เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 27

ความทรงจำของดิฉัน รองศาสตราจารย์ฉันทนา ชาญพาณิชย์

พ.ศ. 2515 ดิฉันได้เรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ดิฉันต้องสอบวิชาหนึ่ง (จ าชื่อวิชาไม่ได้) เนื่องจากดิฉันเป็นนักเรียนต่างชาติคนเดียวในชั ้นจึงต้องใช้เวลาเขียนค าตอบมากกว่าคนอื่น ดิฉันได้ส่งข้อสอบเป็นคนสุดท้ายหลังจาก นั ้น ก็เดินไปหลังห้องสอบเห็นเพื่อนชาวอเมริกัน 5 – 6 คน ก าลังคุยกันอยู่ ดิฉันจึงเดินเข้าไปคุยกับเขา เพื่อนคนหนึ่งพูดว่า “Land of Smile เกิดปฏิวัติมีคนเผาสถานที่ราชการและสถานีตำรวจ ” ดิฉันตกใจเพราะบ้านของดิฉันอยู่ใกล้สถานีตำรวจ ดิฉันจึงโทรศัพท์ถึงคุณ แม่ แต่ติดต่อไม่ได้ ดิฉันร้อนใจ กระวนกระวาย เพื่อนคนหนึ่งเห็นกิริยาอาการของดิฉัน จึงพูดปลอบใจว่า “Don’t worry you have the good king” ดิฉันเป็นน้องใหม่คณะอักษรศาสตร์ ตอนเย็นจะต้องซ้อมเชียร์ทุกวัน ดิฉันสุขภาพไม่ดี วันหนึ่งหลังจากซ้อมเชียร์ได้ประมาณ ครึ่งชั่วโมง ดิฉันเหนื่อยมากจึงเป็นลม ประธานเชียร์ได้หยุดซ้อมและจะพาดิฉันไปส่งบ้าน บังเอิญมีเพื่อนคนหนึ่งมีน้ำใจรับอาสาขับรถ พาดิฉันและประธานเชียร์ไปส่งบ้าน ดิฉันประทับใจในความมีน้ำใจของเพื่อนคนนี้มาก  

ดิฉันเรียนอยู่ปี 2 ได้เรียนวิชา Poetry ดิฉันชอบวิชานี้มากจึงได้แต่งโคลงขี้น 2 บทชื่อ “If I can’t be” และ Smiles”  ดิฉันได้ให้ เพื่อนที่เก่งด้านโคลงกลอนช่วยตรวจแก้ไข ดิฉันขอบคุณเพื่อนคนนัั้นที่ช่วยให้โคลงของดิฉันมีคำคล้องจอง  ทำให้น่าอ่าน

ดิฉันได้นำโคลง 2 บทนี้พิมพ์ลงในวารสารรายเดือนของกรมที่ดิฉันทำงานอยู

กลับขึ้นด้านบน

สระบัว รองศาสตราจารย์ผกา สัตยธรรม

เล่าโดย รองศาสตราจารย์ผกา สัตยธรรม

ในสมัยที่เรียนอยู่ด้านข้างหอประชุมมีสระบัวสายงาม เวลาว่างจากการเข้าชั้นเรียน เพื่อนๆ และฉันจะมายืนอยู่ที่ระเบียงตึกอักษรด้านห้องสมุดมองดูดอกบัวที่บานสะพรั่งดูงดงามเหมือนบัณฑิตที่เจริญเติบโต ตัั่งแต่ปี 1 – ปี 4 ก็เหมือนดอกบัว 4 เหล่า

ตอนแรกปีแรกก็ยังอยู่ในน้ำ  ต่อมาก็ค่อยๆ เจริญงอกงามจนเป็น บัว บัวอยู่กลางน้ำ แล้วค่อยๆ ปริ่มน้ำ จนกระทั่งเป็นบัวเหนือน้ำ บางดอกก็มีคนเด็ดไปบูชาพระ บางดอกก็ ถูกตัดไปทิ้ง  ฉันได้มองแล้วคิดว่าจะเป็นดอกบัวที่ทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติต่อไป

ด้วยความเจริญที่เข้ามา สระน้ำก็หายไปทำให้ใจเศร้ า คิดถึงวันเก่าๆ ที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้ห้อมล้อมด้วยตึกสูงๆ ธรรมชาติเกือบหายไปหมด

แต่ความประทับใจในความรักเมตตาที่อาจารย์ทุกท่านมีต่อลูกศิษย์ยังคงมีอย่างอย่างสม่ำเสมอ

