อักษรจรัส รุ่น 60

กานต์ชนก วรรธนะสิน

\"อาจารย์เรียนจบจากที่ไหนคะ”

เวลาแนะนำตัวกับลูกศิษย์ช่วงสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา จะไม่เคยบอกใครว่าเรียนจบมาจากที่ไหน แต่แม้เราเองจะไม่พูด เวลาผ่านไปสักพักก็จะมีเสียงถามถึง alma mater ของเราอยู่เป็นเนืองนิจ

ครูและอาจารย์หลายคนที่จบจากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คงจะเคยได้รับความชื่นชมแบบนี้มาแล้วทั้งนั้น คำชมนั้นไม่ได้มาจากคำพูดเปิดตัวของเราเอง แต่มาจากความรู้ คำสอน และการปฏิบัติตัวของเราที่ทำให้ลูกศิษย์ประทับใจมากกว่า รุ่นต่อรุ่น...เราเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ได้ก็เพราะเรามีอาจารย์ที่อักษรฯ เป็นแรงบันดาลใจให้เรามาก่อนแล้ว

ประมาณยี่สิบปีที่แล้ว ณ ห้องเรียนวิชา Background to British Literature สัปดาห์หลังสอบมิดเทอม อาจารย์ได้เรียกเราเข้าไปหา ท่านถามเราโดยที่เพื่อนคนอื่นไม่ได้ยินว่า \"กานต์ชนก เป็นอะไรรึเปล่าคะ คะแนนถึงได้น้อย ปกติกานต์ชนกต้องทำได้มากกว่านี้\" อาจารย์ไม่ได้ถามเพราะเราคะแนนน้อยที่สุดในห้อง แต่เพราะอาจารย์จำลูกศิษย์แต่ละคนได้จากที่เคยสอนสั่งพวกเรามาเทอมก่อน ๆ คำถามเพียงประโยคเดียวนั้นทำให้เราขยันเรียนและตั้งใจอ่านหนังสือยาก ๆ จำนวนมหาศาลมากขึ้น และเพราะเราอยากเก่งและดีแบบอาจารย์เราจึงใส่ใจหาความรู้และตั้งใจเป็นครูที่ดีตลอดมา

อาชีพครู... ไม่เพียงต้องรู้หนังสือ แต่ต้องรู้โลก เปิดตาและเปิดใจมองคนจากหลายสังคม หลายสมัย และหลายภาษา นอกจากนั้นยังต้องรู้จักคนตั้งแต่ระดับกลุ่มไปจนระดับปัจเจกบุคคล ความรู้แบบนี้เรามีได้ก็เพราะมีอาจารย์ทุกท่านที่อักษรฯ เป็นตัวอย่าง เวลาลูกศิษย์ถามว่าจบจากที่ไหน คำตอบว่า \"อักษรศาสตร์ จุฬาฯ\" นั้นไม่เพียงทำให้เราภาคภูมิใจ แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงที่จะเป็นครูที่ดีเพื่อสร้างคนดีและคนเก่งให้สังคมต่อไป

“กานต์ชนก วรรธนะสิน”

ชลทิพา วิญญุนาวรรณ

รุ่นหกสิบ นางสาวแก้ว ชลทิพา

เอกอังกฤษ โทบรรณารักษ์ อักษรฯ

ขอเอ่ยเล่า ความคิดเห็น เป็นบทกลอน

ครบ 100 ปี ศรีอักษรฯ เทวาลัย

 

จบ ม. ปลาย สายวิทย์-คณิตมา

เข้าอักษรฯ จุฬาฯ ดั่งใจหมาย

รักภาษา ประวัติศาสตร์ มาดตามไท้

คณะอักษรฯ ให้อะไร ที่ได้เรียน

 

ในชั้นต้น ได้ความรู้ ปูพื้นฐาน

ทำรายงาน วิเคราะห์ลึก ฝึกแลกเปลี่ยน

ได้เข้าใจ เห็นใจ เพื่อนว่ายเวียน

ได้รู้เรียน ชีวิต จิตนานา

 

ได้ความรู้ คู่วินัย ได้ความคิด

เป็นนิสิต มีโอกาส มากคุณค่า

รับเท่าไร ต้องคืนกลับ ให้มากกว่า

คืนสังคม ด้วยปัญญา สง่าตน

 

เรียนอักษรฯ ใช่แค่ครู รู้ชีวิต

สอนให้คิด ถูกผิดรู้ อยู่ทุกหน

ให้กล้าแกร่ง มั่นความดี พลีตัวตน

คือวิถี อักษรชน เพื่อคนไทย

 

