  ก่อนจะสอบเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์  

  

 

ทิพอุษาเริ่มต้นงานสอนสองแห่งพร้อม ๆ กัน คือ ที่รามคำแหง และเป็นวิทยากรประจำศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย และทำงานให้ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ จนกระทั่งศูนย์การศึกษาต่อเนื่องปิดตัวลง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  

 

เมื่อรับราชการที่รามคำแหงได้เพียงสามปี ทิพอุษาขึ้นดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ ฝ่ายสวัสดิการ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นเรื่องแปลกในเวลานั้น เพราะ ไม่เคยมีที่รองคณบดีอายุไม่ถึง 30 ปี มาก่อนในรามคำแหง ถึงขนาดที่ประชุมมหาวิทยาลัยต้องพักการประชุมเพื่อเตรียม พรบ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้กรรมการพิจารณาคุณสมบัติ หลังจากหมดวาระการทำงาน ยังได้รับคำเชื้อเชิญให้ทำงานบริหารในตำแหน่งต่าง ๆ  แต่ได้ปฏิเสธทุกครั้ง เนื่องจากทิพอุษาพบว่ารักการสอนและงานวิชาการมากที่สุด  ทุกครั้งที่ได้รับคำชมในเรื่องวิชาการ ทิพอุษาได้แต่บอกทุกคนว่าเป็นผลสำเร็จอย่างแท้จริงของการผลิตบัณฑิตของคณะอักษรศาตร์ จุฬาฯ และเป็นตัวอย่างให้นิสิตนักศึกษาได้เห็นคุณค่า และความแข็งแกร่งของการศึกษาในประเทศ ทำให้นิสิตนักศึกษามีกำลังใจและแรงบันดาลใจในการเรียน

ทิพอุษาได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนในโครงการศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ภาคพิเศษ ตั้งแต่รุ่นที่ 1 อันเป็นหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ที่มีนักการเมืองระดับชาติ และบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศมาเรียนกันเป็นจำนวนมาก โดยเป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในหลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีผลงานทางวิชาการ คือ ภาษาอังกฤษในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่นักศึกษารามคำแหงใช้เรียน และล่าสุดทิพอุษาทำผลงานวิจัยให้ภาควิชาต้นสังกัด เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงหลักสูตร

ทิพอุษาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในขณะดำรงตำแหน่งรองคณบดี และตลอดระยะเวลารับราชการที่รามคำแหง ได้รับเชิญเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการกำกับมาตรฐานวิชาการในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

สิ่งที่นำความภาคภูมิใจมาให้มากที่สุด คือ การได้ทำงานรับใช้ชาติ และเป็นกรรมการสรรหาผู้รับทุนของรัฐบาล และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  

ด้านครอบครัว ทิพอุษาแต่งงานและมีลูกสาวที่เจริญรอยตามแม่ คือเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ และเรียนจบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเช่นกัน

 

 

รศ. ดร. ม.ล. จรัลวิไล จรูญโรจน์

     ถ้าเอ่ยถึงชื่อ “รศ. ดร. ม.ล. จรัลวิไล จรูญโรจน์ หรือ อาจารย์ดาว” ให้ใครสักคนที่เคยอ่านงานวิชาการทางภาษาศาสตร์ แต่ไม่เคยเจอตัวจริงของเธอลองเดาว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นดร. ได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ตอนอายุ 31 ปี ได้รองศาสตราจารย์ตอนอายุ 40 ปี น่าจะเป็นคนยังไง? คำตอบก็อาจเป็น “เป็นผู้หญิงเนิร์ดๆ คงแก่เรียน ใส่แว่นเลนส์หนาๆ ชอบเข้าห้องสมุด อ่านตำราวิชาการทั้งวัน ชีวิตขาดสีสัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าชีวิตประจำวันคงจะมีแค่ ‘ศาสตร์’ แต่ขาด ‘ศิลป์’”

    คำตอบของคำถามข้างต้นที่ได้ลองให้เดากันนั้นผิดทั้งหมด ดาวไม่ได้เป็นเด็กคงแก่เรียน ไม่ใส่แว่นตา แต่ดาวใช้ชีวิตสบายๆ ไม่มีความกดดัน ไม่เครียด เป็นคนเฮฮา ชอบเล่นดนตรี และชอบวาดภาพ ซึ่งอาจจะดูขัดกับภาพของ “รศ. ดร.” ในอุดมคติของใครหลายคน