กลับขึ้นด้านบน

ความทรงจำ พลตรีหญิงสุธิรา ชูโต

เล่าโดย “ธีระ” หรือ  พลตรีหญิงสุธิรา  ชูโต

ตึกอักษรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2502 อันเป็นปีที่ฉันย่างเท้าเข้าไปอย่างตื่นเต้นและภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตในสถานะนิสิตชั้นปีที่หนึ่งนั้น  เป็นตึกที่มีบรรยากาศเหมือนเวียงวังผสมวัดด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงามวิจิตร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยืนอยู่บนระเบียงซึ่งมีอยู่รอบตึก  มองออกไปยังบริเวณโดยรอบ  จะเห็นตึกเรียนของคณะต่างๆ ที่มีรูปแบบหลากหลาย  ในสถาปัตยกรรมต่างสมัยกัน  ยิ่งทำให้เผลอไผลไปว่า  ตัวเองเป็นสาวสมัยกรุงศรีอยุธยาหลงมิติมายืนอยู่เดียวดายในดินแดนที่ไม่เคยรู้จักนั่นเทียว

ความงดงามของตึกอักษรศาสตร์นั้น  ฉันมิอาจจะพรรณนาได้ด้วยภาษาเขียนอันธรรมดาสามัญของฉันเองขอให้อ่านบทร้อยกรองของท่านอาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดาเอาเองเถิด

 

 ใต้ฟ้าจะหาศุภสถาน      ก็บปานบเปรียบเหมือน

อักษรสถานสถิตเตือน     รติตั้งตะลึงแล

สีสันก็สรรระยะสลับ       สิริสรรพประทับแล

ที่นวลก็นวลตะละแถง    ขณะส่องศุภรพรรณ

ลำยองระรองอุระคะเฟื้อย       กลเลื้อยกระหนาบบัน

ครุฑอัดผงาดกลจะผัน         และกระหยับเผยอบิน

ทวยทอดระทวยตะละสดัมภ์     ก็กระทำพิจิตรศิลป์

 แลเล่ห์อนันตอุรคินทร์                        ขณะถดขยดกาย

นอกตึกก็พฤกษ์ระยะสล้าง      ดุจวางประดับราย

แมกไม้มะเมอขณะพระพาย                 ธรชวยระรวยริน

 แว่วหวานวิเวกวิยะจะกล่อม     มนะน้อมและจรดจินตน์

 เพลิดเพลินเพราะเผลอฤดิถวิล              ภพสรวงฤไรหนอ

นอกเหนือจากอาคารสถานที่ที่ไม่เหมือนตึกเรียนของคณะใดๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว  ตึกอักษรศาสตร์ยังมี ”อะไร”

ที่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนที่ใดในจุฬาฯ อีกอย่างหนึ่งคือ  นิสิตหญิง หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นิสิตา”  เพราะนิสิตาคณะอักษรศาสตร์นั้นนอกจากส่วนใหญ่จะสวยสดงดงามเป็นที่เลื่องลือแล้ว  ยังมีจำนวนมากมายประมาณร้อยละกว่า  90  ของนิสิตทั้งคณะ   เรียกได้ว่า  กว่าจะมองเห็นนิสิตชายได้สักคน  แทบจะต้องจุดเทียนหากันทั่วตึกเลยทีเดียว 

เรื่องนี้ฉันไม่ได้คิดไปเอง  มีหลักฐานยืนยันว่าครั้งหนึ่ง  คุณอนุช  อาภาภิรมย์ รุ่นพี่ปีสองหรือโซโฟมอร์ขณะนั้น  เคยสารภาพ

กับฉันว่า  วันแรกที่เดินเข้ามาในห้องกลางนั้น  ยืนตัวสั่น  ปากสั่นเลย  (ไม่ใช่สั่นสู้นะ  ขอบอก)   เพราะเกิดมาไม่เคยอยู่ท่ามกลางผู้หญิงมากมายขนาดนี้ (เนื่องจากเธอไม่เคยเรียนในโรงเรียนสหศึกษามาก่อน)

ที่เป็นความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ  แม้แต่นิสิตชายชาวอักษรฯเอง  ก็น่าจะรู้สึกว่า  ตัวเองหลงเข้าไปในดงแม่หม้าย..เอ๊ย...เมือง

ลับแล  เพราะสังเกตดูทีท่าท่านทั้งหลายดูระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ  จะเกาะกลุ่มกันแน่นหนาตั้งแต่พี่ซีเนียร์ลงมาถึงเฟรชชี่  แทบไม่เหลือที่ว่างให้สาวๆ เข้าไปตอแยได้เลย  สถานที่สิงสถิตของท่านๆ ยามรอเข้าเรียนนั้น  มักจะเป็นบริเวณชั้นสอง ซึ่งมีลูกกรงสามด้าน  ท่านก็จะยืนเกาะราวระเบียงก้มลงมองสาวๆซึ่งมักส่งเสียงปานนกแตกรังอยู่ในห้องกลางอย่างแน่นขนัด

