อักษรจรัส รุ่น 74

ณัชพล ศิริสวัสดิ์

นายณัชพล ศิริสวัสดิ์ เป็นบุคคลที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างชื่อเสียงให้กับคณะอักษรศาสตร์เรื่อยมา  นับตั้งแต่เป็นนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต  เนื่องจากได้อุทิศตนทำงานหลังจากได้รับเลือกเป็นผู้แทนนิสิตชั้นปีที่ 1 จึงได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนิสิตดีเด่นชั้นปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2549 พร้อมกันนี้ได้รับประทานเกียรติบัตร “เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำ ปี 2548” ในสาขาศิลปวัฒนธรรม จากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ  และได้รับโล่เกียรติยศ “เยาวชนดีเด่นแห่งกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2548” ในสาขาการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และคุณธรรมจริยธรรมด้วย

เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ เพื่อยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามของนิสิต เป็นบัณฑิตที่มีคุณค่าและเป็นผู้นำที่มีคุณภาพของสังคม  จึงได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนิสิตดีเด่นระดับบัณฑิตศึกษา เกียรติบัตร และเข็ม “นิสิตดีเด่น” ระดับบัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2555  และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “เยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร (ประกายเพชร) ประจำปี 2555” ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งแก่คณะอักษรศาสตร์

นายณัชพล ศิริสวัสดิ์  ได้สร้างผลงานทางวิชาการมากมายทั้งในขณะเป็นนิสิตปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา อาทิเช่น รางวัลชนะเลิศและเงินทุนภูมิพลบทความวิชาการ นับตั้งแต่ปี 2551 – 2554 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนครหลวงไทย อนุรักษ์เอกลักษณ์ไทย: การแข่งขันอ่านฟังเสียง ครั้งที่ 38 ประจำปี 2552

ด้วยตวามอุตสาหะในการศึกษาและการพัฒนาตนเอง หลังจากได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้รับทุนการศึกษา DAAD จากรัฐบาลเยอรมนีเพื่อเข้าศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาพุทธศาสน์ศึกษาและภารตวิทยา (Buddhist Studies and Indology) ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก (Ludwig-Maximilian Universität) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  รวมถึงรางวัลทุนการศึกษาวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยมิวนิกและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (LMU-UCB Research in Humanities) เพื่อเข้าร่วมการศึกษาวิจัย ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์  สหรัฐอเมริกา (University of California Berkeley) ปี 2560 ด้วย 

โดยในขณะศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก ได้สร้างและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการมากมาย อาทิเช่น นำเสนอบทความเรื่อง “The Offering of the Begging Bowls by the Four Great Kings Depicted in the Art of India and Kizil Caves” ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Art and Relirions in Pre-Islamic Central Asia จัดโดย Polish Institute Of World Art Studoies ณ Manggha Museum of Japanese Art and Technology Krakow สาธารณรัฐโปแลนด์  พ.ศ. 2559

และการนำเสนอบทความเรื่อง “The Relationship between Buddhism and Indigenous Beliefs and People as Reflected in the Names of Lokapālas  Early Buddhist Literature” ในการประชุมวิชาการทางพุทธศาสน์ศึกษาระดับนานาชาติ  (17th Congress of the International Association of Buddhist Studies (IABS)) จัดโดย International Association of Buddhist Studies (IABS) ณ มหาวิทยาลัยเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย พ.ศ. 2557  เนื่องจากได้สร้างผลงานทางวิชาการอันเป็นประโยชน์มากมายในวงการพุทธศาสนศึกษา จึงได้รับรางวัลทุนการศึกษามูลนิธิ Khyentse ประจำปีการศึกษา 2556 เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนาและการศึกษาพุทธศาสน์ศึกษาต่อไปด้วย  ด้วยเกียรติคุณดังที่กล่าวมาข้างต้น  ทำให้นายณัชพล ศิริสวัสดิ์ เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องและชื่นชมจากอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 74 โดยเชื่อว่าจะสร้างผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป  รวมถึงคุณธรรมและการประพฤติตนอันสมควรแก่การยกย่องทั้งในฐานะนิสิตอักษรศาสตร์ ในฐานะอื่นๆ จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อักษรศาสตร์รุ่นต่อๆไปได้

ไตรพิตรา ศรีวงษ์ฉาย

ไตรพิตรา ศรีวงษ์ฉาย หรือฟ้าของเพื่อนๆ เป็นคนที่พวกเราในเอกอิตาเลียนลงเสียงกันว่าอยากให้เป็นหนึ่งใน “อักษรจรัส” ของรุ่น ไม่ว่าจะเป็นใครจากเอกไหน ทุกคนย่อมมีความน่าสนใจและน่าชื่นชมที่ “เจิดจรัส” พอจะนำมาเขียนถึงได้ทั้งสิ้น ทว่าด้วยข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่ เราคงต้องให้ฟ้าเป็นตัวแทนเอกไปเจิดจ้าอยู่กับอักษรจรัสคนอื่นๆ