     เพื่อนฝูงที่อยู่ในแวดวงอาชีพเดียวกัน ต่างเรียกดาวว่า “ศิลปินในวงการวิชาการ” ดาวเรียนจบระดับอุดมศึกษา
ทั้งปริญญาตรี โท และเอก จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเป็นพิเศษทางด้าน ภาษาศาสตร์
ดาวเป็นคนที่ใช้ภาษาได้สละสลวย เป็นสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิต แม้จะมีคำนำหน้าแสดงถึงสถานภาพทางสังคมเป็นหม่อมหลวง แต่ดาวก็ใช้ชีวิตเรียบง่าย สบายๆ มาแต่ไหนแต่ไร และบุคลิกเช่นนั้นส่งผลต่องานทางด้านวิชาการของดาวหลายประการด้วยกัน

ถ้าใครเคยอ่านงานของเธอก็คงจะพูดในทำนองเดียวกันว่า ดาวได้ทำหน้าที่สื่อสารด้วยอักษรสมเป็นเด็กอักษรฯ จริงๆ ดาวมีศิลปะในการเขียน สามารถเขียนเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจให้กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งศิลปะในการเขียนแบบดาวนั้น นับว่าหาได้ยากในวงการวิชาการ ตำราวิชาการหลายต่อหลายเล่มของดาวได้รับการแนะนำให้เหล่านิสิตนักศึกษาสรรหามาอ่าน และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ใช้หนังสือของดาวในการเรียนการสอน

ผลงานทางวิชาการของดาวนั้น มีมากเสียจนเราไม่แปลกใจว่าทำไมดาวถึงดำรงตำแหน่ง “รศ. ดร.” คนแรกของรุ่น แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับอาจารย์ดาวอย่างยิ่ง ได้แก่ หนังสือ “ภาษาศาสตร์เบื้องต้น”, “ภาษาในปริบทสังคมและวัฒนธรรม” และ “เทคนิคการวิจัยทางภาษาศาสตร์” ซึ่งดาวภาคภูมิใจกับผลงานเหล่านี้เป็นที่สุด    

     เชื่อว่า “ดาว” จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนได้ว่า การที่เราจะมุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งใดให้สำเร็จได้นั้น เราไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นในสิ่งที่สังคมคาดหวัง หรือมีอุดมคติว่าควรจะเป็น เราสามารถเป็นตัวของตัวเอง และมีความสุขในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ได้เหมือนกันกับดาว... จรัลวิไล ผู้จรัสแสงแรงในเหล่าชาวอักษรา...

   


ศศิธร ยากรณ์ พิทยรัตน์เสถียร

     ศศิธร มีชื่อเล่นว่าหนู และมีฉายาอีกมากมายตามลักษณะทางกายภาพของเธอ แต่เพื่อนๆ ที่ใกล้ชิด มักจะเรียกเธอติดปากว่า ครูหนู เพราะเธอเป็นครูในทุกลมหายใจ ไม่เฉพาะกับลูกศิษย์ของเธอ แต่หนูมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างเพื่อสั่งสอนคนอื่นรอบข้างได้ในหลากหลายแง่มุม


     หนูหลงรักความงดงามของภาษาไทยมาตั้งแต่เล็ก เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ผู้ใหญ่ในบ้านพูดจากันด้วยภาษาที่สละสลวย มีถ้อยคำสำนวน มีคำคล้องจองเปรียบเปรย เธอรู้สึกเสมอว่าภาษาไทยนั้นไพเราะและมีเสน่ห์ หนูเลือกเรียนเอกวิชาภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาวรรณคดีไทย จากสถาบันเดียวกัน โดยเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องตัวละครวิกลจริตในเรื่องสั้นไทย ซึ่งทำให้หนูได้เรียนรู้ และศึกษาทางด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา เพิ่มเติมขึ้นจากความเชี่ยวชาญในความรู้ด้านภาษาไทย
     

