เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 46

วันเข้าเฝ้าฯ พงาพันธุ์ มูลศาสตร์ โบบิเยร์

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีแห่งพระองค์โดยแท้

บ่ายคล้อยจวนสนธยาของวันเสาร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ผู้แทนนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ รุ่น ๔๖ จำนวน ๑๖ คน ต่างมารวมกันโดยพร้อมเพรียง ณ วังสระปทุม ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร ด้วยความรู้สึกและมีวัตถุประสงค์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวคือ...จะได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ “เจ้านาย” ที่ทุกคนจงรักภักดี..ชื่นชม..เทิดทูน...ศรัทธามาโดยตลอด

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฉลองพระองค์ผ้าไหมสีทับทิมก่ำงามเรียบ เสด็จลง ณ พระตำหนักใหม่* วังสระปทุม เวลา ๑๘ นาฬิกา พระราชทานพระราชวโรกาสให้อักษรศาสตร์รุ่น ๔๖ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรฯ เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระองค์ทรงฟังคำถวายรายงานจากผู้นำเฝ้าฯ (แดง-พงาพันธุ์) อย่างเอาพระราชหฤทัยใส่ พระพักตร์แจ่มใส รับกับแววพระเนตรอันเปี่ยมด้วยพระเมตตา รอยพระสรวลที่ฉาบระบายริมพระโอษฐ์ตลอดเวลา มอบบรรยากาศอบอุ่น สร้างความปลึ้มปิติ สิริมงคลประทับติดตรึงใจแก่ทุกคนณ ที่นั้นเป็นล้นพ้น

เมื่อจบการกราบบังคมทูลถวายรายงานแล้ว ผศ. ปทมา อัตนโถ ทูลเกล้าฯ ถวายเช็คเงินสดจำนวน ๔๐๐,๐๐๐.๘๕ บาท ๘๕สั่งจ่าย

“มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

จากนั้น ผู้นำเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถึงที่มาของโครงการนี้ โดยสรุปความสำคัญได้ดังนี้

  • เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นิสิตอักษรศาสตร์ รุ่น ๔๖ ได้รวมกลุ่มไลน์ (LINE) ประจำรุ่น มีสมาชิกจำนวน ๑๒๘ คน หลังจากสำเร็จการศึกษามากว่า ๓๐ปี หลายต่อหลายคนต่างแยกย้ายไปใช้เวลาค่อนชีวิตทั่วทุกมุมโลก และได้กลับมาติดต่อ ส่งข่าวคราวและจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อส่วนรวมอย่างสมานสามัคคีเป็นที่ประทับใจยิ่ง...วิวัฒนาการเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน นำพาให้เพื่อนร่วมรุ่นได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง...เป็นเรื่องมหัศจรรย์

“เก่งนะ...รวบรวมได้ตั้งร้อยกว่าคน” พระองค์ตรัสพร้อมแย้มพระสรวลอย่างชื่นชม

  • เนื่องจากในรุ่น ๔๖ นี้ มี ผศ. ปทมา อัตนโถ หรือที่เพื่อนร่ามรุ่นเรียกกันว่า”อาจารย์ปุ้ม” เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ ได้เสนอโครงการหาเงินบริจาคเข้าคณะฯ ในนามนิสิตทั้งรุ่น เพื่อเพื่อนๆ จะได้แสดงพลังกลับมาต่อยอดยังประโยชน์ให้สถาบันศึกษาอันทรงเกียรติที่หล่อหลอมพวกเรามา... นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นนิสิต...ได้รับประสิทธิ์ประสาทวิชาจากคณาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยความสามารถของประเทศนี้จนเป็นความรู้อันเป็นทรัพย์ที่ประมาณค่ามิได้นำมาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตน กระทั่งเกือบจะถึงบั้นปลายแห่งวัยทำงานขณะนี้

“นั่นสิ...ตามๆกันมานะ” ทรงผงกพระพักตร์และทรงพระสำรวลเบาๆ

  • เป็นวาระแห่งมงคลที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา นิสิตรุ่น ๔๖ จึงขออนูญาตใข้โอกาสและศุภฤกษ์นิมิตนี้แสดงกตเวทิตาต่อสถานศึกษาโดยทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรซึ่งเป็นพระนามาภิไธยแห่งพระองค์ และถือเป็นการถวาย “ของขวัญ ปีแซยิด” แด่พระองค์ด้วยความจงรักภักดีและเทิดทูนที่ทรงเป็นพระมิ่งขวัญศูนย์รวมจิตใจของชาวอักษรศาสตร์เสมอมา
  • ในการนี้อาจารย์ปุ้ม ได้เปิดบัญชีพิเศษเพื่อรับเงินบริจาคตั้งแต่ เดือนเมษายน ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘...นับเป็นโครงการระยะยาว