อยู่บัวแก้ว ปัจจุบัน ได้สรรค์สร้าง

ยึดแนวทาง ราชสุดา ดำริไว้

ดอกบัวแก้ว รากอักษร ขจรไกล

จรัสใส เป็นแรงใจ ให้ก้าวเดิน

มนธิรา ราโท

\"แหม่ม มนธิรา ราโท\"   ก็เป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์รุ่น 60 อีกคนหนึ่งที่เป็น “อักษรจรัส” หลังจากจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ เอกวิชาภาษาไทย ด้วยคะแนนเกียรตินิยมแล้ว แหม่มเดินทางไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโททางด้านภาษาและวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปริญญาเอกทางด้านวรรณกรรมเวียดนามร่วมสมัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน SOAS ที่มีชื่อเสียงยอมรับโดยเฉพาะทางด้านบูรพคดีศึกษา หลังจากนั้น แหม่มกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่คณะและด้วยผลงานการสอนและการวิจัยที่ได้รับการยอมรับ แหม่มได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์อย่างรวดเร็ว แหม่มแปลหนังสือออกมาแล้วสองเล่มด้วยกัน คือ บันทึกของดั่ง ถุ่ย เจิ่ม ของดั่ง ถุ่ย เจิ่ม และ ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก ของเหงวียน เญิต อั๋นห์ ซึ่งต่างเป็นงานวรรณกรรมเวียดนามที่มีคุณค่า นอกจากภาระงานสอนและงานวิจัยแล้ว แหม่มยังดำรงตำแหน่งบริหารสำคัญของมหาวิทยาลัยมากมาย อาทิ รองคณบดี บัณฑิตวิทยาลัย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา นอกเหนือจากงานบริหารภายในคณะ อาทิ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาเวียดนาม

 

ศิริพร ภักดีผาสุข

อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 60 นับเป็นรุ่นที่มีคนกลับมาเป็นอาจารย์ในคณะมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ในหมู่คณาจารย์ของรุ่นนั้น ศิริพร ภักดีผาสุก”  หรือ หริ น่าจะอยู่ในความทรงจำของทุกคน หลายคนอาจจำภาพของหริที่เอาจริงเอาจังในห้องเชียร์ หลายคนอาจจำภาพของหริที่เป็นนิสิตตัวอย่างของภาควิชาภาษาไทยที่เรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหริเป็นคนที่ทั้งเรียนเก่งและมีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง หริได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อทางด้านคติชนวิทยาที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนียทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก นอกจากนั้น หลังจากที่หริกลับมาสอนที่คณะ ก็ได้รับรางวัลการเสนอผลงานวิจัยดีเยี่ยมแบบโปสเตอร์ในการประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโสของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หริมีผลงานตีพิมพ์มากมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเนื้อหามีความหลากหลายตั้งแต่การศึกษาอารมณ์ขันทางการเมือง การศึกษาปริศนาคำทาย การศึกษาหนังสือนิทานแนว edutainment ไปจนถึงเรื่องการวิเคราะห์วาทกรรม “ความเป็นหญิง” ในนิตยสารสุขภาพและความงามภาษาไทย ผลงานที่มีมากมายเป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้เห็นว่าหรินับเป็นนักวิจัยแนวหน้าทางด้านคติชน ภาษาและวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน

 

สุดาวดี ศิลป์ประสิทธิ์

ตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา \"ตั้ม สุดาวดี ศิลป์ประสิทธิ์\"  ได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะทำงานที่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเท่านั้น งานแรกที่ตั้มได้ทำคือ ครูอนุบาลอินเตอร์ แผนกภาษาเยอรมัน งานนี้เป็นงานที่สนุกมากเหมือนได้เดินทางไปต่างประเทศทุกวันเพราะไม่มีใครพูดภาษาไทยด้วย พอเริ่มชิน ตั้มจึงรู้ตัวว่าความรู้ที่ได้จากคณะตลอดเวลาสี่ปีนั้นแน่นราวกับฐานตึกที่สามารถสร้างตึกเป็นร้อยๆ ชั้นได้เลยทีเดียว จากการที่เริ่มต้นด้วยการสอนพัฒนาการเด็กเท่านั้น ตั้มได้เปิดคอร์สสอนทำอาหาร คอร์สการละครเสริมหลังโรงเรียนเลิกเอง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ สรุปว่าได้ใช้ความรู้ทั้งจากวิชาเอกและโทที่เรียนมา