       ระหว่างที่หนูเรียนปริญญาโทปีสุดท้ายที่อักษรฯ หนูได้เริ่มอาชีพ “ครูหนู” ด้วยการสอนวิชาภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติในโปรแกรม Intensive Thai ของคณะ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีโค้ช ไม่มีตำรา หนูต้องเรียนรู้ ปรับกระบวนการเรียนการสอนไปทีละขั้นตอนเพื่อให้คลาสดำเนินไปได้ด้วยดี และประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในแต่ละชั้นเรียน หนูสั่งสมประสบการณ์มาเป็น 10 ปี ก่อนจะลาออกมาเริ่มก่อตั้ง ศุมา สถาบันภาษาและวัฒนธรรม เมื่อปีพ.ศ. 2548 ร่วมกับอาจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ และอาจารย์มธุรส เพ็ญศรี รุ่นน้องภาควิชาภาษาไทยอีกท่านหนึ่ง

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา  หนูและทีมงานได้สร้างชื่อเสียงให้ศุมาเป็นสถาบันการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติที่ได้รับการยอมรับ ได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานทูตอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน เดนมาร์ก เบลเยี่ยม รวมถึงบริษัทชั้นนำอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น บริติช เคาน์ซิล, จัสแมกไทย, เบนซ์ และอื่นๆ อีกมากมาย การสอนภาษาไทยของศุมานั้นมีแบบแผนที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และเอื้อให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย นักเรียนที่เรียนกับครูหนู จึงไม่ใช่เพียงแต่พูดได้ แต่พูดเป็น พูดถูกกาลเทศะ ครูหนูยังได้พัฒนานำองค์ความรู้การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาตินี้ สร้างเป็นหลักสูตรอบรมวิชาการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติขึ้น เพื่อเป็นการสืบทอดศาสตร์ด้านนี้สู่บุคลากรรุ่นต่อๆ ไป เท่าที่ผ่านมา ครูหนูเปิดการอบรมไปแล้วกว่า 20 รุ่น นอกจากจะเป็นการส่งต่อความรู้แล้ว ยังนับเป็นการสร้างอาชีพ ยกระดับสถานะในสังคมได้อีกทางหนึ่ง
     

        และเมื่อช่วงต้นปีนี้เอง ครูหนูได้ต่อยอดศาสตร์การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติอย่างเป็นรูปธรรมกว่าเดิม ด้วยการเขียนตำราประกอบการเรียนการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ “I Can Speak Thai Book I” ขึ้น ซึ่งหนูภูมิใจมากกับงานชิ้นนี้ เพราะหนูมีความฝันที่จะพัฒนา ผลักดันให้สังคมได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของวิชาการด้านนี้ ซึ่งคนอาจจะมองว่าคนที่พูดไทยได้ ก็สอนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีหลักการ ขั้นตอน และกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งหนูใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่สอนมากว่า 20 ปีทั้งที่จุฬาฯ และที่ศุมา กลั่นออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ และมีแผนที่จะเขียนเล่มอื่นๆ ตามออกมาในระยะเวลาอันใกล้

นอกจากนั้น ครูหนูยังได้รับความไว้วางใจจากค่ายเอ็กแซ็กท์ติดต่อให้ดูแลอบรมนักแสดงในสังกัดให้ออกเสียงอย่างถูกอักขรวิธี รู้จักและเข้าใจความหมายของถ้อยคำ รวมทั้งได้รับเชิญไปบรรยายในการอบรมเสวนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยอยู่เป็นนิจ

       สำหรับลูกศิษย์ของครูหนูไม่ว่าที่ศุมา หรือที่ไหนๆ แม้จะจบคอร์ส จบรุ่นกันไปแล้ว ล้วนแล้วแต่ยังผูกพันกับครู เพราะครูหนูไม่ได้สอนแต่ภาษา และไม่ใช่สักแต่ว่าสอน ความมีเมตตา ความเป็นครูในเนื้อแท้ของครูหนู ทำให้นักเรียนสนิทใจ และไว้ใจ ในหมู่เพื่อนๆ เอง ความมีน้ำใจ ความมีเมตตาของหนู ก็เป็นที่ประจักษ์ชัด หนูเป็นคนแรกๆ ที่จะยื่นมือมาช่วยเพื่อนๆ ที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่หนูช่วยได้ หนูไม่เคยลังเลที่จะลงมือดำเนินการ หนูยินดีเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนๆ เสมอ

        เช่นนี้แล้ว อักษรจรัสจะขาดครูหนู ศศิธรไปได้อย่างไรเล่า...

