เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 58

รับน้อง นงรัตน์ ทันจิตต์

รับน้อง

กิจกรรมการรับน้องของเด็กอักษรฯ เริ่มตั้งแต่การเข้าห้องเชียร์ เข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องค้าง
ที่คณะและจบที่พิธีบายศรีสู่ขวัญ สำหรับฉัน การเข้าห้องเชียร์ที่ต้องฟังเสียงรุ่นพี่ผู้ชายและพี่ผู้หญิง
บางคนโหวกเหวกโวยวาย ราวคนไร้สติเป็นเรื่องที่ยังจำได้แต่ไม่มีสาระควรนำพา เรารู้สึกดีกับเพื่อนของเราที่ได้มาพบกัน ตามประสาคนที่ชอบเรียน ชอบรู้เรื่องเหมือนๆ กัน ได้คุยกัน ได้ยิ้มให้กัน
โดยไม่ต้องมีการบังคับ หรือสร้างสถานการณ์จำลองอย่างไร้เหตุผล แต่จะเพราะแนวคิดใดก็ตาม เด็กอักษรฯ ในรุ่นนั้น ก็ยังต้องเข้าห้องเชียร์ และมีการรับน้องเหมือนคณะอื่นๆ แต่ด้วยธรรมชาติของเด็กอักษรฯ ที่ทั้งรุ่นมีประมาณ 270 เป็นผู้หญิง 250 เป็นผู้ชายตามใบแจ้งเกิด 20 คน ครึ่งหนึ่งของ 20 นี้เลือกจะไม่เป็นชายอีกต่างหาก การรับน้องแบบอักษรฯ จึงออกแนวเลอะเทอะ มอมแมม แต่ไม่รุนแรงหรืออันตรายเลยสักนิด กิจกรรม “สร้างสัมพันธ์” ดังกล่าวเกิดขึ้นตอนกลางวัน เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าที่กลายสภาพเป็นชุดที่ “ใช้แล้วทิ้ง” เพราะเหม็นน้ำปลาไม่รู้จักยี่ห้อผสมเม็ดแมงลักแล้ว พี่ๆ ก็ให้เราสวมชุดนิสิตเพื่อร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญตอนหัวค่ำ จำได้ว่า พี่ๆ พาพวกเราเข้าไปสักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโถงของตึก 1 รายละเอียดของพิธีพร่าเลือนไปตามเวลา
แต่บรรยากาศของเทวาลัยและความรู้สึกอิ่มเอม ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้วางรากฐานและให้กำเนิดสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติยังแจ่มชัดในความทรงจำถึงวันนี้ และยิ่งรู้สึกได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ก็เมื่อพี่ๆ และอาจารย์ผูกด้ายขาวที่ข้อมือรับขวัญและอวยชัยให้พรเราในฐานะน้องใหม่ในช่วงหัวค่ำคืนนั้นเอง

ห้องสมุดในเทวาลัย

ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์สมัยนั้นอยู่ที่ชั้น 2 และชั้นใต้หลังคาของตึก 2 ซึ่งเป็นอาคารโบราณ ด้วยรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่คล้ายวัด ทำให้ห้องสมุดมีหลังคาสูงมาก จึงรับแสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามาได้ค่อนข้างดี นอกจากเก้าอี้ไม้ดูโบราณสำหรับนั่งอ่านหนังสือที่เป็นชุดตั้งกระจายใกล้ๆ ชั้นหนังสือแล้ว ด้านนอกห้องสมุดโดยรอบที่เป็นระเบียงยังมีม้านั่งยาว และโต๊ะอ่านหนังสือวางรอบๆ รับทั้งแสงแดดที่อุ่นจนร้อนในตอนเที่ยงไปถึงลมอ่อนๆ ยามบ่ายคล้อยไปจนเย็น ช่วงปีแรกๆ ฉันเข้าห้องสมุดค่อนข้างบ่อย แต่เมื่อเรียนเยอะขึ้น และมีงานชมรมฯ ซึ่งคือ ชมรมวรรณศิลป์ ก็ทำให้แบ่งเวลาไปนั่งเล่น นั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดชมรมฯ แทน แต่สุดท้าย การทำรายงานหลายวิชาก็ยังต้องใช้
และต้องพึ่งหนังสือจากห้องสมุดคณะอยู่ดี และหนึ่งในวิชาที่ทำให้ฉันต้องกลับเข้าห้องสมุดคณะบ่อยอีกครั้งก็คือ วิชา บทละครฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 17 วิชานี้ นอกจากการสอบแล้ว เรายังต้องทำรายงาน
เชิงวิเคราะห์บทละครที่เราเลือกมาหนึ่งเรื่อง ซึ่งรู้สึกว่าอาจารย์จะให้คะแนนและความสำคัญมากกว่าการสอบเสียอีก เราจึงทุ่มเทกับรายงานฉบับที่ต้องส่งปลายเทอมนี้อย่างมาก จำได้ว่าฉันและเพื่อนร่วมเอกอีกคนใช้เวลาหลายสัปดาห์หาข้อมูลและเขียนรายงานฉบับนี้ เรียกว่าไม่ได้หลับไม่ได้นอน และ
คืนสุดท้ายก่อนวันกำหนดส่งรายงาน เราก็อดนอนกันจริงๆ และนำรายงานมาส่งทันเวลาที่ปิดรับพอดี ความรู้สึกขณะนั้น นอกจากจะโล่งอกบอกไม่ถูกแล้ว ตาทั้งคู่ก็พร้อมจะปิดทุกเมื่อ แทนที่จะนั่งรถ
กลับบ้าน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินได้ถึงตรงไหน เราทั้งคู่ก็ตัดสินใจเดินขึ้นห้องสมุด เป็นช่วงปลายภาค
ที่การสอบต่างๆ ผ่านไปเกือบหมดแล้ว ที่นั่งที่เคยเต็มจึงว่าง ม้านั่งยาวด้านนอกจึงกลายเป็นที่พักพิง
ของ “แรงงานกะดึก” สองคนที่เพิ่งเลิกงาน เราต่างเลือกพื้นที่ของแต่ละคนก่อนจะหลุดเข้าไปใน
อ้อมกอดของสายลมอ่อนๆ ที่พัดรอบตัว และรู้สึกตัวอีกครั้งอย่างกระปรี้กระเปร่าประมาณสี่โมง
ซึ่งก็ใกล้เวลาห้องสมุดปิดพอดี ....