ห้องกลาง  เป็นชื่อที่ชาวอักษรฯ เรียกห้องโถงชั้นล่างอันเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางทั้งสี่ทิศที่นำเข้าสู่ตึก  มีบันไดหินอ่อนทอดไปสู่ชั้นสอง  ที่ชานพักก่อนที่จะแยกไปทางซ้ายขวา  ประดิษฐานพระบรมฉายาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งผู้ที่เดินมาถึงจุดนี้จะต้องถวายความเคารพต่อพระองค์ท่านทุกครั้งไป

ห้องกลาง จัดว่าเป็นห้องที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของนิสิตอักษรศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง  เพราะเป็นจุดสื่อสาร

ระหว่างคณะกับนิสิต  ระหว่างนิสิตกับนิสิตและระหว่างนิสิตกับคนทั่วไป  เป็นที่ติดตั้งกระดานแจ้งข่าวต่างๆ ของคณะ  ซึ่งนิสิตอาจใช้เป็นที่ติดข่าวกิจกรรม หรือโชว์ผลงานขีดๆ เขียนๆ ตามประสาคนชอบเขียนก็ได้  นอกจากนี้ยังมีโต๊ะยาว  เก้าอี้ยาวให้นั่งคุย  นั่งทำงาน  นั่งรอเพื่อน  รอคนที่นัดหมายหรือแม้แต่รอคนที่อยากรอ ฯลฯ                                           

เรื่องการใช้ห้องกลางเป็นที่นั่งรอคนที่อยากรอนี้  นอกจากชาวอักษรฯ เจ้าของสถานที่แล้ว  วันดีๆ หรือวันร้ายก็ได้ทั้งสองทาง  ก็จะมีหนุ่มแปลกหน้าจากคณะอื่นๆ ที่ใจกล้า หน้าหล่อ  มานั่งคอยคนที่อยากรอเหมือนกัน  ที่ว่าใจกล้าก็เพราะถึงหนุ่มอักษรฯ จะสุภาพราบเรียบเพียงใดก็ตาม  แต่เรื่องหวงสาวอักษรฯ ก็ไม่เบาเหมือนกันนะ  ส่วนหนุ่มต่างคณะที่ขี้เกรงใจหนุ่มเจ้าของสถานที่  ก็จะเลี่ยงไปยืนตามทางเดินที่ทอดไปสู่หอสมุดกลางแทน

หนุ่มใจกล้าที่ว่านั้นส่วนใหญ่ก็เพื่อนบ้านที่อยู่ตึกแดงๆนั่นแหละ  นัยว่าตึกสีเทาเสียดุลไปปีละมากๆ   ไอ้ครั้นหนุ่มตึกเทาจะเอาคืนบ้าง  ไตร่ตรองแล้วก็เห็นท่าจะรอไปจนแก่ตาย  เพราะปริมาณสาวตึกแดงในยุคนั้นแทบจะร้อยละศูนย์  ในปีที่ฉันเป็นน้องใหม่นั้น  ดูเหมือนจะมีแค่หนึ่งเดียวเอง  แถมยังเตะตะกร้อเก่งเสียด้วยซี (เรื่องเตะตะกร้อนี้  เป็นเรื่องอำกันเล่น  ไม่รู้จริงๆแล้ว  เธอเตะเป็นหรือเปล่า)

 เรื่องหนุ่มมารอในห้องกลางนั้น  บางสาวก็ปลื้ม  บางสาวก็ไม่ปลื้ม (อาจไม่ตรงสเปค)  เคยมีเรื่องใหญ่ขนาดตัดเป็นตัดตายกับเพื่อนสนิทมาแล้ว  เรื่องก็มีอยู่ว่า  ชั่วโมงเรียนของนิสิตนั้นแตกต่างกันไปตามวิชาที่เลือกเรียน  มีชั่วโมงเรียนบ้าง  ว่างบ้าง  เวลาที่ว่างนิสิตส่วนใหญ่ (ก็สาวๆ นั่นแหละ  หนุ่มๆ ไม่รู้ไปซ่อนตัวอยู่หนใด ) มักจะมานั่งกันในห้องกลาง  บ้างก็เดินไปหอสมุดกลาง  บ้างก็เดินไปเติมพลังที่โรงอาหาร  เมื่อเป็นดังนี้  หนุ่มที่อยากมานั่งรอก็ไม่รู้จะมาเมื่อไรจึงจะได้เจอ  มีรายหนึ่ง  ใช้วิธีขอตารางเรียนของสาวที่อยากเจอจากเพื่อนของหล่อน  ครั้นเจ้าตัวรู้เข้าก็โกรธถึงขนาดเลิกคบเพื่อนสนิทคนนั้นไปเลย  เป็นที่น่าเสียดายในมิตรภาพที่บ่มเพาะกันมาหลายปี