 

    

สมญา มยุระสกุณ

      สมญา คือ อดีตนิสิตหนุ่มที่เหมาะกับฉายา “เล็กพริกขี้หนู” ของอักษรศาสตร์รุ่น 58 เป็นที่สุด เพราะความสามารถด้านต่าง ๆ มากมาย ล้นพ้น จนเกินตัว ไม่นับบุคลิกที่เปี่ยมสนุกสนาน รุ่มรวยด้วยอารมณ์ขันจนสามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากเพื่อนฝูงคนรอบตัวได้ตลอดเวลา

      “ตั๊ก” เข้าเรียนที่อักษรศาสตร์โดยเลือกภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาเอก ระหว่างเรียน คลุกคลีกับการทำกิจกรรมทุกประเภท อาทิ การแสดงละครของภาคละครในงานจุฬาวิชาการ งานฟุตบอลประเพณี ออกค่ายอาสาพัฒนา งานกิจการนิสิต รวมทั้งยังเป็นตัวแทนแข่งกีฬาชกมวยและเปตองจนคว้าเหรียญเงินกีฬาระหว่างคณะมาคล้องคอได้ และตลอดเวลาสี่ปี สมญาสร้างความทรงจำให้มิตรสหาย รุ่นน้องรุ่นพี่และครูอาจารย์ ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
ที่แทบจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าประจำตัวสมญากลาย ๆ ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรี เอกภาษาญี่ปุ่น และวิชาโท ประวัติศาสตร์และภาษาอังกฤษ ในปี 2537 และได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Studies)
จาก International Pacific College ประเทศนิวซีแลนด์ในเวลาต่อมา

         สมญาอาจไม่ได้มีภาพของเด็กอักษรฯ ที่คลั่งเรื่องเรียนเป็นที่สุด แต่สามารถผสมผสานการใช้ชีวิตสนุกสนาน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเยาว์วัยในสี่ปีที่มหาวิทยาลัยและความรับผิดชอบในฐานะนิสิตผู้เข้ามาแสวงหาความรู้ในรั้วจามจุรีได้อย่างลงตัว นอกเหนือจากการคร่ำเคร่งในวิชาเอกญี่ปุ่น สมญายังตีกลองและเป็นช่างภาพมือดีที่เพื่อน ๆ ให้การยอมรับและพร้อมโพสต์ท่ารอเมื่อสมญาจับกล้อง

             ในปีสุดท้าย สมญารับบทเด่น ในละครวิทยานิพนธ์ของเพื่อนร่วมรุ่นที่นำบทประพันธ์แสนรักของคนทั้งโลกจากหนังสือ “ต้นส้มแสนรัก” มาดัดแปลงเป็นละครเวที บทบาทที่เรียกน้ำตาผู้ชมในวันนั้นยังทำให้เพื่อนรุ่น 58 ส่วนหนึ่งยังมอบฉายา “เซเซ่” ตัวละครเอกให้สมญามาจนทุกวันนี้

        ขณะเดียวกัน เมื่อก้าวสู่โลกแห่งการทำงาน สมญาทุ่มเทเอาจริงเอาจังและเก็บเกี่ยวประสบการณ์หลากหลายสายงาน อาทิ งานฝ่ายบุคคล งานบริหารสำนักงาน โลจิสติกส์ งานควบคุมการผลิต และงานบริหารคลังสินค้า  ปรัชญาการทำงานแบบ ”Work Hard, Play Hard” และการปกครองดูแลทีมงานด้วยความยืดหยุ่นเข้าอกเข้าใจทำให้สมญาเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน และการทุ่มเทต่อหน้าที่รับผิดชอบทำให้สมญาได้รับเลือกให้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นสองปี โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับโอกาสเช่นนี้ สมญาได้ไปเรียนรู้และต่อสู้กับสังคมญี่ปุ่นที่เปิดรับคนต่างชาติน้อยมาก แต่ทุกอุปสรรคย่อมหมายถึงประตูที่เปิดกว้าง หากสามารถฝ่าด่านความท้าทายโดยไม่ย่อท้อ สองปีในแดนอาทิตย์อุทัย สมญาได้รับการยอมรับนับถือในที่ทำงาน ด้วยการหน้าที่เกินร้อยและทักษะภาษาญี่ปุ่นที่สมกับเป็นเลือดอักษรศาสตร์ ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮอนด้า เทรดดิ้ง เอเชีย จำกัด ในปัจจุบัน

