เรื่องเล่าของอาจารย์

ความหลัง ครั้งเป็นคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์

ความหลัง ครั้งเป็นคณบดี

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์

       ช่วงที่ดิฉันเข้ามารับตำแหน่งคณบดีในช่วงที่มหาวิทยาลัยได้วางแผนงานการซ่อมตึกอักษรศาสตร์หนึ่ง (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) ซึ่งทรุดมากแล้ว โดยมีมติให้สร้างอาคารบรมราชกุมารี เพื่อให้ส่วนหนึ่งของอาคารที่สร้างใหม่นี้เป็นห้องเรียนและห้องทำงานของอาจารย์ที่ต้องย้ายออกจากตึกอักษรศาสตร์หนึ่ง เมื่อตกลงกับมหาวิทยาลัยเรื่องขนาดของพื้นที่สำหรับคณะอักษรศาสตร์ในอาคารใหม่ได้แล้ว  เราก็ประชุมกันวางแผนการใช้พื้นที่ตั้งแต่ห้องทำงานอาจารย์ในชั้น 8 ถึงชั้น 12 ห้องโสตฯ ตลอดจนศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ได้กำหนดให้ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองของคณะฯ ทั้งหมดนี้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก  นับเป็นเงินจำนวนมหาศาลสำหรับคณะฯ ของเราซึ่ง ณ ตอนนั้นมีเงินอยู่เพียงประมาณ 2 ล้านบาทเท่านั้น จึงนำแผนการใช้พื้นที่และงบประมาณที่ต้องใช้ไปเรียนปรึกษาท่านอธิการบดี (ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา) แต่ท่านอธิการบดีบอกว่างบประมาณลักษณะนี้ คณะฯ ต้องรับผิดชอบเอง

     วันนั้นกลับถึงบ้านแล้ว นอนไม่หลับเลย คิดไม่ตกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกับวิกฤตการณ์เรื่องงบประมาณครั้งนี้  แล้วอยู่ๆ คำ 危机 ก็ผุดขึ้นมาในสมอง  พลันนึกถึงคำอธิบายของ  Professor Isbella Yen ในห้องเรียนที่  Thompson Hall (ตอนนั้นทางคณะฯ  ส่งไปเรียนภาษาจีนที่ University of Washington, Seattle)

      Professor Yen อธิบายว่า  危机  (wēijī เว้ย์จี๊) แปลว่า  crisis  ตัวอักษร  危 คือ  危险  wēixiǎn “อันตราย”  机คือ 机会 jīhuì “โอกาส”  คนจีนมอง crisis ว่าเป็นช่วงเวลาหรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส  คนจีนเป็นคนฮึดสู้เสมอและมองโลกในแง่ดี  จะคิดหาทางแก้และพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้  ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเห็นแสงสว่าง  เลยรีบลุกขึ้นมายกมือไหว้ครู (ท่านเสียชีวิตแล้ว) ที่ดลใจให้คิดถึงคำ危机 แล้วบอกตัวเองว่า เราต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ 

       ภาษาไม่ว่าของชาติใดมักสะท้อนลักษณะของคนชาตินั้น  อย่างคำ 明天 míngtiān ที่แปลว่า วันพรุ่งนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนจีนมองโลกในแง่ดี เพราะ 明 แปลว่า สว่าง  สว่างไสว  天 แปลว่า วัน ท้องฟ้า  ไม่ว่าวันนี้จะเป็นอย่างไรหรือไม่ดีแค่ไหน  แต่วันพรุ่งนี้ก็จะเป็น明天 เป็นวันที่สว่างไสวเสมอ

       วันรุ่งขึ้นจึงรีบไปคณะฯ  เริ่มลงมือทันที  เริ่มจากไปเรียนปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ในคณะฯ ทุกท่านต่างให้คำแนะนำและกำลังใจ  หลังจากประชุมกับทีมผู้บริหารคณะฯ และสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ฯ  แล้วก็เห็นพ้องกันว่าต้องระดมทุนบริจาค  ประจวบกับเป็นโอกาสที่คณะฯ จะผลิตบัณฑิตได้ 60 รุ่นในปีการศึกษา 2538 จึงตกลงกันว่าให้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นิสิตเก่ามาร่วมบริจาคและร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้นเพื่อระดมเงินมาพัฒนาคณะฯ  มีการประชุมหารือจนเห็นพ้องกันว่าให้ระดมทุนมาจัดตั้งกองทุนขึ้น โดยอาจารย์ ดร.ประพจน์  อัศววิรุฬหการ กรุณารับไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “กองทุนบรมราชกุมารี” ดังนั้นกองทุนนี้จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนเสริมเงินงบประมาณจากทางราชการในการพัฒนาการเรียนการสอนของคณะฯ ให้พร้อมทั้งสถานที่ อุปกรณ์ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ตลอดจนนักวิชาการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นประธานในคณะกรรมการอำนวยการกองทุนบรมราชกุมารี เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่คณะอักษรศาสตร์และวงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการระดมเงินตั้งกองทุนของคณะอักษรศาสตร์

      จากนั้น ในช่วงปี 2538-2539 ก็มีการระดมทุนด้วยการจัดโครงการและกิจกรรมเกือบ 20 รายการ อาทิ งาน “รวมใจสู่เทวาลัย” ซึ่งเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุด นับเป็นครั้งแรกที่ชาวอักษรฯ ทั้งศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบันได้มาร่วมแรงร่วมใจกันแสดงศักยภาพของพวกเราเหล่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จนระดมทุนได้ถึง 10 ล้านกว่าบาทในการจัดรายการพิเศษ “รวมใจสู่เทวาลัย” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. 

      จากเหตุการณ์นั้น ทำให้มีเรื่องดีๆ ที่ประทับใจและอยากจะขอเล่าเพิ่มอีกสักเรื่องคือ ... วันหนึ่งมีเพื่อนนัดไว้ว่าบ่ายโมงกว่าจะนำเงินมาบริจาคสมทบกองทุนบรมราชกุมารี  พอเข้ามานั่งลงตรงโต๊ะคณบดี เพื่อนก็บอกว่า “เธอนี่โชคดีมากที่มีเจ้าหน้าที่อย่างนี้” แล้วเขาก็เล่าว่า เมื่อบอกเจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่ที่ระเบียงแถวหน้าห้องคณบดีว่าจะมาพบคณบดีตามที่นัดไว้  เจ้าหน้าที่บอกว่า เขาเพิ่งนำข้าวกลางวันเข้าไปให้ท่านคณบดีที่เพิ่งกลับมาจากประชุม  ขอเชิญเข้าไปนั่งพักคอยในห้อง (ห้องถัดจากห้องคณบดีที่อาจารย์ในคณะฯ มานั่งพักดื่มน้ำ ชา กาแฟ พบปะกัน) ก่อน  หลังจากนำน้ำมาให้แล้วก็คุยให้ฟังว่า ท่านคณบดีงานเยอะมากจนไม่มีเวลารับประทานข้าว กว่าจะรับประทานมักจะเลยเวลาอาหาร ห่วงมากเลยเพราะท่านเป็นโรคกระเพาะ ตอนหลังเลยต้องคอยนำน้ำเข้าไปให้ คอยดูไม่ให้ใครเข้าไปช่วงทานข้าวอยู่ ก็เลยบอกเพื่อนว่า นี่แหละคณะอักษรฯ ของเราไง เราอยู่กันแบบครอบครัวที่อบอุ่น 

      ทุกวันนี้ตัวเองยังรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเมื่อนึกถึงความรัก ความห่วงใย ความอาทร และน้ำใจที่ได้รับจากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยกันตลอดระยะเวลาที่เป็นคณบดี 

 

 

           

 

 

 

 

 

กลับขึ้นด้านบน

ระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง

ระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์คณะอักษรศาสตร์

โดย  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง

       คณะอักษรศาสตร์เป็นคณะแรกคู่กับคณะวิทยาศาสตร์ในการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ 100 ปี

       ผมเข้าเรียนที่คณะนี้เมื่อ พ.ศ. 2492 และเรียนจบปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2495 ต่อจากนั้นจึงเรียนต่อที่คณะครุศาสตร์อีก 2 ปี ตามความประสงค์ของคุณพ่อ

       เพื่อนร่วมรุ่นมีด้วยกัน 96 คน เป็นชาย 20 คน ซึ่งนับว่ามากแล้ว  คนที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยอักษรตัว ก ข ค ง จ ก็ได้นั่งแถวหน้าสุด เช่น กานดา กรรติกา จรรจา เป็นต้น ส่วนผมชื่อ เอกวิทย์ ต้องนั่งแถวหลังสุดเช่นเดียวกับ สวัสดิ์ อุดร อัมพวัน อรุณี อุไร เป็นต้น เวลาเรียนไม่ค่อยได้ยินอาจารย์บรรยายเท่าใดนัก ต้องขอดูโน้ตจากพวกที่นั่งแถวหน้าอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะถ้ามีการบรรยายหรือปาฐกถาสำคัญๆ

        ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ อังกฤษ 1 และอังกฤษ 2   การสอนภาษาอังกฤษ 1 สมัยนั้นเป็นการสอนให้ฟัง พูด อ่าน เขียน ส่วนอังกฤษ 2 เรียนวรรณคดีเป็นสำคัญ มี Chaucer, Shakespeare, Milton, Charles Dickens, Thomas Hardy เป็นต้น รู้สึกว่ายากมากในการทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เพราะนอกจากภาษาแล้วยังต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาในแต่ละยุคสมัยด้วย หากแต่ทราบว่ามีคุณค่ายิ่งนักจึงกัดฟันเรียนจนสอบผ่านด้วยดี ภาษาอังกฤษของผมไม่ได้เก่งกาจอะไร แค่เพียงเอาตัวรอดได้ ส่วนเพื่อนผู้หญิงที่เก่งๆ ภาษาอังกฤษมีหลายคน ผมเล่นกีฬาไม่เก่ง แต่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำ ได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับกับเพื่อนๆ และเรียนรู้ในการปรับตัวการอยู่กับผู้อื่นได้ดีมาก

       ในปี 2497 ขณะที่เรียนคณะครุศาสตร์ปีสุดท้าย มีการสอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนฝูงที่เก่งๆ ภาษาอังกฤษที่ไปสอบกันหลายคน ผมก็ไปสอบกับเขาด้วยโดยทำใจว่าคงไม่ได้ แต่ผลปรากฏว่าติดสอบสัมภาษณ์และ เป็น 1 ใน 3 คนที่สอบชิงทุนได้ ผมต้องเตรียมตัวหลายเดือน การเดินทางไปสหรัฐอเมริกาสมัยนั้นต้องเดินทางผ่านอินเดีย อาหรับ ผ่านยุโรป กว่าจะถึงนิวยอร์ก เล่นเอาเหนื่อยเอาการ เพื่อนผู้หญิงอีก 2 คนที่สอบได้คือ กานดา สินธวานนท์ และจรรจา สุวรรณทัต ก็เดินทางไปด้วยกันแล้วไปแยกย้ายกันไปเรียนต่างรัฐกัน

       ผมเลือกไปเรียนที่ College of Education เมือง Greely มลรัฐ Colorado ตามคำแนะนำของอาจารย์ ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์ เป็นสำนักที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพสูงเป็นอันดับ 2 ทางด้านการศึกษาในสมัยนั้น (ส่วนอันดับ 1 คือ Teachers College, Columbia University ที่ผมจะได้พูดถึงต่อไป) ผมตกทุกข์ได้ยากอยู่พักใหญ่ แต่ก็มุมานะจนสุดท้ายก็จบปริญญาโทจนได้ ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีวัฒนธรรมทางศิลปะโดยเฉพาะดนตรีคลาสสิคดีมาก ผมก็ตักตวงความรู้นอกห้องเรียนได้พอสมควรเพราะมีพื้นไปบ้างแล้วจากเมืองไทย

       เมื่อจบปริญญาโทก็ได้ขออนุญาตสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ไปศึกษาต่อที่ Teachers College, Columbia University ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์ก นับว่าเป็นเรื่อง “บ้านนอกเข้ากรุง” โดยแท้ ผมทำใจว่า มาเรียนต่อเพื่ออ่านหนังสือดีๆ จากผู้รู้สำคัญๆ ที่มีชื่อเสียง และท้ายที่สุดก็ได้เลือกเรียนทางด้านการพัฒนาหลักสูตร ได้พยายามมานะอุตสาหะจนเรียนจบและกลับมารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการในเวลาต่อมา

       มหานครนิวยอร์ก นอกจากเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยที่ดีมากแล้วยังเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่กำลังรุ่งเรืองมากในสมัยนั้นและมีละคร ภาพยนต์ดีๆ จากยุโรปและญี่ปุ่นมาให้ชมบ่อยๆ ผมก็ได้ตักตวงเอาประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมได้ไม่น้อยเลย มารู้ภายหลังว่าประสบการณ์เหล่านี้มีคุณค่ามาก สถานที่เที่ยวก็เปิดตาเปิดใจดีมาก เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

       เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ 2 ปี คุณพ่อก็ได้จัดการฝากให้ได้เป็นศิษบ์ท่านพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกข์พลาราม ไชยาเป็นเวลา 1 พรรษา เป็นเวลาที่ได้ละทิ้งความอหังการและได้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตของชาวพุทธอย่างภาคภูมิ

       ขอย้อนกลับมาพูดถึงการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ สมัยนั้นมีอาจารย์รอง ศยามานนท์เป็นคณบดี ผมมาทราบภายหลังว่าคณะได้พยายามสรรหาคนเก่งคนดีมีฝีมือมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะมากทีเดียว เช่น พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระยาอนุมานราชธน คุณพระวรเวทย์พิสิฐ อาจารย์สุมนชาติ สวัสดิกุล อาจารย์นพคุณ (โนบุโกะ) ทองใหญ่  และอาจารย์ฝรั่งที่มีชื่อเสียงจากประเทศอังกฤษ อเมริกาและฝรั่งเศสอีกหลายคน นับว่าโชคดีที่เราได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งๆ ดีๆ เหล่านี้ ที่ผมประทับใจมากคือ อาจารย์พระยาอนุมานราชธน พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร และโดยเฉพาะท่านอาจารย์นพคุณ ทองใหญ่ ท่านผู้นี้ภาษาอังกฤษเก่งมากและลายมือสวยมาก บุคลิกหน้าตาท่านก็งามมาก เวลาอ่านกวีนิพนธ์ น้ำเสียงและลีลาของท่านไพเราะมาก เมื่อมาเรียนต่อที่ Greely ผมได้เขียนจดหมายไปกราบขอบพระคุณท่านที่ได้ให้พื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี ท่านก็เมตตาเขียนตอบมาให้กำลังใจแก่ผม ทำให้ผมดีใจมากและตั้งใจเรียนรู้มากขึ้น

       นอกจากนั้น ความรู้ด้านไทยศึกษา ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย วรรณคดีไทยที่ได้จากท่านอาจารย์พระยาอนุมานราชธน คุณพระวรเวทย์พิสิฐ ท่านอาจารย์มหาเกษม บุญศรี ท่านอาจารยสุมนชาติ สวัสดิกุล และอีกหลายท่านล้วนเป็นประโยชน์กับผมมาก รวมทั้งภาษาอังกฤษและวรรณคดีก็ทำให้ผมเข้าใจถึงวัฒนธรรมฝรั่ง ผมขอกราบคารวะและขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านไม่รู้ลืม

       อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ที่ได้ติดตัวไปทำให้การเรียนในต่างประเทศจบลงด้วยความสำเร็จอย่างดี และ ได้สร้างความคิดของผมให้สมดุลย์ดีงาม

       โดยสรุป ความรู้ทางอักษรศาสตร์ทำให้ผมเข้าใจคน เข้าใจคุณค่าและความสร้างสรรค์ของมนุษย์ เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย อันส่งผลให้การทำงานด้านการศึกษาในเวลาต่อมาของผมตั้งอยู่บนหลักคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานสังคมวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะทำให้ได้จัด “การศึกษาไทย” โดยไม่ตามโลกตะวันตกจนเกินไป

       สุดท้าย ผมขอคารวะ และ ขอบพระคุณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ ณ โอกาสนี้ที่ได้ให้การศึกษาและการอบรมความเป็นมนุษย์ที่ดีงาม

 

ด้วยความรัก เคารพคณะอักษรศาสตร์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง

กลับขึ้นด้านบน

ความทรงจำหนึ่ง ปราณี กุลละวณิชย์

ความทรงจำหนึ่ง

เล่าโดย ปราณี  กุลละวณิชย์

 

        ความทรงจำของคนหนึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับของอีกคนหนึ่ง หรือหลายคนที่อยู่ในสมัยเดียวกัน เพราะนอกจากจำแม่นไม่เท่ากันแล้วยังจำจากมุมมองที่ต่างกันอีกด้วย แต่นี้ก็เป็นรสชาติมิใช่หรือ?

        เมื่อดิฉันสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นยังไม่มีการสอบรวม เราต้องไปสอบกันเองตามมหาวิทยาลัยที่เราอยากจะเข้าเรียน โดยมากก็ไปสอบมากกว่าหนึ่งมหาวิทยาลัย  แต่ก็มีคนที่ประมาทและเขลา (อย่างดิฉัน) ที่สมัครสอบแห่งเดียวคือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นในวันที่เขาติดประกาศผลสอบและก่อนหน้านั้นจึงกินข้าวไม่ลง สมัยก่อนผลสอบใช้การติดประกาศ ดังนั้นทุกคนก็มุงบอร์ดหาชื่อของตัว ไม่มีการประกาศทางวิทยุที่นอนฟังที่บ้านหรือดูผ่านเว็บได้อย่างทุกวันนี้ ขอให้นึกภาพการมุงบอร์ดว่าชุลมุนอย่างไร และเรามักจะหาชื่อตัวเองไม่พบเพราะตาลายและโดนกระทุ้งจากข้างหนึ่งข้างและหลัง

        ตอนเรียนปีหนึ่งเรา (รุ่น 27) เรียนกันที่ห้อง 10 ตึกอักษรศาสตร์ 1 (ปัจจุบันคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์)   ห้องนี้เป็นห้องที่อยู่ชั้นล่างปีกที่ติดกับหอประชุม เหนือห้องนี้คือห้อง 20 ซึ่งนิสิตปี 4 ใช้เป็นห้องเรียน ห้องปี 2 อยู่ชั้นบนเช่นกัน แต่อยู่ปีกติดกับถนนอังรีดูนังต์ ส่วนห้องปี 3 อยู่มุขชั้นบนที่ยื่นไปทางตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ห้อง 10 เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าห้องยกพื้นขึ้นเหมือนเวที อาจารย์ผู้สอนท่านจะบรรยายตรงนี้ใช้ไมโครโฟนซึ่งคนนั่งหลังห้องฟังไม่ค่อยได้ยิน เพราะเสียงจะออกไปทางประตูที่เปิดทุกบาน อาจารย์ผู้สอนใช้กระดานเขียนชอล์คเวลาลบกระดานก็ฟุ้งดี กระดานมี 3 ตอนชักขึ้นลง อาจารย์ท่านต้องเขียนตัวโตมากเพราะข้างหลังจะมองไม่เห็น นิสิตนั่งเก้าอี้ไม้มีที่เขียนที่เปิดพับเอาตัวเข้าไปนั่ง แล้วพับแป้นลงมาขังตัวเองไว้ เก้าอี้แบบนี้ไม่ทราบว่าเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้างหรือไม่

        นิสิตปีหนึ่งยังไม่คุ้นกับการเรียนห้องใหม่ที่ไม่มีการประสานสายตาจากผู้สอน เพราะฉะนั้นถ้านิสิตยังงงอยู่อาจารย์ก็จะไม่สังเกตเห็นและเป็นหน้าที่ของนิสิตต้องไปหาทางทำให้หายงงเอง (หรือจะทิ้งที่งงไปก็ได้ ซึ่งมีคนไม่น้อยเลือกทำอย่างนี้) นิสิตสมัยนั้นก็คงไม่ต่างจากสมัยนี้ คือช่วงเวลาที่ตั้งใจฟังมักสั้น แต่นิสิตสมัยก่อนไม่ส่งเสียงดังเราเขียนใส่กระดาษเลื่อนไปมาตามที่นั่งที่ติดกันในแถวบางทีก็สอดไปแถวหน้าบ้าง คนที่ตั้งใจฟังและจดเก่งก็ต้องทำใจว่าสมุดจดเล็กเชอร์ของเขาจะท่องเที่ยวไปทั่วห้อง โดยเฉพาะเวลาก่อนสอบ กลับมาก็โทรมจนเกือบจำไม่ได้ ตอนเรียนเราสามัคคีกันดี มีการติวกัน มีบ่อยๆที่คนติวสอบได้คะแนนน้อยกว่าคนที่มาฟังติว!!  การนั่งในห้องเรียนก็มีระบบคือคนที่ชื่อขึ้นต้นด้วย ก – น และ ส – ฮ มีสิทธิจะได้นั่งแถวหน้าในเทอมที่หนึ่งหรือที่สอง เพราะมีการสลับที่กันจะได้ไม่ต้องนั่งที่ข้างหลังเสมอ แต่คนที่ชื่อขึ้นด้วยอักษรอื่นๆรวม ป. อย่างดิฉันหมดสิทธินั่งหน้า นั่งตรงกลางตลอดกาล ก็ดีอยู่เหมือนกัน นิสิตที่อยู่หลังๆหรือค่อนไปทางหลัง (ซึ่งจะได้นั่งหน้าในอีกเทอมถัดไป) ก็มักจะง่วง แต่จะตื่นทันทีที่ได้ยินระฆัง (ช่วยชีวิต) ระฆังนี้แขวนไว้ที่ชั้นสองมีคนตีชื่อลุงสด ซึ่งจะตีระฆังไม่เคยพลาด ตอนสอบระฆังนี้ศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว เพราะเสียงรัวแปลว่าหมดเวลาเขียนต้องส่งสมุดสอบ เมื่อดิฉันอยู่ประมาณปีสี่ จึงเลิกตีระฆังเปลี่ยนไปใช้ออด (ระฆังนี้ก็หายไปไหนไม่ทราบน่าจะเก็บไว้เหมือนกัน)

       นิสิตปีหนึ่งที่เรียนภาษาฝรั่งเศสสมัยนั้นคงจำกันได้ว่าพวกเราส่วนใหญ่ฟังไม่ออกว่าอาจารย์พูดอะไรในเดือนแรกๆ เราต้องไปหาหนังสือมาอ่านดักหน้าชั่วโมงบรรยาย จึงพอจะฟังได้เรื่อง อาจารย์ท่านพูดว่า Bon Appétit! ก่อนออกจากห้อง เพราะท่านสอนชั่วโมงก่อนเที่ยง นิสิตไม่ทราบว่าท่านพูดอะไร จนวันหนึ่ง (เกือบหมดเทอม) มีใครคนหนึ่งฟังออกว่าท่านพูดว่า Bon Appétit!

       อาจารย์ที่สอนเมื่อดิฉันอยู่ปีที่หนึ่งนั้นเป็นบรมครู เช่น คุณพระวรเวทย์พิสิฐ คุณพระเรี่ยมวิรัชพากย์ศาสตราจารย์พระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตรฯ  ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ณ อยุธยา  ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์  ศาสตราจารย์มหาเกษม บุญศรี ฯลฯ  ดูแต่ชื่อก็คงทายได้ว่านิสิตปีหนึ่งจะรู้สึกตัวลีบเวลาท่านเข้ามาสอนอย่างไรและนิสิตก็มักเงียบนั่งก้มหน้าจดแบบตั้งใจเรียน เพราะกลัวถูกเรียกตอบ  อยากเล่าบรรยากาศให้เป็นตัวอย่าง 1 ตัวอย่างว่าความตั้งใจในห้องเรียนเป็นอย่างไร! คือ ตอนเรียนบทละครอังกฤษกับศาสตราจารย์ พระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตรฯ  เมื่อตอนท่านทรงสอนเรื่อง She Stoops to Conquer ท่านจะทรงอ่านบทของตัวละครต่างๆ โดยทรงเดินไปหยุดที่มุมซ้ายทีขวาทีบนเวที  ท่านทรงอ่านอย่างออกรส  แต่เราฟังแบบไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะไม่มี Text  แต่ที่จดจ่อก็คือเอาใจช่วยกลัวว่าท่านจะทรงตกจากเวทีไป เพราะทรงถือหนังสือและทรงอ่านไม่ทรงดูทางเอาเลย

        อีกเรื่องที่ต้องเล่าก็คือตอนประกาศผลสอบปลายปีของทุกคน ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร       ซึ่งตอนนั้นท่านยังเป็นอาจารย์หนุ่มและน่าจะเป็นเลขานุการของคณะกรรมการประจำคณะ เป็นผู้อ่านประกาศที่บันไดห้องโถงกลางหน้าพระบรมรูป นิสิตคอยฟังผลยืนพิงเสา หรือลงนั่งลงกับพื้น เพราะยืนตรงๆไม่ไหว    วิธีประกาศของอาจารย์ก็คืออ่านชื่อแล้วบอกว่าผ่านหรือสอบแก้ตัว อ่านชื่อเดียวบางทีก็ผ่าน บางทีก็ตกซ้ำชั้น บางทีก็สอบแก้ตัว นี่ก็ต้องกลั้นใจเวลามาแถวชื่อของเราแต่ที่แน่กว่าก็คือ ในสมัยนั้นวิชาที่สอบตกกันกราวรูดคือวิชาภาษาไทย และภาษาบาลี  เพราะฉะนั้นจะมีการอ่านชื่อต่อๆกันยาวแล้วจึงจะบอกว่าผ่านหรือสอบแก้ตัว  ดังนั้นเมื่อเรามีชื่ออยู่ในกลุ่ม ก็ต้องกลั้นหายใจว่าตอนจบจะออกหัวหรือก้อย นับเป็นการรู้ผลสอบที่สอนให้ทุกคนต้องตั้งสติให้มั่นคง เมื่อดิฉันอยู่ปี 4 จึงมีการเปลี่ยนเป็นแจก slip ผลสอบของแต่ละคนเราจึงสามารถค่อยๆแกะ slip แอบยืนดูคนเดียวได้ การตกซ้ำชั้นและตกให้ออกเป็นเรื่องที่นิสิตกลัวกัน เดี๋ยวนี้จะไม่มีตกซ้ำชั้นเพราะสามารถแก้เกรดได้ (แต่ให้ออกยังมีอยู่ ถ้าแก้เกรดไม่ได้) นอกจากนี้สมัยนี้เลือกเรียนวิชาไปแก้เกรดรวมได้  แต่สมัยก่อนไม่มีแบบนี้  ถ้าสอบตกวิชาใดก็ต้องเรียนซ้ำชั้นและสอบให้ผ่าน

        เมื่อเข้ามาเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ  จำได้ว่าวันแรกที่มาทำงานท่านหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ (ศาสตราจารย์ คุณหญิงนพคุณ ทองใหญ่) นำลงไปห้องใต้ดินอาคารมหาวชิราวุธปัจจุบัน (หรือตึกอักษร 2    แต่ก่อน) ที่ห้องนี้มีบุ้งกี่ขนาดใหญ่ 2 – 3 เข่ง วางอยู่แล้วก็มีสมุดข้อสอบเป็นมัดๆกองอยู่มากมาย  ท่านหัวหน้าภาควิชาสอนให้ฉีกกระดาษในสมุดสอบหน้าที่ไม่มีการเขียนวางแยกไว้สำหรับมาใช้เป็นกระดาษว่าง หรือกระดาษทดในภาควิชาภาษาอังกฤษ  หน้าที่มีการเขียนกระดาษคำตอบก็ให้ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่ให้มาต่อกันได้ วิธีฉีกก็ต้องฉีกเป็น 2 ชิ้น ตามยาวของกระดาษแล้วทบมาฉีกขวางอีกเป็น 4 ชิ้นแล้วเอากระดาษที่ฉีกเป็นชิ้นยาวๆนี้มาฉีกต่อไปเป็นชิ้นเล็กๆ ทุกปึกจะต้องฉีกลงไปเป็นชิ้นเล็กๆให้โปรยได้ ที่เล่ามานี้ก็เพื่อให้เห็นว่าแต่ก่อนไม่มีกระดาษมากนักที่จะใช้เป็นกระดาษร่าง  ดังนั้นท่านหัวหน้าภาคฯจึงประหยัดและใช้ของอย่างรู้ค่าไม่ฟุ่มเฟือย  นอกจากนี้ท่านก็ได้สอนบทเรียนว่าจะให้ใครทำอะไรแล้วหากกลัวจะไม่พอใจทีหลังทางที่ดีก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน      การสอนงานคนอื่นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ดิฉันได้เรียนรู้จากท่านหัวหน้าภาคฯ และที่สำคัญท่านสอนว่าถ้าจะปกครองคนได้ก็ต้องรู้จักงานของเขาแบบที่เราต้องทำเองได้ก่อนจึงจะสั่งงานได้ดี  อีกเรื่องหนึ่งที่จะขอเล่าก็คือ   การที่อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษสมัยนั้นสอนทั่วทั้งจุฬาจึงมีตารางสอนเป็นแบบที่ดิฉันเรียกว่า “บัวบานขยายกลีบ” คือสอนอาทิตย์ละ 20 – 21 ชม. และยังต้องทำงานอื่นๆ เช่น ช่วยเย็บเอกสารคำสอน และจำหน่ายให้แก่นิสิตซึ่งต้องมาซื้อที่ภาควิชา ครั้งหนึ่งมีนิสิตชายมาขอซื้อเอกสารคำสอนที่เขาเรียกว่า “โล ล่า” อาจารย์ผู้สอนและจำหน่ายเอกสารงงเป็นกำลัง  เพราะนึกไม่ออกว่าวิชาอะไร จะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาก็ไม่ใช่  จึงขอให้นิสิตเขียนชื่อให้ดู ก็ถึงบางอ้อ ! เพราะเขาเขียนดังนี้ 101a หรือวิชาภาษาอังกฤษ code 101a  (นิสิตอ่านเลข 1 เป็นตัว L) นอกจากนี้การที่นิสิตต้องมาซื้อเอกสารคำสอนแล้วจำชื่อวิชาไม่ได้ และจำชื่อผู้สอนก็ไม่ได้ เขาจึงต้องบรรยายรูปร่างหน้าตาอาจารย์ให้เราเดากัน เราก็เลยรู้ว่านิสิตเขาเห็นอาจารย์อย่างไร เช่น อาจารย์น่องสวย อาจารย์ที่หอมมาแต่ไกล ฯลฯ

        อาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์แต่ก่อนนั่งรวมกันในห้องพักรวม คือโต๊ะวางรวมกันอยู่ในห้องใหญ่แบบเห็นหน้ากันคุยกันได้ ถ้ามีนิสิตมาหาก็ต้องหรี่เสียงพูดกับนิสิต หรือถ้าจะคุยยาวต้องไปห้องกาแฟ หรือพูดที่ห้องโถง ห้องกาแฟ เป็นห้องพักของอาจารย์มีโต๊ะ 2 – 3 ตัว พร้อมเก้าอี้ มีตู้จดหมายเป็นช่องๆ แบบที่เรียกว่าตู้รังนกกระจอกไว้ใส่โน๊ตหรือจดหมาย  ห้องนี้อาจารย์รุ่นกลางมักมานั่งพักผ่อนคุยกันและดื่มน้ำชากาแฟที่ “ลุงโชว์” เป็นผู้ชงแบบไม่ให้ใครผิดหวัง  อาจารย์ใหม่เด็กๆไม่ค่อยกล้านั่งที่โต๊ะ  ต้องไปแอบนั่งปลายๆโต๊ะ หรือมุมห้อง จนเป็นอาจารย์ 2 – 3 ปีแล้วจึงค่อยกล้านั่งอย่างมั่นใจ พวกเราจำได้ว่าอาจารย์สดใสชอบสั่งกาแฟ “ยกล้อ” ซึ่งหมายถึงกาแฟใส่นมข้นสักเกือบครึ่งแก้ว (กาแฟแต่ก่อนเป็นแบบชงถุงกาแฟไม่ใช่ Nestcafe แล้วก็ชงใส่แก้วไม่ใช่ถ้วย นะคะ)

        เมื่อเป็นคณบดี  ดิฉันก็มีเรื่องที่จะต้องจำไว้ไม่ลืมคือ ในช่วงนั้นตึกอักษรศาสตร์ 1 ทรุดตัวลงมากทำให้ทางเชื่อมระหว่างตึก 1 และ 2 ขาด เพราะตึกทรุดตัวลงไม่เท่ากัน  มหาวิทยาลัยเห็นว่าจะต้องรีบซ่อมเป็นการด่วน  มิฉะนั้นทั้งตึกและทางเชื่อมอาจจะพังลงเป็นอันตราย  อาจารย์ซึ่งมีที่ทำงานอยู่ในตัวตึก 1 ส่วนใหญ่ และ มีชีวิตที่ผูกพันกับตึกอักษร 1 มาช้านาน ชินกับห้องกาแฟ ชินกับการนั่งอยู่ในห้องใหญ่ทำงานแบบเห็นหน้าเห็นตากันรู้สึกไม่อยากย้ายออก และประการสำคัญคือตอนซ่อมเสร็จแล้ว คงไม่ได้กลับมาอยู่ เนื่องจากมหาวิทยาลัย    จะสร้างอาคารเรียนรวม (คืออาคารบรมราชกุมารีปัจจุบัน) และตั้งแต่ชั้น 7 ขึ้นไปจนชั้น 12 จะใช้เป็นห้องพักอาจารย์แบบที่แยกเป็นห้องเฉพาะแต่ละคนมีความเป็นส่วนตัว (ซึ่งน่าจะดี ?)  ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเกิดการรวมตัวกันคัดค้าน  ดิฉันจำได้ว่ามหาวิทยาลัย (คุณธิติรัตน์ วิศาลเวทย์) ซึ่งเป็น ผอ.กองแผนงานหรือผู้ช่วย ผอ. สมัยนั้น) มาบอกว่า เขาจะเป็นคนอธิบายว่าตึกใหม่น่าจะไปอยู่มาก ส่วนคณบดีให้พูดอย่างไรก็ได้ที่จะชักนำให้อาจารย์ออกจากตึก  การออกจากตึกไปทำงานที่อาคารอื่นๆในจุฬาเป็นเรื่องพูดให้ดูดียาก เพราะภาคใหญ่ๆ หรือ               ภาคขนาดกลางต้องแยกกันไปอยู่คนละอาคาร บางทีก็ห่างจากกันมาก การบริหารภาควิชาจึงลำบาก การซ่อมตึกอักษรศาสตร์ 1 และการย้ายที่ทำงานเป็นเรื่องขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์สมัยนั้น แต่ดิฉันผ่านมาได้เพราะแม้อาจารย์ไม่สู้พอใจนักแต่ก็ไม่ขัดขวางจนดำเนินงานต่อไปได้ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นจุดเด่นของคนคณะอักษรศาสตร์ คือแม้ว่าเราจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องคิดเพื่อส่วนรวมเราก็พูดกันได้

        ที่เล่ามานี้เป็นความทรงจำส่วนหนึ่ง ที่น่าจะทำให้ผู้อ่านได้ความรู้สึกว่าคณะอักษรศาสตร์เป็นสถานที่มีบรรยากาศอบอุ่นน่ารัก เป็นที่ๆวางใจได้ว่ามีคนดีที่หวังดีต่อกัน ดิฉันคิดว่าความรู้สึกจากความทรงจำที่เล่ามานี้คงมีในใจของนิสิตอักษรศาสตร์ทุกรุ่นแม้จะมีเรื่องแตกต่างกันไป

กลับขึ้นด้านบน

คุยกับครู ( ครูใหญ่ ) ดารกา ชวลิต วงศ์ศิริ (อบ.40)

คุยกับครู

เล่าโดย  ดารกา ชวลิต วงศ์ศิริ (อบ.40)

       ครูในที่นี้ หมายถึง รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร ขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ ของเรา  และ ยังเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาศิลปการละครแบบตะวันตกขึ้นในประเทศไทย จนกระทั่งบัดนี้สาขาวิชานี้เปิดให้เลือกกันในเกือบทุกมหาวิทยาลัย  ศิษย์บางคนก็เรียกครูว่าครูใหญ่ หรือ บางรุ่นก็เรียนเต็มยศว่าอาจารย์สดใส ส่วนผู้เขียนนั้นเรียกครูขาๆ มาตลอด จึงขอเรียกตามที่ติดปากว่า ครูก็แล้วกัน

       ผู้เขียนก็นับเป็นหนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรกๆที่เลือกเรียนวิชาศิลปการละครเป็นวิชาเอก  คณะอักษรศาสตร์เพิ่งเปลี่ยนเป็นระบบหน่วยกิตได้เป็นปีที่สอง  ตอนนั้นจะมีผู้ถามเสมอว่า เรียนละครไปทำอะไร  ซึ่งมักจะตอบว่าไม่ทราบเหมือนกัน  รู้แต่ว่าวันหนึ่งเมื่อปี 2515 เมื่อยังเป็นนิสิตใหม่และยังงุนงงกับวิชาต่างๆที่คณะอักษรศาสตร์บังคับให้เรียน  ได้มีโอกาสเข้าเรียนวิชากับครู  ได้เห็นพลังของครูในการสอน ได้เห็นความรักและทุ่มเทของครูที่มีต่อวิชาที่กำลังถ่ายทอดให้พวกเราฟัง   วันนั้นเองที่ตัดสินใจว่า จะเรียนวิชาศิลปการละครเป็นวิชาเอก  จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ไม่มีสักวันที่เสียใจกับการเลือกในครั้งนั้น   วิชาศิลปการละครที่ครูสอนมาได้ให้ทั้งวิชาชีพสำหรับเลี้ยงชีวิต ให้ทั้งทัศนคติต่อโลกและต่อผู้อื่น และที่สำคัญที่สุด คือ  ให้ความสุขในการตื่นขึ้นมาทำงานละครที่รักทุกวัน 

       เชื่อแน่ว่า ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้ แต่ลุกศิษย์ครูทุกคนทุกรุ่นคงรู้สึกแบบเดียวกันหมด เรียกว่า แรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อน และหัวใจของพวกเราชาวศิลปการละครนั้นรวมกันอยู่ที่ครูก็คงไม่ผิด

 

       ระยะเวลาที่คุยกับครูนี้ ครูมีอายุ 83  ปีแล้ว  ครูไม่ค่อยสบายเพราะเพิ่งไปผ่าสะโพกที่หักจากการล้มมาไม่นาน และยังมีเรื่องเสียใจกับการจากไปของคนในครอบครัวที่รัก  แต่ครูก็คือครู แม้จะบอกว่าเหนื่อย และไม่สบายแต่ครูก็เต็มใจคุยให้ฟังเสมอเมื่อลูกศิษย์ขอ และครูก็ยังมีพลังเท่าเดิม จนบางครั้งต้องบอก ครูขาช้าๆหน่อยหนูเหนื่อยค่ะ

       ครูเล่าเรื่องราวให้ฟังมากมาย แต่ก็มีหลายครั้งแต่ครูบอกจำไม่ค่อยได้เพราะครูแก่แล้วนะ ครูพูดแบบนี้เป็นประจำ แต่ผู้เขียนก็จะบอกครูเสมอว่า หนูอายุน้อยกว่าครูตั้งเยอะแต่ก็ลืมมากกว่าครูอีกค่ะ ซึ่งเป็นความจริง  บางอย่างที่ครูบอกว่าให้ช่วยไปค้นรายละเอียดมาเพิ่มเติม ก็ได้ไปค้นมา แต่หากขาดตกตกพร่องหรือลืมโน่นนี่ไป ก็เป็นความผิดพลาดเซอะซะของผู้เขียนเองที่ค้นมาไม่ดี ต้องขออภัยล่วงหน้าด้วย

      ครูเข้ามาเป็นนิสิตใหม่เมื่อปีพุทธศักราช 2495 

      บริเวณรอบจุฬาตอนนั้นร่มรื่นด้วยต้นจามจุรีครึ้มงาม  ด้านถนนสนามม้า(อังรีดูนังต์)ยังมีคลองอรชรที่ทอดยาวขนานไปถามถนน ยุคนั้นคณะอักษรศาสตร์มีเพียงตึกเทวาลัยหรือตึกอักษรศาสตร์ 1  ตึก2 นั้นมาสร้างให้เชื่อมกันทีหลัง แล้วเสร็จเมื่อปี 2500

      ยุคที่ครูเรียนนั้นที่คณะไม่มีวิชาศิลปการละคร     เมื่อเป็นนิสิต ครูเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และทำกิจกรรมต่างๆมากมาย ร้องเพลงแต่งเพลงและแสดงละคร     ตอนนั้นครูเล่นละครภาษาอังกฤษ ที่พระองค์เปรมฯ(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ) ทรงกำกับ พระองค์เปรมฯทรงสอนวิชาการละครและวรรณกรรมเชคสเปียร์ด้วย   ส่วนเพลงที่ครูแต่งนั้น เชื่อว่านิสิตจุฬาก็เคยร้องเพลง CU Polka ของครูกันมาแล้วเกือบทุกคน เสียงครูมีเอกลักษณ์ จนบัดนี้ยังไม่เคยลืมเสียงร้องของครูในเพลงนี้เลย

 ครูเล่าให้ฟังว่า

       หลังจากที่ครูเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ครูก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่แผนกวิชาภาษาอังกฤษ  หัวหน้าแผนกตอนนั้นคือ อาจารย์นพคุณ (ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงหญิงนพคุณ ทองใหญ่ )  แผนกภาษาอังกฤษนี้ขึ้นอยู่กับวิชาภาษาต่างประเทศ ที่มีพระองค์เปรมฯ ทรงเป็นหัวหน้า  ต่อมาครูได้สอบชิงทุน Fulbright ไปเรียนต่อปริญญาโทวิชาสอนภาษาอังกฤษที่ North Carolina University สหรัฐอเมริกา    

        เมื่อสอบได้ทุนแล้วครูก็มาทูลพระองค์เปรมซึ่งรับสั่งทันทีว่าอยากให้ครูเปลี่ยนไปเรียนวิชาศิลปการละคร  เพื่อจะเตรียมไว้เปิดสาขาวิชาใหม่ต่อไปในคณะ  รับสั่งว่า ไม่ได้นะ สดใสเรียนอย่างอื่นไม่ได้ต้องเรียนละครเท่านั้น   ครูจึงต้องไปเดินเรื่องขอเปลี่ยนวิชาที่เรียน ครูบอกว่าทุนฟุลไบรท์ดีกับครูมาก เพราะการเรียนละครต้องใช้เงินมากกว่าและใช้เวลามากกว่า แต่เจ้าของทุนก็ไม่ว่าอะไรสักคำยินดีให้เปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ

         เมื่อไปถึงที่สหรัฐอเมริกา ครูต้องเรียนปริญญาตรีใหม่ เพราะความรู้เรื่องละครไม่พอ จึงต้องไปเรียนวิชาพื้นฐานการละครแบบเข้มข้นให้จบภายในหนึ่งปี เมื่อจบแล้วจึงจะต่อปริญญาโทได้   

         เมื่อครูเข้าเรียนไม่นานก็ไปทดสอบอ่านบทละคร แล้วจึงได้รับเลือกเป็นตัวเอกในละครหลายเรื่องในปีนั้น  เช่น เรื่อง No Exit  ของ Jean Paul Satre  เป็นตัวละครที่ชื่อ Estelle  อีกเรื่องคือ  The Tea House Of August Moon บทละครที่ John Patrick ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ Vern Sneider ซึ่งเป็นละครตลกเสียดสีการเข้ายึดครองเกาะโอกินาวาของอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  และยังมีเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับครู ซึ่งเรื่องหลังนี้ครูได้ทั้งร้องและรำด้วย

       การแสดงของมหาวิทยาลัยนั้น ปรกติจะมีนักวิจารณ์และแมวมองมาดู    การแสดงของครูได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีมากจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ  จนกระทั่ง Jack Paar นักแสดงชื่อดังผู้เป็นพิธีกรรายการทีวี Tonight Show  ซึ่งออกอากาศระหว่างปี พศ. 2501- 2506  ได้เขียนจดหมายมาหา ขอให้ครูไปออกรายการของเขาที่ นิวยอร์ค

       จากรายการนั้น  ครูจึงได้รับ ข้อเสนอมากมายหลายแห่ง รวมทั้งได้มีโอกาสอัดแผ่นเสียงกับ Liberty Records ใช้ชื่อว่า Sondi Sodsai   ปกแผ่นเสียงเป็นรูปครูใส่งอบอยู่ในทุ่งข้าวสีทอง แผ่นเสียงนี้ออกจำหน่ายปี พศ.2502  และระบุสไตล์เพลงไว้ว่า Space Age  มีเพลงทั้งหมด 12 เพลง  เพลงแรกใน track นั้นชื่อเพลง Sondi มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษและภาษาไทย นอกจากนั้นยังมีทั้งเพลงอังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ที่พวกเราคุ้นหูก็เช่น Buffalo Love Song หรือ เจ้าทุยอยู่ไหน นั่นเอง  เพลงทั้งหมดนี้เมื่อผู้เขียนมาฟังตอนนี้รู้สึกยังทันสมัยอยู่เป็นแนวดนตรีแบบ World Music ผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน  โชคดีที่ในยุคนี้มีอินเทอร์เน็ต ทำให้เราสามารถฟังเพลงที่ครูร้องไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนได้ คุณภาพเสียงก็ชัดเจน

       นอกจากนั้นครูยังได้รับข้อเสนอจาก Revue Studio (ต่อมาคือ Universal Studio)  ให้เป็นนักแสดงรับเชิญตอนหนึ่งของภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด  Mike Hammer ซึ่งเป็นนักสืบมีหน้าที่ไขคดีต่างๆ   

       ตอนที่ครูเล่นนี้มีชื่อว่า Siamese Twinge ออกอากาศปี พศ.2502      ครูใช้ชื่อในการแสดงว่า  Sondi Sodsai เช่นกัน   ซึ่ง Sondi ก็เป็นชื่อตัวละครด้วย    ผู้เขียนถามครูว่าทำไมใช้ชื่อนี้ละคะ ครูบอกว่าฝรั่งออกเสียงสดใสไม่ได้ ออกเป็น Sondi ง่ายกว่า

      ในเรื่องนี้มีเพลงประกอบที่ครูร้อง ชื่อ Oriental Love Song   ครูเล่าว่าตัวละคร Sondi ที่ครูเล่นนี้มีอาชีพเป็นนักร้องในคลับ ถูกจับเข้าคุกข้อหาฆาตกรรม และ นักสืบ Mike Hammer ได้มาช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ ครูจำประโยคในเรื่องได้และเล่นให้ฟังว่า  “Sondi is not someone that you can forget!”