อาจจะเป็นเพราะสาวอักษรฯ มีภาพลักษณ์เป็นกุลสตรีศรีสยามตามบรรยากาศของตึกเรียนก็เป็นได้  จึงทำให้เธอๆ เป็นที่หมายปองของหนุ่มจากกองทัพไทยทุกเหล่าทัพผู้มีรสนิยมชื่นชมกุลสตรีเพื่อเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล  สาวอักษรฯ รุ่นที่ 27 กลุ่มหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่ามีความงามระดับดาวรวมสี่คนเคยทำสถิติถูกสอยยกกลุ่มโดยนายทหารหนุ่มแห่งกองทัพบก  และทั้งสี่นายนั้นก็ประสบความสำเร็จในอาชีพ  มียศเป็นพลเอกเท่าเทียมกัน  ที่นำมาเล่านี้เนื่องจากสี่หนุ่มนั้นถือว่าใจกล้าสมอาชีพเพราะเข้ามาแสดงตัวถึงตึกเรียนทีเดียว  แต่เรายังมีอีกหลายสาวที่เพื่อนฝูงเพิ่งจะรู้เรื่องรักของเธอๆ ก็ต่อเมื่อเรียนจบไปแล้ว  ว่าคุณเธอก็แอบไปเป็นคุณหญิงคุณนายท่านนายพลทั้งทัพบก เรือ  อากาศครบสามเหล่ามิให้น้อยหน้ากันทีเดียว  ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน  เพราะจะเป็นทหารหรือหนุ่ม  จุฬาฯ   เราก็ลูกพ่อเดียวกันอยู่แล้ว

เข้ามาอยู่ท่ามกลางสาวสวยนับร้อยเช่นนี้ มีหรือที่หนุ่มอักษรฯ ใจจะไม่วอกแวก  จะตัวสั่น  ปากสั่น  ใจสั่นอย่างไรอย่างน้อยก็ต้องแอบๆ ใจลอยกันบ้างละ  เพื่อนหนุ่มของเราหลายคนก็มีอาการเช่นนี้  แต่ก็ดีไปอย่างที่ทำให้เกิดความบันดาลใจ ส่งสารออกมาเป็นบทกลอนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นสมัยนั้น  กลายเป็นนักกลอนชื่อดังไปก็หลายคน

พูดถึงหรือว่าเขียนถึงนักกลอนอักษรศรี  ถ้าไม่เอ่ยอ้างถึงนักกลอนรุ่นพี่ที่เป็นสุดยอดนักกลอนชาวอักษรฯ ก็คงถูกกล่าวหาว่ามาจากหลังเขาหรือไฉน  เพราะพี่ท่านปัจจุบันเป็นที่เชิดหน้าชูตาชาวอักษรฯ เป็นอย่างยิ่งในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์พ.ศ.2548  ก็พี่ประยอม  ซองทอง  หัวหน้าคณะ หรือหัวหน้านิสิตปีที่เราเป็นน้องใหม่นั่นไง                                                                          นิสิตอักษรศาสตร์ในช่วงเวลานั้น  น้อยคนที่ไม่เคยรู้จักกลอนของพี่ประยอม  และทุกคนที่รู้จักเชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่ได้จดจำกลอนบางบทได้อย่างขึ้นใจ  ขอยกเป็นตัวอย่างสักสองสามชิ้น  ดังนี้

ชงโคบานข้างบันไดปีใหม่นี้  ใครจะชี้ชวนชิดเล่ามิตรเอ๋ย         

ใครคนอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเลย   รอรักเชยชื่นจิตนิจนิรันดร์

  “ชงโค” ที่ว่าอยู่ “ข้างบันได” นั้น  ก็เป็นชงโคต้นที่พวกเราชอบนั่งกันในยามเช้ารอเข้าเรียน  ยามบ่ายหลังกินข้าวกลางวันเสร็จ หรือไม่ก็ยามเย็นก่อนกลับบ้านนั่นไง  ดอกสีม่วงอมชมพูแกมขาว  กลีบเหมือนดอกกล้วยไม้พันธุ์คัทลียา  กลิ่นหอมอ่อนๆ ใบรูปหัวใจอันสวยงาม  ยังติดตา  ติดใจอยู่จนเดี๋ยวนี้

อีกบทหนึ่งที่สาวๆ เอาไปเพ้อ  คิดว่าพี่เขาเขียนให้ตัวก็มี  ทั้งหวานทั้งเศร้าเสียมิมี

พวงชมพู    เจ้าก็รู้ว่าจิตพี่พิสมัย

แต่ที่เมินเหินห่างแกล้งร้างไกล       คงหมายให้พี่ช้ำระกำตาย

 (นี่เขียนจากความจำทั้งสองชิ้นเลยนะเนี่ย  ห้าสิบกว่าปีแล้ว ไม่มีตกหล่นเลย  ขอบอก)

 

พี่ประยอม  นอกจากจะเป็นหัวหน้าซีเนียร์ที่น่าเคารพมากๆ เนื่องจากใจดี  พูดช้าๆด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ เลียนแบบ