          สมญาแต่งงาน มีครอบครัวที่น่ารักและมีบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนหนึ่งคน  

  

สามมิติ สุขบรรจง

ครูเก๋ของลูกศิษย์และแฟน ๆ รายการแข่งขันร้องเพลง มีชื่อจริงที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดว่า สามมิติ แต่ความสามารถของอดีตบัณฑิตเอกศิลปการละคร อักษรศาสตร์รุ่น 58 คนนี้มีหลากมิติกว่าชื่อแบบหาตัวจับยาก

เก๋สอบเข้ารั้วชงโคด้วยภาษาเยอรมันและเลือกเรียนภาษานี้เป็นวิชาโท แต่เลือกละครเป็นวิชาเอก และดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ลงตัว เพราะสามมิติต่อยอดความรู้ในสาขาที่ร่ำเรียนมาจนกลายมาเป็น “ครูเก๋” อย่างที่ทุกคนรู้จักในปัจจุบัน ด้วยการศึกษาต่อในสาขาการศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประวัติศาสตร์การละคร จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ ประเทศอเมริกา ก่อนจะสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาศิลปวัฒนธรรมวิจัย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็น ดร.สามมิติ อย่างเต็มภาคภูมิ

 

ระหว่างศึกษาที่อักษรศาสตร์ นิสิตสาวนามว่าสามมิติมีความสดใสร่าเริงและมักจะเรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนฝูงได้เสมอ และเชื่อว่าการทำหน้าที่สอนในฐานะอาจารย์ประจำวิชาการแสดง ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คงจะสร้างความเฮฮาให้กับนักศึกษา แต่ความรู้ในด้านวิชาการที่ผู้เรียนได้รับไม่มีขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด ครูเก๋ยังพาอารมณ์ขันเผื่อแผ่ไปยังนนิสิตนักศึกษาที่อื่น ๆ ด้วยการทำหน้าที่อาจารย์พิเศษ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และมหาวิทยาลัยมสวนสุนันทา 

คนทั่วไปอาจจะคุ้นหน้าค่าตากับครูเก๋ในบทบาทหัวหน้าผู้ฝึกสอนการแสดงในรายการ Academy Fantasia, The Comedian Thailand, ครูเก๋ยังเป็นที่ปรึกษาการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย สอนการแสดงและบุคลิกภาพบนเวทีมิสยูนิเวิร์สในประเทศไทยอยู่สามปี และเป็นวิทยากรด้านการบุคลิกภาพให้กับองค์กรต่าง ๆ อาทิ ปตท. กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ และทำหน้าที่เป็นโค้ชด้านการแสดงให้กับ ณเดช เคน ภูภูมิ และใหม่ ดาวิกา เป็นต้น

มีเรื่องเล่าขำ ๆ สมัย “ครูเก๋” ยังเป็นนิสิต และต้องไปยื่น/รับเอกสารลงทะเบียน ณ อีกฟากของมหาวิทยาลัยตรงข้ามลานพระบรมรูปสองรัชกาล ครานั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ขานชื่อ “สามมิติ” วันดีคืนดีเก๋จะไหว้วานให้เพื่อนนิสิตช่วยออกไปรับเอกสารแทน เพราะเวลาที่เจ้าหน้าที่ขานชื่อเธอเมื่อใด จะต้องมีสายตาคนแปลกหน้าหันมามองเจ้าของชื่อเป็นตาเดียวเมื่อนั้น ทุกวันนี้ครูเก๋คงจะภาคภูมิและไม่ต้องให้ใครสวมรอยเป็นเจ้าของชื่อสามมิติอีกแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวว่า สรุปได้สั้น ๆ ว่า นักเรียนมัธยมจากรั้วสามเสน ที่ก้าวมาเป็นนิสิตสาวนามว่าสามมิติในรั้วมหาวิทยาลัยแถวสามย่าน คุณภาพคับแก้วหลากมิติจริง ๆ

              

อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง

การย่อชีวิตคนให้เหลือสิบบรรทัด
คงทำได้ยาก หากสำหรับบางคน เราสามารถสรุปชีวิตให้เหลือไม่กี่คำได้ง่ายๆ มิวเป็น ‘นักเปิดหน้าหนังสือ’ ทั้งตามตัวอักษร (เธอเปิดหนังสืออ่าน
เพื่อความบันเทิงและในเชิงการงาน) และในทางเปรียบเปรย (เธอเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสภาพชีวิตได้หมดจดตลอดมาตั้งแต่เรียนจบ)