      สำหรับเรื่องนี้ผู้เขียนได้ไปค้นหาดูและพบ trailer ตอนที่ครูเล่น เห็นครูร่ายรำและร้องเพลง ฟังแล้วอดยิ้มไม่ได้ คิดในใจว่า ครูของเราน่ารักที่สุด

      ต่อจากนั้นข้อเสนอจากสตูดิโอต่างๆในฮอลลีวู้ดก็เข้ามาอีกมากมาย เมื่ออาจารย์ที่มหาวิทยาลัยทราบจึงสนับสนุนให้ครูย้ายไปเรียนต่อที่ลอส แอนเจลิส เพื่อจะได้ทำงานไปด้วยเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ไม่ได้หากันง่ายๆ   ดังนั้นเมื่อจบปริญญาตรีจาก North Carolinaแล้ว ครูจึงย้ายไปเรียนปริญญาโททางการละครต่อที่ UCLA

       ที่ UCLA  ครูเรียนหนักและทำงานไปด้วยเท่าที่มีเวลาว่างจากการเรียน ครูบอกเลือกเล่นเฉพาะบทที่เหมาะสมและไม่ใช้เวลามากเกินไป   ครูทำวิทยานิพนธ์เป็นละครที่เขียนเอง แต่งเพลงเอง และนำแสดงเอง ชื่อ Yankee, Don’t Go Home  เรื่องนี้มีแก่นของเรื่องคือ ความเชื่อเรื่องศาสนาไม่ควรทำให้คนแบ่งแยกกัน เพราะในสวรรค์นั้นพระเจ้าทุกองค์รักกันหมด  ครูบอกประโยคสำคัญในเรื่องที่เป็นความคิดหลักของเรื่อง คือ The God must love one another, otherwise how can we, poor human-beings live together in peace?    Yankee, Don’t Go Home เป็นละครแนว Musical Comedy ครูเล่นเป็นตัวละครเอกชื่อ มาลี 

       ละครเรื่องนี้ภายหลังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน  Major Productions ของมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกปีจะเลือกละครเรื่องที่โด่งดังต่างๆมาเล่น ละครของครูเป็นเรื่องเดียวของนักศึกษาที่ได้รับเลือกในฐานะบทที่เขียนขึ้นใหม่  ครูบอกครูตื่นเต้นมากที่ละครที่ครูเขียนได้ไปแสดงร่วมกับละครของนักเขียนใหญ่ๆที่ครูชื่นชอบ    

       เมื่อถึงปลายปี Yankee, Don’t Go Home ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขา Original Play / Best Actress / /Best Supporting Cast / Best Direction  และรางวัลใหญ่ที่สุดคือ Best  Production ด้วย

      ที่สำคัญ ครูยังได้รางวัล   Oren Stein Memorial Award ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญรางวัลหนึ่งของมหาวิทยาลัย จะให้เฉพาะปีที่มีผู้สมควรได้รับเท่านั้น 

      ครูเล่าว่า ครูก็ไม่ได้คิดว่าจะได้มากมายถึงเพียงนี้  ผู้เขียนเลยถามครูว่า ครูไม่เมื่อยแย่หรือคะเดินไปรับรางวัลมากมาย ครูหัวเราะบอกว่า ครูตื่นเต้นมากจริงๆ   ครูดีใจมากที่ใครๆคนสำคัญๆมากันเยอะเลย และยังได้เจอ Lee Strasburg ปรมาจารย์ด้านการละครที่มามอบรางวัลด้วย  

      จากตรงนี้ ครูจึงได้รับข้อเสนอจากสตูดิโอ Fox ให้เป็นนักแสดงประจำ สัญญา 7 ปี ได้ค่าจ้างอาทิตย์ละ 500 เหรียญ  ตอนนั้นครูเป็นนักเรียนทุนแต่รับเงินเดือนจากทางจุฬาอยู่ เดือนละ  1,050 บาท   

      เมื่อครูเล่ามาถึงตรงนี้ผู้เขียนเลยถามครูว่า ครูเสียใจมั้ยคะที่กลับมาเมืองไทย และทิ้งโอกาสอันดีที่นักแสดงทุกคนใฝ่ฝันหา   ครูบอกไม่เสียใจเลย เพราะครูเป็นคนที่ทำตามสัญญาเสมอ ครูได้รับปากกับพระองค์เปรมฯไว้ว่าครูจะกลับ ครูก็ต้องกลับ ครูต้องกลับมาเปิดวิชาศิลปการละครที่จุฬา

      เมื่อครูไม่เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงประจำ ทางFox จึงให้เป็นทุนดูงานแทน และให้เล่นเป็นครั้งคราวเมื่อมีบทที่เหมาะสม  ให้เงินอาทิตย์ละ 500 เหรียญ เท่าเดิม  จนกว่าครูจะกลับเมืองไทย ซึ่งสัญญากันว่าจะไม่เกิน 2 ปี

      ครูอยู่ที่อเมริกา นอกจากภาพยนตร์นักสืบชุด Mike Hammerแล้ว ครูยังได้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น  ซีรีส์ชุด Adventures In Paradise ครูได้เป็นนักแสดงประจำที่มีบทบาทในหลายตอน ออกอากาศปี 1960-61  ผู้เขียนได้เข้าไปหาเรื่องนี้ดูใน youtube  ในเรื่องครูใส่ชุดแบบสาวขาวเกาะ  เป็นบทที่น่ารักสดใสเหมือนชื่อของครู  

      นอกจากนั้นครูยังได้เล่นในรายการตลกของนักแสดงสามีภรรยาชื่อดัง The Lucy- Desi Comedy Hour  ในตอน The Ricardos Go To Japan ครูเล่นเป็นสาวญี่ปุ่น

      ครูเล่าอีกว่า ครูยังได้รับเชิญไปร้องเพลงจากแผ่นของครูตามเมืองต่างๆ และยังมีผู้ขออนุญาตนำเพลงชุดนี้ไปเป็นตัวอย่างในการสอนหนังสือด้วย

      เมื่อฟังครูเล่าไปเรื่อยๆ ก็ได้แต่คิดในใจว่า ถ้าครูยังอยู่ที่นั่น ครูคงโด่งดังเป็นดาราฮอลลีวู้ด และแผนกศิลปการละครคงไม่มีโอกาสเปิดไปอีกหลายปี อาจจะไม่ได้เปิดเลยก็ได้ พวกเราคงไม่มีโอกาสได้เรียนกับครู นึกแล้วก็รู้สึกว่าครูเสียสละอย่างใหญ่หลวงและพวกเรานี้โชคดีที่สุดในโลกที่ได้เป็นศิษย์ของครู

      ครูเล่าต่อว่า เมื่อกลับจากสหรัฐอเมริกา ในปี 2505 แล้ว ครูก็ได้มาเป็นอาจารย์แผนกภาษาอังกฤษต่อไป ระหว่างนั้นก็เขียนหลักสูตรไปพลางๆ   ตอนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาที่ UCLA ซึ่งสนิทสนมกับครูได้ตามมาเที่ยวเมืองไทยด้วย   คือ คุณ Guy Edward Hearn ได้ช่วยครูร่างหลักสูตรละครตะวันตก  และคุณ Kay ภรรยาก็มาสอนวิชาภาษาอังกฤษที่คณะ

      ครูบอกครูพยายามผสมผสานหลักสูตรศิลปการละครไทยเข้าไปด้วยเพื่อให้นิสิตมีความรู้ ทั้งละครไทยและละครสากล ครูได้ที่ปรึกษาคือ ครูอาคม สายาคม และ ครูจำเรียง พุธประดับ  ครูเล่าว่าท่านดีมากเหลือเกิน นอกจากจะช่วยเรื่องหลักสูตรแล้วยังกรุณามาสอนด้วย   เมื่อครูร่างหลักสูตรเสร็จก็ได้ไปถวายให้พระองค์เปรมทอดพระเนตร  ครูบอกตอนนั้นไม่มีทบวงมหาวิทยาลัย  จึงต้องส่งหลักสูตรไปให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจเพื่อการอนุมัติอีกครั้ง  ต้องไปอธิบายว่าละครที่คณะอักษรศาสตร์จะเปิดนี้ไม่ซ้ำซ้อนกับหลักสูตรของโรงเรียนนาฏศิลป์  เพราะเราสอนการละครสมัยใหม่

      เมื่อหลักสูตรผ่าน  พระองค์เปรมฯทรงรับแผนกนี้ไว้ในวิชาภาษาต่างประเทศ  แต่ยังไม่ได้เป็นแผนกอิสระ

      ยุคแรกนั้น ครูจะสอนเองแทบทุกวิชา แต่จะมีอาจารย์พิเศษมาจากที่อื่นด้วย    ในระยะแรกคนเลือกเรียนน้อยมาก เพราะไม่เข้าใจวิชานี้ว่าจะเรียนไปทำไมกัน

      ละครที่ทำตอนนั้นครูจะใช้บทละครภาษาอังกฤษเลย ครูเล่าถึงเรื่อง The Importance of Being Ernest ของ Oscar Wilde  ที่แสดงในปี 2507  ครูบอกอาจาย์ศศิธร ผลประสิทธิ์  เป็นนางเอก ตอนนั้นคณะอักษรไม่มีโรงละครจึงต้องไปขอเล่นที่คณะครุศาสตร์ ซึ่งอาจารย์พูนทรัพย์(ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคณะครุศาสตร์ในตอนนั้น)ท่านก็อนุญาต

      เรื่องต่อมา ครูบอกคือเรื่อง The Miser ละครตลกของ Moliere เล่นที่เดิมแต่ใช้โรงที่ใหญ่ขึ้น  ครูเล่าว่าตอนนั้นอาจารย์สุรพล (ศาสตราจารย์ดร.สุรพล วิรุฬหรักษ์)เล่นเป็นตัวเอกขี้เหนียวที่ชื่อ Harpagon  มีนิสิตหลายคนมาช่วยกันตอกฉาก ทำพร้อพส์ ทำโพรดักชั่น   นิสิตคนหนึ่งที่ครูมักพูดเสมอว่าเป็นรุ่นแรก คือ พี่สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ (อบ. 31) พี่สมชายมาช่วยทั้งตอกฉากทั้งทำพร้อพส์ ทำทุกอย่าง  อีกคนที่ครูเคยแนะนำให้รู้จักและพูดเสมอว่าเป็นรุ่นแรกๆเหมือนกัน คือ พี่สุนันทนี (รศ. สุนันทนี จันทร์ทิพย์ อบ.32) ซึ่งได้ไปบุกเบิกวิชาศิลปะการละครที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ปัจจุบันพี่เสียชีวิตแล้ว ตอนนี้ ภาควิชาศิลปะการแสดงที่คณะศิลปกรรม ขอนแก่นได้ลงรากมั่นคงสมดังเจตนาของพี่

       ในปี 2513  ครูทำละครที่แปลเป็นไทย คือ ตุ๊กตาแก้ว หรือ The Glass Manageries  ของ Tennessee Williams    พี่จุ๋ง อารดา (ผศ.อารดา กีระนันทน์)  เล่นเป็น Laura    น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้ดูเพราะเข้าไม่ทัน  แต่ได้ทราบจากรุ่นพี่ๆว่า พี่จุ๋งทั้งสวยและเล่นเก่งที่สุด   เรื่องนี้ครูบอกเล่นอีกครั้ง พี่อัมพร กีรติบุตร เล่นบทเดียวกันนี้

       ครูพูดถึง ละครเรื่อง เกิดเป็นตัวละคร หรือ  Six Characters In Search Of An Author ของ Luigi Pirandello  แสดงที่โรงละครแห่งชาติโรงเล็ก พี่ก้อย (เยาวเรศ อารีมิตร )เล่น ครูบอกพี่ก้อยเล่นเก่งจริงๆเก่งมากๆ ตีความลึกซึ้ง ตอนนั้นพี่จิรพร (ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธ์) แสดงเป็นแม่         ภายหลังพี่จิรพร ได้ไปบุกเบิกการสอนวิชาสื่อสารการแสดงของคณะการสื่อสารมวลชน ที่เชียงใหม่  เรื่องนี้เล่นอีกครั้ง เปลี่ยนนักแสดงบางตัวไป

       ครูบอกตอนแรกนั้นใช้ชีวิตแบบยาจก คือ พเนจรไปเรื่อย บางทีไปเล่นที่หอประชุมเอยูเอ บางทีไปเล่นที่โรงละครแห่งชาติโรงเล็ก  บางทีไปเล่นที่ชั้นบนของหอประชุมจุฬา  จนเมื่อคณะบัญชีซึ่งอยู่ตึกสองชั้นสีขาวตรงข้ามตึกอีกษรศาสตร์2  ย้ายไป ครูจึงมาใช้ห้อง60 ที่ตึกนั้นซ้อมและเล่นละคร    ตึกหลังนี้เรียกกันว่าตึกอักษรศาสตร์ 3 ผู้เขียนจำได้ว่าห้อง 60 นี้เป็นห้องโล่งๆอยู่ชั้นหนึ่งทางปีกซ้ายของอาคาร  เวลาจะเล่นละครก็เอากระดาษดำมาปิดให้มืดทึบ

       ภาควิชาศิลปการละคร  เปิดเป็นแผนกอย่างเป็นทางการในปี พุทธศักราช 2514  เมื่อผู้เขียนเข้าไปเรียนแล้วนั้น ภาควิชาอยู่ที่ตึก3นี่ล่ะ ห้องพักครูอยู่ปีกขวา ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด ประตูเปิดเข้าห้องเป็นบานสวิงแบบที่ตัดครึ่ง เวลาจะไปหาครูก็ก้มลงมองว่าครูอยู่กันมั้ย    แต่อาจจะจำผิดก็ได้เพราะสมองมีอายุแล้วเหมือนกัน

       ระยะนั้นรู้สึกจะคึกกันมาก พวกพี่ๆทำละครกันตลอดเวลา น้องๆก็ไปช่วยเล่นบ้าง ช่วยตอกฉากบ้าง เป็นสเตจให้บ้าง

       อาจารย์ที่แผนกนอกจากครูแล้วก็มี ครูเด็น (Mr.Michael  Denison) ครูเด็นสอนสนุกมาก ครูเล่าว่าตอนนั้นครูเด็นมาฝึกงานแล้วชอบเมืองไทยมาจึงอยู่สอนต่อให้  ครูแอ๋ว (รศ.อรุชุมา ยุทธวงศ์) ครูแอ๋วสวยมากแต่งตัวเก๋มาก ได้เรียนกับครูวิชา Acting และได้เล่นหุ่นเรื่องปลาบู่ทองที่ครูทำ รู้สึกจะเล่นเป็นบทเด่นทีเดียว ที่ได้เล่นเพราะไม่ได้โชว์หน้าตาแค่พากย์และเชิดอย่างเดียว ไม่นานครูก็ไปเรียนต่อเมืองนอก  ช่วงที่ผู้เขียนเรียนนั้น ครูนพ(รองศาสตราจารย์นพมาส แววหงส์) ก็ยังอยู่ระหว่างไปเรียนต่อที่เมืองนอกเช่นกัน จึงไม่ได้เรียนกับครูนพเลยสักวิชา   ครูหนุ่ย (อาจารย์เสาวนุช ภูวณิชย์) ครูหนุ่ยสอนผู้เขียนหลายวิชาเลย เช่น Oral Interpretation และ Directing ครูหนุ่ยใจดีมากๆ เรียบร้อยมาก แต่เวลาไม่ได้อยู่ในชั้นครูชอบเล่าเรื่องตลกให้หัวเราะกันครื้นเครง ภายหลังครูไม่สบายแต่ครูก็มีกำลังใจเข้มแข็งจนวาระสุดท้าย    

       นอกจากนั้นยังมีรุ่นพี่ที่จบแล้วมาเป็นอาจารย์ ได้แก่ พี่เล็ก(แสงศรี วิทยาธิปัตย์) พี่กู้(กุมารี โกมารกุล ณ อยุธยา) พี่แดง(มณฑาทิพย์  คุณวัฒนา) พี่น้า(สมรักษ์ ณรงค์วิชัย) ส่วนรุ่นหลังจากที่ผู้เขียนจบมาก็จะเป็นรุ่นที่ใกล้กันแล้วเช่น ครูแตน (ภาวิณี นานา) ครูโม (ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ) ครูปุ๊(ผศ.กฤษรา วริศราภูริชา) ครูอุ๋ย(ศ.พรรัตน์ ดำรุง) ครูแว่น(ศิริลักษณ์ เสรีวัลย์สถิตย์) เป็นต้น 

       ครูเล่าว่า  ต่อมาไม่นาน คณะก็สร้างโรงละครให้ที่ตึก 4 ซึ่งเป็นตึกสามชั้น อยู่ด้านหลังโรงละคร ครูได้ไปคุยกับอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มาออกแบบให้ ซึ่งก็ได้แบบที่ครูอยากได้ ท่านคณบดีในตอนนั้น คือ อาจารย์ไพฑูรย์ (ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร) ครูบอกท่านเข้าใจความจำเป็นของการละครและกรุณาให้พื้นทีที่พอเพียง มีห้องแต่งตัวและห้องต่างๆที่จำเป็น ผู้เขียนจำได้ว่าโรงละครอยู่ชั้นสูงสุด บางทีวิ่งขึ้นไปเรียนเหนื่อยมาก

       มีวันหนึ่งผู้เขียนวิ่งขึ้นกระไดไปอย่างเร็วแล้วมาเห็นครูค่อยๆเดินไปทีละขั้น เอามือจับที่หัวใจ จึงชะลอฝีเท้าลงเดินตามหลังครู ครูทำท่าเหนื่อยๆแล้วพูดเบาๆว่าให้วิ่งไปเลยๆ แต่ก็ไม่กล้าวิ่งจึงก้มตัวแล้วเดินแซงครูไปช้าๆ พอเลยครูไปแล้วถึงวิ่งอย่างด่วนจี๋  ตั้งแต่นั้นมาจะนึกตลอดว่าครูเป็นโรคหัวใจ จนมาคราวนี้ครูพูดถึงโรงละครจึงได้เล่าเรื่องให้ครูฟังและถามว่า ตอนนั้นครูเป็นโรคหัวใจใช่มั้ยคะ ครูบอกเปล่านะ อ้าวแล้วทำไมครูเอามือจับหัวใจละคะ ครูบอกสงสัยตอนนั้นครูคงคิดไปเองว่าเป็นโรคหัวใจ ฟังแล้วอดหัวเราะไม่ได้ ครูก็หัวเราะด้วย ครูเป็นคนมีอารมณ์ขันเสมอ

       ละครเรื่องแรกที่แสดงที่ โรงละครนี้ ในปี 2518  คือ ดวงสุดา รณกร ครูดัดแปลงมาจากละครเรื่อง  Hedda Gabler ของ Henrik Ibsen แสดงนำโดยพี่แตน (อาจารย์ภาวิณี นานา) ผู้เขียนได้ดูเรื่องนี้ พี่แตนเล่นได้เข้มข้นสมบทบาทมาก  ยังจำภาพที่พี่แตนเล่นได้จนถึงทุกวันนี้

       เมื่อผู้เขียนเรียนจบแล้ว ก็ยังกลับไปดูละครภาคเกือบทุกเรื่อง เช่น แผลในดวงใจ ยอดปรารถนา  คนดีที่เสฉวน พรายน้ำ และเรื่องอื่นๆ  

       เวลาครูเล่าเรื่องละครที่ครูทำนี้ครูจะมีความสุข เรียกชื่อเล่นของลูกศิษย์แบบสนิทสนมและเอ็นดูเช่น ไอ้จิ๊(อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ)  ไอ้อู๊ด(สมพล ชัยสิริโรจน์) ไอ้เฟียต(ดังกมล ณ ป้อมเพชร) เป็นต้น  ส่วนครูนพ(รศ.นพมาส แววหงส์) นี้พิเศษหน่อย เพราะใกล้ชิดกับครูมาก เป็นทั้งลูกศิษย์และเป็นทั้งอาจารย์ ช่วยครูพัฒนาแผนกศิลปการละครจนเติบโตอย่างทุกวันนี้  ครูพูดเสมอเลยว่า ครูนพเก่งที่สุดแปลเชคสเปียร์ไว้มากที่สุดของประเทศไทย  มีอยู่วันนึง พอดีได้เจอกับครู ครูรีบบอกเสียงใสว่า รู้หรือยัง ไอ้นพมันได้รางวัลอักษรศาสตร์ดีเด่นนะ  ท่าทางครูปลื้มมาก

        ครูรักลูกศิษย์ทุกคนทุกรุ่นอย่างเสมอภาค  รักเหมือนลูกๆ  ครูบอกว่าลูกครูมีเยอะมากๆ ถ้าครูเศร้าหรือdepressedเมื่อไรก็จะคิดถึงลูกศิษย์ ครูบอกครูไม่เคยเหนื่อยเวลาสอนหนังสือ ครูดีใจที่ได้สอนหนังสือ ครูบอกลูกศิษย์เป็นผู้ต่อชีวิตให้กับครู  ครูภูมิใจในตัวลูกศิษย์ทุกคน ครูจะไม่ “criticize” ใคร เพราะแต่ละคนก็มีแนวทางของตัวเอง ไม่มีซ้ำกันเลย  พูดถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนจำได้เสมอว่า ครูบอกว่า “ฟังครูได้แต่อย่าเชื่อครู” ให้ไปแสวงหาตัวตนของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนก็ทำตามมาถึงทุกวันนี้ คือบางอย่างก็เชื่อ บางอย่างก็ไม่เชื่อ และส่วนมากเวลาไม่เชื่อหลายครั้งก็จะหวนกลับมาคิดว่า แหม เรานี่โง่จัง น่าจะเชื่อครูนะ แบบนี้ก็บ่อย

        ครูเกษียณอายุเมือปี 2536 แต่ครูก็ยังไปช่วยสอน เป็นที่ปรึกษาและช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนาวิชาศิลปการละครของภาควิชาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่ครูไม่สบาย จึงงดกิจกรรมต่างๆลง  ครูบอก เสียใจที่ไม่ได้ทำตามที่คิดไว้อย่างหนึ่ง นั่นคือ ในเมื่อภาคมีศูนย์ศิลปการละคร สดใส พันธุมโกมล แล้ว ครูก็อยากจะให้เชิญศิษย์เก่ารุ่นต่างๆมาบรรยายประสบการณ์ของตัวเองให้น้องๆฟัง เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตรุ่นต่อๆไป

        ตลอดเวลาอันยาวนานที่เป็นลูกศิษย์ครูมา  ผู้เขียนเห็นแต่ความอ่อนน้อมถ่อมตน ครูไม่เคยมีอีโก้ ไม่เคยดูถูกใคร ไม่เคยคิดว่าตนดีกว่าคนอื่น และที่สำคัญผู้เขียนไม่เคยได้ยินครูว่าร้ายใครเลยสักคนเดียว ครูมีแต่จะให้ ให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งการมองโลกให้ลึกซึ้ง ให้คำปรึกษา ให้สติและให้กำลังใจเวลาลูกศิษย์มีความทุกข์กายทุกข์ใจ  แต่เมื่อเวลาที่ครูมีความทุกข์อย่างสุดแสนสาหัสผู้เขียนไม่เคยเห็นครูแสดงออกอย่างอื่นนอกจากความสงบ  ครูจะบอกไม่ต้องห่วงครูนะ ครูรับได้  ครูไม่เป็นไร จนมาระยะหลังนี่แหละที่ครูบอกว่า บางทีครูอาจจะเก็บไว้มากเกินไปนานเกินไปเพราะมัวแต่คิดห่วงคนอื่นกลัวว่าจะไม่สบายใจ  

      ครูได้เล่าให้ฟังเรื่องที่พระองค์เปรมฯท่านรับสั่งกับครูว่า

     “คนที่เรียนการละครนี้จะมีจินตนาการมากมาย สิ่งนี้เป็นผลประโยชน์กับการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภัยต่อตนเองด้วย ต้องระมัดระวัง อย่าให้จินตนาการนี้ทำร้ายตัวเองและทำให้ชีวิตของเราล่มสลาย”  

      ครูบอกพระองค์เปรมฯเคยรับสั่งกับครูแบบนี้ และครูก็อยากบอกต่อกับลูกศิษย์ที่ครูรักทุกคน

      ตอนที่รับปากกับน้องปู  (กษมา สุวรรณกุล กู้ตลาด)ว่าจะไปคุยกับครู แล้วเขียนเรื่องให้ในโอกาสที่คณะอักษรศาสตร์ครบ 100 ปีนี้   ได้โทร.ไปรบกวนครูหลายครั้งมาก  ครูก็กรุณาเล่าให้ฟังถึงเรื่องต่างๆมากมาย บางทีนึกอะไรออกครูก็จะโทร.มาเอง  ครั้งสุดท้าย ครูโทร.มาและบอกว่า ครูมานึกๆดู เวลาเขียนอย่าให้มันมีแต่เรื่องของครูนะ มันไม่ดี ให้พูดเรื่องของคณะมากๆ   เรื่องของครูน้อยๆ  ผู้เขียนก็ไม่ได้ตอบอะไร แต่นึกในใจว่า ไม่เชื่อหรอกค่ะ เพราะสำหรับพวกเราแล้ว ภาควิชาศิลปการละครกับครูนั้นเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ ไม่อาจแยกจากกันได้เลย

กลับขึ้นด้านบน

ชีวิตของข้าพเจ้ากับคณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณวัชรี รมยะนันทน์

ชีวิตของข้าพเจ้ากับคณะอักษรศาสตร์

โดย  ศาสตราจารย์กิตติคุณวัชรี รมยะนันทน์

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ตึกนี้ต่อมาได้ใช้เป็นที่ตั้งของคณะอักษรศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2472 ตึกนี้เป็นตึกแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มแรกมีคณะ 4 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะที่ 4 มีคณบดีคนเดียวกัน คือ ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงดำรงตำแหน่งจาก พ.ศ. 2461-2468

        ต่อมาใน พ.ศ. 2493 คณะอักษรศาสตร์ได้แยกเป็นคณะที่ 5 โดยมีศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ เป็นคณบดี พ.ศ. 2493-2514 เมื่อแรกตั้งคณะมีแผนกวิชาต่างๆ อยู่ 4 แผนก คือ แผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ แผนกภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ต่อมาเพิ่มแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์เป็นแผนกที่ 4

        การเรียนวิชาต่างๆ นิสิตปีที่ 1 และ 2 จะต้องเรียนวิชาบังคับ 4 วิชา คือ ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส (หรือวิชาคำนวณ) นิสิตปีที่ 3 และ 4 เรียนแค่ 3 วิชา แต่นิสิตปีที่ 4 จะต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับและมีวิชาให้เลือกเรียนอีก 2 วิชาบังคับ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ 1 และเลือกวิชาเลือกอีก 2 วิชา โดยเลือกจากวิชาภาษาไทยหรือประวัติศาสตร์หรือภาษาฝรั่งเศสหรือวิชาคำนวณ รวมเป็น 3 วิชา

        การเรียนวิชาต่างๆ นิสิตปีที่ 1 และ 2 จะต้องเรียนวิชาบังคับ 4 วิชา คือ ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส (หรือวิชาคำนวณ) นิสิตปีที่ 3 และ 4 เรียนแค่ 3 วิชา แต่นิสิตปีที่ 4 จะต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับและมีวิชาให้เลือกเรียนอีก 2 วิชาบังคับ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ 1 และเลือกวิชาเลือกอีก 2 วิชา โดยเลือกจากวิชาภาษาไทยหรือประวัติศาสตร์หรือภาษาฝรั่งเศสหรือวิชาคำนวณ รวมเป็น 3 วิชา

        การเรียนการสอนในคณะอักษรศาสตร์เป็นแบบปาฐกถาเป็นส่วนใหญ่ และมีการเรียนโดยแบ่งนิสิตเป็นหมู่ย่อยหมู่ละ 300 คน เป็นรายวิชา เพื่อจะได้ทำแบบฝึกหัด ส่วนมากเป็นวิชาภาษา เช่น วิชาภาษาไทยก็จะมีการแบ่งเรียนเป็นหมู่ย่อย เช่นวิชาการใช้ภาษาไทย ถ้าเป็นวิชาภาษาอังกฤษก็จะมีการฝึกพูดเป็นต้น การเรียนในชั้นปีที่ 1 และ 2 มีเวลาเรียนวันละ 7 ชั่วโมง สัปดาห์หนึ่งต้องเรียน 38 ชั่วโมง ให้หยุดวันเสาร์ครึ่งวันและวันอาทิตย์อีก 1 วันเท่านั้น นิสิตชั้นปีที่ 3 และ 4 เรียน 3 วิชา เพียงสัปดาห์ละ 29 ชั่วโมง

        ข้าพเจ้าได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ใน พ.ศ. 2496 ข้าพเจ้าจำได้ว่าปีที่ข้าพเจ้าเข้าเรียนมีนิสิตชั้นปีที่ 1 ประมาณ 100 คน รวมทั้งคณะมีนิสิตอักษรศาสตร์ประมาณ 400 คน โดยใช้ตึกอักษรศาสตร์ 1 เป็นที่เรียน ห้องเรียนปีที่ 1 ได้แก่ ห้องเลขที่ 10 ปีที่ 2 ห้องเลขที่ 28 ปีที่ 3 ได้แก่ ห้องเลขที่ 24 และปีที่ 4 ได้แก่ ห้องเลขที่ 20  

        เมื่อข้าพเจ้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์นี้ตอนแรกข้าพเจ้าพบว่าหลักสูตรที่เรียนสูงกว่าชั้นมัธยมปลาย (ม.8) จากโรงเรียนเดิม จนข้าพเจ้าคิดว่าคงจะเรียนไม่ได้ตามที่ควรจะเรียน แต่โชคดีที่บรรดาเพื่อนๆ มีใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ได้คิดจะเอาตัวรอดแต่ลำพัง การเรียนวิชาพิเศษ เช่น วิชาภาษาบาลีที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน อาจารย์ที่สอนก็เป็นมหาเปรียญที่เคยสอนแต่พระภิกษุ ซึ่งไม่ใช่วิธีสอนที่เราเคยคุ้น เพื่อนที่เรียนวิชานี้ได้ดีก็ได้ช่วยติวให้จนพวกที่มีปัญหาสามารถสอบไล่ได้

        ในปีการศึกษา 2514 คณะอักษรศาสตร์ใช้ระบบการศึกษาแบบหน่วยกิต โดยกำหนดให้นิสิตเรียนทุกวิชารวมไม่น้อยกว่า 144 หน่วยกิต มีวิชาบังคับ วิชาเอก วิชาโท และวิชาเลือกเสรี

        ใน พ.ศ. 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย พระองค์ท่านทรงกล่าวถึงเหตุผลที่สอบเข้าคณะอัการศาสตร์ว่า เพราะเป็นคณะที่มีคะแนนของผู้เข้าสอบคัดเลือกเป็นอันดับสูงสุด และอีกเหตุผลหนึ่ง พระองค์ท่านไม่ค่อยทรงสบายจึงเลือกคณะที่ไม่ต้องสอบวิชาพิเศษหลายวิชา และทรงเชื่อมั่นว่า คงจะทรงสอบติดคณะอักษรศาสตร์ เพราะทรงทำคะแนนสอบชั้น ม.ศ.5 ได้เป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ แม้คะแนนสอบคัดเลือกจะได้เป็นลำดับที่ 4 ก็ไม่ทำให้ทรงผิดหวังแต่ประการใด

        เมื่อพระองค์ท่านได้เสด็จฯ มาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ฝ่ายคณาจารย์ที่จะต้องมีหน้าที่ถวายพระอักษรก็มีความวิตกกังวลพอสมควร ข้าพเจ้าเองก็ยอมรับว่า มีความประหม่า ทั้งๆ ที่สอนมาตั้ง 16 ปีแล้ว วิชาที่ต้องถวายพระอักษร ได้แก่ วิชา วรรณคดีไทย ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน แต่สอนไปนานๆ ก็ค่อยหายจากความวิตกกังวล เพราะพระองค์ท่านไม่ได้เสด็จฯ มาเรียนตลอดเวลา แต่มีเจ้าหน้าที่มาอัดเทป พระองค์ท่านได้เคยมีรับสั่งโดยตั้งชื่อว่า “เทปาจารย์” ไว้ในหนังสือมณีพลอยร้อยแสง หน้า 253

        “ระหว่างที่เรียนตั้งแต่ปีหนึ่ง ข้าพเจ้าต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปต่างจังหวัด ไม่สามารถอยู่เรียนได้ครบถ้วน ข้าพเจ้าต้องทำหนังสือราชการขอมหาวิทยาลัยไม่ให้นับเวลาเรียน ซึ่งเขาก็ไม่นับ ถ้าเขานับ ข้าพเจ้าก็ต้องแยกออกไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด วิธีเรียนของข้าพเจ้า คือ ส่งคนมาอัดเทปไปฟังเวลาอยู่ต่างจังหวัด ข้าพเจ้าส่งการบ้าน รายงาน และเข้าสอบเหมือนนิสิตอื่น ข้าพเจ้าเรียกอาจารย์ที่พูดในเทปทั้งหลายว่า เทปาจารย์ อันเป็นคำสมาสของคำว่า เทปกับอาจารย์ การเรียนด้วยเทปาจารย์นั้นไม่สนุกเหมือนเรียนกับอาจารย์จริงๆ ถามก็ไม่ได้ ไม่เห็นภาพ ไม่เห็นกระดาน...

        “สรุปได้ว่าข้าพเจ้าเรียนกับเทปาจารย์เสียมากกว่าเรียนกับอาจารย์...”

        ส่วนนิสิตที่เป็นพระสหายร่วมชั้นได้เล่าถึงเรื่องการสอนซึ่ง ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ได้เขียนไว้ในเรื่อง เทวาลัยรฤก มีใจความดังนี้ “ชีวิตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2516 ยังคงใช้ตึกเทวาลัย (อักษรศาสตร์ 1) เป็นสถานที่เรียน เรียนรวมกัน 3 ห้องในตึกใหญ่ ซึ่งมีเก้าอี้นั่ง มีที่วางแขน เมื่อมองดูเพดานจะเห็นมีพัดลมติดเป็นระยะ เวลาบ่ายนั่งเรียนในห้องได้ลมจากพัดลมจะมีโอกาสหลับไปเฝ้าพระอินทร์ได้ง่าย เพราะเพลิดเพลินกับเสียงของอาจารย์ผู้สอน”

        ข้าพเจ้ามีเรื่องนิสิตหลับในเวลาฟังปาฐกถา เพราะเคยได้ยินเสียงตะโกนจากนิสิตผู้หญิงเมื่อต้องเข้าเรียนวิชาที่ยากแก่ความเข้าใจเสียงนั้นดังว่า “ทูลกระหม่อมอย่าลืมหยิบหมอนไปด้วยนะ”

     ใน พ.ศ.   2520 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 วิชาเอกประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98 ทรงได้รับพระราชทานเหรียญทองยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร

        เมื่อข้าพเจ้าเรียนจบอักษรศาสตรบัณฑิตโดยใช้เวลา 4 ปี รับราชการในคณะอักษรศาสตร์อีก 35 ปี ได้รับเชิญมาสอนนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกอีก 5 ปี รวมเวลาที่ทำงานอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ 44 ปี เมื่อคิดทบทวนตอนที่เขียนบทความนี้ก็รู้สึกว่า ชีวิตส่วนใหญ่ของข้าพเจ้าเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตก็วนเวียนอยู่ที่คณะนี้ ทำมาหากิน ได้รับเงินเดือนก็ที่คณะนี้ และได้ใช้เงินเลี้ยงชีพจนปัจจุบันก็ด้วยบุญคุณของคณะนี้ ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิเสธคำขอให้เขียนบทความนี้ ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ค่อยดี เพราะอยู่มาจนอายุ 84 ปีแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเท่าที่เขียนมาทั้งหมดเป็นเรื่องของผู้เขียน มีความรู้สึกเกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ฝ่ายเดียว เพราะคณะจะรู้สึกอะไรไม่ได้

          ก่อนจะจบการกล่าวถึงชีวิตของข้าพเจ้าเกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ ข้าพเจ้าใคร่กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้สุกผูกพันกับคณะอักษรศาสตร์จนไม่สามารถบรรยายให้ได้ครบถ้วน ถ้าหากท่านผู้ใดอยากจะรู้จักคณะอักษรศาสตร์ให้มากกว่านี้ก็จะต้องอ่านบทความอื่นๆ ประกอบอีกมาก

         การเรียนอักษรศาสตร์ทำให้ผู้เรียนซึมซับทั้งความรู้ ความรู้สึก อารมณ์ที่ปรุงแต่งเข้าด้วยกันจนทำให้บัณฑิตอักษรศาสตร์เป็นที่สมบูรณ์ เรียกได้ว่า คณะอักษรศาสตร์ก็ยังเป็นหนึ่งในคณะยอดนิยมในการผลิตบัณฑิตคนสำคัญๆ สร้างคนดีมีคุณภาพแก่ประเทศ

กลับขึ้นด้านบน

เทวาลัยที่เคารพรัก สวัสดิ์ จงกล

เทวาลัยที่เคารพรัก

เล่าโดย  สวัสดิ์ จงกล

       ในโอกาสที่คณะอักษรศาสตร์จะมีอายุครบหนึ่งร้อยปี  ขอเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งคณะของเราผูกพันมากคือเทวาลัย  บทความนี้ขอเสนอข้อมูลที่ลูกหลานเทวาลัยควรทราบ ดังสาระสังเขปต่อไปนี้

ความรักและเมตตาของอาจารย์

       “...ขอวิญญาณและบรรยากาศของสถานศึกษานี้  จงทำให้จินตนาการของนิสิตอักษรศาสตร์ชุดใหม่ พ .ศ. ๒๔๙๒  งอกงามถึงขีดกวีในภายหน้า”

ร.โสณกุล

๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๒

 

   ธรรมนิยมบ่มจิตต์ให้   อดทน

เพื่อสู่สังคมใจ                เจิดกว้าง

ดัดคนเพื่อเปนคน           คือสิ่ง ประสงค์นา

ใครผ่านการณ์นี้อ้าง       อวดตนได้แล

ศิวะศริยานนท์

   Now that you are a Freshman you find yourself transported into an adult world that is new and even at times, perplexing. Here duties and privileges, studies and activities have a way of deceiving even the cleverest.