จนกระทั่งเมื่อที่บ้านประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้ต้องกลายเป็นเสาหลักของครอบครัว ตั้มจึงผันตัวมาทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินเลาด้าแอร์ ออสเตรีย ซึ่งก็ได้ใช้ภาษาเยอรมันอีก ตั้มบอกว่าเวลาดูแลผู้โดยสารเธอจะใช้เคบิ้นเป็นเวทีละครคอยต้อนรับผู้โดยสารที่มาเยี่ยมในฐานะเจ้าบ้าน จนกระทั่งได้มารู้จักกับสามีที่เป็นผู้โดยสารนั่นเอง

ช่วงที่เธอแต่งงานเลิกบินแล้วย้ายมาอยู่ออสเตรียตั้มเคว้งมาก ล้มๆลุกๆอยู่นานจนกระทั่งหาจุดแข็งของตัวเองเจอ ตั้มสมัครเข้าเรียนถ่ายภาพที่โรงเรียนวิชาชีพ ตั้มบอกว่าถ้าไม่ได้ความรู้ภาษาเยอรมันจากคณะ ไม่มีทางเรียนรอดแน่ๆ เรียนไปแอบร้องไห้ไปเพราะยากมากตามไม่ทัน ต้องมาอ่านตามทุกวันที่บ้านอีก 2-3 ชั่วโมง สุดท้ายจากที่สอบตกตอนมิดเทอมครั้งแรก ตั้มกลับจบการศึกษาด้วยเกรด A และสอบ Meister ต่อทันทีจนได้เป็น Fotografmeisterin ภายในเวลาปีกว่า งานที่ตั้มทำควบคู่ไปกับงานช่างภาพในขณะนี้คือ เป็นล่ามให้ศาล โรงพยาบาลและกองบังคับการตำรวจของรัฐทิโรล นอกจากนั้นยังสอนภาษาไทยให้ Inlingua และบริษัทเอกชนชั้นนำอีกหลายแห่ง

ตั้มย้ำว่าวิชาความรู้และการปลูกฝังที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯนั้นเป็นวิชาความรู้แห่งชีวิต เป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพอื่นๆได้หลากหลายมาก สิ่งที่ต้องรู้คืออะไรที่ทำแล้วมีความสุข อยากจะตื่นขึ้นมาทำทุกๆวัน ทำแล้วหัวใจพองโต สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณว่าตั้มมาถูกทางแล้วนั่นเอง

สุปรียา จงเที่ยงตรง สนธิอรุณทัต

ทุกคนในรุ่นอักษร 60 น่าจะจำ \" สุปรียา สนธิอรุณทัต (จงเที่ยงตรง) \" หรือที่เรารู้จักกันว่า เอ๋ ได้ดี หลังจากที่เรียนจบเซนต์โยเฟซคอนแวนต์ด้วยคะแนนสูงสุดทั้งในวิชาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสทั้งสามปีในช่วงมัธยมปลาย เอ๋ก็สอบเอนทรานซ์เข้าคณะอักษรศาสตร์และเลือกวิชาเอกภาษาอังกฤษและวิชาโทภาษาฝรั่งเศส หลังจากเรียนจบพร้อมกับเกียรตินิยม เอ๋บินลัดฟ้าไปเรียนต่อทางด้านการบริหารจัดการระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดบรุ๊กส์ สหราชอาณาจักร แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสาย แต่เอ๋ประสบความสำเร็จทางด้านการงานเป็นอย่างดี โดยเริ่มต้นทำงานที่บริษัท Synovate ในตำแหน่งนักวิจัยอาวุโสจนเลื่อนมาเป็นผู้จัดการงานพัฒนาธุรกิจ ก่อนที่จะเข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัท Market 911 เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านการประกอบกิจการธุรกิจโดยรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการวิจัย ปัจจุบัน เอ๋แยกมาเปิดบริษัทของตัวเองชื่อว่า Cream Consulting ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2553 เป็นต้นมา ด้วยประสบการณ์การทำงานจนในที่สุดกลายเป็นเจ้าของกิจการ เอ๋เคยได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษสำหรับนิสิตในหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสเพื่อธุรกิจที่คณะอักษรศาสตร์ด้วยในช่วงหนึ่ง นับเป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ที่พลิกผันตัวเองไปทำงานด้านธุรกิจจนประสบความสำเร็จคนหนึ่งของรุ่น

 