ปัจจุบัน ห้องสมุดของคณะอักษรศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่ตึก 2 เพียงแห่งเดียวแล้ว ห้องสมุดแห่งใหม่ ณ ตึกใหม่ แปลงโฉมเป็นห้องแอร์เย็นฉ่ำ ที่นั่งสีสดใส มีให้เลือกหลายแบบ แต่สำหรับฉัน เมื่อพูดถึง ห้องสมุดคณะอักษรฯ นอกจากพี่แตน ผู้เป็นบรรณารักษ์หน้าตาใจดี ชั้นหนังสือไม้ โต๊ะ เก้าอี้ไม้และเพดานสูงแล้ว ฉันมักจะนึกถึงม้านั่งยาวริมระเบียง ร่มไม้ใหญ่และสายลมเย็นของบ่ายวันนั้นทุกครั้งไป

วิชาในดวงใจ

เวลาที่ใครถามว่า ทำไมเลือกเรียนเอกภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ที่ยังไงก็ได้ใช้ หรือภาษาที่ฮิตในสมัยนั้นอย่าง ญี่ปุ่น ซึ่งต้องเริ่มใหม่ ฉันมักจะบอกว่า คณะอักษรศาสตร์ ถือเป็น ตักศิลา ด้านภาษาและวรรณคดี ในเมื่อเรามีความรู้ภาษาเป็นเสบียงตุนไว้อยู่แล้ว ถ้าเลือกเรียนภาษานี้ต่อ ก็จะทำให้เราได้เรียนวิชาที่ต้องใช้พื้นฐานความรู้ที่มากขึ้น อาทิ บทกวี วรรณคดี หรือบทละคร ซึ่งก็จะมีสอนแต่
ที่คณะนี้ สำหรับคำถามที่ว่า เรียนแล้วจะนำไปใช้ได้ที่ไหน หรือไม่ อย่างไร ตอนนั้นไม่ได้คิดและ
ไม่สนใจด้วย คิดแต่ว่าอยากเรียนสิ่งที่สนใจ อยากขอแค่ได้รู้ มองย้อนกลับไปทีไร ก็ดีใจและสุขใจเพราะฉันมีโอกาสได้เรียนวิชาที่หลากหลาย และวิชาหนึ่งที่ยังอยู่ในความทรงจำ ก็คือ วิชาบทละครฝรั่งเศสศตวรรษที่ 17 ยุคคลาสสิก ผู้สอนคือ รศ. ดร.เตมีย์ ภิรมย์สวัสดิ์ ที่อธิบายบทละครเรื่องเอก
ของนักเขียนคนสำคัญแห่งยุค 3 คนได้แก่ คอร์เนย ราซีนและโมลิแยร์ ได้อย่างมีชีวิตชีวา แบบที่ถ้าเราอ่านเอง ก็คงจะไม่มีปัญญาที่จะอ่านได้รู้เรื่องด้วยซ้ำ มิพักต้องพูดเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งกับสำนวน
หรือโวหารของผู้แต่ง สำหรับฉัน ภาษา คือสะพานที่พาเราเดินทางไปรู้จักเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งสภาพสังคม เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เทพปกรณัมกรีก ที่มีแต่ตัวละครสำคัญปรากฏในงานด้านศิลปวัฒนธรรมยุโรป วิธีคิดของผู้คนอีกซีกโลกหนึ่ง การเรียนรู้ที่จะมอง ให้เห็น รู้สึก หาความหมายตรงหรือความเปรียบจากวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้ คือพื้นฐานและกระบวนการที่เราใช้สำหรับอ่านทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือหรือผู้คน หลังจากเรียนจบแล้ว จริงอยู่ที่ว่า ฉันอาจจะ
ไม่เคยได้ใช้ความรู้จากเนื้อหาที่เรียนวิชาบทละครฝรั่งเศสศตวรรษที่ 17 นี้ในชีวิตการทำงานเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ฉันคิดว่า ความรู้และวิธีการ “อ่าน” ทั้งวรรณกรรม นวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี หรือแม้แต่
การจำแนกส่วนต่างๆ ในโครงสร้าางทางภาษาทั้งเชิงสัทศาสตร์และไวยากรณ์ คือสิ่งที่ฉันนำมาใช้ในชีวิตได้จนถึงวันนี้