   I give you a magic to guide you through the maze:

KNOW THE VALUE

นพคุณ  ทองใหญ่ ณ อยุธยา

 

กมฺมํ  วิชชา  จ  ธมโม  จ        สีลํธี  วิตมุตฺตมํ

เอเตน  มจฺจา  สุชฌนติ          น โคตตน  ธเนน  วาฯ

คนทั้งหลายย่อมบริสุทธิสะอาดด้วยอุดมคติชีวิตอันประกอบด้วยหลัก ๔ ประการคือ

๑) การงาน  ๒) วิชา  ๓) ธรรม การอบรมใจและศีล  ๔) ความประพฤติชอบ  หาได้บริสุทธิสะอาดด้วยสกุลหรือทรัพย์ไม่

มหาเกษม  บุญศรี

๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๒

       

        ข้อความข้างต้นเป็นคำอวยพรของผู้บริหารและคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์ใน อักษรานุสรณ์ ฉบับรับน้องใหม่ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒  พรที่อัญเชิญมานี้ค่อนข้างขลังและศักดิ์สิทธิ์ เช่น พรซึ่งท่านอธิการบดีคือศาสตราจารย์ หม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก  โสณกุล มีน้องใหม่คนหนึ่งได้ไปเต็ม ๆ คือ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา  บางคนได้รับมากบ้าง น้อยบ้างและไม่ได้ก็มี  พรซึ่งศาสตราจารย์คุณพระวรเวทย์พิสิฐ  ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ  ทองใหญ่ ณ อยุธยา กับท่านอาจารย์มหาเกษม  บุญศรีนั้น  นิสิตน้องใหม่ได้รับอย่างทั่วถึงทุกคน

        ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ก็เพราะต้องการจะบอกว่าการทำหนังสือที่ระลึก การเสนอหนังสือหรือบทความทางวิชาการ การจัดทำหนังสือพิมพ์ติดที่แผ่นป้าย (board) ของคณะล้วนเป็นกิจกรรมซึ่งนิสิตอักษรฯ ริเริ่ม รังสรรค์กันอย่างกลุ่มเยาวชนซึ่งรักวิชาหนังสืออย่างจริงจัง  ผลจากการฝึกสมอง ลองปัญญา และจินตนาการทำให้ลูกหลานเทวาลัยเป็นกวีหรือผู้ทำหนังสือและวารสารเป็นอาชีพกันเป็นจำนวนมาก

 

เทวาลัย

        อาคารพระราชทานหลังแรกและหลังเดียวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพระองค์ที่สองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นมานั้น  เป็นอาคารซึ่งสถาปนิกได้ศึกษารูปแบบของวังที่สุโขทัยและปรุงแต่งเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการ        พลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โดดเด่น สง่างามตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน  และเชื่อว่าในอนาคตก็ยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป

        ตั้งแต่เป็นน้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒  พวกเรารับทราบและเรียกขานกันว่า บริเวณชานชาลาที่ยื่นออกไปทางทิศเหนือของตึกอักษรศาสตร์เป็นที่ว่าง เพราะยังสร้างไม่เสร็จ  ครั้งนั้นเราเรียกด้านเหนือตึกบัญชาการว่าเทวาลัยร้าง  ที่เรียกว่าเทวาลัยร้าง ก็เพราะเราเห็นว่าอาคารหลังนี้เป็นแบบปราสาทขอม  ข้อมูลที่รับทราบคือโบราณสถานที่เป็นแบบขอมมักจะเป็นอาคารที่สร้างไม่เสร็จครบบริบูรณ์       จึงเรียกกันว่าเทวาลัยร้าง

        ตั้งแต่สร้างตึกบัญชาการจนถึงก่อน พ.ศ. ๒๔๙๖ บริเวณด้านเหนือของเทวาลัยเป็นป่าจามจุรีที่ขึ้นหนาทึบ บริเวณใต้ต้นจามจุรีเป็นที่ลุ่มหญ้าขึ้นรกหนาแน่น  คาดว่าจะเป็นที่อยู่อสรพิษประเภทต่าง ๆ  ดังนั้นไม่ว่าใครก็ไม่อยากจะไปเดินเล่นที่นั่น  สมัยก่อนไม่มีหอประชุม บริเวณที่ราบหน้าหอประชุมใหญ่เป็นลานกว้าง มีชาวอินเดียที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพงมาเลี้ยงวัวฝูงใหญ่ ตอนเย็นย่ำสนธยา ชาวภารตะเหล่านี้จะสวดมนต์ก่อนต้อนวัวกลับบ้าน เสียงสวดมนต์และป่าจามจุรีบริเวณมหาวิทยาลัยจึงเงียบสงัด  นิสิตสี่คณะสมัยโน้น โดยเฉพาะนิสิตหญิง รวมทั้งนิสิตชายที่ขวัญอ่อน ไม่มีใครอยากอยู่ที่เทวาลัยเพราะกลัว  ยิ่งกว่านั้นบริเวณ      ชานชาลาเทวาลัย นอกชานทิศเหนือเป็นตำนานรักของชาวบ้านย่านนั้นโดยเฉพาะผู้เช่าที่จุฬาฯ และนิสิตหลายคู่  คู่ที่สมหวังก็ชื่นมื่นดี ที่ผิดหวังถึงขนาดแขวนคอตาย ประท้วงหรือประชดรักคุดก็มี  ลองนึกภาพดูว่า ตอนเช้าของบางวันเห็นศพของผู้ผูกคอตายประชดหรือประท้วงรัก บริเวณป่าด้านเหนือของเทวาลัยจะยิ่งวังเวงน่ากลัวสักเพียงไหน

        เล่าเรื่องน่ากลัวมาแล้ว  ขอพูดถึงด้านดีบ้าง  ชานชาลาหน้าเทวาลัยเป็นที่ประลองฝีมือปิงปองของนิสิตทั้งชายและหญิง  บางครั้งหนุ่ม (ชาญสกา) อักษรฯ จะหลบความจ้อกแจ้กของเพื่อน ๆ ในห้องโถง เอาโต๊ะเก้าอี้มานั่งโขกหมากรุกกันที่ชานชาลา ทำให้นิสิตคอหมากรุกคณะอื่น ๆ มาร่วมวงด้วย

        โถงบันไดของเทวาลัยซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวเทวาลัยที่ทุกคนจะต้องถวายความเคารพเมื่อเดินผ่านหรือขึ้นลงไปเรียนหรือติดต่องานที่ชั้นสอง  ก่อนที่นิสิตนักกีฬาของจุฬาฯ จะเข้าแข่งขันชิงชนะเลิศกับมหาวิทยาลัยหรือนักกีฬาทีมชาติกับเพื่อนบ้านจะต้องมากราบถวายราชสักการะพระองค์ก่อนลงแข่งขัน ทำให้หนุ่มอักษรฯ ที่มีความถนัดและความสามารถด้านกีฬาได้รับแรงบันดาลใจให้ฝึกซ้อมหาประสบการณ์ให้เก่งพอที่สโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) หรือสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) คัดเลือกให้เป็นสมาชิกทีมมหาวิทยาลัย นักกีฬารุ่นพี่ที่เก่งจะสวมเสื้อสามารถของมหาวิทยาลัยทับเสื้อทีมจุฬาฯ ทำให้สง่างามน่าเกรงขาม  ขอเล่าต่อถึงประเพณีนักกีฬาจุฬาฯ เพิ่มอีกหน่อยว่า  แม้บางคนจะได้รับเสื้อสามารถทางกีฬาระดับชาติก็จะไม่ใช้เสื้อสามารถทีมชาติเมื่อลงแข่งขันให้จุฬาฯ เพราะเราภูมิใจที่เป็นตัวแทนของจุฬาฯ

 

๓ มกราคมกับวันอักษรศาสตร์

        เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ นิสิตอักษรฯ กลุ่มหนึ่งประกอบด้วย (ศาสตาจารย์พิเศษ ดร.) เอกวิทย์ ณ ถลาง  (พลตำรวจตรี) จินดา  ดวงจินดา  ม.ร.ว.สุรธวัช  ศรีธวัช  สวัสดิ์  สุวรรณอักษร  บุญเลิศ  ศรีหงส์ และสวัสดิ์  จงกล ทั้งหมดเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ ๓ มีความเห็นร่วมกันว่าประการแรกจุฬาฯ และประเทศไทยไม่ได้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่าที่ควร  ประการที่สองสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกบัญชาการโรงเรียนข้ารากชารพลเรือนฯ ได้เสด็จ        พระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์อาคารหลังนี้ด้วยพระองค์เอง  ประการที่สามพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมทุกประเภท  ทรงส่งเสริมและยกย่องการประพันธ์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง  ประการสุดท้ายพวกเราเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ที่เรียนศิลป์และศาสตร์ด้านวรรณกรรมและวิชามนุษยศาสตร์มากกว่าคณะใด ๆ  ควรหรือที่เราจะไม่เดินตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จ           พระมหาธีรราชเจ้า ควรหรือที่เราจะไม่เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน  ทั้ง ๆ ที่เราเรียนในอาคารที่สง่างามที่สุดซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่จุฬาฯ  ยิ่งเราคิดถึงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านที่ว่า

   นานาประเทศล้วน      นับถือ

คนที่รู้หนังสือ                แต่งได้

ใครเกลียดอักษรคือ       คนป่า

ใครเยาะกวีไซร้             แน่แท้คนดง

 

พวกเราไม่อยากเป็นคนป่า คนดง

       ดังนั้นพวกเราจึงเชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวอักษรฯ ให้ช่วยกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านตามที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น การออกหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับมหาธีรราชานุสรณ์แทนที่จะมีเล่มเดียวคือมหาวิทยาลัย ฉบับปิยมหาราชานุสรณ์  จุฬาฯ น่าจะจัดงานวันมหาธีรราชเจ้าให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติฯ  เราช่วยกันเผยแพร่ความคิดนี้ทั่วจุฬาฯ ทั้งปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ต่อจนถึงปี ๒๔๙๕ ทำให้สโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) ออกหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับมหาธีรราชานุสรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕  สโมสรนิสิตจุฬาฯ เริ่มจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านด้วยกิจกรรมหลากหลาย  เพื่อเป็นการเริ่มต้นให้เป็นรูปธรรมเราจึงจัดงาน Men Meeting ในเย็นวันที่ ๓ มกราคมที่ห้องโถงและชานชาลาเทวาลัย พร้อมกับออกหนังสืออักษรานุสรณ์ ฉบับมหาธีรราชรำลึกเป็นเอกสารโรเนียวเย็บเล่มแจกจ่ายกัน

        ความคิดของเราเริ่มติดลมบนเพราะอาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ทั้งคณะช่วยกันสนับสนุนความคิดนี้  เมื่อนิสิตทั้ง ๖ คนอยู่ชั้นปีที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ เราจึงเชิญชวนชาวอักษรศาสตร์ประกาศว่าวันที่ ๓ มกราคมเป็นวันอักษรศาสตร์เพราะเป็นวันซึ่งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการซึ่งเราเรียกกันว่าตึกอักษรศาสตร์  เราได้จัดทำหนังสืออักษรานุสรณ์ ฉบับวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ตั้งชื่อหนังสือว่ามหาธีรราชรำลึก  ในปีนั้นเราเชิญอาจารย์และพี่เก่าที่เก่งมาก มีความรักและผูกพันต่อคณะให้ท่านเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า  ปีต่อ ๆ มาเราขยายกิจกรรมเชิงวิชาการให้ละเอียด ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  จนในที่สุดคณะก็ประกาศว่าวันที่ ๓ มกราคมเป็นวันอักษรศาสตร์

        เรื่องนี้มีข้อมูลสำคัญอีก ๒ เรื่องคือ เรื่องที่ ๑ ตามพระราชดำริเดิมนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดว่าจะทำพิธีในวันที่ ๑ มกราคม แต่พระยาโหราธิบดีกราบบังคมทูลว่า หากมีพระราชประสงค์จะให้มหาวิทยาลัยที่จะให้อาคารบริหารของมหาวิทยาลัย ควรเป็นวันที่ ๓ มกราคม เพราะทางด้านโหราศาสตร์เชื่อว่าวันที่ ๓ มกราคมเป็นวันดี  หากจัดพิธีในวันดังกล่าวจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยของพระองค์เจริญก้าวหน้ายั่งยืน  จึงทรงเห็นด้วยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีวางศิลาพระฤกษ์เป็นวันที่ ๓ มกราคม  เรื่องที่ ๒ การจัดพิธีวางศิลาพระฤกษ์เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์  แต่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา การสร้างวัดเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงพระราชนิยมเกี่ยวกับการทำบุญวันเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  กล่าวคือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำบุญด้วยการสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น ขุดคลอง สร้างสะพาน ถนนแทนการสร้างวัด  มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียน วัด  ด้วยเหตุนี้จึงทรงกำหนดให้สร้างตึกบัญชาการให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ

 

การรื้อฟื้นการบรรเลงดนตรีไทยเดิม

        ตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นิสิตที่เริ่มรณรงค์เรื่องการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า      มีความเห็นว่าการจัดงานรับน้องใหม่ คณะกรรมการจัดงานจัดการแสดงในงานรับน้องใหม่มักจะมองไปทางการจัดกิจกรรมจากประเทศในยุโรปและอเมริกา  ความคิดและความนิยมนี้เป็นทั้งมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย  นิสิตกลุ่มนี้จึงคิดจะบรรเลงเครื่องสายไทย คณะผู้เล่นมีบุญเลิศ  ศรีหงส์ (ขลุ่ยและร้องส่ง)           (พลตรี) ม.ร.ว.วัยวัฒน์  จักรพันธุ์ (ซออู้)  จิตร  ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นน้องใหม่ (ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ย)  สวัสดิ์  จงกล (ซอด้วง)  รายหลังถูกไล่ออกเพราะต้องไปสอนนิสิตรุ่นน้องหัดเล่นรักบี้และแข่งรักบี้ (มากกว่าซ้อมดนตรี)  ในครั้งนั้นจิตรชวนคณะนักดนตรีไปคารวะหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปะบรรเลง) ที่บ้านของท่าน เพราะเราซ้อมเพื่อบรรเลงเพลงแขกสาหร่าย  เราโชคดีมากที่เห็นอัจฉริยภาพและความเป็นครูชั้นยอดเพราะเราเล่นให้ท่านฟัง ท่านก็เรียกอาจารย์ชื้น (ลูกสาวของท่าน) ให้นำเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมาเล่น  อาจารย์ชื้นก็จดโน้ตเพลงแต่ละชิ้น  ท่านพูดว่า เด็กรุ่นใหม่เล่นทำนองเดิมของพ่อไม่ได้เสียแล้ว  นั่นคือท่านสามารถปรับปรุงทำนองใหม่ได้ทันที   สิ่งที่พวกเราดีใจกันที่สุดก็คือท่านกรุณาบอกว่าให้ถือว่าเป็นลูกศิษย์ของท่าน  ยิ่งกว่านั้นท่านอาจารย์คุณพระ       วรเวทย์พิสิฐกรุณาให้เราทั้งหมดไปพบในห้องทำงานของท่านว่าคนนั้นเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นต้องแก้ไขหรือปรับปรุงทำนองตอนนั้น  คำแนะนำสั่งสอนที่มีคุณค่ายิ่งอีกอย่างหนึ่งของท่านคือเทคนิคการร้องเพลง โดยเฉพาะตอนร้องรับกับร้องส่ง  ทำให้พวกเรายิ่งเคารพรักท่านมากยิ่งขึ้นว่าท่านอาจารย์คุณพระมีความรู้และเทคนิคการร้องเพลง การเล่นเครื่องสายได้ครบเครื่องทั้งวง  การแสดงครั้งนั้นผ่านไปด้วยดี บรรดาท่านอาจารย์และนิสิตเก่าทั้งหลายให้กำลังใจพวกเรามาก

        ปีรุ่งขึ้นคือ พ.ศ. ๒๔๙๕ คณะอักษรศาสตร์โชคดีมาก ๆ ที่มีน้องใหม่ ๔ คนที่เป็นลูกศิษย์คุณหลวงประดิษฐ์ไพเราะมาเป็นน้องใหม่ โดยเฉพาะ (ดร.)พรรณิณี (รุทธระวณิช) สาคริก  (คุณหญิง)สุภา (โตสุนทร) กิจจาธร  (รศ.ดร.)รัตนา (ถนัดบัญชี) ตุงคสวัสดิ์ (คุณหญิง)อรชร (โตษะกฤษณะ) คงสมพงษ์  ดร.พรรณิณีเป็นหลานตาของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เล่นดนตรีได้ครบเครื่องทั้งวง  แถมเรียนเก่งอีกต่างหากเพราะจบอักษร ศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม  ต่อมาไปศึกษาต่อจนได้ปริญญาเอกทางอักษรศาสตร์จากต่างประเทศ  ด้วยเหตุนี้          ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ วงเครื่องสายไทยของคณะจึงเป็นที่ยอมรับทั้งมหาวิทยาลัยว่าเป็นคณะที่แสดงดนตรีไทยได้ดีที่สุด  เพราะมีการแสดงดนตรีไทยที่หอประชุมใหญ่ของงานสโมสรและของมหาวิทยาลัยจัดงาน

        ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ วงดนตรีไทยเดิมของคณะอักษรศาสตร์ได้ขยายสมาชิกด้วยการรับนิสิตคณะอื่นมา      ร่วมวง วงดนตรีไทยเดิมของคณะอักษรศาสตร์จึงกลายเป็นวงดนตรีไทยของจุฬาฯ  ต่อมาคณะกรรมการสโมสรนิสิตเชิญนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นมาเล่นที่หอประชุมใหญ่ของเรา ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นักดนตรีทั้ง ๕ มหาวิทยาลัยได้ประชุมและตกลงกันให้มีงานแสดงดนตรีไทยเดิมของทุกมหาวิทยาลัย  ทำให้กิจกรรมนี้มีการแสดงทุกปี (ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ) จนถึงปัจจุบัน

        หากจะบอกว่านิสิตคณะอักษรศาสตร์เป็นผู้ฟื้นฟูดนตรีไทยเดิมของมหาวิทยาลัยก็คงไม่มีขัดคอ

 

เทวาลัยกับเหตุการณ์สำคัญในจุฬาฯ

        ห้อง ๑๐๕ ในปัจจุบันหรือห้อง ๑๘ เดิม เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาในงานวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘  จุฬาฯ เมื่อครั้งยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้ถวายเข็ม (วิทยฐานะ) รัฏฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ธรรมศาสตร(นิติศาสตร์) ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และคุรุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกด้วย

        ห้องชั้นบนเหนือห้อง ๑๐๕ หรือห้อง ๒๘ เดิม เดิมเป็นห้องสมุดของมหาวิทยาลัย  ห้องนี้มีความสำคัญต่อมาคือเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี      พระบรมราชินีเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกและครั้งที่สามแก่จุฬาบัณฑิต (ครั้งที่สองสมเด็จฯ  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์)

        ห้อง ๑๑๑ ในปัจจุบันหรือห้อง ๑๐ เดิม เดิมเป็นห้องเรียนของนิสิตชั้นปีที่ ๑ พร้อมกับเป็นห้องประชุมของคณะเป็นประจำ  เป็นห้องที่น้องใหม่จะหัดร้องเพลงเชียร์ของคณะและของมหาวิทยาลัย  การประกาศข่าวเกียรติยศ การแนะนำนักกีฬาหรือประธานแผนกต่าง ๆ จะแถลงหรือจัดกิจกรรมที่แต่ละแผนกรับผิดชอบจะใช้ห้องนี้อยู่เสมอ

        ห้องชั้นบนเหนือห้อง ๑๑๑ หรือห้อง ๒๐ เดิม  เดิมเป็นห้องเรียนนิสิตชั้นปีที่ ๔ ที่สำคัญคือเมื่อนิสิตหรือคณะจะจัดงานสำคัญเช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาร่วมประชุมกับชุมนุมภาษาไทยเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕  มีกวี นักเขียน นักแต่งบทละครที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาบรรยาย เช่น Summerset Maugham รพินฐนาถกอร์ทางคณะหรือมหาวิทยาลัยก็จะใช้ห้องนี้เป็นสถานที่แสดงปาฐกถา  สมัยก่อนประธานแผนกหรือชุมนุมของคณะกรรมการนิสิตคณะอักษรศาสตร์จะจัดงานหรือกิจกรรมมักจะใช้ห้อง ๒๐ เป็นที่ฉายหนัง เก็บค่าผ่านประตูคนละ ๑ บาท  นิสิตชายซึ่งมีน้อยคนอยู่แล้วทำหน้าที่ขนเก้าอี้จากห้องเรียนนิสิตชั้นปีที่ ๓ หรือห้อง ๒๔ เดิม (หอพระไตรปิฎกในปัจจุบัน) ถ้าไม่พอก็ขนเก้าอี้จากห้อง ๑๐ ไปเติม  นิสิตที่ออกแรงเหล่านี้ได้รับการยกเว้นค่าผ่านประตู แต่ส่วนหนึ่งก็ยินดีจ่ายค่าดูหนัง เพราะถือว่าการขนเก้าอี้เป็นการช่วยคณะก็ยินดีทำอยู่แล้ว  ค่าผ่านประตูถือว่าเป็นการช่วยกิจกรรมคณะ

 

การใช้อาคารเทวาลัยประชุม UNESCO ครั้งแรกของเมืองไทย

        เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าได้รับเกียรติจากสหประชาชาติให้จัดประชุม UNESCO เป็นครั้งแรกในเมืองไทย  ทางราชการคงจะอยากแสดงความงามของอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยและบรรยากาศของมหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเลขาธิการฝ่ายวิชาการ เพราะคณาจารย์จุฬาฯ หลายท่านเป็นกรรมการอยู่แล้ว ประกอบกับคณะอักษรศาสตร์มีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา  คณะอักษรศาสตร์เป็นสถานที่ประชุม UNESCO ได้อย่างดี  ส่วนการเรียนการสอนของนิสิตอักษรศาสตร์ก็คงเป็นปกติ แต่ย้ายไปเรียนที่อาคารชั่วคราวแบบถาวรของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

 

 Men Meeting

        เพื่อเป็นพลังของการจัดงานของคณะ  นิสิตชายจึงต้องมี spirit ช่วยทำงานอย่างเข้มแข็ง  การจัดงานวันที่ ๓ มกราคมจึงเป็นสนามทดสอบกายใจของนิสิตชายเราจึงจัดงานวันที่ ๓ มกราคมก็คือประการแรก เราตระหนักดีว่านิสิตชายทั้งคณะมีจำนวนน้อย แต่งานของคณะมีหลายอย่างที่ต้องการพลังความสามัคคีของผู้มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อปัญหา อุปสรรคและความลำบาก มี spirit เข้มข้น เพื่อให้งานของนิสิตและคณะดำเนินไปด้วยดี  พวกเราต้องรวมพลังสามัคคีให้สำเร็จ  ประการที่สองเป็นเรื่องการช่วยกันคิดหลักการ วิธีดำเนินงานให้ความคิด ความคาดหวังของเราทั้งคณะสำเร็จลุล่วงไปด้วย  ประการที่สามมีความสำคัญสำหรับพวกเราซึ่งจัดอยู่กลุ่มวัยแสวงหาและความสำเร็จ  ในยุคนั้นทั้งบรรดาวัยรุ่นและวัยแสวงหาอัตลักษณ์อย่างพวกเรา ยึดศักดิ์ศรีของหมู่คณะเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราจึงเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งคิดว่าเรามีศักยภาพที่จะรักษาเชิดชูศักดิ์ศรีของคนอักษรศาสตร์ให้มั่นคง องอาจ สง่างาม

        สิ่งที่เราภูมิใจคือ ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ เราได้รับรางวัลชนะเลิศอัฒจรรย์เชียร์งานกีฬากลางแจ้งเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕  เอกวิทย์ ณ ถลางเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง นิสิตหญิงได้รางวัลชนะเลิศ (คะแนนรวม) เช่นเคย แต่ที่สร้างความประหลาดใจทั้งมหาวิทยาลัยก็คือนิสิตชายได้รับรางวัลคะแนนรวมเป็นที่ ๓  นิสิตชาย ๓ คนที่เป็นหลักในครั้งนั้นคือ (พันตำรวจเอกพิเศษ) ปรีชา  ชาติบุรุษ  สวัสดิ์  สุวรรณอักษร และสวัสดิ์  จงกล   ปรีชากับสวัสดิ์ สุวรรณอักษรช่วยกันกวาดรางวัลการแข่งขันประเภทลานได้เกือบหมด  สวัสดิ์  จงกล พร้อมกับเพื่อนและน้อง ๆ ช่วยกันรับรางวัลประเภทลู่ (ทั้งเดี่ยวและประเภททีม) ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ  ทั้งนี้เพราะพวกเราผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ ผลออกมาจึงทำให้นักกีฬาและกองเชียร์มีความสุขอย่างทั่วถึง 

        ที่สำคัญซึ่งอยากบันทึกไว้ว่ามีพี่ เพื่อน และน้อง ๆ หลายคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีลักษณะกระตุ้งกระติ้งเป็นบุคลิกสมชายและรวมพลังกันสร้างผลงานตามที่ตัวเองถนัด  ขอยกย่อง (ศาสตราจารย์ ดร.) ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดาซึ่งมีอาการลักษณะต้องห้ามของวัยแสวงหายุคนั้น  จะไม่ขอเล่ารายละเอียดกิจกรรมที่ปรับพฤติกรรมเพื่อนคนนี้  ทั้ง ๆ ที่สงสารแต่ก็ต้องจำใจทำให้พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ระวังตัว  เราเริ่มช่วยเพื่อนเมื่อชั้นปีที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๔) เมื่อเป็นนิสิตปีที่ ๔ เกิดปัญหาเรื่องหัวหน้าชั้นซึ่งต้องทำหน้าที่หัวหน้าคณะอีกด้วย      มีพวกเราเสนอศักดิ์ศรีเป็นหัวหน้าชั้น  ปรากฏว่าเพื่อนเกือบทั้งหมดเลือกศักดิ์ศรีเป็นหัวหน้าชั้น ที่สำคัญคือศักดิ์ศรีได้รับเลือกเป็นสาราณียกรหนังสืออักษรานุสรณ์ ฉบับมหาธีรราชรำลึก ๓ มกราคม ๒๔๙๖ เป็นวารสารฉบับแรกที่จัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก (จะว่าในเมืองไทยก็ได้ เพราะได้ศึกษาข้อมูลแล้วยังไม่มีที่อื่นทำ)  ในเล่มนี้เราประกาศว่าวันที่ ๓ มกราคมของทุกปีเป็นวันอักษรศาสตร์   การที่ศักดิ์ศรียอมรับสภาพของการปรับพฤติกรรมให้เป็นชายสมชื่อ และศักดิ์ศรีก็ทำได้ดี  ที่สำคัญก็คือเมื่อเรียนจบแล้วศักดิ์ศรียังมาร่วมงาน Men Meeting หลายครั้ง  แถมยังมีพระเครื่องดี ๆ (ของแท้) มาแจกพี่เพื่อนน้องอีกด้วย

      วันที่ ๓ มกราคมจึงมีความสำคัญเพราะเป็นวันอักษรศาสตร์ ซึ่งชาวอักษรศาสตร์ภูมิใจอย่างยิ่ง

 

เทวาลัยกับสถาบันพระมหากษัตริย์

       ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ จนถึงปัจจุบันจุฬาฯ ยังมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของพระมหากษัตริย์หรือหากจัดประเภทของโรงเรียนแล้ว  จุฬาฯ ยังมีสถานภาพเป็นโรงเรียนราชสำนัก เพราะมีประกาศพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้กำหนดไว้ว่ามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งโรงเรียนนี้

        ที่อาคารเทวาลัยมีภาพประติมากรรมที่แสดงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์คือ ที่หน้าบันเล็กด้านทิศเหนือของเทวาลัยมีรูปอาร์มแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่หน้าบันกลางของอาคารมีรูปอุณาโลมสถิตย์อยู่เหนือครุฑ  อุณาโลมเป็นพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก         บนอกครุฑมีรูปจักรตรี รูปลวดลายไทยที่มีอยู่ที่หน้าบรรทุกแห่งของเทวาลัยซึ่งปั้นไว้อย่างงดงามนั้น  ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นภาพพญานาค ๖ ตัว ความหมายคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติในปีมะโรง  นาคที่ปรากฏที่หน้าบันทุกแห่งของเทวาลัยน่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

        เมื่อพิจารณาภาพประติมากรรมที่หน้าบันของเทวาลัยแล้วน่าจะสื่อความหมายให้ลูกหลานเทวาลัยทราบว่า  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเทวาลัยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเชิดชูพระบรมราชจักรีวงศ์

 

เทวาลัยกับพระบรมวงศ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์

        เนื่องจากนิสิตอักษรศาสตร์ต้องเรียนวรรณคดี ปรัชญา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาอังกฤษ ภาษาต่างประเทศ รวมทั้งคณิตศาสตร์  จึงมีพระบรมวงศ์หลายพระองค์ทรงสอนวิชาเหล่านี้ เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัยทรงสอนภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์  สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเมื่อยังทรงพระอิสริยยศเป็น ฯกรมขุนสงขลานครินทร์ได้ทรงสอนวิชาสรีรวิทยาและอารยธรรมไทย  พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติยากรทรงสอนวิชาพีชคณิต พระเจ้า          วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรทรงเป็นหัวหน้าแผนกวิชาภาษาอังกฤษและทรงสอนภาษาอังกฤษ  พลตรีพระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทย  ม.จ.รัชฎาภิเษก  โสณกุลทรงสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศ ฯกรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงสอนวิทยาศาสตร์ทั่วไปและวิชาสาธารณสุข  ม.จ.ศิวากร  วรวรรณทรงสอนวิชาเคมี  ม.จ.พูนศรีเกษม  เกษมศรีทรงสอนวิชาสรีรเคมี  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์  ทิพยอาภาเคยทรงสอนนิสิตแต่ยังไม่เห็นข้อมูลว่าทรงสอนวิชาใด  พลตรี ม.จ.ทองฑีฆายุ  ทองใหญ่ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ ม.จ.ขจรจบกิตติคุณ กิติยากรทรงสอนวรรณคดีฝรั่งเศส ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลทรงบรรยายพิเศษเรื่อง การกำกับการแสดงละคร

        ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ สมเด็จฯ กรมนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสอนวรรณคดีฝรั่งเศสตั้งแต่นิสิตชั้นปีที่ ๔ ถึงชั้นปีที่ ๒  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสอนวิชาอารยธรรม เมื่อรวบกับอาจารย์ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ระดับหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงแล้วมีจำนวนมาก  ที่มีพระบรมวงศ์และพระราชวงศ์มาทรงสอนนิสิตอักษรศาสตร์ก็คงจะเป็นท่านเหล่านี้ได้ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาก จึงทรงพระปรีชาสามารถที่มาช่วยสอนเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของจุฬาฯ โดยเฉพาะคณะอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

 

เทวาลัยกับนักปราชญ์สยาม

        เมื่อคณะอักษรศาสตร์มาอยู่ที่เทวาลัย เรามีอาจารย์ซึ่งเป็นนักปราชญ์สยามมาสอนปู่ย่า ตายาย ลุงป้า      น้าอาหลายท่าน เช่น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม  กาญจนชีวะ) สอนวิชาธรรมวิภาค วรรณคดีและหลักภาษา          พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกรศศ) สอนนิรุกติศาสตร์  พระสารประเสริฐ (ตรี  นาคประทีป) สอนภาษาบาลี สันสกฤตและวรรณคดี  พระวรเวทย์พิสิฐ สอนหลักภาษาและวรรณคดี  ศาสตราจารย์ รอง ศยามานนท์ สอนวิชาภูมิศาสตร์  ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ  สวัสดิกุล สอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย  ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ  นพวงศ์ สอนวิชาสันสกฤตและภาษาอังกฤษ  ศาสตราจารย์ ม.ล.ตุ้ย  ชุมสาย สอนวิชาจิตวิทยาการวิจัยและสถิติ  ศาสตราจารย์ ดร.ก่อ  สวัสดิพานิชย์ สอนวิชาการศึกษา  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี สอนวิชาการศึกษา

 

ข้อความส่งท้าย

        จำใจต้องจบบทความเก่าแก่ ซึ่งคนแก่แต่ไม่ชรา เป็นคนเขียน เพราะเกรงใจคณะสาราณียกรที่จะต้องปิดเล่มหนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปีอักษรศาสตร์ แต่ด้วยเจตนาที่จะค้นคว้าเรื่องสำคัญในอดีตของคณะเรามาเล่าให้ลูกหลานเหลนโหลน (เลือกเอาเองว่าอยู่ในฐานะอะไรกับคณะเรา) ทราบ  เพราะเท่าที่อ่านหนังสือ เอกสาร หรือคำบอกเล่าของพี่เพื่อนน้องอักษรฯ หรือแม้แต่คณะอื่นในจุฬาฯ เรื่องของอักษรฯ เรื่องของจุฬาฯ ยังมีสาระที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้อีกมาก

        ขอจบบทความดื้อ ๆ เพียงแค่นี้

สวัสดิ์  จงกล

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

กลับขึ้นด้านบน

อักษรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ

โดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ

คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(พ.ศ. ๒๕๕๑ – พ.ศ. ๒๕๕๕ และ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘)

       ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบแต่แรกเลยว่า ไม่คาดคิดมาก่อนหรือมีความตั้งใจมาแต่ต้นว่าจะเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    แม้ว่าเข้ารับราชการครั้งแรกที่คณะนี้ และไม่เคยย้ายไปทำงานที่ไหนเลยจนเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๘ ผมทำงานในสายวิชาการมาโดยตลอด   เป็นอาจารย์ในสาขาภาษาบาลีสันสกฤตซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เล็กๆ ของภาควิชาภาษาตะวันออก   เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งก็เป็นธรรมดาที่อาจารย์ในสายวิชาการต้องมาทำงานในสายบริหารบ้าง ผมก็เช่นเดียวกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ต้องปรับตัวจากการเป็นนักวิชาการมาเป็นผู้บริหาร ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาบาลีสันสกฤต  ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก ผมคิดเองว่าอาจารย์ต่างๆ คงมีความเห็นว่าน่าจะเลือกผู้ที่มาจากสาขาและภาควิชาเล็กๆ เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก เพราะคงจะมีความเป็นกลางดี จึงได้เลือกผมเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๕๑ และได้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องกันมาเกือบครบสองสมัย จนเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๘

       ผมได้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกที่เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ว่าไม่มีนโยบายอะไรที่จะมอบให้เพื่อนๆ อาจารย์ในคณะ   เพราะอาจารย์ทุกๆ ท่านเก่งและท่านเป็นผู้รอบรู้ในสาขาวิชาที่ท่านสอนอยู่แล้ว แต่มีหน้าที่ประสานประโยชน์และอำนวยความสะดวก ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Facilitator ให้อาจารย์ทุกท่านทำงานสอน วิจัย และถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิตของเราได้อย่างเต็มที่ ทำงานอย่างมีความสุขและสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิให้คณะอักษรศาสตร์ของเรา ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะอยู่ในสายบริหารหรือสายวิชาการ   ผมชื่นชมอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ทุกคนว่าเป็นคนเก่งมาตั้งแต่ผมมาเข้าเรียนในคณะนี้ และก็ยังยืนยันในเรื่องนี้มาจนถึงวันนี้

      คณะของเราอาจถูกมองจากคนภายนอกว่าช้า ไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลง แต่ผมอยากให้เข้าใจว่าการศึกษาสายมนุษยศาสตร์ เช่น อักษรศาสตร์ เป็นสาขาวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียน เรียนเพื่อให้รู้ว่าคนเป็นมาอย่างไร และก็เพราะเราต้องเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้เราจึงต้องรู้ “ภาษา” ให้ดี และมีความแตกฉานในการใช้ภาษา ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจไปว่าคณะอักษรศาสตร์เป็น “โรงเรียนสอนภาษา” ซึ่งที่จริงแล้วก็คงไม่ผิดมากนักแต่ก็ไม่ถูกเสียทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่าการเรียนรู้วิชาอักษรศาสตร์ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าใครถูกหรือใครผิด แต่เป็นการเรียนเพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดี สวย เหมาะ เพราะ และงดงามที่สุด ซึ่งแต่ละเหตุผลอาจขึ้นกับสุนทรียะ การตีความ ความเข้าใจ ความลึกซึ้ง อารมณ์ และความชอบความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ผู้ที่จะชื่นชอบในศาสตร์ที่ว่านี้ได้ต้องมีเวลาต้องมีโอกาสและต้องมีความรู้ความสามารถ ที่ไม่อาจกำหนดเป็นกรอบกติกาหรือระเบียบที่ชัดเจนได้เหมือนเช่นการตีความตามกฎหมายในสายนิติศาสตร์ หรือพิสูจน์ทดลองได้เช่นในสายวิทยาศาสตร์

       การเรียนและความเข้าใจในด้านอักษรศาสตร์จึงหมายถึงการย้อนกลับไปดูภายในตนเอง การสร้างความเข้าใจภายในให้ตนเอง การมองอย่างเข้าใจให้ได้ว่าตนเองต้องการหรือชื่นชอบอย่างไร รู้จักถามรู้จักตั้งปัญหาให้ถูกต้อง ซึ่งหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าการเรียนวิชาด้านอักษรศาสตร์เป็น “การเรียนแกนกลางของทุกอย่าง” ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้แก่เรื่องอื่นๆ ได้ทั้งหมด ผู้เรียนจบอักษรศาสตร์จึงไปเรียนต่อในสาขาวิชาอื่นอีกได้หลายหลากและไปประกอบอาชีพได้ในหลายสาขาวิชาชีพ การเรียนวิชาด้านอักษรศาสตร์คล้ายกับมนุษย์รับประทานอาหารที่มิได้ผ่านเข้าทางปากสู่ร่างกายเพียงทางเดียว แต่เป็นการบริโภครับรู้ บริโภคอารมณ์ และบริโภคสุนทรียะที่จะนำไปสู่ความรู้สึกนึกคิด ความสุขที่ทำให้อิ่มเอมใจ สร้างเสริมสติปัญญา

       ความรู้ในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Liberal Artsจึงเป็นที่สนใจและชื่นชอบของผู้ศึกษา ผู้เรียนรู้ที่มีเวลา มีโอกาส มีความสนใจ และให้ความสำคัญเรื่องความเป็นมนุษย์ อารมณ์และความรู้สึกลึกซึ้ง การเรียนอักษรศาสตร์ทำให้เราเข้าใจตนเองได้ทั้งทางกว้างและทางลึก อาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านอักษรศาสตร์ก็มักจะสั่งสอนปลูกฝังให้ผู้เรียนเข้าถึงทุกวิชาอย่างลึกซึ้ง ยิ่งในการเรียนการสอน หากทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้ข้อมูลความรู้มามากและมาจากองค์ความรู้ที่หลายหลาก ยิ่งเป็นที่พอใจของทั้งผู้สอนและผู้เรียน การเรียนอักษรศาสตร์จึงทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ชื่นชมกับเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้ดีขึ้น เมื่อจะใช้สิ่งต่างๆ รอบตัวก็ใช้ได้อย่างดีเป็นประโยชน์

      ผมได้ชี้แจงและอธิบายให้นิสิตเข้าใจว่าการรู้ “ภาษา” และ “ใช้ภาษาได้ดี” เป็นเพียงมี “พาหนะ” ที่จะทำให้การเดินทางสัญจรเป็นไปได้เท่านั้น แต่นิสิตต้องเรียนรู้มากกว่านั้นให้รู้จริงและรู้แจ้ง มิใช่รู้แต่ภาษาแต่ไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในแต่ละวิชาที่เรียน

      ผมพยายามสนับสนุนเรื่องงานวิจัยเพราะเห็นว่าจะทำให้ทั้งอาจารย์และนิสิตมีโอกาสศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนได้อย่างลึกซึ้ง ลุ่มลึกและรอบรู้กว้าง ในช่วงระยะเวลาที่ผมเป็นคณบดี ผมได้ติดต่อประสานงานกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมาค่อนข้างมาก

      คณะอักษรศาสตร์ได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการในโอกาสสำคัญๆ หลายรายการ เช่น ในโอกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ ๙๐ ปี หรือในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมรากุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา และในโอกาสอื่นๆ อีกหลายครั้ง ทำให้มีเอกสารมีหนังสือทางวิชาการจำนวนมากเกิดขึ้น คณาจารย์ของเราได้รับการปรับวิทยฐานะทางวิชาการสูงขึ้นกว่า ๗๐ ท่าน และยังมีอีกหลายท่านที่ได้เป็นศาสตราจารย์ ผมดีใจที่เพื่อนนิสิตอักษรศาสตร์รุ่น ๔๑ รุ่นเดียวกับผม ได้เข้ามารับราชการเป็นอาจารย์พร้อมๆ กับผมกว่าสิบคนในหลายภาควิชา ผมเห็นว่าคณะอักษรศาสตร์ต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ความเป็นเลิศเหล่านี้อาจไม่ใช่ในรูปของนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เราเรียกกันว่า Innovation อย่างที่หลายคนเข้าใจ

       ผมคิดว่าเรื่องความเข้าใจในปรัชญาการเรียนการสอนด้านอักษรศาสตร์นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมจึงรู้สึกภูมิใจในความก้าวหน้าทางวิชาการของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้คณะของเราจะมีจำนวนนิสิตรวมทุกชั้นปีเพียง ๓,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้น ซึ่งอาจจะมองดูไม่มากนักหากเทียบกับคณะอื่นๆ และมีอาจารย์ประจำคณะประมาณ ๑๔๐ คน ซึ่งถือว่าเป็นคณะขนาดกลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความก้าวหน้าทางวิชาการของเราถือได้ว่าเป็นเลิศตลอดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

       เรื่องหนึ่งที่จะเล่าไว้คือเรื่องพระมหากรุณาธิคุณ การพระราชทานพระราชานุเคราะห์ด้วยประการต่างๆ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาของนิสิต ทุนการศึกษาต่างประเทศของอาจารย์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้จ้างอาจารย์ผู้เกษียณอายุราชการเมื่อคณะไม่มีงบประมาณ พระราชทานเงินเดือนอาจารย์จากประเทศจีน พระราชทานพระราชดำริเรื่องการเรียนการสอนหลักสูตร โปรดเกล้าฯ ให้มีการเรียนการสอนภาษาสเปนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อให้สามารถเข้ามาเรียนภาษาสเปนในคณะได้ต่อเนื่อง ในระดับเดียวกับภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน มีพระราชดำริให้ทดลองนักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่และเรื่องการเรียนการสอน Liberal Arts

       ไม่เพียงแต่เรื่องการเรียนการสอน ยังทรงดูแลเรื่องทางกายภาพ เรื่องตึกเรียน ซึ่งจะขอกล่าวยืดยาวไว้สักหน่อย เดิมคณะอักษรศาสตร์มี “ตึกอักษรศาสตร์ ๑” ซึ่งเรียกว่า “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” ในปัจจุบัน ใช้ลางส่วนของหอสมุดกลางซึ่งปัจจุบันคือ “อาคารมหาวชิราวุธ” เมื่อหอสมุดกลางย้ายไปที่ใหม่ คณะอักษรศาสตร์ได้ใช้ต่อมา เดิมเรียกว่า “ตึกอักษรศาสตร์ ๒” “ตึกอักษรศาสตร์ ๓” เรียกกันเป็นสามัญว่า “ตึกภาษาอังกฤษ” เพราะภาควิชาภาษาอังกฤษอันเป็นภาคใหญ่ใช้อยู่ส่วนมาก ตึกนี้เป็นตึกรุ่นแรกๆ ของมหาวิทยาลัย เก่ากว่าตึกหอสมุดกลางเดิม เมื่อคณะขยายมากขึ้นมีการสร้าง “ตึกอักษรศาสตร์ ๔”  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินไปวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ตึกแล้วเสร็จราว พ.ศ. ๒๕๑๗

       จำเนียรกาลต่อมา ตึกอักษรศาสตร์ ๑ ทรุดโทรม ศาสตราจารย์พิเศษประพิณ มโนมัยวิบูลย์ คณบดีในขณะนั้นดำริจะบูรณะ จำเป็นต้องหาทุนทรัพย์เป็นงบประมาณจึงได้ตั้งกองทุน ได้รับพระมหากรุณาทรงอุปถัมภ์มาแต่ต้น พระราชทานชื่อว่า “กองทุนบรมราชกุมารี” เมื่อจะจัดการซ่อมแซมตึกทรงพระราชดำริว่าตึกอักษรศาสตร์ ๑ เป็นตึกประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมืองควรที่รัฐบาลต้องมาดูแล ได้มีพระราชดำรัสปรารภเรื่องนี้ สำนักงบประมาณจึงได้ให้งบประมาณมาเพื่อการนี้ เงินกองทุนส่วนที่เหลือ พระราชทานให้เป็นเงินสนับสนุนทางวิชาการของคณะ ได้ใช้บำรุงห้องสมุดคณะในเวลาต่อมา มีข้อน่าเสียดายและเสียใจอยู่อย่างหนึ่ง คือเมื่อซ่อมตึกอักษรศาสตร์ ๑ ไม่ได้คิดจะรักษาของเก่าเท่าไร คิดแต่จะทำให้ดีแข็งแรง ห้องประทับที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใช้ในระหว่างทรงศึกษาที่คณะระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๖ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้นรื้อออกทั้งหมด ข้าวของเครื่องใช้ในห้องกระจัดพลัดพราย เรื่องข้าวของนี้พลัดพรายไปหลายเรื่อง จารึกเรื่องการพระราชทานปริญญาคราวแรกในรัชกาลที่ ๗ จารึกเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมประชุมของชุมนุมภาษาไทย ฯลฯ ก็สาบสูญไป มานึกดูก็น่าอดสูใจเพราะคณะอักษรศาสตร์มีวิชาประวัติศาสตร์เป็นหลักอยู่ ของเหล่านี้ลางสิ่งตามกลับมาได้บ้าง ไปสุมๆ อยู่ที่ตึกจักรพงษ์บ้าง สุมอยู่ที่คลังของมหาวิทยาลัยบ้าง