เราพูดกันอยู่เสมอๆ ว่าพวกเราชาวอักษรศาสตร์ แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนศึกษาวิชาที่ตรงกับวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งโดยเฉพาะอย่างเด็กคณะอื่น จนอาจดูเหมือนเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคเมื่อเข้าสู่โลกของทำงาน ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ศิษย์เก่าอักษรศาสตร์รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความคิดนี้เป็นเพียงความปริวิตกชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะแต่ละคนที่ได้ชื่อว่าเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตต่างก็ออกไปประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวทางความถนัดของตน จนได้ไปอยู่ในแถวหน้าของวงการต่างๆ นับจำนวนไม่ถ้วน และฟ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะใครจะคิดว่าฟ้าผู้ซึ่งจบเอกภาษาอิตาเลียนจะกลายมาเป็นดีไซเนอร์และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์กางเกงยีนส์ “วานรบางกอก” ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2553 และได้รับเลือกจากสมาคมสถาปนิกให้เป็นหนึ่งในสิบแบรนด์ที่น่าสนใจที่สุดประจำปี 2554 โดยทั่วไปลูกค้าของฟ้าจะรู้ว่าแบรนด์นี้ขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถันและการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การที่ฟ้าเลือกใช้วัตถุดิบอย่างผ้ากำมะหยี่มาทำเป็นถุงกระเป๋ากางเกงยีนส์ เพราะแข็งแรงทนทานและที่สำคัญคือเพื่อให้ลูกค้าได้รับสัมผัสนุ่มละเอียดของกำมะหยี่เมื่อสวมใส่ หรือการที่สินค้า “ทุกชิ้น” ต้องผ่านกระบวนการฟินิชชิ่งด้วยมือของฟ้าเอง เรียกได้ว่าไม่มีสินค้าชิ้นไหนที่ฟ้าไม่ได้สัมผัสก่อนออกวางจำหน่าย ความใส่ใจในรายละเอียดของกางเกงยีนส์ทุกตัวนี้สะท้อนให้เห็นปรัชญาการทำงานของฟ้า อันได้แก่ความเคารพต่อผลงานของตนเองและความเคารพต่อลูกค้า ความเคารพที่ฟ้ามียังเผื่อแผ่ไปถึงผู้ร่วมงานทุกคนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงเย็บ โรงปัก ดีลเลอร์ขายผ้า โรงงานทอผ้า โรงงานกระดุม โรงสกรีน กับผู้ร่วมงานเหล่านี้ฟ้าไม่เคยต่อรองราคาเลย เพราะเชื่อว่าถ้าหากงานที่ได้มีคุณภาพ พวกเขาก็สมควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทุกวันนี้ความสำเร็จของฟ้าในฐานะดีไซเนอร์และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์วานรบางกอกเป็นที่รับรู้กันมากที่สุดในกลุ่มคนที่ชื่นชอบงานดีไซน์หรือทำงานด้านนี้ ความตั้งใจจริงของฟ้าที่อยากจะสร้างแบรนด์กางเกงยีนส์สัญชาติไทยที่มีคุณภาพ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่เราติดตามความเคลื่อนไหวของแบรนด์ได้จากโซเชียลมีเดียต่างๆ ทุกวันนี้ฟ้าได้ไปวางขายผลงานของวานรบางกอกในร้านมัลติแบรนด์แห่งหนึ่งในสยามเซ็นเตอร์ด้วย แม้ว่าจะยังคงเน้นช่องทางการซื้อขายทางเพจของแบรนด์เป็นหลัก เนื่องจากต้องการทุ่มเทเวลาให้ขั้นตอนการผลิตมากกว่าการหาทำเลขายสินค้าและเฝ้าหน้าร้าน ลูกค้าประจำบางรายของฟ้าถึงกับรอมาซื้อเฉพาะเวลาที่วานรบางกอกออกบูทซึ่งจัดเพียงปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น

สำหรับเรา ความ “เจิดจรัส” ของเรื่องราวของฟ้าและแบรนด์วานรบางกอกไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จของฟ้าในวันนี้เพียงอย่างเดียว แต่คือแรงบันดาลใจที่ฟ้าและผลงานของฟ้ามอบให้คนใกล้ตัว ซึ่งทำให้เราตระหนักว่า แม้จะเป็นสิ่งที่ดูไม่ใช่เรื่องถนัดของชาวอักษรศาสตร์เสียทีเดียว อย่างเรื่องแฟชั่นหรือการทำเสื้อผ้า แต่ถ้าพวกเราลงมือทุ่มเทอย่างจริงจังแล้ว ย่อมที่จะได้ผลงานเป็นที่น่ายกย่องและน่าภูมิใจ เช่นเดียวกับแบรนด์วานรบางกอกของฟ้า

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University