นงรัตน์ ทันจิตต์ รุ่น 58

กลับขึ้นด้านบน

อย่าให้ภาษีสูญเปล่า เทพประทาน เหมเมือง

อักษรรำลึก
อย่าให้ภาษีของประชาชนต้องสูญเปล่า
เพียงเพราะเราคิดเอาแต่ประโยชน์ตน


หนึ่งในบทเรียนอันล้ำค่าที่สุดในชีวิตของผม เกิดขึ้นในปีช่วงปลายปีพ.ศ. 2536 เมื่อครั้งที่ยังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 บทเรียนนั้นได้กลายเป็นความประทับใจที่
กระตุ้นจิตใต้สำนึกเกี่ยวกับความคิดในการดำรงชีวิตของตัวเอง มันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดที่มีอิทธิพลต่ออุดมการณ์ บุคลิก และวิถีชีวิตของผมเรื่อยมาอย่างทรงพลังจนถึงปัจจุบัน
เช้าวันหนึ่งในเดือนธันวาคมปีนั้น ผมไปพบ รศ.ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ (ณ เวลานั้น) ตามการนัดหมาย ครั้งนี้เป็นการเข้าพบที่แตกต่างจากการเข้าพบคณบดีอีกท่านหนึ่ง เมื่อช่วงปลายปีพ.ศ. 2534 ซึ่งท่านเรียกไปแสดงความยินดีและฝากให้
ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะตัวแทนนิสิตที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีอาเซียน ครั้งที่ 1 นั่นเป็นประสบการณ์ที่รู้สึกผ่อนคลาย แต่ครั้งนี้ผมตัวเย็น หน้าซีด หัวใจเต้นแรงในทุกย่างก้าวที่เท้าเหยียบลงบนพื้นไม้ของตึกเทวาลัย
"เทพประทาน..." อาจารย์เอ่ยเรียกชื่อ และมองตรงมาที่ดวงตาของผม
"ครูเข้าใจในสิ่งที่เธออธิบายมาทั้งหมดนี่ดี... หน้าที่ของครูในวันนี้ ครูจะสอนความจริงอีกด้านให้เธอได้รับรู้และคิดได้ด้วยตัวเอง เธอรู้ไหม ว่ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนมากมายแค่ไหน ในการลงทุนเพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมสักคนหนึ่ง..."
"...เธอลองคิดถึงใจและความเหน็ดเหนื่อยของพ่อแม่ว่า การที่จะเลี้ยงดูลูกสักคนให้เติบโต ส่งเสียให้เขาได้รับการศึกษาเรื่อยมาจนกระทั่งเข้ามาในสถาบันอุดมศึกษา... พ่อแม่ต้องลงทุนเพื่อสร้างต้นทุนชีวิตให้เธอไปมากมายแค่ไหนกว่าที่เธอจะมาถึงจุดนี้"

น้ำเสียงสุภาพแบบผู้ดี จังหวะการพูดที่ลงตัว สื่ออารมณ์ห่วงใยและการสั่งสอนของอาจารย์นั้นมีพลังมาก เหมือนความร้อนจากกองไฟในคืนหน้าหนาวที่แผ่มากระทบใบหน้าเมื่อขยับตัวเข้าใกล้
"…หากเธอยังไม่ปรับปรุงตัวเอง เพื่อประคองผลการเรียนให้ดีขึ้นและผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยได้ เธอคงรู้ใช่ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และหากเธอพ้นสภาพการเป็นนิสิต
พ่อแม่เธอจะรู้สึกอย่างไร เธอควรรู้ว่าคนเป็นพ่อแม่ไม่เพียงคาดหวังในความสำเร็จของลูกเท่านั้น แต่ท่านยังต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมรอบข้างตัวท่านอีกด้วย แม้มาตรวัดความสำเร็จในชีวิตคนไม่ได้มีเพียงแค่การได้รับใบปริญญา แต่ครูอยากให้คิดสักนิด คิดถึงประเทศชาติ
ที่ลงทุนไปกับเธอ และคาดหวังจำนวนประชากรที่มีคุณภาพด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
อย่าใช้ชีวิตโดยคิดถึงแต่ความต้องการของตัวเอง เธอต้องลองมองสิ่งต่างๆ รอบด้านด้วย คนที่รักและหวังดีกับเธอเขาสมควรได้รับอะไรจากเธอ เธอได้ให้อะไรกับเขาเป็นการตอบแทนแล้วบ้าง คิดให้ดีๆ นะลูก เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเราเองเพียงลำพัง..."
ความรู้สึกจุกที่คอ แน่นหน้าอก สิ้นหวังในชีวิตของตัวเองตลอดระยะเวลาที่นั่งฟัง กลับแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังที่เข้มแข็งและมีความหวัง เมื่ออาจารย์แนะนำถึงทางแก้ปัญหาด้านการเรียนเพื่อให้สำเร็จหลักสูตรโดยใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี พลังความหวังดีต่อชีวิตนิสิตและหน้าที่ความรับผิดชอบของครูที่มีต่อประเทศชาติ ได้ส่งผ่านมาในใจของผมแบบเต็มร้อย
คำพูดของอาจารย์ตอนหนึ่งที่แนะนำเป็นทางเลือกหากเรียนไม่จบซึ่งกล่าวไว้ว่า
"…การศึกษาและการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในห้องเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้และการให้การศึกษาในห้องเรียนเป็นไปเพื่อเป้าหมายความรู้ทางวิชาการ เพื่อเป็นเครื่องหมายอ้างอิง หรือบ่งชี้ระดับความรู้ทางวิชาการของคนแต่ละคน เป้าหมายที่แท้จริงของคำว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้ คือการเตรียมให้คนคนหนึ่ง ก้าวจากเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ก้าวจากภาวะ
องค์ความรู้เดิม ไปสู่อีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้นก้าวหน้าขึ้น ไปเป็นคนที่มีศีลธรรม มีการเปลี่ยนพฤติกรรม รู้จักวิธีแก้ปัญหาได้ และมีทักษะในการคิดตัดสินใจ..."