       การซ่อมแซมตึกเมื่อดำเนินมาถึงช่วงหนึ่ง มหาวิทยาลัยดำริจะให้ตึกอักษรศาสตร์ ๑ เป็นตึกพิธีการ อยากให้เป็นคล้าย Salon ของฝรั่งเศสเป็นที่เสวนา มีพระราชดำรัสว่าระวังจะกลายเป็นตึกร้างเพราะไม่มีการเรียนการสอน เดิมจึงตกลงกันว่าจะใช้ชั้นล่างส่วนที่ตึกหอประชุมเพื่อการนั้น ครั้นเมื่อซ่อมแล้วเสร็จ คณบดีในเวลานั้นเห็นว่าจะรักษาได้ยากด้วยงบของคณะ จึงขอให้ตึกอักษรศาสตร์ ๑ อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย เป็นอันว่าตึกอักษรศาสตร์ ๑ เป็นของส่วนกลางมาแต่นั้น ความจริงเรื่องงบรักษาตึก ตึกนี้เป็นตึกอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยต้องดูแลอยู่แล้ว เขียนมาทั้งนี้ก็เพื่อรักษาประวัติ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องไว้ ไม่ได้ประสงค์จะตัดพ้อต่อว่าแต่ประการใด แต่การก็เป็นไปตามพระราชดำริว่าเมื่อไม่มีงานก็ปิดเงียบเป็นตึกร้าง นิสิตปัจจุบันคิดว่าเป็นเขตหวงห้าม เมื่อมหาวิทยาลัยดำริจะใช้ตึกอักษรศาสตร์ ๑ ทั้งหมด ปัญหาก็เกิดว่าคณะอักษรศาสตร์ไม่มีที่พอจะดำเนินการจึงคิดจะสร้างอาคารใหม่ คือ “อาคารบรมราชกุมารี” เดี๋ยวนี้ เมื่อเริ่มดำริว่าจะให้เป็นตึกของคณะอักษรศาสตร์ แต่ไปๆ ก็กลายเป็นตึกเรียนรวมทางมนุษยศาสตร์ในเวลานั้น  คือ คณะอักษรศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่ให้คณะอักษรศาสตร์มีสิทธิ์ใช้ก่อน ข้อหลังนี้ต่อมาก็จริงบ้างไม่จริงบ้างแล้วแต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเวลานั้นๆ

       ข้อน่าเสียดายคือเมื่อจะสร้างอาคารบรมราชกุมารี ทุบตึกอักษรศาสตร์ ๓ หรือตึกภาษาอังกฤษเสีย ว่ากีดตึกใหม่ ผู้ที่ไม่ทราบว่าตึกเดิมอยู่ตรงไหนก็ให้ดูสนามที่เป็นหลุมๆ เยื้องๆ อาคารบรมราชกุมารี ความจริงไม่ได้กีดอะไรเลย เสียดายประตูหน้าต่าง พื้นไม้ชั้นสองเป็นไม้สัก แผ่นกระดานอย่างหนาละลายสูญไปหมด รวมทั้งความหลังก็ละลายหายไปด้วย ความจริงเดิมเป็นตึกคณะบัญชีมาแต่เดิมด้วย เป็นอันว่าคณะอักษรศาสตร์มีตึกอักษรศาสตร์ ๒ ที่ใช้เป็นห้องสมุดและตึกทำการ ตึกอักษรศาสตร์ ๔ เป็นตึกเรียน มีห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ อาคารบรมราชกุมารีลางส่วน ห้องอาจารย์ย้ายไปอยู่อาคารบรมราชกุมารี ตึกอักษรศาสตร์ ๑ เป็นของส่วนกลาง คณะจะใช้ต้องไปเสียค่าห้องตามระเบียบ อาคารบรมราชกุมารีถ้าใช้นอกเวลาราชการก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ มีค่ารักษาความปลอดภัย น้ำไฟ ภารโรง ตามระเบียบ ตึกอักษรศาสตร์ ๑ เป็นของส่วนกลาง ตึกอักษรศาสตร์ ๓ ละลายหายสูญไป

       เวลาผ่านไป คณะขยาย มีนิสิตเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่งจาก ๑๕๐-๒๐๐ เป็นสามร้อยกว่าคน ที่ทางก็เริ่มไม่พอ เกิดเหตุใหญ่เมื่อห้องบรรยายใหญ่ ๕๐๓ อาคารบรมราชกุมารีซึ่งเป็นห้องเรียนรวม ใช้ไม่ได้ด้วยเกิดเหตุพิเศษ ต้องย้ายห้องเรียนกันกลางเทอมมาใช้ห้องบรรยายใหญ่ที่ตึกสี่ ซึ่งทำไว้สำหรับนิสิต ๒๐๐ คน เป็นห้องยาวๆ ไม่ได้เป็นอัฒจันทร์ อุปกรณ์ไมโครโฟน โทรทัศน์ที่จะให้หลังห้องเห็นอาจารย์ ลำโพงเก่าที่สุด ผ้าม่านฝุ่นจับหนา งบประมาณก็ไม่มีจะปรับปรุง ประจวบเวลามีเสด็จพระราชดำเนินไปงานที่คณะ ต้องใช้คำว่าเจ้าหน้าที่ถวายฎีกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาจัดการทั้งหมด รวมทั้งเก้าอี้เลคเชอร์ เดิมทรงพระกรุณาให้นำไปซ่อมแซม พระราชทานเก้าอี้แบบพับได้ใหม่ ในเวลานั้น นอกจากห้องบรรยายนี้แล้ว คณะอักษรศาสตร์เหลือห้องเรียนเพียงสามห้อง ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างตึกใหม่ ที่ทางไม่มี จำเป็นต้องรื้อตึกอักษรศาสตร์ ๔  นับแต่สร้างตึกอักษรศาสตร์ ๔ มาจนถึงสร้างตึกใหม่เป็นเวลาเกือบสี่สิบปี คณะอักษรศาสตร์จึงได้ตึกกับเขาสักตึกหนึ่ง ในการก่อสร้าง ทรงพระกรุณาตรวจดูตั้งแต่แบบ โปรดให้มีห้องสมุดเพิ่ม มีห้องประชุมใหญ่ชั้น ๙ มีโรงละคร สิ่งเหล่านี้จะมีไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ทรงพระกรุณาจัดการ พระราชทานนามว่า “อาคารมหาจักรีสิรินธร”

       พระราชดำริอีกประการหนึ่งคือ ทรงพระราชดำริว่า การดูแลรักษาตึกต้องใช้เงินมาก ต้องหาเงินทุนไว้ จึงได้เสนอว่าควรมีมูลนิธิสำหรับการนี้ อีกประการหนึ่งอาคารที่ได้นอกจากตัวตึกกั้นห้องแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องหาเงินเองทั้งสิ้น เมื่อตั้งมูลนิธิ ทรงพระมหากรุณารับเป็นประธานมูลนิธิ พระราชทานนามว่า “มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้ระดมทุนกันเป็นการใหญ่ การก็เป็นไปตามที่ทรงคาด คณะต้องใช้เงินงบประมาณดูแลตึก ค่าน้ำ ค่าไฟ เริ่มต้นหกล้านกว่า จนถึงปัจจุบันขึ้นไปถึงสิบกว่าล้านตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ มูลนิธิยังได้ช่วยเหลือคณะด้านเงินวิจัย สนับสนุนด้านการเงินเมื่อคณะไม่สามารถทำงบได้ในลางเรื่อง เงินรายได้มูลนิธิหลังจากที่ศิษย์เก่าได้ช่วยบริจาคและทรงพระกรุณาพระราชทานมาเนืองๆ รายได้จากหนังสือนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ประจำปี พระราชทานมาสมทบที่มูลนิธิทั้งหมด รวมเป็นเงินหลายล้านบาท ที่เป็นรายใหญ่ๆ เป็นกอบเป็นกำนั้นเรียกได้ว่ามาจากแหล่งอื่น ส่วนนิสิตเก่ามานับเป็นข้อดีที่ทำให้ชาวอักษรศาสตร์ได้มารวมตัวกันมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาบริจาคมากมาย ขอให้นึกถึงคณะสักปีละหน ส่งมาบำรุงสี่ซ้าห้าร้อยก็พอค้ำจุนคณะได้ ขออย่าคิดว่าจุฬาฯ ร่ำรวยหรือคณะรวย คณะมีรายได้จากค่าหน่วยกิตหลังจากส่วนกลางหักของส่วนกลางไปแล้วเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งจะรวยหรือไม่รวยไม่เกี่ยวแก่ความคิดที่จะมาช่วยคณะ ช่วยให้รุ่นน้องได้ร่ำเรียน

       เดี๋ยวนี้ถ้าใครเข้ามาในคณะอักษรศาสตร์ จะเห็นว่าต้นไม้มีเขียวชอุ่ม มีพันธุ์ไม้แปลกๆ นี่ก็เกิดด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเช่นกัน ทรงเป็นหัวหน้าใหญ่ดำริเรื่องการปลูกต้นไม้ มีศิษย์เก่าบางรุ่นมาช่วยกัน ที่ช่วยกันมากคือรุ่นของอาจารย์อาทิตย์ อาจารย์พิทยาวัฒน์ มาช่วยกันปลูก ทรงพระราชอุตสาหะมารดน้ำกันไม่ให้มีคนมาถอนมาตัด งานวันเกิดคณะอักษรศาสตร์ก็ถือเป็นธรรมเนียมว่าจะทรงปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งหรือลางทีก็หลายต้น การปลูกต้นไม้นี้ยังทรงดูแลไปถึงการรักษาต้นไม้ด้วย โปรดเกล้าฯ ให้หมอต้นไม้มาดูแลรักษาต้นไม้ที่แก่หรือเป็นโรค ที่ใดขุดดินปลูกไม้ได้ก็โปรดเกล้าฯ ให้ใช้วงคอนกรีตใหญ่มาปลูก ปัจจุบันบริเวณคณะกลายเป็นสวนอย่างดี มีผู้มาเดินชมต้นไม้หลากหลายพรรณ

       ร่ายมายืดยาวนี้ก็เพื่อเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแบบอย่างของนิสิตเก่าที่ทุกคนควรถือเป็นคดีดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในอันที่จะมาดูแลรักษาคณะ อันเป็นเหมือนบิดามารดาทางวิชาการให้เครื่องมือไปเลี้ยงชีพ ให้สติปัญญาไปเลี้ยงสมองและร่างกาย ผมอยากขอร้องนิสิตที่จบการศึกษาไปแล้วไม่ว่าจะเป็นในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาอื่นๆ ได้กลับมาเยี่ยมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมาช่วยกันทำประโยชน์ให้คณะของเราบ้าง

       เนื่องในโอกาสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในพ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ สถาบันหรือสถานศึกษาเปรียบเสมือนพ่อแม่ เมื่อได้เลี้ยงดูเรามาจนหมดภาระและลูกเติบโตไปแล้วก็หมดหน้าที่ จะมีก็แต่ความรู้สึกปลาบปลื้มชื่นใจที่ลูกก้าวหน้ามีความสำเร็จในเรื่องการงาน อยากให้ลูกกลับมาเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่ แต่พ่อแม่คงไปหาลูกลำบาก ลูกควรจะกลับมาหา มาดูแลพ่อแม่บ้าง ซึ่งคงไม่ได้หมายถึงการมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายอะไรมากมายให้คณะอักษรศาสตร์ หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือคณะตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล และที่สำคัญที่สุดคือขอให้ระลึกถึงว่าท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำให้เราเป็นคนอย่างสมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้

       ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณอาจารย์ ผู้บริหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะอักษรศาสตร์เป็นอย่างดีตลอดมา และในวันนี้ทุกคนได้ภาคภูมิใจที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเราจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี

       ขอบพระคุณและขอส่งความปรารถนาดีมายังทุกท่านและนิสิตทุกคนครับ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ

อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(พ.ศ. ๒๕๕๑ – พ.ศ. ๒๕๕๕ และ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘)

   

    

กลับขึ้นด้านบน

“พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์” รองศาสตราจารย์ ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์

“พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์”

โดย   รองศาสตราจารย์ ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์

       เมื่อห้าสิบปีมาแล้ว ฉันได้เข้าไปนั่งเรียนหนังสือในห้อง 10 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉันภูมิใจมากที่มีสิทธิ์เข้าไปนั่งเรียนในห้องนี้ของเทวาลัย จึงตั้งใจเรียนเต็มที่ให้สมกับที่ปูชนียาจารย์ท่านต่าง ๆ กรุณาเตรียมความรู้มาสั่งสอนพวกเรา อาทิเช่น ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ คณบดีในขณะนั้นบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ไทยในเวลาหนึ่งชั่วโมงมีความยาวหลายร้อยปี มีเพื่อนจดได้ประมาณ ห้า-หกหน้า ศาสตราจารย์ คุณหญิงนพคุณ ทองใหญ่ผู้แสนสง่างามสอนภาษาอังกฤษ ท่านสอนให้อ่าน text เนื้อความต่าง ๆกันในแต่ละสัปดาห์ด้วยเสียงอันไพเราะ ต่อจากนั้นนิสิตต้องไปเรียนเรื่องนี้ต่อในกลุ่ม อาจารย์ประจำกลุ่มอาจให้เขียนตอบคำถามที่เกี่ยวเนื่อง หรือให้เขียน composition หัวข้อต่าง ๆ เช่น การทำอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง  ครั้งหนึ่งฉันเขียนเรื่อง  “Early to bed , early to rise makes one healthy, wealthy and wise “ ฉันเขียนว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปสำหรับผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน เช่น ดาราอาจต้องนอนดึกจึงจะรวย ฉันได้คะแนนดีมาก ทำให้คิดได้ว่า เราคิดนอกกรอบได้ตราบเท่าที่มีเหตุผลอันสมควรประกอบ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ สอนภาษาบาลีตามแนวภาษาศาสตร์ ทำให้เข้าใจลักษณะภาษาบาลีได้ชัดเจนมาก และทำให้ชอบเรียนภาษาบาลีต่อมา พวกเราต้องเข้ากลุ่มเรียนภาษาบาลีด้วย ปีแรกเรียนแปลชาดก สนุกดีและแปลกใจที่เราเรียนได้และรู้เรื่อง

       ฉันพบว่านิสิตอักษรศาสตร์เรียนอะไรและอะไรมากเหลือเกิน เช่นเมื่ออยู่ปีหนึ่งฉันเรียนภาษาอังกฤษในห้องใหญ่ เรียนในกลุ่ม เรียนอ่านวรรณคดีอังกฤษ เรียนเขียนเรียงความภาษาไทยในกลุ่ม เรียนวรรณคดีไทย เรียนภาษาศาสตร์ (สัทศาสตร์) เรียนภาษาบาลีในห้องใหญ่ เรียนในกลุ่ม เรียนภาษาเขมร เรียนสนทนาภาษาฝรั่งเศส การเขียนเรียงความภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการละครซึ่งเป็นวิชาเลือก  ปีสองมีวิชามหายากสำหรับฉัน คือ อารยธรรมฝรั่งเศส อารยธรรมอังกฤษ และอารยธรรมอเมริกัน อาจารย์แต่ละท่านสอนเป็นภาษาต่างประเทศ บรรยายละเอียดมากในแต่ละชั่วโมง เช่นอารยธรรมฝรั่งเศส เพื่อนฉันชื่อวารี ตัณฑุลากรจดได้ถึงแปดหน้า ด้วยลายมืออ่านง่าย สบายตา เพื่อน ๆ ชอบมาก ขณะที่ฉันจดได้เพียงสี่หน้า จดเฉพาะคำสำคัญ แจกแวบ (Verbe) ไม่ทัน แต่เวลาสอบต้องตอบเป็นภาษาฝรั่งเศส หรืออังกฤษ

       ฉันเรียนภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตลอดสี่ปี แต่ในปีที่สี่ ไม่ได้เรียนวรรณคดีอังกฤษ เรียนเฉพาะภาษา เรียนภาษาฝรั่งเศสในปีหนึ่งและปีสอง การเรียนภาษาหลายภาษาทำให้ฉันมีโอกาสฝึกทักษะการอ่านและการเขียนมาก เมื่อได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปเรียนต่อวิชาภาษาสันสกฤตที่ School of Oriental and African Studies มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฉันจึงสามารถเขียน essay  ได้ทันเพื่อน ธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรีของอังกฤษจะเน้นให้นักศึกษาเขียน essay  สัปดาห์ละอย่างน้อย หนึ่งเรื่อง เช่นเมื่อเรียนวิชา History of South Asia ในปีแรก ฉันเลือกเขียน essay เรื่อง คัมภีร์มนุสมฤติ และทำได้โดยไม่มีปัญหา เพราะเคยชินกับการเลือกประเด็นและการนำเสนอประเด็นมาจากคณะอักษรศาสตร์แล้ว เรื่องการอ่านพวกเราต้องอ่านบทละครรามเกียรติ์ บทละครเรื่องอิเหนา และสามก๊กทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ได้อ่านวรรณคดีอังกฤษที่มีชื่อเสียงเช่น Animals Farm และเรียนวิชาแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

       เมื่อเลือกเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก ฉันต้องเรียนภาษาบาลีและภาษาเขมรสามปี และเรียนภาษาสันสกฤตในปีที่สามและปีที่สี่ ฉันเรียนวรรณคดีสำคัญเกือบทุกเรื่อง โองการแช่งน้ำ ไตรภูมิพระร่วง โคลงทวาทศมาส  มหาชาติคำหลวง ได้เรียนวิชาวรรณคดีวิจารณ์  ได้เรียนการแต่งนวนิยายด้วย จำได้ว่าพวกเราต้องลองแต่งนวนิยายประเภทต่าง ๆ  นวนิยายรัก นวนิยายบู๊ นวนิยายโศก และนวนิยายตลกขบขัน เป็นต้น  ฉันไม่ถนัดวิชานี้เลย เพื่อนที่เรียนวิชานี้เก่งที่สุดคือ ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ส่วนฉันได้คะแนนดีที่สุดเมื่อแต่งนวนิยายตลก เรื่องนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของสารวิทยาศาสตร์ประจำตัว เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณีกุลละวณิชย์ที่ฉันเคารพนับถือมาก หลังจากกลับจากการไปประชุมวิชาการที่เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสีด้วยกัน ท่านบอกฉันว่า “มณีปิ่น พี่ว่าเธอตลกมาก” และเมื่อท่านกลับจากาการประชุมในอีกประเทศหนึ่ง ท่านซื้อกบกระเบื้อง ตัวเล็ก นั่งยิ้มกว้างอยู่บนก้อนหินมาฝากฉัน และอีกวิชาหนึ่งที่ไม่อาจขาดได้คือการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง ได้เรียนกับศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ท่านกรุณามาสอนให้พวกเราที่คณะอักษร และให้นิสิตคณะครุศาสตร์เดินมาเรียนร่วมกับเรา

       อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ประเสริฐที่สุด อาจารย์เบญจวรรณ สุนทรางกูรใจกว้างมาก ครั้งหนึ่งเมื่อพวกเราสอบวิชาวรรณคดีของสุนทรภู่แล้ว อาจารย์มาเล่าให้พวกเราฟังว่าตรวจข้อสอบสนุกดี นิสิตตอบคำถามเดียวกันด้วยการอธิบายหลากหลายแบบ   อาจารย์ผู้สอนการเขียนภาษาฝรั่งเศสจะมาอธิบายว่างานของเราไม่ถูกตรงไหน อธิบายบนกระดาน ทำให้เราได้เรียนรู้งานของเพื่อนด้วย อาจารย์ทำงานหนักมาก ตรวจอย่างละเอียด ศาสตราจารย์วัชรี รมยะนันทน์ สอนโคลงทวาทศมาส ให้พวกเราอ่านโคลงที่ละบทและตั้งคำถามให้เราตอบ ตอบอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้มีเหตุผลอันสมควรประกอบ เมื่อนึกย้อนเวลาไป ฉันพบว่า ฉันได้รับการฝึกให้มีทักษะต่าง ๆ เช่นที่ผู้รู้บอกว่าเป็นทักษะการเรียนรู้สำคัญในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 แล้ว ฉันได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ มากมายที่นำมาใช้ไม่เคยหมด ฉันต้องคิดวิเคราะห์เวลาเรียนวรรณคดี ต้องใช้ความสามารถในการสื่อสารอย่างเต็มที่เวลาเรียนการอ่าน การเขียน ฉันมีโอกาสคิดสร้างสรรค์เวลาแต่งคำประพันธ์ แต่งนวนิยาย ฉันเรียนรู้เรื่องการรู้จักความยืดหยุ่นจากอาจารย์ และยังได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นเมื่อเลือกเรียนวิชาการละคร  ก็ร่วมทำกิจกรรมของภาควิชาศิลปะการละครที่มีการจัดแสดงละครปีละหลายเรื่อง ซึ่งเป็นงานหนัก และงานที่ต้องเสียสละเวลา เพราะการซ้อมละครแต่ละเรื่อง เราต้องอยู่กันจนดึกดื่นเที่ยงคืนหลายวัน และฉันยังเป็นสมาชิกชมรมการละครของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ทำให้มีโอกาสทำงานกับเพื่อนต่างคณะที่หลากความคิด

       ตลอดเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมาฉันใช้ทักษะทุกทักษะที่ได้รับการฝึกฝนสั่งสอนจากคณะอักษรศาสตร์ในการทำงานประกอบอาชีพ ทำโดยไม่รู้ตัว ทักษะเหล่านี้ฝังอยู่ในตัวฉันตั้งแต่เมื่อห้าสิบปีที่แล้วและคงอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้ ฉันคิดว่าฉันประสบความสำเร็จพอสมควรในการทำงาน เป็นที่ยอมรับในความรู้ ในฝีมือ ถ้ามีผู้ถามฉันว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉันประสบความสำเร็จในวันนี้ ฉันขอตอบดัง ๆ ว่า

            “พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์”

กลับขึ้นด้านบน

ในความทรงจำ รศ.สมฤดี วิศทเวทย์

ในความทรงจำ

โดย รศ.สมฤดี วิศทเวทย์

       ในความคิดความรู้สึกของข้าพเจ้า คณะอักษรศาสตร์เป็นบ้านที่งดงาม บ้านที่น่าภาคภูมิใจ บ้านที่อบอุ่นอยู่แล้วมีความสุขและผูกพัน

       ข้าพเจ้าได้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของคณะอักษรศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ในฐานะนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง และเลือกเรียนวิชาปรัชญาเมื่อขึ้นชั้นปีที่สาม ข้าพเจ้าเป็นนิสิตปรัชญารุ่นที่สอง วิชาปรัชญาเพิ่งเปิดสอนเป็นวิชาเอกครั้งแรกในมหาวิทยาลัยเมื่อปีพ.ศ. 2509 โดยเปิดเป็นหมวดวิชาหนึ่งในสามหมวดให้นิสิตชั้นปีที่สามของคณะฯ เลือก หลักสูตรของคณะฯกำหนดให้นิสิตต้องเลือกเรียนสามหมวดวิชา สมัยนั้นการศึกษาในมหาวิทยาลัยยังเป็นระบบหมวดวิชา ใช้คะแนนเฉลี่ยทั้งหมวดไม่ต่ำกว่า 60 คะแนนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ไม่ได้ใช้ระบบหน่วยกิตหรือตัดสินเป็นรายวิชาอย่างในปัจจุบันในช่วงแรกผู้ที่เลือกเรียนหมวดวิชาปรัชญาไม่ได้เรียนเฉพาะวิชาปรัชญา แต่ต้องเรียนวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา และมานุษยวิทยาด้วย เพื่อให้นิสิตมีมุมมองที่กว้างขวาง ได้เชิญอาจารย์นอกคณะและนอกสถาบันมาช่วยสอน ต่อมาภายหลังค่อยๆลดรายวิชาเหล่านี้ลง เหลือแต่รายวิชาปรัชญาล้วนๆ เพื่อให้นิสิตได้เรียนวิชาปรัชญาเข้มข้นขึ้น

       สมัยนั้นห้องเรียนและห้องทำงานของอาจารย์และเจ้าหน้าที่อยู่ที่ตึกอักษรศาสตร์ 1 และ 2 เท่านั้น ทั้งสองตึกจะมีคนเดินกันพลุกพล่าน ตรงระเบียงทางเชื่อมระหว่างตึก 1 กับตึก 2 จะมีนิสิตมายืนคุยหรือเล่นกันยามว่าง ตึก 1 จะคึกคักกว่าตึก 2 เพราะห้องเรียนรวมของนิสิตแต่ละชั้นปีซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ประมาณร้อยกว่าคนอยู่ที่ตึก 1 ทั้งชั้นล่างและชั้นบน เช่น ห้อง 10 หรือห้อง 24 ห้อง 10 เป็นห้องเรียนรวมของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง นิสิตแต่ละคนจะมีที่นั่งประจำของตนเรียงตามลำดับตัวอักษร จะนั่งเองตามใจไม่ได้ ทุกชั่วโมงที่เป็นการเรียนรวมจะมีเจ้าหน้าที่มาคอยนับจำนวนนิสิตและจดชื่อคนขาดเรียนอยู่ข้างหลังห้องที่ห้องโถงกลางชั้นล่างของตึก 1 จะมีม้านั่งและโต๊ะยาวอยู่หลายตัว ให้นิสิตนั่งทำงานหรือพักผ่อน มีพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ขนาดใหญ่ประดิษฐานเด่นอยู่บนผนังเหนือที่พักกลางบันไดซึ่งจะแยกออกเป็นสองข้าง ที่ตรงนี้ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนในคณะและนอกคณะจะมากราบถวายสักการะหรือขอพรเป็นประจำ มีเรื่องที่เล่าต่อกันมาว่าถ้าใครเดินตกบันไดหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ถือเป็นลางร้ายในการเรียน สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนิสิต ห้องโถงกลางยังเป็นสถานที่ที่ทำให้นิสิตร้อนๆหนาวๆกันทุกปี เพราะเป็นที่ที่อาจารย์มาอ่านประกาศว่าใครสอบผ่านขึ้นชั้นได้บ้าง อาจารย์จะยืนอ่านที่บันได นิสิตยืนฟังอยู่ข้างล่าง ส่วนใหญ่มักเลือกยืนใกล้ๆเสา นับเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นหายใจไม่คล่องกันทีเดียว

      นอกจากนี้ที่ตึกอักษรศาสตร์ 1 ชั้นล่างยังมีห้องที่เรียกกันว่า "ห้องกาแฟ" ในห้องมีตู้ใหญ่ที่แบ่งเป็นช่องเล็กๆคล้ายช่องจดหมาย มีหลายช่องและหลายชั้น เป็นช่องส่วนตัวของอาจารย์แต่ละคน อาจารย์ส่วนใหญ่เมื่อมาถึงคณะมักจะแวะมาตรวจดูว่ามีจดหมายหรือเอกสารในช่องของตนหรือไม่ ทำให้อาจารย์ในคณะจากหลายภาควิชาและหลายรุ่นได้มีโอกาสมาพบปะกันหรือนั่งดื่มกาแฟด้วยกันยามว่างจากการสอน โดยเฉพาะช่วงเช้าก่อนถึงเวลาสอนจะมีสมาชิกมากเป็นพิเศษ น่าเสียดายว่าเมื่อย้ายมาที่อาคารบรมราชกุมารีแล้ว โอกาสที่จะได้มาสังสรรค์กันเช่นนี้หายไป และตึกที่เคยมีชีวิตชีวา บัดนี้กลับเงียบเหงา ไม่มีเสียงคุยเสียงหัวเราะ ไม่มีบรรยากาศของตึกเรียนอีกต่อไป นี่เพราะว่าตึก 1 และตึก 2 มีอายุมานานร่วมร้อยปี มหาวิทยาลัยต้องการเก็บรักษาให้คงอยู่งดงามเหมือนเดิม จึงไม่ให้ใช้ทำกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างแต่ก่อน

      ตลอด 41 ปีกว่าที่อยู่ในคณะอักษรศาสตร์ ข้าพเจ้าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆของภาควิชาและของคณะ แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าไม่เปลี่ยนและไม่อยากให้เปลี่ยน คือคุณสมบัติของอาจารย์ภาควิชาปรัชญา ที่มักได้ยินเพื่อนอาจารย์ต่างภาคพูดถึงบ่อยๆ ว่าอาจารย์ปรัชญา 10 คนก็ 10 ความคิด แต่เราก็อยู่กันอย่างอบอุ่นแบบพี่กับน้องหรือครูกับศิษย์ อีกสิ่งหนึ่งคือ เวลาที่อาจารย์อักษรศาสตร์ทั้งคณะมาประชุมหรือสัมมนาร่วมกัน มักคุยกันว่าเราเป็นคณะที่พูดง่ายถ้าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม สิ่งเหล่านี้นับเป็นความภูมิใจของข้าพเจ้าเมื่อใดก็ตามที่ระลึกถึงภาควิชาปรัชญา

กลับขึ้นด้านบน

พลวัตภาควิชาภาษาตะวันตก รศ. ชัตสุณี สินธุสิงห์

พลวัตภาควิชาภาษาตะวันตก

 ดย รศ. ชัตสุณี สินธุสิงห์

 

จากวิทยาศาสตร์สู่อักษรศาสตร์

       แม้ว่าภาควิชาภาษาตะวันตกจะมิได้ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับคณะอักษรศาสตร์ แต่การเรียนการสอนภาษาตะวันตก อันได้แก่ ภาษาของประเทศภาคพื้นยุโรปนั้นได้เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ.2461 อันเป็นปีที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เริ่มเปิดสอนหลังการตั้งคณะในพ.ศ.2459แล้ว โดยเริ่มจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแรก

       นับแต่แรกสถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาต่างประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ  เห็นได้จากการจัดให้มีการสอนภาษาฝรั่งเศสแก่นิสิตที่ศึกษาขั้นเตรียมแพทย์และปรุงยาของแผนกวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ในหลักสูตรเตรียมแพทย์ปริญญาที่เริ่มใช้ในพ.ศ.2466นั้น กำหนดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่ง นอกเหนือจากภาษาลาติน Elementary Bacteriology และประวัติศาสตร์ 

       นอกจากภาษาฝรั่งเศสแล้ว ภาษาเยอรมันก็เป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีการเปิดสอนในระยะแรกตั้งมหาวิทยาลัย โดยเริ่มสอนแก่นิสิตวิทยาศาสตร์ในช่วงระหว่างพ.ศ.2463-2468 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตประจำปีการศึกษา2480และ2485 บังคับให้นิสิตสาขาเคมีเรียนภาษาเยอรมันในชั้นปีที่4 เพื่อให้สามารถอ่านและเข้าใจข้อเขียนทางวิทยาศาสตร์ภาษาเยอรมันได้

       สำหรับแผนกอักษรศาสตร์นั้น เริ่มมีการสอนภาษาฝรั่งเศสในพ.ศ.2471 เมื่อมีการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยม ต่อมาในพ.ศ.2477 เมื่อมีการขยายหลักสูตรนี้เป็นขั้นปริญญา จึงถือได้ว่ามีการสอนภาษาฝรั่งเศสในระดับปริญญาตรีแก่นิสิตอักษรศาสตร์นับแต่นั้นมา  และในช่วงต้นทศวรรษต่อมาก็มีการสอนภาษาเยอรมันด้วยเช่นกัน      

       ในระยะแรกนี้ การจัดการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นภารกิจของ “แผนกภาษาปัจจุบัน” ซึ่งรับผิดชอบการสอนภาษาอังกฤษด้วย ต่อมาในพ.ศ.2491 เมื่อคณะอักษรศาสตร์เปลี่ยนชื่อเป็นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ แผนกภาษาปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น “แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ” จนถึงพ.ศ.2505 มีการปรับปรุงหลักสูตรและแบ่งแผนกวิชาในคณะอักษรศาสตร์ (ซึ่งแยกจากคณะครุศาสตร์ในพ.ศ.2500)ใหม่ สาขาภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้แยกจากแผนกเดิมมาเป็นแผนกวิชาภาษาตะวันตก และในพ.ศ.2522 คณะอักษรศาสตร์ได้เปลี่ยนคำว่า “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา” แผนกวิชาภาษาตะวันตกจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชาภาษาตะวันตกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

หยั่งรากและเติบโต

       แม้จะเป็นการสอนภาษาแก่นิสิตอักษรศาสตร์ แต่หลักสูตรภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันระดับปริญญาตรีในระยะแรกนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทางภาษาเพื่อประกอบอาชีพครูมากกว่าอย่างอื่น  เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยที่ส่วนใหญ่มุ่งให้เป็นครูในระดับมัธยมศึกษา ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันในขณะนั้นจัดอยู่ในกลุ่มภาษาปัจจุบันต่างประเทศ (เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ) เป็นวิชาเลือกที่นิสิตสามารถเรียนได้ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนจบชั้นปีที่ 4

       ในพ.ศ.2500 มีการแยกวิชาภาษาฝรั่งเศสออกเป็น 2 สาขาคือ ภาษาฝรั่งเศส 1 (ภาษา) และ ฝรั่งเศส 2 (วรรณคดี) นิสิตสามารถเรียนได้ทั้ง 2 สาขา หรือเลือกเรียนเพียงสาขาภาษาเท่านั้นก็ได้ หากนิสิตเรียนภาษาฝรั่งเศสทั้ง 2 สาขา ก็อาจถือได้ว่าภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาเอกของตน

       ส่วนการสอนภาษาเยอรมันได้หยุดชะงักไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง  ในพ.ศ.2495 สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตครั้งใหม่กับไทย และเริ่มงานด้านวัฒนธรรมและการศึกษาขึ้นใหม่ องค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการของเยอรมนี (DAAD) ได้ส่ง Dr. Georg Heuser มาเป็นอาจารย์ประจำที่แผนกวิชาภาษาต่างประเทศในพ.ศ.2500  การสอนภาษาเยอรมันจึงได้เริ่มขึ้นใหม่  โดยสอนนิสิตคณะวิทยาศาสตร์  คณะครุศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัยก่อน สำหรับนิสิตคณะอักษรศาสตร์มีการเปิดหลักสูตรภาษาและวรรณคดีเยอรมันในระดับปริญญาตรีในพ.ศ.2500

       ดังนั้น อาจถือได้ว่าช่วง 50 ปีแรกนี้ เป็นช่วงของการก่อร่างการเรียนการสอนภาษาตะวันตกในมหาวิทยาลัย ช่วง 50 ปีต่อมา เป็นช่วงของการขยายหลักสูตรภาษาที่เริ่มสอนให้มีความกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ภาษาฝรั่งเศสนั้นเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านภาษาและวรรณคดีตั้งแต่พ.ศ.2485แล้ว และเปิดหลักสูตรปริญญาเอกในพ.ศ.2538 ต่อมา เพื่อตอบสนองความต้องการผู้เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสในโลกธุรกิจ จึงมีการเปิดหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสสู่โลกธุรกิจอีกหลักสูตรหนึ่งในระดับปริญญาโทในพ.ศ.2548  ขณะที่ภาษาเยอรมันเปิดหลักสูตรปริญญาโทในพ.ศ.2517และหลักสูตรปริญญาเอกในพ.ศ.2549

       ในขณะเดียวกัน ภาควิชาฯ ก็ตระหนักถึงบทบาทของภาษายุโรปอื่นๆ ที่ทวีความสำคัญขึ้น ช่วง50 ปีหลังนี้จึงเป็นช่วงของการนำภาษาใหม่ๆ อันได้แก่ ภาษาอิตาเลียน ภาษาสเปน และภาษาโปรตุเกส มาสู่วงการการศึกษาของไทยอีกด้วย

       ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาหนึ่งที่มีการเปิดสอนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการเรียนรู้ภาษาของประเทศฝ่ายอักษะคือ ภาษาเยอรมัน อิตาเลียน และญี่ปุ่น แต่การสอนภาษาเหล่านี้ได้ค่อยๆ ยกเลิกไปเมื่อสงครามยุติลง  ภาษาอิตาเลียนเริ่มมีการจัดสอนขึ้นใหม่ในพ.ศ.2507ในลักษณะของการสอนแก่บุคคลภายนอก ด้วยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การเปิดสอนในหลักสูตรคณะอักษรศาสตร์ในฐานะวิชาเลือกเสรีในพ.ศ.2517 และขยายเป็นวิชาโทและวิชาเอกในพ.ศ.2520  ปัจจุบัน แม้จะมีการสอนภาษานี้ในสถาบันอื่นๆ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเพียงแห่งเดียวที่ผลิตบัณฑิตสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน

       ภาษาสเปนได้เปิดสอนในเวลาไล่เลี่ยและในลักษณะเดียวกันกับภาษาอิตาเลียน นั่นคือ เปิดสอนแก่บุคคลภายนอกใน พ.ศ.2508  เปิดเป็นวิชาโทในพ.ศ.2510 และเปิดสอนเป็นวิชาเอกในพ.ศ.2518  ต่อมา สาขาวิชาฯได้พัฒนาหลักสูตรและความพร้อมในด้านต่างๆ จนสามารถเปิดสอนในระดับปริญญาโทได้ในพ.ศ.2557

       ภาษาโปรตุเกสเริ่มเปิดสอนแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ในรูปโครงการความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ.2532  ในพ.ศ.2533 จึงได้เปิดสอนเป็นวิชาเลือกเสรี และมีการเปิดสอนเป็นวิชาโทในพ.ศ.2555

       นอกจากนี้ ยังมีเริ่มการเปิดสอนภาษารัสเซียในพ.ศ.2547 ในโครงการสู่อักษรศาสตรบัณฑิตที่มุ่งหวังในฐานะวิชาเลือกเสรี ต่อมาในพ.ศ.2548 จึงเปิดสอนเป็นวิชาโท ในพ.ศ.2552 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดศูนย์รัสเซียศึกษาขึ้น และเนื่องจากประเทศมีความต้องการบัณฑิตด้านภาษารัสเซีย ภาควิชาฯจึงได้เปิดหลักสูตรวิชาเอกภาษารัสเซียในพ.ศ.2557

       ปัจจุบัน นอกจากรับผิดชอบการเรียนการสอนภาษาในระดับต่างๆดังกล่าวแล้ว  ภาควิชาภาษาตะวันตกยังจัดสอนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน สเปนและรัสเซีย ในฐานะวิชาเลือกในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ)  เปิดสอนรายวิชาภาษาต่างประเทศขั้นพื้นฐานและภาษาเฉพาะด้านตามความต้องการของคณะต่างๆ    และอนุญาตให้นิสิตต่างคณะลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่ภาควิชาฯจัดสอนในคณะอักษรศาสตร์ได้  ทั้งในฐานะวิชาเลือกภาษาต่างประเทศในหมวดการศึกษาทั่วไป วิชาโท วิชาเลือกตามข้อกำหนดของคณะ หรือวิชาเลือกเสรีตามความสนใจเฉพาะบุคคล

              

คณาจารย์สอนสร้าง

       ในระยะแรกที่มีการสอนภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันแก่นิสิตแผนกวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์นั้น อาจารย์ภาษาฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าของภาษาเท่านั้น เช่น M. Michel Bréal สอนตั้งแต่พ.ศ.2466 และ Dr. George Marie Leopolde Vial-Macel สอนระหว่างพ.ศ.2477-2480  ส่วนภาษาเยอรมันสอนโดยอาจารย์ไทยที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนี คือพระมนตรีพจนกิจ (ม.ร.ว.ชาย ชุมแสง) สอนตั้งแต่พ.ศ.2463   อาจารย์ชาวเยอรมันเช่น Dr. Klaus Wagner สอนระหว่างพ.ศ. 2478-2481

       สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯทรงสอนภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ระหว่างพ.ศ.2495- 2501 อาจารย์ผู้สอนภาษาฝรั่งเศสในช่วงนี้ล้วนเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงวิชาการ อาทิ ม.จ.ขจรจบเกียรติคุณ  กิติยากร ศ.คุณหญิงจินตนา  ยศสุนทร ศ.ดร. จิตรเกษม  ศรีบุญเรือง ศ.คุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย อาจารย์ประคิณ  ชุมสาย ณ อยุธยา ส่วนอาจารย์ชาวฝรั่งเศสได้แก่ M. François Gregoire ซึ่งเป็น Attaché Culturel  M. Jacque  Bousquet  และ Mme Nicole de Beauvais     

       อาจารย์ชาวไทย มักเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์และได้รับทุนการศึกษาต่อในประเทศเจ้าของภาษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  ต่างเป็นกำลังสำคัญในการเรียนการสอน การสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่วิชาการด้านภาษาตะวันตก ตลอดจนการพัฒนาภาควิชาให้ก้าวหน้าทั้งในด้านบริหารและวิชาการ หลายท่านมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสาขาต่างๆ ขึ้นในภาควิชา เช่น ศ.พิเศษ ดร.อำภา  โอตระกูล สาขาภาษาเยอรมัน  ผศ. ดร.เดโช  อุตตรนที สาขาภาษาสเปน  และรศ. ชัตสุณี สินธุสิงห์ สาขาภาษาอิตาเลียน

       คณาจารย์ของภาควิชาฯมีบทบาทโดดเด่นทางด้านวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติ และรางวัลผลงานดีเด่นระดับชาติในด้านการแปลและล่าม อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศในยุโรป หลายท่านจึงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลต่างประเทศ อาทิ ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ศ.คุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย ศ.ทัศนีย์ นาควัชระ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Chevalier dans l’Ordre des Palmes Académiques จากรัฐบาลฝรั่งเศส  ศ.พิเศษ ดร.อำภา  โอตระกูล ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Das Verdienstkreuz am Bande และ1.Klasse จากรัฐบาลเยอรมัน รศ. ชัตสุณี สินธุสิงห์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Ordine al Merito della Repubblica Italiana ชั้น Cavaliere จากรัฐบาลอิตาลี ผศ. รัศมี กฤษณมิษได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Isabel la Católica ชั้น Cruz de Oficial จากรัฐบาลสเปน

       สำหรับอาจารย์ชาวต่างชาติ  ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่รัฐบาลต่างประเทศส่งมาประจำที่ภาควิชา รัฐบาลฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลีและสเปนต่างส่งอาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่สาขาวิชาฯ  สาขาโปรตุเกสมีผู้เชี่ยวขาญทั้งจากประเทศโปรตุเกสและประเทศบราซิล  ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ นอกจากทำหน้าที่สอนและเป็นที่ปรึกษาด้านการเรียนการสอนและวิชาการแล้ว  ยังมีบทบาทสำคัญในการติดต่อกับสถานทูตประเทศของตนเพื่อความร่วมมือด้านต่างๆกับสาขาวิชา

       อาจารย์”ฝรั่ง” อีกส่วนหนึ่งเป็นลูกจ้างประจำ ในตำแหน่งลูกจ้างชาวต่างประเทศที่จัดจ้างโดยงบประมาณแผ่นดิน  มีการทำสัญญาเป็นรายปีหรือสองปี สอนภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปนและรัสเซีย อาจารย์เหล่านี้มักสอนกันอยู่นานหลายปี บางคนเกิน 10 ปี มีความผูกพันกับภาควิชาฯและนิสิตเป็นอย่างมาก

       ที่น่าสังเกตคือ จะมีบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกโดยเฉพาะคณะเยซูอิต เป็นอาจารย์พิเศษด้วยหลายท่าน ที่สอนอยู่นานและเป็นที่จดจำของลูกศิษย์คือ คุณพ่อ อัลเฟรด บอนแนงก์ และคุณพ่อ เออแชน เดอนีส์ ซึ่งสอนภาษาฝรั่งเศส อาจารย์พิเศษภาษาเยอรมันได้แก่คุณพ่อฟรันซ์ ไรเทอเรอร์ และ คุณพ่อเอากุส มอลิงก์  สาขาภาษาสเปนก็ได้อาศัยบาทหลวงชาวสเปนเป็นผู้สอนตั้งแต่เริ่มเปิดสอนบุคคลภายนอกในพ.ศ.2508 ท่านหนี่งคือ คุณพ่อมิเกล  กาไรซาบาล ส่วนภาษาอิตาเลียนนั้น มีบาทหลวงชาวอิตาเลียนมาช่วยสอนนิสิตอักษรศาสตร์เช่นกัน คนแรกคือ คุณพ่อ ปิเอโตร อูบาร์นี จากคณะปีเม ส่วนในระยะหลังมักเป็นบาทหลวงคณะฟรันซิสกัน