ไม่ได้แล้ว  ท่านยังเป็นทั้ง “ป๋าดัน” และ “ป๋าปั้น” ทั้งเพื่อน  ทั้งน้องให้มีโอกาสได้เกิดในวงวรรณศิลป์ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย  เช่น  หาสนามให้ลงผลงาน  ส่งเสริมให้มีตำแหน่งหน้าที่ในกิจกรรมต่างๆ ของคณะและของมหาวิทยาลัย พาไปหาประสบการณ์หรือโชว์ฝีมือในงานต่างๆ  เช่น  การเล่นกลอนสดในงานต่างๆ  รวมทั้ง”ออกทีวี” ในรายการ “ลับแลกลอนสด” ของคุณจำนงค์  รังสิกุล แห่งไทยทีวีช่องสี่  อันเป็นรายการที่หากใครได้มีโอกาสไปแสดงฝีมือในรายการนี้แล้วไซร้  ถือว่า “แน่” ในวงการนักกลอนเลยทีเดียว

ฉันก็เป็นน้องคนหนึ่งซึ่งได้รับความรัก  ความเมตตาและการส่งเสริมจากพี่ประยอม (หรือ”ปู่ประยอม” ตามที่ฉันเรียกขาน

ท่านด้วยความเคารพนับถือ  มิใช่การตีเสมอหรือล้อเลียน)  นอกจากการให้กำลังใจด้วยคำชมเชยในผลงานของฉันแล้ว  ท่านยังหาสนามให้ลงผลงานทั้งกลอนแห้ง  กลอนสด  กลอนเปล่าและงานเขียนอื่นๆ  ที่สำคัญคือ  การเสนอชื่อให้ฉันได้ดำรงตำแหน่งสาราณียกรสโมสรนิสิตจุฬาฯ  นับเป็นนิสิตหญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้

เรื่องของพี่ประยอมยังมีให้เขียนอีกมาก   แต่กลัวว่าจะกลายเป็น”เรื่องเล่าในรุ่น”ของพี่ประยอมไปจึงขอยุติแต่เท่านี้         ความจริง ที่เล่ามานี่  เป็นการเกริ่นนำเท่านั้น  ประเด็นสำคัญคือ อยากจะเล่าว่า  พี่ประยอมก็เป็นตัวละครตัวหนึ่งใน “เรื่องรักชาวอักษร” ด้วย  เนื่องจากบัดนี้พี่ประยอมไม่ได้เป็น “พี่”  ของเราอีกต่อไป  แต่กลายเป็น “เพื่อนเขย” ของชาวอักษร ฯ รุ่น 27 ไปเสียแล้ว!!!    

แด่ความเป็นมาของนิยายโรแมนติคเรื่องนี้  มิได้เกิดขึ้นขณะพี่ประยอมเป็นหัวหน้านิสิตหรอกนะ  เพราะในขณะนั้นพวกเรา

น่าจะเป็นม้านอกสายตาของพี่เขามากกว่า  เนื่องจากกำลังอยู่ในวัยซนแอบกินขนมในห้องเรียนและแอบเขียนกลอนสักวาส่งต่อๆ กันไปให้เขียนคนละวรรคสองวรรคแก้ง่วงยามบ่าย  ซึ่งเจ้าคนที่มักเป็นตัวเริ่มวรรคแรกมิใช่อื่นไกล  นอกจาก “หญิง”  หรือ “ไอ้หญิง” จอมซนคนสวยของรุ่น..หม่อมราชวงศ์อรฉัตร  สุขสวัสดิ์ ... นั่นเอง                                                     

เรื่องโรแมนติคเกิดขึ้นหลังจากพวกเราอำลาเทวาลัยไปแสวงหาขุมทรัพย์เพื่อการดำรงชีพอยู่หลายปี  พรหมลิขิตได้บันดาล

ชักพาให้พี่ประยอมกับ “ไอ้หญิง” ของเราไปทำงานในบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยด้วยกัน  แล้ววันหนึ่งก็คงปรึกษากันว่า  ขึ้นรถไฟไม่ทันมาหลายขบวนแล้ว  จะนั่งรถทัวร์หรือก็กลัวตกเหว  จะขึ้นเครื่องบินมันก็ไม่จอดรับ  อย่ากระนั้นเลย  จูงมือกันขึ้นรถไฟขบวนนี้แหละก่อนที่ขบวนสุดท้ายจะมาถึง  โชคดีนะเนี่ยที่พี่ประยอมไม่รอจนลูกสาว”ไอ้หมู” สมนึก  (อุดมพิบูลย์) คูณผล เข้าไปเรียนอักษร ฯ จนจบ ไปด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง  ไม่อย่างนั้นก็อาจกลายเป็น “ลูกเขย” ของรุ่น 27 ไปก็เป็นได้          