สุวิมล สงวนสัตย์

ตั้งแต่จบอักษรฯไปสวม “สุวิมล สงวนสัตย์” ก็ทำงานมาหลายแนวมากเริ่มจากเป็นผู้ประกาศข่าวจราจรภาคภาษาอังกฤษทาง Easy FM 105.5 จากนั้นได้ทุนก.พ.ไปศึกษาต่อป.โทด้านสิ่งแวดล้อมที่ Brown University แต่ค้นพบว่า’ไม่ใช่ทางของดาว’จึงกลับมาเมืองไทยเพื่อเรียนโทด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์และใช้ทุนด้วยการสอนที่พระจอมเกล้าบางมดอยู่ห้าปี ชีวิตสวมผันไปเป็นนิวยอร์กเกอร์เมื่อแต่งงานและตามไปอยู่อเมริกากับสามีเพื่อเรียนเพิ่มเติมทาง Communication/Journalism ซึ่งในขณะนั้นก็หารายได้เสริมด้วยการทำงานร้านอาหาร/บาร์ในบรุ๊กลินไปด้วย เนื่องจากเป็นคนชอบไลฟ์สไตล์การกิน เที่ยวและเดินทางจึงเริ่มมีงานเขียนคอลัมน์แนวอาหารและท่องเที่ยวบ้าง เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ร่วมงานกับกองบรรณาธิการนิตยสาร InStyle อยู่เกือบปีเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่เนื่องจากลึกๆแล้วรักงานสอนและงานด้านการพัฒนาจึงได้ไปอยู่ U.S. Peace Corps ในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการเพื่อนครูและพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่ทำให้สวมได้เดินทางไปลงพื้นที่ 73 จังหวัดทั่วไทย ในหนึ่งปีจะออกเซิ้งเข้าไปสัก 120 วันจนแทบไม่ได้อยู่บ้านและกลายเป็นสายภูธรไปแล้ว ภาพที่คนอื่นมองอาจจะนึกว่าสวมเป็นคุณหนู แต่หารู้ไม่ว่าจากการลงพื้นที่นี่ลุยและมีวีรกรรมมาสารพัดจนทำให้ถึกระดับคูโบต้ายังเรียกพี่แถมมีเรื่องเล่าเรียกเสียงฮาอยู่เนืองๆ ปัจจุบันสวมลาออกจากงานประจำมาช่วยธุรกิจส่วนตัวของสามีแต่ยังคงรับงานสอน งานแปลและงานล่ามเพื่อให้ได้ฝึกการใช้ภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ ยามว่างสวมชอบดำน้ำ ปั่นจักรยาน และหาของอร่อยๆกิน รวมทั้งหาจุดหมายใหม่ๆเพื่อเดินทางไปถ่ายรูปและเขียนคอลัมน์เที่ยว

หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์

ผศ.ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ หรือหนึ่งที่เพื่อนๆ รู้จัก คนนี้ มีแต่เรื่องมาให้เพื่อนๆ ทึ่งได้อยู่ตลอดนับตั้งแต่เรียนสตรีวิทย์ สอบเข้าอักษรฯ หลังจากสอบเทียบได้ตอน ม.๔ (พอถึงตอนนี้ เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักว่าสอบเทียบคืออะไร) จึงถือว่าเป็นเด็กน้อยในสายตาของเพื่อนหลายๆ คน แต่หนึ่งหทัยก็เป็นที่รักของอาจารย์และเป็นที่พึ่งของเพื่อนๆ ร่วมเอกภาษาสเปนมาตลอดการเรียนทั้งสี่ปี ก่อนจะเรียนจบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากสาขาภาษาสเปน และเกือบจะได้เหรียญทอง (เกรดเฉลี่ยเฉือนกับอริสรา ธนาปกิจ หรือครูพี่แนน ที่คว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองภาษาสเปนเพียงไม่กี่คะแนน) ตอนเรียนจบก็ไปหาประสบการณ์ด้วยการเป็นล่ามให้ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะได้รับทุนรัฐบาลสเปนไปเรียนปริญญาโทด้านการแปลภาษาสเปนและอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Complutense แห่งกรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อเรียนจบกลับมา หนึ่งหทัยได้ทำงานด้านการแปลและการล่ามอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่แปลประจำโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  ตลอดจนเป็นล่ามทั้งภาษาสเปนและอังกฤษในโอกาสสำคัญต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนได้รับทุนทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันเรียกทุน สกอ.)จนจบปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์ที่คณะอักษรฯ และทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงนับเป็นลูกหม้อของคณะอักษรศาสตร์ที่ควรค่าแห่งการเป็น “อักษรจรัส” อย่างแท้จริง ปัจจุบัน นอกจากงานสอนที่สาขาภาษาสเปน คณะอักษรฯ และงานล่าม หนึ่งหทัยยังมีผลงานแปลหนังสือดีๆ ภาษาสเปน ทั้งที่เป็นวรรณกรรมดังระดับโลก ผลงาน Best Seller และหนังสือแนวพัฒนาตัวเองให้นักอ่านชาวไทยได้ชื่นชมอยู่เรื่อยๆ  ไม่ว่าจะเป็น