ในแวดวงวรรณกรรมปัจจุบัน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ด้วยได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่น รูปเล่มสวยงามตอกย้ำแบรนด์ด้วยสันสีม่วง รวมถึงแนวทางการคัดสรรผลงานชั้นดีของนักเขียนต่างประเทศมาจัดแปลจัดพิมพ์ให้นักอ่านชาวไทยได้เปิดหูเปิดตา ผลงานเด่นเห็นชัดเจน ทั้งคุณภาพและปริมาณ ของสำนักพิมพ์กำมะหยี่ คือ ผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนเลื่องชื่อชาวญี่ปุ่น ที่ช่วงสี่ห้าปีหลังๆ นี้ มีลุ้นติดโผว่าอาจจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมทุกปี

ผู้อยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่การก่อตั้ง ดำเนินการ รวมทั้งเสนอหน้าให้สัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ จนถึงขึ้นปกนิตยสารไรเตอร์ คือ หญิงผู้ใช้นามแฝงบนโลกโซเชียลมีเดียว่า ‘ป้าจสน.’ (ย่อมาจากป้าเจ้าสำนัก) และป้าคนนี้ ก็คือ มิว เด็กละครผมสั้นใส่เสื้อยืดรัดรูปสวมกางเกงเลเดินไปเดินมาของเพื่อนๆ นั่นเอง

ก่อนจะจับผลัดจับผลูมาก่อตั้งสำนักพิมพ์ หลังจากเรียนจบ มิวผ่านงานมาแล้วมากมาย งานผลิตละครเวที (ตามที่ร่ำเรียนมา) งานโทรทัศน์ (ตามกระแสชีวิตที่พัดพาไป) งานเสิร์ฟอาหาร (ตามความจำเป็นของชีวิต) งานเลขานุการิณี (ตามความสะดวกสบายใกล้บ้าน) งานแปลหนังสือ แปลข่าว (ตามความสนใจส่วนตัว)  

 ทุกวันนี้ มิวโยกย้ายตามสามีไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทำงานประจำคือศรีภรรยา แม่หมาแม่แมว และงานอดิเรกที่เจ้าตัวเรียกว่า ‘กิจการกำมะหยี่’ อ่านต้นฉบับคัดเลือกหนังสือ เซ็ตทีมงาน ตรวจทานต้นฉบับแปล นอกจากนั้นเมื่อเวลาเป็นใจ ก็นั่งแปลหนังสือของมิลาน คุนเดอรา นักเขียนในดวงใจ นับว่าไม่เลวเลย สำหรับอดีตนิสิตอักษรศาสตร์ที่เคยได้ D ในวิชา E-T

   

อัญชลี โตพึ่งพงศ์

อั๋น อัญชลี กับภาษาเยอรมันนั้นเป็นของคู่กันอย่างแท้จริง...

นับย้อนไปตั้งแต่สมัยยังศึกษาอยู่โรงเรียนศึกษานารี อั๋นก็เลือกเรียนสายศิลป์-เยอรมัน และยังสอบชิงทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนไปทัศนศึกษาที่ประเทศเยอรมนีช่วงสั้นๆ หลังจากสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อั๋นเกิดเปลี่ยนใจไปเข้าเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่เทอมแรก เพราะตอนนั้นภาษาญี่ปุ่นกำลังมาแรง แต่แล้วก็ต้องกลับไปซบอกภาษาเยอรมันอย่างเก่า   แน่นอนว่าภาษาเยอรมันช่างยากเย็นแสนเข็ญนี่กระไร แต่อั๋นก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอจรัสแสงด้านนี้อย่างไร้ข้อกังขา เมื่อเธอคว้าปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ภาษาเยอรมันมาครอบครองได้อย่างเต็มภาคภูมิ จากนั้นอั๋นก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่สายการบิน ลุฟท์ฮันซา ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี ก่อนจะออกมาศึกษาต่อเต็มเวลา ในสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ที่สถาบันเดิมในระดับปริญญาโท