 “เรื่องรักชาวอักษรฯ” ระหว่างรุ่น 27 กับรุ่นพี่นั้น  พอจะนำมาเล่าได้อีกคู่หนึ่งคือ ระหว่างรุ่นพี่ปีสาม  คุณวินัย ภู่ระหงษ์ กับ

หัวหน้านิสิตหญิงปีหนึ่งของเรา..วรรณงาม  โพธิกานนท์   คู่นี้ไม่รู้เริ่มกันอย่างไร  แต่ที่ฉันเห็นนั้น  ทั้งคู่นิยมยืนชมวิวอยู่ตามระเบียงโบสถ์..เอ๊ย.. ตึกสีเทาของเราเป็นประจำและได้แต่งงานกันหลังจากเรียนจบไปไม่นาน

อีกรายที่น่าจะบันทึกไว้เป็นเรื่องรักระหว่างพี่น้องด้วยกัน  เพื่อนเราคนหนึ่ง ชื่อ โกวิท กลิ่นเกสร เป็นหนุ่มอักษรฯ รุ่นที่พลิกโฉม

หนุ่มอักษรฯ ในระดับหนึ่ง  คือรูปลักษณ์ค่อนไปทางพระเอกหนังนักบู๊สมัยนั้นคือ มิตร  ชัยบัญชา  สมบัติ  เมทนี  แต่กิริยาอัชฌาสัยยังคงตามแบบฉบับคือสุภาพเรียบร้อย  พูดน้อย  ต่อยหนัก อย่างหนุ่มอักษรฯ ทั่วไป รายนี้ฉันไม่รู้เห็นความเป็นมาเพราะชีวิตประจำวันมักอยู่นอกคณะ (จะฮาหรือ โฮ ดีเนี่ย) จนเมื่อเรียนจบ  มีสังสรรค์รุ่นนั่นแหละ  จึงได้เห็นน้องรุ่น 28  คนหนึ่งเข้ามาร่วมสังสรรค์เป็นประจำ  ครั้นออกปากทักท้วงว่า  ผิดรุ่นหรือเปล่า  เธอก็ตอบว่า  สะใภ้รุ่นมาไม่ได้หรือ  นั่นแหละเธอ  สุจิตรา  กลิ่นเกสร อดีตรองเลขาธิการราชบัณทิตยสถานสมัยหนึ่ง 

ที่นำมาเล่าก็เลือกเฉพาะคู่ที่ได้อยู่กินกันยืดยาวแบบ “ถือไม้เท้ายอดทอง  กระบองยอดเพชร” เท่านั้นนะ ( เพื่อความสงบสุข

ในบั้นปลายชีวิตของเพื่อนๆ ) แน่นอนว่า  มีอีกมากมายหลายกระบุงโกยที่เป็นเรื่องรักในอดีต จะประทับใจหรือไม่  เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ดี  จะไม่ให้มากมายได้อย่างไรเล่า   ก็สาวอักษรฯ เสน่ห์เธอแรงเป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 เลยทีเดียวเชียว

ใต้ฟ้าจะหาศุภสถาน             ก็บปานบเปรียบเหมือน

อักษรสถานสถิตะเตือน               รติตั้งตะลึงแล

 

    

กลับขึ้นด้านบน

กว่าจะเป้นดนตรีไทย ส.จ.ม. ประกายศรี (เนตรสวาสดิ์) พงษ์เพ็ชร์ และเพื่อน

เล่าโดย  ประกายศรี (เนตรสวาสดิ์) พงษ์เพ็ชร์ บันทึกความทรงจำเมื่อ  55 ปีก่อน 

ร่วมกับพลเรือตรี  น.พ.บุญเลิศ  ธรรมเจริญ  และ ดร.พรรณราย  ทรัพยะประภา

กว่าจะเป็นดนตรีไทย ส.จ.ม.

ปี 2502  เสียงดนตรีไทยประสมออร์แกนดังจากตึกคณะอักษรศาสตร์เกือบทุกเย็น  เพื่อเตรียมการแสดงงานรับน้องใหม่

นิสิตใหม่ที่ชื่นชอบในการดนตรีก็จะได้เข้าร่วมรวมแสดงทั้งข้าพเจ้า  น.ส.ประกายศรี  เนตรสวาสดิ์ (ปัจจุบัน-พงษ์เพ็ชร์) ซึ่งสนใจการขับร้องร่วมแสดงด้วยกับนักร้องชาย 2 ท่าน คือ นายเมธี  เศวตทัต  และรุ่นพี่ที่กำลังเรียนปริญญาโท  คือ พี่วิจิตร  ศรีสอ้าน