หลังจากวันนั้นเมื่อผมสำเร็จการศึกษา จนได้ก้าวเข้าสู่วัยทำงาน คำสอนของอาจารย์ได้จุดประกายความคิดมากมายหลายด้าน เป็นข้อคิดที่ทำให้ข้าพเจ้าพยายามพัฒนาตัวเองอยุู่ตลอดเวลา ด้วยการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวทั้งที่ตนเองสนใจและไม่ค่อยสนใจ ไม่ปิดกั้นตัวเอง
อยู่กับองค์ความรู้เดิมๆ แต่จะก้าวไปตามทางอื่นๆที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น คำว่า "อักษรศาสตร์คือความคาดหวังของสังคม" เป็นจริงในทุกๆที่ที่เคยได้เข้าไปทำงาน ทุกๆ องค์กรคาดหวังว่าบัณฑิตอักษรศาสตร์เป็นผู้ที่พึ่งพิงได้ในเรื่องของภาษา แม้ผมไม่เก่งในเรื่องภาษาเลยหากเทียบกับเพื่อนๆ ในคณะหรือคนอื่นๆ แต่ก็มักถูกยัดเยียดจากองค์กรให้เป็นผู้แก้ปัญหาเสมอ ผมจึงพยายามพัฒนาตัวเองไปในด้านอื่นที่กว้างขึ้น เปลี่ยนตัวเองจากการถูกคาดหวังว่าเป็นดิกชันนารีให้เป็นกูเกิลให้มากที่สุด
ความประทับใจจากคำสอนเรื่องมุมมองชีวิตของท่านอาจารย์ในครั้งนั้น มันเกิดขึ้นและ
มีอยู่จริงในเสี้ยวหนึ่งของชีวิตผมได้ เพราะการได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถ้าไม่มีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชีวิตของผมก็คงจะต้องเดินไปอีกทาง ซึ่งคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเป็นไปเช่นไร ป่านนี้อาจจะคิดสั้นจบชีวิตตัวเองลงไปแล้วก็ได้ เพราะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล หรืออาจจะยังใช้ชีวิตอยู่ในวังวนของโลกกลางคืนที่เต็มไปด้วยอบายมุข นอนกลางวัน
ตื่นกลางคืน ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ไม่ได้เห็นแสงตะวัน จนบางครั้งนั่งคิดคนเดียวว่า "ชีวิตของคนเรานั้น เขาขีดเขาลิขิตไว้ให้แล้วหรือ หรือเราเลือกเดินตามทางของเราเอง ไม่มีใครให้คำตอบเราได้ แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่แน่ใจ" แต่ ณ วันนี้ ที่แน่ใจได้อย่างหนึ่งคือความประทับใจ
ในวันนั้น ได้สร้างพลังบวกให้กับชีวิตของนิสิตที่กำลังสิ้นหวัง ให้กลับมาต่อสู้ยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างเชื่อมั่นในตัวเอง ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นได้ อย่างที่สังคมคาดหวังและที่มันควรจะเป็น ผมอยากจะกล่าวว่า "อักษรศาสตร์ จุฬาฯ
คือครูผู้สร้างชีวิต"

เทพประทาน เหมเมือง

กลับขึ้นด้านบน

ความประทับใจ อาทิตา ชิวปรีชา ดุชชี่

ความประทับใจกับคณะอักษรศาสตร์ ความประทับใจ... คงนอกเหนือจากตึกอัน
วิจิตรงดงามยืนตระหง่านคู่ประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ และชาติไทย...คงนอกเหนือจากการมี
รุ่นพี่รุ่นน้องที่จบการศึกษาไปสร้างชื่อเสียงในวงการต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ
ที่จุดประกายให้นิสิตปัจจุบันได้เห็นอนาคตอันสดใสที่เปิดกว้างในหลากหลายวงการวิชาชีพ... คงนอกเหนือไปจากความรู้ชั้นเลิศจากครูอาจารย์ระดับชาติและบางท่านก็ระดับโลก... คงนอกเหนือไปจากประสบการณ์ชีวิตจากการทำกิจกรรมทำละครสุดซ่าตลอดสี่ปีที่คลุกคลีมีฮา...คงนอกเหนือไปจากหยดน้ำตาของการจากลามิตรสหายในวันที่สำเร็จการศึกษา...
เพราะอักษรศาสตร์ จุฬา คือ พลังชีวิตที่ซึมซาบแทรกซ่านอยู่ในเด็กอักษรฯ ทุกคน ที่ล้วนได้รับการปลูกฝังให้พร้อมที่จะสร้างสิ่งงดงามเพื่อชาติและสังคมในทุกๆ วินาที

ผู้เล่า : อาทิตา ชิวปรีชา ดุชชี่

กลับขึ้นด้านบน

ระลึกคุณอาจารย์ รุ่งฤดี ธนาภิรมย์ศรี

สมัยเรียนที่คณะ ไน้ประทับใจการสอนของอาจารย์ทุกท่าน และประทับใจอาจารย์ Michael Crabtree มากที่สุด อาจารย์ Michael เป็นอาจารย์ที่ดีที่สุดสำหรับไน้เลยก็ว่าได้
ไน้รู้จักอาจารย์ Michael ครั้งแรกผ่านจอทีวี ตอนนั้นอาจารย์ได้รับเชิญเป็นวิทยากรจากรายการแข่งขันตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ ทางช่อง 9 เป็นประจำทุกวันเสาร์ 9 โมงเช้า ประทับใจในการพูดจา บุคลิกและหน้าตาของอาจารย์มากๆ พอมาเรียนที่คณะแล้วเห็นอาจารย์ Michael ก็ตื่นเต้นมากเหมือนเห็นดาราตัวเป็นๆ ยิ่งได้เรียน Writing กับอาจารย์ Michael ตอนปี 1 และปี 2 เรียน Modern Short Story ตอนปี 3 และเรียน Technical Writing หรือ Advanced Writing (ไม่แน่ใจชื่อคอร์ส) ตอนปี 4 เป็นบุญของชีวิตที่ได้จองคอร์สเรียนทุกคอร์สที่อาจารย์สอนเลย
อาจารย์ Michael มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง รักและทุ่มเทการสอนมากๆ เตรียมการสอนเป็นอย่างดี ตรวจการบ้านลูกศิษย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะคอร์ส Writing อาจารย์ตรวจแก้ละเอียดยิบ ทั้ง organization, coherence, grammar และ vocabulary อาจารย์ Michael
ทำให้ไน้รักคอร์ส writing มากๆ เวลาที่สงสัยประเด็นต่างๆ ก็ชอบไปหาอาจารย์ที่ออฟฟิศ
บ่อยมาก ถามอาจารย์เยอะแยะ อาจารย์ก็อธิบายด้วยความเต็มใจอย่างแรง ไม่เคยปริปากบ่น
หรือแสดงความไม่พอใจเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไน้ยึดอาจารย์ Michael เป็น idol โดยเฉพาะเวลาที่
ไน้มีโอกาสสอนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะคอร์ส writing อาจารย์ Michael นอกจากจะสอนเก่งมากๆ แล้ว ยังคอยช่วยเหลือสนับสนุนลูกศิษย์เสมอ ตอนที่ไน้เป็นประธานชมรมภาษาอังกฤษ
ที่คณะ ได้จัดประกวดร้องเพลงภาษาอังกฤษ ไน้ก็ทาบทามอาจารย์ให้มาร้องเพลง Right Here Waiting โชว์คู่ไน้ อาจารย์ไม่เคยทำอะไรอย่างนี้มาก่อน แต่คงทนลูกอ้อนไม่ไหว สุดท้ายก็ตกลง อาจารย์ก็หาเวลาซ้อมร้องเพลงกับไน้ ตอนร้องโชว์ อาจารย์ก็สั่นสู้ ร้องเพลง + acting ได้ชนะเลิศ เรียกเสียงกรี๊ดจากผู้ชมเพียบ
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไน้ประทับใจในตัวอาจารย์ Michael มากๆ ก็คือตอนที่ไน้ได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไป University of Oregon อาจารย์ Michael กับอาจารย์สมจิตก็พาไน้ไปเลี้ยงฉลองที่ร้านอาหารไทยแถวสยาม และอาจารย์ Michael ก็ใส่ซองธนบัตรดอลลาร์ 1 ฉบับพร้อมเขียนโน้ตว่า "This is not money." ถือเป็นเงินขวัญถุงที่ไน้เก็บไว้เป็นสิริมงคลกับชีวิตเลยทีเดียว
ยิ่งได้มีโอกาสเขียนความประทับใจในตัวอาจารย์ Michael Crabtree ก็ยิ่งนึกถึง
วันเวลาดีๆ ที่มีบุญได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ยังรักและนับถืออาจารย์ Michael อยู่เสมอมา
และความรู้สึกดีๆ นี้จะคงอยู่กับไน้ตลอดไป ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาล
ให้อาจารย์ Michael Crabtree จงมีความสุขทั้งกายและใจ สุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นมิ่งขวัญของ
ชาวอักษร จุฬาฯ ตลอดไป