 

ภูมิใจบัณฑิต

       ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ภาควิชาภาษาตะวันตกได้ผลิตบัณฑิตร่วม 80 รุ่น เป็นจำนวนนับพันคน ในสาขาภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน และสเปน ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศที่ได้ศึกษามา

       ในวงการศึกษา บัณฑิตของภาควิชาฯ จำนวนมากทำงานเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  เป็นนักวิชาการและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและในโรงเรียนมัธยมทั้งของรัฐและเอกชน เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งสาขาภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน ในมหาวิทยาลัย และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาทั้งสามนี้ในระดับมัธยมศึกษา

       ในวงการต่างประเทศ บัณฑิตจำนวนไม่น้อยรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ (โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ) ตลอดจนทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ในสถานเอกอัครราชทูตและในหน่วยงานทางวัฒนธรรมและการค้าของประเทศต่างๆที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน สเปน และโปรตุเกส

        ในวงการธุรกิจ บัณฑิตของภาควิชาส่วนหนึ่งจะทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวและการค้า เช่น เป็นมัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม พนักงานสายการบิน พนักงานบริษัทท่องเที่ยว หรือบริษัทที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ฯลฯ

        ในวงการแปลและล่าม ความรู้และความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศและความเป็นนักอักษรศาสตร์ทำให้บัณฑิตจากภาควิชาฯสามารถทำงานแปลได้เป็นอย่างดี ทำให้นักอ่านได้อ่านวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงซึ่งแปลจากภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน  อิตาเลียน และสเปน”โดยตรง” และบุคคลทั่วไปได้รับประโยชน์จากหนังสือ ข้อเขียนและเอกสารต่างๆ ทั้งที่เป็นวิชาการและไม่ใช่วิชาการ ที่แปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ นอกจากการเป็นนักแปล บัณฑิตจากภาควิชาฯ ยังทำงานเป็นล่ามในวงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ธุรกิจและการค้า              

        นอกจากอาชีพดังกล่าวข้างต้น บัณฑิตของภาควิชาฯ ยังประกอบอาชีพอื่นๆอย่างหลากหลาย ทั้งในวงการหนังสือ วงการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ วงการบันเทิง เช่น เป็นนักเขียน บรรณาธิการหรือประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ นักดนตรี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ฯลฯ  ซึ่งแม้จะมิได้ใช้ความรู้ทางภาษาที่ได้ศึกษามาโดยตรง แต่ก็สามารถทำงานในอาชีพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะได้นำความรู้ทางวัฒนธรรมที่ได้เรียนรู้ควบคู่กับภาษามาช่วยทำให้งานลุ่มลึกสมบูรณ์ขึ้น

 

สัมพันธ์ต่างประเทศ

       ในการจัดการศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันตกได้รับความร่วมมือด้านต่างๆ จากรัฐบาล องค์กรและหน่วยงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัยของประเทศเจ้าของภาษาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้การเรียนการสอนของภาควิชาฯ ดำเนินไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างเชี่ยวชาญ

       ในระยะแรกที่ตำราและหนังสือภาษาต่างประเทศในเมืองไทยยังมีน้อยและการสั่งซื้อจากต่างประเทศยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ หนังสือ ตำรา ที่ใช้ในการเรียนการสอนและการค้นคว้าของแต่ละสาขาวิชา ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้เป็นรายปี หรือจัดหาหนังสือและโสตทัศนวัสดุให้ในแต่ละปี เช่น พจนานุกรม แบบเรียน หนังสือรวมบทอ่าน วรรณคดี แผนที่ เทปคาสเซทสอนภาษา สไลด์ วีดีทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น

ในด้านบุคลากร  นอกจากการส่งอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทางการเรียนการสอนมาประจำที่สาขาวิชาภาษาต่างๆ แล้วรัฐบาลประเทศต่างๆยังให้ทุนอาจารย์ของภาควิชาฯไปศึกษาในประเทศของตน ในระยะแรกรัฐบาลฝรั่งเศสให้ทุนอาจารย์ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศสทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ต่อมา มีการให้ทุนอาจารย์ไปฝึกอบรมเฉพาะด้าน เช่น ด้านการแปล การท่องเที่ยว การละคร และด้านภาษาธุรกิจ  และเมื่อสาขาภาษาฝรั่งเศสมีโครงการขยายหลักสูตรการสอนถึงขั้นปริญญาเอก รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ให้ทุนอาจารย์ไปเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหลักสูตร สำหรับภาษาเยอรมันนั้น องค์กร DAAD จะเป็นผู้ให้ทุนอาจารย์เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก  เช่นเดียวกับองค์กร AECID (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา) ของรัฐบาลสเปน ส่วนรัฐบาลอิตาลีให้ทุนอาจารย์เพื่อฝึกอบรมภาษาอิตาเลียน

       ความร่วมมือจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ยังรวมถึงการร่วมจัดกิจกรรมทางวิชาการและวัฒนธรรมด้วย เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดกิจกรรมในวาระพิเศษ เช่นการเฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปีความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี และการจัดสัปดาห์ภาษาอิตาเลียนในโลก สาขาภาษาสเปนโดยศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา ได้รับความร่วมมือจากสถานทูตประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งได้แก่ อาร์เจนตินา โคลอมเบีย ชิลี เม็กซิโก เปรู คิวบา ปานามา ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรยายเกี่ยวกับลาตินอเมริกาในแง่มุมต่างๆทั้งด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และบทบาทในเอเซีย

       นอกจากนี้ ภาควิชาภาษาตะวันตกยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สเปน และลาตินอเมริกาในลักษณะของสัญญาทางวิชาการ อาทิ สาขาภาษาฝรั่งเศสลงนามในสัญญาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปารีส 3 ใน พ.ศ. 2540 สาขาภาษาเยอรมันลงนามในสัญญาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Münster, Siegen และ Heidelberg ใน พ.ศ. 2543, 2544 และ 2547 ตามลำดับ ส่วนสาขาภาษาสเปนลงนามในสัญญาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยNebrija และมหาวิทยาลัย Alcala ประเทศสเปนใน พ.ศ. 2547  และศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษาก็ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย  La Plata ประเทศอาร์เจนตินาใน พ.ศ. 2543 และมหาวิทยาลัยColima ประเทศเม็กซิโกใน พ.ศ. 2547

       สัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้นำมาซึ่งความช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะเมื่อมีการขยายหลักสูตรในระดับสูง  ระหว่างการเตรียมการเปิดหลักสูตรปริญญาเอก มหาวิทยาลัยปารีส 3 ได้ส่งอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายแก่คณาจารย์ในสาขาภาษาฝรั่งเศส และเป็นวิทยากรนำการสัมมนาเพื่อการค้นคว้าวิจัยระดับสูง ส่วนสาขาภาษาเยอรมันได้มีการเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยคู่สัญญาและมหาวิทยาลัยอื่นมาบรรยายพิเศษเป็นเวลาหนึ่งเดือน

        ความร่วมมือทางวิชาการเหล่านี้ ยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนการศึกษาและค้นคว้าวิจัยของนิสิตในระดับต่างๆ รวมทั้งการพัฒนานิสิตและด้านอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยคู่สัญญาให้ทุนนิสิตสาขาเยอรมันและสาขาฝรั่งเศสไปค้นคว้าวิจัยเพื่อการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกในเยอรมนีและฝรั่งเศส และให้ทุนนิสิตปริญญาตรีสาขาเยอรมันและสาขาอิตาเลียนไปศึกษาช่วงสั้นๆในเยอรมนีและอิตาลี ให้นิสิตสาขาเยอรมันฝึกงานในเยอรมนี และบางมหาวิทยาลัยส่งนักศึกษามาฝึกงานที่สาขาภาษาเยอรมัน

        การเป็นสมาชิกเครือข่ายทางวิชาการ เป็นโอกาสให้ได้เข้าร่วมประชุมและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการได้อย่างใกล้ชิด สาขาวิชาภาษาเยอรมันเป็นสมาชิกความร่วมมือกับ IQN ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ ขณะที่สาขาวิชาภาษาสเปนเป็นสมาชิกเครือข่าย Forum for East Asia-Latin America Cooperation และสมาคมผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาสเปน 

        อนึ่ง ได้มีการก่อตั้งศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษาขึ้นในภาควิชาฯในพ.ศ.2547 เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม วิจัย และสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เพื่อแปลวรรณกรรมกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นภาษาไทย และส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตสาขาภาษาสเปนกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในลาตินอเมริกา จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว ศูนย์ฯได้จัดกิจกรรมหลากหลายทั้งด้านวิชาการ วัฒนธรรม และการแปล

        ความร่วมมือกับต่างประเทศในหลายลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้ภาควิชาภาษาตะวันตกสามารถพัฒนาบุคลากรและการเรียนการสอนให้อยู่ในระดับสากลและมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น

            

ก่อเกิดวิชาการ

       ภาควิชาภาษาตะวันตกได้ผลิตผลงานทางวิชาการรูปแบบต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานวิจัย หนังสือ ตำรา บทความวิชาการ บทความวิจัย และงานในลักษณะอื่น  เป็นผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ  นับเป็นทรัพยากรเพื่อการค้นคว้าและอ้างอิงที่สำคัญทางภาษาต่างประเทศ

       ที่สำคัญได้แก่ หนังสือและตำราเพื่อการเรียนการสอนและพจนานุกรมภาษาต่างๆ ทั้งตำราไวยากรณ์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง ตำราภาษาเฉพาะด้าน พจนานุกรมศัพท์ทั่วไปและศัพท์เฉพาะทาง ทั้งจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยหรือกลับกัน ตลอดจนพจนานุกรมคู่ภาษา อาทิเช่น ตำราไวยากรณ์เยอรมัน วากยสัมพันธ์ภาษาเยอรมัน ไวยากรณ์สเปน โครงสร้างภาษาอิตาเลียนเบื้องต้น สัทศาสตร์ภาษาฝรั่งเศส หลักและทฤษฎีการแปล สำนวนภาษาเยอรมัน พจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส พจนานุกรมศัพท์พื้นฐานเยอรมัน-ไทย พจนานุกรมภาษาเยอรมันเพื่อการท่องเที่ยว พจนานุกรมศัพท์ท่องเที่ยวไทย-สเปน พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์เยอรมัน-ไทย พจนานุกรมศัพท์ธุรกิจไทย-ฝรั่งเศส พจนานุกรมศัพท์เศรษฐกิจ (สเปน-อังกฤษ-ไทย)

        นอกจากนี้ ยังมีตำราว่าด้วยวรรณคดีของประเทศต่างๆ ในยุโรป ทั้งในเชิงประวัติ ทฤษฎีและการวิเคราะห์ เช่นวรรณกรรมเอกยุโรปยุคกลาง  การแปลวรรณกรรม  ความเป็นจริงกับจินตนาการในนวนิยายของมาร์เกอริท ยูร์เซอนาร์  รวมทั้งบทความวิชาการและบทความวิจัย ภาษาไทย ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน และสเปน ที่เสนอต่อที่ประชุมทางวิชาการในประเทศหรือต่างประเทศ  หรือตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ทั้งระดับชาติและนานาชาติ และในหนังสือรวมบทความทางวิชาการที่ภาควิชาภาษาตะวันตกจัดพิมพ์ขึ้นในวาระต่างๆ  มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านภาษา วรรณคดี วัฒนธรรมและการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ เช่น “La Constitution française et ses constituants linguistiques”  “จุดเริ่มต้นของศิลปะฟิวเจอริสม์ในศิลปะและวรรณคดีอิตาเลียน”  “ภาพสตรีในภาษิตเยอรมัน”  “การสร้างและการใช้คลังข้อมูลในการสอนภาษาสเปนในฐานะภาษาต่างประเทศ”

        ผลงานทางวิชาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ งานแปล มีการแปลวรรณกรรมคลาสสิคและวรรณกรรมสมัยใหม่ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร กวีนิพนธ์และวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งเป็นผลงานของนักเขียนเอกชาติต่างๆจากภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน และสเปน เช่น งานของวอลแตร์  โฟลแบรต์ บัลซัค กามูส์ เกอเธ่  บืชเนอร์ คาฟคา เบิล มันน์ นารูดา อาเยนเด โรดารี คอร์ราโด  รวมทั้งมีการแปลงานวิชาการ เช่น การอ่านนวนิยาย แผ่นดินและผู้คนชาวสยาม พระที่นั่งอนันตสมาคม สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสราชอาณาจักรสเปนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปค.ศ.1897

        สำหรับงานแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น การแปลราชนิพนธ์ไกลบ้าน ตอน เสด็จประพาสฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน การแปลพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เป็นภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียนและสเปน

        ในด้านการวิจัย มีการดำเนินโครงการวิจัยทั้งด้านภาษา วรรณคดี วัฒนธรรมและการเรียนการสอนโดยได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายในและภายนอกคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภาษาตะวันตกเท่านั้น  แต่ยังเปิดทางสู่การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของไทยโดยอาศัยภาษาตะวันตกอีกด้วย อาทิเช่น การวิจัยการเรียงลำดับคำในข้อความภาษาเยอรมันในแง่ภาษาศาสตร์จิตวิทยา โครงการวิจัยและพัฒนาคลังข้อมูลภาษาและชุดคำศัพท์ภาษาต่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับนิสิตปริญญาตรี  การวิจัยเรื่องมิติสถานที่ในงานของฟรองซัวส์ โมริยัค    โครงการวิจัยเรื่องสยามและไทยในเอกสารตะวันตก: คน ภาษา และวัฒนธรรม โดยศึกษาเอกสารภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาเลียน

 

บริการสังคม

       เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่ภาควิชาฯ นับแต่ครั้งยังเป็นแผนกวิชาภาษาตะวันตก ได้จัดการโครงการต่างๆเพื่อเป็นการให้บริการแก่สังคมอย่างต่อเนื่องในรูปแบบที่หลากหลาย ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดสอนภาษาต่างๆ การอบรมครู การจัดสัมมนาและประชุมทางวิชาการ

        การอบรมภาษาต่างๆ ส่วนใหญ่จัดขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ แต่บางส่วนจัดในลักษณะ in house training ให้แก่หน่วยงานภายนอก เช่น การอบรมภาษาฝรั่งเศสด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา  การอบรมภาษาอิตาเลียนแก่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและพนักงาน Exxon Mobil เป็นต้น

        นอกจากโครงการที่ภาควิชาฯ รับผิดชอบเองแล้ว ภาควิชาฯ ยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่นให้บริการด้านวิชาการอีกด้วย เช่น การอบรมมัคคุเทศก์ที่คณะอักษรศาสตร์จัดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยรับผิดชอบในส่วนของการจัดสอนภาษาฝรั่งเศส สเปน และอิตาเลียนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

        นอกจากนี้ ยังมีการจัดการบริการทางวิชาการในรูปแบบอื่น เช่น การประชุมสัมมนาทางวิชาการที่สาขาวิชาต่างๆ เป็นผู้ริเริ่มขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ อาทิ การประชุมสัมมนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส  การประชุมเสนอผลงานวิชาการและวิจัยของอาจารย์ผู้สอนภาษาเยอรมันในประเทศไทย ในระดับนานาชาติ มีการจัดประชุมและสัมมนาอาจารย์รุ่นใหม่ที่สอนภาษาเยอรมันในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดประชุมด้านภาษาสเปนในฐานะภาษาต่างประเทศ และการจัดประชุมสมาคมผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมสเปนของกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาสเปนภาคพื้นเอเซีย              

       การจัดโครงการต่างๆ เหล่านี้ นอกจากเป็นการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอันภารกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของภาควิชาฯ ให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นในฐานะผู้นำทางการเรียนการสอนภาษาตะวันตกอีกด้วย

       ปัจจุบัน ภาควิชาภาษาตะวันตกประกอบด้วยสาขาวิชาภาษาต่างๆ 6 สาขา และ 1 ศูนย์ คือ สาขาภาษาฝรั่งเศส สาขาภาษาเยอรมัน สาขาภาษาอิตาเลียน สาขาภาษาสเปน สาขาภาษาโปรตุเกส สาขาภาษารัสเซีย และศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษาซึ่งอยู่ในความดูแลของสาขาภาษาสเปน  มีอาจารย์ทั้งสิ้น 39 คน คน ในจำนวนนี้เป็นอาจารย์ชาวต่างประเทศ 10 คน 

       กล่าวได้ว่า ในรอบ 100 ปี  นับแต่เริ่มมีการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมีการก่อตั้งภาควิชานั้น ภาควิชาภาษาตะวันตกได้มีการพัฒนาทางด้านวิชาการอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ด้วยการขยายการเรียนการสอนภาษาต่างๆ สู่ระดับที่สูงขึ้นจนถึงระดับปริญญาเอก และขยายจำนวนภาษาที่เปิดสอนให้มากขึ้น รวมทั้งมีพัฒนาการเคียงคู่ไปกับคณะอักษรศาสตร์ในการผลิตบัณทิต การสร้างองค์ความรู้ การบริการสังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในศตวรรษใหม่ ภาควิชาฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติ และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และอักษรศาสตร์ต่อไป

 

 

หนังสือและเอกสารประกอบการเรียบเรียง

ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459-2509

50 ปีวิทยาศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2476-2527

ระเบียบการและหลักสูตรคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (พุทธศักราช 2482)

คณะอักษรศาสตร์และความเป็นมา

อักษรศาสตรบัณฑิต 50 ปี

60 รุ่นอักษรศาสตรบัณฑิต

เพื่อนสนิทมิตรสหาย ณ เทวาลัยอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2497-2501

ที่ระลึก 30 ปีสาขาวิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย*

หนังสือที่ระลึกเนื่องในวาระครบรอบ10 ปีชองการเปิดสอนวิชาภาษาเยอรมันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความ 50 ปีสาขาวิชาภาษาเยอรมัน  โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา แสงอร่ามเรือง

คู่มือรายวิชาโท รายวิชาเลือก และรายวิชาที่ให้บริการนิสิตนอกคณะของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2557)

ประวัติภาควิชาภาษาตะวันตก ประวัติสาขาวิชาภาษาเยอรมัน สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน สาขาวิชาภาษาโปรตุเกสและสาขาวิชารัสเซีย จากเวปไซด์ภาควิชาภาษาตะวันตก

เอกสารแนะนำศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา 

_____________________

*ผู้เขียนขอขอบคุณหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์สารนิเทศคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ช่วยจัดหาหนังสือประกอบการเรียบเรียง 8 รายการข้างต้นนี้

กลับขึ้นด้านบน

ภาควิชาภาษาอังกฤษในความทรงจำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตโสมนัส ศิวะดิตถ์

ภาควิชาภาษาอังกฤษในความทรงจำ

โดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตโสมนัส ศิวะดิตถ์

 

       ขอย้อนไปยังปีการศึกษา 2493 ที่ดิฉันได้เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์เป็นปีแรก นิสิตปีที่ 1 และปีที่ 2 เกือบทุกคนด้วยกันเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์

       วิชาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสอยู่ในแผนกภาษาต่างประเทศ มีอาจารย์ไทยและอาจารย์ชาวต่างประเทศสอนรายวิชาต่างๆ ท่านสอนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสตลอดชั่วโมง ถ้าเป็นอาจารย์ไทย ท่านก็ให้คำอธิบายเป็นภาษาไทยประกอบบ้าง การเรียนในปีแรกยากมาก ฟังไม่รู้เรื่องบ้าง ไม่เข้าใจ หรือฟังไม่ทันบ่อยๆ ต้องปรับตัวอยู่นาน กว่าจะเรียนอย่างสบายใจก็ผ่านปีที่ 2 ไปแล้ว ดิฉันสังเกตได้ว่า แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) มีจุดมุ่งหมายให้นิสิตเขียนให้ถูกไวยากรณ์และอ่านให้มาก โดยมีหนังสือนอกเวลาให้อ่านสอบปลายภาคเรียน ในการฝึกพูดและฟังภาษาจากอาจารย์ จดเลคเชอร์ให้ทัน ให้ได้สาระถูกต้องนั้น มีชั่วโมง tutorial ฝึกการเขียน มีชั่วโมง conference ฝึกพูด ขอคำอธิบายเรื่องที่ไม่เข้าใจในวิชาวรรณคดีและอื่นๆ

       ยังจำได้ว่าในปี 2493 อาจารย์หม่อมมณี บุนนาค (คุณหญิงมณี ศิริวรสาร) ได้สอนวิชา Poetry แก่พวกเรานิสิตปีที่ 1 ท่านใช้ The Golden Treasury เป็นเอกสารประกอบ ท่านอ่านโคลงแต่ละบทด้วยสำเนียงอังกฤษอย่างชัดเจน ไพเราะมาก ท่าอธิบายความหมายของคำประพันธ์ร้อยกรองตลอดชั่วโมง ดิฉันฟังอย่างเคลิบเคลิ้ม ประทับใจ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เสียงอ่านของท่านนำจินตนาการของดิฉันให้ล่องลอย ดิฉันตั้งความปรารถนาว่าสักวันหนึ่งขอให้มีโอกาสเป็นอาจารย์สอนวิชา  Poetry อย่างท่านบ้าง ดิฉันจะพยายามถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้นิสิตซาบซึ้งวิชา Poetry เหมือนที่ดิฉันรู้สึกเอง ครั้นเมื่อดิฉันเป็นอาจารย์ประจำ สอนวิชาภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์แล้ว ในปี พ.ศ. 2503 ดิฉันได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ให้สอนวิชา Poetry: Sonnets and Lyrics ดิฉันรักการสอนวิชานี้มาก และสอนด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ลูกศิษย์สนใจ Poetry มากขึ้น

       ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าแผนกวิชาภาษาอังกฤษ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านมีนโยบายพัฒนาวิชาภาษาอังกฤษให้ทันสมัย ในวิชาการเขียน การอ่าน การพูด เพิ่มวิชาใหม่ เช่น วรรณคดีอเมริกัน และภาษาศาสตร์เบื้องต้น ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ เป็นทั้งอาจารย์และผู้บังคับบัญชาของอาจารย์ประจำส่วนใหญ่ ท่านแสดงแบบอย่างการทำงานที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย มีความละเอียดรอบคอบ ตรงต่อเวลา ไม่เกี่ยงงาน ท่านส่งเสริมให้อาจารย์พัฒนาความรู้ไปศึกษาต่อในสาขาภาษาและวรรณคดี มีคุณวุฒิที่จะถ่ายทอดความรู้ให้นิสิตนับถือ ศรัทธาได้เต็มที่

       ดังที่กล่าวแล้วว่า อาจารย์ทุกท่านสอนวิชาภาษาอังกฤษโดยเลคเชอร์ พูด และอธิบายเป็นภาษาอังกฤษตลอดเวลา ในปีการศึกษา 2516 สมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ ในขณะนั้นทรงดำรงฐานะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เสด็จเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ อาจารย์ทั้งหลายได้รับทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้อาจารย์ปฏิบัติการสอนและเลคเชอร์ในแบบปรกติ ใช้ภาษาสามัญ สุภาพ แก่นิสิตสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและนิสิตทุกคน อาจารย์ทั้งหลายเข้าสอนโดยไม่ต้องถวายคำนับหรือถอนสายบัว อาจารย์รู้สึกสะดวกและเป็นกันเองกับลูกศิษย์ทั้งชั้นเรียน ทั้งที่เรียนรวมทั้งชั้นและที่เรียนแยกกลุ่มย่อย อาจารย์จึงไม่รู้สึกเกร็งหรือขัดเขินในเวลาสอน แต่บางครั้งนอกห้องเรียน อาจารย์เดินสวนกับสมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ ในบริเวณทางเดินตึกอักษรศาสตร์ระหว่างเวลาเปลี่ยนห้องสอน อาจารย์ก็ถวายคำนับหรือถอนสายบัว บางครั้งประหม่าบ้าง ปรากฏว่าอาจารย์ถอนสายบัวและยกมือรับไหว้ด้วยพร้อมกัน ดูเคอะเขินเล็กน้อย สมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ ทรงมีพระพักตร์แจ่มใส ทรงชุดนิสิตถูกกฎระเบียบ และทรงเป็นแบบอย่างนิสิตอุดมคติของนิสิตทั้งหลายและของอาจารย์ที่ได้มีโอกาสถวายการสอนในระหว่างที่พระองค์ท่านทรงศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์

       เมื่อคณะอักษรศาสตร์จัดหลักสูตรในระบบหน่วยกิตระยะหนึ่งแล้ว และได้เปลี่ยนชื่อจากแผนกวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาควิชาภาษาอังกฤษ ดิฉันได้รับหน้าที่หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษในระบบการบริหารแบบใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ มีวาระการทำงานบริหารในตำแหน่ง ๔ ปี

       ช่วงนี้ ภาควิชาภาษาอังกฤษพัฒนาสายงานด้านต่างๆ เริ่มที่การเรียนการสอน อาจารย์ในภาควิชาผลิตเอกสารประกอบการสอนและตำราเพื่อการสอนวิชาภาษาอังกฤษ  สาขาภาษา วรรณคดี และการแปล จัดพิมพ์เป็นเล่มประจำรายวิชาต่างๆ ในการเผยแพร่บทความวิชาการ ภาควิชาภาษาอังกฤษเริ่มจัดทำวารสารวิชาการ ชื่อ "THOUGHTS" โดยรองศาสตราจารย์ ม.ล. อานันท์ชนก พานิชพัฒน์ ริเริ่มจัดทำและเป็นบรรณาธิการ วารสาร "THOUGHTS" มีกำหนดพิมพ์เผยแพร่ปีละ 1 เล่ม วารสาร "THOUGHTS" นี้ ภาควิชาภาษาอังกฤษเผยแพร่สืบต่อมาอีกหลายสมัย นับว่าเป็นเวทีทางวิชาการที่อาจารย์ในภาควิชาได้ตีพิมพ์บทความวิชาการอันเป็นประโยชน์แก่วงวิชาการสาขามนุษยศาสตร์

       มหาวิทยาลัยมอบภารกิจให้อาจารย์ทั้งหลายปฏิบัติ ๔ ด้านคือ การสอน การเขียนตำรา งานวิชาการ/วิจัย การส่งเสริมกิจกรรมนิสิต และการบริการวิชาการแก่สังคม อาจารย์ทุกท่านในคณะและภาควิชาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแก่นิสิต ส่วนภารกิจบริการวิชาการให้สังคมนั้น อาจารย์ในภาควิชาร่วมมือกันเต็มความสามารถ เช่น จัดโครงการอบรมที่มหาวิทยาลัย มอบหมายให้ภาควิชาจัดหลักสูตรระยะสั้น อบรมภาษาอังกฤษให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีจุดมุ่งหมายให้ รปภ. เข้าใจและโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษได้พอสมควร

       ยังมีโครงการบริการวิชาการสังคมอีกหลายโครงการ เช่น เมื่อฝ่ายการศึกษาต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยขอให้ภาควิชาภาษาอังกฤษจัดรายการสอนภาษาอังกฤษทางวิทยุ ออกอากาศวิทยุจุฬา FM 101.5 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หลายรายการ เช่น รายการบทเรียนภาษาอังกฤษทางวิทยุ เรื่อง WONDERFUL THAILAND, ENGLISH IN POPULAR SONGS, ENGLISH IN BUSINESS, ENGLISH IN ANNECDOTES, ENGLISH IN TOURS และ ENGLISH IN NEWS เป็นต้น รายการภาษาอังกฤษทางวิทยุ ได้รับความนิยมจากผู้ฟัง นับว่าเป็นการบริการวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่น้อย

       ดิฉันได้รับหน้าที่หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษอีกวาระหนึ่งในปีการศึกษา ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖ ได้สานต่องานภารกิจด้านต่างๆ และดำเนินนโยบายมุ่งเน้นให้นิสิตเรียนแล้วได้ความรู้ที่ทันสมัยทันโลก มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ และเข้าใจสังคมรอบตัวเรา

       โดยสรุปแล้ว ภาควิชาภาษาอังกฤษในความทรงจำของดิฉัน คือ ภาควิชาที่ให้ความรู้ อบรมกล่อมเกลาให้นิสิตจบการศึกษาเป็นบัณฑิตคนดีคนเก่ง ทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและบ้านเมือง ดิฉันเชื่อมั่นว่าบัณฑิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นบัณฑิตที่รู้จักใช้โอกาสอย่างสมควร สามารถปรับตัวเข้าสู่อาชีพต่างๆ และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้ดีสมความตั้งใจ

 

ผศ. จิตโสมนัส ศิวะดิตถ์

หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๕ และ พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๔

รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๓๑

 

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเล่าเล็กๆน้อยๆจากอดีต ศ.พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์

เรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ จากอดีต

โดย  ศ.พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์

       ผู้เขียนรับราชการครั้งแรกที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ปทุมวัน และโอนมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยขณะนั้นคือ ศาสตราจารย์เบ็ญจวรรณ สุนทรางกูร ชี้แจงก่อนที่จะโอนมาว่าอยากให้มาสอนเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่น  ที่จริงภาควิชาเปิดสอนวิชาวรรณคดีท้องถิ่นมาก่อนแล้ว ผู้สอนคือ ศาสตราจารย์พิเศษวิสุทธ์ บุษยกุล ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตและมีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีอีสานด้วย อาจารย์จึงสอนเน้นหนักในเรื่องวรรณคดีอีสาน   ผู้เขียนเป็นคนเชียงใหม่และทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่องลักษณะวรรณกรรมภาคเหนือ  ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ได้แก่   ภาษาไทยถิ่นเหนือ  อักษรไทเหนือและอักษรอีสานและวรรณคดีท้องถิ่น  

วรรณคดีท้องถิ่นคืออะไร  ทำไมจึงต้องเรียน  เรียนแล้วได้อะไร

ในอดีตเมื่อประมาณ ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว หากพูดถึงวรรณคดีในสังคมไทย เราก็มักจะนึกถึงวรรณคดีที่สร้างสรรค์ที่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์  เช่น ไตรภูมิพระร่วง  ยวนพ่าย ลิลิตพระลอ  ทวาทศมาส  ขุนช้างขุนแผน อิเหนา และพระอภัยมณี เป็นต้น

        อันที่จริงแล้วแต่ละภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ก็มีการสร้างสรรค์วรรณคดีซึ่งมีทั้งที่ถ่ายทอดด้วยการบอกเล่า   ที่ถือว่าเป็นข้อมูลคติชนที่สำคัญด้วยได้แก่ นิทานพื้นบ้าน (folktale) เรื่องเล่าพื้นบ้าน(folk narrative) ตำนานต่างๆ (myth and legend)  ภาษิต ปริศนาคำทาย   เพลงกล่อมเด็ก   เพลงร้องเล่นของเด็ก  รวมทั้งเพลงร้องโต้ตอบของชายหญิง เช่นทางเหนือมีการขับซอ  ทางอีสานมีหมอลำ เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อมีการสำรวจเอกสารใบลาน สมุดข่อย สมุดสา  ก็พบว่าแต่ละท้องถิ่นแต่ละภาคมีเอกสารตัวเขียนเป็นจำนวนมหาศาล   เอกสารดังกล่าวนอกจากเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์   ตำราฤกษ์ยาม ตำรายา ฯลฯ แล้วยังมีวรรณคดีที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นภาษาท้องถิ่น ใช้ฉันทลักษณ์แบบท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก มีทั้งวรรณคดีนิทาน  วรรณคดีประวัติศาสตร์ วรรณคดีคำสอน  วรรณคดีพุทธศาสนา วรรณกรรมพรรณนาอารมณ์ เป็นต้น ล้วนน่าสนใจศึกษาเป็นจำนวนมาก  เช่น  ภาคเหนือมีนิราศหริภุญชัย  โคลงมังทรารบเชียงใหม่  โคลงเรื่องอุสาบารส โคลงเจ้าวิธูรสอนโลก ภาคอีสานพบเรื่องขูลูนางอั้ว  ก่ำกาดำ  ท้าวยี่บาเจือง  อินทิญาณสอนลูก ฯลฯ   ภาคใต้ก็มีเรื่องนายดัน วันคาร สุภาษิตร้อยแปด ตำนานพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช  วรรณคดีท้องถิ่นนับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นความเป็นมาและวิถีชีวิตในสังคม ตลอดจนภูมิปัญญาในการถ่ายทอดความรู้ ความคิดและอารมณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่น  ในการสอนวรรณคดีท้องถิ่นจึงต้องให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความเชื่อ ประเพณีและวิถีชีวิตในสังคมด้วย

       ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ผู้เขียนโอนมาประจำภาควิชาภาษาไทยนั้น  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากรได้โอนมาเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาภาษาไทยด้วย อาจารย์สอนวิชาคติชนวิทยาและเป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทด้านคติชนวิทยา แม้ต่อมาเมื่ออาจารย์โอนไปเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาแล้ว  ในระยะแรกอาจารย์ยังกรุณามาสอนวิชาคติชนวิทยาในระดับปริญญาโทอยู่ อาจารย์ที่ภาควิชาภาษาไทยเชิญมาสอนวิชาคติชนวิทยาอีกท่านหนึ่งก็คือ ดร.วรรณี วิบูลสวัสดิ์ แอนเดอร์สัน  กล่าวได้ว่าในระยะนั้นภาควิชาภาษาไทยได้เริ่มส่งเสริมการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างจริงจัง

       ผู้เขียนเองได้รับทุนระยะสั้นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ไปศึกษาวิชาคติชนวิทยาในช่วงหน้าร้อนที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา  ก็ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาคติชนวิทยาระดับปริญญาตรีอยู่ระยะหนึ่ง จำได้ว่านิสิตสนใจเรียนดีมาก ทำรายงานโดยเก็บข้อมูลภาคสนามจากแหล่งที่ใกล้ตัว มีหัวข้อหลากหลาย เช่น เรื่องการทำฮวงซุ้ยของครอบครัว การจัดตั้งศาลพระภูมิ  เรื่องนิทานจากภาพจิตรกรรมที่ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นต้น  ขณะนั้นมีนิสิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเรียนด้วย  เขาทำรายงานเปรียบเทียบการเล่นของเด็กปักกิ่งกับเด็กกรุงเทพฯ รายงานว่า การเล่นที่เด็กกรุงเทพฯเล่นและเด็กปักกิ่งไม่เล่นคือเล่นประกวดนางงาม และการเล่นที่เด็กปักกิ่งเล่นและเด็กกรุงเทพฯไม่มีโอกาสเล่นคือเล่นปาหิมะ

อันที่จริงวิชาวรรณคดีท้องถิ่นและวิชาคติชนวิทยามีความสัมพันธ์กันมากทั้งเนื้อหาและวิธีการศึกษา การเรียนวิชาวรรณคดีท้องถิ่น นิสิตจะต้องเข้าใจลักษณะสังคมและวิถีชีวิตในท้องถิ่น ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคกลาง ที่เกื้อหนุนให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีทั้งที่เป็นลายลักษณ์และวรรณคดีมุขปาฐะ   ในการสอนวิชาวรรณคดีท้องถิ่นเปรียบเทียบในระดับปริญญาโท  ผู้เขียนมักจะพานิสิตไปศึกษาภาคสนามที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีซึ่งประชากรจำนวนไม่น้อยในอำเภอนี้ยังพูดภาษาเหนืออยู่ทั้งๆที่บรรพบุรุษอพยพโยกย้ายมาเป็นเวลานานแล้ว   

         เมื่อผู้เขียนเรียนปริญญาเอกด้านวรรณคดีไทย  ภาควิชาภาษาไทยได้เชิญศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากรมาสอนวิชาคติชนวิทยาให้ด้วย  นิสิตปริญญาเอกที่เรียนด้วยกันสามคนได้เก็บข้อมูลภาคสนามอย่างสนุกสนานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วิชาคติชนวิทยานี้ต่อมาก็มีอาจารย์ที่ทำวิทยานิพนธ์ด้านคติชนวิทยาและที่สำเร็จการศึกษาในด้านมานุษยวิทยาและคติชนวิทยาคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร  ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา และศาสตราจารย์ ดร.ศิราพร ณ ถลาง มารับผิดชอบต่อไป  ทำให้การเรียนการสอนวิชาคติชนวิทยาของภาควิชาภาษาไทยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเข้มแข็ง มีวิทยานิพนธ์ดีๆและน่าสนใจหลายเรื่อง ปัจจุบันมีอาจารย์รุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านคติชนวิทยาจากภาควิชาภาษาไทยและจากต่างประเทศเป็นผู้สอน

         ผู้เขียนเคยเปิดสอนวิชาภาษาไทยถิ่นเหนือและวิชาอักษรเหนือและอักษรอีสานเป็นวิชาเลือกสำหรับนิสิตที่สนใจ  วิชาอักษรเหนือและอักษรอีสานมุ่งหมายให้นิสิตมีพื้นฐานที่จะศึกษาเอกสารตัวเขียนเช่นคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อยสมุดสาซึ่งบันทึกภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนๆและมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลในท้องถิ่น มีนิสิตสนใจเรียนกันหลายคนและเคยมีนิสิตจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเรียนด้วย ๒ คน  คนหนึ่งเป็นไทลื้อสิบสองพันนา ซึ่งเคยเรียนแต่อักษรไทลื้อใหม่ การเรียนอักษรเหนือช่วยให้เขามีพื้นฐานในการอ่านเอกสารที่เขียนด้วยอักษรไทลื้อเก่าต่อไป   อีกคนเป็นคนไทจากเขตปกครองตนเองใต้คง ตัวอักษรที่คนไทที่นั่นใช้แตกต่างไปจากอักษรไทย อักษรเหนือและอักษรอีสาน  วิชานี้เคยมีนิสิตที่เรียนภาษาสเปญเป็นวิชาเอกมาเรียนด้วย  

         จำได้ว่าได้ถามนิสิตคนนี้ด้วยความแปลกใจว่า ทำไมจึงเลือกเรียน   เธอตอบอย่างน่าเอ็นดูว่า

          “หนูว่ามันเก๋ดีค่ะ  โดยเฉพาะเมื่อขึ้นรถเมล์แล้วคนก้มดูปกสมุดที่หนูเขียนชื่อเป็นตัวอักษรแปลกๆ”

          ผู้เขียนเองได้ชื่อว่าลายมือแย่มากๆ ตอนเรียนปริญญาตรี ศาสตราจารย์วัชรี รมยะนันทน์เคยบ่นว่าต้องเก็บกระดาษคำตอบของผู้เขียนไว้อ่านเป็นคนสุดท้ายเสมอ เมื่อสอนวิชาอักษรเหนือและอักษรอีสานปรากฏว่านิสิตทุกคนเขียนอักษรเหนือและอักษรอีสานได้สวยงามกว่าคนสอนมาก

          ที่น่าชื่นใจก็คือนิสิตชายคนหนึ่งที่เรียนวิชานี้เรียกอาจารย์ที่สอนวิชาภาษาไทยว่า “ครู” ไม่แน่ใจว่าเป็นการเริ่มต้นของการที่นิสิตภาควิชาภาษาไทยเรียกอาจารย์ที่สอนทุกคนว่า “ครู” ในเวลาต่อมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้หรือไม่  คำว่า “ครู”ทำให้คนสอนและคนเรียนรู้สึกใกล้ชิดกันมากเป็นพิเศษ  

         เมื่อผู้เขียนเรียนปริญญาเอกในด้านวรรณคดีไทยนั้นได้รับความเมตตาจากอาจารย์หลายท่านประสิทธิ์ประสาทความรู้ในวิชาต่างๆ  ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมคาย นิลประภัสสร ศาสตราจารย์ฉลวย วุธาทิตย์  ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ศาสตราจารย์พิเศษวิสุทธ์ บุษยกุลและศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส   การเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่องมหากาพย์เรื่องท้าวบาเจือง ซึ่งเป็นวรรณคดีเอกของลาว ต้องอาศัยความรู้ด้านภาษาไทยโบราณ ด้านวรรณคดีศึกษาและคติชนวิทยา  การศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้ช่วยเปิดพื้นที่ศึกษาของผู้เขียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มองเห็นความสัมพันธ์ของวรรณคดีท้องถิ่นกับวรรณคดีของกลุ่มชนชาติไทที่อาศัยอยู่ในประเทศใกล้เคียง   ในการสอนวิชาวรรณคดีท้องถิ่นเปรียบเทียบในระดับปริญญาโท  นอกจากศึกษาวรรณคดีท้องถิ่นต่างๆในประเทศแล้ว จึงให้นิสิตศึกษาวรรณคดีบางเรื่องของชนชาติไทด้วย

        หลังจากผู้เขียนเรียนปริญญาเอกสำเร็จแล้วไม่นานก็ได้รับการมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา เนื่องจากศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี ดุ๊กผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้เกษียณอายุราชการ  ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นช่วยผู้เขียนได้ไม่น้อยเลยในการบริหารหน่วยงานนี้ ในช่วงนั้นผู้เขียนยังสอนหนังสือที่ภาควิชาภาษาไทย  และไม่ได้สอนเฉพาะวรรณคดีท้องถิ่นแต่สอนวรรณคดีไทยบางวิชาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้วย   หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ผู้เขียนก็ยังต้องทำงานวิชาการเรื่อยมาโดยอาศัยความรู้ในด้านภาษาไทย ภาษาถิ่น วรรณคดีไทย วรรณคดีท้องถิ่นและคติชนวิทยา

        วิชาที่ผู้เขียนเคยเป็นผู้สอนและประทับใจมากวิชาหนึ่งคือวิชาการใช้ภาษาไทย  เป็นวิชาระดับชั้นปีที่ ๑ ที่นิสิตทุกคนต้องเรียน  เป็นวิชาที่สอนกันเป็นทีม  อาจารย์ประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ว่าจะมีเนื้อหาและวิธีการสอนอย่างไร  จะเชิญใครมาเป็นวิทยากรพิเศษ  มีการใช้ห้องปฏิบัติการทางภาษาเพื่อฝึกการฟัง  การอ่าน การพูดและการเขียน  ไม่ได้เน้นให้นิสิตใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ส่งเสริมสนับสนุนให้นิสิตมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วย  จำได้ว่าเป็นวิชาที่สอนอย่างมีความสุขมากวิชาหนึ่ง

        กล่าวได้ว่า ผู้เขียนเป็นหนี้บุญคุณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง ตลอดเวลาที่เป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และเป็นอาจารย์ประจำของภาควิชาภาษาไทย ผู้เขียนได้รับความรู้และมีโอกาสสร้างสมประสบการณ์ต่างๆ จนทำให้ได้มีโอกาสทำงานที่รักที่สนใจตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้  สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ  อยากให้ภาควิชาภาษาไทยสนับสนุนการศึกษาวิจัยภาษาไทยทั้งภาษาไทยสมัยเก่าและภาษาไทยสมัยใหม่ ภาษาไทยถิ่นและภาษาของชนชาติไท ในด้านการศึกษาวิจัยวรรณคดีก็อยากให้ส่งเสริมทั้งวรรณคดีโบราณ วรรณกรรมสมัยใหม่ รวมทั้งวรรณคดีท้องถิ่นและวรรณคดีของชนชาติไทต่อไป  ส่วนในด้านคติชนวิทยานั้น เนื่องจากเป็นวิชาที่มีขอบเขตเนื้อหากว้างขวาง นอกจากวรรณกรรมแล้วยังรวมถึงคติความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม การละเล่น การแสดง หัตถกรรมพื้นบ้าน การดูแลสุขภาพ ฯลฯ  มีทั้งส่วนที่ใช้ถ้อยคำภาษาและไม่ใช้ หากคณะอักษรศาสตร์จะเปิดเป็นอีกภาควิชาหนึ่งก็จะช่วยให้การศึกษาด้านนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางลุ่มลึกเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างต่อไป