            เกือบทั้งปีก็ว่าได้

  • นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ในฝรั่งเศสหลายรุ่นยังได้ร่วมกันจัดงานสังสรรค์ พบปะในบรรยากาศอบอุ่นเป็นครั้งแรกที่บ้านพี่ดาราวรรณ Dauge ในปารีส และได้แลกเปลี่ยนที่อยู่ หมายเลขติดต่อ อีเมล์ เพื่อการร่วมกิจกรรมในภายหน้า อนึ่ง..วันนั้นพี่ๆน้องๆชาวเทวาลัยต่างบริจาคสมทบทุนร่วมกับนิสิตรุ่น ๔๖ เป็นจำนวนเงิน ๔๐๐ ยูโร

“ชาวอักษรศาสตร์ไปอยู่ฝรั่งเศสกันเยอะมาก กระทั่งใครๆถามว่า...นี่เรามีเมืองขึ้นหรือมีประเทศที่สองคือฝรั่งเศสหรือไร” ทรงเล่าเสริมด้วยพระอารมณ์ขัน

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงผินพระพักตร์ไปยังพระเก้าอี้ตัวยาวกลางห้องโถงซึ่งห้องนี้ตกแต่งอย่างประณีตสง่างามลงตัว  ทั้งยังโล่งโปร่งสบายตาด้วยหน้าต่างกระจกทรงสูงแบบยุโรป เครื่องเรือนในที่นั้นสะท้อนถึงความเรียบง่าย ข้าวของ เครื่องประดับที่ตั้งวางแสดง เช่น กรอบพระฉายาลักษณ์ เครื่องแก้วเจียระไนชิ้นจิ๋ว งานกระเบื้องเคลือบเนื้อละเอียดลวดลายวิจิตรในตู้กระจกใสล้วนแสดงถึงความผูกพันและคุณค่าทางจิตใจอันสั่งสมมาแต่ครั้งสมเด็จย่า...สมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี

เมื่อประทับแล้วพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าหน้าที่ฉายพระรูปร่วมกับตัวแทนนิสิตเก่ารุ่น ๔๖ ทั้ง ๑๖ คน

ทั้งยังทรงยื่นโทรศัพท์มือถือส่วนพระองค์ให้ช่างภาพบันทึกเก็บเป็นที่ระลึกสำหรับพระองค์อีกด้วย

พระราชจริยวัตรนี้นำความปลาบปลึ้มมาสู่ตัวแทนรุ่นทั้งหมดในที่นั้น พระองค์พระราชทานความเป็นกันเอง และปรับบรรยากาศการเข้าเฝ้าฯ ให้อบอุ่นรื่นรมย์ เฉกเช่นการพบปะของ “รุ่นพี่-รุ่นน้อง” ก่อนจะทรงขอบใจในความตั้งใจ พร้อมเพรียงของรุ่น ๔๖ ครั้งนี้

พระองค์ทรงพระราชปฏิสันถารแก่”นิสิตรุ่นน้อง”เป็นรายบุคคลในที่นั้นอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง  นอกจากนั้นยังทรงพระราชดำรัสถึงกิจกรรม เรื่องราวของคณะอักษรศาสตร์โดยรวม

...คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานทางวิชาการ มีหน้าที่ผลิตบัณฑิต สร้างองค์ความรู้ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม บริการวิชาการแก่ชุมชน บริหารงานโดยแบ่งเป็นภาควิชาต่างๆ

...ขณะเดียวกันก็ยังร่วมทำงานกับคณะต่างๆของมหาวิทยาลัย  ประชุมปรึกษาหารือและกำหนดทิศทางตลอดจนนโยบายรวมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทุกสัปดาห์

...นอกจากค่าหน่วยกิตแล้ว รายได้หลักของคณะฯ จะมาจากการทำบริการวิชาการหลายรุปแบบ ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นการพัฒนาทางด้านวิชาการ หรือการสนับสนุนการทำกิจกรรมของนิสิต รวมทั้งรายจ่ายประจำในด้านสาธารณูปโภค...งานทำนุบำรุงซ่อมแซมตึกอาคาร ค่าน้ำ ไฟ ฯลฯ 

จุฬาฯเองไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะให้งบสนับสนุนแต่ละคณะได้ เพราะปัจจุบันมีคณะเพิ่มขึ้นมากมาย มีกฎระเบียบ ข้อบังคับส่วนกลางที่กำหนดขึ้นใช้ให้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