ผู้เล่า : รุ่งฤดี ธนาภิรมย์ศรี

กลับขึ้นด้านบน

ความประทับใจที่ตรึงตรา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี โตพึ่งพงศ์

ความประทับใจที่มีต่อคณะฯ จะขอพูดถึงตัวบุคคลคืออาจารย์อำภา โอตระกูล ท่านสอนวิชาภาษาเยอรมัน เน้นด้านงานวรรณกรรมเด็กและเยาวชน ตอนได้เรียนกับท่านหนแรกอยู่ปี 4 จำได้ดีวันที่อาจารย์ตั้งคำถามแล้วไม่มีใครตอบได้ อาจารย์เลยตบโต๊ะเสียงดัง ตกใจกันหมดเลย ท่านหาว่าพวกเราเรียนกันไม่ได้เรื่อง ไม่รู้จักคิด เสียงตบโต๊ะดังปังยังสะเทือนในโสตประสาท
ไม่รู้ลืม เป็นเสียงที่คอยผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า และมองอาจารย์อำภาเป็นแบบอย่าง อาจารย์แปลงานวรรณกรรมเด็กภาษาเยอรมันไว้มากมาย และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับทุกสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ ถ้าไม่ได้เสียงตบโต๊ะในวันนั้น เราคงจะไม่ได้ก้าวมาถึงจุดนี้อย่างแน่นอน อาจารย์ยังช่วยเขียนจดหมายรับรองตอนที่ยื่นขอทุนไปเยอรมนีให้ เรียกว่าทั้งผลักทั้งดัน กันเลยทีเดียว
อาจารย์อีกท่านในสาขาเยอรมันที่เรารักและเคารพมาก คือ อาจารย์ถนอมนวล โอเจริญ ตอนนี้ท่านเป็นศาสตราจารย์และเพิ่งจะเกษียณอายุราชการไปไม่นาน แวบแรกประทับใจในความสวยเก๋ของอาจารย์ คนที่ทำหน้าที่สอนหนังสือไม่จำเป็นต้องใส่แว่นหนาเตอะ เกล้าผม
หรือแต่งตัวเชยๆ เพราะอาจารย์แต่งตัวอย่างสวยเท่ หิ้วกระเป๋า Aigner และอารมณ์ดีสุดๆ นักศึกษาแซว อาจารย์ก็ไม่เคยถือโทษโกรธอะไร ได้แต่มองค้อนควักอย่างมีเมตตา ตอนใกล้
จะจบปริญญาโท สาขาเยอรมัน อาจารย์ได้กรุณาชวนให้มาทำงานที่จุฬาฯ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำไมไม่อยากทำอาชีพอาจารย์ ถึงได้ตอบปฏิเสธไป ทำให้อาจารย์ต้องไปชวนรุ่นน้องแทน (แต่สุดท้ายก็ต้องกลายมาเป็นอาจารย์ที่สถาบันอื่นอยู่ดี...)
และอีกความประทับใจที่ต้องขอกล่าวถึง คือ เพื่อนๆ ที่เรียนเอกภาษาเยอรมันด้วยกัน
มี ฮุ้ง โอ๋ ป้อ น้องเก๋ (อัญมณี) พี่เก๋ (บุญทิวา) เอ๋ พิเศศ สมเจตต์ และเก๋ (ตุ้มจิบ) โดยเฉพาะเก๋ ตุ้มจิบ ซึ่งได้จากพวกเราไปแล้ว เก๋ตุ้มเป็นเพื่อนที่ดีมากๆ คอยดูแลเพื่อนๆ ที่โต๊ะเยอรมัน (มุมตึกสอง ฝั่งติดกับรั้ว) ทำให้มักจะมีแขกมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ ทั้ง ไมค์ เอ๋ (คุณนาย) เชิด จา แหม๋ว เก๋สามมิติ ฯลฯ นอกจากนั้น เก๋ตุ้ม ยังเป็นนักกิจกรรมตัวยงในบรรดาเด็กเอกเยอรมัน ครั้งหนึ่ง
เก๋ตุ้มชวนเราไปออกค่ายชาวเขาที่แม่แจ่ม เชียงใหม่ คงเพราะเห็นเราหมกมุ่นกับการเรียนมากเกินไป (จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยยยยย สร้างภาพไปอย่างนั้นเอง) เราตกลงไปนึกว่าจะได้อยู่กับเก๋
แต่กลับโดนจัดให้ไปอีกกลุ่มหนึ่ง เก๋บอกไม่เป็นไรน่า สนุกดีออก ได้รู้จักคนใหม่ๆ ซึ่งนั่น
ก็ทำให้เราได้เปิดโลกกว้าง กล้าออกไปทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เก๋เป็นคนมองโลกในแง่ดีสุดๆ ใครทำอะไรที่ไม่เข้าท่า เก๋จะมีเหตุผลอธิบายเสมอ "เค้าก็เป็นแบบนี้แหละ อย่าไปถือสาเลย"
"ช่างเค้าเถอะ เดี๋ยวเค้าก็คิดได้เอง" เก๋มักจะมีรอยยิ้มให้ทุกๆคน และตอนนี้เราเชื่อว่าเก๋กำลัง
อยู่บนฟ้า ส่งยิ้มให้กับทุกๆ คน ขอบคุณมากนะเก๋ตุ้มจิบ สำหรับมิตรภาพที่เธอเคยมอบให้เรา และสิ่งนั้นจะยังคงอยู่ตลอดไป รักเพื่อนนะจ๊ะ