 

กลับขึ้นด้านบน

ย้อนรำลึกถึงการศึกษา..เมื่อ 54 ปีก่อนโน้น สุภา ลือศิริ สิริสิงห์

ย้อนรำลึกถึงการศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อห้าสิบสี่ปีก่อนโน้น

โดย สุภา สิริสิงห์

       ฉันเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2505 นานจนสภาพบ้านเรือนและมหาวิทยาลัยเปลี่นไปแทบจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ยกเว้นตึกเทวาลัยที่ไม่เคยเปลี่ยน แม้จะผ่านการซ่อมแซมมาหลายครั้ง แต่ก็ซ่อมให้เหมือนเดิม คือ  แข็งแกร่ง ทนทาน และสง่างาม

       แต่เราคงเริ่มต้นตรงนี้ไม่ได้แน่ ต้องเริ่มในปี พ.ศ. 2503 ที่ฉันตามเพื่อนมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่คนสมัยนั้นหลายๆ คนเรียกว่าเตรียมจุฬาฯ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย ในด้านการเรียนการปกครอง นักเรียนเตรียมก็ต้องสอบเข้าในระบบเหมือนนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรทั้งสิ้น

       ฉันเกิดที่บ้านคลองบางเพลี้ย เป็นคลองเล็กแยกจากคลองบางจาก และคลองบางจากนั้นก็แยกมาจากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ บ้านฉันเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงแบบบ้านชาวสวน ดีกว่าบางบ้านที่เป็นกระต๊อบไม้ไผ่ มุงจาก นี่ยังเป็นเรือนไม้ หลังคามุงสังกะสี พ่อแม่เป็นคนจีน อพยพมาจากอำเภอโวเล้ง จังหวัดแต้จิ๋วโน่น ไกลโพ้นจนฉันนึกไม่ออก เตี่ยทำงานมาแล้วสาพัดตั้งแต่เป็นกุลีทำถนน เป็นลูกจ้างทำสวนและมาลงเอยด้วยการเช่าที่ดินขุนนางไทยทำสวนส้ม หมาก พลู มะพร้าว ตอนเด็กๆ ฉันกับพี่สาวต้องช่วยแม่ไสหมากแล้วตากแห้งเก็บไว้ขาย เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของยุคนั้น เพราะหมากสดเก็บไว้ไม่ได้นาน การไสหมากก็คือ วิธีหั่นหมากที่เอาเปลือกออกแล้ว ไสผ่านมีดที่หงายด้านคมขึ้นและสอดไว้ในไม้กระดานหนาๆ ที่เจาะเป็นร่องให้เสียบมีดหงายได้ คนหั่นก็แค่เอาลูกหมากวางลงแล้วใช้ไม้กระดานหรือถ้าถนัดใช้มือก็ได้ ดันหมากให้ผ่านเข้าไปในร่องคมๆ ของมีด มันก็จะออกมาเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปแผ่ในกระด้ง ตากแดดให้แห้งแล้วเก็บไว้ขายในฤดูกาลที่หมากสดหายาก ฉันช่วยทำจนปลายเล็บและปลายนิ้วทั้งสองมือเป็นสีแดงคล้ำ เพราะยางหมาก ล้างฟอกอย่างไรก็ไม่หมด เพื่อนเคยถามว่า ฉันไปทำอะไรมามือถึงสกปรกอย่างนี้ ฉันก็พูดตรงๆ แหละว่าไม่ด้สกปรกแต่ช่วยแม่หั่นหมาก ยางหมากมันล้างออกยาก

       ถ้าเป็นวัยรุ่นยุคนี้คงโดนหัวเราะเยาะ หรือได้รับฟังคำดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่วัยรุ่นยุคฉันเรียบร้อย ได้แต่อือออรับรู้แล้วก็ไม่พูดอะไร

       ตอนอยู่ประถมฉันได้ชื่อว่าเป็นเด็กเรียนเก่ง คงเพราะสมัยนั้นเราเรียนแค่อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น รู้วิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ วิชาด้านวิทยาศาสตร์ไม่มีเลยนอกจากวิชาธรรมชาติวิทยา แต่พอขึ้นชั้นมัธยมก็เริ่มแย่ (ประถมมีแค่สี่ปีเป็นภาคบังคับ) อะไรๆ ก็ทำได้หมดแหละ แม้แต่วิชาเรขาคณิตที่ต้องท่องทฤษฎีต่างๆ มากมาย พีชคณิตที่ต้องเรียนสมการ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฉันเรียนได้ค่อนข้างดีทั้งนั้นแหละ เคมี ชีววิทยา ก็พอได้ แต่พอมาถึงฟิสิกส์ พวกความร้อน แสงเสียง กลศาสตร์ ฯลฯ ฉันก็ล่องจุ๊น ฉันเคยสอบกลศาสตร์ได้ 15 คะแนนจาก 100 โอย ช่างน่าอัปยศไรจะขนาดนั้น พอรวมคะแนนทุกวิชาแล้ว ฉันก็ไม่เคยสอบได้ที่หนึ่งอีกเลย อย่างดีก็สอบได้ที่เลขตัวเดียว แต่ที่โรงเรียนมัธยมที่ฉันไปเรียนแห่งนี้ โรงเรียนวัฒนะศึกษา ตลาดพลู อยู่ตรงถนนวุฒากาศ ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว ก็จะไม่เลิกได้อย่างไรทางด่วนพาดผ่านเหนือโรงเรียนไปทั้งโรงเรียนเลยทีเดียว โรงเรียนมีห้องสมุด ดีกว่าโรงเรียนยุคนี้บางโรงเรียนเสียอีก แต่ที่แน่ๆ ไม่มีนวนิยายให้อ่าน กระทรวงศึกษาธิการห้าม ว่าเป็นหนังสือประโลมโลกย์ ให้อ่านแต่เรื่องแปล นิยายธรรมมะ (ของท่านสุชีพ ปุญญานุภาพ กับท่านวศิน อินทรสระ) ฉันได้รู้จักสมบัติพระศุลี นางพระยาสองพันปี ก็ที่โรงเรียนนี้แหละ อ้อ นิทานแปลของ อ.สนิทวงศ์ ฉันจำได้ว่าเคยได้รางวัลหนังสือเรื่อง ม้าแสนรู้ ของแอนนา ซีเวลล์ ในการประกวดสมุดจดงานสวยมาครั้งหนึ่ง ฉันสนุกกับการอ่านจนคิดว่าคงอ่านหมดทั้งห้องสมุดนั่นทีเดียว ไม่ได้สนใจว่าตัวเองตกวิทยาศาสตร์ ไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ครูผู้มีพระคุณของฉันท่านหนึ่งแนะนำว่า จบมัธยมแล้วก็ไปสอบเข้าวิทยาลัยครูสมเด็จเจ้าพระยา เรียนเพียงสองปีได้ครูป.ป. ก็ทำงานได้แล้ว ชีวิตเช่นนั้นก็น่าจะดีพอแล้วสำหรับลูกสาวเจ๊กสวนพลูอย่างฉัน

       แต่ฉันรู้ดีว่าไม่อยากเป็นครู ฉันมัวแต่นั่งฝันอยากเขียนนวนิยาย มัวแต่นั่งฟังละครวิทยุที่แม่เปิดฟัง และสงสัยว่าทำไม้ทำไมนางเอกพวกนี้ถึงได้ไม่สู้คนเอาเสียเลย นั่งร้องไห้อยู่ได้ให้แม่ผัวรังแก บ้างก็นางอิจฉาใส่ร้ายกับพระเอกต่างๆ นานา พระเอกก็โง้โง่ ใครบอกอะไรก็เชื่อ นางเอกก็ตกระกำลำบากกว่าชีวิตจะมีความสุขก็คงเสียน้ำตาไปหลายโอ่ง เหมือนหนังกลางแปลงที่ฉันดูอยู่บ่อยๆ สมัยก่อนงานบวชงานศพจะมีการจุดพลุ แล้วก็มีหนังกลางแปลงฉาย เจ้าภาพบางรายชอบลิเกก็จ้างลิเกมาเล่น แล้วฉันก็ไปเที่ยวกับแม่ แม่ชอบดูงิ้ว ฉันก็ตามไปดู มีในงานประจำปีของวัดดังๆ หรืองานศาลเจ้า ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ดีกว่าไม่ได้ไปละ มันสนุกดีออก งิ้วที่ดูก็เป็นงิ้วแต้จิ๋วนั่นแหละ ฉันพูดแต้จิ๋วได้เพราะเตี่ยไม่พูดภาษาไทยด้วย แต่ภาษางิ้วมันก็เหมือนภาษากวีของไทย เช่นคำว่าน้ำก็อาจจะเป็นชลธาร วารี อุทก อะไรทำนองนั้น ฉันเลยฟังไม่ค่อยเข้าใจ แล้วงิ้วไม่ได้มีแต่บทพูด มีบทร้องเสียมาก เลยยิ่งฟังไม่รู้เรื่องไปกันใหญ่

       ฉันคิดเอาเองว่าถ้าฉันเขียนนิยายได้นะ ฉันจะไม่ยอมให้นางเอกขี้แพ้ยังงี้หรอก พระเอกก็ต้องไม่โง่ หูเบา แบบที่ฟังในละครวิทยุ หรือในหนังกลางแปลง นางเอกของฉันต้องแกร่งเก่งกล้า บางครั้งถึงกับนึกเทียบกับตัวเองเข้าไปนั้น เพราะชีวิตฉันช่วงอยู่โรงเรียนเตรียมอุดม กับอยู่จุฬาฯ นะมันสาหัสสากรรจ์ใช่ย่อยเสียเมื่อไร ฉันต้องเดินจากบ้านสวนไปขึ้นรถเมล์ที่บางไผ่ถนนเพชรเกษม ระยะทางคิดว่าประมาณสามกิโลเมตร ขึ้นรถเมล์สาย 7 บางแค-นพวงศ์ ไปลงที่ถนนไมตรีจิตใกล้ๆ นพวงศ์ แล้วโหนรถเมล์สาย 21 จุฬาฯ-สำเหร่ ไปโรงเรียน ขากลับก็แบบเดียวกัน นั่งหรือโหนรถเมล์สองทอด แล้วก็เดินอีกค่อนชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าแล้วทำโน่นทำนี่ หุงข้าวไว้ให้คนทางบ้านที่ลงสวน หรือไปขายพลูกันแต่ดึก ออกจากบ้านหกโมงเศษๆ เดินไปขึ้นรถเมล์สองทอด ถึงโรงเรียนแทบจะไม่ทันเข้าแถวทุกวัน เพื่อนคนหนึ่งมักจะชอบออกมาเดินเล่นก่อนโรงเรียนเข้าเพราะมาถึงโรงเรียนเช้า พอเห็นฉันจ้ำอ้าวเข้ามาทางประตูด้านหลังก็ร้องบอกเพื่อนๆ ว่า เตรียมตัวไปเข้าแถวได้แล้ว ยายสุภามาแล้ว รู้กันเชียวว่าฉันไม่มีวันมาถึงโรงเรียนก่อนเวลาเข้าแถวเกินสิบนาทีหรอก ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็แบบเดียวกัน

       ฉันไม่เคยได้ไปไหนไกลเกินตลาดพลู ธนบุรีสมันนั้นเป็นจังหวัดแยกต่างหากจากกรุงเทพฯ ญาติฉันคนหนึ่งที่อยู่โรงงานของญาติอีกนั้นแหละ แนะนำฉันกับเพื่อนๆ ของเขาว่า ฉันมาจาก “ซัวปา” แปลว่ามาจากบ้านนอก ทั้งที่บ้านฉันก็อยู่ไม่ไกลสักเท่าไร แต่คนยุคก่อน ไม่ค่อยไปไหนมาไน ฉันอยู่บางเพลี้ย อย่างดีที่สุดก็ไปตลาดพลู ซื้อข้าวของประเภท กระเป๋ารองเท้าเสื้อนักเรียน เสื้อผ้าอย่างอื่นไม่มีขายสำเร็จรูปอย่างสมัยนี้ ที่จะได้ไปไกลเกินกว่านั้นก็คือไปดูงิ้วที่วงเวียนใหญ่ ในงานวันพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคมของทุกปี มีงิ้วสองคณะประชันกันหัวถนนกับท้ายถนนลาดหญ้า คนมากมาย ดูอะไรไม่รู้เรื่องหรอก แต่สำหรับเด็กย่างวัยรุ่นอย่างฉันมันก็สนุกละ พี่สาวฉันกับเพื่อนไม่ได้เรียนต่อ เขามีเวลาไปดูดนตรีที่สโมสรทหารเรือ ท่าช้าง ต้องเสียเงินดู เขามีเงินเก็บบ้างนิดหน่อยก็ไปกับเพื่อน ไปดูคณะพยงค์ มุกดา จุฬารัตน์ หรือสุรพล สมบัติเจริญ ฉันเคยได้ดูดนตรีพวกนี้บ้างก็ต้องรอวัดใกล้ๆ บ้านมาเปิดวิก (ล้อมสังกะสี) แล้วเก็บเงินคนดู สมัยนั้นโทรทัศน์ก็ยังไม่มี ความบันเทิงอื่นใดก็ไม่มีนอกจากฟังละครวิทยุ พี่สาวพี่ชายฉันไม่ยอมให้ฉันไปด้วย เขามักพูดว่าตัวเองได้เรียนหนังสือดีกว่าใครๆ แล้วไม่ควรมายุ่งเรื่องสนุกแบบนี้ เขาเองจบแค่ประถมสี่ แล้วไปเรียนตัดเสื้อ พอตัดใส่เองได้ หรือตัดให้แม่ให้น้องได้ แต่ฝีมือไม่ดีพอจะรับจ้างตัดได้ พอแต่งงานมีลูกมีเต้าเขาก็แทบจะไม่เคยจับงานเย็บผ้าอีก เพราะช่วงเวลานั้นมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปขายบ้างแล้ว เขาก็หันไปทางการค้าขายพวกของแห้งของชำอะไรไป

       ฉันมีเงินติดกระเป๋าไปโรงเรียนเตรียมอุดมฯ แค่วันละห้าบาท แต่ก็พอใช้นะ เพราะค่ารถเมล์เที่ยวละห้าสิบสตางค์เอง ไปกลับสองทอดก็สองบาท อีกสามบาทไว้ซื้ออาหารกลางวันกิน ข้าวราดแกงจานหนึ่งอย่างมาก็สองบาท กับข้าวสองอย่าง ถ้ากินข้าวอย่างเดียวก็แค่บาทห้าสิบ ไม่ต้องถามนะว่า ฉันกินข้าวราคาจานละเท่าไร โธ่ อีกห้าสิบสตางค์น่ะซื้อน้ำแข็งใส่น้ำหวานได้อีกถ้วย ยังมีเงินเหลือเก็บอีกวันละบาท เงินค่าอาหารกลางวันและขนมพวกนี้มาจากการที่ฉันช่วยแม่ตัดใบมะกรูด เก็บพริกขี้หนู มะนาว ผักบุ้ง ฯลฯ ไปขายที่ตลาด ค่าเล่าเรียนปีละสามร้อยกว่าบาท พอจ่ายไหว แต่ตอนที่ฉันสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมได้และบอกทางบ้านว่าฉันสอบเข้าได้ พ่อแม่ก็ดูยินดีกับฉันเพราะฉันบอกว่าต้องจ่ายอะไรบ้าง ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และใช้จ่ายประจำวัน มันอยู่ในระดับที่พอจะจ่ายได้ แต่อยู่ๆ วันหนึ่งพี่สาวก็มาบอกฉันว่าเพื่อนของเขาบอกว่าพอเข้าไปแล้ว ทางโรงเรียนจะเรียกค่ากินเปล่าสองพันบาท ในปี2503 เงินสองพันมันมากมายมหาศาล ไม่มีทางที่เราจะหาได้ พี่บอกให้ฉันเลิกหวังที่จะไปเรียนเตรียมจุฬาฯ เธอเรียกของเธออย่างนั้น ฉันบอกว่าฉันจะเรียนแล้วสอบเข้าจุฬาฯ ด้วย เขากับเพื่อนหัวเราะฉันกันใหญ่ว่าฝันไกลเกินตัว สองพันนี่ก็คงไม่มีจ่ายให้หรอก ฉันก็บอกว่าไม่รู้ละ ตามรายการค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนให้เตรียมไปในวันมอบตัวมันแค่สามร้อยกว่าบาท ฉันกับพี่ชายก็จะเตรียมเงินไปเท่าทีทางโรงเรียนแจ้งมา แล้วฉันก็ได้เข้าไปเรียนตามที่ฉันต้องการ

       เพื่อนๆ และครูที่โรงเรียนเก่างงกันใหญ่ว่าฉันสอบเข้าได้อย่างไรในเมื่อฉันเรียนไม่เก่งสักหน่อย แหม ช่างไม่คิดเสียมั่งเลยว่าฉันอ่อนวิทยาศาสตร์ นอกนั้นนะฉันได้เกิน 90% ทั้งนั้น แผนกอักษรศาสตร์มันไม่ต้องสอบวิทยาศาสตร์นี่ มียากหน่อยก็คือ คำนวณแต่ฉันทำได้นะ ฉันแน่ใจว่าฉันทำวิชาคำนวณได้แทบทุกข้อ ภาษาไทย สังคมศึกษา ก็ทำได้หมด ยกเว้นภาษาอังกฤษ ฉันมาจากโรงเรียนเอกชนเล็กๆ ไม่ใช่โรงเรียนคอนแวนต์ก็เลยสู้เขาไม่ค่อยได้ อ่านนั้นเข้าใจแต่ฟังและเขียนนั้นแย่มาก แต่ฉันก็ทำสอบพอได้น่ะ

       ปรากฏว่าฉันสอบได้ห้องคิงเสียด้วย แต่แย่หน่อยตรงที่ต้องพยายามเรียนภาษาอังกฤษให้ทันพวกที่มาจากโรงเรียนฝรั่ง ฉันไม่มีเงินไปเรียนพิเศษหรอก ยุคนั้นไม่มีใครเรียนกันด้วย นอกจากกวดวิชาหนึ่งเดือนตอนจะสอบเข้า ฉันก็ไปกวดกับเขาเหมือนกัน ที่โรงเรียนแถวข้างบ้านญาติที่ว่าฉันมาจากบ้านนอกนั้นแหละ แล้วฉันไม่เคยดูโทรทัศน์มาก่อนก็เลยไปนั่งดูกับพวกญาติๆ จนน้าสาวฟ้องแม่ว่าถ้าสอบเข้าไม่ได้ก็คงเพราะมัวแต่ดูโทรทัศน์นี่แหละ แต่ฉันก็สอบเข้าได้ เข้าไปเรียนแล้วภาษาอังกฤษอ่อนกว่าเพื่อนๆ ฉันก็ใช้วิธีเข้าห้องสมุดยืมหนังสือนิทานนิยายภาษาอังกฤษฉบับย่อสำหรับนักเรียนมาอ่าน ไวยากรณ์อังกฤษมันก็เข้าหัวมาเอง ไม่ต้องท่องอะไรนักหนา ศัพท์แสงต่างๆ ก็เหมือนกัน อ่านมากๆ ก็เข้าใจไปเอง ไม่มีปัญหาอะไร

       ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยสิปัญหาใหญ่ของฉันละ สอบถามมาได้รู้ว่าต้องเสียค่าเรียนปีละ 800 บาท ค่าสโมสรนิสิตอีก 80 บาท ฉันได้แต่กลุ้มว่าเงินตั้งเกือบพันจะไปหามาได้จากไหน จะขอทุนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้หรือไม่ หรือถึงได้แต่มันเลยกำหนดจ่ายค่าเล่าเรียนแล้วจะทำอย่างไร แม่บอกว่าคงต้องขอยืมน้าสาวก่อนสักพัน บ้านนั้นทำโรงงานฐานะดีและสนับสนุนการศึกษา พวกลูกๆ ของเขาเรียนสูงๆ ทุกคน เอ่ยปากยืมเงินครั้งเดียวในชีวิต น้องสาวของแม่คงไม่ปฏิเสธหรอก

       แต่ปรากฏว่าแม่ไม่ต้องไปยืมเงินน้องสาวมาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ฉัน ความมานะพยายามทั้งอดหลับอดนอนท่องหนังสือ นอนไม่พอเพราะต้องตื่นก่อนสว่างไปโรงเรียน มันให้ผลตอบแทนคุ้มค่านัก ฉันสอบชั้นเตรียมอุดมที่สองได้ที่สิบสามของแผนกอักษรศาสตร์ของนักเรียนแผนกนี้ทั่วประเทศ และสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้ที่เจ็ด ยุคนั้นมหาวิทยาลัยแห่งนี้สนับสนุนการศึกษาดียิ่ง ถ้าสอบได้คะแนนเป็นสิบคนแรกของทุกคณะจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนและค่าสโมสรด้วย ฉันจึงจ่ายเงินเข้ามหาวิทยาลัยน้อยกว่าตอนที่เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมเสียอีก เพราะซื้อแต่หนังสือกับเสื้อผ้าชุดนิสิต ทุกคนแต่งตัวเหมือนๆ กัน ของแบรนด์เนมอะไรก็ไม่มี ไม่ว่ากระเป๋า รองเท้า หรือเสื้อผ้า ฉันมีชุดนิสิตสามชุด กระโปรงจีบรอบตัวธรรมดาๆ มีเสื้อเชิ้ตสำหรับใส่ไหไหนมาไหนอีกสองตัว ยุคนั้นหน้าจุฬาฯ เป็นคูน้ำเน่า แต่มีคนแกล้งไปปักป้ายว่า ห้ามตกปลา อย่าว่าแต่ปลาเลย เชื้อโรคบางชนิดยังอยู่ไม่ได้เลย หลังจุฬาฯ ด้านโรงเรียนเตรียมมีคลองชื่อ อรชร เป็นที่มาของเตรียมอรชร ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งโรงเรียนสาขาของเตรียมอุดม แล้วยังมีเตรียมอุดมสามพรานอีกแห่งหนึ่ง สยามสแควร์ยังไม่เกิด ฟากพาราก่อนและห้างใหญ่อื่นๆ ยังเป็นสวนฝรั่งและพืชผลอื่นๆ สี่แยกปทุมวันก็เป็นที่ว่างบ้าง สวนบ้าง สลับกัน สามย่านเจริญกว่าเพราะมีโรงเรียนเอกชนเช่าที่ดินของจุฬาฯ เปิดสอนอยู่ มีร้านค้าของสารพัดแต่ตอนนี้หายไปหมดแล้ว กลายเป็นจามจุรีสแควร์แสนหรูหรา และฟากตรงข้ามก็เป็นตึกเรียนสูงหลายสิบชั้นใหญ่โต มหาวิทยาลัยสร้างตึกใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายสิบหลัง ฉันเข้าไปยังๆ อยู่ว่าคณะอะไรอยู่ที่ไหน

       ฉันเข้าไปเรียนด้วยความภาคภูมิใจว่าฉันเก่ง ฉันเรียนดี สอบเข้าได้อยู่สิบเปอร์เซ็นต์แรก ได้รับทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน สักพักหนึ่งฉันถึงได้รู้ว่าฉันไม่ได้เรียนเก่งขึ้นหรอกแต่เพราะพวกผู้ชายที่เรียนเก่งหลายคนไม่สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ เขาไม่อยากเป็นชนกลุ่มน้อยในคณะ แต่ละชั้นปีมีผู้ชายนับสิบนิ้วยังไม่ถึงเลย เขาไปเข้าคณะรัฐศาสตร์ เรียนเศรษฐศาสตร์บ้าง นิติศาสตร์บ้าง พวกเขาไปเรียนวิชาการปกครองหรือการทูต เรียนกฎหมายแล้วก็เรียนพวกวิชาการเงิน ซึ่งมันเหมาะกับพวกเขามากกว่าการเรียนภาษาและวรรณคดี

       เรียนๆ ไปสักพักทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศว่าต่อไปจะไม่ให้ทุนนิสิตที่สอบเข้าใหม่กับลดจำนวนนิสิตปัจจุบันที่ได้รับทุนเหลือแต่พวกที่สอบได้ห้าเปอร์เซ็นต์แรกของทุกชั้นเรียนและทุกคณะ ฉันตกใจมากทีเดียวคิดว่าเสร็จแน่ ต้องรีบเตรียมเก็บเงินค่าเล่าเรียนเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด ฉันคงสอบไม่ได้อยู่ในอันดับหนึ่งถึงห้าหรอก มันไม่น่าจะเป็นไปได้ อยู่มหาวิทยาลัยฉันมีปัญหาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเพราะอาจารย์เป็นฝรั่งแยะ ทั้งอังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส ฉันฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง อ่านเขียนนะได้ แต่ฟังไม่รู้เรื่องนี่สิ หนักหนาสาหัส ฉันอาศัยยืมสมุดจดเล็กเชอร์เพื่อนมาจดอีกรอบ บอกว่าฉันจดไม่ทัน จริงๆ นะฉันฟังไม่ทันต่างหาก เพื่อนๆ ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนคอนแวนต์ชินกับสำเนียงฝรั่งเพราะครูเป็นแม่ชีฝรั่ง เพื่อนผู้ชายที่มาจากโรงเรียนฝรั่งอย่างอัสสัมชัญ หรือเซ็นคาเบรียล กรุงเทพคริสเตียนก็ล้วนแต่เคยชินกับสำเนียงเหล่านี้ ฉันสิมาจากโรงเรียนเอกชนไทยเล็กๆ ไม่เคยได้ยินฝรั่งพูดหรอก หนังสือเรียนประจำชั้นภาษาอังกฤษยังเรียนไม่เคยจบเล่มสักปี ก็ถูๆ ไถๆ ขึ้นชั้นไปจนจบมัธยม ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนียงจึงแย่

       แต่ฉันก็โชคดีอีกแหละ มีเพื่อนที่เรียนปีหนึ่งด้วยกันหลายคนลาออกไปเรียนต่อเมืองนอกเพราะได้ทุน คนหนึ่งได้ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเรียนการธนาคารที่อเมริกา อีกคนได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่อังกฤษ แล้วมีสองสามคนสอบได้ทุนโคลัมโบของออสเตรเลีย การสอบชิงทุนพวกนี้ให้เฉพาะนักเรียนที่สอบเตรียมอุดมปีสองคิดหนึ่งในห้าสิบคนแรกของประเทศ ฉันก็ติดนะ แต่ไม่เคยไปสอบชิงทุนไปนอกกับเขาหรอก ประการแรกพี่ๆ ฉันแต่งงานไปหมดแล้ว เหลือฉันอยู่บ้านคนเดียว ถ้าฉันได้ทุนไปนอกก็คงถูกพี่ๆ ด่าไม่มีชิ้นดีว่าทิ้งภาระพ่อแม่แก่เฒ่าไว้ให้พวกเขารับผิดชอบ ได้เรียนจุฬาฯ นี่ก็ดีกว่าใครๆ แถวนั้นเยอะแยะแล้ว ยังจะทะเยอทะยานอะไรนักหนา แต่ฉันก็คิดว่า ที่สำคัญคือ การฟังภาษาอังกฤษของฉันใช้ไม่ได้ ขืนสอบไปก็คงไม่ได้หรือถึงได้ก็คงไปเรียนไม่รู้เรื่องอยู่ที่เมืองนอก ประการต่อมาก็คือฉันติดนิยาย อยากเป็นนักเขียน ฉันอ่านสตรีสารกับสกุลไทย สมัยนั้นเล่มละไม่กี่บาทหรอก สตรีสารห้าบาท สกุลไทยราคาสามบาทห้าสิบสตางค์ ฉันก็พอจะซื้ออ่านได้ บางทีก็แลกกันกับเพื่อน ซื้อนิตยสารคนละหัวแล้วเอามาแลกกันอ่าน แต่งเรื่องสั้น บทกวี อะไรต่อมิอะไร ไปลงพิมพ์ในนิตยสาร ได้เงินบ้าง ไม่ได้บ้าง เพื่อนเข้าชุมนุมวรรณศิลป์ทำวารสารขายกันในมหาวิทยาลัย ราคาเล่มละ 1 บาท ฉันไม่ค่อยชอบเขียนบทกวีจึงไม่สนใจจะเข้าชมรม ฉันไม่มีเวลาว่างพอจะอยู่ประชุมนอกเวลาเรียนด้วย ถ้ากลับค่ำมากนักฉันจะเดินเข้าส่วนลำบาก มันเปลี่ยวน่ากลัว แต่ฉันมีเวลาพอจะอ่านนิยาย เวลานั้นฉันไม่ต้องเดิน ไปขึ้นรถที่บางไผ่แล้ว แต่มีเรือหางยาววิ่งในคลองบางหลวงไปถึงท่าน้ำใต้สะพานพุทธกับอีกสายขึ้นที่ท่าน้ำข้างโรงเรียนราชินี ฉันจะนั่งสายไหนก็ได้ บางทีก็โดนน้ำสาดเปียกปอนบ้าง แต่สามารถนั่งอ่านนิยายไปได้ตั้งครึ่งเล่มแล้วต่อรถเมล์อีกทอดหนึ่ง ขึ้นต้นทางเสียด้วย ได้นั่งสบาย จะนั่งหลับหรือนั่งอ่านอะไรไปก็ได้สะดวกดี

       นับเป็นหนึ่งในโชคดีของฉันตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วที่ฉันกลัวนักว่าจะสอบได้คะแนนไม่ดีพอจะได้รับทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนก็ไม่ต้องวิตกอีกแล้ว ก็คนเรียนเก่งๆ ไปนอกกันก็ตั้งสี่ห้าคน ฉันก็เลยสอบได้ทุนเป็นคนที่ห้า คนสุดท้ายพอดีของชั้นปีที่สอง

       ขึ้นปีสาม พ.ศ. 2507 ฉันอ่านพบประกาศของมหาวิทยาลัยว่ามีทุนจากบริษัทใหญ่ๆ อุดหนุนนิสิตที่เรียนดีแต่มีปัญหาการเงินให้ส่งประวัติทางด้านครอบครัวและการเรียนไปให้พิจารณา ก่อนจะส่งให้ทางมหาวิทยาลัยต้องให้อาจารย์ผู้ปกครองในคณะลงนามรับรองก่อน ฉันก็ขอสิ ฉันว่าฉันเรียนดีนะ ฐานะก็ยากจนจริง เวลานั้นเตี่ยป่วย เป็นอัมพฤกษ์ไปซีกหนึ่ง รักษามาหลายปีทั้งหาหมอสมัยใหม่ หมอยาไทย กินยาหม้อ นายแพทย์คนที่ฉันพาเตี่ยไปรักษาแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด โดยทำราวไม้ไผ่เกาะแล้วค่อยๆ หัดเดิน ปรากฏว่าได้ผลดี เตี่ยยังทำงานได้ แต่สมบุกสมบันอย่างแต่ก่อนไม่ได้ เพียงเท่านี้ก็ดีเหลือหลายแล้วละ แต่รายได้จากสวนที่เราเช่าเขาทำอยู่มันก็ลดลงเพราะเตี่ยทำงานได้น้อยลง แม่ก็สุขภาพไม่ค่อยดีนัก บ้านไม้ของเราก็เริ่มผุพัง ไม่ค่อยได้มีการซ่อมแซม ฉันเขียนประวัติขอทุนไป แล้วไปหาอาจารย์ผู้ปกครองของทางคณะให้เซ็นรับรอง ท่านก็เซ็นให้หรอกแต่บอกว่าไม่น่าจะได้นะ เพราะยังมีคนอื่นลำบากกว่าฉันเยยะ บางคนเป็นลูกกำพร้า บางคนอยู่วัด พ่อแม่เป็นชาวนาไม่มีรายได้พอส่งเสีย แต่ฉันต้องเสี่ยงส่งหนังสือขอทุนไป ถ้าจะได้ทุนก็คงเพราะฉันสอบได้ที่ห้าของชั้นเรียนแหละ

       แล้วก็จริงตามที่คิด ฉันได้ทุนจากบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์มาสองพันบาท ช่วยแก้ปัญหาไปได้มาก แต่ฉันไม่ได้เอามาใช้ในการเรียนหรอก เอาไปจ่ายค่าเช่าที่ดินเสียหนึ่งพันสองร้อยบาท แล้วก็ใช้พาเตี่ยไปหาหมอเป็นครั้งคราว ต้องจ่ายค่ายา แต่หมอไม่คิดแพงเหมือนโรงพยาบาลเอกชนสมัยนี้ ยังพอจ่ายไหว ค่าใช้จ่ายที่ฉันใช้มาจากพวกผักหญ้าในสวน ปลูกพริกขี้หนู มะกรูด มะนาว ใบตอง ผักบุ้ง อีกสารพัดใบไม้ ใบทองหลาง ใบชะพลู และใบพลูที่กินกับหมากนั่น มีแม่ค้าหาบเร่มาซื้อถึงที่ เพื่อนบ้านใกล้ๆ กันนั่นแหละ เอาไปขายที่ตลาดเอากำไรอีกทอดหนึ่ง เพราะลำพังแม่คนเดียวทิ้งเตี่ยไปขายของที่ตลาดทั้งวันไม่ได้ หมาก มะพร้าว ใบพลูก็อาศัยเพื่อนบ้านซื้อเอาไปขายต่อทำกำไร เราสามคนก็อยู่รอดกันมา แต่พอถึงเวลาจ่ายค่าเช่าที่ดิน เราไม่มีเงินเหลือเก็บเลย ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร พี่ๆ เค้าก็สนใจแต่ครอบครัวของเขา แล้วก็จนๆ กันทั้งนั้น ฉันยังนึกขอบคุณบริษัทคาลเท็กซ์มาจนทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้ทุนสองพันบาทก้อนนี้ฉันยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าเราจะอยู่กันได้อย่างไร ถ้าเจ้าของที่ดินเขาไล่ที่ เอาส่วนไปให้คนอื่นเช่า

        ตอนอยู่ปีสามนี่ฉันเริ่มหัดเขียนเรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสาร แข่งกันในทีกับเพื่อนบางคนที่ชอบเขียนเหมือนกัน ตอนแรกแรกฉันแพ้ ส่งเรื่องสั้นไปกี่เรื่องๆ ก็ลงตะกร้าหมด ของเพื่อนได้ลงตีพิมพ์ก่อน เอามาอวดมาอ่านกันทั้งห้อง ไม่เป็นไรเอาใหม่ ลองดูอีกซักตั้ง ลองแปลเรื่องสั้นของฝรั่งส่งไป ปรากฏว่าได้ลงตีพิมพ์ สมัยนั้นเรื่องลิขสิทธิ์ไม่เข้มข้นเหมือนยุคนี้ หามาแปลได้ก็แปลขายกันไป ได้ลงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในนิตยสารขวัญจิต ชื่อเรื่อง ไอ้ดำ ใช้นามปากกาทิพย์เกสร ใช้อยู่หนเดียวเท่านั้น ไม่เคยใช้อีกเลย ต้นฉบับดั้งเดิมหาไม่ได้แล้ว เพราะฉันเก็บข้าวของไม่ดีพอเลยหายไป

       การเรียนอักษรศาสตร์ในยุคนั้นเราเรียนกันเต็มวันตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ไม่มีโอกาสเลือกเวลาเรียน ทุกอย่างเป็นไปตามที่ทางคณะจัดให้ ตอนปีสองเราต้องเดินไปเรียนวิชาชีววิทยากับวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่คณะวิทยาศาสตร์ ตอนแรกก็งงๆ อยู่ว่าทำไมต้องให้เราไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย ทิ้งมาตั้งหลายปีแล้ว เพิ่งมานึกรู้ตอนอายุมากแล้วว่า ชีววิทยานั้นมันแฝงเรื่องเพศศึกษาไว้ด้วย แต่ไม่พูดกันตรงๆด้านวิทยาศาสตร์กายภาพนั้นมีอะไรคล้ายภูมิศาสตร์กายภาพ ช่วยในเรื่องการเรียนวิชาการทำแผนที่ แต่ฉันไม่ได้เรียนการทำแผนที่เพราะพอขึ้นปีสาม เราเริ่มเลือกวิชาเอกกันแล้ว ฉันก็เลือกเรียนภาษาไทย (ยังไม่มีการแบ่งหมวด ต้องเรียนหมดทั้งภาษาและวรรณคดีกับภาษาโบราณตะวันออก พวกบาลี สันสกฤต ซึ่งเราก็เรียนกันมาตั้งแต่อยู่ปีหนึ่งแหละ) ฉันเลือกวิชาภาษาอังกฤษกับภาษาฝรั่งเศสด้วย สมัยนั้นยังไม่มีการแบ่งหมวดเหมือนกัน เรียกว่าเรียนกันหัวหมุนล่ะ ทั้งวัน มีเวลาแค่พักเที่ยงกับพักน้อยอีกสิบนาทีเท่านั้น เราจดเล็กเชอร์กันทั้งวัน ไม่มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ใดใดช่วย นอกจากหนังสือตำราในห้องสมุด ปากกาหมึกแห้งยังไม่แพร่หลาย ต้องใช้ปากกาหมึกซึมหนาหนัก ฉันมักจะกดปากกากับนิ้วกลางข้างขวาแล้วจดหนักๆ ให้อ่านได้ชัดๆ ผลจากการกดปากกาหมึกซึมหนักๆ บนปลายนิ้วกลางขวาด้านซ้ายทุกวันๆ วันละหลายชั่วโมง ทำให้กระดูกปลายนิ้วนั้นของฉันเบี้ยวเห็นถนัดมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเมื่อฉันเขียนหนังสือเป็นอาชีพทั้งงานประจำและงานเขียนนิยายฉันจึงใช้พิมพ์ดีด ฉันไปเรียนพิมพ์สัมผัสมาก็จริง แต่เวลาเคาะ วิธีที่ถูกคือใช้นิ้วแม่โป้งทั้งสองข้างเคาะสลับกัน แต่ฉันทำไม่ได้ ฉันพิมพ์สัมผัสได้คล่องทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษแต่พอจะเคาะเว้นวรรคฉันใช้นิ้วโป้งขวาเท่านั้น ถ้าเปลี่ยนไปใช้นิ้วโป้งซ้ายฉันจะต้องชะงักการพิมพ์ เสียเวลาและสายตา ฉันเลยใช้แต่นิ้วโป้งขวา เจ้าโป้งขวาของฉันมันจึงประท้วงด้วยการเป็นนิ้วดีด เป็นอาการเส้นเอ็นนิ้วข้างในมันอักเสบ มันจะกระตุกเป็นระยะระยะแทบทุกสิบนาที เวลามันดีดเจ็บจนน้ำตาร่วง แก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเล็ก ให้ปลอกเส้นเอ็นมันหลวม แบบเดียวกับคนที่เป็นนิ้วล็อค มือซ้ายของฉันก็เป็นนิ้วล็อคแต่ไม่ใช่อาการนิ้วแข็งจนงอนิ้วไม่ได้ เช้าขึ้นมาต้องคอยดึงนิ้วแช่น้ำอุ่น อาการของฉันคือมือซ้ายชาไม่มีความรู้สึกไปค่อนฝ่ามือ นิ้วก้อยซ้ายเท่านั้นที่ไม่ชา วิธีการรักษาแรกๆ ก็ฉีดยาแต่เมื่อมันเป็นมากเข้าก็ต้องผ่าตัด เห็นรอยแผลเป็นตั้งแต่โคนนิ้วกลางไปจนถึงข้อมือ เวลานี้แผลเป็นจางไปมากแล้ว อาการเจ็บๆ ชาๆ ที่ข้อนิ้วยังมีอยู่บ้างแต่พอได้จากอะไรร้อนๆ หรือนวดนอ่ะบุญมันก็จะหายไป

       มันเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน คนที่ใช้นิ้วกดสมาร์ทโฟนทั้งวันระวังไว้ให้จงดี นอกจากเสียสายตาแล้วยังต้องระวังอาการนิ้วล็อคด้วย เด็กๆ ก็เป็นได้นะถ้าใช้นิ้วกดโทรศัพท์มากๆน่ะ

       ผลสอบขึ้นชั้นปีที่สี่ของฉันดีเกินคาดทั้งที่ฉันเอาเวลาไปเขียน เรื่องสั้นเสียเยอะ เป็นครั้งแรกในชีวิต นักเรียนนักศึกษา (ยกเว้นตอนเรียนชั้นประถม) ที่ฉันสอบได้ที่สอง แพ้เพื่อนคนที่ได้ที่หนึ่งเพียงสองคะแนน เพื่อนคนนั้นเวลานี้เป็นชาวฝรั่งเศสไปแล้ว ได้ด็อกเตอร์ด้วย พ.ศ. 2508 ฉันขึ้นชั้นปีที่สี่ ภาคภูมิใจว่าฉันคงสอบได้เกียรตินิยมเพราะคะแนนเกิน 80% ยุคฉันไม่ได้ให้คะแนนแบบสมัยนี้ ฉันขอทุนเรียนดีแต่ยากจนอีก อาจารที่ปรึกษาคนเดิมก็พูดอีกว่าฉันยังลำบากไม่พอ ยังมีคนลำบากกว่าฉันอีกมาก โธ่ อาจารย์ขา หนูต้องตื่นตีห้า ออกจากบ้านหกโมงเช้าเพื่อที่จะไปเรียนให้ทัน พ่อเป็นอัมพฤกษ์ เพิ่งทุเลา ทั้งพ่อและแม่อายุเลยวัยเกษียณแล้วทั้งคู่เพราะฉันเป็นลูกคนที่หก เมื่อพ่อมีฉันนะเพราะอายุเกือบห้าสิบแล้ว ตอนเย็นกว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ ที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะอยู่สวน ต้องจุดตะเกียงน้ำมันก๊าซทำการบ้านจนดึกดื่น อาจารย์ยังบอกว่าหนูลำบากไม่พอ วันเสาร์อาทิตย์ต้องช่วยงานสวน หาเงินไว้ใช้จ่ายไปมหาวิทยาลัย วันนั้นฉันหน้าเสียเดินออกจากห้องอาจารย์แล้วนำใบขอทุนไปส่งที่ทำการกลางของมหาวิทยาลัยด้วยจิตใจห่อเหี่ยว ก็ยังดีนะที่อาจารย์ยังยอมเซ็นใบรับรองให้ฉัน ไม่ได้ถึงกับใช้วิจารณญาณของอาจารย์เองว่าฉันยังลำบากไม่พอ

       แต่ทางมหาวิทยาลัยคณะกรรมการให้ทุนไม่ยักคิดเหมือนอาจารย์ฝ่ายปกครองท่านนั้น ทางมหาวิทยาลัยประกาศให้ทุนเรียนกับฉัน เป็นทุนที่ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนฝันจะได้ นั้นคือทุนภูมิพล ฉันจะได้ขึ้นไปรับซองพระราชทานจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของรุ่นพี่ ฉันกลับบ้านไปนอนน้ำตาไหลเสียค่อนคืน ทั้งภูมิใจและซึ้งใจ นั่นคือดีใจจนต้องร้องไห้เพราะคาดไม่ถึงแหละ