คณะอักษรศาสตร์ จะได้งบสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต่อเมื่อเสนอโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ ดังนั้นแต่ละคณะจะต้องจัดระบบการใช้จ่ายจากงบรายได้ของตนเอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกๆคณะจำต้องระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาคณะในด้านต่างๆกันเอง

 

และหนึ่งในรายได้หลักนี้คือ เงินบริจาคจากนิสิตเก่านั่นเอง

ในส่วนพระองค์...ในฐานะที่ทรงเป็นนิสิตเก่า ได้ทรงจัดตั้ง “มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ”

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของคณะฯโดยตรง... การเบิกถอนค่าใช้จ่ายต่างๆสามารถทำได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว สัมฤทธิ์ผลโดยไม่ผ่านขั้นตอนซับซ้อนของมหาวิทยาลัย ตามที่อาจารย์ปุ้ม-ปทมาได้เคยเล่าในห้อง LINE กลุ่มอยู่เนืองๆ

การทูลเกล้าฯถวายเงิน “ของขวัญ ปีแซยิด” เพื่อพระราชทานสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของนิสิตเก่ารุ่น ๔๖ ครั้งนี้ จึงตรงกับเจตนารมณ์ของคณะฯและพ้องต้องกับความจงรักภักดี เทิดทูนในพระองค์อย่างสมบูรณ์

“คงต้องไปแล้วล่ะ หมอกายภาพบำบัดมารอแล้ว ขอขอบใจทุกคน” ทรงมีรับสั่งก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังพระตำหนักใหญ่ด้านหน้า 

เวลาเกือบชั่วโมงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รุ่น ๔๖ เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดล่วงผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนฝัน

ขณะเดินกลับไปยังลานจอดรถ พลันภาพต่างๆ ในวันนี้ย้อนทยอยเข้ามาเป็นลำดับ

...นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ล้วนให้เกียรติ สุภาพ อ่อนน้อมต่อคณะผู้มาเข้าเฝ้าฯ อันสะท้อนถึงพระราชวิถีปฏิบัติของ “เจ้านาย”

...อาหารว่างที่พระราชทานก่อนเข้าเฝ้าฯในห้องกระจก...จัดแต่งงามวิจิตรด้วยรสชาติ ฝีมือ “ชาววัง” ขนานแท้

...เป็นการเข้าเฝ้าฯที่เรียบง่าย ด้วยเป็นเพียงกลุ่มเดียวของวันนั้น และในพระตำหนักที่ประทับรโหฐาน เหล่าไม้ยืนต้น เช่น ลำไย ชมพู่  เสลา ขนาดใหญ่อายุนานนับร้อยปีแผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมร่มรื่นทั่วบริเวณ แซมด้วยกล้วยไม้ช้างกระ เฟิร์นข้าหลวงอันอวบงามทอดเกาะตามคบไม้ตระการตา

 เล่าโดย  พงาพันธ์ุ มูลศาสตร์ โบบิเยร์   อบ.46

กลับขึ้นด้านบน

กุหลาบแดงแจ้งรักประจักษ์จิต พรธาดา

สาวอักษรรุ่น ๔๖ สามารถบอกใครต่อใครได้เต็มปากว่า เราได้รับดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์มาแล้วจากหนุ่มๆ (ใช่ค่ะ ต้องใส่ไม้ยมก ไม่ผิดหรอกค่ะ)อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ปลายปีที่เราเป็นเฟรชชี่กัน หลังเรียนวิชาเรียนรวมวิชาหนึ่งที่ห้อง ๑๑๖ หรือห้องสิบที่เราเรียกตามรุ่นพี่ จบลงตอนสี่โมง เพื่อนๆ ผู้ชายในห้องก็ถลันเข้าไปหาประตูข้าง หน้าและหลังห้องสิบแล้วปิดประตูคนละบาน  สาว ๆ ก็กิ๊วก๊าวกันใหญ่สิคะ

บุญชัย หัวหน้าชั้นปีคว้าไมค์โต๊ะอาจารย์มากกล่าวอะไรสักอย่าง(ยืดยาวตามประสาบุญชัยแหละค่ะ) จบลงด้วยว่า  เราขอมอบความรักให้เพื่อนร่วมรุ่นด้วยสิ่งเหล่านี้

ทันทีนั้นประตูด้านข้างห้องสิบ(ด้านหอประชุม) ก็เปิดออกทุกบาน  มีหนุ่มอักษรร่วมรุ่นยืนอยู่ทุกบาน  แต่ละคนมีดอกกุหลาบแดงกำใหญ่อยู่ในมือ  แล้วพวกเขาก็เข้ามาตามแถวมอบดอกกุหลาบให้สาว ๆ ทุกคนที่ตาเป็นประกายยามนั้น  เพราะคงเป็นกุหลาบแรกของวาเลนไทน์ในชีวิตสาวเลยที่เดียว

หนุ่มบางคนก็หน้าแดงแจ๊ด เพราะนั่นคือครั้งแรกของการบอกรักด้วยดอกกุหลาบของเธอ

.......