หัวหน้าชุมนุมดนตรีไทยอักษรฯ  คือ นางสาวกมลศรี  คงฤทธิ์  นิสิตชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นศิษย์เก่าจาก ร.ร. สตรีวิทยา  ได้พาลูกวงทั้งหมดไปฝึกซ้อมต่อเพลงไทยเดิมกับคุณหญิงไพฑูรย์ (พาทยโกศล) กิติวรรณ  ครูดนตรีไทยประจำ ร.ร.สตรีวิทยา  ท่านมีเมตตาต่อพวกเราทุกคน

ช่วงปี 2502-2503  ข้าพเจ้ามีความต้องการในมหาวิทยาลัยมีชุมชน  (ชมรม)  ดนตรีไทย  ส.จ.ม. ให้เหมือนกับดนตรีสากล ส.จ.ม. จึงได้ซักชวนและไถ่ถามนิสิตที่สนใจและเล่นดนตรีไทยเป็นอยู่แล้ว  ซึ่งในขณะนั้นมีนิสิตที่สนในจาก 7 คณะ  ได้แก่  คณะอักษรศาสตร์  คณะครุศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  คณะบัญชี  คณะรัฐศาสตร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์  และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จากปาต่อปากนัดเวลาให้มาพบกันที่สนามหญ้าด้านหลังตึกหอประชุม

การนัดหมายสมัยนั้นลำบากมาก  เพราะการสื่อสารของพวกเราไม่ได้มีโทรศัพท์ติดต่อกันได้เหมือนสมัยนี้  ชั่วโมงใดที่ว่างจากการเรียนก็เดินไปตามตึกต่างๆ  ที่มีผู้จะร่วมงานด้วย  ซึ่งคณะบัญชี  และคณะรัฐศาสตร์อยู่ไกลที่สุด  เราเรียกว่าอยู่นอกจุฬา

การฝึกซ้อม

นักดนตรีทุกคนซึ่งเล่นดนตรีได้เก่งอยู่แล้วจากโรงเรียนเดิม  และนำเครื่องดนตรีที่พอจะถือได้มาเองจากบ้านขึ้นรถเมล์ (ไม่มีใครขึ้นรถเก๋งส่วนตัว)  เช่น  ซออู้  ซอด้วง  ไวโอลิน  ฉิ่ง  และขลุ่ย  เป็นต้น  มาร่วมเล่นที่สนามหลังหอประชุมจุฬาฯ  เป็นการเรียกความสนใจให้นิสิตอื่นๆ ที่เล่นดนตรีเป็นอยู่แล้วมาเข้าร่วมมากขึ้น  จึงถือเป็นการฝึกสอนและแนะนำกันเอง

น.ส.ประกายศรี  เนตรสวาสดิ์  ได้รับการยอมรับจากนักดนตรีไทยจากคณะต่างๆ  ทั้งรุ่นน้องรุ่นพี่และเพื่อนๆ ให้เป็นหัวหน้าในการจัดการ

ปี พ.ศ.2503  ได้ไปขออนุญาตจากอาจารย์คุณหญิงจินตนา  ยศสุนทร  ผู้สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส  และผู้ดูแลกิจกรรมชุมนุนของคณะอักษรศาสตร์  เพื่อขอใช้เครื่องดนตรีและห้องฝึกซ้อมของคณะอักษรศาสตร์  เพราะเรายังขาดเครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถนำมาจากที่บ้านได้  เช่น  ระนาด  ขิม  จระเข้  และออร์แกนเป็นต้น  จึงบรรเลงเพลงแนวเครื่องสายประสมออร์แกน  ขณะนั้นนายเฉลิม  ม่วงแพรศรี  ยอมนำซอสามสาย  ซึ่งเป็นของรักของหวง  ของมีค่าห้ามใครแตะต้อง  มาร่วมบรรเลงทุกครั้ง

พ.ศ.2504  ได้รับอนุมัติให้เป็นชุมนุม (ชมรม) ดนตรีไทย  ส.จ.ม. โดยมี  ด.ร.คลุ้มวัชโรบล  (คณะวิทยาศาสตร์)  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและดูแลกิจการชุมนุม  โดยได้รับงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีและสถานที่ตั้งชุมนุมดนตรีไทย  ส.จ.ม. อยู่ที่ตึกจักรพงษ์  ชั้น 2 และยังไม่มีครูดนตรีไทยประจำแต่อย่างใด  ดังนั้นก่อนการแสดงพวกเรายังไปฝึกซ้อมกับคุณหญิงไพฑูรย์  กิติวรรณ  ที่ ร.ร.สตรีวิทยา  ซึ่งท่านมีเมตตาโดยไม่คิดค่าตอบแทน  หลังจากนั้นพวกเราก็มาฝึกซ้อมกันเอง  โดยคนที่เก่งกว่าจะเป็นผู้ฝึกซ้อมแนะนำกันเอง

คุณหญิง  ไพฑูรย์  กิติวรรณ  ได้พาพวกเราไปไหว้ครูที่บ้านพาทยโกศล  เป็นเรือนไม้หลังใหญ่อยู่ข้างวัดกัลป์ยาฯ ต้องข้ามเรือไปฝั่งธนบุรี

 

กิจกรรมของชมรมดนตรีไทย  ส.จ.ม.