เมื่อจบโทจากอักษรฯ อั๋นได้สมัครเข้ารับราชการ เป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากทำงานสอนได้พักหนึ่ง เธอก็ได้รับทุนจากองค์การแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DAAD) เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่เมืองบัมแบร์ก รัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ในสาขาวิชาการเรียนการสอนภาษาเยอรมัน

 หกปีเต็มที่อั๋นใช้ชีวิตที่บัมแบร์ก เมืองเล็กๆ ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี นอกจากการเรียนในระดับปริญญาเอก เธอยังใช้เวลาว่างรับสอนหนังสือ รับงานแปล และทำงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษาเยอรมันที่เธอถนัด และคุ้นเคย เมืองบัมแบร์กนั้น มีคนไทยเดินทางไปศึกษาต่อไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสดีที่อั๋นได้มีโอกาสใช้ชีวิตแบบชาวเยอรมันจริงๆ ได้ซึมซับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ รวมถึงแง่คิดต่างๆ ในการใช้ชีวิตต่างแดน ทั้งยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนไทยในเมืองเล็กๆ แห่งนั้นด้วยการทำหน้าที่ครูสอนภาษาเยอรมัน หรือแม้แต่ล่ามอาสา โดยเธอเคยได้รับเชิญให้เป็นล่ามในคดีความต่างๆ หน้าบังลังก์พิจารณาคดีในศาลเป็นครั้งคราว

เมื่อกลับมายังประเทศไทย ดร. อัญชลีได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอนภาษาเยอรมันทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ที่ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านการแปลและการสอนภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ เธอยังได้เคยผ่านงานบริหารมาแล้วทั้งในตำแหน่งหัวหน้าสาขาภาษา เยอรมัน และตำแหน่งผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ พร้อมด้วยผลงานอันโดดเด่น คือการทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารมนุษยศาสตร์ ฉบับบัณฑิตศึกษา จนกระทั่งวารสารได้รับการรับรองคุณภาพเข้าสู่ฐานที่ 2 ในระบบฐานข้อมูลของศูนย์ TCI แห่งประเทศไทย ในแง่ของวิชาการ อั๋นได้ร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ผลักดันให้เกิดหลักสูตรการแปล ในระดับบัณฑิตศึกษา และได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรในเวลาเดียวกัน  

สำหรับผลงานแปลล่าสุด ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอั๋นอย่างยิ่ง คือหนังสือแปล เรื่อง “ลมหายใจที่ขาดห้วง” จากเรื่อง Atemschaukel ของ Herta Müller นักเขียนชาวโรมาเนีย เชื้อสายเยอรมัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 2009 ที่ได้สะท้อนภาพความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ด้วยลักษณะการเขียนเชิงกวีนิพนธ์ผสมผสานกับปรัชญา เนื้อเรื่องกล่าวถึงชีวิตเด็กหนุ่มเชื้อสายเยอรมันที่ถูกเกณฑ์ไปยังค่ายกักกันแรงงานที่รัสเซีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และเนื่องจากว่าอั๋นได้ถ่ายทอดพลังด้านวรรณศิลป์อันทรงคุณค่าในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นภาษาไทยได้อย่างโดดเด่น จึงทำให้เธอได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ \"รางวัลพระยาอนุมานราชธน\" ประเภทหนังสือแปลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2558

...และแน่นอนว่า เธอเหมาะสมและคู่ควรกับความเป็นอักษรจรัส อบ. 58 ของเรานี้ด้วยประการทั้งปวง.....

เราจะรอชื่นชมผลงานชิ้นต่อๆ ไปของอั๋น สาวเยอรมัน หัวใจไทย!

 

 

อุษา (บุญชู) ฤทธาภิรมย์

อุษา (บุญชู) ฤทธาภิรมย์

ถ้าเอ่ยชื่อ "อุษา ฤทธาภิรมย์" หนอนหนังสือแปลแนวสะท้อนสังคมคงรู้จัก หรือ
คุ้นชื่อเธออยู่มิใช่น้อย เพราะอุษาหรือนก เป็นนักแปลหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง และพิมพ์ซ้ำหลายๆ ครั้งของสำนักพิมพ์สันสกฤต อย่างเรื่อง "เหยื่อ" ซึ่งแปลมาจากหนังสือเรื่อง "Echoes from the Dead" โดย Johan Theorin นักแปล
ชื่อดังชาวสวีเดน (Echoes from the Dead ได้รับรางวัล Best First Mystery Award ของ Swedish Academy of Crime Writers ในปีค.ศ. 2007) หรือเรื่อง "มหารานี คาร์ปูทาลา" ซึ่งแปลจากหนังสือเรื่อง "Passion India" ของผู้เขียนชาวสเปนชื่อ Javier Moro ก็ได้รับความนิยมจากนักอ่านหนังสือแปลชาวไทยจนต้องพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 4 แล้ว