ผู้เล่า : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี โตพึ่งพงศ์

กลับขึ้นด้านบน

รุ่นเราเรียนทุกตึก.. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งภัทร เริงพิทยา

รุ่นเราเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนที่คณะอักษรฯ ครบทั้ง 4 ตึกเก่า (เดิมเราเรียก ตึก 1 ตึก 2 ตึก 3 และตึก 4 ) รุ่นเราเก๋ เพราะได้เรียนทั้งห้องใต้หลังคา และห้องใต้ดินของตึก 2 ครบสมบูรณ์แบบ (แบบที่เดินแล้วระวังไม่ให้ตกบันไดเทวาลัยตั้งแต่ปี 1 จนปี 4)

เราชอบเรียนทุกๆวิชา ทุกๆ อย่างแม้ว่าไม่สันทัดทางวรรณคดีนัก (แต่ก็อินไปกับการเดินทางตามรอยนิราศสุนทรภู่ที่อยุธยาพอได้) ...และรู้สึกว่าอาจารย์ทุกท่านตั้งใจสอนเราทุกคนมากๆ ทำให้เรามีความรู้มาใช้
ในการทำงานได้จนทุกวันนี้ (วันที่เขียนบันทึกนี้ ภัทรใช้หนังสือของอาจารย์ปรารมภ์รัตน์
สอนภาษาศาสตร์ภาษาอังกฤษให้นักศึกษา) เพื่อนๆทั้งชั้นปีก็เป็นกัลยาณมิตรอย่างที่สุด (เช่น บอล--ดร.สุกฤตยาให้ภัทรยืมกระโปรงใส่ แบบเอาเข็มกลัดกลัดเอา (ไซซ์ต่างกันน่ะ) เพราะ
ภัทรทำก๋วยเตี๋ยวเป็ดหกรดตัวเอง) ...เรารู้สึกว่าโชคดีมาก ส่วนกิจกรรม... จำได้ไหมว่าเราหัดทำ
ขนมครกที่ไม่เป็นขนมครกในงานวันลอยกระทงปี 1 ..จะโทษฟ้าดินคงได้ เพราะวันนั้น
คนคงลืมปักตะไคร้ ฝนตกกระหน่ำ......

สุดท้ายอาหารที่โรงอาหารคณะเราอร่อยที่สุด ...ดูได้จากเรียนที่คณะ 4 ปี น้ำหนักภัทร
ขึ้น 10 กิโลแน่ะ... ร้านพี่หนุ่ยมีข้าวราดแกงไก่โปะไข่เจียวหมูสับ... หน้ากระท้อน มีกระท้อน
ลอยแก้วที่ร้านน้ำ-ขนม ...ร้านก๋วยเตี๋ยวยอมใส่ให้ทุกอย่างบวกน่องไก่ ที่ภัทรสั่งตามจอมขวัญนะ ถ้าจำไม่ผิด เรื่องประทับใจในอักษรย้อนรอยแล้วก็น่าจะมีประมาณนี้แหละค่ะ... จบด้วยเรื่องของกินตามสไตล์เลย...