       ช่วงนั้นฉันเขียนนิยายขนาดสั้นพอได้เงินบ้างแล้ว ฉันไม่อยากใส่รองเท้าดำโทรมๆ ราคาถูกถูกที่ใช้ประจำวันขึ้นรับประทานทุน เพื่อนพาฉันไปซักรองเท้าที่ร้านดังแถวเสาชิงช้า ร้านนี้ยังไม่ดังที่สุดหรอก ร้านที่ดังกว่าในการตัดรองเท้าอยู่แถวบางรัก สาวๆ สมัยใหม่เขาตัดกัน รองเท้าในห้างไม่มี เพราะไม่มีห้างหรูๆ เหมือนสมัยนี้ สำหรับฉันแล้วได้ตัดรองเท้าร้านเดียวกับเพื่อนที่เป็นลูกข้าราชการระดับสูงก็เลอเลิศประเสริฐศรีนักแล้ว เงินที่จ่ายค่ารองเท้าก็เป็นเงินที่ฉันหามาได้เอง จากมันสมองของฉัน ไม่ใช่เงินจากสวนจากต้นไม้ที่พ่อแม่ปลูกเสียด้วย เงินของฉันเองจริงๆ นะ เงินก้อนแรกที่หาได้จากอาชีพนักเขียนนวนิยาย ฉันจำได้ดีว่ารองเท้าคู่ละราคา 120 บาท ปกติฉันใส่รองเท้าราคาคู่ละไม่เกินห้าสิบบาท ซื้อแถวตลาดพลูเพราะมันถูกกว่าแถวบางลำพู หรือพาหุรัดแหล่งชอปปิ้งของสมัยนั้น เพื่อนๆ ที่คบหากันไม่มีใครสนใจเรื่องราคาของใช้ ไม่ว่าลูกนายธนาคาร ลูกนายพล ลูกพ่อค้ามหาเศรษฐี เราใช้ของไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ อุปกรณ์การเรียนซื้อจากสหกรณ์มหาวิทยาลัย เสื้อผ้าก็ซื้อเสื้อผ้าจากบางลำพูมาตัด เครื่องแบบนิสิตซื้อจากสหกรณ์เหมือนกัน ไม่มีใครโก้กว่าใคร

       ปีสุดท้ายฉันเลือกเรียนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษสองหมวด ภาษาไทยยังไม่มีการแยกเป็นหมวดภาษา วรรณคดี ภาษาโบราณตะวันออก ต้องเรียนทั้งหมด ภาษาอังกฤษแยกเป็นสองหมวดคือ ภาษาและวรรณคดี ฉันดร็อปภาษาฝรั่งเศสไปเพราะคิดว่าเอาดีภาษาอังกฤษอย่างเดียวเถอะ สมองมันจะได้ไม่วุ่น กลับไวยากรณ์ฝรั่งเศสอันแสนยากเย็น จะได้มีเวลาเขียนนิยาย แล้วฉันก็เพลิดเพลินกับการเขียนนิยายขายเสียจนบางวันถ้าบอกไม่รับสำเนียงอเมริกันของอาจารย์เคนแมนกับอาจารย์เคนเนดี้สุดหล่อ สมองฉันคิดแต่ว่านางเอกของฉันจะแก้ปัญหาอย่างไร พระเอกของฉันควรทำงานอะไร นางร้ายของฉันต้องร้ายแบบมีมันสมองนะ ไม่ใช่ร้ายแบบตะเบ็งอยู่ตลอดเวลาว่า ฉันไม่ยอม ผู้ชายคนนี้ต้องเป็นของฉันคนเดียว

       ฉันเขียนเรื่องยาได้เงินพอใช้จ่ายส่วนตัว เป็นปีที่ฉันมีความสุขกับการเรียนการทำงานมาก แต่ผลสอบปลายปีของชั้นออกมาไม่ดีเลย ฉันสอบได้แค่ 72% ฉันไม่ได้เกียรตินิยม ทั้งที่คะแนนได้เกิน 70% ทุกปี ไม่เคยสอบซ่อม ไม่เคยซ้ำชั้น ถ้าสอบปลายปี 4 ฉันได้คะแนนเกิน 75% ฉันก็ได้เกียรตินิยมอันดับสอง อันดับหนึ่งสมัยฉันหวังได้ยากนักเพราะต้องรักคณาถึง 85%

       ไม่ได้ก็ไม่ได้ ฉันไม่ได้อยากเป็นข้าราชการ ฉันอยากเป็นนักเขียน เพื่อนๆ ทุกคนรู้ แต่ก็อดปากไว้ไม่ได้ว่าทำไมคะแนนของฉันจึงตกลงไปขนาดนั้น ฉันก็ยิ้มแหยๆ บอกว่า มัวแต่เขียนนิยายขาย เพราะพ่อแม่แก่เฒ่าและยากจนเกินกว่าจะส่งเสียให้ฉันเรียน รายได้แทบไม่พอซื้ออาหารกินกันในครอบครัว ได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว ฉันเลือกเกิดไม่ได้ แต่ฉันเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้ และฉันอยากเป็นนักเขียนนวนิยาย

       พ่อแม่ให้ชีวิตฉัน จุฬาฯ ให้โอกาสในชีวิตแกฉัน คณะอักษรศาสตร์หล่อหลอมให้ฉันเป็นนักอ่าน และได้เป็นนักเขียนที่ก้าวถึงจุดสูงสุดของอาชีพ คือเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

       ฉันขอบคุณอาจารย์เจ้าของโรงเรียนสุธรรมศึกษา ซึ่งเป็นคนบอกพ่อแม่ว่าฉันเรียนดี ควรให้เรียนต่อ และพ่อแม่ของฉันเชื่อท่าน

       ขอบคุณเพื่อนๆ ที่ชวนฉันไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ฉันเข้าได้แต่เพื่อนเข้าไม่ได้ ชีวิตมันตาลปัตรเสียอย่างนั้น โรงเรียนนี้ทำให้ฉันแกร่งและทรหดอดทนกว่าใคร

ขอบคุณบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ที่ช่วยฉันโดยบังเอิญในยามวิกฤตของชีวิต

       และที่สุดของที่สุดคือ พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานทุนให้ทางมหาวิทยาลัยมอบให้แก่นิสิตที่เรียนดีแต่ยากจน และฉันได้มาต่อชีวิตนิสิตซึ่งเกือบจะไม่สามารถมาเรียนในปีสี่ได้หากไม่ได้เงินทุนก้อนนั้น

       สุดท้ายขอชื่นชมตัวเองสักนิดว่าฉันนั้นช่างอึดอะไรอย่างนี้ เดินวันละเกือบสิบกิโลเมตรไปกลับนอนคืนละไม่ถึงหกชั่วโมง ไฟฟ้าน้ำประปาไม่มีใช้ อยู่รอดได้ก็เก่งแล้ว แต่เจ้าความเป็นคนประเภทบักอึ้ด นี่แหละที่ช่วยฉันมีชีวิตเช่นทุกวันนี้

       เขียนเป็นแต่นั้นนวนิยายชีวิตจริง ไม่หวานแหววยอดนิยมอย่างคนอื่น แต่ฉันพอใจและมีความสุขของฉันแล้วละ

จาก "โบตั๋น "

สุภา ลือศิริ สิริสิงห์ อ.บ. รุ่น 30

 17 กันยา 2559

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเครียดที่มาพร้อมกับตำแหน่งคณบดี ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ

เรื่องเครียดที่มาพร้อมกับตำแหน่งคณบดีอักษรฯ

โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ

         ดิฉันเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๔๗-๒๕๕๑ วันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่ง คือ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ ก็ได้พบหมายศาลวางไว้บนโต๊ะทำงานในสำนักคณบดี ระบุชื่อและนามสกุลชัดเจน เป็นคดีฟ้องร้องเรื่องเก่าของคณะ มรดกตกทอดจากท่านคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ ซึ่งตัวท่านเองก็รับมรดกมาเหมือนกัน ดิฉันรู้สึกหดหู่มากกับชะตาชีวิตของตนเอง ไหนจะโครงการวิจัยภาคสนามที่จังหวัดน่านซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) งบประมาณ ๓ ล้าน ที่มีนิสิตบัณฑิตศึกษาของภาควิชาภาษาศาสตร์ร่วมโครงการอยู่ ๕ คนและสมาชิกประชาคมน่านอีก ๒๐ คน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไหนจะต้องไปเป็น invited speaker ที่ออสเตรเลีย เรื่องงานวิจัยต้องทำต่อไป แต่เรื่องการนำเสนอบทความในต่างประเทศต้องยกเลิกและถูกทดแทนด้วยการประชุมเย็นย่ำค่ำมืดหลายครั้งที่คณะนิติศาสตร์ โชคดีที่มหาวิทยาลัยและคณะนิติศาสตร์ช่วยเหลือเลยไม่ต้องขึ้นศาล แต่ก็เครียดและวิตกจริตอยู่ไม่น้อย

       ช่วงนั้นการเมืองมาแรงหลายขั้วหลายสี อาจารย์ นิสิตและเจ้าหน้าที่ของคณะได้เข้าร่วมด้วยอย่างเข้มแข็ง มีการเดินขบวนไล่นายกจากหน้าอาคารบรมราชกุมารีซึ่งเป็นแหล่งรวมพลไปที่ถนนพระราม ๑ แถว ๆ สยามพารากอน ดิฉันไม่ได้ไปเดินด้วยเพราะมหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้ผู้บริหารวางตัวเป็นกลาง ในฐานะคณบดีต้องเตรียมรับสถานการณ์เต็มที่ โดยประสานงานกับผู้เดินขบวนเป็นระยะ ๆ และกับมหาวิทยาลัยเรื่องความพร้อมในการเปิดประตูด้านถนนอังรีดูนังต์และเปิดประตูอาคารมหาจุฬาลงกรณ์และมหาวชิราวุธ หากอาจารย์ นิสิตและเจ้าหน้าที่ของเราแตกพ่ายหนีมาหลบภัย สรุปก็คือไม่ได้กลับบ้าน ต้องเฝ้าดูสถานการณ์จนทุกอย่างสงบเงียบ

        เรื่องถูกด่าประจำสัปดาห์ทางโทรศัพท์ จดหมาย และบัตรสนเท่ห์จากทุกฝ่าย ดิฉันเก็บเอกสารทุกชิ้นเข้าแฟ้มไว้อย่างดีจนหมดวาระจึงได้เผาทิ้ง บางครั้งสันติบาลก็มาขอให้ทำโน่นทำนี่เพื่อใช้เป็นหลักฐานกล่าวหาคนบางคน ก็ต้องหาวิธีให้ชาวอักษรฯหลุดพ้นไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับวังวนซึ่งไม่ทราบว่าเป็นจริงเป็นเท็จเพียงใด จึงต้องรู้หลบจากการตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่าง ๆ

      วันดีคืนดีขณะที่กำลังประชุมคณบดีเช้าวันพุธ ก็มีนักศึกษาบ้านใกล้เรือนเคียงยกกันมาขอพบท่านอธิการบดีเพื่อยื่นหนังสือ มีการขู่ทำร้ายนิสิตจุฬาฯ มีการยิงปืนขึ้นฟ้าในบางโอกาส และมีการขู่กรรโชกแบบต่าง ๆ ซึ่งทำให้ต้องห่วงนิสิตโดยเฉพาะนิสิตหญิง

      วันหนึ่งมีตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งมาหาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่ารับสินบนจากนิสิตหญิงผู้หนึ่งที่ขอย้ายคณะจากคณะอักษรศาสตร์ไปคณะจิตวิทยา นิสิตหญิงผู้นี้อ้างว่าได้ใช้เงินติดสินบนคณบดีสองคณะกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนมหาวิทยาลัย เมื่อตำรวจทราบว่าโดยกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยการย้ายคณะตามใจชอบเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ทางตำรวจก็เปลี่ยนสถานภาพของดิฉันจากจำเลยเป็นพยาน เวลาผ่านไปหลายเดือน ถึงเวลาจะต้องไปขึ้นศาล ฟ้ามีตาเทวดาก็เลยมาช่วยไว้ทันไม่ต้องขึ้นศาล อยู่ดีๆ ต้องมาเดือดร้อนเพราะเรื่องคนอื่นที่เขาแย่งสมบัติกันและครอบครัวต้องแตกแยกเพราะนิสิตหญิงสิบแปดมงกุฎ เรื่องนี้เป็นเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับและในทีวีหลายช่อง เหตุการณ์นี้เพียงแค่รำคาญใจ ไม่ได้กลัวอะไรเพราะมันเป็นเรื่องแบบการ์ตูน คณะอักษรศาสตร์มีฐานข้อมูลรายชื่อนิสิตของเราแต่ละรุ่นสามารถตรวจสอบได้ เธอผู้นั้นไม่เคยเป็นนิสิตของเราเลย

       ช่วงเป็นคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปทมา อัตนโถ (ครูปุ้ม) เป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต นิสิตส่วนใหญ่เป็นเด็กน่ารักไม่มีปัญหาอะไรมากนักที่ทำให้ฝ่ายกิจการนิสิตต้องลำบากใจ ที่นึกออกกรณีที่พูดถึงกันมากคือ มีนิสิตชายหัวก้าวหน้าและรุนแรงกับแฟนสาวทำอะไรแปลก ๆ อยู่บ้างเท่านั้น เช่น ชอบโพสต์ข้อความที่ไม่สมควรจึงทำให้ฮือฮากันเป็นระยะ ๆ ฯลฯ อีกเรื่องหนึ่งคือ ฝ่ายกิจการนิสิตเข้มงวดเรื่องการแต่งกายของนิสิตและให้อาจารย์ทั้งหลายช่วยกันตักเตือน พวกนิสิตเห็นอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตมาแต่ไกลก็รีบวิ่งหนีหรือไม่ก็แอบหลังเสา เรื่องนี้เล่าสู่กันฟังแบบสนุก ๆ เท่านั้น

       เมื่อมีเรื่องเกี่ยวข้องกับกิจการนิสิต ในการประชุมอินเนอร์ของกลุ่มคณบดี รองคณบดีและผู้ช่วยคณบดี บางครั้งก็มีเรื่องขัดกันบ้าง ตัวอย่างเช่น รองคณบดีบางท่านไม่เห็นด้วยกับการตีกลองร้องเพลงและทำท่าทางประกอบของนิสิต เพราะดูล่อแหลมและไร้สาระเกินไป แต่สุดท้ายก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา

       ที่เล่ามาข้างต้น แม้จะเป็นเรื่องน่าเครียดสำหรับคณบดี แต่ความยุ่งในการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันได้ช่วยทำให้ลืมเรื่องยุ่งยากทั้งมวลได้โดยง่าย การยึดถือคติ พรุ่งนี้สำคัญกว่าเมื่อวานเป็นข้อเตือนใจที่ดี

 

กลับขึ้นด้านบน

เส้นทางอันยาวไกล รองศาสตราจารย์ อรชุมา ยุทธวงศ์

เส้นทางอันยาวไกล

โดย  รองศาสตราจารย์ อรชุมา ยุทธวงศ์

        การจะเขียนถึงภาควิชาศิลปการละครนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เอ่ยถึงปูชนียบุคคลที่ชื่อ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล ควบคู่ไปด้วย ผู้เขียนโชคดีมากที่ได้เรียนและทำงานใกล้ชิดอาจารย์สดใสเป็นเวลาประมาณ 30 ปี นับตั้งแต่ยุคบุกเบิกก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร จนกระทั่งถึงวาระที่อาจารย์เกษียณอายุราชการ (พ.ศ. 2509-2536 )

การเรียนการสอน

       บรรยากาศของการเรียนการสอนสมัยก่อนเป็นไปอย่างใกล้ชิด มีอาจารย์การละครเพียงอาจารย์สดใสและอาจารย์ชาวต่างประเทศ ด้วยยังเป็นช่วงบุกเบิกและขึ้นอยู่กับ แผนก วิชา ภาษาอังกฤษ แต่ละปีมีนิสิตเลือกเรียนเป็นวิชาเอกจำนวนไม่มากนัก ปีที่ผู้เขียนเรียนมีอยู่ 7 คน ถ้าจะหนีเรียนต้องทยอยตกลงกันเอง จะได้ไม่ดูบางตาจนเกินงาม การละครสมัยใหม่ในสมัยนั้นยังเป็นของใหม่มากของประเทศ จัดอยู่ในประเภทเต้นกินรำกิน จึงมักมีนิสิตมาร้องทุกข์หรือร้องไห้ร้องห่มว่าพ่อแม่ไม่ยอมให้เรียน เพราะไม่เห็นว่าจะทำเป็นอาชีพอะไรได้ ต่างกับสมัยนี้ที่พ่อแม่แทบจะร้องไห้อ้อนวอนออกแรงผลักดันให้ลูกได้เข้าสู่วงการ

       นิสิตที่เรียนศิลปการละครนั้นมักเป็นที่เพ่งเล็ง เพราะเป็นนักกิจกรรม ต้องทำงานดึกๆ แต่งตัวไม่เรียบร้อย บ่อยครั้งที่ไม่ใส่เครื่องแบบ แถมอาจารย์ฝรั่งที่มาสอนช่วงสั้น ๆ ก็แต่งตัวร่าเริงมาก กางเกงแดง กางเกงเหลือง เสื้อเขียว แต่อาจารย์สดใสก็สามารถเฟ้นหาอาจารย์พิเศษมาช่วยสอนพวกเราได้เรื่อย ๆ อาทิเช่น คุณพิชัย วาสนาส่ง ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช คุณเสรี ลืออำรุง ไม่นับชาวต่างประเทศผู้ชำนาญการที่ติดตามสามีมาอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย และผู้ที่องค์กรต่าง ๆ เช่น USIS AUA หรือ British Council ส่งตัวมาช่วย ผู้เขียนจำได้ว่าข้อสอบวิชากำกับการแสดงของอาจารย์การละครชั้นยอด Barry Smith นั้นแหวกแนวมาก เข้าห้องสอบไปพบดอกกุหลาบแดง 1 ดอกวางบนสมุดที่ให้เขียนคำตอบ ส่วนเอกสารข้อสอบมี 1 แผ่น คำสั่งมี 1 ประโยคสั้น ๆ ว่า Observe the rose. เพียงแค่นี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนให้ได้ความหมายของการกำกับการแสดง

 ร้องรำทำเพลง

       เมื่ออาจารย์สดใสได้ลาราชการรับทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา นั้น อาจารย์ได้รับการเซ็นสัญญากับบริษัทผู้สร้างใหญ่ในฮอลลีวู้ด ได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียง  แสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ และรับเชิญไป ปรากฎตัวในรายการโทรทัศน์ที่โด่งดังต่าง ๆ แต่ในที่สุดอาจารย์ก็ได้เปลี่ยนสัญญาเป็นการฝึกงานเพื่อกลับมาวางรากฐานการละครสมัยใหม่ที่คณะอักษรศาสตร์ อาจารย์ได้เรียนรู้จาก อัลเฟรด ฮิชค็อก ลูซิล บอล และใครก็ตามที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการกลับมาเป็นอาจารย์ในเมืองไทย โดยหันหลังให้กับการเป็นดาราฮอลลีวู้ดและชื่อเสียงในต่างประเทศโดยสิ้นเชิง นับเป็นการเสียสละส่วนตนเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

       ละครระยะแรกที่อาจารย์สดใสกำกับ แสดงเป็นภาษาอังกฤษในนามของแผนก วิชาภาษาอังกฤษ ต่อมาอาจารย์สดใสได้แปลและกำกับละครประเภทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติสำหรับนิสิตศิลปการละคร ละครของภาควิชาฯ เป็นที่กล่าวขวัญถึง ชื่นชมในวงกว้าง เป็นปรากฎการณ์ใหม่สำหรับ “คอละคร” และประชาชนทั่วไป นับได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เปิดสอนศิลปะของ การละครสมัยใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ

       ผู้ดูละครประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ หลากหลายวงการ มีทั้งผู้ที่เป็นนักเรียนมัธยม ซึ่งจากแรงบันดาลใจที่ได้รับ ต่อมาได้ก่อตั้งคณะละครหลายๆคณะ บางคนไปศึกษาต่อและกลับมาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง นิสิตนักศึกษาทั้งในคณะอักษรศาสตร์ ต่างคณะ และต่างมหาวิทยาลัยที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำละครผ่านมืออาจารย์สดใสและทำละครของภาควิชา ในขณะนี้นั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงและทำคุณูปการให้แก่วงการศึกษาการละครในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ สำหรับแวดวงบันเทิงนั้นมีทั้งในฐานะเจ้าของและผู้บริหารโปรดักชั่นเฮาส์ใหญ่ ๆ เช่น เวิร์คพอยท์ เจเอสแอล โอเวชั่น ฯลฯ บางคนดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญทำหน้าที่กำหนดแนวทางของละครและรายการของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ช่อง 7 ไทยพีบีเอส และอีกหลายต่อหลายคนเป็นศิลปินอิสระ เป็นผู้กำกับ ผู้เขียนบท พิธีกร แอ็คติ้งโคช นักร้องและนักแสดง ผู้มีความสามารถและมากด้วยคุณภาพ ได้รับรางวัลเกียรติยศและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป เขาเหล่านั้นมักพูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างภาคภูมิใจว่า เขาคือผลผลิตจากภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ เป็นลูกไม้ใต้ร่มเงาของรองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล

       ผู้เขียนจำได้ดีว่าเวลาประชาสัมพันธ์ละครภาคฯนั้น เข้าห้องมืดอัดรูปเอง เขียนข้อความประชาสัมพันธ์แล้วโรเนียว จัดเส้นทางขับรถนำไปแจกหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ไปขอพบบรรณาธิการหรือเจ้าของคอลัมน์บันเทิง กระแสตอบรับสมัยก่อนดีมาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเคยอุทิศหน้าบันเทิงให้ถึงครึ่งหน้าหลายครั้ง มีทั้งประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้ และมีการวิจารณ์อย่างจริงจังด้วย แต่ต้องท่องไว้ให้แม่นว่าจะต้องส่งพร้อมกัน 3 ฉบับคือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ และสยามรัฐ ไม่ให้ใครได้ก่อนใคร และควรจะฉีกประเด็นให้ไม่ซ้ำกัน

 

เส้นทางอันยาวไกล

       จากการได้เป็นอาจารย์สอนการละครรุ่นแรกทันทีที่สำเร็จการศึกษา ทำให้ได้รับทราบถึงเส้นทางยาวไกลที่อาจารย์สดใสได้บุกเบิกก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร นับตั้งแต่การทำความตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะไม่จับงานด้านการละครไทย เพื่อมิให้เป็นการซ้ำซ้อนกับหลักสูตรของโรงเรียนนาฏศิลป์ แต่จะมุ่งพัฒนาด้านการละครสมัยใหม่ ผู้เขียนได้เห็นการยืนหยัดบุกเบิกทุกรูปแบบของอาจารย์สดใส เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนศิลปะของการละครอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกำลังบุคลากร สถานที่ และอุปกรณ์เท่าที่มี ละครยุคแรก ๆต้องไปขอใช้ห้องประชุมคณะต่าง ๆ ที่มีเก้าอี้นั่งจุคนดูได้เกินร้อย ต่อมาขอใช้ที่ชั้นบนของหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งเป็นห้องเก็บของที่ว่างอยู่ ต่อมาใช้ห้อง 60 ในตึก 3 (ซึ่งได้ทุบทิ้งไปแล้ว ปัจจุบันคือ อาคารบรมราชกุมารี  ) “ละครห้อง 60” แสดงครั้งใดผู้คนล้นหลามอยู่หน้าห้อง ต่อมาก้าวหน้าขึ้นเมื่อมีตึก 4 (ซึ่งได้ทุบทิ้งไปแล้ว ปัจจุบันคือ อาคารบรมราชกุมารี  ) อาจารย์สดใสได้ดำเนินเรื่องขอใช้ชั้นบนสุดทำเป็นห้องโล่ง ๆ สร้างเวทีแบบแพล็ทฟอร์มพับได้ เพื่อใช้เป็นโรงละครแบบเอนกประสงค์ และทยอยของบประมาณซื้อไฟเวทีปีละสองสามดวง

       สมัยนั้นพวกเรารู้สึกว่าโก้มากที่มีโรงละครเป็นของตัวเอง มีห้องแต่งตัวเพื่อพักนักแสดง มีห้องน้ำอยู่ใกล้ แม้จะใช้ร่วมกันทั้งคนดูและนักแสดง ฉากที่สร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องเก็บไว้ที่ปีกชายคาตึก สร้างฉากจากชั้นล่างแล้วก็ผูกเชือกโยงขึ้นไปชั้น 3 ภาพคุ้นตาคือคนดูที่เดินขึ้นบันไดมาจากชั้นล่างที่ไม่มีลิฟท์ หายใจหอบถี่มาดูละคร สถานการณ์เป็นเช่นนี้ แต่งานของเราก็โดดเด่น เป็นที่ล้อกันว่าต้องปีนกระไดมาดูละครอักษรฯ

       เราเนื้อหอมมากจนเมื่อมหาวิทยาลัยจะตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ก็ปรากฏแนวคิดชัดเจนว่าจะโอนภาควิชาศิลปการละครไปอยู่ที่คณะใหม่ จำได้ดีว่าอาจารย์สดใสได้พาอาจารย์ในภาคฯ ทั้งหมดประมาณ 5-6 คน(ไม่แน่ใจว่าใครบ้าง) เดินเท้าจากคณะอักษรศาสตร์ข้ามไปสำนักอธิการบดีตามที่ขอนัดไว้ เพื่อเรียนชี้แจงความเหมาะสมที่ภาควิชาศิลปการละครจะคงอยู่กับคณะอักษรศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีการสอนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ เป็นรากฐานสำคัญอันลึกซึ้งสำหรับผู้เรียนการละคร

       จวบจนทุกวันนี้ท่านอธิการบดี เกษม สุวรรณกุล เมื่อพบกับผู้เขียนครั้งใด  ท่านต้องเอ่ยถึง “มหกรรมการเดินเท้า” ของพวกเราในครั้งนั้น  ประมาณว่าไม่เห็นด้วยไม่ได้แล้ว มหาวิทยาลัยต้องยอมเปลี่ยนนโยบาย

       ปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่เรามีศูนย์ศิลปะการแสดง สดใส พันธุมโกมล  เป็นเกียรติยศแก่อาจารย์ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติ บนเส้นทางยาวไกลที่ผ่านมา อาจารย์ได้เสียสละชื่อเสียงส่วนตัวในต่างประเทศ ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละคร จนถึงพาพวกเราเดินเท้าไปเพื่อยืนหยัดอยู่คู่กับคณะอักษรศาสตร์ สิ่งสำคัญที่อาจารย์ทำตลอดเส้นทางนี้คือการติดปีกโบยบินให้กับศิษย์การละครแต่ละคน ทีละคนอย่างทั่วหน้า สอดคล้องกับศิลปะของการละครที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับทุกส่วนของงาน และทุกคนเท่าเทียมกัน

       นี่คือสิ่งที่ต้องจดจำไว้ในใจตลอดกาล

กลับขึ้นด้านบน

สิบหกปีแห่งความหลัง เตมีย์ ภิรมย์สวัสดิ์

สิบหกปีแห่งความหลัง

โดย  เตมีย์ ภิรมย์สวัสดิ์

        อดีตเมื่อสิบหกปีที่ผ่านมากำลังค่อยๆ ลบเลือนจางลงทุกที เมื่อวันเวลาผ่านไป  บทความสั้นๆ นี้จะเป็นเพียงความทรงจำที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่รับใช้คณะฯ แต่จะเป็นเรื่องสนุกๆของอดีตที่อยากจะแบ่งปันแก่ชาวอักษรรุ่นหลัง และพื้นความจำของชาวอักษรรุ่นพี่และรุ่นใกล้ๆ กัน

        สมัยนั้นภาควิชาต่างๆ ของคณะฯจะกระจายกันอยู่ทั้ง 4 ตึก คือ ตึก1 (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์) ตึก 2 (อาคารมหาวชิราวุธ) ตึก 3 และ ตึก 4  มีอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยท่านหนึ่ง  เขียนไว้ในหนังสือรุ่นว่า  “ รู้สึกแปลกๆ ....  ที่ภาควิชาภาษาไทยมีที่ทำการอยู่บนตึก 4 ซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่แบบตะวันตก ในขณะที่ภาควิชาภาษาตะวันตกซึ่งรวมสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาเลี่ยน ภาษาสเปน และภาษาเยอรมัน รวมกันอยู่ที่ตึก 1 ซึ่งเป็นอาคารทรงไทย”  

        อาจจะด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมหาวิทยาลัยฯ เสนอให้ทุกภาควิชาย้ายไปรวมกันอยู่ที่ “อาคารบรมราชกุมารี” จึงมีคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์บางภาควิชาที่พำนักอยู่ที่อาคารสองหลังนี้ ไม่เต็มใจที่จะโยกย้าย เช่น อาจารย์ของภาควิชาภาษาตะวันตก ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา ภาควิชาประวัติศาสตร์ และภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ ทั้งที่อาคารหลังใหม่ แสนจะสวยงาม สะอาด สะดวกสบาย ด้วยห้องปรับอากาศ มีลิฟต์ขึ้นลงสะดวก แต่ชาวอักษรส่วนใหญ่ยังแหนหวง “เทวาลัย” และผูกพันอยู่กับห้องเรียนเพดานสูง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีลิฟต์ การเดินขึ้นลงชั้นบนของตึก 1 และ ตึก 2  รวมทั้งห้องใต้ดินและห้องใต้หลังคากลายเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง  โดยเฉพาะบันไดหินอ่อนของห้องโถงกลางตึก 1 ที่สง่างามและกว้างขวาง ทำให้ผู้เดินขึ้นลงบันไดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  ทั้งนี้เพราะทั้งนิสิตและอาจารย์เคยมีการพลาดพลั้งกันมาแล้ว

        การเรียนการสอนยุคนั้น จะมีชั่วโมงบรรยายรวม ใน “ห้องสิบ” และห้องชั้น2 ซึ่งอยู่ ตรงกับ “ห้องสิบ” ปัจจุบันห้องสิบ กลายเป็นห้องสำหรับพิธีการสำคัญๆ ของคณะฯ อาจารย์หลายท่านเตือนว่า เวลาครูเดินขึ้นไปบนยกพื้นไม้สักหน้าชั้นเรียนที่เงาวับ ต้องระวัการลื่นไถล หรือไม่ก็รองเท้าส้นเข็มอาจตกลงไปในร่องไม้  จะทำให้หกล้มหน้าชั้นเรียนต่อหน้านิสิตจำนวนร้อย   ที่มีการเตือนแบบนี้ คงเพราะเหตุการณ์แบบนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 

        จำได้ว่า ในชั่วโมงบรรยายวิชาภาษาฝรั่งเศสสำหรับนิสิตปี่ที่ 1 ที่เลือกเรียนวิชานี้  ขณะที่ดิฉันสอนอยู่หน้าชั้นสังเกตว่านิสิตทั้งร้อยคนเหล่านี้ ตั้งใจฟังสิ่งที่ครูพูดเกือบทุกคน จะมีเพียง 2-3 คน เท่านั้นที่แอบอ่าน “สกุลไทย”อยู่ข้างหลังห้อง แต่นิสิตไม่คุย ไม่ไลน์ ไม่เข้าเฟส เหมือนสมัยนี้เพราะไม่มีอุปกรณ์สื่อสารใดๆ  ในขณะเดียวกัน ก็สังเกตเห็นว่า ข้างนอกห้องได้มีนิสิตบางคนมายืนแอบฟังอยู่ด้วยทั้งนี้เพราะ “ห้องสิบ” เป็นห้องที่มีประตูขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงรอบผนังห้องทั้ง 3 ด้านของห้อง แต่ละประตูจะมีฉากไม้บังตา ซึ่งบังแต่ตาจริงๆ  คนข้างนอกสามารถเขย่งปลายเท้ามองเข้ามาในห้องได้ และทำนองเดียวกัน คนข้างในก็สามารถมองออกไปข้างนอกได้ โดยเฉพาะอาจารย์ที่ยืนสอนอยู่บนยกพื้นไม้หน้าชั้น  นอกจากนี้ เนื่องจากห้องนี้เป็นห้องเปิด เสียงครูภายในห้องเรียนจะสามารถดังออกไปนอกห้องและเสียงดังภายนอกก็เข้ามาในห้องเรียนได้ด้วยเช่นกัน แต่นิสิตทุกคนก็มีสมาธิดี

       นอกจากการเรียนการสอนรวมในห้องใหญ่แล้ว  ก็มีการแบ่งกลุ่มย่อยในห้องเรียนขนาดเล็ก วันหนึ่งขณะที่สอนภาษาฝรั่งเศสให้นิสิตกลุ่มหนึ่งในห้องเรียนเล็กๆของตึก 1 ด้านที่ติดกับถนนอังรีดูนังต์  ดิฉันได้บังเอิญเหลือบขึ้นไปบนเพดานสูงของตึก และก็ต้องตกใจมากเมื่อเห็นตุ๊กแกดำทะมึนตัวใหญ่มาก เกาะอยู่บนเพดานห้องอย่างเงียบเชียบ ด้วยความกลัว ดิฉันจึงรีบเดินออกมานอกห้องเรียนก่อน แล้วเรียกให้นิสิตเดินตามออกมา เมื่อทุกคนออกมาจากห้องเรียนเรียบร้อยแล้วจึงชี้ให้พวกเขาดูตุ๊กแกตัวนั้น และอย่างที่คาดไว้ เสียงกรี๊ดกราดของนิสิต ทำให้ตุ๊กแกตัวนั้นตกใจและรีบ คลานเข้าไปซุกอยู่ที่มุมห้อง โชคดีที่มิได้ตกลงมาเพราะความตกใจ  เป็นอันว่าการสอนในวันนั้น ต้องสิ้นสุดลง

       ในชั่วโมงว่าง โดยปรกตินิสิตของคณะฯจะไปจับกลุ่มทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือคุยกันใต้ต้นชงโคที่ร่มรื่นรอบๆตัวอาคาร  บางกลุ่มก็ไปอยู่ที่ “โรงอาหาร” สมัยนั้นเราเรียนกันว่า “โรงอาหาร” จริงๆ เพราะเป็นโรงเรือนเปิด ที่กว้างขวาง สะอาด โปร่ง และมีพัดลมตัวใหญ่ๆ ไว้ปรับอากาศ  แต่จะมี “ฝูงนก” แสนเชื่องบินเข้ามาชิมอาหารในจานก่อนเจ้าของอาหารผู้ซึ่งวางจานอาหารไว้ก่อนจะไปซื้อน้ำดื่มหรืออาหารเพิ่มเติม แต่นิสิตและอาจารย์ทุกคนจะทราบกันดีว่า เวลาไปซื้ออาหารหรือน้ำต้องมีใครซักคนคอยเฝ้าจานอาหารไว้    อาจเพราะเหตุนี้กระมังที่ต่อมา “โรงอาหารอักษร” ได้กลายเป็น “ห้องอาหาร”ปรับอากาศ ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งไม่มีฝูงนกมาช่วยชิมอาหาร

       แม้ว่าฝูงนกจะเป็นที่น่ารำคาญ  แต่ที่นี่ก็มี “เจ้าตูบ” หลายตัวที่สร้างความสุขให้กับบรรดานิสิตและอาจารย์ผู้รักสุนัขทั้งหลาย ทั้งศิษย์และครูได้ช่วยกันตั้งชื่อสุนัขเหล่านี้ตามสีขนของมัน เช่น เจ้าแดง เจ้าขาว เจ้าเขียว เจ้าดำ เจ้าด่าง และเจ้าชมภู เป็นต้น เจ้าตูบเหล่านี้มีมารยาทดีจนเป็นที่รักของนิสิตและอาจารย์  ในตอนเที่ยงเจ้าตูบบางตัวจะมานั่งรอนิสิตและอาจารย์ที่เขาคุ้นเคยที่ใกล้ๆ โต๊ะอาหาร  นิสิตหลายคนลงทุนซื้อลูกชิ้นให้กิน อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษท่านหนึ่งได้แวะเอาข้าวมาให้ด้วยในวันหยุด โดยเฉพาะในวันหยุดยาวด้วยเกรงว่าเจ้าตูบเหล่านี้จะอดข้าว

       มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแจ้งมาว่าประชากรสุนัขของคณะอักษรศาสตร์มีมากเกินไปแล้ว จะส่งเทศบาลมาจับไป ปรากฏว่าอาจารย์หลายท่านช่วยกันแบ่งเอาสุนัขเหล่านี้กลับไปซ่อนไว้ที่บ้านคนละตัวสองตัว และเมื่อเหตุการณ์ปกติแล้วก็จะเอามาปล่อยไว้ตามเดิม มีเจ้าสีชมภู ตัวเดียวที่อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ท่านหนึ่งเอาไปบ้าน  และหลังจากอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้สะอาด จนเห็นขนสีชมภูสวยสมชื่อ อาจารย์ท่านนี้เลยเลี้ยงเอาไว้ที่บ้าน   นับว่าเป็นวาสนาของเจ้าสีชมภู จริงๆ

       ปัจจุบัน เมื่อวัน เวลาผ่านไป ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป คณะอักษรศาสตร์โดดเด่นขึ้นในทุกๆ ด้าน   “เทวาลัย” งดงามขึ้นด้วยภูมิสถาปัตย์รอบๆ อาคารทรงไทย ไม่มีนิสิตจับกลุ่มกันใต้ต้นชงโค ไม่มีโรงอาหารสำหรับฝูงนกแสนเชื่อง  ไม่มีเจ้าตูบ สีแดง ขาว เขียว ดำ หรือสีอื่นๆ ไม่มีตึก 3  และตึก 4   แต่มี  อาคารมหาจุฬาลงกรณ์   อาคารมหาวชิราวุธ      อาคารบรมราชกุมารี และอาคาร มหาจักรีสิรินธร  เคียงคู่กัน ด้วยสถาปัตยกรรมที่ต่างสมัย  แม้ว่า บัดนี้ที่อาคารทรงไทยทั้ง 2 หลังนี้ มิได้มีการเรียนการสอนแล้ว แต่บรรยากาศที่สงบ ร่มรื่นและสวยงามของ “เทวาลัย” ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากความรู้สึกของผู้ที่ได้เคยสัมผัสอย่างใกล้ชิด   ด้วยความสงบเงียบที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้สถานที่แห่งนี้คงความขลังยิ่งขึ้น ชาวสีเทาทุกคนจึงอดมิได้ ที่จะผ่านมาเยี่ยมเยียน ด้วยความรักและผูกพันธ์ตลอดกาล

กลับขึ้นด้านบน

อำภากับภาษาเยอรมัน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา  โอตระกูล เข้าเป็นนิสิตน้องใหม่คณะอักษรศาสตร์เมื่อ               พ.ศ. 2497 จึงเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตปี 2501 หรือรุ่นที่ 22

 

บทนำ อำภากับภาษาเยอรมัน

        เนื่องจากสมัยที่เป็นนิสิตครูเป็นคนที่กล้าพูดคุยกับอาจารย์ อาจารย์ทุกท่านจึงรู้จักดี         และมักเรียกไปใช้งานบ่อยๆ ท่านอาจารย์คุณหญิงนพคุณ ทองใหญ่ ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตกในขณะนั้นได้เลือกครูให้เป็นอาจารย์ ท่านบอกให้ตำแหน่งตั้งแต่ยังไม่สอบไล่ ตอนที่ท่านเรียกไปบอกนั้น ครูตกใจนั่งร้องไห้เลย ท่านถามว่าร้องไห้ทำไม ไม่ดีใจหรือ ครูก็เรียนตามตรงว่า ตัวเองจะสอบไม่ได้ที่หนึ่งแน่ๆ เพราะไม่เก่งขนาดนั้น ก็เป็นที่รู้รู้กันอยู่ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นอาจารย์ คือผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งของรุ่น อาจารย์นพคุณท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรไม่ต้องที่หนึ่งก็ได้ แต่ทำให้ได้เกียรตินิยมก็แล้วกัน  ครูก็เลยกราบลาออกมาด้วยหัวใจที่หนักอึ้ง

        เมื่อประกาศผลสอบไล่ปลายปี ปรากฏว่าครูก็โชคดีติดเกียรตินิยมไปกับเขาด้วยเป็นคนสุดท้าย เรียกว่าผ่านไปเพียงเส้นยาแดง อาจารย์คมคายลุ้นแทบแย่ ครูก็เลยได้ตำแหน่ง เตรียมตัวเตรียมใจเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ทีนี้เกิดทุกข์อีก (เราเป็นคนขี้กลัว ขี้เป็นทุกข์) คือทุกข์ว่า จะไปสอนนิสิตได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองไม่เห็นจะมีความรู้อะไร ฉะนั้นเมื่ออาจารย์นพคุณประกาศในวันหนึ่งว่าทางรัฐบาลเยอรมันให้ทุนนิสิตจุฬาฯ หนึ่งทุนเพื่อไปเรียนภาษาเยอรมัน ไม่ต้องมีความรู้เบื้องต้น เขาต้องการทดสอบว่าคนไทยจะเรียนรู้ภาษาเยอรมันได้แค่ไหนภายในเวลา 1 ปี ครูก็ตัดสินใจทันทีว่าจะไปสมัคร  ในหัวคิดมีเพียงว่า ภาษาเยอรมงเยอรมัน เราไม่สนหรอก ขอแค่หนีไปเที่ยวเมืองนอกก่อน เพื่อเลื่อนเวลาที่จะต้องเป็นอาจารย์ออกไปอีกนิดเท่านั้นเอง

        ด้วยเหตุนี้ครูก็ได้ไปเยอรมันในเวลาอีก 4 สัปดาห์ต่อมา ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว เร่งรีบ             ไม่มีเวลาตั้งตัว ครูไปถึงก็ถูกจับเรียน เรียนอย่างเร่งรัด จบหลักสูตรที่เขากำหนด เขาก็จับส่งกลับ                พอมาถึงจุฬาฯ ครูก็เริ่มชีวิตอาจารย์สอนภาษาอังกฤษทีเดียว ทางภาคฯ จัดให้ไปสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ โอ้ย มันเป็นความทุกข์อย่างมหันต์เลยแหละ เพราะลูกศิษย์ล้วนเป็นเด็กผู้ชายตัวโต ๆ นั่งจ้องเราเต็มห้องเลย คิดดูว่ามันแย่ขนาดไหน ครูก็เหมือนสาวอักษรส่วนใหญ่เคยกลัวเจ้าพวกวิศวะ แล้วนี่อยู่ๆ ต้องมาเป็นครูสอนพวกนี้ สนุกเมื่อไรล่ะ ครูกลุ้มใจนั่งร้องไห้หลายหน พี่ตู่ (ม.ร.ว.ดวงใจ              ชุมพล) ซึ่งตอนนั้นก็เป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษด้วยกัน มาเห็นเข้า ก็ดุเอาว่า เฮ้ยร้องไห้ทำไม อย่าไปกลัวพวกนิสิต คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ ครูทนทุกข์ทรมานอยู่ไม่นานโชคก็ช่วย คือ อาจารย์นพคุณท่านบอกว่าอยากให้ครูไปเรียนภาษาเยอรมันต่อ ให้ไปเรียนอย่างจริงจังเพื่อกลับมาเปิดสอนที่คณะ แล้วท่านก็จัดการให้อาจารย์ฮอยเซอร์ (Dr. G. Heuser) ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันที่เพิ่งมาประจำที่คณะฯ หาทุนส่งครูไปเยอรมัน ครูก็เลยต้องกลับไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมันตามจุดประสงค์ของภาควิชา  คราวนี้ก็เลยหายไปนาน ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนๆ เลย ชีวิตครูจึงหันเหจากอาจารย์  สายภาษาอังกฤษ มาเป็นอาจารย์สายภาษาเยอรมันด้วยประการฉะนี้แล จะเรียกว่าเป็นชะตากรรมกำหนดหรือว่าเราทำเองก็ไม่รู้เหมือนกัน

        สรุปว่าครูเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันของคณะอักษรศาสตร์คนแรกหลังจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้เริ่มทำงานกับอาจารย์ฮอยเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญภาษาเยอรมัน ได้เริ่มสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนนิสิตคณะอักษรศาสตร์ระดับปริญญาตรีจนเป็นปึกแผ่น ได้วางรากฐานสาขาวิชาอย่างดี เปิดสอนในระดับปริญญาโทเมื่อ พ.ศ. 2517 นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ต่อมาก็พัฒนาจนปัจจุบันมีการสอนถึงระดับปริญญาเอก นับเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวงการวิชาการ สาขาวิชาภาษาเยอรมันของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นับเป็นผู้นำ ผลิตครู อาจารย์ให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในเยอรมนีอย่างใกล้ชิด ส่วนตัวครูเองก็ได้รับเชิญให้ไปบรรยายทางวิชาการให้แก่นักศึกษาเยอรมันที่เรียนภาษาและวัฒนธรรมไทยฟังเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน

 

* หลักสูตรภาษาเยอรมันของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ มีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

        ทางคณะฯ เรามีหลักสูตรครบตามขนบเดิม คือ สอนทั้งภาษาและวรรณคดี ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะเน้นสอนเฉพาะภาษาเป็นหลัก หลักสูตรภาษาเยอรมันที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดเป็นแห่งเดียวที่สอนครบทั้งทางด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมและการเมือง เพราะเรามีอาจารย์ที่มีความรู้ครบ และเพราะต้องการให้นิสิตมีความรู้รอบด้าน ครบองค์ความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ การเรียนวรรณคดีจะทำให้นิสิตเข้าใจความนึกคิดของเจ้าของภาษา โดยเฉพาะเข้าใจโลกทัศน์และปัญหาของคนในสังคมตะวันตกที่แตกต่างจากโลกตะวันออก จะเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ของนิสิตให้กว้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะวรรณคดีจะสะท้อนให้เห็นปัญหาของคน ของสังคม กระตุ้นให้เกิดการคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ดังเช่น ปัญหาสงคราม ปัญหาการเหยียดผิว เรื่องคนอพยพ ไร้สัญชาติ ปัญหาความโดดเดี่ยวอ้างว้างของคนในสังคมเมืองใหญ่ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความเจริญของเทคโนโลยีที่ทำลายความสมดุลทางธรรมชาติ ทำลายความเป็นมนุษย์ มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักร เป็นเพียงตัวเลข ปัญหาความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์ต่อสังคม ฯลฯ ที่นิสิตจะพบในงานเขียนของนักเขียนเยอรมัน ทำให้นิสิตได้ใช้ความคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบกับสังคมไทยตลอดเวลา

        นอกจากความแตกต่างของหลักสูตรดังที่กล่าวมานี้ การจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ยังมีจุดที่คิดว่าไม่เหมือนที่อื่นๆ คือ การกำหนดให้นิสิตต้องอ่านหนังสือนอกเวลาทุกเทอม เทอมละ 1 เล่ม อีกทั้งยังมีการจัด Language-Camp  ทุกปี มีการจัดงานฉลองคริสต์มาส  งานฉลองอีสเตอร์ ที่นิสิตจะต้องแสดงออกทางภาษาในรูปแบบการแสดงละครภาษาเยอรมัน ร้องเพลง  อ่านโคลง ฯลฯ และแจกรางวัลทุกปี ในโอกาสเหล่านี้เราจะเชิญทูตวัฒนธรรมทั้ง 3 ชาติ คือ เยอรมัน ออสเตรียน และสวิสมาร่วมงานด้วย นับเป็นการผูกสัมพันธไมตรีอีกทางหนึ่ง ซึ่งครูได้วางรากฐาน  มาแต่ต้น

 

* ความแตกต่างของนิสิตสมัยก่อนและนิสิตปัจจุบัน

        แตกต่างกันโดยกล่าวได้กว้างๆ ว่า นิสิตสมัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ และกล้าแสดงออกสูงกว่านิสิตสมัยก่อน ในขณะที่นิสิตสมัยก่อนมีความเคารพนอบน้อม ยำเกรงอาจารย์มาก นิสิตรุ่นใหม่จะเพียงเคารพนับถืออาจารย์แต่ไม่ขลาดกลัว ความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับอาจารย์ก็จะอยู่ในลักษณะค่อนข้างเสมอกัน เป็นกันเอง ทำงานร่วมกัน มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์มือถือ ทาง E-mail ซึ่งสมัยก่อนไม่มี ใครจะกล้าโทรฯ ถึงอาจารย์ โทรศัพท์ก็ไม่มีทุกบ้านอย่างทุกวันนี้

        พูดได้ว่า ความแตกต่างของยุคสมัยที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องเทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเรียนการสอนสมัยปัจจุบัน

        มองทางฝ่ายอาจารย์ผู้สอน เดิมการเตรียมการสอน ใช้วิธีพิมพ์เนื้อหาด้วยพิมพ์ดีดแล้วจึงอัดโรเนียวแจกนิสิต  ตัวหนังสือดำๆ ด่างๆ ไม่สวย กว่าจะได้แต่ละแผ่นใช้เวลามาก ปัจจุบัน อาจารย์เตรียมเนื้อหาด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถแก้ไขได้อย่างสะดวกสบาย จัดหน้าได้ตามใจชอบ สวยงาม หรือใช้วิธีถ่ายเอกสารจากหนังสือต้นฉบับ รวดเร็ว ง่ายดาย เวลาสอนก็มีการใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โปรเจกเตอร์ฉายขึ้นจอหน้าห้องเรียน นิสิตเห็นชัดเจนทุกคน หรือมีการฉายภาพยนตร์ ฉายวิดีโอประกอบ เหล่านี้ล้วนเป็นสื่อการสอนที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีเลย

        มองทางฝ่ายนิสิตผู้เรียน สมัยก่อนนิสิตต้องพึ่งพาอาจารย์มาก ต้องนั่งจด นั่งลอกบทเรียนจากอาจารย์ จากหนังสือ จากเพื่อนๆ สมัยนี้ไม่มีแล้วเรื่องลอก อยากได้อะไร จากไหน ก็เอาไปให้เขาถ่ายเอกสาร กี่หน้าก็ได้ หรือไม่ก็ถ่ายเองด้วยโทรศัพท์มือถือ ถ้าเป็นเรื่องสั้นๆ 1-2 หน้า นิสิตสมัยนี้แทบจะไม่ใช้ปากกาเขียนอะไรเลย เขาใช้แต่มือถือถ่ายเอา เช่น ตารางสอน หรือประกาศที่บอร์ด นิสิตจะใช้มือถือถ่ายทั้งนั้น ไม่มีการลอก ไม่มีการจด   

        ถ้าพิจารณาเรื่องงานที่อาจารย์มอบให้ทำ นิสิตสมัยนี้จะพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ส่งเป็นตัวพิมพ์อย่างเรียบร้อย สะอาดตา ในขณะที่สมัยก่อนนิสิตต้องเขียนส่งด้วยลายมือ ทำให้อาจารย์ต้องใช้สายตาเพ่ง แกะอ่านลายมือหวัดๆ ของแต่ละคนด้วยความเหนื่อยยาก

        การเรียนการสอนก็พัฒนาแตกต่างไปจากเดิม สืบเนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงอย่าง Internet คือสมัยก่อนครูจะเตรียมการสอนคนเดียวทั้งหมดแล้วจึงบรรยายให้นิสิตฟัง นิสิตก็จด จด จด ไม่ต้องเที่ยวค้นหาอะไรเพิ่มเติมที่ไหน สมัยนี้ความรู้ทุกอย่างมีอยู่ใน Internet นิสิตหาอ่านเองได้ถ้าสนใจและขยัน

 

* บทบาทของภาษาเยอรมันกับภาษาอาเซียนเป็นอย่างไร

        หากดูภาพรวม กล่าวได้ว่า สมัยนี้ประเทศไทยและคนไทยหันไปให้ความสำคัญกับประเทศซีกเอเชียตะวันออกมากขึ้น คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสาธารณรัฐเกาหลี เพราะประเทศเหล่านี้มีพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และมีนโยบายการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาก จึงปลุกคนให้อยากเรียนภาษาจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีกันอย่างแพร่หลาย เพราะหวังว่าจะนำไปเป็นประโยชน์ใช้ได้กับการทำงานในอนาคต จำนวนผู้เรียนจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด ในขณะที่ภาษาสายตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศที่ 2 ซึ่งมีมาแต่แรกเริ่มนั้นรู้สึกจะถูกบดบังรัศมีไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสำคัญของภาษาตะวันตก เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อิตาเลียน ก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา คือ อยู่ตัวเป็นของคลาสสิก ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่มีความสำคัญในโลกที่เปิดกว้าง และมีการเดินทางติดต่อกันสะดวกง่ายดาย เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงโลกตะวันตก พูดถึงยุโรป ภาษาเยอรมันก็เป็นหนึ่งภาษาที่มีความสำคัญแน่นอน จึงยังมีผู้ให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอ กล่าวได้ว่า รู้ภาษาอังกฤษเป็นความจำเป็น รู้ภาษาเยอรมันคือกำไรที่เพิ่มเข้ามา เพราะประเทศเยอรมันมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในยุโรปปัจจุบัน เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ การเมือง การอุตสาหกรรม และเทคนิคสมัยใหม่ อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้มีผู้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่ถึง 100 ล้านคนในยุโรป กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ และมีถึง 7 ประเทศ ที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐออสเตรีย สมาพันธรัฐสวิส ราชรัฐลิกเตนสไตน์ ราชรัฐลักเซมเบิร์ก แคว้นทางตะวันออกของประเทศเบลเยียม และทางทิโรลใต้คือภูมิภาคทางเหนือของสาธารณรัฐอิตาลีติดเขตแดนสาธารณรัฐออสเตรีย

        เพราะฉะนั้น การเลือกเรียนภาษาเยอรมันจึงย่อมได้ประโยชน์แน่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มีนิสิตเลือกเรียนอยู่ตลอดรวมทั้งนิสิตต่างคณะ จำนวนผู้เรียนก็คงตัว คือไม่ลดลง และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใดๆ    

 

กลับขึ้นด้านบน

วรรณคดีวิจารณ์ เรื่อง ผู้ดี อ.นิลวรรณ ปิ่นทอง

วรรณคดีวิจารณ์ เรื่อง “ผู้ดี” โดย อ.นิลวรรณ ปิ่นทอง

เกริ่นนำโดย ศ. ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธ์

       เมื่อเกือบ  ๘๐  ปีมาแล้ว  นางสาวนิลวรรณ  ปิ่นทอง  นิสิตคณะอักษรศาสตร์  ชั้นปีที่ ๔  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้เขียนบทวิจารณ์นวนิยายเรื่อง ผู้ดี  บทประพันธ์ของ ดอกไม้สด (ม.ล. บุปผา 

นิมานเหมินทร์)   บทวิจารณ์นี้ได้พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ มหาวิทยาลัย  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑   ข้อเขียนนี้มิได้ล้าสมัยตามช่วงเวลา  หากแต่เป็นข้อเขียนที่แสดงทัศนะวิจารณ์เฉียบคม  มีหลักวิชาความรู้และแสดงวิจารณญาณอันเที่ยงธรรม  รวมทั้งแสดงความสามารถด้านการใช้ภาษาอย่างมีพลังของผู้วิจารณ์

       ด้วยเหตุนี้  เมื่อมีการทำงานวิจัยเรื่อง “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย”  ซึ่งมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา  นาควัชระ  เป็นหัวหน้าโครงการ  และได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)  ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๔๕   บทวิจารณ์ชื่อ “ผู้ดี”  ของคุณนิลวรรณ  ปิ่นทอง  ได้รับการคัดเลือกเป็น ๑ ใน ๕๐  ผลงาน ซึ่งคัดสรรจากบทวิจารณ์หลายพันเรื่อง  เพื่อจัดทำสรรนิพนธ์บทวิจารณ์วรรณกรรมที่ผู้วิจัยลงมติว่าเป็นบทวิจารณ์ที่แสดงพลังทางปัญญาแก่สังคมร่วมสมัย  และมีผลกระทบต่อวงวรรณกรรมและวงวิชาการต่อเนื่องข้ามกาลเวลา   รองศาสตราจารย์ ดร.   รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์  (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น)  ซึ่งเป็นนักวิจัยสาขาวรรณศิลป์  ได้เขียนบทวิเคราะห์  เพื่อชี้ประเด็นด้านลักษณะการวิจารณ์และคุณค่าของบทวิจารณ์ชิ้นนี้ให้ประจักษ์แก่สาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง 

       ข้อเขียนของศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ดีเด่น  ๒ คนนี้รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือผลงานวิจัย พลังการวิจารณ์ : วรรณศิลป์  จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น  พ.ศ. ๒๕๔๗  และได้รับทุนอุดหนุนจาก สกว.

 

ผู้ดี

โดย อ.นิลวรรณ ปิ่นทอง

       ตามความเข้าใจกันอย่างง่าย การวิจารณ์หนังสือเล่มใด ก็คือการติชมหลังสือเล่มนั้น และนักวิจารณ์คือผู้ตั้งตัวขึ้นพินิจงานของผู้อื่น ฟังเผินๆ นักวิจารณ์ออกจะเป็นคน “เขื่อง” อยู่สักหน่อย แท้ที่จริงความเป็นคนเขื่องของนักวิจารณ์อยู่ใกล้อันตรายมาก นักวิจารณ์คือคนที่ทั้งห้าวและทั้งหาญ เมื่ออ่านหนังสือเล่มใดแล้วก็ใคร่จะอวด ให้ปรากฏว่าตนซึมทราบในหนังสือนั้น และในความประสงค์ของผู้แต่งเพียงใด ถ้าผู้วิจารณ์สามารถแยกแยะถ้อยประสงค์ของผู้แต่งได้ถี่ถ้วน ชมถูกตรงที่เหมาะควรชมและติตรงที่เหมาะควรติ ผู้วิจารณ์ก็เป็นอันว่ารักษาความเขื่องไว้ได้ด้วยดี แต่ถ้าการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม ความ “เขื่อง” ก็จะกลายเป็นความ “โข่ง” ไป

       การที่ผู้วิจารณ์จะเข้าใจจุดประสงค์ของผู้แต่งได้ถูกต้องนั้น อาศัยที่มีความปรีชาสามารถอ่านดวงใจคนออก ในบางครั้งผู้วิจารณ์ “ปรีชา” เกินผู้แต่ง หาจุดประสงค์ให้แก่เรื่องทั้งๆ ที่ผู้แต่งยังนึกไปไม่ถึง หรือไม่ประสงค์ดังนั้น ผู้เขียนเคยอ่านพบเรื่องเล่าว่า เมื่อกอลสเวอธี Galsworthy นำละครเรื่อง “Strife” ออกแสดง มีผู้เขียนบทวิจารณ์ว่าข้อใหญ่ใจความของละครคือ การขันสู้ระหว่าง Capital และ Labour และเสริมว่า Galsworthy ใช้ปัญหาเศรษฐกิจสมัยปัจจุบันเป็นโครงเรื่อง แต่แล้วตัวผู้แต่งบทละครกลับแถลงว่า มิได้นึกไปถึงปัญหาเศรษฐกิจเลย เป็นแต่ว่าในขณะที่ศึกษาอุปนิสัยใจคอมนุษย์ พบคนจำพวกหนึ่งมีนิสัยไม่ยอมลงหัวให้กับใครง่ายๆ ถ้าลงได้ปักใจทำอะไรแล้ว ก็มานะยึดจนถึงที่สุด ไม่ย่อท้อภยันตรายใดๆ จึงทำให้เกิดความคิดต่อไปว่า ถ้าบุคคลจำพวกนี้ต้องเผชิญหน้ากันเข้าเมื่อใด จะต้องหักลงทั้งสองฝ่าย เพราะแข็งต่อแข็งเข้าหากัน ครั้นแล้วจึงสร้างตัวละครอุปนิสัยเช่นนี้ขึ้นสองนายให้ต่อสู้กัน ในที่สุดก็กลายเป็นคน “หัก” ด้วยกันทั้งคู่

       ฝ่ายผู้วิจารณ์ที่ปรีชาด้อยกว่าผู้แต่ง มักกลายเป็นตัวอย่างของสุภาษิตวานรได้แก้ว ขอยกให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านตัดสินว่า คนที่เขียนเรื่องนี้ควรจัดให้เข้าอยู่ในประเภทใด

       เรื่องผู้ดีนี้นับเนื่องอยู่ในประเภทหนังสือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า โนเวล ชื่อในพากย์ไทยมีมากจนไม่รู้ที่จะเลือกเรียกตามชื่อไหน เรียกกันดาษๆ ว่า เรื่องอ่านเล่น แต่ชื่อนี้ชวนให้ฉงน ในเวลานั้นบางทีเขาแต่งให้อ่านจริงๆ ก็มี ดังโนเวลใหม่ๆ ของฝรั่งชั้นที่เขาถือกันว่าดี มักเป็นเรื่องแต่งให้อ่านจริงแทบทั้งสิ้น

       สำหรับเรื่องผู้ดีนี้จะสงเคราะห์เข้าในประเภทอ่านเล่นไม่ได้ เข้าใจว่าผู้แต่งมุ่งหมายให้อ่านจริง เพียงแต่ภาพที่หน้าปกก็พูดได้เป็นภาษาว่า “ลักษณะการเป็นผู้ดีอยู่ที่กรีดนิ้วกรุยกรายหรือ?” เมื่อเปิดอ่านข้างในจบ ก็จะได้คำตอบว่า “หามิได้” และหนังสือเล่มนี้ชี้แจงแก่เราอย่างละเอียดว่า “ผู้ดี” แม้นั้นคืออย่างไร เมื่อเรื่องนี้เป็นไปในทางสั่งสอน ชื่อว่าเรื่องอ่านเล่นเป็นอันใช้ไม่ได้

       ทำนองเดียวกับเรื่องอื่นของผู้แต่งคนเดียวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องในวงสังคมของคนไทยชั้นสูงด้วยศักดิ์ ด้วยตระกูล และด้วยทรัพย์ เป็นพฤติการณ์ของครอบครัวที่หนักแน่นอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี “ผู้ดีไทย” และในขณะเดียวกัน ก็ต้อนรับความเป็นอยู่เยี่ยงผู้ดีอัษฎงคตวิสัยเข้าไว้ด้วยตามแบบของ “แกงไทย” และในขณะเดียวกัน ก็ต้อนรับความเป็นอยู่เยี่ยงผู้ดีอัษฎงคตวิสัยเข้าไว้ด้วยตามแบบของ “แกงบวน” การบรรยายสภาพวงสังคมชั้นนี้ให้กระจ่างและละเอียดละออดูเหมือนไม่มีนักเขียนคนใดทำได้ดีเกิน “ดอกไม้สด” ในฐานะที่นักเขียนผู้นี้ในชีวิตจริงเป็น “คนหนึ่ง” ในวงสังคมชั้นนั้นจึงเห็นพฤติการณ์ได้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับบัณฑิตของศิลปินอันมีอยู่ในตัว การบรรยายจึงชัดเจนแจ่มแจ้ง สามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกประหนึ่งว่าได้เข้าไปเห็นเหตุการณ์ด้วยตาเอง

       ในเรื่องนี้ผู้ประพันธ์นำให้เรารู้จัก วิมล ธิดาคนใหญ่ของพระยาอมรรัตน์ฯ หญิงสาวผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ ความยุ่งยากในครอบครัวของท่านเจ้าคุณบิดาผู้มากภริยาสอนให้วิมลเป็นคนรู้คิดมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยสาวน้อย การมีภริยามากแต่ขาดความสามัคคีปรองดองทำให้เกิดการบ้านแตกสาแหรกขาดขึ้น แม้ในสมัยที่พระยาอมรรัตน์ฯ ยังมีชีวิตอยู่ เอกภริยาทั้งสอง คือ คุณวง มารดาบังเกิดเกล้าของวิมล และคุณแส มารดาเลี้ยง ผู้รักคุณวิมลดังดวงใจ ต่างก็ร้างบ้านไปหาความสงบอยู่ตามลำพัง ครั้นท่านบิดาสิ้นบุญลง วิมลก็ต้องรับภาระ “บ้าน” อันหนักและใหญ่หลวงไว้บนบ่าอันแบบบาง มรดกที่เจ้าคุณบิดาทิ้งไว้ให้น้อยแทบไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับความโอ่โถงขณะยังมีชีวิตอยู่ วิมลจะต้องดูแลและปกครองบ้านแทนพี่ชาย ผู้กำลังศึกษาวิชาอยู่ที่ต่างประเทศ ความจำเป็นทางการเงินทำให้วิมลหักหาญทำการเด็ดเดี่ยว เพื่อเห็นแก่อนาคตอันรุ่งเรืองของพี่ชายและความมั่นคงของครอบครัว จัดการบรรจุศพบิดาในวันบำเพ็ญกุศล 7 วันหลัง ย้ายจากตึกหลังใหญ่ไปสู่เรือนน้อย เพื่อรับประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่าตึก ระบายคนใช้ออกจากความคุ้มครอง ตัดรายจ่ายที่เกินจำเป็นโดยสิ้นเชิง ทำงานบางสิ่งด้วยมือเอง จนที่สุดลดตัวลงรับจ้างทำงานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ

       การกระทำอย่างหักหาญและเด็ดเดี่ยว อันไม่ต้องกับประเพณีนิยม ปราศจากการรอฟังคำทักท้วงติเตียนจากภายนอก ทำความขมขื่นและบาดหมางให้บุคคลที่ไม่สามารถเข้าใจและไม่ยอมเข้าใจการกระทำของวิมล มีคุณวง มารดาตัว เป็นอาทิ และยังมีพระบริบาลฯ ผู้เป็นอา นางพร้อม อนุภริยาของท่านบิดา มาลี น้องสาวต่างมารดา ตลอดจนถึงคุณหญิงบริหารฯ ผู้เคยมุ่งหมายจะได้วิมลไปเป็นศรีสะใภ้ เป็นปริโยสาน

       ตัวพระยาพลวัตฯ สรุปลงได้ว่าเป็นคนดีแสนดี การที่ตัวละครผู้นี้แทรกเข้ามา ทำให้เกิดผลอย่างไรนั้นได้กล่าวมาแต่ต้นแล้ว

       อุดมเป็นชายหนุ่มเลือดร้อน ฉลาด รักจริง ทำจริง น่าเสียดายที่ผู้แต่งจงใจให้อายุสั้นไปสักหน่อย อันที่จริง อึดมยังไม่น่า “ถึงที่ตาย” เรารู้ไม่ได้ว่าการตายของอุดมจะมีผลในเล่มต่อไปอย่างใด ถ้าในตอนนั้น อุดมยังอยู่ ก็รังแต่จะเป็นเครื่องกีดขวางการดำเนินเรื่อง อุดมก็ควรตายเสียในเล่มนี้ถูกแล้ว เพื่อความสะดวกของผู้แต่งในภายหน้า

       เรื่องผู้ดีนี้กินหน้าหนังสือถึง 750 กว่าหน้า ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องราวอะไรนัก ทั้งนี้เป็นด้วยความสามารถของผู้แต่งในเชิงบรรยายเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ชวนอ่านชวนเพลิน ดังคำบรรยายเรื่องความเป็นไปในครอบครัวของคุณมงคล (พระยาอมรรัตน์ฯ) เรื่องของเอกภริยาและอนุภริยา และเรื่องของข้าเก่าบ่าวเลี้ยง หรือคำบรรยายพิธีอาบน้ำศพอย่างละเอียด จริงอยู่สิ่งเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง แต่ช่วยปรุงรสการแต่งให้ดีขึ้น และทำให้เรื่องเหมือนจริงมากขึ้น “เกร็ด” ต่างๆ ทำนองนี้เราพบเสมอในหนังสือเล่มอื่นของผู้แต่งคนเดียวกัน “เกร็ด” นี้เองที่ช่วยให้หนังสือของ “ดอกไม้สด” มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ และเป็นที่นิยมแพร่หลาย

       สิ่งที่ชวนอ่านอีกอย่างหนึ่งคือ บทพูดในท้องเรื่อง ซึ่งได้ลักษณะเหมาะสมกับอุปนิสัยของบุคคลผู้พูด เราจะรู้สึกเหมือนว่าผู้แต่งสร้างตัวละครขึ้นแล้วปล่อยให้พูดไปตามอุปนิสัยจะชักนำไป หาใช่แต่ผู้แต่งพูดให้ตัวละครไม่ บทพูดของบุคคลที่มีปฏิภาณและอารมณ์เยี่ยงอย่างพระยาอมรรัตน์ฯ ก็เต็มไปด้วยข้อขำและคำคม หรือตัวละครอย่างสุดใจก็ย่อมพูดเหน็บแนมแกมกล ตามประสาผู้มีอารมณ์ขุ่นมัวเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา

       ในเชิงการบรรยายความเป็นไปแห่งชีวิต การระบายความรู้สึกของบุคคลในเรื่องจะเป็นเกี่ยวกับความรู้สึกทั่วไป หรือความรู้สึกอันละเอียดลึกซึ้งของหัวใจ หรือการวาดอุปนิสัยใจคอคนให้เห็นเด่นชัด นับว่า “ดอกไม้สด” ไม่แพ้นักเขียนอื่นๆ ที่สามารถในเชิงนี้ นักเขียนที่คิดอย่างไร หรือสังเกตการใดมาแล้ว ระบายความคิดและการสังเกตออกมาให้ผู้อื่นได้พลอยรู้พลอยเห็นด้วยได้ตรงตามความต้องการของตน ย่อมจัดว่าเป็นศิลปินในทางประพันธ์ ลักษณะอันนี้มีอยู่ในหนังสือทุกเล่มที่ “ดอกไม้สด” สร้างขึ้นไว้

       ที่ว่าหนังสือผู้ดีเป็นเรื่องอ่านจริง เพราะผู้แต่งมุ่งสอนธรรมและจรรยาความประพฤติไว้อย่างเด่นชัดในการสนทนากับผู้รู้คนหนึ่ง ผู้วิจารณ์ติดใจในคำพูดที่เขากล่าวว่า “ดอกไม้สด” คือ นักเทศน์นอกธรรมมาสน์เราดีๆ นี่เอง ข้อนี้ตรงใจผู้วิจารณ์ที่สุด หนังสือทุกเล่มของ “ดอกไม้สด” มักมีอรรถาธิบายข้อธรรมในพระศาสนาเข้าแฝงฝังอยู่ด้วย แต่เรื่องที่นำมาประกอบอรรถาธิบายหาใช่เรื่องชาดกในสมุดใบลานหรือกระดาษข่อยไม่ หากเป็นชาดกสมัยใหม่ ตัวบุคคลในชาดกคือ คนในสมัยเราท่าน ยิ่งในผู้ดีนี้ด้วยแล้ว ทุกขึ้นต้นบทใหม่ย่อมมีข้อธรรมประจำบทและเรื่องราวที่บรรยายในบทนั้นก็คือ เรียงความกระทู้ธรรมหลายๆ เช่นบทที่หนึ่ง นรชนผู้มักโกรธและมีความลบหลู่อย่างบาป ฯลฯ ได้แก่ นางสาวสุดใจ ในเรื่องต่างๆ ของ “ดอกไม้สด” บุคคลที่จะสำเร็จผลในปลายมือล้วนเป็นผู้อยู่ในธรรมและปฏิบัติธรรม ดังหลวงอรรถฯ ในหนึ่งในร้อย หลวงนฤบาลฯ ในชัยชนะของหลวงนฤบาล และนิจ เป็นตัวอย่าง กล่าวได้ว่า ในหนังสือของ “ดอกไม้สด” ธรรมชนะอธรรมเสมอไป ตัวละครเอกของ “ดอกไม้สด” คือ บุคคลในอุดมคติทางธรรมปฏิบัติของผู้แต่งนั่นเอง โดยมากคนดีของ “ดอกไม้สด” จึงเป็นคนดีมากๆ จนแทบไม่น่าเชื่อ “ดอกไม้สด” ต่างกับนักเทศน์บนธรรมาสน์ก็ตรงที่ผู้ฟังไม่ต้องมานั่งพนมมือฟังและถวายดอกไม้ธูปเทียน หลังอาหารหรือยามว่างการงานจะนอน นั่ง หรือเอกเขนกก็ฟังได้ทั้งสิ้น ในที่นี้ผู้แต่งสอนถึงเรื่องการเป็นผู้ดีแท้ ผู้ที่เป็นตัวอย่างของผู้ดี ได้แก่ คุณแส วิมล พระยาพลวัตฯ เป็นต้น ตอนหนึ่งผู้เขียนกล่าวความเห็นเรื่องผู้ดีไว้ดังนี้

       “การมีกำเนิดดีหนึ่ง การได้รับอบรมและการศึกษาดีถึงขนาดหนึ่ง หาใช่สิ่งไร้ประโยชน์ดังบุคคลบางจำพวกชอบกล่าว แท้จริงการมีกำเนิดดีเป็นปัจจัยให้บุคคลเป็นผู้ดีได้ง่ายขึ้น และการศึกษาช่วยให้บุคคลรู้จักว่าการเป็นผู้ดีนั้นคืออย่างไร”

       ในทางขนบธรรมเนียมประเพณี “ดอกไม้สด” ออกจะแบบจัดอยู่สักหน่อย สตรีผู้แต่งหน้าด้วยสีมากเกินไปในเวลากลางวัน บุรุษผู้สวมรองเท้าหุ้มส้นไม่สวมถุงหรือสตรีที่สวมรองเท้าส้นสูงเปลือยน่อง สวมเสื้อ “น้อย” ไปงานศพ หรือตลอดจนเครื่องภาชนะในการบริโภคที่ไม่ต้องชุดกัน เหล่านี้ไม่รอดพ้นการตำหนิไปได้เลย

       “ดอกไม้สด” เขียนหนังสือขึ้นหลายเล่ม สร้างตัวละครที่ผู้อ่านไม่ใคร่ลืมได้ง่ายๆ ขึ้นหลายคน แต่ทุกเล่มเล่าแต่เรื่องในวงสังคมที่อยู่อย่างใกล้ชิด บุคคลที่สร้างขึ้นก็ได้แบบจากตัวจริงที่คุ้นเคยหรือรู้จักเฉพาะในวงสังคมนั้น ดูสยามทั้งประเทศแล้ว วงสังคมของ “ดอกไม้สด” เป็นเพียงมุมเล็กๆ มุมหนึ่ง หรือไม่ก็วงแคบๆ บุคคลในที่นั้นเป็นเพียงหยิบมือหนึ่งของคนทั้งประเทศ การศึกษา มารยาท ตลอดจนความเป็นอยู่ดังได้จากการบรรยายเรื่องราวของเขาเหล่านั้นเป็นเพียงความศิวิไลซ์ผิวๆ บางๆ ที่ลอยอยู่เหนือความขรุขระของพื้นที่อันไพศาลภายนอกสังคมนั้น ถึงอย่างไรก็อดกล่าวมิได้ว่า ภายในวงแคบๆ นั้นเอง สมองอันเฟื่องของผู้ประพันธ์ทำหน้าที่ดุจนายช่างชำนาญทอของธรรมชาติ ปั่นสายใยทบทวนให้เป็นข่ายมีลวดลายอันละเอียด เบาบาง และซับซ้อนเป็นที่น่าอัศจรรย์

25 พฤษภา. 81

ที่มา: นิลวรรณ ปิ่นทอง. “ผู้ดี”. มหาวิทยาลัย. เล่มที่ 16 ฉบับที่ 1 (กันยายน 2481) : 227-234.

กลับขึ้นด้านบน

Madame Nopakhun and Chula William L. Warren

William L. Warren

Anyone who has spent the least bit of time in Thailand is certainly familiar with the name of William Warren, the chronicler of the disappearance of Jim Thompson. I certainly was, and so it was with a mixture of respect and awe that I made my first acquaintance with him when I joined the English Department of the Faculty of Arts in 1973. I was pleasantly surprised to find him welcoming and charming, the epitome of the Southern gentleman.


A keen observer of the idiosyncrasies of life in Bangkok and people in general, Bill always had juicy tidbits of gossip to share. And he knew EVERYONE (including Jim Thompson). In fact, he can count among his acquaintances most of the famous writers and celebrities who visited Thailand from the 1960’s on.


It is his ability to see the remarkable in what everyone else takes for granted that makes him such a wonderful writer.
Despite his full-time job teaching English at the Faculty of Arts for 30 years, Bill managed to find time to do extensive research and travel to get material for the many books and articles he has written on subjects ranging from every aspect of Thailand (the Chao Phya River, Thai history, art, royalty, society, etc.) to gardening, another passion of his. Having befriended Thanpuying Lursakdi Sampatisiri when he rented a house from her on Soi Somkid, he was commissioned to design and plant the exquisite tropical garden which still graces the pool area of the Swissotel Nai Lert Park today.


The editors and readers of this commemorative book are indeed fortunate to have a writer of Bill Warren’s stature share his delightful reminiscences of his 30 years at the Faculty of Arts. Since spaces limited, I have selected excerpts from his chapter on Madame Nopakhun and Chula for this book. I know this will leave you hungry for more.

Rochelle Powtong (Instructor of English language and linguistics, Faculty of Arts, 1973-1988)



Madame Nopakhun and Chula

A week after I stepped off that freighter to begin a new life in Bangkok, I went to the Faculty of Arts at Chulalongkorn University (or Chula, as it was known to everybody) to apply for a position as lecturer in English. My qualifications for such work were hardly impressive. Though I held a bachelor of arts degree, it was not in education; nor had I ever taught a class before, in English or anything else; indeed, the very thought of doing so, especially at Thailand’s oldest and most hallowed institution of higher learning, filled me with dread.


A friend who taught in another faculty airily dismissed these concerns. “Anybody can teach English,” he said. “In fact, you’re better off here without too much experience, you’ll adjust more easily to Thai ways. I’ve also heard they’re especially desperate at the moment because somebody left suddenly, had a nervous breakdown or something. In other words, they need a teacher urgently.” Also, and more pertinent to my own situation as a jobless newcomer, at the time Chula was the only university with a budget to employ a considerable staff of foreign lecturers and pay them a fairly decent wage as well as a small housing allowance; a few years before I came it even recruited teachers (mostly from England), paid their air travel, and took care of all the myriad official permits needed to live and work in Thailand. Teaching, with or without experience, was clearly preferable to the only other apparent choice open to me, which was working for miniscule salary and no added benefits at one of Bangkok’s two English-language newspapers.


Armed with this information, I entered the imposing building (actually two buildings joined by a covered walkway, both in a fanciful blend of Thai and European architectural styles many visitors mistook for a slightly odd Buddhist temple) and found the office of the English Department. It was large, with an immensely high ceiling, but so cluttered with desks, tables and filing cabinets that it seemed cramped. Madame Nopakhun Tongyai, with whom I had an appointment, was seated at one of the desks, almost hidden behind stacks of pale-pink examination books (pink was the Chula color) and mimeographed sheets of paper. (In all my time there, the stacks and the sense of clutter never seemed to diminish.)


The first thing that struck me was extraordinary poise and elegance: prematurely gray hair with a blur rinse, pulled back in rather prim bun; fine features that were certainly Oriental but with a suggestion of something else; cool, observant eyes that seemed to warn against familiarity; a pale blue dress that suited her but at the same time rejected any possible hint of fashion.
She became, at least outwardly, more Thai than the Thais . She mastered the difficult language, both spoken and written, becoming so fluent she was called on to interpret when we were visited by royalty; she became a teacher (the most respectable of Thai professions for a woman) at the country’s leading university, where her outstanding competence and efficiency led her to become, at the time of our meeting, the de facto head of the English Department.


All this was known or rumored, and on it was based all manner of somewhat less reliable conjecture; Thais love to gossip, and Chula was a hot bed of wild tales, a remarkable number of which circulated about Madame Nopakhun. She was alleged to be either anti-Thai or anti-farang, sometimes both at the same time. She was said to have no real friends, no sense of humor, not a trace of that much prize Thai quality called sanuk, or fun; certainly she never adopted the laid-back Thai attitude toward life and its difficulties, summed up in the expression mai pen rai, or “never mind”.


I’m thankful I didn’t know any of this on that morning when sat nervously on a hard chair in front of her crowded desk, making my hopeful application.
“You’ve never done any teaching?” she asked, not unkindly. “You don’t have any experience in this field?”
I confessed my shortcomings.
“Our semester has already begun. Classes have been in session for over a month.”
I could think of no adequate reply to that and a brief but awkward pause followed. Then, without warning: “What makes you think you would be happy living in Thailand?”
I made a little speech about my admiration for the culture and the people, the same one I had made to many before I left New York, which she received with a faintly amused smile; then, without planning to, I blurted out, “And I hate cold weather.”
This produced a genuine laugh. “Well, you’ve certainly come to the right place,” She said, and though I couldn’t imagine why I felt that somehow the ice had broken or at least slightly thawed. As a matter of fact, she said, as if the idea had just occurred to her, there might just possibly be an opening. Of course, not being the department head she couldn’t be sure; she certainly couldn’t offer me a post on her own but if I could come for an interview with Prince Prem perhaps something could be work out.
This, as I discovered, was characteristic of Madame Nopakhun she never upset the chain of command in that most hierarchic of societies, at least not overtly. She played along with the fiction that Prince Prem was an active head and that she was merely there to do his bidding. In fact, she had decided I would do.


Prince Prem received me the next day. He was a short, plump, jolly man with a pure Oxbridge accent, the result of years in England; if you close your eyes, you would never have known he was Thai at all. I think my academic background puzzled him (the only American universities he had ever heard of were Harvard, Yale, and Princeton) but he was gracious and after ascertaining that I could type (which for some reason seemed a particularly desirable talent) invited me to become a member of the staff.
(A story about Prince Prem, which I heard later, claimed that the British ambassador once asked him why so many of the foreign teachers at Chula were markedly eccentric. The Prince supposedly replied “It is a pre-requisite.” Whether that was true or not is questionable, but it was undeniably easy for eccentrics to pass his screening techniques.)
THUS began what proved to be thirty years of teaching at Chula. In the early years, before we move to a somewhat more modern building, all of us shared offices in the original semi-Thai structures. Lectures for the Arts students were delivered in vast room with slowly turning ceiling fan, through which storms blew in a monsoon season and in the dim, upper reaches of which owls built nests; but the other faculties were spread out over a large campus, some at a considerable distance, and had to be reached on foot in all seasons. In those days, the English Department was responsible for classes in that subject in every faculty, do that one might fine oneself rushing from Arts to Political Science, a mile or so away, or from Architecture to Commerce and Accountancy, sometimes barefoot with shoes in hand if there had been a heavy rain and the roads were under water. The average teaching load for foreign teachers like me was 15 to 20 hours a week, and this did not include correcting paper, preparation for material, and the never-ending chore of typing stencils.


Surprisingly, my friends remark about experience turn out to be true the least qualified instructors (like Victor, Robert Swann, and myself) got along with Thai students far better than others who came with impressive credentials and years of practice elsewhere. The latter were appalled by the casual attitude toward learning that prevailed and many of them quickly left; one, I remember, simply walk out of a class to the nearest road, hailed a taxi, and was never seen or heard from again— certainly to Prince Prem’s relief and possibly to Madame Nopakhun as well, for she was a woman of few illusions.
I quickly found out why the ability to type was such a desirable skill. Most of the courses and all of the examinations had to be type on stencils and then mimeographed, and the number of people who could be entrusted with this top-secret task was limited. That basically left me and two others American who foolishly admitted to having the necessary talent and separately altogether we spent an enormous number of hours in Madame Nopakhun office pecking out page after page and getting spattered with neon-pink correction fluid in the process. No doubt for this reason, she was somewhat more benevolently disposed toward us.
Weekly department meeting, which were invariably stressful, were held during a rare hour when none of us had classes and everybody was expected not only to attend but also to be there precisely on time. We were known as Acharn, which meant professor, and she always used it when addressing any of us.
“Acharn P, it is 9:15. The meeting began at 9:00.”
“But I was teaching in Education,” which was a long way from Arts. “I came as fast as I could.” “That is no excuse. You must be on time.”


Then would come a short lecture on the importance of punctuality, which often let to a pointed reminder that we were all civil servants and expected to be present during official government hours, from 8:30 in the morning (8 if we had an early class) to 4:30 in the afternoon (5 if we had a late one). Since none of us observed these hours, this reminder always produced a guilty silence and a fear (usually realized) that somebody was going to be singled out to explain where he or she happened to be at 3 o’clock on Tuesday afternoon when he or she was summoned urgently to the office.
ANOTHER ordeal I remember vividly was “invigilation,” an English term I’d never heard before but which turned out to mean supervision during examinations. There were strict rules about this: at least two teachers had to be always present in the room, taking regular strolls up and down the aisles to check for any suspicious behavior (i.e., cheating), and if any student absolutely had to go to the bathroom they had to be accompanied by one of the invigilators. Of course, like all Chula rules, these were regularly broken. One elegantly dressed Thai lecturer was famous for appearing at the start of an exam after the papers had been distributes and then disappearing until a minute or two before it ended, leaving her colleague her alone to face any emergencies that might arise. Others spent most of the time period reading or chatting on the breezy veranda outside. Though it was reputedly rife, I myself only encountered one case of cheating. My co-invigilator, a stern-faced spinster, came up to me one afternoon and whispered, “Row 4, sixth from the front; you go from one end and I’ll go from the other.”
I chose the front, and as I neared the alleged perpetrator, I could see that she had a piece of tissue half-concealed under examination paper, covered with miniscule notes. When she became aware of my approach, she coolly picked it up and blew her nose on it, pushing the remains to one side. “Quick,” hissed the other teacher. “Pick it p. Evidence.” So I did, gingerly, while she snatched away the exam book and the student burst into tears. The damp tissue did indeed contain some possible useful notes, and the student had to go up before a committee, who promptly failed her.
In Due course, Prince Prem was appointed ambassador to India, and Madame Nopakhun was at last officially given his title as head of the department. This resulted in no change at all in the way things operated at Chula, of course, though it did bring relief to those faculty members who had been co-opted into taking part in the Prince’s Shakespearian broadcasts. (Victor was once compelled to take the role of Lady Macbeth, there being no English woman on the staff at the time and the Prince being averse to American voices in such parts.)
------------------------------------------------------

Chula, gradually changed, especially the students. From being primarily preoccupied with such trivial events as the annual football game with Thammasat University and rather foolish inter-faculty squabbles, they suddenly (or so it seemed) developed a political consciousness, staging demonstrations against corruption by the military government of the time. Thammasat was really the leader in such matters, but Chula students, too, did their part. This was particularly true in faculties like Political Sciences, where boys and girls were more equal in numbers and the latter were more inclined to speak out than in Arts, where our offices were located. Once, after the massive “people power” movement had succeeded in actually overthrowing the government in 1973, I went to teach a class in Political Sciences and noticed a room newly identified as “The Radical Students Society”. Curious, I looked in and found the blackboard adorned with three portraits: one on the right of Karl Marx, one on the left of Mao, and, in the center, one of the King. It more or less summed up the innocence and aspirations of that heady time, when almost any seemed possible. Alas, it was short-lived. In 1976, hundreds of students (including some of mine) were killed or imprisoned in an attack on Thammasat by right-wing groups, and the dream evaporated, as abruptly as it had appeared. But not entirely: after a period of harsh, rightist government, and after a number of students had spent several years in the jungle with hard-core communists before opting to return when a general amnesty was declared, there was a perceptible new maturity. (Some reappeared in class, taking right where they left off, and I was told to ignore their long absence. I tried to persuade some of the brighter ones to talk or write about their experiences, but none would.)

I was abroad on holiday when Madame Nopakhun suddenly died of a stroke and so did not attend her funeral rites, which were royally sponsored ( she had also been given a noble title, the ultimate achievement in her long battle to be part of her adopted country). I have always regretted this. She was a significant part of my early life in Thailand
My teaching years are still continually coming back to me in the shape of old students, who turn up in the most unlikely places. I almost never recognize them, which is not surprising since when I taught them they were all in uniforms and generally showed few signs of individuality. But almost without exception they remember me, not just as a former foreign teacher but also in sometimes extraordinary detail such as dress, manner of speaking, and peculiarities of behavior.
Such recognition is always flattering and frequently useful. I will be in some potentially intimidating place—the tax office, for instance, or the immigration department--- and someone will suddenly come up, give me a deep wai, or salute in the most respectful fashion, and say, “Acharn Warren, I was your student.” “of course you were,” I say, beaming and then “Do you happen to work here?” And if the answer is yes, they proceed to smooth out all the difficulties and send me happily on my way.

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University