ผลงานการแปลหนังสืออันลือชื่อของ “อุษา ฤทธาภิรมย์” ยังปรากฏเด่นอีกหลายเรื่อง
เช่น บาดแผลซากุระ, บาดแผลของดอกไม้, แผ่นดินของใคร, พยานมรณะ, จุดจบ, ทางสีดำ,
ปิดตาย และอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งเล่มล่าสุดที่ออกจำหน่ายในเดือนตุลาคม 2559 คือเรื่อง “เดียวดายในเบอร์ลิน” ซึ่งแปลจากเรื่อง Alone in Berlin โดย Hans Fallada


นอกจากผลงานการแปลหนังสือแล้ว อุษายังมีผลงานการแปลข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น งานแปลข้อมูลงานวิจัยยาต้านไวรัสโรคเอดส์ขององค์การเภสัชกรรม งานแปลรายงานประจำปีพ.ศ. 2547 ขององค์การเภสัชกรรม และงานแปลสุนทรพจน์ของ Bill Gates ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อครั้งที่มาเยือนประเทศไทยในปีพ.ศ. 2548

อุษาฉายแววโดดเด่นด้านภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย ด้วยการสอบและได้ทุน AFS ไปศึกษาที่ Granville High School รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา (สมชื่ออุษาหรือ USA เสียจริงๆ) เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นดอกชงโคใต้ร่มจามจุรีเมื่อปีพ.ศ. 2533
โดยเลือกภาษาอังกฤษวิชาถนัดเป็นวิชาเอกและประวัติศาสตร์เป็นวิชาโท และต่อมาได้เข้ารับการศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์อีกครั้งในสาขาวิชาการแปล ได้รับปริญญามหาบัณฑิต เมื่อปีพ.ศ. 2547


ปัจจุบันอุษาทำงานที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNICEF Thailand) ในตำแหน่งผู้ช่วยระดับอาวุโสของผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย (Senior Executive Assistant to Representative, UNICEF Thailand) โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์อาทิตย์ช่วยเหลืองานด้านการค้ำจุนพระพุทธศาสนา อุษาเป็นหนึ่งในคณะทำงานของหลักสูตรครูสมาธิ ประจำสถาบันพลังจิตตา-
นุภาพ สาขาพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย อุษาเริ่มงานนี้ จากการเข้ามาอบรมหลักสูตร
ครูสมาธิเป็นเพื่อนคุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เมื่อคุณแม่จากไปอย่างสงบ อุษาก็ยังคงเข้ารับการอบรมต่อไป เพราะต้องการอุทิศบุญกุศลจากการรับใช้ศาสนาให้กับคุณแม่
ผู้ล่วงลับ รวมทั้งเห็นผลดีของการฝึกสมาธิต่อตัวเองที่เปลี่ยนไป จากที่เคยร้องไห้ง่าย กลายเป็นไม่ฟูมฟายกับการจากไปของคุณแม่ สามารถจัดงานเพื่อคุณแม่ได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตลอดจนเข้าใจในสัจธรรมของการจากพรากมากขึ้น ต่อมา อุษาได้รับเลือกให้เป็นพิธีกรสำหรับหลักสูตรครูสมาธิรุ่นต่อๆ ไป และได้ทำหน้าที่นั้นมาเป็นเวลาถึง 6 เดือน ปัจจุบัน อุษามีหน้าที่ดูแลคณะพิธีกรรุ่นใหม่ๆ รวมเป็นเวลากว่า 3 ปีที่อุษาสละเวลาว่างในวันเสาร์อาทิตย์เพื่ออบรม และทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาด้วยจิตอาสา และด้วยความรักและศรัทธาอย่างแท้จริง


อุษามีครอบครัวที่น่ารัก มีลูกชายหนึ่งคนที่สืบทอดความดีและความเก่งของทั้งพ่อและแม่
มาอย่างเต็มเปี่ยม สมบูรณ์แบบ

 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University