  • Good Luck : สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง แปลจาก La buena suerte ของ Alex Rovira และ Fernando Trías de Bes. กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์. 2547. (แปลร่วมกับสุพัตรา พิษณุวงษ์)
  • บ้านปรารถนารัก แปลจาก La casa de los espíritus ของ Isabel Allende. กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์. 2548
  • เมืองอสุรกาย แปลจาก La ciudad de las bestias ของ Isabel Allende. กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์. 2554.
  • จดหมายลับจากวาติกัน แปลจาก La muerte del papa ของ Luis Miguel Rocha. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, 2556.

อริสรา ธนาปกิจ แนน

ณ ชั่วโมงนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ครูพี่แนน” จากโรงเรียนกวดวิชา Enconcept ที่พลิกโฉมหน้าวงการการศึกษาไทย “แนน” หรือ อริสรา ธนาปกิจ เป็นศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะอักษรศาสตร์ แนนเป็นศิษย์เก่ารุ่น 60 และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยเกรดเฉลี่ยสูงสุดของผู้ที่เรียนเอกสาขาวิชาภาษาสเปนปีนั้น หลังจากนั้น อริสราตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีและปริญญาโท แนนได้มุมานะตั้งโรงเรียนกวดวิชาและพัฒนาโรงเรียนจนก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

ผลงานของแนนเป็นที่ประจักษ์ชัด ไม่ว่าจะเป็นการปั้นและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมัธยมทั่วประเทศรักที่จะเรียนภาษาอังกฤษ แนนพัฒนาวิธีการสอนที่แตกต่างหลากหลาย ได้คิดค้นเทคนิค Memolody ใช้เพลง ใช้ท่าเต้น ฯลฯ เพื่อทำให้การเรียนภาษาอังกฤษไม่เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ นอกจากจะพัฒนาโรงเรียนของตนเองจนมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ แล้ว แนนยังได้รับเชิญให้ออกไปช่วยสอนเด็กตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมาก อาทิ โครงการ Brand Summer Camp โครงการความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับมาม่า โครงการเก่งภาษากับ AIS ฯลฯ

แนนยังได้ออกสื่อโทรทัศน์ ให้สัมภาษณ์รายการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง อายุน้อยร้อยล้าน รายการ Lady First แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและการยอมรับจากคนทั่วไปในวงกว้าง แนนยังได้ตีพิมพ์หนังสือมากมาย เช่น ชุด English Adventure คู่มือการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ใช้สื่อรูปภาพทำให้การเรียนภาษาไม่เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ รวมถึงหนังสือที่มีลักษณะกึ่งสอนกึ่งเล่าเรื่อง อาทิ อังกฤษพ้นกรอบกับครูพี่แนน แนนเนรมิต English Is Alive นอกจากความสนใจทางด้านการบริหารธุรกิจและการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แนนยังสนใจพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมอยู่สม่ำเสมอ แนนได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาอีกเล่มหนึ่งคือ เอายังไงดีกับชีวิต? ซึ่งเขียนร่วมกับ ว.วชิรเมธี

ชื่อเสียงของแนนยังปรากฎในฐานะนักเขียนคอลัมนิสต์เช่นเดียวกัน ปัจจุบันแนนมีคอลัมน์ประจำในสื่อต่างๆ อาทิ ไทยรัฐออนไลน์และ Nation Junior ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังไม่นับงานรับเชิญเป็นวิทยากรในวาระต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เครือธุรกิจเซ็นทรัล เป็นต้น

 

แต่ไม่ว่างานจะรัดตัวอย่างไรก็ตาม แนนก็ยังสามารถเจียดเวลามาร่วมกิจกรรมรุ่นและยังติดต่อกับเพื่อนๆ ในรุ่นอยู่ตลอด เช่น ล่าสุดเมื่อนิสิตเก่าอักษรศาสตร์รุ่น 60 จัดกิจกรรมไปเยี่ยมชมวังปารุกส์ แนนก็เดินทางมาเข้าร่วมและมาพบปะทักทายกับเพื่อนจวบจนกิจกรรมจบ

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University