พวกเราทยอยเดินออกมาจากห้องสิบ ส่วนใหญ่เดินอ้อมหอประชุมผ่านคณะวิศวะ แยกย้ายกันกลับบ้าน

          นึกถึงภาพสาวๆ รองเท้าขาว ถุงเท้าขาว แต่ละคนมีดอกกุหลาบแดงในมือ เดินไปเป็นแถวตามกันไปสิคะ  แม้แต่สามแยกปากหมายังต้องหยุดทำงานชั่วขณะเลยค่ะ

...

 ขอขอบคุณความทรงจำดีๆ ที่หนุ่มอักษรร่วมรุ่นมอบให้เรานะคะ

ประสบการณ์อันน่าประทับใจที่น้องรุ่นหลังคร่ำครวญว่า

  “ปีหนู ไม่เห็นมียังงี้บ้างเลย”

 

 เล่าโดย  พรธาดา

 

 

กลับขึ้นด้านบน

ร้อยกรองเทวาลัยในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี

ร้อยกรองเทวาลัยในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี

โดย บุลวิทย์ วงษ์ภิรมย์

ชงโคผลิดอกบานตระการรับ                 สายลมจับ กิ่งไกวอยู่ไหวหวิว
จามจุรียืนแนวเป็นแถวทิว                      ชมพูพลิ้วววามวับกับนภา
เทวาลัยตระหง่านบนลานกว้าง               เสริมสร้างทางสร้างฐานการศึกษา
จากนิสิตสู่บัณฑิตเป็นนิตย์มา                 รับใช้ปวงประชาคราร้อยปี
วิชาการภาษาปรัชญาศิลป์                     ภูมิถิ่นทุกยุคทุกพื้นที่
เรื่องคุณค่าชาติพันธุ์วรรณคดี                เรื่องวาทีพื้นฐานการละคร
ฝึกพูดเขียนตามแนวจนแคล่วคล่อง        แบบทำนองแพรวพราวชาวอักษรฯประวัติศาสตร์จดจำทุกคำตอน               เป็นเครื่องสอนเตือนใจให้คำนึง
กิจกรรมดนตรีกีฬาค่าย                        เลือกตามฝ่ายตามทางอย่างทั่วถึง
งานรับน้องร่วมมือกันอื้ออึง                   ความซาบซึ้งสายใยในจุฬาฯ
ประกาศนามสีเทาเหล่านิสิต                  ปราชญ์บัณฑิตทุกทิศทางต่างสาขา
เกียรติภูมิสร้างสรรค์วันเวลา                  เคียงนคราเพาะบ่มสังคมไทย
ศตวรรษพัฒนาก้าวมาถึง                      เป็นหลักหนึ่งเยี่ยมยุทธพิสุทธิ์สมัย
ประสาธน์ศิลป์วิชาการกังวานไกล           ประสิทธิ์ให้คุณธรรมนำความดี
ธำรงพระนาม "จุฬาฯ" ศรัทธาสถิต         รังสฤษฎ์คู่สยามตามวิถี
พระเกียรติก้องกิตติศัพท์นับทวี              องค์ภูมีทรงโปรดท่านบันดาลพร

25 สิงหาคม 2559

 

กลับขึ้นด้านบน

รับน้อง 24 ฐิติมา สุทธิวรรณ

รับน้อง ๒๔

โดย ฐิติมา  สุทธิวรรณ
บทกลอนนี้แต่งเป็นบทร้อง สำหรับวงดนตรีไทยในงานรับน้องอักษรปีพ.ศ. ๒๕๒๔

ทุกดวงใจในจุฬาฯมาเรียงร้อย          ต่างสายสร้อยสรวมคอรอรับขวัญ
รวมความรักความจริงใจไว้ด้วยกัน     เป็นกำนัลรับขวัญน้องของจุฬาฯ
ฝากความหวังทั้งผองที่น้องพี่           ฝากความดีอันทรงศักดิ์ให้รักษา
ถนอมชื่อจุฬาฯเราเมื่อเข้ามา            น้องมีค่ามีความหมายมากมายเอย        

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University