ผู้เล่า : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งภัทร เริงพิทยา

กลับขึ้นด้านบน

ออกค่าย จริญญา เกียรติลัภนชัย

ประทับใจบรรยากาศของตึกอักษรฯ ที่คงความเก่าแก่ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
คู่จุฬาฯ เป็น highlight ของคนรับปริญญาทุกคนที่ต้องมาถ่ายรูปที่นี่ กลายเป็นสัญลักษณ์
ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน หลายๆ ตึกในจุฬาฯ ปรับเป็นตึกรูปทรง modern หมดแล้ว แต่
ตึกเทวาลัยยังคงเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เคียงคู่จุฬาฯ ตลอดไป
เมื่อครั้งยังเรียนหนังสือ ถ้าง่วง เบื่อ ก็แอบดูเพดาน ดูเส้นสายลายตึก แล้วทำให้จินตนาการกว้างไกล เป็นนางเอกในนวนิยายที่สมัยก่อนที่มีค่านิยมว่าต้องจบอักษรจุฬาฯ เท่านั้น
ฉันยังมีความทรงจำเกี่ยวกับค่ายอักษร ซึ่งถือว่าเป็นค่ายแห่งรัก หลอน และมิตรภาพ
ค่ายสไตล์เด็กอักษรเป็นอย่างไร? แน่นอน..ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราวเกี่ยวกับการอ่าน
และตัวหนังสือ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอักษรฯ แต่สำหรับฉันมันมากกว่านั้น เพราะนี่เป็น
ครั้งแรกที่ฉันได้มาทำค่ายอักษรฯ ในช่วงปี 4 ปีสุดท้ายแห่งความทรงจำในอักษรฯ... มันพิเศษมากสำหรับฉัน ซึ่งทำแต่กิจกรรมนอกคณะมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 1 - ปี 3 ฉันวิ่งรอกระหว่าง
ตึกอักษรฯ กับตึกจุลจักรพงษ์ (แหล่งรวมชมรม/สโมสรส่วนกลางของจุฬาฯ) เรียกว่าอยู่คณะ ทำงานให้คณะน้อยมาก ต้องขอบคุณโชคชะตาที่ดลให้ฉันกลับมาทำกิจกรรมคณะปีสุดท้าย
ไม่เช่นนั้นฉันคงพลาดการเรียนรู้มิตรภาพดีๆ ของชาวอักษรฯ แม้มันเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
แต่เหมือนกับฉันได้รับช่วงเวลาแห่งมิตรภาพและความรักจากเพื่อนในคณะ ที่มาทดแทนวันเวลาที่ดีๆ ที่เกือบหายไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ค่ายวังดารา ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นค่ายสร้างห้องสมุดและสอนหนังสือเด็กตามสไตล์
เด็กอักษรฯ อาจไม่สมบุกสมบัน หรือเครียดเพื่อชีวิตเหมือนค่ายอื่นๆ แต่ก็เป็นค่ายสร้างคน
และสร้างประโยชน์ให้สังคม หมู่บ้านที่เราไปเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ กลางคืนเราอาบน้ำท่ามกลางแสงดาว แปรงฟันยิ้มปากกว้างทักทายทางช้างเผือก ท่ามกลางบรรยากาศ
สุดโรแมนติก ขณะที่เราประชุมค่ายกลางดึก ปรากฏเสียงตัดเล็บดังแป๊ะๆๆ เป็นระยะๆ
แต่น่าแปลกที่ไม่มีใครได้ยิน พี่คนหนึ่ง (ซึ่งได้ยินเสียงคนเดียว) มองไปทางจุดกำเนิดของเสียงนางพลันเห็นเงาตะคุ่มๆ ของผู้หญิงผมยาวก้มหน้าอยู่ คาดว่าเธอผู้นั้นกำลังตัดเล็บไปประชุมไปอย่างตั้งใจ พี่ก็แสนดี ท่องนะโมในใจ เก็บไว้ไม่บอกใคร (เพราะนางคือใคร มาทำอะไร ไม่มี
ใครรู้ เหอๆๆๆ) จนวันสุดท้ายฟ้าใสก่อนลาจากค่าย พี่จึงได้นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เก็บเป็น
ความทรงจำหลอนๆ ชวนขนหัวลุกกับค่ายนี้
ยิ่งผีหลอก ยิ่งรักกัน เขาว่างั้น.... กลับจากค่ายนี้ เรายังมีทริปหลังค่ายกับคนทำค่าย
กันอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ภายในชั้นปีและระหว่างชั้นปีมีแนบแน่น (ค่ายนี้รวมพี่น้องอักษรหลายรุ่น แล้วแต่ใจสมัคร) บางคนสานสัมพันธ์เป็นแฟนกันต่อมา บางคนก็กลายเป็นเพื่อนซี้กันยาวนานแบบที่ฉันเองก็ไม่คิดว่าจะได้ความสัมพันธ์เช่นนี้กลับมาในช่วงปีสุดท้าย ค่ายนี้ทำให้
ฉันกล้าพูดว่า "ฉันเป็นเด็กอักษรฯ เต็มตัวและเต็มหัวใจ" เป็นตำนานที่เอามาเล่าสู่กันฟังกับ
เพื่อนร่วมรุ่นทีไร ก็แอบอมยิ้มทุกทีกับประสบการณ์ดีๆ ที่เรามีให้แก่กัน

ผู้เล่า : จริญญา เกียรติลัภนชัย

กลับขึ้นด้านบน

คุยออนไลน์ สิริมา พินิจ-เบคแมน

ในโลกออนไลน์ สองสาวศิษย์เก่าอักษรฯ จุฬาฯ คุยกันผ่านตัวอักษรฯทางหน้าจอ
คนหนึ่งนั่งถือไอแพดกึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่บนเตียง นาฬิกาบนหัวเตียงบอกเวลา 22 นาฬิกา อีกคนหนึ่งนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มือหนึ่งจิ้มคีย์บอร์ด อีกมือก็จกข้าวเหนียวไก่ย่างใส่ปากอย่าง
เมามัน

อ: นี่วันนี้แกไม่ออกไปกินข้าวเที่ยงนอกออฟฟิศเหรอ

ข: ขี้เกียจอะ ร้อน นั่งตากแอร์ออฟฟิศดีกว่า กินข้าว คุยกับแกดีกว่า

อ: ดี กะลังคิดถึงแกอยู่เชียว วันนี้จัดบ้าน เจอรูปสมัยเรียนที่เอามาจากเมืองไทย มีรูปตอนรับน้อง ตอนที่ถ่ายรูปหมู่ข้างตึก 1 โพสท่าดิบดีแต่โดนรุ่นพี่ที่อยู่ข้างบนสาดน้ำโครมลงมา แกจำได้ปะ

ข: อุ๊ย ใครจะลืมได้ ไม่รู้ใครต้นคิดเนอะ แกล้งกันจากรุ่นสู่รุ่น ไม่รู้ตอนนี้ รุ่นหลานๆยังใช้วิธีนี้แกล้งน้องกันอยู่เปล่า

อ: น่าจะนะ สนุกจะตาย... เออ เจอรูปตอนงานจุฬาฯวิชาการปี 1 ด้วย

ข: ที่แกเล่นละครเวทีของชมรมภาษาไทยใช่ปะ

อ: เออ แกจำเก่ง เรื่อง "พระสังข์" พี่หอย เกียรติศักดิ์เล่นเป็นพระสังข์ในร่างเจ้าเงาะ ฉันเล่นเป็นพี่สาวคนหนึ่งของรจนา

ข: แกเป็นพี่สาวที่ต่างจากน้องสาวคนสุดท้องมากๆ

อ: แหงล่ะ ก็รจนาน้องสาวคนที่เจ็ดคือ"นุสบา"นี่นา

ข: อืม นุสสวยมากๆ ตอนนั้นถึงกับเป็นข่าวเล่าลือว่านางเอกละครเวทีเรื่องนี้สวยมากๆนิสิตชายหญิงคณะต่างๆ ถึงกับแห่แหนกันมาดูละคร