  1. แสดงถวายพระพรแด่สมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์ทางวิวีช่อง 4 บางขุนพรหม
  2. ถวายพระพรแด่สมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์ทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์
  3. แสดงงานรับน้องใหม่ ณ  หอประชุมจุฬาฯ
  4. แสดงงานเลี้ยงสโมสรอาจารย์จุฬาฯ
  5. แสดงงานกีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
  6. บรรเลงถวายพระพรแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่วิทยุ อ.ส.ซึ่งทุกคนได้รับพระบรม ฉายาลักษณ์พร้อมลายพระหัตถ์ขนาดโปสการ์ด

กิจกรรมเชื่อมความสามัคคี

  1. แสดงร่วมกับวงดนตรีไทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จำชื่อเพื่อนร่วมงานวงได้เพียงคนเดียว คือ  นายเนาวรัตน์ 

                      พงษ์ไพบูล)

  1. แสดงร่วมกับวงดนตรีไทยแพทยศาสตร์ศิริราช
  2. แสดงร่วมกับวงดนตรีไทยทหารเรือ

ชมรมดนตรีไทย  ส.จ.ม. ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์แหลมฉาน  หัสดินทร์  บรรยเวกษ์  ของ  จุฬาฯ (คือผู้ดูแลกิจกรรม

นิสิต) สนับสนุนกิจกรรมของชมรมดนตรีไทยและอนุญาตให้ใช้รถยนต์ของจุฬาฯ  รับ-ส่ง ในการจัดทำกิจกรรมชมรมฯ นอกสถานที่ทุกครั้ง

รายชื่อนิสิตผู้ร่วมชมรมดนตรีไทย  ส.จ.ม. ในระยะก่อตั้ง (พ.ศ. 2504-เดือนมิถุนายน  พ.ศ.2506)

  1. ประกายศรี (เนตรสวาสดิ์) พงษ์เพ็ชร์ (คณะอักษรศาสตร์) ขับร้อง และฉิ่งเป็นประธานชมรมคนที่หนึ่ง
  2. พวงทอง รามสูตร  (คณะอักษรศาสตร์)  ซอด้วง  และขิม
  3. อรทัย …. (คณะอักษรศาสตร์) ซออู้
  4. ชูพันธ์… (คณะอักษรศาสตร์) ไวโอลิน และซอด้วง
  5. วีรวรรณ (ติ๋ว) …… (คณะอักษรศาสตร์) ขิม
  6. เฉลิม ม่วงแพรศรี  (คณะอักษรศาสตร์) ซอสามสาย
  7. ประกอบ ตั้งคำ  (คณะวิทยาศาสตร์) โหม่ง
  8. พลเรือตรี น.พ.บุญเลิศ  ธรรมเจริญ (คณะวิทยาศาสตร์) ซอด้วง  และขลุ่ย
  9. ครูธีระ ขวัญบุญจัน  (คณะวิทยาศาสตร์) เป็นคณุปฏิบัติการ  Lab เคมี  ซอด้วง
  10. ดร.ลิขิต ฉัตรสกุล  (คณะวิทยาศาสตร์) ขลุ่ย
  11. บรรจง ฉายากุล (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ขิม และขลุ่ย
  12. พัชรี และพัชรินทร์  แฝดสองพี่น้อง  (คณะบัญชี) ขิม
  13. น้องใหม่ ศุภชลัช (คณะบัญชี) ระนาดเอก
  14. วรนันท์ ดงไม้น้ำ (คณะอักษรศาสตร์) ไวโอลิน  และซอด้วง
  15. สันติ ขวัญบุญจัน (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ซออู้  และซอด้วง
  16. บัตร ชมหิรัญ (น.พ.พลพัชร) (คณะวิทยาศาสตร์) ขับร้อง
  17. ดร.เชาวลิต พุทธวงศ์  (คณะครุศาสตร์) ขลุ่ย และตีกรับ
  18. สมศักดิ์ หอมสนิท  (ดร.ประศักดิ์) คณะครุศาสตร์) ฉาบ
  19. รัชนี (ขวัญบุญจัน) แก้วกำเนิด (คณะครุศาสตร์) ขิม และซอด้วง
  20. นาวาอากาศเอกหญิง จงกลนี กาญจนะประภา (คณะครุศาสตร์) ซอด้วง  และซออู้
  21. ปฏิญญา คงขำ (คณะครุศาสตร์) ขลุ่ย

ดร.พรรณราย  ทรัพยะประภา  (คณะครุศาสตร์) ขับร้อง  เมื่อมิถุนายน  2506 ได้รับหน้าที่เป็นประธานชมรมคนที่สอง

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University