อ: แต่รอบสุดท้ายนางรจนา"นุสบา"กลายร่างเป็นนางรจนา “ชูศรี" ผู้ชมต่างอึ้ง! ตึ้งโป๊ะ! 555

ข: เออ ใช่ๆ (หัวเราะ) ทำไมนังแจง ชูศรี มันถึงไปเล่นแทนนุสนะ ช่างกล้า

อ: นุสไม่สบาย เข้าโรงพยาบาลเลยล่ะ จำได้ว่าเพื่อนๆที่เล่นละครป่วยกันหลายคนเลย

เลยต้องหาตัวแสดงแทนกันยกใหญ่

ข: เออ ว่าแล้วก็นึกขึ้นได้ คณะเราครบ 100 ปี พี่ๆ เขาให้แต่ละรุ่นเขียนเรื่องราวประทับใจสมัยเรียน แกเขียนเรื่องนี้ได้ไหม ฮาดี

อ: ได้ๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้เขียนให้ คืนนี้ตาจะปิดละ

ข: โอเช ฉันก็ต้องทำงานต่อละ

อ: บาย

ข: บายจ้ะ

 

( หมายเหตุ ได้ตัดสัญญลักษณ์การ์ตูนออกนะคะ เพราะโปรแกรมไม่รับค่ะ : Admin )

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องกินและเรื่องฮา เบญจวรรณ พิมขาว

ข้าวเหนียวไก่ทอดที่โรงอาหารอักษรฯ อันลือเลื่อง... จากวันนั้นจนวันนี้ :) รักร้านนี้มาก พี่คนขายน่ารัก แม้ว่าจะเสียงดังแต่ใจดี๊ดี... ที่จริงชอบของทอดทุกอย่างในร้านเลยนะ ปลาหมึกชุบแป้งทอด กุยช่าย และนานาประดามี แต่กระเพาะเล็กกินได้อย่างเดียว ต้องรอให้มีเพื่อน

ไปกินกันหลายๆ คนถึงจะกินหลายๆ อย่างได้ แบะวันนั้นจะเป็นวันที่มีความสุขมากๆ... ร้านนี้ของเค้าดีจริง เพื่อนทุกดคณะรู้จัก พี่น้องทุกรุ่นรู้จัก และอยู่ยั้งยืนยงถึงปัจจุบัน เลิฟมาก...
ว่าแล้วก็อยากกินอ่ะ
จะว่าไป ที่จริงประทับใจพี่หาบเร่ที่เป็นหาบยำมะม่วงด้วยนะ มันดูบ้านๆ จริงใจ
ธรรมชาติสุดๆ เลยอ่ะ จำได้ว่ามันเด็ดมาก เด็ดขนาดที่อยู่ 4 ปีได้กินครั้งเดียว เพราะคิวยาวยิ่งกว่า
คริสปี้ครีมเหอะ ไม่เคยได้กินทัน ที่ประทับใจมากเป็นเพราะมันเป็นบรรยากาศร้านหาบเร่ที่สวย ชิลล์มากๆ พี่เค้าจอดอยู่ที่ทางเดินหน้าตึก 4 เลย... ดูย้อนยุคพระนครดีแท้ :)

เรื่องประทับใจอีกเรื่องคือ เหตุการณ์ในห้องเชียร์... ว้ากเกอร์บุสก้าที่เหี้ยมโหดมาก
น้องๆ ปีหนึ่งเสียงเบา พี่โหดใส่ เสียงเข้มมากกกก บรรยากาศมาคุสุด แต่พอจบประโยคว่า... หายใจทางเหงือกกันหรือไง เท่านั้นแหละ... พินาศ!! หน้ากากแตกความเหี้ยมแตกโพล๊ะ แหม่...พี่ก้าจะฮาก็ไม่บอก 555

ผู้เล่า :  เบญจวรรณ พิมขาว

กลับขึ้นด้านบน

ไม่เคยลืม พรชนน มากทรัพย์

ประทับใจตึก 3 ค่ะ เป็นตึกที่เราเรียนวิชาการใช้ห้องสมุดน่ะค่ะ ตรงทางเดินตึก 3 จะมี
โต๊ะไม้เก่าๆ แบบเรียบๆ ขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กตั้งอยู่ บนโต๊ะจะมีอาหารว่างจำพวกแซนด์วิช
วางไว้ และมีเหมือนกระจาดสานให้คนที่หยิบแซนด์วิชไปจ่ายเงินใส่ มีติดราคาไว้ สมัยนั้น
ยังไม่มีซุ้มสะดวกซื้อเหมือนปัจจุบัน ซุ้มสะดวกซื้อที่มีอยู่จะเป็นร้านไส้กรอกทอด แฮมทอด
ตรงโรงอาหารคณะวิศวฯ ซึ่งห่างออกไปอีกมาก

ตอนนั้นเรายังเด็ก ทุกครั้งที่เราเดินผ่านโต๊ะขายแซนด์วิชที่ไม่มีคนขายเฝ้า เราจะรู้สึกดี
และเวลาเจอเพื่อนต่างคณะ เราจะเล่าเรื่องนี้ด้วยความภูมิใจว่าเด็กอักษรเป็นคนซื่อสัตย์ เราสามารถซื้อแซนด์วิชแล้วจ่ายเงินเอง ไม่มีคนตรวจนับ อาศัยความไว้ใจในนิสิตล้วนๆ และ
นิสิตคณะเราก็มีคุณธรรม เงินที่กองอยู่ในกระจาดนั้นก็ไม่เคยได้ยินว่ามีคนขโมยเงินที่วางในนั้นเลย

แต่อยู่ไปอยู่มาวันหนึ่งเขาก็เลิกขาย ไม่รู้เหมือนกันว่าเหตุผลคืออะไร ก็ไม่รู้จะไปถามจากใคร แต่ก็ภูมิใจที่เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดี คนในคณะเรามีความซื่อสัตย์ และไว้ใจกันค่ะ เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ไม่เคยลืม

ผู้เล่า : พรชนน มากทรัพย์

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University